- ปัญหาและอุปสรรคคือสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้าอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราต้องพบเจอสิ่งเหล่านี้เพื่อเติบโตแม้จะต้องเจ็บปวดมากก็ตาม และมักมีใครสักคนเข้ามาพูดปลอบใจหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาได้ว่า “ความเจ็บปวดจะทำให้เราเติบโตขึ้น” แต่หลายครั้งการก้าวผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆ ก็ได้ทิ้ง บาดแผลไว้ในหัวใจของเราให้เป็นที่ระลึก
- เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราใช้เวลาในการรักษาจิตใจมากกว่าเวลาในการแก้ปัญหา และการหันไปพึ่งพาคนอื่นโดยหวังว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเข้าใจก็อาจทำให้เราผิดหวัง เพราะนอกจากจะไม่มีใครเข้าใจเราทั้งหมดแล้ว พวกเขายังพาลจะเบื่อหน่ายกับเรื่องราวเดิมๆ ที่รบกวนจิตใจของเราอีกด้วย
- อาจพูดได้ว่าการระบายกับคนอื่นนั้นนอกจากจะไม่ได้เยียวยาหัวใจที่บอบช้ำแล้วยังอาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเราก็ยังต้องการสื่อสารกับใครสักคนที่จะเข้าใจและทะนุถนอมจิตใจของเรา ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้าผู้รับฟังคนนั้นคือตัวเราเอง
หลายครั้งชีวิตก็เล่นตลกร้ายจนทำเอาเราสูญเสียสมดุลในการดำรงชีวิตไป เราอาจถูกปัญหาซัดจนโซเซเสียศูนย์ และมันก็ยากเหลือเกินที่จะหาทางให้ตัวเองกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติดังเดิม ในช่วงชีวิตที่เรารู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรง ท้อแท้สิ้นหวัง และเสียความมั่นใจ มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นเรื่องง่ายที่เราจะดำดิ่งลงไปในความรู้สึกแย่ๆ และจมอยู่กับมัน
ถ้าเราเก็บความรู้สึกนั้นไว้จนลึกสุดใจเพราะเชื่อว่าจะไม่มีใครรักษาจิตใจของเราได้ นอกจากจะไม่ทำให้ความเจ็บปวดหายไปแล้ว ยังทำให้ความรู้สึกนั้นสะสม บาดแผลในจิตใจก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น และคอยออกมาตอกย้ำเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคอีกด้วย
แน่นอนว่าการเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เสียหายหากจะลองเยียวยาความเจ็บปวด หากการระบายกับคนที่ไว้ใจไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น หรือไม่กล้าระบายเพราะกลัวจะถูกตัดสินจากมุมมองที่ต่างกัน ลองบอกเล่าความรู้สึกผ่านการเขียนดู อาจเป็นบันทึกความรู้สึก อาจเป็นกลอนเป็นบทกวี หรืออาจเป็นจดหมายที่ไร้ผู้รับ
ลองอนุญาตให้ตัวเองได้เข้าไปสำรวจบาดแผลในจิตใจและรักษามันด้วยการเขียนระบายความรู้สึกดูสักหน่อย เผื่อว่าความเจ็บปวดจะบรรเทาบ้างไม่มากก็น้อย
ทำไมถึงต้องเขียน?
งานวิจัยมากมายได้ชี้ว่าการเขียนช่วยให้ผู้ที่มีบาดแผลทางจิตใจดีขึ้น ถ้าจะให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของ James Pennebaker จาก University of Texas at Austin บุคคลสำคัญที่ทำให้การเขียนเพื่อเยียวยาตัวเองหรือการเขียนบำบัดเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
เขาได้ทดลองโดยการสุ่มให้นักศึกษาเขียนสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลและปมของตัวเองเป็นเวลา 15 นาทีต่อวัน ผลปรากฏว่านักศึกษาจำนวนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ลองเขียนระบายความรู้สึกและความเจ็บปวด กลุ่มนี้หยุดเข้ารับบริการจากศูนย์ให้คำปรึกษานักศึกษาใน 6 เดือนถัดมา นั่นหมายถึง พวกเขาสามารถเยียวยาความบอบช้ำของตัวเองได้โดยไม่ต้องไปรับคำปรึกษาจากบุคคลอื่นอีกแล้ว งานวิจัยนี้จึงได้สร้างความสนใจให้กับนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาสังคมมาก
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ Joshua M. Smyth ที่ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Journal of the American Medical Association (Vol. 281, No. 14) เขาได้ให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 107 คนเขียนอะไรก็ได้เป็นเวลา 20 นาทีต่อวัน ติดต่อกันสามวัน โดยผู้ป่วย 71 รายเลือกเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดที่สุดในชีวิตและผู้ป่วยที่เหลือเลือกเขียนเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของพวกเขา
สี่เดือนหลังจากนั้น ผู้ป่วย 70 รายในกลุ่มการเขียนที่เน้นความเครียดพบว่ามีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิต นอกจากนี้ การรับมือกับโรครวมไปถึงอาการป่วยก็ดีขึ้นโดยไม่มีท่าทีว่าจะมีอาการแย่ลงอีก เราอาจกล่าวได้ว่าการเขียนบำบัดมีผลกับการรักษาบาดแผลทางจิตใจ
อาจเป็นเพราะการเขียนทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น การเขียนเพื่อเยียวยาทำให้เราเห็นความรู้สึกที่อาจพูดออกมาไม่ได้จนติดอยู่ในหัวหรือติดค้างอยู่ในใจบนกระดาษตรงหน้า ทำให้เรารู้สึกว่าความคิดเหล่านั้นจับต้องได้ เป็นการสำรวจทบทวนบาดแผล ทำความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนมุมมอง และปล่อยวางได้ในที่สุด
คำแนะนำก่อนการเริ่มเขียนบำบัด
การเตรียมตัวในการเขียนบำบัดทำได้ไม่ยาก เตรียมกระดาษและปากกาให้พร้อม ซื่อสัตย์ต่อตัวเองในการเขียน ไม่ต้องพยายามเขียนให้ดูสวยหรู ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้คำและภาษา ไม่มีข้อจำกัดอะไรเลยในการเขียน กระดาษที่บรรจุความรู้สึกแย่ๆ นี้เราอาจเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย ที่ที่เรามั่นใจว่าจะไม่มีใครล่วงรู้และหาเจอ จำไว้ให้ขึ้นใจว่าเราไม่ต้องเอาไปให้ใครอ่าน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราทบทวนตัวเอง สำรวจจิตใจ และเข้าใจบาดแผลได้อย่างถ่องแท้แล้ว เราก็สามารถทำลายมันทิ้งได้
นอกจากนี้ ในการเขียนเรื่องราวที่สะเทือนใจนั้นไม่ควรจะรีบร้อนเขียนให้จบ ไม่ต้องพยายามเขียนเรื่องราวทั้งหมดในครั้งเดียว เพราะหัวใจเราอาจยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้น ในเมื่อเราไม่สามารถพูดออกมาได้ การเขียนออกมาก็คงยากน้อยกว่ากันเพียงนิดเดียว หากเร่งรีบจนเกินไปอาจทำให้การเขียนบำบัดกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียดยิ่งกว่าเดิม เข้าใจและให้เวลากับตัวเองเยอะๆ และที่สำคัญอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกแย่ได้เต็มที่แล้วเราจะปรับใจให้เข้มแข็งได้เอง
บนหน้ากระดาษว่างๆ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นพื้นที่ที่รองรับความกลัว ความกังวล และความหวังของเรา การเขียนทำให้เรามีพื้นที่สำหรับปลดปล่อยอารมณ์ด้านลบที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจและตัดสิน
ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมีบาดแผลในจิตใจ แต่การเก็บซ่อนความรู้สึกเหล่านั้นไว้อาจทำให้สภาพจิตใจของเราแย่ถดถอยลงตามไปด้วย ใส่ใจตัวเองให้มาก อย่าเข้มแข็งจนทำให้เสียศูนย์ ไม่เป็นไรถ้าหากจะรู้สึกอ่อนแอ เรื่องแย่ๆ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้แต่เราต้องยอมรับและปรับตัวอยู่กับมัน ค้นหาความหมายของความทรงจำที่กระทบกระเทือนจิตใจใต้บาดแผลเพื่อยอมรับและเปลี่ยนแปลง ก้าวผ่านความบอบช้ำและเติบโต เหมือนที่ใครสักคนเคยพูดไว้ว่าความเจ็บปวดจะทำให้เราเติบโตขึ้น
อ้างอิง
Emotional and physical health benefits of expressive writing