- เวลาที่เราอ่อนแอ ‘อสูรร้าย’ มักปรากฏตัวเสมอๆ และทำให้เรื่องเลวร้ายลงไปอีก
- อสูรร้ายคือ คำพูดเชิงลบที่ผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่า และจะค่อยๆ ทำให้เด็กมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง และคิดว่าตัวเองไม่ดีพออยู่เสมอ
- ข่าวดี! พ่อแม่มีอาวุธทรงพลังอยู่ในมือ ช่วยลูกกำจัดอสูรร้ายเหล่านี้ให้หายไปได้…ตลอดกาล
พ่อแม่จะทำอย่างไร เมื่อในตัวเด็กมีอสูรร้ายออกมาสร้างความปั่นป่วน จนทำเด็กหมดความมั่นใจและไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง?
“เธอไม่เก่ง”
“มันเป็นความผิดของเธอนั่นแหละ”
“ฉันไม่น่าทำมันเลย!”
เรากำลังพูดถึง คำพูดเชิงลบ หรือ inner critic ที่ผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของเด็กซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เสมอโดยไม่เคยส่งสัญญาณว่าจะมาตอนไหน สิ่งนี้เป็นอันตราย เพราะจะค่อยๆ ทำให้เด็กมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง และคิดว่าตัวเองไม่ดีพออยู่เสมอ
เฮเซล แฮริซัน (Hazel Harrison) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอังกฤษ เรียกเสียงวิจารณ์จากภายในว่า ‘The Critical Critter’ ซึ่งจะถูกเรียกในบทความชิ้นนี้ว่า ‘อสูรร้าย’
เฮเซลบอกว่า พ่อแม่ช่วยป้องกันเด็กจากอสูรร้ายได้ด้วยการทำให้พวกเขารู้จักเจ้าอสูรก่อนที่มันจะเข้ามาทำร้ายพวกเขา เริ่มจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกว่า เจ้าอสูรจอมป่วนมักเข้ามาวุ่นวายในชีวิตของพวกเขา ทำให้พวกเขารู้สึกแย่กับตัวเองด้วยคำพูดที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์
แน่นอนว่าการอธิบายให้เด็กแต่ละช่วงวัยเข้าใจเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในเด็กเล็กไม่เกิน 7 ขวบ พวกเขาอาจจินตนาการถึงอสูรร้ายได้ดี แต่สำหรับเด็กประถมวัยซึ่งมีเหตุผลมากขึ้น พ่อแม่สามารถพูดคุยถึงเจ้าอสูรด้วยการเปรียบเทียบอสูรกับสิ่งที่ไม่ดีแทนการสร้างสัตว์ในจินตนาการ
เฮเซลบอกว่า การพูดคุยกับลูกต้องมีตัวอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงวัยเด็กราว 7 ปี อสูรร้ายอาจเข้ามาทำให้รู้สึกกลัว เช่น การกลัวเพื่อนหัวเราะเยาะเมื่อต้องทำกิจกรรมต่างๆ เมื่ออายุ 16 ปี มักมีคำพูดทำนองว่า “เธอต้องสอบตกแน่ๆ” ผุดขึ้นมาระหว่างทำข้อสอบในห้องสอบซ้ำแล้วซ้ำอีก หรือแม้กระทั่งเมื่อเรียนจบแล้วกำลังมองหางานทำ อาจมีเสียงหนึ่งผุดขึ้นมาบอกว่า “เธอไม่มีทางทำได้หรอก เธอทำไม่ได้แน่ๆ เธอไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลยสักอย่าง” เป็นต้น
นอกจากนี้ เฮเซลยังเสนอ 5 วิธี สยบอสูรร้ายในตัวเด็ก ที่พ่อแม่และคนใกล้ตัวเด็กช่วยได้
หนึ่ง ตั้งชื่อให้เจ้าอสูรร้าย
วิธีการนี้ฟังดูแปลก แต่ช่วยสยบอสูรร้ายให้กลายเป็นอสูรน้อยได้ การได้ยินคำพูดที่ทำให้รู้สึกแย่ดังก้องอยู่ในใจเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมมาก การตั้งชื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้เสียงวิจารณ์ภายในกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น เมื่อได้ยินจากเสียงกระซิบที่เต็มไปด้วยคำพูดตัดทอนกำลังใจเมื่อไหร่ เด็กจะสามารถดึงและแยกตัวเองออกมาหรือวางเฉยต่อเสียงนั้นได้ พูดง่ายๆ เหมือนทำเป็นไม่ได้ยินไปซะ!
สอง ความเป็นเพื่อนกันตลอดไป (Best Friends Forever Test)
“มันเป็นความผิดของฉันที่ทำให้ทีมแพ้” อสูรร้ายมักเข้ามาวนเวียนอยู่ในความคิดเสมอในวันที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องราวร้ายๆกรณีนี้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถตั้งคำถามชวนคิดกับเด็กว่า “ลูกจะพูดแบบนี้กับเพื่อนสนิทของลูกหรือเปล่าว่าเป็นความผิดของเขาที่ทำให้ทีมแพ้”
ถ้าเด็กตอบว่า “ไม่”
“แล้วลูกจะพูดกับเขายังไง?” เป็นจังหวะที่ผู้ปกครองสามารถถามต่อ
วิธีนี้ช่วยสร้างให้เด็กกลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเอง คิดและแสดงออกด้วยความเห็นอกเห็นใจตัวเองมากขึ้น แทนที่จะปล่อยให้อสูรร้ายเข้ามาพ่นคำพูดทำร้ายตัวเอง
สาม ตอบกลับ
ต่อเนื่องจากข้อที่หนึ่ง เมื่อเด็กสร้างภาพลักษณ์ให้กับอสูรร้ายด้วยการตั้งชื่อแล้ว ตอนนี้หากเด็กได้ยินคำพูดร้ายๆ ผุดขึ้นมาในหัว ผู้ปกครองสามารถแนะนำให้พวกเขาตอบโต้เสียงนั้นได้ ด้วยคำพูดต่อไปนี้
“ไม่สำเร็จหรอก คำพูดของเธอไร้ประโยชน์มาก”
“เธอเลิกพูดเถอะ ฉันทำดีที่สุดแล้ว”
“ฉันไม่ได้ยินที่เธอพูดหรอก ฉันกำลังยุ่งกับการเป็นคนที่ยอดเยี่ยมอยู่ตรงนี้”
“มันไม่ได้ผลหรอก ฉันจะต้องได้ไปต่อ”
สี่ กองหนุนจากพ่อแม่
นอกจากวันร้ายๆ เจ้าอสูรยังชอบโผล่มาในวันที่เด็กกำลังจะต้องทำสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆ แน่นอนว่าในจุดนั้นพวกเขาจะมีความกลัว ความตื่นเต้นและความไม่มั่นใจ
“เธอทำไม่ได้หรอก”
“หยุดเถอะ…อย่าทำเลย” เสียงอสูรร้ายในตัวเอ่ยขึ้น
จุดนี้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถเข้ามากระตุ้นให้เด็กลงมือทำอย่างกล้าหาญ เพื่อแสดงให้เจ้าอสูรเห็นว่าสิ่งที่พูดมานั้นผิดทั้งหมด ถ้าเด็กถูกห้อมล้อมด้วยการให้กำลังใจและการเติมความมั่นใจจากคนใกล้ตัว เด็กจะผ่านจุดนี้ไปได้ด้วยความมั่นคงทางใจ
“ทำเลย…ลูกทำได้” บอกลูกดังๆ
ห้า สร้างช่วงเวลาฝึกฝนในเชิงบวก
แน่นอนว่าหน้าที่ของเจ้าอสูรคือการบั่นทอนจิตใจ ทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองและศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ การทำให้เด็กรู้ว่า เขาชอบหรือสนใจทำอะไร ช่วยได้ โดยผู้ปกครองทำหน้าที่ส่งเสริมให้เขาลงมือทำสิ่งนั้น จนสำเร็จ หรือแม้กระทั่งการถามคำถามว่า “วันนี้มีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง?” ก็ช่วยกระตุ้นให้เด็กเปิดใจ เปลี่ยนวิธีคิดให้เด็กมองหาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตแต่ละวันแทนการครุ่นคิดถึงความล้มเหลวหรือข้อผิดพลาด
เราไม่มีทางรู้ว่าอสูรร้ายจะโผล่ขึ้นมาตอนไหน สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ คือ การปลูกฝังความคิดในเชิงบวกให้เด็กมีความยืดหยุ่นทางจิตใจ (resilience) และเห็นอกเห็นใจตัวเอง (self-compassion) เพื่อทำให้เจ้าอสูรกลายร่างเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดให้เขา
เกี่ยวกับผู้เขียน เฮเซล แฮริซัน (Hazel Harrison) นักจิตวิทยาคลินิกชาวอังกฤษ ที่มีความสนใจในการค้นหาวิธีการที่สนุกสนานและสร้างสรรค์ในการแบ่งปันสาระความรู้ด้านจิตวิทยาเพื่อยกระดับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เฮเซลทำงานร่วมกับโรงเรียนและองค์กรธุรกิจมากมาย และเป็นผู้ให้ความรู้ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) |