- มนุษย์เรากลัวความตายเป็นเรื่องปกติจากสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด การพบว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสัญชาตญาณดังกล่าว มนุษย์จึงคิดหาวิธีการจัดการกับความกลัวนี้ โดยนักจิตวิทยาได้ศึกษาเรื่องนี้ผ่านทฤษฎีที่เรียกว่า ‘Terror Management Theory’
- สิ่งที่มนุษย์ทำคือการสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจที่เรียกว่า ‘กันชนความวิตกกังวล’ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 สิ่งหลักๆ คือ โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม และ การเห็นคุณค่าในตนเอง
- ‘การเห็นคุณค่าในตนเอง’ (Self-esteem) ก็เป็นสิ่งที่ช่วยลดความวิตกกังวลต่อความตายได้ โดยการดำเนินชีวิตตามคุณค่าที่วัฒนธรรมได้วางไว้ว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะมันก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นคนที่ดีและมีคุณค่า
มนุษย์ต่างจากสัตว์อย่างไร?
อันที่จริงแล้วมนุษย์กับสัตว์แทบไม่ต่างกันเลยในเรื่องของ ‘สัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด’ เมื่อมนุษย์เจอกับภัยอันตราย ระบบสู้หรือหนี (Fight or Flight) จะทำงาน ทำให้มนุษย์มีพละกำลังมหาศาลภายในชั่วพริบตาที่จะต่อสู้หรือวิ่งหนีจากภัยนั้นอย่างสุดชีวิต ดังนั้นแล้วมนุษย์กับสัตว์ย่อมเป็นสิ่งมีชีวิตที่กลัวความตาย
แต่มนุษย์ต่างจากสัตว์ในเรื่องของ ‘สติปัญญา’ มนุษย์สามารถใช้ความคิดที่ซับซ้อนและมีความเป็นนามธรรมสูงจนทำให้รับรู้ ‘เวลา’ ได้อย่างถ่องแท้
มนุษย์รู้ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตคืออะไร รู้ว่าวันที่ผ่านมาคืออะไร และวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เหตุนี้เองมนุษย์จึงค้นพบว่าสิ่งน่ากลัวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ ‘ความตาย’
มนุษย์เรากลัวความตายเป็นเรื่องปกติจากสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด การพบว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสัญชาตญาณดังกล่าว ดังนั้นมนุษย์จึงต้องคิดหาวิธีการในจัดการกับความกลัวนี้ โดยนักจิตวิทยาได้ศึกษาเรื่องนี้ผ่านทฤษฎีที่เรียกว่า ‘Terror Management Theory’
Terror Management Theory คืออะไร?
‘Terror Management Theory’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘TMT’ เป็นทฤษฎีที่คิดขึ้นมาในปี 1986 จากนักจิตวิทยา 3 คน ได้แก่ Jeff Greenberg, Sheldon Solomon และ Tom Pyszczynski โดยเป็นการต่อยอดจากหนังสือ The Denial of Death ของนักมานุษยวิทยา Ernest Becker
TMT เสนอว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตระหนักรู้ว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย โดยการตระหนักรู้นี้เองก่อให้เกิด ‘ความวิตกกังวลต่อความตาย’ (Death Anxiety) หากความวิตกกังวลนี้ไม่ได้รับการจัดการจะทำให้เราเครียดมากจนร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้และส่งผลต่อการใช้ชีวิต
ดังนั้นมนุษย์จึงต้องคิดหาวิธีการบางอย่างเพื่อลดความวิตกกังวลนี้ โดยสิ่งที่มนุษย์ทำคือการสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจที่เรียกว่า ‘กันชนความวิตกกังวล’ (Anxiety Buffers) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 สิ่งหลักๆ ดังนี้
- โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม (Cultural Worldview)
เมื่อมนุษย์มีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรมที่เข้าใจถึงเวลาและความตาย มนุษย์ก็ได้ใช้ความคิดเชิงนามธรรมนั้นมาใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้าง ‘วัฒนธรรม’ ขึ้นมา วัฒนธรรมทำให้การใช้ชีวิตมีระบบระเบียบ เข้าใจได้ และคาดการณ์ได้ เมื่อทุกอย่างสามารถคาดการณ์ได้จึงทำให้ความตายน่ากลัวน้อยลง
ต่อมาคือการสร้างความหมายให้กับชีวิต หากเรารู้ว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย เราก็คงไม่มีกะจิตกะใจในการใช้ชีวิต ดังนั้นวัฒนธรรมจึงได้สร้างชุดความคิดความเชื่อขึ้นมาเพื่อบอกว่าสิ่งไหนดี-ไม่ดี สิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนควรปฏิบัติ เรียกว่า ‘โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม’ (Cultural Worldview) สิ่งนี้ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย เรารู้สึกมีเป้าหมายว่าจะใช้ชีวิตเพื่ออะไร
นอกจากนี้ โลกทัศน์ทางวัฒนธรรมยังให้แนวทางในการก้าวข้ามความตายผ่านการชี้ว่าชีวิตยังคงดำเนินต่อไปแม้เราจะตายไปแล้วผ่าน ‘ความเป็นอมตะ’ (Immortality) โดยในที่นี้ตีความได้ 2 แบบ ได้แก่
- ความเป็นอมตะโดยแท้จริง (Literal Immortality) คือ แนวคิดที่ว่ามนุษย์ไม่ได้สูญสลายไปอย่างแท้จริง เพียงแต่ย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง ในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา เช่น การเวียนว่ายตายเกิด, การขึ้นสวรรค์, การพบกับพระเจ้า ฯลฯ
- ความเป็นอมตะเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Immortality) คือ แนวคิดที่ว่าแม้มนุษย์เราจะตายไป แต่สิ่งต่างๆ ที่เราได้สร้างหรือทำไว้ย่อมหลงเหลือไว้ให้แก่โลกใบนี้ เป็นเหมือนตัวแทนของเรา เช่น ครอบครัว, อนุสรณ์สถาน, หนังสือ, วาดภาพ, แนวคิด ฯลฯ
- การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem)
กลับมาที่ระดับปัจเจก การใฝ่หาพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เพิ่ม ‘การเห็นคุณค่าในตนเอง’ (Self-esteem) ก็เป็นสิ่งที่ช่วยลดความวิตกกังวลต่อความตายได้ โดยการดำเนินชีวิตตามคุณค่าที่วัฒนธรรมได้วางไว้ว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะมันก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นคนที่ดีและมีคุณค่า
Becker กล่าวว่า การเห็นคุณค่าในตัวเองคือความรู้สึกถึง ‘ความสำคัญระดับจักรวาล’ (Cosmic Significance) กล่าวคือ เรารู้สึกว่าการดำรงอยู่ของเรามีความสำคัญ สิ่งต่างๆ ที่เราได้กระทำลงไปเป็นสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญนอกเหนือไปจากตัวเราเอง เราจึงมีคุณค่ามากกว่าวัตถุหรือสัตว์อื่นๆ อีกทั้งตัวเราจะยังคงอยู่ต่อไปแม้จะตายไปแล้วผ่านความเป็นอมตะสองแบบที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้
ผลพวงจากการสร้าง ‘กันชนความวิตกกังวล’
กันชนความวิตกกังวลก่อให้เกิดผลในทางบวก เป็นเหมือนเกราะป้องกันทางจิตใจไม่ให้เราวิตกกังวลต่อความตายจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเรา มนุษย์ได้สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา และวัฒนธรรมเองก็ได้ก่อร่างเป็นสังคมของมนุษย์ที่มีแบบแผน ความมีแบบแผนทำให้ความตายน่ากลัวน้อยลง เราใช้ชีวิตได้สงบสุขมากขึ้น
นอกจากนี้ วัฒนธรรมก็ได้ให้มุมมองต่างๆ ที่มีต่อโลก (โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม) ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย รู้สึกมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตต่อไป อีกทั้งการมีโลกทัศน์ที่เหมือนกับคนอื่นก็ยังช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ทำให้เราอยากสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายและมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่คงอยู่ไปได้อย่างยาวนาน (ความเป็นอมตะเชิงสัญลักษณ์)
อย่างไรก็ตาม การสร้างกันชนความวิตกกังวลอย่างวัฒนธรรมขึ้นมาก็ก่อให้เกิดผลในทางลบได้เช่นกัน บางครั้งอาจเกิดการแบ่งแยก ‘พวกเรา’ กับ ‘พวกเขา’ เมื่อพบเจอกับวัฒนธรรมที่ต่างกัน นำไปสู่ทัศนคติรังเกียจกลุ่มอื่น (Prejudice) และอคติเข้าข้างกลุ่มตัวเอง (In-group Bias)
Pyszczynski และคณะ (2006) ได้ศึกษาพบว่า ในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้นึกถึงความตาย (Mortality Salience) เช่น สงคราม ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความสุดโต่งในความเชื่อของตัวเอง พูดง่ายๆ คือ มีความยึดมั่นในกลุ่มของตัวเองมากขึ้น และพยายามกำจัดอีกกลุ่มที่มีความเชื่อไม่เหมือนตัวเอง
การศึกษาดังกล่าวรวบรวมความคิดเห็นของ ‘ชาวอเมริกัน’ และ ‘ชาวอิหร่าน’ ที่มีต่อความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน โดยพบว่า ชาวอเมริกันสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงกับอิหร่าน แม้จะเสี่ยงทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม ในทางกลับกัน ชาวอิหร่านก็สนับสนุนการโจมตีแบบพลีชีพต่อเป้าหมายในสหรัฐฯ มากขึ้น พร้อมทั้งมีความเต็มใจมากขึ้นที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง
โดยสรุปคือ การกระตุ้นให้นึกถึงความตายทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในโลกทัศน์ของตัวเองมากขึ้น ปกป้องความเชื่อของตนเมื่อถูกท้าทาย และพยายามแสวงหาการเห็นคุณค่าในตนเองผ่านการดำเนินชีวิตตามสิ่งที่วัฒนธรรมมองว่าดี แทนที่จะเกิดการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนถึงความตาย เช่น ความตายเป็นสิ่งไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้
แม้มนุษย์จะสามารถลดความวิตกกังวลต่อความตายผ่านการสร้างกันชนความวิตกกังวลอย่าง ‘วัฒนธรรม’ ขึ้นมา แต่วิธีการนี้ก็อาจก่อให้เกิดผลเสีย เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดความคิดสุดโต่ง และนำไปสู่การเข่นฆ่ากัน ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา
ดังนั้นในบทความหน้าจะพูดถึงการจัดการกับความวิตกกังวลต่อความตายในแนวทางอื่นที่เน้นความเข้าใจในความตายอย่างแท้จริง
อ้างอิง
Hayes, J. (2017). Terror Management Theory. In Zeigler-Hill, V., & Shackelford, T. (Eds), Encyclopedia of Personality and Individual Differences. Springer.
Myers, E. (2023). Terror Management Theory.
Pyszczynski, T., Abdollahi, A., Solomon, S., Greenberg, J., Cohen, F., & Weise, D. (2006). Mortality Salience, Martyrdom, and Military Might: The Great Satan Versus the Axis of Evil. Personality and Social Psychology Bulletin, 32(4), 525-537.
Vinney, C. (2024). Terror Management Theory: How Humans Cope With the Awareness of Their Own Death.