- เรื่องราวของซิซีฟัสซึ่งถูกลงทัณฑ์ให้กลิ้งหินขึ้นเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าชั่วนิรันดร์ ได้รับการพูดถึงในบทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันแง่ที่เราต่างต้องดิ้นรนกับชีวิตในวังวนความทุกข์แบบเดิมๆ ตะเกียกตะกายซ้ำๆ ทั้งที่ไม่เคยเห็นปลายอุโมงค์
- และยังอุปมาได้กับกิจวัตรย้ำวนของคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ได้อีกด้วย บทความนี้บอกเล่าเรื่องราวของคนที่มีอาการ รวมถึงนำเสนอวิธีที่อาจช่วยให้คนที่มีอาการดังกล่าวบรรเทาทุกข์ได้ไม่มากก็น้อย
- เช่น การจดบันทึกภาพหรือความคิดที่แวบเข้ามาทำให้กังวลใจ ประกอบกับการจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งเมื่อเห็นบันทึกไปถึงจุดหนึ่งก็เริ่มจะแยกได้ว่าสิ่งที่กังวลกับเรื่องจริงเป็นคนละอย่างกัน รวมถึงการลองอยู่กับความวิตกหวาดกลัว โดยฝืนไม่ทำพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความกลัวนั้นด้วย
ในปกรณัมกรีก ซิซีฟัส (Sisyphus) เป็นผู้สร้างเมืองโครินธ์และเป็นราชาคนแรกของเมืองดังกล่าวด้วย เรื่องราวของซิซีฟัสมีหลายเวอร์ชั่น แต่แก่นเรื่องอันโดดเด่นก็คือเขาโกงความตายได้ถึงสองครั้งด้วยความฉลาด (ดูแกมโกงสักหน่อย) ทว่าตอนต่อของเรื่องที่คนโจษจันกันมากกว่านั้นก็คือ สุดท้ายแล้วเขาถูกลงทัณฑ์ด้วยการให้กลิ้งหินขึ้นเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าชั่วนิรันดร์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาใกล้จะกลิ้งหินขึ้นบนยอดเขาได้สำเร็จ หินนั้นก็จะไหลย้อนลงมาอีก ซิซีฟัสจึงต้องเปลืองแรงกับภารกิจอันไม่เกิดประโยชน์นี้ซ้ำซากเรื่อยไป
เรื่องราวของซิซีฟัสได้ถูกนำมาวิเคราะห์ในเชิงปรัชญาและได้รับการพูดถึงแม้ในบทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันแสนธรรมดาน่าเหนื่อยหน่าย ผองเพื่อนต้องดิ้นรนกับชีวิตในวังวนความทุกข์แบบเดิมๆ ทว่าไม่อาจหนีจากการตะเกียกตะกายซ้ำๆ อย่างนั้น ทั้งที่ไม่เคยเห็นปลายอุโมงค์ บ้างก็ทำได้เพียงเพียรว่ายทวนห้วงน้ำต่อไปแม้นไม่เห็นฝั่ง และบ้างก็ทำได้เพียงตามรอยกรรมของซิซีฟัส
อย่างไรก็ตาม ภารกิจกลิ้งหินอย่างไร้จุดจบของซิซีฟัสไม่เพียงเทียบได้กับวังวนแห่งชีวิต แต่ยังอาจอุปมาได้กับกิจวัตรย้ำวนของคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำได้อีกด้วย บทความนี้บอกเล่าเรื่องราวของคนที่มีอาการ รวมถึงนำเสนอวิธีที่อาจช่วยให้คนที่มีอาการดังกล่าวบรรเทาทุกข์ได้ไม่มากก็น้อย
อาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD – Obsessive Compulsive Disorder) มีสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นการย้ำคิด และส่วนที่เป็นการย้ำทำ กล่าวคือ หนึ่ง – ผู้ที่มีอาการจะมีความคิด หรือภาพ หรือแรงกระตุ้น ที่เกิดขึ้นในจิตใจซ้ำๆ อันเป็นสิ่งที่เขาก็ไม่ได้ต้องการ ซึ่งทำให้รู้สึกวิตกกังวลและไม่สบายใจ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ตนวิตกหรือหวาดกลัวนั้นไม่สมเหตุสมผลก็ตาม เขาจึง สอง – ย้ำทำ คือมีพฤติกรรมหรือคิดอะไรบางอย่างเพื่อให้ความรู้สึกไม่สบายใจจากการย้ำคิดนั้นบรรเทาไปชั่วคราว แต่ก็มักจะวนซ้ำ ราวกับจะไร้จุดจบ จนรบกวนชีวิตอย่างมาก นึกถึงภาพซิซีฟัสที่เมื่อหินที่ตนสู้อุตส่าห์กลิ้งขึ้นไปตกกลับลงมา เขาก็ตระหนักแหละว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นช่างไร้สาระ แต่ในเมื่อเขาควบคุมอะไรไม่ได้ ก็เลยต้องทำวนไปเรื่อยๆ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น บางคนเห็นภาพขโมยขึ้นบ้านวนอยู่ในหัวทำให้วิตกมาก เขาจึงต้องเช็คว่าประตูหน้าต่างล็อคหรือยัง วนซ้ำอีกเป็นเวลานานกว่าจะออกจากบ้านไปได้ หรือบางคนกลัวว่ามือจะมีเชื้อโรคทำให้ล้างมือบ่อยมากเกินความจำเป็นและขัดถูมือแรงมากกระทั่งมือของเขาเป็นแผลเหวอะหวะ บางคนก็มีเสียงลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในหัวทั้งที่จริงตนเองก็เคารพมาก ทำให้ต้องคิดขอขมากรรมซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานานจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น
คนในปัจจุบันมักพูดติดตลกว่าคนนั้นคนนี้มีการโอซีดี (OCD) เมื่อเห็นใครมีพฤติกรรมตรวจสอบอะไรแบบย้ำๆ หรือหมกมุ่นจะเอาความเป๊ะกับเรื่องขี้ปะติ๋ว กระนั้นคนยุคเราก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าอาการโอซีดีจริงๆ เป็นความทรมานที่ไม่ตลกและสูบเวลาอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีดารามากมายออกมาประกาศว่าตัวเองก็เคยทนทุกข์กับอาการดังกล่าว เช่น อะแมนดา มิเชลล์ ไซเฟร็ด (Amanda Seyfried) นักแสดงสาวผู้เล่นหนังดังหลายเรื่อง หรือแชนนอน เพอร์เซอร์ (Shannon Purser) ผู้รับบทบาร์บ-บาร์บารา ฮอลแลนด์ ตัวละครสมทบในซีรีส์ Stranger Things
ทว่าในสมัยหนึ่งที่คนยังไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับสาเหตุของโอซีดีและการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ มีบุคคลระดับตำนานอย่างโฮเวิร์ด ฮิวจ์ (Howard Hughes) มหาเศรษฐีใจบุญที่มีสายธุรกิจมากมาย ทั้งยังเป็นนักบิน ผู้กำกับหนัง ฯลฯ มีอาการย้ำคิดย้ำทำเช่นเดียวกัน และหนึ่งในอาการของเขาก็คือการกลัวเชื้อโรคอย่างหนัก ซึ่งมีส่วนทำให้เขามีวิถีชีวิตพิลึกพิลั่น และด้วยความที่เขารวยพอ ก็เลยสามารถถ่ายโอนพฤติกรรม (พิธีกรรม) ประหลาดไปให้พนักงานของเขาทำด้วย เช่น สั่งให้พนักงานล้างมือหลายต่อหลายครั้ง แถมเวลาเสิร์ฟอาหารให้เขา พนักงานก็ยังต้องพันมือด้วยกระดาษเนื้อหนาก่อนด้วย
ภายหลังจากที่โฮเวิร์ดวายชนม์ ก็ได้มีการสัมภาษณ์พนักงานเก่าของเขา ประกอบกับบันทึกการโทรศัพท์ รายงานทางหนังสือพิมพ์ รวมถึงจดหมายเก่าของแม่ที่เขียนเรื่องเขา ฯลฯ ซึ่งทำให้ค่อยๆ เห็นภาพเด็กน้อยคนหนึ่งที่ค่อนข้างเปล่าเปลี่ยว ผู้ทำการศึกษาเชื่อว่าความกลัวของฮิวจ์น่าจะมาจากวัยเด็ก เพราะแม่ของเขาวิตกอยู่เป็นนิจว่าลูกของเธอจะต้องไปสัมผัสกับเชื้อโรค หนำซ้ำยังระวังเรื่องกินของเขามาก ทั้งยังตรวจโรคเขาทุกวันด้วย
กล่าวกันว่าในวาระสุดท้ายของชีวิต โฮเวิร์ดนอนเปลือยเปล่าอย่างเดียวดายอยู่ในห้องอันมืดมิดของโรงแรมแห่งหนึ่งในอาณาเขตที่เขาคิด (เอง) ว่า ‘ปลอดเชื้อ’ อดคิดไม่ได้เลยว่ามรณกรรมของเขาคงมีโฉมหน้าที่ต่างไปหากเขาเกิดในยุคนี้ ด้วยเพราะอาการย้ำคิดย้ำทำของเขามีแนวโน้มอย่างสูงที่จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
ในส่วนของการรักษายุคปัจจุบันเท่าที่สัมผัสมา แพทย์มักจะให้ทานยาควบคู่ไปกับการทำบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT- Cognitive behavioral therapy) แต่ในบทความนี้จะคลี่ให้เห็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบำบัดตามแนวนักจิตวิทยาของบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service หรือ NHS) ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งผู้มีอาการในไทยบางส่วนก็ได้ทดลองนำไปใช้เองและพบว่าช่วยบรรเทาอาการหรือทำให้หายมาแล้ว อนึ่ง ขอนำเสนอกระบวนการผ่านกรณีตัวอย่าง ดังนี้
นางสาวซิลเวีย อายุ 22 ปี ทรมานกับอาการย้ำคิดย้ำทำซึ่งรบกวนการนอนของเธอทุกคืน และนั่นย่อมรบกวนชีวิตในตอนกลางวันของเธออย่างมากด้วย ทุกๆ คืน เธอมีภาพว่ามือถือจะระเบิดทำให้ต้องหมดเวลาไปหลายๆ ชั่วโมงก่อนนอน ลุกขึ้นเช็คการปิดมือถือและการถอดสายชาร์จไฟซ้ำไปซ้ำมา บ่อยครั้งเธอจะถอดแบตเตอรี่ออกจากมือถือแล้วนำไปวางไว้ที่มุมห้อง เพราะมีมโนภาพว่าหากมีระเบิดเกิดขึ้น รัศมีของระเบิดก็จะมาถึงตัวเธอเพียงเล็กน้อยทำให้เธอมีเวลาตื่นขึ้นมาดับไฟหรือหนีไฟลุกโชนได้ทัน เธอรู้ดีว่าภาพในหัวอีกทั้งวิธีคิดหลายอย่างที่ผุดขึ้นมานั้นไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ยังหวั่นวิตก มันเป็นบรรยากาศช้ำหนอง หมองหม่นและอิดโรยเสมือนว่าเธอถูกปกคลุมด้วยเสมหะข้นคล้ำ เธอไม่อาจควบคุมความคิดและพฤติกรรมของตัวเองได้เลย
เธอได้รับคำแนะนำจากนักจิตวิทยาให้จดบันทึกภาพอันน่าหวาดกลัวที่ผุดเกิดขึ้นในหัวก่อนนอน เทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันรุ่งขึ้น โดยด้านล่างนื้คือหน้าตาของบันทึกเธอ
วัน | ภาพที่เห็นก่อนนอน | สิ่งที่เกิดจริง ในเช้าวันรุ่งขึ้น |
วันที่ 1 | มือถือระเบิด กลายเป็นคนหัวขาด | ไม่มีอะไรระเบิด หัวไม่ได้ขาด |
วันที่ 2 | สายไฟไหม้ เปลวเพลิงลามเลียไปถึงห้องข้างๆ ทุกคนตำหนิเธออย่างร้ายแรงว่าเป็นต้นเหตุของไฟ | ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ |
วันที่ 3 | มือถือระเบิด ร่างกายย่นยู่ยับเยิน | ไม่มีอะไรระเบิด ร่างกายยังสมบูรณ์ดี |
วันที่ 4 | … | … |
เธอจดบันทึกเหมือนตัวอย่างข้างต้นนี้ไปจนครบหนึ่งอาทิตย์ น่าแปลกที่เธอเริ่มรับรู้ ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างภาพในจินตนาการ (ตารางช่องซ้าย) กับ เรื่องจริงที่ไม่เคยมีการระเบิดขึ้นเลย (ตารางช่องขวา)
ถึงจุดนี้ นักจิตวิทยาเริ่มกระตุ้นให้เธอจัดการกับความกังวลในฐานะที่มันเป็นแค่ความกังวล (ไม่ใช่ความจริง) ซึ่งหมายรวมถึงการอยู่กับภาพที่หวาดกลัวโดยฝืนไม่ทำพฤติกรรมไปตามความกลัวนั้นด้วย วันแรกๆ เธอยังคงทรมานมาก แต่ด้วยความที่เริ่มเห็นแล้วว่าภาพต่างๆ ในหัวที่ทำให้หวั่นวิตกนั้นไม่ใช่ความจริง เธอจึงสามารถฝืนอาการย้ำทำ จนสามารถลดจำนวนครั้งที่ลุกขึ้นไปเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้าลงได้จนเหลือสองถึงสามครั้ง ซึ่งแม้จะยังถือเป็นการย้ำตรวจสอบอยู่ แต่ก็นับว่าดีขึ้นมาก
อีกวิธีการที่นักจิตวิทยาคนดังกล่าวนำมาใช้คือ การสืบสาวความคิดและความรู้สึกภายใต้พฤติกรรมการย้ำเช็ค เช่น รู้สึกกลัวเพราะเห็นภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าระเบิด เพราะอะไร? เพราะกลัวหัวขาดร่างเละ แล้วเพราะอะไรต่อ? เพราะจะต้องมีชีวิตเป็นผีหัวขาดอย่างโดดเดี่ยวและไม่เข้าพวก แท้จริงแล้วเธอกลัวความโดดเดี่ยวนั้นเอง
นี่เป็นการถามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เห็นรากชัดขึ้น ที่กลัว C เพราะนำไปสู่ B กลัว B เพราะนำไปสู่ A ซึ่งเป็นรากของความกลัว (ในระดับปุถุชน) บางทีแค่เห็นว่าจริงๆ ตัวเองกลัวอะไรมันก็ ‘หลุด’ ในระดับหนึ่งแล้ว
ลองดูอีกตัวอย่างเพื่อให้ชัดขึ้น นางสาว B อายุ 29 ปี รู้สึกว่าต้องตรวจสินค้าที่จะส่งให้ลูกค้าซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าสีและขนาดถูกต้องตามคำสั่งซื้อหรือไม่ อีกทั้งตรวจความแน่นหนาของกล่องบรรจุสินค้าซ้ำแล้วซ้ำอีก เธอแปะเทปกล่องอย่างสิ้นเปลืองเกินจำเป็นแต่ก็ยังไม่วายวิตกกังวล ฯลฯ อีกทั้งมีความต้องการล้างมือตลอดเวลาที่ทำได้ ยิ่งเมื่อไปเข้าห้องน้ำสาธารณะ แม้เธอจะหลีกเลี่ยงการจับลูกบิดประตูห้องน้ำโดยตรง เธอก็ยังรู้สึกว่ามือมีเชื้อโรค
เมื่อถามถึงเรื่องการตรวจสินค้าและกล่องบรรจุซ้ำๆ เธอบอกว่ามีภาพในหัวว่าพ่อดุลูกน้องที่ทำงานสะเพร่าและผิดพลาด อันเป็นการดุอย่างเกรี้ยวกราด เธอบอกว่าพ่อเป็น perfectionist และเธอก็ไม่อยากเป็นคนผิดพลาดเหมือนลูกน้อง และที่สำคัญคือไม่อยากเหมือนพ่อ เธอบอกว่าพ่อไม่เห็นความพลาดของตัวเขาเอง ความทรงจำของเธอคือตั้งแต่เด็ก เมื่อทำอะไรผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเธอก็โดนพ่อเล่นงานหนักมากแล้ว เธอไม่ควรจะโดนโทษทัณฑ์เกินกว่าเหตุอีกต่อไปแล้ว ความอัดอั้นพรั่งพรูออกมาดุจลาวา ราวกับว่าสัตว์เลื้อยคลานพ่นไฟที่ถูกขังอยู่ในอกของเธอนั้นเจาะช่องระบายได้ในที่สุด เธอตระหนักว่าไม่ให้อภัยพ่อและไม่ให้อภัยตัวเองด้วย จากนั้นเธอก็ทำงานกับด้านในตัวเองเกี่ยวกับประเด็นนี้และประเด็นอื่นๆ จนใจคลายขึ้น และอาการย้ำตรวจก็เบาลงไปบ้าง (อ่านเพิ่มเติมในบท Perfume น้ำหอมมนุษย์: ความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น ที่เรียนรู้มาจากผู้เลี้ยงดู และ Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในความสัมพันธ์)
ส่วนเรื่องที่เธอล้างมือโดยพิสดารนั้น เธอบอกว่าไม่ค่อยเกี่ยวกับการกลัวเชื้อโควิด ลึกๆ เธอกลัวว่าจะเป็นสิวต่างหาก เมื่อถามต่อไปว่าทำไมถึงกลัวเป็นสิว เธอตอบว่ารู้สึกไม่ชอบสิ่งปุปะ หยาบ ไร้ระเบียบ ไม่เรียบร้อยสวยงาม เธอแวบเห็นความเชื่อมโยงของสภาพแวดล้อมในบ้านที่โตมาอันมีลักษณะเป็นระเบียบและสะอาดหมดจด โดยแม่ของเธอซึ่งเป็นนักบัญชีก็เป๊ะเช่นนั้น เธอเห็นว่าส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าแม่รักพี่ชายคนโตมากกว่าและเห็นไปอีกว่าอยากให้แม่ยอมรับ อีกทั้งอยากให้คนที่เธอชอบเห็นว่าเธอหน้าเกลี้ยงเกลา ฯลฯ เธอเห็นความต้องการอาหารใจของตัวเองเช่น ต้องการความรัก ต้องการยอมรับ จากนั้นก็คลายความวิตกลงไปพอสมควร
การสนทนาค่อยๆ ทำให้เราเห็นแผนแบบความคิดความเชื่อ ความรู้สึกและความต้องบางอย่าง ซึ่งคงไม่ได้ทำให้อาการต่างๆ หายไปในชั่วพริบตา แต่การตระหนักรู้เบื้องลึกเหล่านั้นของตัวเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง (ในบรรดาอีกหลายวิธีที่ใช้ควบคู่ไปได้) ซึ่งสามารถช่วยให้เราค่อยๆ เป็นอิสระจากการย้ำทำหรืออยู่กับมันโดยให้มาบงการเราน้อยลงได้
และสำหรับคนที่ยังไม่สามารถออกจากการย้ำคิดย้ำทำประหนึ่งซิซีฟัสที่ยังต้องกลิ้งหินขึ้นเขาซ้ำไปซ้ำมาอย่างไร้เหตุผล แม้ว่าเราไม่สามารถเลือกไพ่ที่มีคนแจกมาให้ แต่เราก็เลือกวิธีจัดการกับไพ่ได้ นั่นคือการยิ้มให้กับมันและรับรู้ว่าภายใต้รอยยิ้มนั้นมีอะไรอยู่บ้าง