- ตอนเด็กๆ เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่สอนว่าห้ามพูดโกหกนะ แต่เมื่อโตขึ้นก็กลับตระหนักรู้ว่าเราได้ใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องเล่าลวงของอัตตาตนเองมา พอกันกับที่ถูกหลายสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องป้อนคำลวงให้คนอื่นไปตามโอกาส ยิ่งในการปฏิสัมพันธ์ที่สามารถให้ประโยชน์และโทษด้วยแล้วคนพูดก็ย่อมระแวดระวัง
- ภัทรารัตน์ เล่าถึงเด็กคนหนึ่งในเรื่องฉลองพระองค์ชุดใหม่ของพระราชา ที่กล้าพูดความจริงออกมาเป็นคนแรก เด็กคนนี้เปรียบเหมือนพลังงานขบถซึ่งเป็นอิสระจากแบบแผนเก่าๆ ทำให้ทุกคนตื่นขึ้นจากความลวง ทั้งที่หลอกตัวเองและหลอกกันเอง
- การที่เรากล้าพูดความจริงของเราออกไปทำให้เราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นกล้าพูดความจริงของเขาด้วย เหมือนเด็กในนิทานที่ทำให้ประชนชนเริ่มส่งต่อความจริงไปสู่กันและกัน มันย่อมต้องสำคัญและตอบสนองอะไรบางอย่างในตัวผู้พูดเองเอง
1.
ณ เมืองแห่งหนึ่งซึ่งมีพระราชาที่หมกมุ่นอยู่กับการแต่งตัว มีนักต้มตุ๋นสองคนเดินทางเข้ามาโดยแอบอ้างว่าเป็นช่างทอผ้า ซึ่งสามารถทอผ้าอันมีคุณสมบัติพิเศษ กล่าวคือคนที่ดำรงตำแหน่งการงานอันไม่เหมาะสมกับตนเองและคนโง่เขลาจะมองผ้าทอดังกล่าวไม่เห็นเลย
พระราชาได้ฟังคุณสมบัติของผืนพัสตราจึงจ้างช่างทอกำมะลอให้ทอและตัดเย็บฉลองพระองค์ใหม่ให้ ซึ่งพวกเขาก็เพียงแต่แสร้งทำเป็นทอผ้า ทว่าบรรดาขุนนางที่พระราชาส่งไปดูความคืบหน้า แม้เมื่อมองไม่เห็นผลงานของช่างทอเลยแต่ก็ต่างเออออไปกับคำลวงของนักตุ๋นและกราบทูลพระราชาถึงความวิจิตรพิสดารของผืนผ้าอันไม่ปรากฏแก่สายตานั้น กระทั่งถึงวันที่พระราชาต้องลองฉลองพระองค์ที่เสร็จสมบูรณ์พระองค์ก็มองไม่เห็นอะไรเลยเช่นกัน แต่ก็ไม่อยากเชื่อว่าพระองค์ไม่เหมาะกับยศกษัตริย์หรือเป็นคนเขลา เช่นเดียวกับข้าราชบริพารและประชาชนทั้งหลายที่แม้ไม่เห็นสิ่งใดอยู่เบื้องหน้าแต่ก็พร้อมใจกันยกยอความงามของฉลองพระองค์ล่องหนที่พระราชาสวมใส่อวดในขบวนแห่
แต่ในที่สุดก็มีเด็กคนหนึ่งตะโกนขึ้นอย่างไร้เดียงสา เมื่อเห็นพระราชาในชุดล่องหนว่า พระองค์ ไม่ได้ใส่อะไรเลย!
แล้วประชาชนก็เริ่มกระซิบกระซาบข้อเท็จจริงนี้ต่อๆ กันไป กระทั่งคลื่นแห่งสรรพเสียงของพวกเขาหลอมรวมเป็นความเอกฉันท์ว่า ที่แท้แล้วพระราชาทรงความเปลือยเปล่า
2.
หน้าที่ของความเท็จและกึ่งจริงกึ่งเท็จ
แม้ตอนเด็กๆ เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่สอนว่าห้ามพูดโกหกนะ แต่เมื่อโตขึ้นก็กลับตระหนักรู้ว่าเราได้ใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องเล่าลวงของอัตตาตนเองมา พอกันกับที่ถูกหลายสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องป้อนคำลวงให้คนอื่นไปตามโอกาส ยิ่งในการปฏิสัมพันธ์ที่สามารถให้ประโยชน์และโทษด้วยแล้วคนพูดก็ย่อมระแวดระวัง “แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาพิเคราะห์ให้เหมาะความ”
แต่ในอีกทางหนึ่งการพูดสิ่งที่ไม่ตรงกับที่คิดเสียทีเดียวก็มิได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของเรา แต่เป็นความพยายามช่วยปกป้องคนอื่นไม่ให้เขาเจ็บปวดจนเกินไป บ้างก็เป็นอาหารใจหล่อเลี้ยงผู้ฟังเพื่อเป็นฐานสำหรับขั้นต่อไปสำหรับเขาในการรับฟังเรื่องราวอีกด้าน ดูเหมือนในความก้ำกึ่งดังกล่าวนั้นมีอีกสิ่งซุกซ่อนอยู่ นั่นคือทุกชีวิตล้วนแล้วแต่ต้องการการยอมรับและรู้สึกว่ามีคุณค่าในโลกใบนี้
บทบาทของเด็กที่โพล่งความจริงออกมา
อย่างไรก็ตาม ในนิทานนี้ก็มีเด็กที่กล้าพูดความจริงออกมาเป็นคนแรก เด็กคนนี้เปรียบเหมือนพลังงานขบถซึ่งเป็นอิสระจากแบบแผนเก่าๆ ที่ใกล้หมดอายุ เป็นพลังการปฏิรูปอันพร้อมเริ่มต้นสิ่งใหม่ผสานไปกับพลังความไร้เดียงสา เด็กคนนี้ไม่ได้พูดความจริงของเขาขึ้นมาเพื่อจะกระชากหน้ากากใคร เขาไม่ได้กระเทาะอัตตาคนอื่นเพื่อสนองอัตตาของตัวเองว่าผมเก่ง ผมชนะ เขาก็แค่พูดสิ่งที่เห็นไป ซื่อๆ ซึ่งส่งผลอันทรงพลัง กล่าวคือ เขาทำให้ทุกคนตื่นขึ้นจากความลวง ทั้งที่หลอกตัวเองและหลอกกันเอง
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าความสามารถที่จะแสดงความจริงของเราออกไปมีประโยชน์ ดังนี้
ประโยชน์ของการแสดงความจริงของเราออกไป
1. การเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นกล้าพูดความจริง
การที่เรากล้าพูดความจริงของเราออกไปทำให้เราสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นกล้าพูดความจริงของเขาด้วย เหมือนเด็กในนิทานที่ทำให้ประชนชนเริ่มส่งต่อความจริงไปสู่กันและกัน มันย่อมต้องสำคัญและตอบสนองอะไรบางอย่างในตัวผู้พูดเองเอง ไม่อย่างนั้นจะเสียพลังงานพูดมันออกมาให้กันฟังไปทำไม?
2. การมีความสัมพันธ์ที่จริงแท้และการเติบโต
อีกสิ่งที่เราใช้ประเมินตัวเองและผู้อื่นได้ ก็คือการดูว่าสามารถทนความจริง(และสิ่งที่คนอื่นคิดว่าจริง)ได้มากน้อยแค่ไหนและรับมือกับมันอย่างไร ถ้าเราอยู่ในความสัมพันธ์ที่ต้องแก้ไขเรียบเรียงสิ่งที่จะสื่อสารอยู่ตลอดเพื่อจะปกป้องความรู้สึกของอีกฝ่ายรวมถึงตัวเราเองด้วย มันก็มีแนวโน้มจะต้องประนีประนอมกับความซื่อตรงและบูรณภาพของตัวเองกระทั่งความจริงแท้ของเราค่อยๆ สูญหายไปในความสัมพันธ์ คล้ายว่าอีกฝ่ายกำลังปฏิสัมพันธ์กับ “ตัวปลอม” ของเราอยู่เรื่อยไป ซึ่งก็ต้องตั้งคำถามเช่นกันว่ามันดีต่อสุขภาวะในระยะยาวของเขาและตัวเราเองหรือไม่? มันมีการ พึ่งพา ซึ่งรวมถึงการพึ่งพาทางอารมณ์จากตัวเราเองร่วมอยู่ด้วยหรือไม่? ดร.จอร์แดน ปีเตอร์สัน (Jordan B. Peterson) ศาสตราจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาชาวแคนาดาให้ความสำคัญกับ การพูดความจริงออกมา ข้อแนะนำของเขาคือ “ทั้งๆ ที่ฉันโง่เง่า มีอคติ ไม่รู้เหนือรู้ใต้แบบนี้แหละ แต่ฉันจะสื่อสารสิ่งที่คิดให้ชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะเผชิญกับผลลัพธ์ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม” เมื่อเรากล้าสื่อสารออกมาตามที่คิดจริงๆ คนอื่นจะสะท้อนหรือกระแทกเรากลับมาเอง ซึ่งก็เป็นราคาที่ต้องจ่ายแต่จะทำให้เราเรียนรู้และสามารถสื่อสารได้เฉียบคมขึ้นในครั้งต่อๆ ไป อีกทั้งจะเพิ่มความสามารถในการรับแรงกดดันได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกันการไม่พูดความจริงของเราออกมานั้นก็มีสิ่งที่ต้องแลกเหมือนกัน เช่น ไม่สามารถสื่อสารความเห็นตัวเอง ไม่กล้ายืนหยัดต่อสู้เพื่ออาณาเขตของตัวเอง รู้สึกไร้อำนาจและเต็มไปด้วยความคับข้องขุ่นใจและเคารพตัวเองน้อยลงทุกที
ในแง่นี้ หากคนเราสัมพันธ์กันอย่างมีพื้นที่ให้ยั่วให้แย้ง ไม่เพียงแต่จะรู้สึกปลดปล่อยกว่าและมีชีวิตชีวากว่า แต่การกระทบกระทั่งกันได้บ้างก็เป็นโอกาสในการเติบโตของทั้งสองฝ่าย
3.การเติมพลังให้ตัวเองและสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น หากแต่ละคนสามารถพูดความจริงของตนออกไปในบริบทที่ประเมินแล้วไม่น่าจะพูดอะไรได้ เช่น เมื่อเราหรือพวกของเราอยู่ในความสัมพันธ์ที่ตนมีผลรวมของอภิสิทธิ์น้อยกว่าหรือมีความได้เปรียบทางสังคมน้อยกว่า การได้พูดความจริงของเราออกไปก็สามารถทำให้เกิดพลังบางอย่างขึ้นในใจ ปลดเปลื้องจากความหนักที่เคยถูกกดทับ อย่างน้อยๆ มันก็ตอบสนองว่าการดำรงอยู่ของพวกเราสำคัญและมีความหมายเหมือนกันนะ
3.
อย่างไรก็ตาม เวลาที่เราใช้ชุด ‘ความจริง’ อันหนึ่งปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น สุดท้ายก็ย่อมส่องสะท้อนกลับมาหาสิ่งที่เราตกลงกับตัวเองเช่นกัน ในระดับความจริงโดยสมมุติ จริง-เท็จ เท็จ-จริง ล้วนคลุกเคล้าถักทอพันกันไปมาจนไม่อาจแยกออก หากเราเป็นจริงเป็นจังกับสิ่งที่เป็นเสมือนฟองอากาศอันดำรงอยู่เพียงชั่ววูบมากไป เราก็จะเหนื่อยเกินจำเป็น
อีกด้านหนึ่งของการกระทบหรือชนะกันด้วยสิ่งที่คิดว่าจริงก็คือความพ่ายแพ้
ในอีกทางเลือกหนึ่ง(ซึ่งจะเลือกหรือไม่เลือกใช้ตอนไหนก็สุดแล้วแต่) นอกเหนือจากแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับการกล้าแสดงความจริงของตนออกมา หากเราพิจารณาว่าแม้แต่ “วาจาใดอันจริง อันแท้ ประกอบด้วยประโยชน์และเป็นที่รัก ที่พึงใจของผู้อื่น” เมื่อเข้าทุกองค์ประกอบแล้ว ก็ยังต้องมี กาละที่เหมาะ เพื่อกล่าววาจานั้นออกมาแล้วไซร้
เราก็มีพื้นที่แห่งความเงียบไว้ให้เคารพชุด ‘ความจริง’ ของคนอื่นในชั่วขณะของเขา และปล่อยให้เสียงแห่ง ‘ความจริง’ ในระดับความละเอียดต่างๆ ถูกตรับฟังอย่างเหมาะแก่จังหวะแห่งการเติบโตที่หลากหลายของชีวิตนั้นๆ เอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับอัตตาของเรา ดั่งเช่นที่เราก็มีชั่วขณะต่างๆ ของตัวเองในการตื่นจากความลวง
เมื่อแก่นสารบางอย่างถึงจุดสูงสุด ความจริงของคู่แย้งได้เริ่มปรากฏขึ้น และกระแสน้ำที่ไหลไปจนเบื้องปลายก็ให้กำเนิดไฟชีวิตใหม่อีกครั้ง
เรื่อยไปจนกว่าเราจะตื่นจากช่วงชั้นต่างๆ แห่งความลวงได้ครบทั้งสิ้น ❄
อ้างอิง
อภัยราชกุมารสูตร สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
พระอภัยมณี โดย สุนทรภู่
The Emperor’s New Clothes, a translation of hans christian andersen’s by jean hersholt.
How White Are Your White Lies? White Lies Are Generally Fine, But Use Them Cautiously
13 Things That Will Happen When You Always Speak The Truths
Postmodernism: practice and pathology, talk the lead, 23-25 February 2017
The Truth, Motivation Thrive