- การอดทนรอคอย สามารถขยายไปเป็น ‘ทักษะชีวิต’ (Life skill) อย่างหนึ่งได้เลยทีเดียว แต่แรงจูงใจที่สำคัญของการทำให้คนประสบความสำเร็จในการอดทนรอคอย คือเขาต้องรู้ว่า ‘ผลลัพธ์ที่ได้จากการรอ’ คืออะไร
- การทดลองมาร์ชเมลโลว์ (The Marshmallow Experiment) ได้ข้อสรุปว่า เด็กที่รู้จักอดทนอดกลั้นต่อผลลัพธ์ข้างหน้าที่ดีกว่าตอนนี้ มีแนวโน้มประสบความสำเร็จโดยรวมและพึงพอใจต่อชีวิตมากกว่า
- ในบางช่วงโมเมนต์ของชีวิต ถ้าเราเชื่อว่าอนาคตคือผลของการกระทำในวันนี้ บางทีสิ่งที่วันนี้เราควรทำมากที่สุดในวันนี้ อาจเป็นการยับยั้งชั่งใจและรอคอยอย่างมีสติ
เชื่อเลยว่าหนึ่งในเรื่องที่ยาก อึดอัดใจ และสวนทางกับสัญชาตญาณบางอย่างในตัวคนเราก็คือ ‘การอดทนรอ’ มันขัดกับแรงขับเคลื่อนในใจลึกๆ ที่อยากได้อยากลงมือทำมันเดี๋ยวนี้ มันเล่นกับความไม่แน่นอนในชีวิตเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเปิดไพ่ออกมาเป็นอย่างไร
แต่ก็เพราะการอดทนรอคอยเดียวกันนี้เอง ใครก็ตามที่ทำเรื่องนี้ได้ยอดเยี่ยม มักเป็นกุญแจสู่ชีวิตที่มีความสุข เข้าใจตัวเอง สำเร็จในแบบตัวเอง และเราก็พึงพอใจกับตัวเองสุดๆ ดังเช่นวลี ‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’
รางวัลชีวิตจากการอดใจรอมาร์ชเมลโลว์
มีตัวอย่างงานวิจัยคลาสสิกตลอดกาลในเรื่องการอดทนรอ ซึ่งคิดว่าหลายคนน่าจะต้องเคยได้ยินได้อ่านมาบ้างแล้ว นั่นคือ การทดลองมาร์ชเมลโลว์ (The Marshmallow Experiment)
นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด วัลเทอร์ มิชเชิล (Walter Mischel) ทำการทดลองหนึ่งขึ้นในทศวรรษที่ 1960 ที่กลายมาเป็นพื้นฐานของจิตวิทยาและกรณีศึกษาที่ผู้คนเจเนอเรชันต่อมาได้ร่ำเรียนกัน
เขานำเด็กเล็กอายุ 4-5 ขวบ มานั่งอยู่ในห้องพร้อมจานใส่ขนมตรงหน้าก่อนเดินออกจากห้องไปและได้มอบทางเลือก 2 ทางให้เด็กเลือก
- ได้รับรางวัลเป็นขนมมาร์ชเมลโลว์ 1 ชิ้น หากกดกริ่งให้ทีมวิจัยกลับมา ‘ภายใน 15 นาที’
- ได้รับรางวัลเป็นขนมมาร์ชเมลโลว์ 2 ชิ้น หากกดกริ่งให้ทีมวิจัยกลับมา ‘หลังผ่านไป 15 นาทีแล้ว’
ผลลัพธ์แตกออกเป็น 2 กลุ่ม ทั้งข้อ 1 เด็กที่กดกริ่งภายใน 15 นาที (ไม่อดทนรอนาน) และ ข้อ 2 เด็กที่กดกริ่งหลังผ่านไป 15 นาที (ยอมอดทนรอ)
จากนั้น เหล่านักวิจับได้ติดตามเส้นทางพัฒนาการของชีวิตของเด็กๆ แต่ละกลุ่มเหล่านี้เป็นเวลาอีกหลายทศวรรษอย่างต่อเนื่องจนพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ และได้พบว่า เด็กข้อ 2 ที่ยอมอดทนรอได้ มีอัตราการอ้วนที่ต่ำกว่า บริหารความเครียดได้ดีกว่า ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีกว่า มีหน้าที่การงานและระดับรายได้ที่สูงกว่า หรือก็คือมีผลลัพธ์โดยรวมในชีวิตที่ดีกว่าเด็กข้อ 1 ที่อดทนรอไม่ได้
เมื่อติดตามมาถึงราวทศวรรษ 1990 ทีมนักวิจัยการทดลองมาร์ชเมลโลว์นี้จึงเคาะข้อสรุปว่า เด็กที่รู้จักอดทนอดกลั้นต่อผลลัพธ์ข้างหน้าที่ดีกว่าตอนนี้ มีแนวโน้มประสบความสำเร็จโดยรวมและพึงพอใจต่อชีวิตมากกว่า
แรงจูงใจและเงื่อนไขของการรอคอย
แต่ข้อสรุปจากการทดลองมาร์ชเมลโลว์อาจไม่ได้เป็น ‘เส้นตรง’ ขนาดนั้น เราต้องให้เชิงอรรถตัวเองไว้ด้วยว่า กลุ่มเด็กที่เข้ารับการทดลองมาจากครอบครัวชนชั้นกลางชาวอเมริกันที่มีอันจะกินระดับหนึ่ง เด็กๆ อาจเติบโตมาในสถานการณ์ที่พอจะรอคอยอะไรได้บ้างเพราะพื้นฐานไม่ได้เดือดร้อนอะไรอยู่แล้ว
นอกจากนี้ การรอคอยอาจแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ
- รอแบบลมๆ แล้งๆ
- รอผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่จะเกิดขึ้นแน่นอน
ถ้านักวิจัยไม่สร้างเงื่อนไขเวลา ‘15 นาที’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ดูเหมือนจะไม่นานเกินไป-ไม่สั้นเกินไป สำหรับบริบทการให้เด็กเล็กอายุแค่นี้มานั่งในห้องทดลองแบบนี้ การรอคอยของเด็กอาจกลายเป็นการรอคอยที่สูญเปล่า รอแบบลมๆ แล้งๆ เพราะไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ดีกว่าจะออกดอกออกผลเมื่อไร
อย่าลืมว่า แรงจูงใจที่สำคัญของการทำให้คนประสบความสำเร็จในการอดทนรอคอยคือเขาต้องรู้ว่า ‘ผลลัพธ์ที่ได้จากการรอ’ คืออะไรกันแน่?
กรณีของงานวิจัย เด็กกลุ่มหลังรู้ว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการรอคือการได้รับขนมมาร์ชเมลโลว์ที่มากขึ้นเท่าตัว เมื่อบวกลบคูณหาร ประกอบกับสัญชาตญาณ เด็กบางกลุ่มรู้ว่า ‘คุ้มที่จะรอ’ คุณค่าที่ได้ในอนาคตอันใกล้จะมากกว่าคุณค่าในปัจจุบันแน่นอน…ขอแค่อดทนรออีกสักนิดนึง!
สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อลงรายละเอียดในการทดลองอีกนิดจะพบว่า กลุ่มเด็กที่มีความยับยั้งชั่งใจในการรอคอย น้องๆ ไม่ได้ ‘นั่งรออยู่เฉยๆ’ ไม่ได้นั่งจับเวลาให้ถึง 15 นาที ไม่ได้นั่งสมาธิเพื่อควบคุมจิตใจตัวเองให้สู้กับความเบื่อ แต่น้องๆ กลับหาอะไรทำที่ตัวเอง ‘รู้สึกสนุก’ เพื่อฆ่าเวลาระหว่างรอ ไม่ว่าจะถอดรองเท้าออกมาเล่น นั่งฮัมเพลงไปเรื่อยเปื่อย เรียกว่าเป็นการ ‘เลี้ยงความสนุก’ ให้อยู่กับตัวไปนานๆ ให้ไฟแห่งความตื่นเต้นไม่รีบด่วนดับหายไป หรือเบี่ยงเบนไม่ให้ไปไปหมกมุ่นคิดถึงการรอคอยที่แสนทรมานใจในตัวมันเอง
เรื่องนี้สำคัญต่อผู้ใหญ่แบบเราๆ เช่นกัน เพราะความสนุกเป็นแรงจูงใจขั้นสูง ทั้งในการอดทนรอคอย ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ในการเผชิญหน้ากับความท้าทายยากๆ
ผลวิจัยนี้ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้กับบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองที่สามารถนำไปใช้สอนลูกตัวเองได้ โดยเฉพาะพัฒนาการที่เริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก เพราะถ้าพ่อแม่ไม่ฝึกลูกตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเด็กโตไปอาจประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิตได้ เพราะ ‘โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา’ มีหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตที่เราต้องยับยั้งชั่งใจและมีความอดทนรอคอยอย่างสูงเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่าข้างหน้า ไม่ว่าจะในการเรียน การทำงาน การคบเพื่อน สุขภาพ หรือบทบาทของตัวเองต่อสังคม
การยับยั้งชั่งใจอดทนรอคอยจึงเป็นอีกทักษะที่พ่อแม่ควรฝึกลูกตั้งแต่ยังเล็ก เป็นการอดทนรอในปัจจุบันที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีทวีคูณในอนาคตนั่นเอง
‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ทักษะชีวิตที่ต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก
เราอยู่ในสังคมเร่งรีบ ทุกอย่างต้องด่วนจี๋ คาดหวังผลลัพธ์แบบ ‘ทันที’ แค่การสั่งเดลิเวอรี่แล้วระบบโหลดหน้านานขึ้น 2-3 วินาที ก็มากพอที่ทำให้บางคนหงุดหงิดอารมณ์เสียและถึงขั้นย้ายค่ายไปใช้แอปคู่แข่งในการสั่งเลยก็ได้
การมีคาแรกเตอร์เป็นคนที่อดทนรอคอยให้เป็น เปรียบเสมือนมีภูมิคุ้มกันในการยับยั้งชั่งใจต่อสิ่งล่อลวงใจ อาจไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ดี แต่มันแค่มาหาเราในวันที่เรายังไม่พร้อมหรือยังไม่ถึงเวลาที่ใช่ ทางออกคงเป็นการ ‘บาลานซ์’ ระหว่างสิ่งที่อยากทำอยากได้ตอนนี้กับผลลัพธ์ที่เหนือกว่าในอนาคต
ถ้าเราพิจารณาให้ลึกขึ้นจะพบว่า การอดทนรอคอยนี้สามารถขยายไปเป็น ‘ทักษะชีวิต’ (Life skill) อย่างหนึ่งได้เลยทีเดียว และจะดีมากๆ ถ้าเราเริ่มตั้งแต่เด็กๆ คำถามคือ…แล้วพ่อแม่ควรฝึกเด็กยังไงดี?
พ่อแม่สามารถฝึกการอดทนรอให้สอดแทรกลงไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ได้ อันดับแรก ต้องยอมรับความจริงว่า พ่อแม่เองก็ไม่ควร ‘ตามใจลูก’ ไปซะทุกเรื่อง บางเรื่องที่ต้องรอ…ก็ต้องสอนให้เขารู้จักรอ และจะดีกว่ามากถ้าพ่อแม่ร่วมเดินทางไปกับลูก
เหตุการณ์ที่พ่อแม่หลายคนพบเจอเหมือนกันคือ ‘ลูกๆ ร้องไห้งอแงจะเอาของเล่นให้ได้’ แต่การพูดสั่งสอนว่าให้รอแบบปากเปล่าก็คงไม่ได้ผลนัก แต่ให้พ่อแม่ลอง ‘ร่วมเดินทาง’ ไปกับลูก ช่วยลูกๆ คิดว่าต้องทำอะไรบ้างในการซื้อของเล่นชิ้นนั้น
เช่น ปกติพ่อแม่ให้เงินค่าขนม 100 บาทต่อวันลูกต้องแบ่งเงินเป็นค่ากินข้าว 60 บาทต่อวันโดยไม่อดอาหาร เพื่อเอาที่เหลืออีก 40 บาทเป็นเงินออมในการซื้อของเล่น แต่แน่นอนว่า เงิน 40 บาทออมวันเดียว ไม่พอในการซื้อของเล่น เพราะของเล่นมีราคา 400 บาท ดังนั้น ลูกต้องออมทั้งหมด 10 วัน เป็นระยะเวลาที่ต้องอดทนยับยั้งชั่งใจ
นอกจากฝึกทักษะการอดทนรอแล้ว ยังฝึกทักษะการเงิน การวางแผน การคิดคำนวณ การรู้จักความชอบของตัวเอง และเพิ่มความสนุกระหว่างทางการเก็บออมเงินด้วย
อีกเทคนิคคือ ให้ลูกๆ เข้ามามี ‘ส่วนร่วม’ กับพ่อแม่ซะเลย ยื่นมือมาช่วยเหลือ เพื่อไปสู่ผลลัพธ์ปลายทางด้วยกัน ทั้งยังเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในแบบเจาะลึกรายละเอียดและได้ประสบการณ์หน้างานจริง แถมลูกก็ตระหนักว่าการอดทนรอคอยลักษณะนี้ไม่ใช่การรออยู่เฉยๆ อีกต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อลูกๆ อดทนรอได้สำเร็จ พ่อแม่ควรพูดชมขอบคุณเป็นการให้ ‘รางวัล’ ปิดท้าย ทำยังไงก็ได้ให้ลูกรู้สึกว่ารางวัลที่ได้จากการรอคอย เป็นความสุขล้นปลายทางที่เหนือกว่า
สุดท้ายแล้วในบางช่วงโมเมนต์ของชีวิต ถ้าเราเชื่อว่าอนาคตคือผลของการกระทำในวันนี้ บางที…สิ่งที่วันนี้เราควรทำมากที่สุดในวันนี้ อาจเป็นการยับยั้งชั่งใจและรอคอยอย่างมีสติ…
อ้างอิง
https://jamesclear.com/delayed-gratification
https://www.vox.com/2014/9/24/6833469/marshmallow-test-self-control
https://welldoing.org/article/delayed-gratification-why-patience-such-essential-skill