- ความเจ็บป่วยเรื้อรังในตอนโต เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคภูมิต้านตนเอง เมื่อสืบสาวไปดีๆ อาจมาจากบาดแผลในวัยเด็ก
- แต่ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวของโรคในวัยผู้ใหญ่
- หนังสือ Childhood Disrupted จะพาเราล้วงและค้นจิตใจตัวเองได้ลึกและไกล เพื่อจะไปพบว่าที่สุดแล้วเราจะเจอทางออก ไม่ใช่ทางตัน
หาก ณ วันนี้คุณกำลังเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บเรื้อรังต่างๆ หรือมีความรู้สึกปั่นป่วนต่อบทบาทต่างๆ ในชีวิต เช่น เป็นพ่อแม่ที่มักมีอารมณ์รุนแรงเสมอเวลาที่ลูกของคุณทำอะไรผิดพลาดบ่อยๆ เป็นเจ้านายที่ไม่ค่อยพอใจกับลูกน้องที่ไม่ค่อยกระตือรือร้น หรือมีความสัมพันธ์กับคู่ครองด้วยความระแวงว่าจะถูกทอดทิ้ง ไม่รู้สึกถึงความมั่นคงในความสัมพันธ์
ถ้าคุณกำลังประสบกับความยุ่งยากเหล่านี้ ขอให้ลองกลับมาทบทวนเนื้อหาต่อไปนี้ ที่มาจากการอ่านหนังสือ “เกินกว่าเจ็บปวด” Childhood Disrupted: How Your Biography Becomes Your Biology, and How You Can Heal (บาดแผลทางใจที่เราประสบในวัยเด็ก ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยและโรคเรื้อรัง เมื่อเราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างไร และเราจะเยียวยามันด้วยวิธีใด) เขียนโดย Donna Jackson Nakazawa ฉบับแปลภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์โอ้ มายกอด
เราจะมาดูแง่มุมต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจที่มาของตัวคุณพร้อมกัน ว่าอดีตได้ส่งผลต่อคุณในทุกวันนี้อย่างไร และสุดท้ายคุณมีทางเลือกที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง เป็นพ่อแม่ที่เข้าใจลูกด้วยจิตใจที่สงบ เป็นคุณครูที่เอื้อต่อลูกศิษย์ด้วยตระหนักรู้ เป็นหัวหน้าที่เข้าถึงจุดติดขัดของลูกน้องและเพื่อนร่วมงานได้อย่างเข้าอกเข้าใจ หรือสุดท้าย คุณคือคนที่จะสามารถเริ่มเยียวยาใจตนเองด้วยทางเลือกที่สร้างสรรค์
อดีต ปัจจุปัน และอนาคต เชื่อมโยงเป็นสายธารของชีวิต
“ช่วงปีของวัยเด็กไม่ได้สูญหายไปไหนเลย แต่เป็นเหมือนรอยเท้าของเด็กที่เหยียบลงบนซีเมนต์เปียก ซึ่งแปลว่ามันถูกประทับไปตลอดชีวิต” ประโยคหนึ่งจากหนังสือ
ประสบการณ์ในวัยเด็กทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่เราเป็นอยู่ได้อย่างไร ถึงแม้เราจะผ่านวิกฤติต่างๆ ในชีวิตมากมายจนเราเข้มแข็ง และได้เรียนรู้ที่จะอยู่รอดอย่างปลอดภัย แต่ในความจริงอีกด้าน เราก็ค้นพบว่า ความเครียด การสูญเสียและประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่เราต้องเผชิญช้ำๆ ได้ส่งผลทางชีวภาพในแบบที่ก่อปัญหาสุขภาพให้เราในตอนโตด้วย และผลทางชีวภาพที่สั่งสมมาทำให้มีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงอย่างเช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคภูมิต้านตนเอง โรคปวดกล้ามเนื้อและโรคซึมเศร้า นอกจากนั้นอดีตยังเป็นตัวกำหนดรูปแบบของความสัมพันธ์รัก หรือรูปแบบการเลี้ยงดูบุตรให้เติบโต
แม้บาดแผลในวัยเด็กจะมีความเกี่ยวโยงกับโรคภัยในตอนโต แต่ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวของโรคในวัยผู้ใหญ่ ยังมีอีกหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม สารพิษในอาหาร แต่จากงานวิจัยที่มากพอก็บอกเราว่า ถ้าเราไม่รู้ว่าวัยเด็กของเรามีส่วนอย่างมากต่อการเกิดปัญหาด้านสุขภาพ การเยียวยารักษาก็จะยากขึ้นไปอีก และนี่จึงเป็นสาเหตุให้ห้องปฎิบัติงานของเหล่านักประสาทวิทยาทั่วประเทศกำลังค้นหาความเชื่อมโยงอันลึกลับระหว่างสมองและร่างกาย
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เริ่มต้นสืบค้นความเชื่อมโยงระหว่างประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กกับสุขภาพในวัยผู้ใหญ่ของเธอเอง หลังจากต้องต่อสู้กับโรคภูมิต้านตนเองที่ส่งผลให้เธอเป็นอัมพฤกษ์สองครั้งและกำจัดเวลาในชีวิตของเธอไปกว่าสิบปี และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเข้ามาค้นคว้างานด้านนี้
มีการศึกษาเกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก (Adverse childhood experiences) หรือ ACE Study การศึกษานี้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างประสบการณ์เลวร้ายประเภทต่างๆ ในวัยเด็กกับโรคที่เกิดขึ้นทางกายและจิตใจในวัยผู้ใหญ่ บาดแผลทางใจก่อขึ้นด้วยรูปแบบของคำพูดที่ทำให้รู้สึกต่ำต้อยและอับอาย หรือการถูกทอดทิ้งทางกายและทางความรู้สึก และอาจจะถูกลวนลามทางเพศ การใช้ชีวิตร่วมกับพ่อแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้า พ่อแม่ที่มีโรคทางจิต หรือพ่อแม่ที่ติดสุราหรือติดสารเสพติด และการเห็นแม่ของตนถูกรังแกต่อหน้าต่อตา หรือการสูญเสียพ่อแม่คนใดคนหนึ่งไปเพราะการหย่าร้างหรือแยกทางกัน ในกรณีอื่นๆ ก็อาจจะมีผลด้วย เช่น การเห็นพี่น้องถูกรังแก หรือเติบโตมาในชุมชนที่เต็มไปด้วยความรุนแรง เติบโตมาพร้อมกับความยากจน รวมถึงเพื่อนนักเรียนหรือครูรังแก ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบระยะยาวด้วยเช่นกัน
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความทุกข์เรื้อรังเหล่านี้ได้เข้าไปเปลี่ยนโครงสร้างทางสมองของเด็ก เปลี่ยนแปลงการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งมันไปกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดด้วยกระบวนการอักเสบที่มากเกินไปสำหรับชีวิต เลยทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
และในกรณีของคนเขียนหนังสือเล่มนี้ แพทย์ประจำตัวที่ศูนย์การแพทย์จอห์นฮอปกินส์บอกกับเธอว่า จากความเครียดเรื้อรังที่เธอประสบในวัยเด็กอาจทำให้ร่างกายและสมองสะสมสารพิษที่ทำให้เกิดการอักเสบมาเรื่อยๆ ในวัยเด็กแต่เดิมที่ชีวิตครอบครัวเคยอยู่อย่างมีความสุขอบอุ่น ตัวเธอเคยสนิทสนมกับพ่อแต่เมื่อวันที่พ่อมาด่วนเสียชีวิตลง ความเป็นเด็กของเธอก็จบสิ้นลงชั่วข้ามคืนไปด้วย และเมื่อมองย้อนกลับไปมันก็ไม่ใช่ความผิดของใคร มันเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เธอกลับคิดว่าคนที่ไม่ยอมหลุดออกจากอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กคือคนที่เป็นจำเลยของอารมณ์
เราจึงกลับมาตั้งคำถามต่อหนทางของการเยียวยาผลกระทบทางชีวภาพอันเกิดจากความเครียดที่เป็นพิษร้ายในวัยเด็กว่าสามารถที่จะเยียวยาให้คืนกลับมาเป็นตัวเราเองได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร และได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
นายแพทย์วินเซนต์ เจ เฟลิติ และนักวิจัยหัวหน้าโครงการป้องกันโรคแนวใหม่จากศูนย์การแพทย์ไกเซอร์ในซานดิเอโก ศึกษากับผู้ป่วยกว่า 17,000 ราย ที่ยินยอมให้สำรวจกรอบแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องเลวร้ายในอดีตที่โยงถึงสุขภาพ นายแพทย์ท่านนี้ค้นพบและตั้งข้อสังเกตว่า บาดแผลที่เรามองไม่เห็นที่เกิดขึ้นกับจิตใจ อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมความเครียดเรื้อรัง และสร้างกลไกการลดความตึงเครียดด้วยการมีอัตราเสี่ยงต่อการมีนิสัยสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือกินอาหารมากเกินไป
แล้วนายแพทย์เฟลิติบอกว่า “เวลาไม่อาจรักษาบาดแผลทุกชนิดได้ คนเราไม่สามารถแค่ลืมมันไปได้ง่ายๆ แม้เวลาจะผ่านไป 50 ปีแล้วก็ตาม” และตรงกันข้าม เวลาเก็บซ่อนมันไว้ แล้วมนุษย์จะเปลี่ยนบาดแผลทางใจที่ได้รับในวัยเด็กให้เป็นโรคทางกายต่อไปในอนาคต
ร่างกายไม่ลืมและจะบอกเล่าเรื่องราวของมัน
เเคท เมื่อตอนอายุ 5 ขวบ ในช่วงที่แม่ทิ้งพ่อของเธอไป ในวันหนึ่งของเหตุที่เกิดขึ้น แม่ของเธอพาเธอไปที่ร้านทำความสะอาดพรมของพ่อ และสั่งให้แคทแอบอยู่ในรถด้านหลังเบาะ ไม่ให้ใครเห็นและให้อยู่นิ่งๆ
“อีกประเดี๋ยวแม่จะกลับมา” แม่ของเธอบอกว่ามีเรื่องต้องคุยกับพ่อ เธอจำได้ว่าตอนนั้นเธออยู่ท้ายรถและระบายสีวาดรูปอย่างมีความสุข แต่ต่อมาเธอได้ยินเสียงกรีดร้องเธอจึงลุกขึ้นมาดู และพบว่าแม่ของเธอไม่กลับมา เวลาผ่านไปนาน ทั้งหิวและร้อนเธอจึงปีนออกมานอกรถและเดินไปที่ประตูด้านหน้า ประตูด้านหน้าล็อคไว้แคทจึงเดินไปที่หน้าต่างด้านข้างและเขย่งขาเพื่อดูว่าแม่หรือพ่อของเธออยู่ข้างในหรือไม่ และเธอเห็นร่างของแม่นอนหน้าคว่ำอยู่ที่พื้นพรมและไม่ขยับตัวเลย เธอพยายามจะไปเปิดประตูด้านหน้าแต่ก็ไม่มีใครตอบรับ เธอจึงวิ่งไปที่รถแวนและขังตัวเองอยู่ในนั้น อีกพักพ่อของเธอเดินมาหาและบอกว่าแม่กำลังคุยโทรศัพท์อยู่ เขายิ้มและบอกว่า “พ่อจะพาลูกไปที่บ้านพ่อ” ขณะที่ขับรถกลับดูเหมือนเขายิ้มแย้มราวกับทุกอย่างไม่มีอะไรผิดปกติ
แคทยังเก็บข่าวที่ตัดจากหนังสือพิมพ์ ตำรวจสงสัยว่าพ่อฆ่าแม่ของเธอแต่พวกเขากลับไม่พบศพ นักสืบขอให้แคทเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้งด้วยตุ๊กตาบาร์บี้ เธอไปให้การที่ศาลว่าเห็นเหตุการณ์อะไรบ้างที่คอกพยาน และคำให้การของแคททำให้คณะลูกขุนตัดสินส่งพ่อของเธอเข้าเรือนจำ ต่อมาจนแคทอายุ 8 ขวบ พ่อได้เขียนจดหมายสารภาพและบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการฆาตกรรมภรรยา
เขาเล่าว่า ได้หั่นศีรษะแม่ของแคทออก บดกะโหลกศีรษะและบดฟันทั้งหมดแล้วโยนทิ้งแม่น้ำ และฝังศพที่ไร้ศีรษะเอาไว้ แคทร่วมงานศพของแม่ และได้เห็นโครงกระดูกที่ไม่มีกะโหลกศีรษะของแม่ แคทในตอนนั้นรู้สึกได้ถึงความอ้างว้างและไม่มีส่วนใดของแม่ที่เธอรักหลงเหลืออยู่ แม่คนที่เธอรักอย่างแท้จริง
เรื่องของผู้หญิงคนนี้ที่อดีตหลอกหลอนเธอมาตลอดชีวิต ตอนนี้เธออยู่ในวัย 37 ปีที่ต้องการเป็นอิสระจากผีที่ตามหลอกหลอนเธอ เธอเล่าให้ฟังว่า “ในช่วง 2-3 ปีถัดมาจากเหตุการณ์นั้นเรื่องของฉันกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ไม่มีใครพูดถึงมันเลย รวมถึงเรื่องที่ฉันทำให้พ่อต้องติดคุก”
ในช่วงวัยรุ่นเธอมีผลการเรียนที่ดี เป็นนักกีฬาที่มีความสามารถ เธอได้เป็นนักเรียนตัวอย่างที่ดูดีสมบูรณ์ แต่ภายใต้เปลือกนอกที่ดูปกตินี้ เธอต้องแอบดื่มเหล้าเพื่อระงับความฟุ้งซ่าน เมื่อทุกอย่างหยุดนิ่งและกลางคืนที่เงียบงัน เธอไม่สามารถหลับตาลงได้ มีแต่ความหวาดผวา ปัจจุบันเธอก็เปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ในช่วงวันที่หมดลงจะจบด้วยความรู้สึกสิ้นหวังและโดดเดี่ยวและมีความวิตกกังวล ความเศร้าได้เกาะกินทำให้จิตใจของเธอไม่สงบ อารมณ์เป็นพิษของแคทในวัยเด็กก็เริ่มแสดงออกทางร่างกาย ราวกับว่าความเจ็บปวดตั้งแต่หลายสิบปีก่อนเริ่มลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ ผิวหนังทั้งตัวของเธอเป็นผื่น แคทรักษากับหมอหลายคน ทดลองยาหลายขนานเพื่อรักษาแต่ก็ไม่มีวิธีไหนเลยที่จะลดความเจ็บปวดทางกายลงได้
แคทไปหาหมออีกสองสามคนเพื่อหาวิธีการรักษาแบบทางเลือก แล้วหมอท่านหนึ่งที่ตั้งคำถามเปลี่ยนชีวิตแคทไปตลอดกาลว่า “คุณคิดว่าความเครียดที่สั่งสมมากับคุณเมื่อ 30 ปีก่อนเกี่ยวข้องกับการอักเสบทั่วร่างกายของคุณในตอนนี้ไหม?” บางอย่างในตัวแคทบอกว่ามีความจริงในคำถามของหมอคนนี้
หลังจากนั้นเธอจึงถามตัวเองว่า “ฉันจะเป็นคนอย่างไรถ้าไม่ได้เจอความเจ็บปวดและความเศร้าแบบนั้นในอดีต?”
“ฉันจะมีชีวิตที่ต่างออกไปไหมถ้าฉันมีวัยเด็กที่เป็นสุขมากกว่านี้?”
แคทเริ่มจดจ่อกับคำถามสำคัญเหล่านี้เพื่อเริ่มต้นกระบวนการรื้อสร้างและเยียวยาบาดแผล
ถ้าคุณเจอแคทในขณะที่เธออายุประมาณ 30 คุณจะไม่มีทางสังเกตพบความเชื่อมโยงระหว่างบาดแผลในวัยเด็กและปัญหาสุขภาพ หากคุณเป็นเจ้านายของเธอคุณอาจจะมองว่าเธอไม่ยอมใช้ศักยภาพให้เต็มที่ หากคุณเป็นเพื่อนของเธอคุณอาจจะคิดว่าเธอเป็นพวกชอบครอบงำ ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ชอบโทษตัวเองว่าเป็นเหยื่อและโทษคนอื่นแม้ในเรื่องเข้าใจผิดเล็กน้อย
เพื่อตระเตรียมการเผชิญต่อสถานการณ์ต่างๆ ระบบร่างกายจะใช้กลไกในการตอบสนองต่อความตึงเครียด เพื่อสู้หรือหนี ซึ่งเมื่อคุณมีการตอบสนองต่อความเครียดอย่างถูกต้อง หมายถึง เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปร่างกายคุณจะหยุดการตอบสนองแบบสู้หรือหนี และกลับคืนสู่ภาวะพื้นฐานของการฟื้นตัวและผ่อนคลายจากความตึงของกายและใจ
แต่หากเมื่อคุณต้องเจอกับสถานการณ์ที่สร้างความตึงเครียดอยู่บ่อยๆ ก็ราวกับว่าคุณต้องเข้าสู่ภาวะสงครามรบภายในร่างกายคุณบ่อยๆ จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง บ่อยจนร่างกายคุณไม่เคยได้หยุดพักการตอบสนองต่อความเครียดเลย จึงทำให้ร่างกายหลั่งสารเคมีแห่งการอักเสบออกมาในระดับต่ำๆ ตลอดเวลา
ความเครียดในวัยเด็กทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองซึ่งปรับเปลี่ยนระบบภูมิคุ้มกันจนเกิดการเปลี่ยนที่ระดับยีน เพราะในเด็กเล็กสมองกำลังพัฒนาอยู่ เมื่อถูกผลักไปเจอกับสภาพที่ต้องสู้หรือหนี ภาวะเครียดเรื้อรังจะระงับการทำงานของยีนที่ควบคุมการตอบสนองต่อความเครียด และทำให้ไม่สามารถควบคุมการตอบสนองได้อย่างเหมาะสมไปตลอดชีวิต ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่โตมาไม่มีบาดแผลทางใจในวัยเด็ก เมื่อมีสิ่งกระตุ้นความเครียดระดับสารเคมีในร่างกายก็พุ่งสูงได้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นผ่านพ้นไป เขาจะกลับสู่สภาวะพักและผ่อนคลายอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเราได้รับบาดแผลทางใจในวัยเด็ก แกนตอบสนองความเครียดในวัยผู้ใหญ่ของเราจะไม่สามารถแยกอันตรายที่แท้จริงออกจากความรู้สึกเครียดได้
“เด็กที่ตื่นตัวตลอดเวลา” ผู้ใหญ่ที่เคยมีประสบการณ์ในวัยเด็กที่เลวร้ายจะมีความตื่นตัวสูง มันเป็นนิสัยที่ถูกบ่มเพาะขึ้นตั้งแต่เด็ก หลังจากที่ป่วยครั้งร้ายแรงในตอนเด็ก มิเชลไม่เคยรู้สึกผ่อนคลาย หรือรู้สึกปกติสุขอีกเลยเมื่อเป็นผู้ใหญ่
“ฉันกลัวว่าตัวเองจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรก็ตามที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตฉันไปทั้งชีวิต”
อีกตัวอย่างคือ ลอรา เธอโตเป็นผู้ใหญ่ที่ทำงานเธออยู่ในระดับสูง ในแผนกขนถ่ายสินค้าซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจที่เร่งด่วนและตื่นตัวตลอดเวลา เธอทำหน้าที่นี้ได้ดีทีเดียวเพราะสมองของเธอเรียนรู้ที่จะตื่นตัวเสมอ เพราะเธอต้องเตรียมรับมือกับการถูกแม่เล่นงานมาตั้งแต่เด็ก เหมือนว่าถ้าเตรียมพร้อมไว้ก่อนก็จะเจ็บน้อยลง
“ฉันกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเดาอารมณ์ของแม่” ลอราเรียนรู้ที่จะ “ระวังตัวโดยสัญชาตญาณเวลาที่เห็นแม่หรี่ตาลง” ซึ่งบอกให้รู้ได้ว่าเธอกำลังจะถูกตำหนิในบางเรื่องซึ่งเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเป็นคนทำ เช่น กินแซนด์วิชครึ่งที่เหลืออยู่ในตู้เย็น หรือใช้เวลาผูกเชือกรองเท้านานเกินไป
“แม่เป็นคนอันตรายในสายตาของฉัน ถึงรู้ว่าแม่จะไม่มีวันทำร้ายร่างกาย แต่ฉันก็กลัวแม้ในเวลาที่แม่อารมณ์ดี เวลาที่ฉันได้ยินเสียงแม่กรนเบาๆ ตอนกลางคืน ฉันจะรู้สึกเป็นอิสระที่สุด รู้สึกโล่งอก”
ในห้องทดลองวิจัย ที่ทดลองการทำงานสมองของหนู โดยการสร้างความเครียดในระดับต่างๆ ในหนูสองกลุ่มเป็นระยะเวลาสามสัปดาห์ หนูกลุ่มแรกสร้างแรงตึงเครียดแบบอ่อนๆ โดยที่หนูจะไม่สามารถคาดเดาว่าจะเกิดอะไรหรือเวลาไหน และหนูในกลุ่มที่สอง สร้างความตึงเครียดในเวลาเดิมและลักษณะเดิมทุกวัน ผลออกมาคือ หนูกลุ่มแรกที่ถูกกดดันในสถานการณ์ต่างๆ แบบคาดเดาไม่ได้นั้นสมองไม่สามารถหยุดตอบสนองต่อความเครียด และเกิดมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมอง พวกมันป่วย มีแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งผลจะต่างจากหนูอีกกลุ่ม หากคาดเดาความเครียดได้แน่ชัด แม้จะเป็นความเครียดที่รุนแรงกว่าก็ตาม ความเครียดเหล่านั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบหนูกลุ่มแรกที่คาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ ทีมวิจัยบอกว่า “พวกมันจะหาวิธีจัดการ พวกมันจะรู้ว่าสิ่งเร้ากำลังจะมา จากนั้นมันจะจบลงเร็ว” และผลคือ พวกมันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมอง การอักเสบหรือการเจ็บป่วยในแบบเดียวกันนั้น”
สรุปก็คือ สมองสามารถทนต่อความเครียดที่รุนแรง ถ้ามันเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ แต่คุณจะไม่สามารถทนแม้แต่ความเครียดเล็กน้อยได้ ถ้ามันเกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดเดาได้ หากเปรียบเทียบตัวอย่างกับหมีตัวหนึ่งที่วนเวียนอยู่รอบบ้านของคุณ ซึ่งทำให้คุณหนีไปไหนไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันจะบุกเข้ามาหรือไม่ หรือบุกเข้ามาเมื่อไร หรือจะทำอะไรต่อไป ทำให้คุณขวัญผวาทุกวัน คุณไม่สามารถสู้หรือหนี นั่นจะทำให้ “ระบบการตอบสนองแบบฉุกเฉินของคุณทำงานเกินกำลังตลอดเวลา เครื่องรับรู้ความกังวลของคุณเดินเครื่องทำงานเต็มที่ไม่มีหยุด”
แม้แต่ความเครียดของเด็กแบบที่พบได้ทั่วไป เช่น พ่อแม่ที่ชอบจ้องจับผิด มีอารมณ์พลุ่งพล่านเกินปกติ สามารถก่อความเสียหายได้เช่นเดียวกับพ่อแม่ที่ชอบระบายอารมณ์กับเด็ก
มีอีกมากมายอยู่ข้างนอกบ้านของคุณ ทำให้คุณมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ทั้งอาการของโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ (อารมรณ์ที่เหวี่ยงขั้ว) การติดสุราและรูปแบบของการเสพติดต่างๆ เช่น เกม เซ็กส์ การกินที่เกินขีดจำกัด การชอปปิ้งที่เกินเหตุ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้ในผู้ใหญ่ จากงานวิจัยจะพบได้ถึง 18 เปอร์เซ็นต์ ของคนอเมริกัน และคนในจำนวนนี้เมื่อศึกษาประวัติก็พบว่า 1 ใน 4 เคยมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก อย่างเช่นมีพ่อแม่ที่ติดสุรา ฯลฯ
“ประสบการณ์เลวร้ายในอดีตส่งผลต่อขนาดและรูปร่างสมอง”
เมื่อชีวิตดำรงอยู่กับบาดแผลอย่างยาวนาน
มีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตแต่ละวันด้วยความหวาดกลัว ขี้ระแวงเกินเหตุ และด้วยสภาวะเซลส์สมองอักเสบระดับต่ำๆ โดยอาจจะไม่รู้ตัว สมองก็จะถูกกำหนดการทำงานที่ต้องสู้กับภาวะอารมณ์ขุ่นเคืองไม่แจ่มใส และไม่อาจใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพ มองสิ่งต่างๆ เกินเลยจากสิ่งที่เป็นจริงอยู่เสมอ ซึ่งทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบๆตัวเขานั้นเป็นเรื่องดีหรือเปล่า หรือว่าเป็นเรื่องเลวร้าย และโดยส่วนใหญ่พวกเขามักจะมองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเลวร้ายมากกว่าคนอื่น
“รอยประทับแห่งประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กที่ถูกทิ้งไว้ในสมองของเรา สามารถรื้อสร้างรอยประทับนั้นได้เพื่อไม่ให้ร่องรอยเหล่านี้ติดตัวเราไปตลอดชีวิต”
เราจะลองมาสำรวจคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านความทุกข์ยากหรือมีบาดแผลฝังลึกในจิตใจ แต่กลับมีชีวิตที่มีความสุขอายุยืนยาวแถมมีความสามารถในการจัดการกับความเครียดได้ดี เพราะคนที่ผ่านประสบการณ์เลวร้ายมาก็ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการเป็นโรคต่างๆ กันทุกคน มัลคอม แกลดเวลล์ นักวิจัยและนักทฤษฎีสังคม นำเสนอไว้ว่า “การสูญเสียพ่อแม่ตั้งแต่วัยเยาว์อาจจะส่งผลได้ทั้งทางลบและทางบวกในวัยผู้ใหญ่ บางคนความยากลำบากกลับทำให้ยิ่งต้องพยายามดิ้นรนมุ่งมั่นหาทางแก้ไขชีวิตของพวกเขา”กดดก
และจากงานวิจัยค้นพบว่า การเรียนรู้ที่จะจัดการความเครียดในระดับปกติเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการที่เป็นประโยชน์ ฉะนั้นประสบการณ์ด้านลบก็อาจจะสอนให้คนแข็งแกร่งขึ้นได้ เพราะพวกเขาได้โอกาสพัฒนาความสามารถในการจัดการเรื่องยุ่งยาก จึงทำให้พวกเขาจัดการกับปัญหาในอนาคตได้ดี
“หนทางเยียวยา เริ่มต้นจากการเผยความลับที่ต้องเก็บงำมานานกับใครบางคนที่มีพลังแห่งความเป็นผู้ใหญ่ (Eldership)”
ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนั้น สามารถบอกถึงความแตกต่างในเด็กที่ได้รับความเห็นอกเห็นใจและได้กำลังใจจากผู้ใหญ่สักคนหนึ่ง เด็กเหล่านี้จะสามารถฟื้นตัวและปรับตัวได้กับการเผชิญความทุกข์ในใจ
แต่เมื่อเรามักเข้าใจว่า การกลับไปย้อนดูเรื่องราวในอดีต คือการรื้อปมที่เคยมีความเจ็บปวดให้กลับมาเจ็บซ้ำอีก ซึ่งแนวคิดนี้มีด้านที่ถูกและผิดปนอยู่ ที่บอกว่าถูกเพราะบาดแผลในอดีตนั้นจะมีผลต่อใจคุณ มันยังคงตามหลอกหลอนได้เสมอทุกครั้งเมื่อคุณได้ย้อนรำลึกอดีตที่ปวดร้าวใจ คุณจะกลับไปรู้สึกแบบเดิม รู้สึกเปราะบางดังที่เคยเป็นเด็กน้อยในวันวาน ซึ่งความทรงจำเหล่านี้ก็จะมีอิทธิพลต่อชีวิตคุณโดยไม่รู้ตัว
ภาพหรือสัญลักษณ์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลในอดีตจะส่งผลมาถึงปัจจุบันทำให้คุณมีปฎิกิริยาด้านลบเสมอและมีแนวโน้มที่ทำให้คุณอยากจะหลีกเลี่ยงด้วยวิธีการต่างๆ ให้ห่างตัวออกไป หากความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นร้ายแรงจะทำให้คุณจดจำมันได้ดี เรียกว่าเป็นความทรงจำที่ชัดเจน และอีกระบบที่สมองได้ฝากความทรงจำไว้ คือ กระบวนการบันทึกความทรงจำแฝงเร้นไว้ เป็นความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์นั้นๆ อย่างเช่น เด็กบางคนจะเก็บความรู้สึกกลัว โกรธ ฯลฯ เหล่านั้นไว้และนำติดตัวไปจนโต เนื่องจากในตอนเด็กยังไม่สามารถจดจำเหตุการณ์และเรื่องราวได้ สมองของคุณสร้างโลกที่คนอื่นไม่มีทางมองเห็นได้เลย มันกลายเป็นมุมมองต่อการดำเนินชีวิต
และอีกแง่มุมหนึ่ง การย้อนกลับไปดูความทรงจำเหล่านั้นด้วยกระบวนการเยียวยาก็มีผลที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะกระบวนการเก็บความทรงจำของสมองนั้นมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น ความทรงจำที่ถูกประทับไว้เหล่านั้นถูกปรับแต่งตลอดชีวิตของคุณ แม้หลังจากที่ความทรงจำเหล่านั้นได้ถูกสรุปรวมเข้าด้วยกันแล้วก็ตาม มันไม่ได้คงอยู่แบบนั้นตลอด สมองของคนเราสามารถเติมแต่งเรื่องราวในความทรงจำเหล่านี้ได้อย่างสดใหม่เสมอ เมื่อเวลาผ่านไป ตามข้อมูลใหม่ หรือมีประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับ ทุกครั้งที่คุณนึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ความทรงจำนั้นจะเริ่มไม่คงตัวดังเดิม หรือเรียกว่า มีโอกาสเปลี่ยนแปลงวิธีที่คุณจำถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นนั้นเอง
นักวิทยาศาสตร์ด้านสมองเรียกกระบวนการนี้ว่า “การให้ความหมายใหม่” ในตัวอย่างของเคนดอลซึ่งในอดีตเธอคือเด็กหญิงที่ไม่ได้รับการใส่ใจจากพ่อแม่ แต่กลับถูกมองว่าอาการป่วยไข้ของเธอเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่เมื่อเคนดอลโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และได้ทำความเข้าใจเรื่องราวต่างๆผ่านมุมมองการเยียวยา เธอจึงให้ความหมายใหม่ว่า
“ฉันพยายามที่จะไม่ถือโทษโกรธพ่อแม่ ฉันเป็นแค่เด็กตัวเล็กๆ ที่อ่อนไหวซึ่งต้องเจอกับการถูกทอดทิ้งซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ถูกปฎิบัติอย่างเลวร้ายและไม่ได้รับการดูแลเช่นเดียวกับที่พ่อแม่ของฉันเจอสมัยที่พวกเขาเป็นเด็ก และพวกเขาก็ส่งต่อสิ่งเหล่านี้มาให้ฉัน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พวกเขาถูกฝึกมาให้ทำ”
ชีวภาพในวัยเด็กส่งผลต่อความสัมพันธ์ในอนาคต
จอห์นจำได้ว่าตอนที่เขายังเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจนจบการศึกษา พ่อไม่เคยถามไถ่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนรู้เลย ไม่เคยแม้กระทั่งเอ่ยคำชื่นชมใดๆ แถมพ่อไม่เคยพอใจในคะแนนสอบที่ผมได้เลย มันได้ส่งผลให้จอห์น “ขาดการเคารพหรือรักในสิ่งที่ตัวเองเป็นหรือกระทำ” จอห์นบอกว่าเขามีชีวิตอยู่กับเสียงกระซิบในใจตัวเองเสมอว่าไม่มีค่า
“ไม่เคยรู้สึกได้เลยว่าจะมีใครรักผมในแบบที่เป็นตัวผมและความรู้สึกนี้ได้ติดตามตัวผมอย่างเงียบๆ สร้างเป็นความไม่มั่นคงอยู่ลึกๆ”
เขาเชื่อว่าเสียงกระซิบว่าตนเองไม่มีค่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาล้มเหลวในความสัมพันธ์ “สิ่งที่ผมต้องการมากที่สุดคือ ความรู้สึกสบายๆ กับตัวเอง และมีความสุขอยู่ในโลกใบนี้ แต่ทุกครั้งที่เข้าใกล้ความสัมพันธ์ที่มั่นคง ผมจะทำมันพัง ผมยับเยินและอึดอัดอยู่ในร่างของตัวเอง ไม่รู้จะเป็นคนที่สุขสบายในร่างของตัวเองอย่างไร เพื่อไปให้พ้นจากความอึดอัดนี้ ผมเลยตัดตัวเองจากสิ่งที่ผมต้องการมากที่สุด นั่นคือ ความรัก”
“ผมอยากให้มีใครสักคนบอกว่าผมยังใช้ได้แม้จะผลักใสเขาออกไป คำดุด่าของพ่อกลายเป็นความรู้สึกอัปยศอยู่ลึกๆ ที่ผมมีต่อตัวเอง เพียงแต่คราวนี้ผมกลายเป็นคนที่ดุด่าตัวเอง ผมไม่อาจหลุดพ้นจากเสียงกระซิบที่บอกว่าผมใช้ไม่ได้ ผมจึงอยากให้ใครสักคนมาปลดปล่อยผม มาบอกรักผม”
และไม่เพียงแต่บรรยากาศในครอบครัวที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก สังคมของโรงเรียนที่เด็กต้องเผชิญ การถูกรังแกก็เป็นประสบการณ์เลวร้ายรูปแบบหนึ่งที่เชื่อมโยงกับความเจ็บป่วยและโรคในวัยผู้ใหญ่ จากกรณีศึกษามากมายทั้งงานวิจัยในผู้ป่วยหรือในวงการจิตบำบัด ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่ถูกรังแกมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าวิตกกังวลและอาจจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตอื่นๆ เมื่อเด็กต้องดิ้นรนกับความเจ็บปวดจากการถูกกีดกันทางสังคมในหมู่เพื่อน จะกระตุ้นวงจรสมองเดียวกับที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรับรู้ความเจ็บปวดทางร่างกาย
วิคกี้ อบิเลส ผู้ผลิตสารคดีเรื่อง Race to Nowhere เธอได้สร้างการตระหนักรู้ถึงผลกระทบระยะยาวของความเครียดในโรงเรียนซึ่งบั่นทอนสุขภาพ เธอเชื่อว่าวัฒนธรรมที่บ้าคลั่งความสำเร็จกำลังสร้างปัญหาต่อเด็ก สร้างความเครียดเรื้อรัง เพื่อการต่อสู้ให้ไปถึงภาพพจน์แห่งความสำเร็จทางสังคมซึ่งแทบเป็นไปได้ยาก
อบิเลสเชื่อว่า “การคร่ำเคร่งอย่างหนักในโรงเรียนหรือในช่วงวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในวัยเปราะบางนั้น นำไปสู่การหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาท่วมท้นร่างกาย”
ประสบการณ์ในวัยเด็กที่โยงให้เราโตขึ้นมา
บุคลิกภาพที่คนเรามีในวัยผู้ใหญ่ต่อการเผชิญสถานการณ์อาจจะมีหลากวิธี แต่ในรูปแบบหนึ่งคือ แบบชะงักงัน นิ่ง ด้วยเพราะต้องการสะกดอารมณ์ความหวาดหวั่น หรือนิ่งไว้ก่อนเพื่อชะลอและดูสถานการณ์ จนดำเนินไปสู่รูปแบบที่ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใดๆได้ ซึ่งในแง่ของการทำงานของสมอง จิตแพทย์เด็ก แดน ซีเกล อธิบายตัวอย่างแบบง่ายๆ ว่า ถ้าเด็กที่มีแม่เลี้ยงดูมาในแบบบูดเบี้ยว สมองส่วนหนึ่งบอกว่าให้ “เดินเข้าหาแม่” แต่สมองอีกส่วนหนึ่ง หรือก้านสมองที่คอยดูแลความอยู่รอดปลอดภัย มีอีกเสียงที่ต่างไปคือ “จงหนีไปจากแม่” มันคือความย้อนแย้งทางชีวภาพที่ไม่สามารถแก้ไขได้
จิตใจของเด็กแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ความอึดอัดที่เกิดขึ้น ความเครียดตึงที่ก่อตัว เพราะสมองพยายามทำงานประสานกันในเป้าหมายที่ขัดแย้งกันนั่นเอง และถ้าไม่สามารถจัดการได้จะทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเติบโตมาในแบบที่เพิกเฉยต่ออารมณ์ความรู้สึกทั้งบวกและลบ มันคือกระบวนการวางระยะให้ตนออกห่างสภาวการณ์นั่นเอง และสุดท้ายคุณอาจจะกลายเป็นคนที่ใช้เหตุผลมากกว่ามาดูอารมณ์ หรือ อาจจะไม่รู้สึกรู้สากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว
เราอาจจะมืดบอดกับสภาวะจิตใจของเรา เราอาจจะเป็นผู้ให้มากเกินไปในแง่ความสัมพันธ์ เราอาจจะเสียสละตนจนไม่สามารถปล่อยวางได้ อาจจะมีการควบคุมสั่งการจนเกินเหตุที่ควรจะเป็น
ทางออกสำหรับการดูแลพัฒนาการทางสมองของเด็ก คือ ในเวลาที่พ่อหรือแม่เกิดอารมณ์แห่งความปั่นป่วน ให้กลับมาดูแลรับรู้อารมณ์ตน มิฉะนั้นความปั่นป่วนของผู้ใหญ่จะทำให้เด็กหวาดกลัว เพราะเขาจะไม่สามารถเข้าใจอารมณ์ต่างๆของเราได้ และจะส่งผลให้เด็กปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึกต่างๆของตนเองไปตลอดชีวิต
ภาคสอง “เริ่มต้นหนทางการเยียวยา”
การรู้ว่าความเครียดเรื้อรังทั้งหลายในวัยเด็กนำพาไปสู่โรคภัยต่างๆ ที่คุณกำลังเผชิญอยู่นั้น คือด่านแรกของการยอมรับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับคุณ อย่างน้อยก็จะทำให้คุณเข้าใจความสับสน ความพยายามในการดิ้นรนอย่างหนักในวัยผู้ใหญ่ว่ามาจากสาเหตุใด ซึ่งจะสร้างทางเลือกว่าจะติดอยู่ในอดีตหรือก้าวเดินต่อไปด้วยความตระหนักรู้ ที่สามารถลดแนวโน้มของการเกิดการอักเสบ ซึมเศร้า เสพติด เจ็บปวดทางกายและโรคภัยไข้เจ็บ
“หาคนที่คุณไว้ใจแล้วลองบอกเล่าถึงประสบการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับคุณ” ความอึดอัดในอดีตที่คุณยังพอจดจำได้ อาจจะเป็นเพียงความทรงจำที่เลือนลาง แต่พอจะบรรยายถึงความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่างๆ หรือผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในเหตุการณ์เหล่านั้น เพื่อให้คุณค่อยๆ ตระหนักได้ว่าเด็กน้อยในอดีตของคุณต้องเจอกับความยากและผ่านมันมาได้อย่างไร ซึ่งผู้รับฟังคุณอาจจะมีทัศนะที่ช่วยให้คุณสำรวจความทรงจำนั้นๆ ด้วยใจที่เป็นกลาง เพียงคุณสามารถบอกเล่าได้ว่ามีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นกับตนสมัยที่ยังเป็นเด็ก การบำบัดก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว
เขียนเพื่อบำบัด
การเขียนบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีต ก็อาจจะช่วยให้คุณได้ประสบการณ์ในการมองตัวเองอย่างที่เป็นจริงๆ มันคือวิธีการที่ได้ระบายสิ่งที่อึดอัดที่เก็บกดไว้นาน เพราะเมื่อร่างกายไม่ได้รับการใส่ใจจากคุณ ร่างกายก็จะทวงหนี้จากเรา ซึ่งจากงานวิจัยทางจิตวิทยา ได้ชี้ชัดว่า การเขียนช่วยให้ผู้ป่วยลดความตึงเครียดลงได้และมันยังทำให้พวกเขาไม่แย่ลงไปกว่าเดิม
นักจิตวิทยาท่านหนึ่งเสนอชุดการเขียนไว้เป็นตัวอย่าง คือ ช่วงสี่วันจากนี้ ขอให้เขียนถึงอารมณ์ในส่วนลึกสุด และเลือกเวลาเขียนให้เหมาะ ปล่อยวางและสำรวจเหตุการณ์นั้นว่ามันส่งผลต่อคุณอย่างไร คุณอาจจะโยงกับประสบการณ์นี้เข้ากับวัยเด็กของคุณ ความสัมพันธ์ของคุณกับพ่อและแม่ คนที่คุณเคยรักหรือยังรักอยู่ หรือแม้แต่กับอาชีพของคุณ เขียนไปเรื่อยๆ วันละ 20 นาที
วาดเพื่อบำบัด
คุณอาจจะเริ่มต้นวาดภาพที่พอจะนึกออก อาจจะเป็นภาพทิวทัศน์ หรือภาพครอบครัวของคุณเอง ดูว่าเกิดภาพอะไรขึ้นมาได้บ้าง จากนั้นทิ้งภาพนั้นไว้และกลับมาดูใหม่ในวันหลังเพื่อวิเคราะห์ ทำเหมือนว่าคุณกำลังแปลความฝัน มันช่วยให้เกิดความเข้าใจอะไรขึ้นบ้างหรือไหม ดร.ซีเกล เล่าตัวอย่างของคนไข้รายหนึ่งที่ใช้วิธีการวาดเพื่อบำบัด เธอวาดภาพผู้หญิงสวยมีเสน่ห์ โดยมีรายละเอียดเล็กๆ เช่น นาฬิกาแขวนผนังมีเข็มเดียวที่ขี้ไปเลข 12
“จิตใต้สำนึกของเธอต้องการให้เธอกลับไประลึกถึงประสบการณ์ในวัยเด็กซึ่งสร้างบาดแผลทางใจตอนที่เธออายุสิบสอง” ดร.ซีเกลพูด
ในกระบวนการ “ศิลปะบำบัด” ถึงแม้ยังไม่สามารถสรุปได้ถ่องแท้ถึงกระบวนการนี้ ที่ช่วยเปิดเผยบาดแผลในอดีตได้อย่างไร แต่มันก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยค้นหาสิ่งที่ลืมไปหรือจิตใต้สำนึกที่พยายามซ่อนไว้
การฝึกสมาธิ เป็นวิธีซ่อมแซมสมองที่ดีที่สุด
การฝึกสมาธิช่วงเปลี่ยนสมองของเราได้ เพราะมันรวมไปถึงการดูจิตใจตนเองเป็น ก็คือการแผ่เมตตา การให้อภัย และสามารถลดความเครียดได้เร็ว ที่สถาบันด้านจิตเวชที่นำเรื่องการฝึกสมาธิไปใช้กับเด็กที่มีบาดแผลทางใจ สามารถทำให้วงจรสมองที่เคยอ่อนแอจากความทุกข์กลับแข็งแรงขึ้นได้ รวมทั้งกลีบสมองส่วนหน้าและฮิปโปแคมปัสด้วย แถมการฝึกสมาธิยังช่วยให้คนเราควบคุมอารมณ์ ยืดหยุ่นกับคนรอบข้าง เพิ่มความเห็นอกเห็นใจ และทบทวนตัวเองได้ดีด้วย และการทำสมาธิยังแฝงไปด้วยการหายใจเข้าออกลึกๆ ทำให้การทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติชะลอลงซึ่งจะทำให้จิตใจของคุณกลับคืนสู่ความเป็นปกติได้เร็วขึ้น
ออกกำลังกาย
ด้วยการทำ ชี่กง ไท่เก็ก โยคะ เป็นการซ่อมร่างกาย หรือคือการขยับร่างกาย เพื่อปลดปล่อยเราจากอดีตที่เคยต้องต่อสู้ หนี ถอย หรือภาวะการแช่แข็งมาตลอดชีวิต ช่วยปลดปล่อยความตึงเครียดที่สะสมในกล้ามเนื้อและลดกระบวนการอักเสบได้
เข้าบำบัดกับนักบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อเยียวยาบาดแผลในวัยเด็ก
เพราะเพียงการดูแล กาย ใจ จิต ในแบบที่เราถนัด อาจจะไม่เพียงพอต่อการสะสางอดีตที่ยังคงตกค้างอยู่ในความทรงจำ การที่มีนักบำบัดที่พร้อมมอบการยอมรับแก่คุณโดยไม่มีเงื่อนไข จะช่วยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในสมองของคุณ แล้วความรู้สึกที่คุณมีต่อตัวเองจะค่อยๆ พัฒนาและสร้างสรรค์ขึ้น และในสายบำบัดของนักบำบัดผู้มีความเชี่ยวชาญยังมีอีกหลากวิธีในการนำพาคุณไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลได้ด้วยการใช้การจินตนาการเชิงบวก เพื่อกระตุ้นการจัดการกับความรู้สึกทางกายและความทรงจำลบๆ ที่ผุดขึ้นมา
การฝึกฝนด้วยการกลับมารับรู้ความรู้สึกทางกาย
คือกระบวนการที่ช่วยให้คุณกลับมาดำรงอยู่กับศูนย์แกนกลางของจิตใจ ผ่อนแรงขับต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ร่างกายลง ซึ่งช่วยคุณให้เปลี่ยนสภาวะที่ดำเนินไปอย่างเป็นอัตโนมัติที่หลับไหลมาสู่ การรับรู้อย่างมีสติ การรับรู้ความรู้สึกทางกายเป็นวิธีที่ปลอดภัยในการปลดปล่อยอารมณ์ต่างๆที่คุณกักเก็บไว้
เมื่อคุณได้ทบทวนสิ่งต่างๆแล้ว ขอให้คุณวางใจว่าธรรมชาติลึกๆ ในตัวคุณจะช่วยคุณไปด้วย และอยากให้คุณลองดูผู้ใหญ่คนที่คุณเห็นในกระจก พยายามมองให้เห็นเด็กคนที่คุณเคยเป็นภายใต้ดวงตาของคุณ ใส่ใจเรื่องราวของเขา คิดทบทวนถึงกลยุทธ์และวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อช่วยให้คุณกลับมาเป็นคนที่คุณเป็นจริงๆ และดีขึ้น ฉลาดขึ้น เข้มแข็งขึ้นสำหรับการเดินทาง และสัญญากับเด็กคนที่ครั้งหนึ่งคุณเคยเป็นว่า คุณจะพาเขาสู่เส้นทางของการเยียวยา