Skip to content
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
Weaponized-Incompetence-1
Relationship
30 July 2024

Weaponized Incompetence: ทำไมการ ‘แกล้งทำไม่เป็น’ เพื่อโยนงานให้คนอื่น ถึงเป็นเรื่องท็อกซิกในความสัมพันธ์

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การใช้ประโยชน์จากการ ‘ทำไม่เป็น’ เพื่อเลี่ยงที่จะได้ไม่ต้องทำสิ่งนั้นและโยนให้คนอื่นทำแทน อาจดูเป็นเพียงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ในการปฏิเสธโดยอ้อม แต่หากทำพฤติกรรมเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเราได้
  • จริงๆ การทำไม่เป็นไม่ใช่เรื่องผิดเลย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ คนนั้น ‘อยากเรียนรู้’ ที่จะทำให้เป็นไหม
  • ถ้าเป็นคนที่ทำไม่เป็น ให้จำเอาไว้ว่าการแกล้งทำไม่เป็นหรือไม่ยอมเรียนรู้ที่จะทำให้เป็น เป็นสิ่งที่กำลังทำร้ายชีวิตคู่อยู่ คู่ของเราต้องการคู่ครองเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เป็นเด็กที่ต้องคอยทำโน้นทำนี้ให้ตลอดเวลา

อยากสบายก็แค่บอกว่า “ทำไม่เป็น”

ข้อความประมาณนี้มาจากโพสต์หนึ่งในเฟซบุ๊ก และมีคนจำนวนมากเข้ามาแสดงความรู้สึกขำขันกับเรื่องนี้ เชื่อว่าทุกคนล้วนเคยเจอกับสถานการณ์ที่ตัวเองไม่อยากทำอะไรบางอย่าง เลยเลือกที่จะบอกไปว่า ‘ทำไม่เป็น’ เพื่อเลี่ยงที่จะได้ไม่ต้องทำสิ่งนั้นและโยนให้คนอื่นทำแทน

สถานการณ์แบบนี้มักพบได้บ่อยในการทำงาน แต่จริงๆ แล้วพฤติกรรมเช่นนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ในบ้านแล้ว ตัวอย่างเช่น ผู้ชายบางคนอาจหลีกเลี่ยงไม่ทำงานบ้านด้วยการบอกว่า ‘ทำไม่เป็น’ เพื่อให้ผู้หญิงเป็นคนทำทั้งหมด

การใช้ประโยชน์จากการทำไม่เป็น หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Weaponized Incompetence อาจดูเป็นเพียงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ในการปฏิเสธโดยอ้อม แต่หารู้หรือไม่ว่าการทำพฤติกรรมเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ของเราได้

Weaponized Incompetence คืออะไร?

เมื่อแปล Weaponized Incompetence ตรงตัวจะได้ว่า ‘การนำการไร้ความสามารถมาใช้เป็นอาวุธ’ หมายถึงการแกล้งว่าตัวเองไร้ความสามารถ (Incompetence) ในงานบางอย่าง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำงานนั้นและให้คนอื่นมาทำแทน โดยบุคคลอาจรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ว่ากำลังทำพฤติกรรมนี้ และพฤติกรรมนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยไม่ได้แบ่งแยกว่าเป็นชายหรือหญิง

Weaponized Incompetence เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวแบบแยบยล (Passive Aggressive) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการทำร้ายอีกฝ่ายแบบอ้อมๆ ผ่านการสร้างความไม่สมดุลในความสัมพันธ์ กล่าวคือ มีฝ่ายหนึ่งจะต้องทำงานหนัก ในขณะที่อีกฝ่ายทำงานแค่นิดเดียวหรือไม่ต้องทำงานเลย

พฤติกรรมนี้เป็นกระแสโด่งดังมากในโซเชียลมีเดียเมื่อปีที่แล้ว โดยเฉพาะใน TikTok ของฝั่งโลกตะวันตก คำว่า Weaponized Incompetence ในเวลานั้นเป็นหัวข้อที่มียอดเข้าชมมากถึง 148 ล้านวิว โดยเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายหญิงออกมาบอกเล่าเรื่องราวว่าสามีของตัวเองเหมือนจะแกล้งทำงานบ้านหรือดูแลลูกไม่เป็น เพื่อจะได้ไม่ต้องทำ หรือแม้แต่ตั้งใจทำงานลวกๆ เพื่อทำให้ฝ่ายหญิงหงุดหงิดและเข้าไปทำแทน

เรื่องราวทั้งหมดสรุปรวบยอดได้ว่า คนอื่นอาจมองว่าการที่ผู้ชายทำงานบ้านหรือเลี้ยงลูกไม่เป็นดูเป็นเรื่องตลกและน่ารัก แต่สำหรับฝ่ายหญิงเองเรื่องนี้ไม่ตลกเลย เพราะว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม สร้างภาระและความเครียดให้กับฝ่ายหญิงที่ต้องทำงานเองทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว

อันที่จริงแล้วคำว่า Weaponized Incompetence มักใช้อธิบายในกรณีของความสัมพันธ์คู่รัก แต่ในโซเชียลมีเดียก็มีการนำไปใช้อธิบายเหตุการณ์ลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้ในบริบทอื่นๆ ด้วย เช่น เพื่อน ที่ทำงาน ฯลฯ

คนเราใช้ Weaponized Incompetence เพื่ออะไร?

  • ลดความรับผิดชอบ – คำว่า ‘ทำไม่เป็น’ ดูเป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนักเพียงพอให้เราปฏิเสธงานได้ ซึ่งก็เป็นการลดภาระงานที่เราต้องทำไปโดยปริยาย
  • หลีกเลี่ยงความลำบากหรือความอึดอัด – บางคนอาจรู้สึกกลัว กังวล ไม่มั่นใจ หรือไม่ชอบทำงานนั้น เลยแกล้งทำไม่เป็นเพื่อปฏิเสธที่จะทำ
  • เรียกร้องความสนใจ – บางครั้งการดูทำอะไรไม่เป็นอาจทำให้คนอื่นสนใจ รู้สึกสงสาร และเข้ามาช่วยเหลือได้
  • รักษาการควบคุม – ในความสัมพันธ์ที่มีความไม่สมดุลสูง อาจมีฝ่ายหนึ่งใช้การแกล้งทำไม่เป็นเพื่อควบคุมบงการ (Manipulate) อีกฝ่าย เป็นเหมือนการสั่งเป็นนัยๆ ว่า “ฉันทำไม่เป็น เธอทำเป็นก็ทำแทนฉันสิ”

แล้วถ้าเขาทำไม่เป็นจริงๆ ล่ะ?

เป็นไปได้ว่าคนคนหนึ่งจะไม่ได้แกล้งทำไม่เป็น แต่เขาทำไม่เป็นจริงๆ ซึ่งการทำไม่เป็นไม่ใช่เรื่องผิดเลย แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ คนนั้น ‘อยากเรียนรู้’ ที่จะทำให้เป็นไหม

ภูมิหลังของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่การเลี้ยงดูในวัยเด็กค่อนข้างที่จะมีผล บางคนอาจเติบโตมาในครอบครัวที่ตัวเองไม่ต้องทำงานบ้าน เลยไม่ได้เรียนรู้ที่จะทำงานบ้าน หรือบางคนโดนสปอยล์มากเกินไปจนไม่ได้เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง

ถ้าพฤติกรรมแบบนี้ปล่อยไว้จนถึงวัยผู้ใหญ่ คนเหล่านี้จะสร้างความไม่สมดุลในความสัมพันธ์ผ่านการทำให้อีกฝ่ายทำงานคนเดียว และก็ไม่คิดเรียนรู้ที่จะทำให้เป็นด้วย เพราะสามารถอ้างความไม่รู้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องทำงานก็ได้

ก็แค่ ‘ทำไม่เป็น’ จะส่งผลเสียอะไรมากมาย

จากบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Archives of Sexual Behavior เมื่อปี 2022 เผยว่า ผู้หญิงมีความปรารถนาทางเพศลดลงเมื่อรับรู้ว่า ‘คู่ครองฝ่ายชายชอบพึ่งพาตน’ และ ‘มีการแบ่งงานที่ไม่ยุติธรรม’

ทั้ง 2 ปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยผู้หญิงที่รายงานว่าตน ‘ทำงานบ้าน’ ในสัดส่วนที่สูงกว่าคู่ครองฝ่ายชาย มีแนวโน้มที่จะรับรู้ว่าคู่ครองฝ่ายชาย ‘ต้องพึ่งพา’ ให้ตนเป็นคนทำงานบ้านให้ และทั้ง 2 ปัจจัยนี้เองก็สัมพันธ์กับความปรารถนาทางเพศของฝ่ายหญิงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุที่ทำให้ความปรารถนาทางเพศลดลงเป็นเพราะว่า ความไม่เท่าเทียมในการทำงานบ้านทำให้เส้นแบ่งระหว่างบทบาทของแม่กับคู่รักไม่ชัดเจน และความรู้สึกที่ว่าตัวเองเป็นเหมือนแม่ของคู่รักก็ไม่เอื้อให้เกิดความปรารถนาทางเพศได้

นอกจากนี้ Claudia de Llano นักบำบัดด้านชีวิตแต่งงานและครอบครัว กล่าวว่า การแบ่งหน้าที่ที่ไม่สมดุลจะก่อให้เกิดความคับข้องใจ (Frustration) และความขุ่นเคืองใจ (Resentment) ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะเริ่มไม่เชื่อใจในคู่ของเรา เพราะเรารู้สึกว่าเขาไม่สามารถพึ่งพาได้

เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไปนานวันเข้า เราจะล้มเหลวในการสื่อสาร (Communication Breakdown) เพราะเราลังเลที่จะแสดงความกังวลหรือความคับข้องใจที่เรามี ด้วยความกลัวที่ว่าคู่ของเราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องงี่เง่าไร้สาระ หรือไม่ก็ใช้ Weaponized Incompetence ในการหลีกเลี่ยงการทำงานนั้นต่อไป

เราจะจัดการกับ Weaponized Incompetence ได้อย่างไร?

Dr. Kurt Smith ผู้ให้บริการปรึกษาและนักบำบัดด้านชีวิตแต่งงานและครอบครัว แนะนำว่า วิธีที่ง่ายที่สุดคือ พูดออกไปอย่างตรงไปตรงมา อย่ายอมรับและใช้การนิ่งเฉยเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

สิ่งที่ควรพูดออกไปควรเน้นว่าเราต้องการ ‘ความพยายามตั้งใจ’ และอย่าไขว้เขวไปกับคำที่เขาบอกว่าทำไม่ได้หรือทำแล้วจะออกมาแย่ ให้เขาแสดงความพยายามตั้งใจออกมาและเราก็ลองเชื่อใจว่าเขาจะสามารถทำได้ หรืออย่างน้อยก็เชื่อใจว่าเขาจะสามารถ ‘เรียนรู้’ ที่จะทำได้

Dr. Smith กล่าวถึงคนที่ใช้ Weaponized Incompetence ว่า ถ้าเป็นคนที่ทำไม่เป็น ให้จำเอาไว้ว่าการแกล้งทำไม่เป็นหรือไม่ยอมเรียนรู้ที่จะทำให้เป็น เป็นสิ่งที่กำลังทำร้ายชีวิตคู่อยู่ คู่ของเราต้องการคู่ครองเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่เป็นเด็กที่ต้องคอยทำโน้นทำนี้ให้ตลอดเวลา

บางคนอาจจะชอบความโรแมนติกและมองงานบ้านไม่ใช่กิจกรรมที่โรแมนติก ให้ลองเปลี่ยนมุมมองว่างานบ้านก็เป็นเรื่องโรแมนติกที่ใช้ในการแสดงความรัก วิธีนี้ก็จะช่วยให้เราอยากทำงานบ้านได้ ซึ่งก็อาจจะมีงานบ้านบางอย่างที่เราไม่ชอบ ขอให้บอกกับอีกฝ่ายตรงๆ และตกลงให้ชัดเจนว่าใครจะทำหน้าที่อะไร

สุดท้าย Dr. Smith สรุปว่า ให้มองชีวิตคู่เป็นเหมือนทีมทีมหนึ่ง การที่เราทำงานน้อย ไม่ได้หมายความว่าทีมจะได้ทำงานน้อยด้วย เพราะอีกฝ่ายต้องเป็นคนคอยรับภาระงานที่เราไม่ได้ทำ ถ้าเราทำงานน้อย แต่อีกฝ่ายทำงานมาก มันก็ไม่สมดุลและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ซึ่งนั่นจะนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ได้

อ้างอิง

Brittany Wong. (2022). ‘Weaponized Incompetence’ Screws Women Over At Work And In Relationships.

Elyse Wanshel. (2023). Women Call Out Men For Using ‘Weaponized Incompetence’ To Avoid Household Chores.

Harris, E.A., Gormezano, A.M. & van Anders, S.M. (2022). Gender Inequities in Household Labor Predict Lower Sexual Desire in Women Partnered with Men. Archives of Sexual Behavior, 51, 3847-3870.

Kate Balestrieri. (2022). What Is Weaponized Incompetence? Is it bad?

Mark Travers. (2023). 2 Ways ‘Weaponized Incompetence’ Might Be Hurting Your Relationship.

Sanjana Gupta. (2023). Why Weaponized Incompetence Hurts Your Relationship.

Tags:

ความสัมพันธ์เพื่อนPassive Aggressiveชีวิตคู่ที่ทำงานWeaponized Incompetenceการแกล้งทำไม่เป็น

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Book
    เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ในโมงยามแห่งความรัก เราทุกคนล้วนบ้า…และมาจากดวงจันทร์

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • platonic
    Relationship
    เพื่อนสนิทในที่ทำงานมีจริงไหม? ทำความเข้าใจมิตรภาพในที่ทำงานผ่านแนวคิด Platonic Love

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Relationship
    ทำความเข้าใจความรักกับการเมืองด้วย Balance theory

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    Friends Can Break Your Heart Too: บทเรียนหัวใจสลาย บางครั้งคนใจร้ายก็คือ ‘มิตร’

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel