- ความพยายามเปลี่ยนตัวเองเพื่อตามใจตลาด นอกจากจะทำให้ ซิลวี่ – ภาวิดา มอริจจิ สูญเสียตัวตนและความสุขไป ขณะเดียวกันชื่อเสียงและการยอมรับที่คิดว่าจะดีก็ไม่ได้ดีนัก หลังจากหลงทางไป ซิลวี่กลับมาพร้อมกับซิงเกิลแรก XL แล้วตามมาด้วย Queen และ Troublemaker คือบทพิสูจน์ว่าไม่มีอะไรลบล้างสิ่งที่เธอเป็น และทุกคนควรจะภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นด้วย
- “ในเมื่อเราเป็นคนที่แตกต่าง ที่ไม่ได้เหมือนศิลปินคนอื่นในเมืองไทย เราต้องมีสิทธิเป็นตัวของตัวเองได้สิ เราก็เลยลองเป็น ฉันจะรักเธอซิลวี่ ฉันจะยอมรับตัวตน ในเมื่อเธอเปลี่ยนไม่ได้ ฉันจะรักตัวเองในแบบที่เป็น เธอจงชอบมัน เธอจงอยู่เคียงข้างมัน นั่นมันเป็นช่วงแรกๆ เลยที่เรารู้จักพูดคุยกับตัวเอง เข้าไปรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในหัว”
- วันนี้ซิลวี่ใช้พลังงานด้านลบมาแปรเป็นผลลัพธ์ด้านบวก เคล็ดลับของความแกร่งนี้คือการไม่ละทิ้งตัวตน ไม่ด้อยค่าตัวเอง และภูมิใจในสิ่งที่เป็นอย่างสนิทใจ ไม่ต้องรอให้ใครมาสร้างมาตรฐานให้ทำตาม เพราะทุกคนคือความแตกต่างที่ต้องยอมรับกันและกัน
จากเด็กผู้หญิงที่เคยถูกด้อยค่ารูปลักษณ์ ถูกบั่นทอนความมั่นใจจนกลายเป็นเสียศูนย์ พลังงานลบที่ ซิลวี่ – ภาวิดา มอริจจิ ได้รับมาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการบันเทิง วันนี้กลายเป็นแรงผลักดันให้ทั้งผลงานและตัวตน ยืนหนึ่งในการเป็นปากเสียงให้ทั้งคนที่เคยถูก Body Shaming และกลุ่ม LGBTQ ว่าจงลุกขึ้นมาภูมิใจ ‘Proud of yourself’
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับซิลวี่ นอกจากบทบาทในฐานะนักร้องที่เคยเป็นสายดีว่า สวมชุดราตรี ร้องเพลงด้วยเสียงทรงพลัง มาสู่กลิ่นอายศิลปินอินเตอร์ทั้งแนวเพลงและคาแรกเตอร์ เรื่องตัวตนถูกเคี่ยวกรำจนชัดเจนกว่าเดิม ด้วยพื้นฐานความคิด ความเชื่อ ที่เคยมีอยู่เดิม แต่เคยถูกกดทับไว้ด้วยคำดูถูกต่างๆ นานา
“เรามีความมั่นใจในสิ่งที่คิดมากขึ้น วันนี้เหมือนเราได้รับพื้นที่ที่จะเป็นตัวของตัวเอง ณ วันนั้นเราไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อาจจะเป็นเด็กไปด้วย แต่วันนี้เรามั่นใจและเผชิญโลกมาเยอะพอสมควร ไปลองผิดลองถูกมาเยอะ จนเรารู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เลยมีความมั่นใจมากขึ้น”
เปลี่ยนตัวเองตาม Beauty Standard สูญเสียตัวตนและความสุข
ภาพลักษณ์ของซิลวี่ตอนที่เพิ่งเข้าวงการบันเทิง หลายคนจะรู้สึกว่าเธอเป็นเด็กขี้อาย ไม่มีความมั่นใจ แต่เธอบอกว่าในเรื่องความสามารถด้านการร้องเพลงนั้นมั่นใจมาก ทว่าชีวิตจริงในฐานะศิลปินนักร้องในวงการบันเทิงไทยกลับทำลายความมั่นใจอย่างรุนแรง เพียงเพราะเธอไม่มีรูปร่างหน้าตาตรงตามค่านิยม
“รูปร่างหน้าตามีผลต่อการได้อยู่ต่อ ต่อการเป็นที่ชื่นชอบ เราอาจจะต้องผอม เราอาจจะต้องขาว เราอาจจะต้องเรียบร้อย มันมีเรื่องพวกนี้อยู่ เราก็เคยลองพยายามเป็นแบบนั้นแล้ว เคยลองลดน้ำหนัก เคยลองทำทุกอย่าง แต่สุดท้ายแล้วความสุขเราหายไป ไม่ได้สบายเท่าตอนนี้ที่สบายๆ กับตัวเอง
ตอนนี้สบายใจจะกินก็กิน เมื่อก่อนกังวลมากเรื่องการกิน ต้องนับแคล มันหนัก แต่ทุกวันนี้เราเอาที่เราสบายใจ”
ความพยายามเปลี่ยนตัวเองเพื่อตามใจตลาด นอกจากจะสูญเสียตัวตนและความสุขไป ขณะเดียวกันชื่อเสียงและการยอมรับที่คิดว่าจะดีก็ไม่ได้ดีนัก เพราะผลงานหลักๆ ตอนนั้นคือละครเวที ส่วนผลงานเพลงไม่มีเลย ซิลวี่เล่าว่าช่วงนั้นมีแต่ความคิดเชิงลบ “เราไม่ดีขนาดนั้นเลยเหรอ” แล้วเธอก็ห่างหายไปจากวงการบันเทิงระยะหนึ่ง
หลังจากหลงทางไป ความสามารถและทัศนคติซึ่งยังยึดมั่น พาให้ได้มาร่วมงานกับค่าย Warner Music Asia ด้วยแนวทางแบบสากล ซิลวี่เหมือนได้รับโอกาสเป็นตัวเองอย่างภาคภูมิใจอีกครั้ง โดยตั้งแต่ซิงเกิลแรก XL แล้วตามมาด้วยอีกสองเพลง Queen และ Troublemaker คือบทพิสูจน์ว่าไม่มีอะไรลบล้างสิ่งที่เธอเป็น และทุกคนควรจะภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นด้วย
“ซิลวี่ก็คือซิลวี่คนเดิม แต่เป็นเวอร์ชั่นใหม่ ก็ยังเด๋อด๋าบ้างบางที ก็ยังไม่มั่นใจบ้างบางครั้ง แต่สิ่งที่ชัดคือเราให้อภัยตัวเองเก่งขึ้น และเราให้แรงบันดาลใจคนอื่นๆ ได้มากขึ้น ในการที่จะเป็นตัวของตัวเอง ในการเป็นคนที่เรียนรู้จะรักตัวเองในแบบที่ตัวเองเป็น”
‘ฉันจะรักตัวเองในแบบที่เป็น’ ปรับ Mindset เพื่อก้าวต่อและเติบโต
Beauty Standard ของสังคมไทย ที่ตีกรอบว่าสวยต้องเท่ากับผอม ผิวขาว ผลักดันให้ซิลวี่เดินตามความสวยในแบบที่หลายคนเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ด้วยวิธีการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการหลงผิดไปยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดอยู่พักหนึ่ง แน่นอนว่าเธอผอม ไม่อยากอาหาร มันเสมือนทางลัดสู่ความผอม แต่ในทางกลับกันมันคือทางลัดสู่หายนะเช่นกัน
ซิลวี่เปลี่ยนเป็นคนละคน จากเป็นคนอ่อนโยน ใจเย็น อัธยาศัยดี ก็กลายเป็นคนเกรี้ยวกราด ก้าวร้าว สภาพจิตใจ สภาพร่างกายย่ำแย่ถึงขีดสุด กระทั่งเธอรับกับสภาพที่เป็นไม่ได้ บวกกับความห่วงใยจากคนรอบตัวที่สังเกตเห็น ทำให้เธอตระหนักได้ว่า จะไม่ยอมให้ Beauty Standard จอมปลอมมาบงการชีวิตได้อีก
“จากสิ่งที่เราเคยเป็นและเจอมา ทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น หนูก็ปล่อยให้ตัวเองอ้วนขึ้น แล้วก็พอมองตัวเองในกระจก รู้สึกว่าไหนๆ ที่ผ่านมา เราลองมาหมดแล้ว วันนี้อ้วนขึ้นแล้วจะกลับไปแบบเดิมไหม คำตอบคือไม่เอา เราไม่เคยมีความสุขเลย งั้นก็ลองเส้นทางใหม่ คือ มองข้อเสียของตัวเอง เราไม่ชอบที่อ้วนขึ้น แล้วอ้วนขึ้นมันไม่ดีอย่างไร มันผิดตรงไหน แล้วสิ่งที่เราไม่ชอบ เราไม่ชอบมันจริงๆ หรือแค่คนอื่นรู้สึกว่ามันไม่โอเค
เวลาเราดูอินฟลูเอนเซอร์หรือนักแสดงต่างชาติ มีเยอะมากที่รูปร่างเขาไม่ได้ผอม ขาว แต่มันหลากหลาย แล้วเรายังชอบเขาในแบบที่เขาเป็น
ในเมื่อเราเป็นคนที่แตกต่าง ที่ไม่ได้เหมือนศิลปินคนอื่นในเมืองไทย เราต้องมีสิทธิเป็นตัวของตัวเองได้สิ เราก็เลยลองเป็น ฉันจะรักเธอซิลวี่ ฉันจะยอมรับตัวตน ในเมื่อเธอเปลี่ยนไม่ได้ ฉันจะรักตัวเองในแบบที่เป็น เธอจงชอบมัน เธอจงอยู่เคียงข้างมัน
นั่นมันเป็นช่วงแรกๆ เลยที่เรารู้จักพูดคุยกับตัวเอง เข้าไปรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในหัว บางคำพูดคนอื่นพูดกับเราแค่หนึ่งที แต่เราวนซ้ำในหัวตัวเองเป็นร้อยครั้งเพื่อกดให้เรารู้สึกแย่กับตัวเอง เพราะฉะนั้นเราแค่ต้องเปลี่ยนเสียงนั้น ในเมื่อเรามีเสียงในหัว เราควรเลือกให้มันดังในแบบที่สร้างสรรค์ แล้วมันก็พาเรามาถึงทุกวันนี้”
ช่วงเวลาอันยากลำบากจนถึงวันที่ความคิดเปลี่ยน ซิลวี่บอกว่ากินเวลานานถึง 5 ปี ถึงแม้จะนาน แต่เมื่อเลือกได้แล้ว เธอไม่หันกลับไปรู้สึกแย่กับการด้อยค่าทั้งจากตัวเองและคนอื่นอีกเลย ควบคู่ไปกับการพัฒนาตัวเองด้านอื่นๆ อาทิ ความสามารถ ทัศนคติ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Beauty Standard และ LGBTQ
ส่งต่อพลังงานบวก Self Empowerment ผ่านบทเพลงและตัวตน
ความเข้มแข็งของซิลวี่ ถูกแสดงออกผ่านเพลงและตัวตนของเธอมาตลอดตั้งแต่ปลดล็อกความรู้สึก แน่นอนว่าเธอไม่ใช่คนเดียวที่ต้องต่อสู้กับมาตรฐานและความเชื่อของสังคม ซึ่งเธอเองก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของคนมากมายที่เคยเจอปัญหาคล้ายๆ กัน
“ทุกวันนี้มี DM เข้ามาในอินสตาแกรมเยอะมาก เขาบอกว่าที่ผ่านมาไม่เคยรัก ไม่เคยใส่ใจความรู้สึกตัวเองเลย ไม่เคยสนุกกับการแต่งตัวเลย ไม่เคยให้เวลาตัวเองได้เสริมสร้างความมั่นใจในแบบตัวเอง แต่พอเราได้มาฟังเพลงเธอ ได้มาติดตามเธอ เธอทำให้เรากล้าออกมาใช้ชีวิตมากขึ้น เธอทำให้เราอยากลองหาอะไรสนุกๆ ให้ตัวเองทำ
ตอนแรกที่เรากลับมาออกผลงานในแบบที่เป็นตัวเรา (ในเพลง XL) เราไม่ทันได้คิดว่าคนจะชอบหรือไม่ชอบ แต่คิดว่าเขาน่าจะเซอร์ไพรส์แน่นอน ยิ่งคนที่ตามมาตั้งแต่สมัยเป็นดีว่าจ๋าๆ แต่เราก็รู้สึกว่าเราค่อยๆ เปลี่ยน ถ้าได้ติดตามกันทางโซเชียลมีเดีย จะสังเกตว่าซิลวี่เวอร์ชั่นนี้จะดุๆ หน่อย เพราะว่าเราเก็บกดมานาน มันคือการประกาศศักดาว่าเธอทำอะไรฉันไม่ได้หรอก (หัวเราะ)”
นอกจากประเด็น Beauty Standard ในเพลง XL ซิลวี่ยังพูดถึงประเด็น LGBTQ ในเพลง Queen ด้วย โดยในเนื้อเพลงตีความได้หลายอย่าง แต่ที่ชัดเจนสุดคือเรื่องเพศสภาพ และ Self Empowerment จนกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่กลุ่ม LGBTQ มอบมงให้สมกับชื่อเพลงเลยทีเดียว
ประเด็นดังกล่าว ซิลวี่ต้องการสื่อสารไปเพื่อให้ทุกคนไม่เฉพาะเจาะจงว่าเพศไหน เกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่เป็น และโชว์พลังของตัวเองออกมาว่าความงดงามอันแตกต่างของทุกคนคืออะไร ซึ่งนับตั้งแต่เพลง XL ก็เกิด Challenge บนแพลตฟอร์ม TikTok ให้ Cover เพลงในแบบที่ตัวเองเป็น ผลที่ได้คือมีคนร่วมสนุกเยอะมาก แล้วทุกคนปล่อยของเต็มที่ เพื่อประกาศให้โลกรู้ถึงความภาคภูมิใจในตัวเอง
“มีหลายคนบอกว่าเราเป็นคุณแม่ของพวกเขาเลยนะ ก็เลยบอกว่าเป็นคุณแม่ก็ได้ ถึงในใจเราจะรู้สึกว่าเรายังเด็กอยู่เลยนะ
เราไม่ได้ตั้งใจให้สิ่งที่ทำเกิดเป็น Social Movement แต่ว่าสิ่งที่จะสื่อ รู้ว่ามันเป็นเรื่องที่คนจะถกเถียงกันแน่นอน เพราะสิ่งที่เราเป็น มันเป็นอย่างนั้น เราไม่อยู่ในกรอบ แล้วมันก็นำเสนอตัวเราได้ดี ถ้าจะเกิดการถกเถียงกันในสังคมก็ถูกแล้ว”
หยุดตีตรา และยอมรับว่าเราแตกต่างกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เดินตามหาฝัน จนได้เข้าสู่วงการบันเทิง แต่ถูกกดทับด้วยการตีตราของสังคม ทำให้เธอดำดิ่งสู่จุดดำมืด กระทั่งถึงการตระหนักรู้ว่าไม่มีใครทำร้ายเราได้นอกจากตัวเราเอง แล้วกลายมาเป็นซิลวี่ที่แข็งแรงแบบทุกวันนี้ ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนจะผ่านเรื่องร้ายได้อย่างเธอ หลายคนต้องพ่ายแพ้ให้กับการตีตรา ซึ่งสังคมไทยยังไม่หลุดพ้นจากเรื่องนี้สักที
“สังคมไทยยังตัดสินคนด้วยรูปลักษณ์ภายนอกค่อนข้างเยอะ ที่เห็นชัดๆ คือ คนสักคือคนคุก หรือ LGBTQ ต้องตลก คนอ้วนคือคนไม่แข็งแรง คนผอมคือคนไม่กินข้าว เรามีวัฒนธรรมในด้านการติเยอะ แม้แต่จากคำทักทาย เช่น อ้วนขึ้นหรือเปล่า ผอมลงหรือเปล่า มันดูเข้าไปยุ่มย่ามกับตัวเขาเยอะเกินไป และคนที่ได้รับข้อความนั้นหรือประโยคนั้น รู้สึกแย่กับตัวเอง
ซึ่งเราก็เจอมาหมดแล้ว และยังเจออยู่เรื่อยๆ ก็เลยรับรู้ว่ามีคนอีกเยอะแยะมากมายที่ยังไม่เข้าใจ ยกตัวอย่าง แอนชิลี ที่โดน Body Shaming เยอะมาก อาจเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องพร้อมโดนด่า แต่เราจะสร้าง Movement ตรงนี้ เราจะยังเป็น Leader ด้านนี้ แล้วเราต้อง Strong”
แต่ถึงจะแข็งแกร่งแค่ไหน ซิลวี่ก็ยอมรับว่ายังมีช่วงอ่อนไหว ที่ต้องกลับมาตั้งคำถามตัวเองว่าทำไมจะต้องเป็นเราที่ต้องขับเคลื่อนสิ่งที่ตัวเองเป็นให้คนเข้าใจเรื่องความแตกต่าง ทั้งที่หลายคนก็เหมือนนั่งรอเฉยๆ ให้คนที่ถูกกระทำมาอธิบาย
“เคยคิดนะว่าทำไมโลกไม่เปลี่ยน ทำไมต้องเป็นเราที่ออกมาเพื่อโดนด่า ทำไมไม่ง่าย ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรเข้าใจกันอยู่แล้วว่าทุกคนแตกต่าง แต่โลกมันเป็นแบบนี้ ก็ได้แต่บอกตัวเองว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องสู้เพื่อคนอีกหลายคน
แต่เราก็มองเห็นพัฒนาการนะ อย่างเรื่อง LGBTQ ปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังเปิดกว้างได้อีก ในแง่กฎหมาย เช่นเรื่องสมรสเท่าเทียม ก็ควรจะทำให้ถูกกฎหมาย เพราะเราไม่ควรจะแบ่งแยกใครว่าเป็นเพศอะไร เราควรจะวัดจากความเป็นมนุษย์มากกว่า ถ้าเขาเป็นเพื่อนที่ดี เป็นคนรักที่ดี เป็นครอบครัวที่ดี เขาก็ไม่สมควรถูกตัดสินเพียงเพราะเขาเป็นเพศอะไร หรือแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยเปิดกว้างมากกว่าต่างชาตินะ มีหลายที่ที่เขาเหยียดเยอะกว่ามาก แต่มันก็ยังเปลี่ยนได้มากขึ้น”
จะเรียกว่าแรงผลักหรือแรงส่งก็ตาม วันนี้ซิลวี่ใช้พลังงานด้านลบมาแปรเป็นผลลัพธ์ด้านบวก เคล็ดลับของความแกร่งนี้คือการไม่ละทิ้งตัวตน ไม่ด้อยค่าตัวเอง และภูมิใจในสิ่งที่เป็นอย่างสนิทใจ ไม่ต้องรอให้ใครมาสร้างมาตรฐานให้ทำตาม เพราะทุกคนคือความแตกต่างที่ต้องยอมรับกันและกัน