Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Learning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trend
  • Life
    Healing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/CrisisLife classroom
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
Life classroom
28 September 2018

แชนนอน เพอร์เซอร์: ไบเซ็กชวลพลัสไซส์ ภาวะซึมเศร้า และโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • หลังปรากฏตัวใน ‘Stranger Things’ กับบทบาร์บ-บาร์บารา ฮอลแลนด์ แชนนอน เพอร์เซอร์ เป็นที่จดจำในฐานะนักแสดงพลัสไซส์ และประกาศตัวในปีเดียวกันว่าเธอเป็น ไบเซ็กชวล
  • เธอรับบทเด่นอีกครั้งในซีรีส์โรแมนติก-คอเมดี้ ‘Sierra Burgess is a Loser’ ในบทที่แทบจะเป็นตัวเอง นอกจากพิสูจน์ฝีมือในแง่อาชีพ ยังเป็นการแสดงจุดยืนเพื่อเป็นตัวแทนของผู้หญิงพลัสไซส์ในอุตสาหกรรมบันเทิง
  • ไม่เท่านั้น เธอยังอุทิศตัว แชร์ประสบการณ์ต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ในวัยเด็ก ซึ่งครั้งหนึ่งมันพร่าผลาญชีวิตจนเคยอยากฆ่าตัวตายมาแล้ว

หลังแคสติ้งหลายปีจนหมดหวัง ฝันสุดท้ายขอเพียงทำงานในกองถ่ายเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์สักเรื่อง แชนนอน เพอร์เซอร์ (Shannon Purser) ได้รับบทบาร์บ-บาร์บารา ฮอลแลนด์ (Barb-Barbara Holland) ตัวละครสมทบ (แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของเรื่อง!) ในเรื่อง Stranger Things ภาพยนตร์ชุดของ Netfilx ออกฉายครั้งแรกกรกฎาคม 2016 แม้ออกมาเพียงไม่กี่ฉาก แต่คาแรคเตอร์ของสาวร่างท้วมที่ชัดเจนและซื่อสัตย์ในมิตรภาพ ทำให้ชื่อของเพอร์เซอร์ถูกพูดถึงในวงกว้าง มีชื่อเข้าชิงเวที Emmy Award สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมประเภทดราม่าซีรีส์ ปี 2017

หลังจากนั้นเธอเป็นหนึ่งในนักแสดงซีรีส์วัยรุ่น Riverdale, ละครเพลง Rise, พากย์เสียงให้กับแอนิเมชั่น Final Space, หนึ่งในนักแสดงภาพยนตร์ Wish Upon และล่าสุดกับบทบาทที่ทำให้เธอถูกพูดถึงในฐานะตัวแทนวัยรุ่นพลัสไซส์ เรื่อง Sierra Burgess is a Loser

สำคัญที่สุด จุดยืนของเพอร์เซอร์ไม่ใช่แค่พัฒนาการแสดง (แน่นอนอยู่แล้วว่าเธอต้องพิสูจน์ฝีมือในแง่อาชีพ) แต่คือการมีตัวตน เป็นเธอในรูปร่างนี้ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีมาตรฐานว่าคนผอมเท่านั้นจึงผ่านประตูด่านแรก ได้รับโอกาสไปพัฒนาฝีมือทางการแสดงต่อ

นอกจากนั้นเธอยังอุทิศตัว แชร์ประสบการณ์ต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder: OCD) ในวัยเด็ก ซึ่งครั้งหนึ่งมันพร่าผลาญชีวิตจนเคยอยากฆ่าตัวตายมาแล้ว

เซียร์รา เบอร์เจสส์ คือ แชนนอน เพอร์เซอร์ ในนามไบเซ็กชวลพลัสไซส์

Sierra Burgess is a Loser เหมือนจะเป็นภาพยนตร์วัยรุ่นโรแมนติกทั่วไป และให้ตัวแสดงหญิงหลักมีรูปร่างอ้วนที่ต้องเจอกับบททดสอบชีวิต ถูกสังคมคาดคั้นบอกให้ผอม แน่นอนว่าพล็อตนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แตกต่าง คือสุดท้ายแล้วนางเอกไม่ได้กลับไปผอม ไม่มีความคิดเรื่อง make over เปลี่ยนผู้หญิงอวบอ้วนที่ไม่เคยมีปัญหากับไซส์ของตัวเอง เปลี่ยนตัวเองเป็นคนผอมเพียงเพราะเธอมีความรัก และถูกทำให้ต้องสงสัยว่า หรือผู้ชาย ‘ทุกคน’ จะชอบคนผอม หรือหญิงอ้วนจะมีความรักโดยไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ ซึ่งเพอร์เซอร์เห็นด้วยที่บทเขียนไว้อย่างนั้น

“เซียร์ราให้ภาพผู้หญิงที่มั่นใจในตัวเองตั้งแต่ต้นเรื่อง เธอไม่เคยคิดว่ามันผิดปกติตรงไหนที่รูปร่างเป็นแบบนี้ ไม่เคยจนกระทั่งถูกบังคับให้ต้องกลับมามองตัวเองด้วยสายตาของคนอื่น ก็เพราะผู้ชายที่เธอชอบคิดว่าเธอเป็นเชียร์ลีดเดอร์หุ่นดี นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้เธอสั่นสะเทือนและอ่อนไหว

“ฉันหวังว่าซีรีส์นี้จะทำให้คนกล้ารักตัวเอง โอบกอดตัวเองในแบบที่เป็น ทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าในเรื่องความรัก”

เธอกล่าวว่า เธอไม่รู้ว่าจำเป็นต้องพูดถึงแง่ดีต่อการวิจารณ์เรื่องรูปร่าง (เพราะกระแสที่เกิดขึ้นจากซีรีส์) หรือไม่ แต่การดำรงอยู่ของเธอในอุตสาหกรรมบันเทิง ก็คือการวิจารณ์เรื่องรูปร่างไปแล้ว เพราะในอุตสาหกรรมนี้มีตัวแทนของคนรูปร่างใหญ่แค่ไม่กี่คนเท่านั้น

“ฉันรู้สึกถึงความรับผิดชอบนะ เพราะฉันคือหนึ่งในคนกลุ่มน้อยในวงการ เหมือนมีภาระกดอยู่บนบ่า และฉันก็อยากสร้างนิยามความสวยใหม่ต่ออุตสากรรมบันเทิง ฉันดีใจที่ได้เป็นคนที่ทำหน้าที่นี้ แต่ มันควรจะมีฉันอีก 10, 20 หรือ 30 คน ซึ่งอาจจะเป็นคนที่ร่างใหญ่กว่าฉันหรือรูปร่างอื่นๆ”

ทั้งหมดนั้นคือบทสัมภาษณ์ของเพอร์เซอร์ ใน Vogue เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก่อน Sierra Burgess is a Loser (อ่านได้ที่นี่: https://www.vogue.com) จะฉายจริงใน Netflix เพียงวันเดียว ซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์ที่แสดงจุดยืนชัดเรื่องการเป็นตัวแทนของผู้หญิงพลัสไซส์ในวงการบันเทิง

และไม่ใช่แค่ในนามของ ‘ผู้หญิง’ แต่เธอยังเป็นคนหนึ่งที่ประกาศตัวเองว่าเป็นไบเซ็กชวล (come out เมื่อปี 2016 หลัง Stranger Things ออกฉายไม่นาน)

“เซียร์ราคือฉันในนามผู้หญิงพลัสไซส์ แต่ฉันอยากจะเห็นซีรีส์โรแมนติกคอเมดี้ในเรื่องราวชาวเควียร์ การได้เป็นตัวแทน (ของกลุ่ม LGBTQ) สำคัญมากเพราะมันจะทำให้ความเข้าใจต่อกลุ่มเควียร์เป็นเรื่องปกติในสังคม”

แชนนอน เพอร์เซอร์ ในเงาภาวะซึมเศร้าและโรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

#EmpoweringYoungWomen

ไม่ใช่แค่แสดงจุดยืนว่าเป็นไบเซ็กชวลพลัสไซส์ เธอยังอุทิศเรื่องราวของตัวเองในการต่อสู้กับโรคซึมเศร้าและโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือ OCD ตั้งแต่วัยเด็กอันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เพอร์เซอร์เคยพิจารณาความตาย เธอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ #EmpoweringYoungWomen ร่วมกับ Future of Personal Health และ Mediaplanet USA ทั้งเขียนถ่ายทอดเรื่องราวของเธอลง Teen Vogue (อ่านได้ที่นี่) อีกด้วย

“หลายคนคิดว่า OCD คือคนที่ชอบหมกมุ่นกับความสะอาด เนี้ยบจัด ไม่ยอมให้อะไรหลุดออกจากความเป็นระเบียบ หรือคุณอาจคุ้นกับ OCD เพราะผู้คนชอบเปรียบเทียบตัวเองด้วยมุกตลกว่า ‘ฉันยอมไม่ได้กับความรกรุงรัง ฉันต้องเป็น OCD แน่ๆ’ แต่การอยากเก็บของให้เป็นระเบียบ เทียบไม่ได้เลยกับการถูกวินิจฉัยว่าเป็น OCD” คือคำอธิบายของเพอร์เซอร์ใน Teen Vogue

สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Mental Health) ระบุอาการของ OCD คือสภาวะเรื้อรัง จะย้ำคิด หมกมุ่นในการคิด และย้ำทำด้วยแรงกดดันทางจิตที่บังคับไม่ได้ ผู้ป่วยมักถูกบังคับให้รู้สึกหรือหมกมุ่นอยู่ในสิ่งนั้น

อาการที่เกิดขึ้นกับเพอร์เซอร์ เริ่มตั้งแต่เรื่องเล็ก (ที่จะส่งผลกระทบมากมหาศาล) อย่างการอ่านหนังสือ กระทั่งเรื่องใหญ่อย่างการบิดเบือนความจริง จนเป็นเหตุให้คิดฆ่าตัวตาย

เรื่องการอ่านหนังสือ เธอเล่าว่าแม้เธอจะเป็นหนอนหนังสือและอ่านเร็ว แต่จะมีบางจังหวะที่เธอสะดุดเอากับประโยคบางประโยค ย่อหน้าบางย่อหน้า ถูก (ความย้ำคิดและทำ) สั่งให้อ่านข้อความนั้นวนซ้ำจนมั่นใจว่าจำได้ทั้งหมด บางครั้งทำให้การบ้านง่ายๆ กลายเป็นเรื่องยาก อย่างที่เพอร์เซอร์อธิบายว่า “OCD ทำให้สิ่งที่ฉันรักกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายและน่าหวาดกลัว”

“พฤติกรรมการอ่านของฉันเกี่ยวกับการย้ำคิดย้ำทำ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้อยากฆ่าตัวตาย มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการ ‘ตีซ้ำๆ’ ในจุดที่ฉันเจ็บปวด’”

เพอร์เซอร์เริ่มหยุดพูดคุยกับคนอื่น เพราะกลัวว่าสิ่งที่เธอพูดคือเรื่องโกหก เธอไม่ได้อยากโกหก แต่อาการย้ำคิดย้ำทำ ทำให้เธอตั้งคำถามว่าสิ่งที่เธอพูดไป ใช่ความรู้สึกของเธอจริงหรือเปล่า เช่น เธอไม่กล้าพูดคำว่า ‘ขอโทษ’ เพราะไม่มั่นใจว่าเธอรู้สึกผิดจนต้องขอโทษจริงไหม? ถ้าไม่ สิ่งที่พูดออกไปย่อมไม่ต่างจากการโกหก วิธีแก้คือ เธอจะเปลี่ยนรูปแบบประโยค พูดจาอ้อมค้อม ดีที่สุด คือไม่พูดเลย

สิ่งเลวร้ายที่สุดที่ OCD มอบให้ คือการบิดเบือนการมองเห็นตัวเอง เริ่มเชื่อว่าตัวเองคือปีศาจ น่ารังเกียจ ตีความสิ่งที่เห็นแบบผิดๆ สิ่งที่อยู่ในหัวเพอร์เซอร์บางครั้งคือเรื่องเพศหรือความรุนแรง กระทั่งเธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวอันตราย เริ่มพิจารณาว่าความตายอาจเป็นหนทางที่ดีที่สุด

“ในคืนนั้น ก่อนที่ฉันจะไม่เหลือความหวังใดๆ ฉันเดินไปหาแม่และเล่าทุกอย่าง ทุกความรู้สึก ทุกความคิดและบอกเธอว่ามันกระทำกับฉันยังไง ฉันไม่ได้หายขาด รู้สึกดีขึ้น หรือไม่หมกมุ่นกับความคิดนั้นอีก กลับกัน ฉันเอาแต่นอนบนเตียง ร้องไห้ รู้สึกหมดหวังกับชีวิต

“แต่อยู่ดีๆ ก็บังเอิญเจอบทความเกี่ยวกับ OCD ระหว่างที่อ่าน มันโล่งมาก สิ่งที่ผู้เขียนเล่าตรงกับสิ่งที่ฉันเคยเผชิญ ฉันไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ผิดปกติ มันเป็นแค่อาการหรือโรคชนิดหนึ่ง”

เพอร์เซอร์เล่าถึงบทความที่เพิ่งอ่านเจอให้กับแม่ฟัง พวกเขาช่วยกันหานักจิตวิทยามาทำงานกับเพอร์เซอร์ ทุกวันนี้เพอร์เซอร์ไม่ได้หายขาดจากโรคย้ำคิดย้ำทำและอาการซึมเศร้า เพียงแต่ช่วยให้เธอจัดการกับมันได้ง่ายขึ้น

“ต้องขอบคุณที่มี ‘อินเทอร์เน็ต’ บนโลกใบนี้ เพราะมันคือเครื่องมือจำเป็นที่ช่วยให้ฉันเข้าใจอาการและรู้สึกปลอดภัยที่จะเล่าเรื่องของตัวเองให้คนอื่นฟัง หลังหาความรู้ในเรื่องนี้ ฉันออกไปพบผู้คนทั้งในโลกจริงและผ่านออนไลน์ ฉันรู้ว่ามีกลุ่ม มีผู้คนที่พร้อมจะซัพพอร์ตอยู่เสมอ

“สำหรับคนที่กำลังดิ้นรนกับภาวะแบบนี้ ฉันบอกได้แค่ว่า ‘มันจะดีขึ้น’ มันอาจไม่หาย แต่การรักษาจะทำให้ชีวิตเราง่ายและเป็นสุขขึ้น”

อ้างอิง:
Instagram
Shannon Purser on Coping With OCD and Suicidal Ideation
Sierra Burgess Is a Loser Star Shannon Purser on Plus-Size Rom-Com Heroines
Riverdale‘s Shannon Purser Comes Out as Bisexual: ‘It’s Something I’m Still Processing’

Tags:

ซึมเศร้าการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)ภาพยนตร์ศิลปินเพศ

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Related Posts

  • Social Issues
    ยิ่งเรียนยิ่งหลงทาง – Self-esteem สูญหายในระบบการศึกษาและทุนนิยม

    เรื่อง กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Love, Simon: สักกี่บ้านที่ลูกรู้สึกไม่โดดเดี่ยว สักกี่ครอบครัวที่ไม่คาดหวังให้ลูกเป็นอะไรเลย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsMovie
    Queer eye: รายการที่บอกให้เห็นคุณค่าตัวเอง มั่นใจในสิ่งที่มี และเราสมควรได้รับความรักเช่นกัน

    เรื่องและภาพ พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Queer as Folk: คำถามที่ลูกอยากรู้ ถ้าเราเปลี่ยนไปไม่ใช่เพศเดิม พ่อแม่จะยังรักหรือปล่อยมือ

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • MovieHealing the trauma
    HONEY BOY: ใครๆ ก็อยากเป็นพ่อที่ดี แต่พ่อก็เป็นคนหนึ่งที่ยังเจ็บปวดเหมือนกัน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel