Skip to content
Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Myth/Life/CrisisLife classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy life
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)
Myth/Life/Crisis
11 July 2025

ความตายขับเคลื่อนชีวิต (2): เมื่อการระลึกถึง ‘ความตาย’ ทำให้เข้าใจความหมายของ ‘ชีวิต’

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • มนุษย์หาวิธีจัดการความกลัวต่อความตายด้วยการสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้ชีวิตมีแบบแผนและมีความหมาย ทำให้ความตายเป็นเรื่องที่ห่างไกล  มุ่งเน้นการสร้าง ‘เกราะป้องกัน’ ความหวาดกลัวต่อความตาย แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ
  • ประโยชน์ของการเจริญ ‘มรณสติ’ หรือ การระลึกถึงความตาย คือ ‘ความไม่ประมาท’ เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่าความตายจะมาหาเราเมื่อไร เราจึงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง
  • การระลึกถึงความตายไม่ใช่ความหดหู่ แต่คือการย้ำเตือนว่าชีวิตที่เรายังมีอยู่ในทุกวันนี้มีค่ามากแค่ไหน จงใช้มันให้คุ้มค่าอย่างที่เมื่อวันสุดท้ายมาถึงเราจะไม่นึกเสียดายในสิ่งไหนอีก

ตอนที่แล้วเราได้พูดถึงทฤษฎีว่าด้วยการจัดการความกลัวต่อความตายในมนุษย์ไปแล้วอย่าง ‘Terror Management Theory’ (TMT) ทำให้เราเข้าใจว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณกลัวตายไม่ต่างจากสัตว์ แต่สิ่งที่ต่างกันคือมนุษย์มีสติปัญญาที่สูงจนเข้าใจเรื่องเวลา และค้นพบว่าความตายจะต้องมาเยือนแก่ตนในสักวันหนึ่ง

มนุษย์จึงหาวิธีจัดการความกลัวนี้ด้วยการสร้างวัฒนธรรมที่ทำให้ชีวิตมีแบบแผนและมีความหมาย ทำให้ความตายเป็นเรื่องที่ห่างไกล กล่าวได้ว่า TMT มุ่งเน้นการสร้าง ‘เกราะป้องกัน’ ความหวาดกลัวต่อความตาย วิธีนี้เป็นวิธีทั่วไปที่มนุษย์ใช้กัน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ด้านบวกคือมนุษย์เกิดความสงบและใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย แต่ด้านลบคือมนุษย์กลับนำวัฒนธรรมมาใช้ในการแบ่งพรรคแบ่งพวก พยายามปกป้องความเชื่อของตัวเองจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ โดยละเลยการทำความเข้าใจถึงธรรมชาติที่ว่า ทุกชีวิตย่อมเดินไปสู่ความตาย

จะดีกว่าไหมหากมนุษย์เลือกที่จะ ‘ยอมรับ’ ความจริง แทนที่จะสร้าง ‘เกราะป้องกัน’ ?

ความตายเป็นสิ่งที่คนมักหลีกเลี่ยงการพูดถึง บ้างก็ว่าเป็นสิ่งอัปมงคล บ้างก็ว่าลางร้าย เพราะการพูดถึงความตายทำให้เกิดความหดหู่และหวาดกลัว เหตุที่เรากลัวเพราะเรายังไม่เข้าใจความตายอย่างแท้จริง ดังนั้นเราควรทำความเข้าใจความตายผ่านการเจริญ ‘มรณสติ’ หรือ ‘มรณานุสติ’

ในทางพุทธศาสนา ‘มรณสติ’ หมายถึง การระลึกถึงความตาย เป็นหนึ่งในสติที่ควรระลึกถึงอยู่บ่อยๆ (อนุสติ 10) เพื่อให้จิตใจเกิดความสงบ โดยมรณสติมี 2 ส่วนดังนี้

  1. การระลึกถึงความจริง – ตระหนักว่าเราทุกคนต้องตาย ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอน แต่เวลาตายเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เราสามารถตายได้ทุกเมื่อ มีภาษิตทิเบตกล่าวไว้ว่า ‘ระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาถึงก่อน’
  2. การถามตัวเองว่าพร้อมตายหรือยัง – ทบทวนว่าเราได้ทำสิ่งที่ควร สิ่งที่อยากทำแล้วหรือยัง เมื่อระลึกถึงส่วนนี้จะเกิดความรู้สึกกระตุ้นเร้าให้เร่งขวนขวาย เรียกว่า สังเวช* หากเรารู้สึกว่าชีวิตนี้ได้ทำในสิ่งที่ควรสิ่งที่อยากแล้ว เมื่อความตายมาถึงก็จะเกิดความสงบ ไม่ทุกข์ร้อนว่ายังเหลือสิ่งที่ค้างคาใจ เกิดการปล่อยวางในสังขารอย่างแท้จริง

*ในทางธรรม สังเวช คือความรู้สึกสลดใจที่ทำให้คิดได้ ทำให้จิตใจหันมานึกถึงสิ่งที่ดีงาม ความสลดใจแล้วหงอยหรือหดหู่ไม่เรียกว่าเป็นสังเวช

พระไพศาล วิสาโล กล่าวว่า มรณสติในพุทธศาสนาจะต้องมี 2 ส่วนเสมอ การระลึกถึงความตายเพียงอย่างเดียวยังไม่ใช่มรณสติที่สมบูรณ์ มรณสติที่สมบูรณ์จะต้องโยงมาสู่การปฏิบัติ หรือใช้ความจริงของชีวิตนั้นเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติ ทั้งทำความดีและฝึกใจให้เรียนรู้ที่จะปล่อยวาง

การเจริญมรณสติในแง่หนึ่งก็เหมือนกับ ‘การซ้อมตาย’ คนเราจะทำอะไรที่เป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องซ้อมกันทั้งนั้น เมื่อความตายคือเรื่องใหญ่ในชีวิตของมนุษย์ เหตุใดเราจึงไม่ซ้อมตายกันเสียก่อน ถ้าเราซ้อมตายกันบ่อยๆ ก็ทำให้เรากลัวความตายน้อยลง พอถึงเวลาตายจริงๆ เราจะไม่ตื่นตระหนกมาก เรียกง่ายๆ ว่า ‘ตายดี’ นั่นแหละ

ประโยชน์ของการเจริญ ‘มรณสติ’

ผลพวงจากการเจริญมรณสติคือ ‘ความไม่ประมาท’ เพราะเราไม่อาจรู้เลยว่าความตายจะมาหาเราเมื่อไร เราจึงใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง อีกทั้งการเจริญมรณสติยังช่วยทำให้เราขวนขวายในสิ่งที่เราชอบผัดผ่อน เพราะชีวิตของเรามีเส้นตาย ไม่ต่างอะไรจากการทำงานที่ก็มีเส้นตายเช่นกัน

หากมองในเชิงปรัชญาหรือคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล การกลัวความตายเป็นเรื่องประหลาด เพราะเมื่อความตายมาถึงเราไม่สามารถรับรู้อะไรได้แล้ว ไม่รู้สึก ไม่เจ็บปวด แล้วเรากลัวอะไรกันแน่? เรากลัวความตาย เพราะมันทำให้ชีวิตของเราจบลง เรากลัวชีวิตของเราจะจบลง เพราะเรายังทำสิ่งที่อยากทำไม่เสร็จสิ้น 

แท้จริงแล้วเราไม่ได้กลัวความตาย แต่เรากลัวการไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ยังไม่ได้ทำสิ่งโน้น ยังไม่ได้ทำสิ่งนี้ เช่นนั้นทำไมถึงไม่ลงมือทำสิ่งที่ต้องการตั้งแต่ตอนนี้เลย?

การระลึกถึงความตายทำให้เราตระหนักรู้ว่าชีวิตของเรามีจุดจบ และจุดจบนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้ สิ่งไหนที่อยากทำ สิ่งไหนที่ยังติดค้าง ก็ควรรีบจัดการให้แล้วเสร็จ อย่ามัวแต่ผัดผ่อนจนสายเกินไป

กล่าวอีกนัยได้ว่ามรณสติช่วยทำให้เรา ‘ปล่อยวางสิ่งที่ชอบยึดติด’ เพราะเมื่อเจริญมรณสติ เราจะรู้ว่ามีอะไรที่ยังติดค้างอยู่ในใจ เช่น ติดเรื่องลูก ติดเรื่องพ่อ ติดเรื่องทรัพย์สมบัติ ติดเรื่องงาน ทำให้มีแรงกระตุ้นให้เรารีบจัดการ ท้ายที่สุดเมื่อความตายมาถึง เราก็จะไม่รู้สึกเสียดาย เพราะเราได้ทำสิ่งที่ติดค้างเสร็จสิ้นแล้ว

นอกจากการปล่อยวางสิ่งที่รักแล้ว พระไพศาลยังรวมถึงการปล่อยวางสิ่งที่เราไม่รักด้วย เช่น ความโกรธ ความเกลียด ความรู้สึกผิด เพราะถ้าเราไม่ปล่อยวาง เวลาตายจะทำให้เราทุรนทุรายและเจ็บปวด เวลามีความทุกข์ เรามักจะชอบเก็บความทุกข์ไว้ไม่อยากปล่อยวาง เช่น เวลาเศร้าก็จมอยู่ในความเศร้าผ่านการฟังเพลงเศร้าซ้ำไปซ้ำมา เวลาโกรธก็เอาแต่นึกถึงหน้าคนที่ทำให้เราโกรธ เวลารู้สึกผิดก็คิดถึงแต่เรื่องที่เราได้ทำผิดพลาดไป

หากอารมณ์เหล่านี้ทำให้เราทุกข์ใจนัก เหตุใดถึงยังยึดติดในอารมณ์เหล่านี้ เราหวงแหนไว้ไม่ยอมปล่อยมันไปทำไม?

เมื่อนึกถึงความตายจะทำให้เราปล่อยวางเรื่องเหล่านี้ได้ง่าย บางทีเรื่องที่เราทะเลาะกัน โกรธกัน อาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยไปเลยเมื่อเทียบกับความตาย อีกไม่นานก็ต้องตายจากกัน ทำไมถึงไม่รีบสะสางเรื่องทุกข์ใจเหล่านี้ให้เสร็จสิ้น เก็บเอาไว้จนถึงวันตายแล้วจะได้อะไร

นอกจากนี้ มรณสติยังช่วยทำให้เรามีความสุขได้ง่ายขึ้นผ่าน ‘การเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน’ เราไม่ค่อยเห็นคุณค่าของวันนี้หรือพรุ่งนี้ เพราะคิดว่าตัวเองยังมีเวลาอยู่ได้อีกหลายปี ทุกวันนี้เรามัวแต่ไปจดจ่อกับสิ่งที่ยังไม่มี ยังไม่มีบ้าน ยังไม่มีรถ ยังไม่มีโทรศัพท์รุ่นใหม่ ยังไม่มีเงินร้อยล้านพันล้าน จนละเลยสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในปัจจุบัน

พระไพศาลเปรียบว่า หากสักวันหนึ่งเราจะต้องตาบอด ในตอนนี้เราจะเข้าใจทันทีว่าดวงตาที่ทำให้เรามองเห็นมีค่ามากแค่ไหน เราจะดูแลดวงตาของเราเป็นอย่างดี ชีวิตของเราก็เช่นกัน หากเรารู้ว่าตัวเองจะต้องตายในคืนนี้ แต่ละนาทีที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นสิ่งที่มีค่า เราจะไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เราจะดูแลชีวิตของเราเป็นอย่างดีและใช้ทุกนาทีที่เหลือให้คุ้มค่ามากที่สุด

สุดท้าย หากเรายังรู้สึกกลัวความตายอยู่ ให้ลองถามตัวเองดีๆ ว่าตกลงเรากลัวอะไรกันแน่ กลัวว่าจะไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า? กลัวว่าจะไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ? กลัวว่าจะไม่ได้ใช้เวลาอย่างคุ้มค่ากับคนที่เรารัก? หากเราแกะสิ่งที่กลัวจริงๆ ออกมาได้ เราจะเข้าใจและรีบขวนขวายทำสิ่งนั้นทันที โดยไม่ผัดผ่อนอีกต่อไป

การระลึกถึงความตายไม่ใช่ความหดหู่ แต่คือการย้ำเตือนว่าชีวิตที่เรายังมีอยู่ในทุกวันนี้มีค่ามากแค่ไหน จงใช้มันให้คุ้มค่าอย่างที่เมื่อวันสุดท้ายมาถึงเราจะไม่นึกเสียดายในสิ่งไหนอีก

อ้างอิง

พระไพศาล วิสาโล. (2552). มรณสติ.

พระไพศาล วิสาโล. (2563). มรณสติภาวนา.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์. (2546). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ (พิมพ์ครั้งที่ 10).

Tags:

สติความตายชีวิตTerror Management Theoryการเจริญมรณสติ

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • How to enjoy life
    เปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ในชีวิต(ที่เรารับมือได้)ให้กลายเป็นแรงขับดัน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เดอสแตดนิง (Döstädning): มากกว่าจัดบ้านคือจัดการชีวิต ศิลปะการละทิ้ง(ก่อนตาย) สไตล์ชาวสวีเดน

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • How to enjoy life
    ลู่วิ่งแห่งความสุข (Hedonic Treadmill): เมื่อการไขว่คว้าพาเรากลับมาที่จุดเดิมเสมอ

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Life classroom
    เดินตามฝันในวันที่ครอบครัวอาจไม่เข้าใจ ทางยูเทิร์นของเด็กวิทย์สู่อาร์ตทอยดีไซเนอร์ : ศิรินญา ปึงสุวรรณ (Poriin)

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    The Last Lecture: ปาฐกถาในวาระสุดท้ายที่บอกว่า ‘อะไรมีความหมายที่สุดในชีวิต’

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel