- เอริช มาเรีย เรอมาร์ก เด็กหนุ่มอายุ 18 ที่แม้จะรอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 มา แต่ความเป็นคนของเขา กลับหลงเหลือกลับมาเพียงเศษเสี้ยว จนกระทั่งเขาค้นพบการเยียวยา ด้วยการเขียนหนังสือที่เป็นเหมือนบันทึกเหตุการณ์สมัยออกรบ
- หนังสือ ‘แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’ บอกเล่าชีวิตในสงคราม ผ่านปากคำของตัวละครชื่อ เพาล์ บอยเมอร์ ตัวแทนของเด็กหนุ่มทุกคนในโลก ที่กระโจนเข้าสู่สมรภูมิรบ เป็นวรรณกรรมภาษาเยอรมันที่ขายดีที่สุดในโลก และได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมต่อต้านสงครามที่ทรงพลังที่สุด
- เรื่องราวในหนังสือ ปิดฉากลงด้วยบทสุดท้าย ซึ่ง พอล บอยเมอร์ ตายก่อนสงครามจะสิ้นสุด เขาตายในวันที่การสู้รบเงียบสงัด วันที่แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับความเขลาของมนุษย์
มนุษย์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ เฉลียวฉลาดกว่าสัตว์อื่นๆ ขณะที่นักวิชาการทางด้านศาสนาและปรัชญา เชื่อว่า มนุษย์มีจิตใจที่สูงส่งกว่าสัตว์ชนิดอื่น รู้จักคุณธรรม ความดีเลว ทำให้มนุษย์สามารถประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกที่ชอบด้วยจริยธรรมอันงดงาม แตกต่างจากสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยเพียงสัญชาตญาณในการแสดงพฤติกรรมต่างๆ
แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
หากดูจากประวัติศาสตร์ในช่วงเวลากว่า 2 ล้านปีที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นบนโลก หรือเอาแค่ 50,000 ปี ที่มนุษย์เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ และความเชื่อในเรื่องนามธรรม เราจะพบว่า ‘มนุษย์’ หาใช่สัตว์ประเสริฐอย่างที่ยกย่องตัวเองไม่ ตรงกันข้าม มนุษย์ อาจเป็นสัตว์ที่โง่เขลาเบาปัญญาและไร้สาระที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยซ้ำ
สงคราม คือ หนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนคำกล่าวข้างต้น เพราะในขณะที่สัตว์ชนิดต่างๆ อาจเข่นฆ่าสัตว์อื่น รวมถึงสัตว์ที่ร่วมเผ่าพันธุ์เดียวกับตน เพื่อกินเป็นอาหาร เพื่อป้องกันตัว หรือเพื่อปกป้องอาณาเขต แต่มนุษย์ เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่เข่นฆ่าเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ ด้วยเหตุผลที่แสนจะไร้เหตุผลว่า พวกเขามีความเชื่อ ความคิด หรืออุดมการณ์ที่แตกต่างจากพวกเรา
วรรณกรรมต่อต้านสงคราม คือ ความพยายามป่าวร้องให้มนุษย์เห็นถึงความเลวร้ายของสงคราม หากนับจนถึงปัจจุบัน โลกมีวรรณกรรมต่อต้านสงครามดีๆ หลายร้อยเล่ม แต่ไม่มีเล่มไหนที่ได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับหนังสือเรื่อง แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง หรือ All Quiet On The Western Front ซึ่งว่ากันว่า เป็นหนังสือที่ตีแผ่ความโหดร้ายของสงครามอย่างตรงไปตรงมา พร้อมตอกย้ำความโง่เขลาเบาปัญญาของมนุษย์ผู้อ้างตัวเป็นสัตว์ประเสริฐ
ในบรรดาสงครามครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นบนโลก สงครามโลกครั้งที่ 1 หรือที่บางคนตั้งฉายาว่า สงครามสนามเพลาะ นับเป็นสงครามที่นองเลือดและโหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรู้จักการจับอาวุธขึ้นเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พวกเดียวกัน
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายมหาอำนาจกลาง อันประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี กับฝ่ายสัมพันธมิตร อันประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย แม้ว่าสงครามครั้งนี้ จะกินเวลาเพียง 5 ปี คือ ระหว่างปี 1914-1919 แต่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 ล้านคน
ทั้งนี้ เนื่องจากการสู้รบในสนามเพลาะ เป็นยุทธวิธีรบที่ยืดเยื้อและกดดัน คู่สงครามทั้งสองฝ่าย ต่างขุดสนามเพลาะเพื่อเป็นแนวรบตั้งประจันเข้าหากัน โดยมีปืนใหญ่คอยยิงสนับสนุนอยู่ด้านหลัง และมีแนวลวดหนามขึงสกัดอยู่ด้านหน้า
ด้วยความที่เทคโนโลยีการทหารในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 เน้นไปที่การใช้อาวุธปืนของทหารราบเป็นหลัก (ต่างจากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใช้อาวุธหนัก อย่างรถถังและเครื่องบินทิ้งระเบิด) ทำให้การรุกคืบเพื่อช่วงชิงดินแดนเป็นไปอย่างเชื่องช้าและน่าอึดอัด โดยทหารราบของทั้งสองฝ่าย ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในสนามเพลาะแทบจะทั้งวันทั้งคืน จะเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ทำหน้าที่เพียงแค่โผล่หัวขึ้นมาเหนือสนามเพลาะเพื่อสาดกระสุนใส่ข้าศึก และพยายามรุกช่วงชิงดินแดน หรือสนามเพลาะของฝ่ายข้าศึก ทีละคืบ…ทีละคืบ
ว่ากันว่า ใครก็ตามที่ถูกส่งตัวไปอยู่แนวหน้าในสนามเพลาะ จะอยู่ได้ไม่เกิน 3 สัปดาห์ หากไม่เสียชีวิต บาดเจ็บพิการ หรือถึงขั้นเสียสติไปก็มี ทำให้ต้องมีการหมุนเวียนกำลังพลที่แนวหน้าอยู่บ่อยๆ
เอริช มาเรีย เรอมาร์ก เป็นเพียงเด็กหนุ่มอายุ 18 เมื่อตอนที่สมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ประสบการณ์อันเลวร้ายของการสู้รบในสนามเพลาะ ความตายของผองเพื่อน ความเจ็บปวดในค่ายพยาบาล รวมไปถึงความรวดร้าวจากการต้องเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์เพื่อเอาตัวรอดในสงคราม ค่อยๆ กัดกร่อนจิตวิญญาณของเขาลงทุกทีๆ
แม้จะรอดชีวิตจากสงครามได้ แต่ความเป็นคนของเขา กลับหลงเหลือกลับมาเพียงเศษเสี้ยว เรอมาร์ก มีอาการบอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรง จนกระทั่งเขาค้นพบการเยียวยา ด้วยการเขียนหนังสือที่เป็นเหมือนบันทึกเหตุการณ์สมัยออกรบ
และหนังสือเล่มนั้น ก็คือ ‘แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง’ ซึ่งกลายเป็นวรรณกรรมภาษาเยอรมันที่ขายดีที่สุดในโลก ด้วยยอดขายกว่า 20 ล้านเล่ม และได้รับการยกย่องว่า เป็นวรรณกรรมต่อต้านสงครามที่ทรงพลังที่สุด
เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เป็นการบอกเล่าชีวิตในสงคราม ผ่านปากคำของตัวละครเด็กหนุ่มชื่อ เพาล์ บอยเมอร์ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของเรอมาร์ก หากยังเป็นตัวแทนของเด็กหนุ่มทุกคนในโลก ที่กระโจนเข้าสู่สมรภูมิรบ ด้วยจิตใจฮึกเหิมและใสซื่อ ก่อนจะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว การรบในสงคราม หาใช่การแสดงความรักชาติเหมือนเช่นที่ผู้ใหญ่ในแนวหลัง ป่าวประกาศปลุกใจอยู่เนืองๆ หากแต่เป็นแค่การดิ้นรนเอาตัวรอดไปวันๆ โดยต้องอาศัยการกระทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ โดยละทิ้งสิ่งที่เรียกว่า ‘มนุษยธรรม’ ไว้ข้างหลัง
“เรากลายเป็นสัตว์ป่าไปแล้ว เราไม่ได้สู้รบ เราป้องกันความพินาศของเราต่างหาก… ไม่ใช่สำหรับอะไรเลย สำหรับรอดตายเท่านั้น แม้แต่บิดาของท่านมาเองกับข้าศึก ท่านก็ไม่เว้นที่จะขว้างลูกระเบิดไปให้”
เหมือนเช่นที่อัลแบร์ท สหายของบอยเมอร์ กล่าวไว้ว่า “สงครามได้ทำลายเราเสียจนสิ้นเชิง” ทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องเผชิญในสมรภูมิรบ ได้เปลี่ยนเด็กหนุ่มไร้เดียงสา ผู้ยังไม่รู้จักโลก ผู้ยังไม่รู้จักความรัก ให้กลายเป็นเครื่องจักรสงครามที่ทำหน้าที่สาดกระสุนปืนในแต่ละวันให้จบๆ ไป
แต่ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น ก็คือ เมื่อตอนที่บอยเมอร์ได้ลากลับบ้าน ได้หวนคืนสู่โลกอันแสนสงบ ได้พบหน้าแม่และพี่สาว ได้พบเจอสิ่งคุ้นเคยในวัยเด็ก ทว่า เขากลับไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งเหล่านั้นได้อีกแล้ว จนถึงขั้นเอ่ยปากว่า “ข้าพเจ้าไม่ควรลามาบ้านเลยทีเดียว”
สงครามได้เปลี่ยนเด็กหนุ่มไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว
เขาพูดถูก เราไม่เป็นหนุ่มเสียแล้ว เราไม่ต้องการที่จะหยิบแย่งเอาโลก เรากำลังจะหนี หนีจากตัวเราเอง หนีจากชีวิต เราอายุสิบแปด ได้ตั้งต้นที่จะรักโลกและรักชีวิต แล้วเรากลับต้องยิงมันเสียจนแหลกไป ลูกระเบิดลูกแรก เสียงระเบิดครั้งแรก ได้ระเบิดในดวงใจเรา เราถูกตัดขาดจากการงาน จากการแข่งขัน จากความเจริญ เราไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้ต่อไปแล้ว…
เราเชื่อในการสงคราม
แน่นอน บอยเมอร์ ไม่ได้ชื่นชอบสงครามหรือการเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ หรอก เพียงแต่ว่าชีวิตในสนามเพลาะที่แนวรบตะวันตก กลายเป็นโลกใบเดียวที่เขารู้สึกยึดโยงได้ กลายเป็นโลกใบเดียวที่เขารู้จักไปเสียแล้ว
และก็ไม่ต่างจากเด็กหนุ่มคนอื่นๆ ในสมรภูมิอื่นๆ คนที่ปลุกใจให้พวกเขาฮึกเหิม จนต้องแสดงความรักชาติ ด้วยการกระโจนเข้าสู่สงคราม มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่ในแนวหลัง ผู้ไม่ต้องหลั่งเลือดหรือน้ำตา เพียงแค่ใช้วาจาก็เพียงพอจะเป็นผู้รักชาติได้แล้ว
บอยเมอร์และผองเพื่อน ตัดสินใจสมัครเป็นทหารรับใช้ชาติ ตามคำปลุกเร้า (หรือปลุกปั่น) ของคันทอเรค ผู้เป็นครูของพวกเขา ซึ่งมักพูดด้วยน้ำเสียงเชิงอ้อนวอนทุกครั้งที่พบเจอหน้ากันว่า “เพื่อนเอ๋ย ท่านจะไม่สมัครไปสงครามทีเดียวหรือ?”
โยเซฟ เบม เพื่อนคนหนึ่งของบอยเมอร์ เป็นเด็กหนุ่มรักสันติ เขาไม่อยากไปรบหรอก แต่ด้วยแรงกดดันถึงขั้นขู่จะไล่ออกจากโรงเรียน ทำให้ในที่สุด เบม ต้องสมัครเป็นทหารเข้าร่วมรบในสมรภูมิด่านหน้า และเขากลายเป็นเพื่อนคนแรกของบอยเมอร์ ที่ตายเปล่าในสงครามที่สูญเปล่า
ความตายของผองเพื่อน ทำให้บอยเมอร์เข้าใจความจริงของสงคราม ซึ่งคนตายมักอยู่แนวหน้า แต่คนกล้ามักอยู่แนวหลัง แต่เขาไม่ได้โกรธแค้นหรือกล่าวโทษใคร สิ่งเดียวที่เขาและทหารหนุ่มคนอื่นๆทำได้ ก็แค่ยอมรับสภาพ และพยายามเอาตัวรอดไปในแต่ละวัน
“ในเรื่องนี้ เราจะไปโทษคันทอเรคไม่ได้… คนอย่างคันทอเรคคงมีอีกหลายพัน ต่างก็นึกว่ามีทางเดียวที่จะทำความดี คือ ทางของตนเอง”
แม้ว่าหนทางในการทำความดีของแต่ละคน อาจจะแตกต่างกันได้ แต่ก็ไม่ควรจะเป็นหนทางที่นำไปสู่สงคราม-มิใช่หรือ
วรรณกรรมต่อต้านสงคราม ซึ่งเป็นเหมือนการเขียนบันทึกเพื่อเยียวยาบาดแผลในใจของเรอมาร์ก ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ตั้งแต่ออกตีพิมพ์ในปี 1928 หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปิดฉากลงเกือบสิบปี เขากลายเป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นที่สาบสูญ หรือที่เรอมาร์กใช้คำว่า “คนรุ่นหลัง ซึ่งแม้จะรอดพ้นกระสุน แต่ก็ถูกทำลายโดยสงคราม”
เรอมาร์ก เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งว่า “ผมเคยเชื่อมาตลอดว่า โดยเนื้อแท้แล้ว ทุกคนล้วนเกลียดชังและต่อต้านสงคราม จนกระทั่งผมพบว่า มีคนที่ชื่นชอบในสงครามอยู่จริง โดยเฉพาะพวกที่ไม่ต้องออกไปสู้รบที่แนวหน้า”
หลังจากหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์ได้ไม่นาน พรรคนาซี ภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ซึ่งขึ้นมาครองอำนาจทางการเมืองในเยอรมนี ประกาศคว่ำบาตรหนังสือเล่มนี้
เรื่องราวในหนังสือ ปิดฉากลงด้วยบทสุดท้าย ซึ่ง พอล บอยเมอร์ ตายก่อนสงครามจะสิ้นสุด เขาตายในวันที่การสู้รบเงียบสงัด วันที่แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
และความโง่เขลาของมนุษย์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะอีกเพียง 20 ปี หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ปะทุขึ้น และกลายเป็นสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดเท่าที่เคยมีสงครามเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ความโง่เขลาของมนุษย์ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง และคงไม่มีวันเปลี่ยนแปลง… ตลอดไป
หมายเหตุ – ประโยคที่ใช้ตัวเอนในบทความชิ้นนี้ มาจากหนังสือ “แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับภาษาไทย ที่ทรงแปลโดย ม.จ.ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ |