Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Movie
8 September 2023

A Beautiful Day in the Neighborhood: เมื่อความแหลกสลายในอดีตมาครอบงำจิตใจ จงปลดปล่อยตัวเองจากความโกรธ

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • A Beautiful Day in the Neighborhood เป็นภาพยนตร์ในปี 2019 บอกเล่าเรื่องราวของลอยด์ โวเกล นักเขียนนิตยสาร Esquire ที่ต้องไปสัมภาษณ์ มิสเตอร์โรเจอร์ส พิธีกรขวัญใจเด็กๆ อเมริกัน ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นนักบุญที่ยังมีชีวิต
  • แม้การสัมภาษณ์ควรแล้วเสร็จตั้งแต่ครั้งแรก แต่การสัมภาษณ์มิสเตอร์โรเจอร์สกลับแตกต่างออกไป เพราะทุกครั้งมิสเตอร์โรเจอร์มักกลายเป็นคนสัมภาษณ์ลอยด์เสียเอง โดยเฉพาะประเด็นความไม่ลงรอยระหว่างเขากับพ่อ รวมถึงวิธีที่จะช่วยให้ลอยด์ก้าวพ้นจากบาดแผลและความแหลกสลายในวัยเด็กที่กัดกินความสุขของเขามาทั้งชีวิต
  • ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากบทสัมภาษณ์มิสเตอร์โรเจอร์ส(1998) ของทอม จูโนด์ แห่งนิตยสาร Esquire หรือลอยด์ โวเกล ในฉบับภาพยนตร์

“จะทำเช่นไรกับความโกรธในหัวใจ เมื่อเธอโกรธใครสักคนจนแทบคลั่ง เมื่อทุกอย่างในโลกไม่เป็นดั่งหวัง และทุกเรื่องที่ทำไม่เข้าที่เข้าทาง จะทำเช่นใด ชกกระสอบหรือไม่ ทุบก้อนดินหรือแป้งทำขนมไหม จะลองชวนเพื่อนมาเล่นไล่จับกันหรือประชันกันว่าวิ่งเร็วเท่าไหร่…” 

เลดี้แอเบอร์ลินร้องเพลงปลอบใจเสือน้อยแดเนียล (หุ่นมือ) ในวันที่เจ้าเสือรู้สึกโกรธที่ถูกสกั๊งค์พ่นกลิ่นเหม็นใส่

แม้คำแนะนำของเลดี้แอเบอร์ลินอาจดูเรียบง่ายไม่หวือหวาอะไร แต่ต้องบอกว่าฉากการแสดงหุ่นมือจากภาพยนตร์เรื่อง A Beautiful Day in the Neighborhood ช่างอบอุ่น มีพลัง และฮีลใจผู้ชมอย่างผมได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะที่ผ่านมาผมมักเห็นตัวละครในการ์ตูนหรือละครมักระบายความโกรธด้วยการทุบกำแพงหรือกระจกจนเลือดไหล ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ทำให้ความเจ็บใจหายไป มันยังทำให้เจ็บตัวเพิ่มขึ้นไปอีก และอาจกลายเป็นภาพจำที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่านี่คือการแสดงออกที่ดูเท่ของพวกพระเอก

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของ ‘มิสเตอร์โรเจอร์ส’ พิธีกรขวัญใจเด็กที่เปิดโอกาสให้ ‘ลอยด์ โวเกล’ นักเขียนจอมแฉแห่งนิตยสาร Esquire เข้ามาสัมภาษณ์พิเศษ ซึ่งความพิเศษของเนื้อเรื่องกลับไม่ใช่การพูดคุยซักประวัติมิสเตอร์โรเจอร์สแบบถึงลูกถึงคน แต่กลับเป็นมิสเตอร์โรเจอร์สที่สังเกตเห็นความทุกข์ระทมภายใต้รอยยิ้มอันแสนจืดชืดของลอยด์ เขาจึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้ถูกถามมาเป็นผู้ตั้งคำถาม ก่อนจะกลายมาเป็นเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจ 

นอกจากความเข้าอกเข้าใจที่มิสเตอร์โรเจอร์สมีให้ลอยด์ตลอดทั้งเรื่องแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็น ‘แบบเรียนทางจิตวิทยา’ ที่ช่วยให้ผู้ชมอย่างผมได้เรียนรู้มุมมองการใช้ชีวิตของชายที่คนอเมริกันเรียกว่า ‘นักบุญที่ยังมีชีวิต’ ไปพร้อมๆ กับการก้าวข้ามบาดแผลในอดีตของลอยด์ที่มีต่อพ่อของเขา

คนเราหนีไม่พ้นความทุกข์ แต่เราจัดการกับความรู้สึกได้โดยไม่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น

สิ่งแรกที่ผมเรียนรู้ไปพร้อมกับลอยด์คือเรื่อง ‘การควบคุมอารมณ์’ เพราะลอยด์มักควบคุมอารมณ์และเก็บสีหน้าไม่ได้ยามเผชิญหน้ากับพ่อ เนื่องจากตอนที่ลอยด์ยังเด็ก พ่อของเขาทิ้งแม่ไปในตอนที่แม่ป่วยหนัก แถมยังปล่อยให้เขากับน้องจัดการเรื่องเอกสาร รวมถึงงานศพของแม่ตามลำพัง ทำให้ลอยด์โกรธแค้นพ่อจนฝังใจ และนำมาสู่ฉากปัจจุบันที่ลอยด์ชกหน้าของพ่อเข้าไปหนึ่งหมัดโทษฐานที่กล้าดูหมิ่นแม่

แน่นอนว่าลอยด์ไม่ได้รู้สึกผิดในตอนแรก แต่พอได้มาเจอมิสเตอร์โรเจอร์สครั้งแรกและได้ดูละครหุ่นเชิดของเสือน้อยแดเนียลที่แอบสอดแทรกวิธีการจัดการกับความโกรธด้วยการทุบดินเหนียวในวันนั้น เขาที่ตั้งใจจะแฉพิธีกรดังก็เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าชายที่เขาสัมภาษณ์เป็นนักบุญอย่างที่คนร่ำลือหรือเป็นเพียงจอมลวงโลกที่หลอกเด็กไปวันๆ เขาจึงนำความสงสัยนี้ไปถามภรรยาของมิสเตอร์โรเจอร์สในวันหนึ่ง

“ถ้าเขาเป็นพ่อพระก็แปลว่าคนอื่นเป็นอย่างเขาไม่ได้ เขาเองก็ต้องเพียรฝึกตนอยู่เสมอ เขาไม่ได้สมบูรณ์แบบ เขาโกรธเป็น แต่เขารู้จักเลือกวิธีรับมือความโกรธ เขาทำหลายอย่างเพื่อควบคุมตัวเองทุกวัน อ่านพระคัมภีร์ ว่ายน้ำอย่างจริงจัง สวดภาวนาเป็นชื่อใครต่อใคร เขียนจดหมายเป็นร้อยฉบับ เขาทำอยู่แล้วตั้งแต่เรารู้จักกัน” คุณนายโรเจอร์สกล่าว 

ในมุมมองของผม คำพูดนี้มีคีย์ที่น่าสนใจคือคำว่า ‘สม่ำเสมอ’ เพราะผมเชื่อว่าการที่คนๆ หนึ่งจะสามารถรับมือหรือควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการฝึกฝนจิตใจอย่างสม่ำเสมอและใจดีกับตัวเองให้เป็น

ด้านมิสเตอร์โรเจอร์สเองตอนที่ถูกถามคำถามในลักษณะนี้ เขาก็ไม่ปฏิเสธว่าตัวเองก็มีความโกรธความอึดอัด เพียงแต่เขาจะไม่ปล่อยให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้มามีอำนาจเหนือสมองของเขา

“ชีวิตคนเราย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์ มีหลายวิธีจัดการกับความรู้สึกโดยไม่ต้องทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น เช่น ทุบดินเหนียว ว่ายน้ำให้เร็วสุดกำลัง หรือกระแทกคีย์เปียโนต่ำๆ พร้อมกัน”

ผมมองว่าคนส่วนมากถูกทำให้เชื่อว่าเป็นคนดีต้องไม่โกรธ ดังนั้นเมื่อโกรธต้องกดมัน แต่บทสนทนาของคนสองคนที่มีวิธีคิดต่างกันทำให้ผมรู้ว่าคนทุกคนล้วนมีรักโลภโกรธหลงเป็นธรรมดา แต่อยู่ที่ใครจะควบคุมจัดการความรู้สึกได้ดีกว่า 

การเยียวยาบาดแผลในใจไม่ใช่การกดความรู้สึกให้จม แต่เป็นการค่อยๆ ทำความเข้าใจตัวเอง

ในหลายๆ ฉากที่ลอยด์ต้องเจอกับพ่อของเขา ผมสังเกตว่าสีหน้าแววตาของเขาจะดูตึงเครียดและเคร่งขรึมเป็นพิเศษ โดยเฉพาะน้ำเสียงที่แฝงไว้ด้วยความโกรธแค้น แม้การปรากฏตัวของพ่อจะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขอโทษและปรับความเข้าใจกับลอยด์ก็ตาม

บางคนอาจมองว่าลอยด์ยึดติดกับเรื่องในอดีตเกินไป แต่ผมเข้าใจความรู้สึกของลอยด์ที่ไม่สามารถแยกเรื่องราวในอดีตกับความจริงในปัจจุบัน เพราะบางทีสิ่งที่หลงเหลืออยู่อาจไม่ใช่เหตุการณ์แต่เป็นความรู้สึกรวดร้าวที่ถูกกระทำซ้ำจนกลายเป็นแผลในใจ 

มิสเตอร์โรเจอร์สเองก็ทราบดีว่าลอยด์มีบาดแผลในวัยเด็กที่หยั่งลึก เขาจึงอธิบายว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีวันที่เข้มแข็งและวันที่อ่อนแอ ถ้าหากวันไหนที่เข้มแข็งเราก็ควรช่วยเหลือผู้อื่น แต่หากวันใดที่รู้สึกอ่อนแอ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น พร้อมแนะนำให้ลอยด์ระบายความรู้สึกในใจออกมาให้หมด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นความทุกข์ ความเศร้า ความโกรธ เพราะการเยียวยาบาดแผลในใจไม่ใช่การกดความรู้สึกให้มันจม แต่เป็นการค่อยๆ ทำความเข้าใจตัวเองผ่านการพูดกับใครสักคนที่พร้อมรับฟังอย่างไม่ตัดสิน ซึ่งผมเรียนรู้ทำความเข้าใจผ่านบทสนทนาของมิสเตอร์โรเจอร์สกับลอยด์ 

“ทุกสิ่งที่เป็นมนุษย์นั้นเราพูดถึงได้ และสิ่งที่เราพูดถึงได้เราก็จะรับได้”

ประเด็นสุดท้ายที่ผมเรียนรู้ไปพร้อมกับลอยด์คือ ความโกรธที่ก่อตัวขึ้นเป็นกำแพงระหว่างเขากับพ่อนั้นเกิดจากการที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยมองโลกจากมุมของอีกคน จนไม่อาจเข้าอกเข้าใจกันได้

ซ้ำร้ายคือเมื่อเวลาผ่านไปเรามักหลงลืมว่าตัวเองเคยเกลียดคนประเภทไหน  แถมยังกลายเป็นคนในแบบที่ตัวเองเกลียดได้อย่างไม่เคอะเขิน

เช่นเดียวกับลอยด์ที่ในวัยเด็กเขาโกรธพ่อเพราะพ่อไม่ยอมมาดูแล แต่พอเขากลายเป็นพ่อคน เขากลับทำตัวเหมือนพ่อที่เขาเกลียดคือการทิ้งลูกให้ภรรยาเป็นคนเลี้ยง ซึ่งสะท้อนได้จากคำพูดของภรรยาของลอยด์ที่ตัดพ้อว่าลอยด์ไม่เคยลางานเลยตั้งแต่แกวิน(ลูกชาย)เกิด อย่างไรก็ตามลอยด์กลับสามารถ ‘สรรหาสารพัดเหตุผล’ ในเรื่องงานเพื่อหลีกเลี่ยงภาระของการเป็นพ่อ ซึ่งประเด็นนี้ตอกย้ำความจริงที่ว่ามนุษย์มักมีเหตุผลในการปกป้องตัวเองจากความผิดเสมอ 

กระทั่งคืนหนึ่ง ลอยด์ได้เปิดดูบทสัมภาษณ์ย้อนหลังเรื่องการเป็นพ่อแม่ของมิสเตอร์โรเจอร์สที่บอกว่าการเป็นพ่อแม่คือโอกาสที่เราจะได้เติบโตอีกครั้งและพ่อแม่ควรนึกถึงตัวเองสมัยเด็กๆ จะได้รู้ว่าลูกรู้สึกยังไง ซึ่งประโยคนี้ทำให้ลอยด์กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง และเริ่มกลับมาตระหนักถึงหน้าที่ที่เขาละเลยมาเป็นเวลานาน

พอเข้าใจว่าการเป็นพ่อไม่ใช่เรื่องง่าย ลอยด์ก็เริ่มเข้าใจพ่อของเขามากขึ้น และเมื่อเขาเปิดใจมากขึ้น มิสเตอร์โรเจอร์สจึงชวนลอยด์ทำกิจกรรมที่มีชื่อว่า ‘หนึ่งนาทีแห่งความเงียบงัน’

“ผมรู้ว่าคุณเป็นคนยึดมั่น คุณรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี อย่าลืมว่าความสัมพันธ์ของคุณกับพ่อมีส่วนช่วยให้คุณเป็นแบบนี้ เขาช่วยให้คุณเป็นคุณคนนี้ ทำอะไรเป็นเพื่อนผมหน่อยสิ เป็นการฝึกตนที่ผมชอบทำ แค่ใช้เวลาครู่เดียว คิดถึงทุกคนที่รักเราและทำให้เราเป็นเรา…พวกเขาจะมาหาคุณเอง แค่สงบนิ่งสักครู่”

ผมสงบนิ่งไปพร้อมกับตัวละครทั้งสองและจู่ๆ ผมกลับเห็นผู้คนที่ผมรักเดินทางมาหาผมทีละคน คนแล้วคนเล่าทั้งพ่อแม่ที่ไม่ถูกใจนักแต่ก็รักเรากว่าใคร อากงที่ตายไปแล้ว พี่น้องที่เป็นเบาะนุ่มๆ ยามเราล้ม และเพื่อนแท้ทางจิตวิญญาณที่คอยอยู่เคียงข้างเราเสมอ นาทีนั้นผมรู้สึกถึงความตื้นตันใจบางอย่างที่เอ่อล้น กระทั่งตอนที่มิสเตอร์โรเจอร์สกล่าวขอบคุณ หัวใจของผมกับลอยด์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

พอลดกำแพงแห่งความโกรธ หัวใจของลอยด์ก็เปิดกว้างขึ้น ดังนั้นเมื่อลอยด์กลับไปพบพ่อของเขาอีกครั้ง เขาก็พบว่าพ่อของเขาเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ 

“ลอยด์ ฉันขอโทษที่ทิ้งแกกับน้อง ฉันมันทั้งเห็นแก่ตัวและใจร้าย มองหน้าพ่อสิ พ่อขอโทษนะลูก มันไม่ควรเป็นอย่างนี้เลย นี่พ่อเพิ่งจะรู้ว่าตัวเองควรใช้ชีวิตยังไง พ่อรักแกมาตลอด”

แม้ว่าชีวิตจริงมันไม่ง่ายที่จะวางความโกรธที่อยู่กับตัวเองมาครึ่งค่อนชีวิตลง และยิ่งเป็นการยากที่จะได้รับคำขอโทษจากคนที่สร้างบาดแผลในใจให้เรา แต่ถึงตอนนี้ผมตัดสินใจแล้วว่า…จะไม่ให้ความแหลกสลายในอดีตมาครอบงำจิตใจ ปลดปล่อยตัวเองออกจากความโกรธ และอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขอีกครั้ง

Tags:

ภาพยนตร์การเยียวยาความโกรธบาดแผลในจิตใจA Beautifulday in the Neighborhood

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    ลบมายาคติ ‘เด็กดี’ โอบรับความใจดีของ ‘เด็กดื้อ’: That Christmas

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    All The Bright Places: พ่อไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์ของการใช้กำลังวันนั้นมันแย่แค่ไหน 

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsMovie
    About time: ความสัมพันธ์ต้องไม่พยายามฝ่ายเดียว คนในครอบครัวก็เช่นเดียวกัน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    รีวิวตัวละครเเม่ในหนังหลากสัญชาติที่บอกว่า ไม่ว่าหนังหรือชีวิตจริง แม่ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง

    เรื่อง The Potentialณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel