- คำว่า Toxic Masculinity หมายถึง ‘แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาย’ บางอย่าง เช่น การสนับสนุนความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ การกดขี่ทางเพศ ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศสภาพ โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียม และก่อให้เกิดปัญหาในสังคมได้
- แนวคิดความเป็นชายตามขนบมุ่งเน้นความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ พึ่งพาตัวเอง ทำให้เด็กไม่มีความรู้เท่าทันทางอารมณ์ เมื่อเด็กไม่รู้ว่าจะแสดงออกและจัดการอารมณ์อย่างไร จึงใช้ ‘ความรุนแรง’ หรือ ‘ความก้าวร้าว’ ในการระบายความขับข้องใจและความเครียด
- เราควรยกเลิกความคิดแบบสองขั้ว เช่น ชายควรทำแบบหนึ่ง หญิงควรทำแบบหนึ่ง แต่ควรสอนว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเองโดยไม่มีเรื่องเพศมาเป็นตัวกำหนด ซึ่งจะนำไปสู่การเคารพผู้อื่นที่ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เคารพเพราะว่าเขาเป็นเพศอะไร
ในขณะที่สังคมปัจจุบันกำลังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศในบริบทต่างๆ มีการเรียกร้องสิทธิให้คนทุกเพศได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม แต่กลับมีกลุ่มผู้ชายจำนวนหนึ่งที่ยังคงภาคภูมิใจกับ ‘ความเป็นชายตามขนบ’ ที่สังคมได้หล่อหลอมมาอย่างยาวนาน
ผู้ชายกลุ่มนี้มักถูกเรียกในโลกออนไลน์ว่า ‘ชายแท้’ หรือ ‘ชายแทร่’ ซึ่งไม่ได้เป็นการกล่าวถึงเพศสภาพ แต่ใช้หมายถึงกลุ่มผู้ชายที่ยังยึดติดกับแนวคิดชายเป็นใหญ่ เช่น ผู้ชายต้องแข็งแกร่ง มีอำนาจเหนือเพศอื่น โดยแนวคิดของความเป็นชายเช่นนี้ก่อให้เกิด ‘ภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษ’ หรือ ‘Toxic Masculinity’
‘Toxic Masculinity’ คืออะไร?
‘Toxic Masculinity’ หรือ ‘ภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษ’ หมายถึง พฤติกรรมหรือความเชื่อใดๆ เกี่ยวกับความเป็นชายที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสังคมหรือแม้กระทั่งตัวผู้ชายเอง เช่น ‘ผู้ชายไม่ร้องไห้’ เป็นความเชื่อที่ทำให้ผู้ชายเกิดการเก็บกดทางอารมณ์และไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม
คำว่า Toxic Masculinity ไม่ได้หมายความว่า ‘เพศชาย’ เป็นสิ่งที่ท็อกซิกหรือเป็นพิษ เพียงแต่หมายถึง ‘แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาย’ บางอย่างเป็นสิ่งที่ท็อกซิกและก่อให้เกิดปัญหาในสังคม เช่น การสนับสนุนความรุนแรง หรือพฤติกรรมกดขี่เพศอื่น
ส่วนใหญ่แล้วแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชายที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษมักเกิดมาจากความเชื่อที่มีมานานแล้ว ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่า ‘อุดมการณ์ความเป็นชายตามขนบ’ (Traditional Masculinity Ideology) โดย Toxic Masculinity จะอ้างถึงอุดมการณ์ความเป็นชายตามขนบใน 3 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
- ความแข็งแกร่ง (Toughness) – ผู้ชายควรที่จะมีความแข็งแกร่งทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น มีร่างกายที่บึกบึน ไม่แสดงความอ่อนแอ
- การเป็นขั้วตรงข้ามกับผู้หญิง (Antifeminity) – ผู้ชายไม่ควรปฏิบัติในสิ่งที่ถือว่าเป็นพฤติกรรมของผู้หญิง เช่น เล่นตุ๊กตา แต่งหน้า แสดงความอ่อนโยน
- การมีอำนาจ (Power/Status) – ผู้ชายควรใฝ่หาความสำเร็จ มีตำแหน่งใหญ่โต และได้รับความเคารพนับถือจากผู้อื่น
ต้นตอและผลกระทบของ Toxic Masculinity
กลุ่มผู้ชายที่ยึดติดกับ ‘อุดมการณ์ความเป็นชายตามขนบ’ และไม่ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น มักเกิดจากการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในเรื่องบทบาททางเพศ เช่น ผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแกร่ง เป็นเสาหลัก ส่วนผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนแอและต้องพึ่งพาผู้ชาย เป็นต้น
ความคิดเช่นนี้ทำให้เด็กมองว่าเพศชายมีศักดิ์ศรีและอำนาจเหนือกว่าเพศหญิง นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมในอนาคต
แนวคิดความเป็นชายตามขนบมุ่งเน้นความเข้มแข็ง ไม่อ่อนแอ พึ่งพาตัวเอง ทำให้เด็กไม่มีความรู้เท่าทันทางอารมณ์ กล่าวคือ เด็กไม่เข้าใจอารมณ์ของตัวเอง ไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ที่เหมาะสม เมื่อโตขึ้นบางคนมีความยากลำบากในการระบุและอธิบายอารมณ์ของตัวเอง เรียกว่า ‘Alexithymia’ หรือ ‘ภาวะไร้คำให้กับอารมณ์’
เมื่อเด็กไม่รู้ว่าจะแสดงออกและจัดการอารมณ์อย่างไร จึงใช้ ‘ความรุนแรง’ หรือ ‘ความก้าวร้าว’ ในการระบายความขับข้องใจและความเครียด ซ้ำไปกว่านั้นในสังคมชายเป็นใหญ่ยังสนับสนุนว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติของผู้ชาย ทำให้เด็กคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องและนำไปใช้ต่อไปเมื่อโตขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไป ความรุนแรงในผู้ชายจะมีฟังก์ชันเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ใช้แสดงอำนาจเหนือผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อความเป็นชายถูกคุกคาม พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ผู้ชายรู้สึกว่าอ่อนแอและไม่มีอำนาจ ความรุนแรงจะถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยืนยันอำนาจของตัวเอง เช่น ถูกผู้หญิงปฏิเสธ แพ้การแข่งขัน แฟนไม่ยอมทำตามคำสั่ง ฯลฯ
นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปที่การเลี้ยงดู ครอบครัวที่ยึดติดกับอุดมการณ์ความเป็นชายตามขนบก็อาจขาดการแสดงความรักความใส่ใจเท่าที่ควรเพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นพฤติกรรมที่อ่อนแอ ทำให้เด็กรู้สึกไม่ได้รับความรักและถูกปฏิเสธ เด็กจึงพัฒนารูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่เรียกว่า ‘ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง’ (Avoidance Attachment)
John Bowlby บิดาแห่งทฤษฎีความผูกพัน กล่าวว่า ความผูกพันเป็นความเชื่อมโยงทางจิตวิทยาระหว่างมนุษย์ที่คงอยู่ได้ยาวนาน กล่าวคือ เมื่อบุคคลพัฒนาความผูกพันรูปแบบหนึ่งกับครอบครัวในวัยเด็กแล้ว บุคคลนั้นจะนำความผูกพันรูปแบบนั้นไปใช้กับบริบทอื่นๆ ในวัยผู้ใหญ่ด้วย
ผู้ใหญ่ที่มีความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงจะประสบกับความยากลำบากในการสร้างความสัมพันธ์แบบลึกซึ้ง เนื่องจากขาดการใส่ใจในเรื่องของอารมณ์ ไม่อยากแบ่งปันความคิดความรู้สึกให้คนอื่นได้รับรู้ เกิดความผูกพันทางอารมณ์กับผู้อื่นได้ยาก และในบางครั้งก็ไม่อยากผูกมัดกับใคร
จากงานวิจัยในวารสาร Personal Relationships ปี 2004 พบว่า ผู้ใหญ่ที่มีความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงมีแนวโน้มที่จะยอมรับการมีเพศสัมพันธ์แบบชั่วคราว (Casual Sex) เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ไม่ได้ต้องการสานสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับอีกฝ่าย แต่ทำเพื่อเหตุผลภายนอกอื่นๆ เช่น ยกระดับตนเอง หรือทำให้คนในกลุ่มชื่นชม
จากทัศนคติเช่นนี้อาจอนุมานได้ว่า ผู้ชายที่ยึดติดกับอุดมการณ์ความเป็นชายตามขนบมีแนวโน้มที่จะมองคู่นอนซึ่งเป็นผู้หญิง เป็นเพียง ‘วัตถุทางเพศ’ (Sex Object) เนื่องจากผู้หญิงถูกลดทอนคุณค่าให้เหลือเพียงสิ่งที่ใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับความเป็นชาย
เมื่อการมีเพศสัมพันธ์คือการยกระดับตนเองและเสริมสร้างความแข็งแกร่งดั่งชายชาตรี ทำให้ผู้ชายที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มามากย่อมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ผ่านการพิสูจน์ความแข็งแกร่งมาแล้วหลายครั้ง ด้วยเหตุนี้อุดมการณ์ความเป็นชายตามขนบจึงมองว่า ผู้ชายเจ้าชู้ มีบ้านเล็กบ้านน้อย เป็นเรื่องปกติ
แนวทางการแก้ไข Toxic Masculinity
เมื่อเราทราบว่าต้นตอของภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษเริ่มมาจากการเลี้ยงดู พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์และการแสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น ไม่เอาแต่พูดว่า ‘ต้องเข้มแข็ง’ เมื่อลูกร้องไห้ แต่ให้สอนลูกทำความเข้าใจว่าอารมณ์นี้คืออะไร และจะจัดการได้อย่างไร
อีกทั้งควรสร้างสมดุลระหว่าง ‘ความเป็นอิสระ’ กับ ‘การเชื่อมความสัมพันธ์’ ครอบครัวที่ยึดติดกับแนวคิดความเป็นชายตามขนบจะปลูกฝังให้เด็กผู้ชายเป็นผู้นำ เป็นเสาหลัก พึ่งพาตัวเอง โดยที่ละเลยการสร้างสายสัมพันธ์ของครอบครัว ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้วิธีการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น นำไปสู่การพัฒนารูปแบบความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง แทนที่จะเป็นความผูกพันแบบมั่นคง
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำได้ในเด็กและผู้ใหญ่คือการปรับเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเพศ เราควรเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเพศมีการแบ่งเป็น ‘เพศกำเนิด/เพศสรีระ’ (Sex) กับ ‘เพศภาวะ/เพศสภาพ’ (Gender) กล่าวคือ เพศกำเนิดหมายถึงลักษณะปรากฏทางชีววิทยาของร่างกายตอนเกิด ส่วนเพศภาวะหมายถึงชุดความคิดของสังคมหรือวัฒนธรรมที่กำหนดว่าเพศหนึ่งๆ ควรมีลักษณะอย่างไรและปฏิบัติตัวอย่างไร
หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเพศกำเนิดเป็นสิ่งที่กำหนดว่าเพศหนึ่งๆ ต้องปฏิบัติอย่างไร เช่น เกิดมาเป็นผู้ชายก็ต้องเป็นผู้นำ ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น เพศภาวะต่างหากที่กำหนด เพราะเพศภาวะเป็นชุดความคิดที่สังคมประกอบสร้างขึ้นมาโดยนำไปผูกโยงกับเพศกำเนิด
เมื่อบุคคลหนึ่งเกิดมา เพศกำเนิดของบุคคลนั้นมิได้กำหนดว่าบุคคลนั้นต้องปฏิบัติตัวอย่างไร แต่สังคมต่างหากที่กำหนดว่าบุคคลที่เกิดมาในเพศนั้นควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร
แล้วการสร้างชุดความคิดขึ้นมามีผลกับเราอย่างไร?
มิเชล ฟูโกต์ นักคิดนักทฤษฎีสังคมยุคโพสต์โมเดิร์น เสนอว่า ในสังคมสมัยใหม่อำนาจไม่ได้ผูกโยงกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่อำนาจเกิดมาจาก ‘ความรู้’ ที่เรายอมรับว่าเป็น ‘ความจริง’ เพราะความรู้นี้ก่อให้เกิด ‘อำนาจชีวะ’ (Biopower) อำนาจที่ควบคุมร่างกายและจิตใจของมนุษย์ โดยที่มนุษย์ไม่ได้รู้สึกว่าถูกสั่งจากใคร
พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อมนุษย์ได้รับความรู้ใดแล้วเชื่อว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม มนุษย์จะควบคุมร่างกายของตัวเองให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความรู้นั้น เช่น เมื่อมนุษย์รู้ว่าการกินอาหารคลีนดีต่อสุขภาพ มนุษย์ก็จะควบคุมตัวเองให้กินอาหารคลีน ซึ่งในกรณีของเรื่องเพศก็ไม่ต่างกัน
เมื่อเราได้รับความรู้เรื่องเพศจากสังคมเข้าไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวและเชื่อว่าสิ่งนั้นคือความจริง เราจะควบคุมร่างกายและจิตใจของตัวเองให้ปฏิบัติตามความรู้นั้น เช่น เมื่อเด็กผู้ชายถูกสอนว่าคุณสมบัติของเพศชายคือความเข้มแข็ง เด็กคนนั้นก็จะควบคุมพฤติกรรมตัวเองไม่ให้แสดงความอ่อนแอ
ฟูโกต์ยังเสนอต่อว่า อำนาจชีวะจะมีการตอกย้ำความสัมพันธ์แบบคู่ตรงข้ามระหว่าง ‘ความปกติ’ กับ ‘ความผิดปกติ’ กล่าวคือ เมื่อความรู้ได้ถูกสร้างและเข้าไปควบคุมชีวิตของคนจำนวนมากแล้ว ความรู้นั้นจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่คนส่วนใหญ่ยึดถือ สิ่งที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานนี้คือความผิดปกติ ดังนั้นสังคมจึงต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและกำจัดพฤติกรรมที่ผิดปกติ
เมื่อนำมาจับกับเรื่องเพศ ในสังคมชายเป็นใหญ่ก็มีการธำรงไว้ซึ่งความเป็นชายตามขนบผ่านการกำจัดพฤติกรรมที่ผิดแผก พูดง่ายๆ คือ พยายามกำจัดความไม่แมน หรือผู้ชายที่ไม่แมนออกจากสังคม เช่น บอกให้ผู้ชายร้องไห้เข้มแข็ง หรือใช้คำตีตราผู้ชายที่ไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานว่า ‘ติ๋ม’ ‘ตุ๊ด’ ‘แต๋ว’ ฯลฯ
จากทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่า ‘ความรู้’ เป็นสิ่งที่มีอำนาจ เราจึงควรทำความเข้าใจว่าสังคมตามขนบปลูกฝังเรื่องเพศมาอย่างไร เพื่อจะได้แก้ไขความรู้ให้เหมาะสมกับสังคมสมัยใหม่ อีกทั้งยังเป็นการลดพฤติกรรมที่ตัดสินว่าสิ่งใดปกติหรือผิดปกติ
ในขั้นต้นอาจเริ่มจากการยกเลิกความคิดแบบสองขั้ว (ทวิลักษณ์) เช่น ชายควรทำแบบหนึ่ง หญิงควรทำแบบหนึ่ง แต่ควรสอนว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นตัวของตัวเองโดยไม่มีเรื่องเพศมาเป็นตัวกำหนด ซึ่งจะนำไปสู่การเคารพผู้อื่นที่ความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่เคารพเพราะว่าเขาเป็นเพศอะไร
การเปลี่ยนแปลงเรื่องเพศและความคาดหวังทางสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หากเราเริ่มตั้งคำถามกับ ‘ความจริง’ ที่เราเชื่อ และตั้งใจสร้างความรู้ใหม่ที่เอื้อให้ทุกคนเติบโตได้ในแบบของตัวเอง สังคมในวันหน้าก็จะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครต้องถูกบีบบังคับให้เป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเองอีกต่อไป
อ้างอิง
กนกพิชญ์ อุ่นคง. (2024). ‘ชายแทร่’ Toxic masculinity เริ่มต้นที่บ้าน โรงเรียน หรืออื่นใด?: คุยกับ ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน.
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2019). Attachment style – รูปแบบความผูกพัน.
จารุณี วงศ์ละคร. (2561). อำนาจชีวะในทัศนะของมิเชล ฟูโกต์. วารสารปณิธาน, 14(1), 135–162.
นิลุบล สุขวณิช. (2022). รับมือกับ Toxic Masculinity แนวคิดที่ไม่อนุญาตให้ผู้ชายเจ็บได้ร้องไห้เป็น.
สุชาดา ทวีสิทธิ์. (2562). ผู้หญิง ผู้ชาย และเพศวิถี: เพศภาวะศึกษาในงานมานุษยวิทยา. วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 19(1), 311–357.
American Psychological Association. (2018). APA guidelines for psychological practice with boys and men.
American Psychological Association. (2023). How to prevent harmful masculinity and violence.
Amy Morin. (2024). What Is Toxic Masculinity?
Fitzpatrick, B. (2016). Men in Groups: Attachment and Masculinity [Doctoral dissertation, Pacifica Graduate Institute].
iStrong team. (2025). เข้าใจ Toxic Masculinity ตัดวงจรทัศนคติที่พ่อแม่อาจส่งต่อถึงลูกๆ โดยไม่รู้ตัว.
Kendra Cherry. (2023). 4 Types of Attachment Styles.
Kristeen Cherney. (2024). Alexithymia: Difficulty Recognizing and Feeling Emotions.
Saldubehere, A. (2019). The Relationships Between Traditional Masculinity Ideology, Alexithymia, and Attachment among Male Millennials in the United States [Doctoral dissertation, Alliant International University].
Schachner, D.A., & Shaver P.R. (2004). Attachment dimensions and sexual motives. Personal Relationships, 11(2), 179–195.
Thompson, E.H., & Pleck, J.H. (1986). The Structure of Male Role Norms. American Behavioral Scientist, 29(5), 531–543.