- ทำไมเวลาที่เรามีความสุขถึงถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไรที่เรารู้สึกแย่กลับถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติซะงั้น ทั้งๆ ที่ก็เป็นอารมณ์เหมือนกัน ลงท้ายทำให้เราต้องพยายามอดกลั้นอารมณ์นั้นไว้ในใจ เปรียบเสมือนภูเขาไฟที่รอวันระเบิด
- การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity) ภาวะของการผลักไสความรู้สึกด้านลบและสรรเสริญความรู้สึกด้านบวก ‘ไม่เป็นไรหรอก อย่าไปคิดมากกับความเศร้าแค่นี้ เรื่องจิ๊บๆ น่ะ’
- ไม่มีความรู้สึกใครที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไร้สาระ ทุกความรู้สึกต่างเกิดจากประสบการณ์ในอดีต เราจึงไม่ควรตัดสินแต่จงโอบกอดมัน เพราะนี่คือหนทางแรกสู่การทำความเข้าใจและดูแลความรู้สึก
ในช่วงที่ความคิดบวกสะพรั่งเต็มไทม์ไลน์ ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องพยายามคิดบวกมากขึ้นแม้บางครั้งจะไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น พยายามฝืนยิ้มแม้ใจจะรู้สึกเศร้า บอกตัวเองว่ารู้สึกโอเคทั้งที่ข้างในแทบพังทลายเพียงเพราะไม่อยากให้คนอื่นมากังวลกับความรู้สึกเปราะบางของตัวเอง
ทว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้มีมากขึ้น จากที่จะทำให้คนในสังคมรู้สึกดี กลับยิ่งกลายเป็นการเก็บกด (Suppress) ความรู้สึกแย่จำนวนมากไว้ในจิตใจเป็นเหมือนภูเขาไฟอัดแน่นที่พร้อมระเบิดสักวันหนึ่ง ภาวะของการผลักไสความรู้สึกด้านลบและสรรเสริญความรู้สึกด้านบวกนี้เรียกว่า การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity)
อาจเป็นคำพูดว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก อย่าไปคิดมากกับความเศร้าแค่นี้ เรื่องจิ๊บๆ น่ะ’ คำพูดประเภทนี้อาจออกมาจากเจตนาดีที่อยากให้คนที่กำลังรู้สึกแย่ผ่านพ้นปัญหาไปได้ แต่จริงๆ แล้วการทำแบบนี้อาจไม่ได้มีประโยชน์สักเท่าไหร่ เพราะมนุษย์มีทั้งความรู้สึกลบและบวก การผลักไสเช่นนี้จึงไม่ต่างจากการปฎิเสธตัวตนตนเอง ยิ่งพยายามคิดบวกทั้งที่ภายในใจติดลบ ยิ่งดูเป็นมนุษย์น้อยลง แม้จะยิ้มก็เป็นรอยยิ้มที่แฝงไปด้วยแววตาที่เศร้า แม้จะหัวเราะแต่หลังสิ้นสุดเสียงก็กลายเป็นบรรยากาศแห่งความว่างเปล่า การปฎิเสธอารมณ์เชิงลบจึงอาจบอกได้ว่าเป็นการปฎิเสธเด็กน้อยในตนเองด้วย (Inner Child)
หลายครั้งการปฎิเสธอารมณ์เชิงลบเพื่อให้รู้สึกดีกลับยิ่งทำให้รู้สึกแย่เป็นวงจรอุบาทว์ไม่มีสิ้นสุด เช่น เมื่อรู้สึกกังวลที่ต้องออกไปพูดในที่สาธารณะแล้วพยายามผลักไสความกังวลก็ยิ่งทำให้รู้สึกกังวลมากขึ้นไปอีก ยิ่งพยายามขับไล่ความกังวล ความกังวลก็ยิ่งขยายตัวใหญ่เท่านั้น อารมณ์เหมือนเราบอกตัวเองว่าอย่านึกถึงม้าย้ำๆ ก็จะยิ่งนึกถึงม้าง่ายเท่านั้น การต่อต้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นทำให้จากความกังวลชั้นเดียวกลายเป็นความกังวลที่มีความซับซ้อนขึ้นไปซะงั้น
ไม่ต้องรู้สึกเสียใจไปหากอ่านมาถึงจุดนี้แล้วพบว่าตัวเองใช้วิธีเก็บกดอารมณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เราได้เรียนรู้ หากอยู่ในครอบครัวที่การแสดงออกอารมณ์เชิงลบเป็นเรื่องต้องห้าม ‘จะตีนะ ถ้าร้องไห้อยู่แบบนี้’ ‘ไม่ดีเลยนะถ้าน้อยใจ’ จึงเกิดการเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ข่มอารมณ์เชิงลบ เพราะเข้าใจว่าการแสดงอารมณ์เชิงลบเท่ากับจะไม่ถูกรัก นานวันเข้าก็กลายเป็นขาดการเชื่อมโยงและซื่อสัตย์กับความรู้สึกตนเอง (Disconnect from Authentic Self)
ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ เคยกล่าวว่า ในโลกนี้ไม่มีอารมณ์เชิงลบหรือเชิงบวก มีแค่อารมณ์ที่เราชอบและไม่ชอบ ทุกอารมณ์มีประโยชน์และหน้าที่ในแบบของมัน ทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้นพยายามสื่อสารบางสิ่งในจิตใจกับเราเสมอ หากให้เวลาและตั้งใจฟังเสียงนั้นมากพอ
งานวิจัยพบว่า คนที่เก็บกดอารมณ์มีแนวโน้มที่จะมีอาการของโรคซึมเศร้า เผชิญกับอารมณ์เชิงลบ มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับคนรอบข้าง มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำ มองโลกในแง่ลบ และไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง
อย่างที่บอกไปว่า จริงๆ แล้วทุกอารมณ์มีประโยชน์ในตัวของมันเอง หากเราลองที่จะหยุดช้าลงและสัมผัสอารมณ์เหล่านั้นที่เกิดขึ้น เพื่อฟังเสียงเรียกว่าเขากำลังพยายามบอกอะไร
วิชาเข้าใจอารมณ์ 101
ความโกรธ (Anger) คือ อารมณ์ของนักสู้ที่กำลังบอกว่าเราสมควรได้บางอย่างที่เหมาะสมมากกว่านี้และมักจะมาในสถานการณ์ที่มีบางอย่างกำลังคุกคามและรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจในการจัดการสิ่งนั้น เมื่อโกรธอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วขึ้น เลือดจำนวนมากจะถูกหล่อเลี้ยงไปที่มือเพื่อเตรียมต่อสู้ (Fight Mode)
หลายครั้งความโกรธเป็นอารมณ์ขั้นที่สองที่เอาไว้ใช้ปกปิดความกลัว ความเจ็บปวดด้วย เช่น คุณรู้สึกโกรธเมื่อลูกลุกขึ้นมาเถียงคุณอย่างไม่เคารพเพราะคิดว่าตนเองมีชอบความธรรมและอำนาจในการโกรธ เมื่อมองลึกเข้าไปก็เห็นว่าคุณรู้สึกเจ็บปวดที่ลูกพูดแบบนี้ ลึกลงไปกว่านั้นคุณอาจเห็นความกลัวลูกไม่รัก อารมณ์โกรธมักจะพยายามปกปิดอารมณ์ที่แท้จริงบางอย่าง บางครั้งการพยายามเข้าใจอารมณ์เบื้องลึกภายใต้ความโกรธนี้ก็อาจทำให้การตอบสนองต่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ลองคิดดูว่าถ้าคุณเห็นว่าตัวเองโกรธ กับเห็นว่าตัวเองกลัวลูกไม่รัก คุณจะใช้วิธีการตอบสนองต่อลูกเปลี่ยนไปหรือไม่
ความสุข (Joy) อาจพยายามบอกเราว่าสิ่งที่ทำอยู่ให้ความสุข ความเพลิดเพลินได้ ทุกอย่างที่เป็นอยู่กำลังดำเนินไปได้อย่างสวยงาม แต่ต้องระวังนิดหนึ่งเพราะสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีสามารถเกิดได้ทั้งจากสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่รู้สึกดีอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ยกตัวอย่าง การกินไอศกรีมตอนเที่ยงคืนอาจทำให้รู้สึกเพลิดเพลินแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะเป็นแค่ความสุขชั่วคราว บางครั้งสิ่งที่ดีตอนแรกอาจจะรู้สึกแย่แต่สามารถให้ความสุขและภูมิใจในระยะยาวได้ เช่น การฝืนออกกำลังกายทั้งที่รู้สึกขี้เกียจในเช้าวันจันทร์
ความกลัว (Fear) กำลังบอกเราว่ามีบางอย่างที่ไม่ปลอดภัยซึ่งทำให้ระวังตัวมากขึ้น ความกลัวมีเจตนาเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่รอดจากอันตรายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาจะพยายามประเมินสถานการณ์เสมอว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายหรือไม่ ทว่าหลายครั้ง สิ่งที่เขาประเมินก็ไม่ตรงตามความจริงเสมอไป และอาจเป็นหลุมพรางให้ตกอยู่ในความเคยชินเดิม (Comfort Zone)
ความละอายใจ (Shame) ความรู้สึกเจ็บปวดและละอายใจว่ามีบางอย่างในตัวตนที่ผิดปกติและเราก็เชื่อว่าตนเองสมควรจะรู้สึกเช่นนั้น ซึ่งต่างจากความรู้สึกผิด (Guilt) ตรงที่เมื่อทำอะไรผิดพลาด ความละอายใจจะบอกว่า ฉันคือความล้มเหลว ความรู้สึกผิดจะบอกว่า ฉันทำบางอย่างผิดพลาด ความละอายใจจะมุ่งโจมตีไปที่ตัวตน ความรู้สึกผิดจะมุ่งไปที่การกระทำ ความละอายใจ คือ ความรู้สึกที่ฝังรากลึกที่อยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน และมักถูกหล่อเลี้ยงด้วยความเงียบ ยิ่งคนไม่พูดถึงสิ่งนั้นมากเท่าไหร่ ความละลายใจยิ่งฝังรากลึกได้มากเท่านั้น เมื่อรู้สึกละอายใจคุณจะรู้สึกตำหนิ กลัว ไม่เชื่อมโยงกับอื่น และหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกแย่ที่เกิดขึ้น
ยกตัวอย่าง วันหนึ่งคุณตะโกนใส่ลูกด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด แล้วก็เกิดความรู้สึกว่าทำไมตัวเองถึงเป็นแม่ที่ไม่ดีแบบนี้ รู้สึกละอายใจ แล้วก็เก็บความรู้สึกนี้ไว้เงียบๆ คนเดียว เพราะการพูดออกมาทำให้รู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยว เจ็บปวด ความละอายใจทำให้หมกมุ่นกับตัวเอง ซึ่งเราสามารถดูแลความละอายใจได้ด้วยการแบ่งปันความรู้สึกนี้ให้คนใกล้ชิดที่มีความเข้าอกเข้าใจรับฟัง (Empathy) การเชื่อมโยงและแบ่งปันเรื่องราวซึ่งกันและกันสามารถลดความรู้สึกท้วมท้นนี้ได้
ความโศกเศร้า (Sad) สัญญาณชวนให้กลับไปดูแลหัวใจที่บอบช้ำอย่างอ่อนโยน กลับไปรู้ถึงสาเหตุและความรู้สึกที่เกิดขึ้น น้ำตาที่เกิดจากความเสียใจมักไหลออกมาเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้น บางครั้งการอนุญาตให้ตัวเองพรั่งพรูก็เป็นวิธีที่ดีไม่น้อยในการระบายความเศร้าที่อยู่ในใจ หลังร้องไห้เสร็จอาจถามตัวเองว่า ‘น้ำตาที่ไหลมาเกิดจากความรู้สึกอะไร’ หรือ ‘น้ำตานี้อยากบอกอะไรกับเรา’ อาจได้คำตอบบางอย่างที่มีประโยชน์ก็ได้
พ่อแม่หลายคนมักรู้สึกเจ็บปวดและทนไม่ได้ที่จะเห็นลูกร้องไห้และโศกเศร้าจึงรีบเข้าไปปลอบ อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ลูกอยู่กับความเจ็บปวดและเรียนรู้อารมณ์นั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญในการเติบโตทางประสบการณ์ในแง่จิตใจ คำแนะนำคือ เมื่อเห็นลูกร้องไห้ ไม่ต้องรีบเข้าไปปลอบแต่อนุญาตให้เขารู้สึกทั้งหมด และรับฟังด้วยการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วยความเข้าอกเข้าใจ
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับความรู้สึกที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการมองโลกในแง่บวกเกินไป
1. การแสดงความรู้สึกเชิงลบเท่ากับการเป็นคนอ่อนแอ จริงๆ แล้วการแสดงความเปราะบางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือความเข้มแข็งที่จะโอบกอดความรู้สึกตนเอง อาจฟังดูแปลก คนที่ยิ่งพยายามปฎิเสธความเปราะบางยิ่งดูอ่อนแอเพราะต้องวิ่งหนีไปเรื่อย แต่คนที่บอกว่าความเปราะบางนี่แหละคือความรู้สึกฉันและยอมรับอย่างตรงไปตรงมา คือคนเข้มแข็ง เพราะต้องใช้ความกล้าอย่างมากในยอมรับ
2. ความรู้สึกของฉันไม่สมเหตุสมผล ไม่มีความรู้สึกใครที่ไม่สมเหตุสมผลหรือไร้สาระ ทุกความรู้สึกต่างเกิดจากประสบการณ์ในอดีต เราจึงไม่ควรตัดสินแต่จงโอบกอดมัน เพราะนี่คือหนทางแรกสู่การทำความเข้าใจและดูแลความรู้สึก
3. ฉันคืออารมณ์ที่เกิดขึ้น ฉันคือความโกรธ ฉันคือความเสียใจ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เป็นทุกข์มากคือการไม่ได้ตระหนักว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะผ่านไปในอีกไม่นาน ถ้าคุณตระหนักได้ว่าอารมณ์หิวข้าวตอนตีสองจะหายไปอีกไม่นาน คุณก็จะไม่หมกหมุ่นแล้วนั่งเครียดจนสุดท้ายต้องลุกไปต้มมาม่าตอนดึก ความรู้สึกที่เกิดขึ้นไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นเพียงสภาวะ (State) ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะหายไป
4. อารมณ์เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ อารมณ์เป็นสิ่งที่แทบจะควบคุมไม่ได้ แต่คุณสามารถควบคุมความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเลือกได้ว่าจะบอกว่า ‘ความเสียใจที่เกิดตอนแฟนทิ้งเป็นเพราะตัวตนฉันแย่ ฉันเป็นคนห่วย’ หรือ ‘ความเสียใจที่เกิดขึ้นตอนแฟนทิ้งเป็นสัญญาณให้ฉันกลับไปดูแลตัวเองให้ดีขึ้น’
ทำอย่างไรเมื่อเกิดความรู้สึกที่ท้วมท้น ?
การกลับไปดูแลความรู้สึกทั้งหมดที่ดีที่สุดคือการกลับไปเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดความรู้สึกนั้น อะไรที่ทำให้รู้สึกเศร้า อ๋อ เพราะรู้สึกว่าเขาไม่สนใจ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า งั้นแสดงว่าเราผูกคุณค่าตัวเองไว้กับคนอื่นใช่ไหม ? เมื่อรับรู้ถึงสาเหตุก็จะทำให้รู้วิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด
บางครั้งคุณอาจไม่สามารถหาสาเหตุของอารมณ์ได้ทันที สิ่งที่ทำได้อาจเป็นการรับรู้การมีอยู่ของอารมณ์นั้น ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอลเนีย พบว่า การพยายามเรียกชื่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นสามารถลดความรู้สึกที่ท้วมท้นได้ รู้สึกน้อยใจใช่ไหม น้อยใจเพราะอะไร ยิ่งระบุความรู้สึกที่เกิดขึ้นชัดและเจาะจงเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกดีและเข้าใจมากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บางครั้งการเรียกชื่ออาจยาก วิธีที่ง่ายกว่านั้นอาจเป็นการลองสังเกตร่างกายดูว่ามีส่วนไหนที่ตึง เหงื่อออก หรืออึดอัดไหม และรับรู้ความตึงที่เกิดขึ้น บางคนเวลาเครียดอาจขมวดคิ้วโดยไม่รู้ตัว การพยายามสังเกตและรับรู้การขมวดคิ้วจะทำให้ร่างกายและความรู้สึกผ่อนคลายขึ้น
ท้ายสุด อยากบอกว่า การพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเราที่เกิดขึ้นเป็นการเดินทางระยะยาว ไม่มีสูตรสำเร็จในการเข้าใจ แต่วิธีที่ดีที่สุดคือ การพยายามสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในทุกวัน เมื่อคุณเข้าใจความรู้สึก คุณจะสามารถอ่อนโยนและโอบกอดสิ่งที่เกิดได้มากขึ้น คุณจะเฆี่ยนตีตัวเองน้อยลง เพราะเข้าใจว่ามันก็มีเหตุผลของมัน วันนี้ไม่เป็นไรที่รู้สึกน้อยใจ โกรธก็คือโกรธ เศร้าก็คือเศร้า – เมื่อเข้าใจอารมณ์เราจะอ่อนโยนกับตัวเองมากขึ้น ผมชอบคำนี้
อ้างอิง
Brown, B. (2015). Daring greatly: How the courage to be vulnerable transforms the way we live, love, parent, and lead. Penguin.
Brown, B. (2007). I thought it was just me: Women reclaiming power and courage in a culture of shame. Gotham Books.
Gross, J. J., & John, O. P. (2003). Individual differences in two emotion regulation processes: Implications for affect, relationships, and well-being. Journal of Personality and Social Psychology, 85(2), 348–362.
Torre, J. B., & Lieberman, M. D. (2018). Putting feelings into words: Affect labeling as implicit emotion regulation. Emotion Review, 10(2), 116-124.