- คุยกับ พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เรื่องการบำบัดในถาดทราย (Sand Tray Therapy) เทคนิคการบำบัดที่ไม่เน้นการพูดคุย แต่ชวนเด็กและผู้ใหญ่มาทำความเข้าใจภูเขาน้ำแข็งในใจและเล่าเรื่องด้วยการจัดวางตุ๊กตาในถาดทราย
- สำหรับคนพูดไม่เก่ง ไม่รู้จะเรียบเรียง บอกเล่าความรู้สึกของตัวเองอย่างไร การพูดคุยกับจิตแพทย์อย่างตรงไปตรงมาอาจไม่ใช่ทางเลือก จิตแพทย์จึงต้องใช้การบำบัดในถาดทรายเข้ามาช่วย
- ตุ๊กตาในถาดทราย คือตัวแทนคาแรคเตอร์ต่างๆ สามารถเลือกให้ตรงกับอารมณ์ ความรู้สึก และภาพในใจ ส่วนกระบวนการพูดคุยของหมอที่ช่วยให้ได้คิดและสำรวจจิตใจตัวเองไปพร้อมๆ กัน
เรื่อง: ธนาวดี แทนเพชร
ภาพ: ลักษิกา จิรดารากุล
สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกันคือ ความสามารถในการรับรู้ถึงความทุกข์ ความเศร้า ความอึดอัด ความกดดัน และความเจ็บปวด ทั้งจากบาดแผลในอดีต ปัจจุบัน หรือจากเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่มากระทบกระเทือนจิตใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะจัดการหรือสื่อสารก้อนความรู้สึกที่หนักอึ้งอยู่ภายในใจออกมาได้ง่ายๆ การมาพบจิตแพทย์เพื่อทำความเข้าใจกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองจึงเป็นสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ในวันที่ใจเรายังไม่พังยับเยิน
แม้การพบจิตแพทย์จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้เราปลดปล่อยและพูดคุยได้ทุกเรื่องที่ใจต้องการ แต่สำหรับคนที่พูดไม่เก่ง กำลังเผชิญกับปัญหา ไม่รู้จะเรียบเรียงและบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองอย่างไร การเผชิญหน้ากับจิตแพทย์และพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ช่วยให้เขาเข้าใจตัวเองได้ จิตแพทย์จึงต้องมีเครื่องมือและวิธีการที่ช่วยให้คนไข้สามารถแสดงอารมณ์ ความคิด และความรู้สึกออกมาได้ง่ายขึ้น
เราจึงชวน พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มาคุยเรื่อง ‘การบำบัดในถาดทราย (Sand Tray Therapy)’ซึ่งเป็นเทคนิคการบำบัดที่ไม่เน้นการพูดคุย แต่ชวนคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาทำความเข้าใจภูเขาน้ำแข็งในใจและเล่าเรื่องด้วยการจัดวางตุ๊กตาในถาดทราย
การบำบัดด้วยถาดทราย (Sand Tray Therapy) คือการบำบัดที่ช่วยให้คนไข้ที่กำลังมีความทุกข์ มีความเศร้า มีบาดแผลภายในจิตใจ มีความทรงจำที่ไม่ดีในวัยเด็ก มีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจ (PTSD) เป็นโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือกำลังเผชิญปัญหาชีวิตที่ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกในขณะนั้น สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและความรู้สึกของตัวเองได้ โดยที่คนไข้สามารถหลีกเลี่ยงการพูดถึงรายละเอียดที่เปราะบางและไม่ต้องการพูดถึงได้
การบำบัดจะช่วยเปลี่ยนแปลงมุมมองที่คนไข้มีต่อตัวเองและมุมมองที่มีต่อคนอื่น ทำให้มองเห็นอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนอารมณ์จากภายใน รับมือกับสิ่งที่อยู่ในใจและหาทางออกให้กับปัญหาของตัวเองได้ ซึ่งการบำบัดนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคก็สามารถเข้ารับการบำบัดได้
วิธีเอา ‘ภูเขาน้ำแข็งในใจ’ ออกมาวางในถาดทราย
คุณหมอสุนิดาเล่าว่า การใช้ถาดทรายและตุ๊กตาไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ได้มีการนำศาสตร์อื่นๆ มาใช้ในการบำบัดคนไข้ที่ไม่ถนัดในการสื่อสารด้วยการพูดเช่นกัน เช่น การใช้ art therapy หรือ ศิลปะบำบัด ใช้การวาดภาพ การปั้นตุ๊กตา การเล่นละคร และศิลปะในวิธีอื่นๆ เพื่อช่วยให้คนไข้ก้าวข้ามกำแพงในใจตัวเองและสื่อสารกับหมอได้มากขึ้น
การบำบัดด้วยถาดทราย (Sand Tray Therapy) นำการเล่นบำบัด (play therapy) ซึ่งเป็นกระบวนการเล่นที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการในทุกๆ ด้านของเด็ก มาใช้ร่วมกับจิตบำบัดตามแนวซาเทียร์ Satir Model (Satir Transformational Systemic Therapy) ซึ่งเป็นหลักการจิตบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ใช้รูปภูเขาน้ำแข็งเป็นตัวแทนของจิตใจ โดยแบ่งออกเป็น 6 ชั้น ตามส่วนของจิตใจ เพื่อทำให้จิตใจที่เป็นนามธรรม กลับกลายเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทฤษฎีของซาเทียร์ เชื่อว่า ‘ทุกคนล้วนมีภูเขาน้ำแข็งของตัวเอง’ ซึ่งภูเขาน้ำแข็งของทุกคนจะแบ่งออกเป็น 6 ชั้น
ชั้นที่ 1 อยู่บนสุดและอยู่พ้นน้ำขึ้นมาคือ พฤติกรรมที่เราแสดงออกให้คนอื่นเห็น
ชั้นที่ 2 อยู่ใต้น้ำลงไปคือ ความรู้สึก
ชั้นที่ 3 การรับรู้ ความคิดเห็น ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และภาพในใจ
ชั้นที่ 4 ความคาดหวังต่อตัวเอง ต่อคนอื่นๆ หรือต่อโลก
ชั้นที่ 5 ความต้องการลึกๆ ในใจ เช่น การได้รับการยอมรับ ได้รับความรัก หรือความต้องการทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างคุณค่าให้ตัวเอง
ชั้นที่ 6 ชั้นสุดท้ายที่อยู่ลึกที่สุด คือความเป็นตัวตนลึกๆ ของเรา หรือ self
ภูเขาน้ำแข็งก้อนนี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้มนุษย์คิด ทำ รู้สึก และเกิดความคาดหวังในชีวิต เมื่อภูเขาน้ำแข็งของเราและภูเขาน้ำแข็งของคนอื่นมาเจอกัน บางทีมันอาจจะไม่ตรงหรือลงล็อคกันเสมอไป เช่น การที่พ่อแม่คิดว่าลูกเป็นเด็กทำอะไรเชื่องช้าและเฉื่อยชาจึงแสดงออกด้วยการใช้คำพูดแย่ๆ กับลูก เพื่อกระตุ้นให้เขาแอ็คทีฟมากขึ้น ขณะเดียวกัน ลูกก็มองว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำอยู่คือการทำร้ายความรู้สึกของเขา พ่อแม่ไม่รักเขา ดังนั้นภูเขาสองลูกนี้มันจึงไม่จูนเข้าหากันและไม่เข้าใจกันเสียที
ซาเทียร์จึงเป็นหลักการที่ทำให้เราต่างมองเห็นภูเขาน้ำแข็งของกันและกัน มองเห็นตัวเรา มองเห็นคนอื่น มองเห็นโลกใบนี้ว่ามีความคิด ความรู้สึก ความคาดหวัง และความต้องการลึกๆ อะไรบ้าง และการบำบัดของจิตแพทย์นี่เองที่ช่วยเปลี่ยนความเชื่อ ทำให้เราพบมุมมองใหม่ และมองเห็นภูเขาน้ำแข็งในใจของคนอื่นได้
แต่บางครั้งการทำซาเทียร์ยังไม่เป็นรูปธรรม การใช้ตุ๊กตาเข้ามาช่วยจะทำให้เห็นว่าตุ๊กตาแต่ละตัวต่างพูดแทนเราได้ ตุ๊กตาทุกตัวที่เด็กเลือกไปวางลงบนถาดทรายล้วนมีความหมายทั้งหมด หมอจะใช้การตั้งคำถามเพื่อให้เขาเลือกหยิบตุ๊กตามาตอบและจัดวางโดยไม่เข้าไปชี้นำว่าควรเลือกหรือวางอย่างไร แต่จะคอยสังเกตท่าทาง แววตา และน้ำเสียง คอยกระตุ้นให้เขาคิดและตอบ และดูว่าระหว่างการบำบัดเขารู้สึกอย่างไร
ถ้าเด็กเลือกตุ๊กตาเสือมาวางข้างกระต่าย หมอก็จะถามเขาว่า เสือตัวนี้อยากจะพูดอะไรบ้างไหม? เสือตัวนี้อยากจะบอกอะไรกระต่ายบ้างหรือเปล่า? แล้วกระต่ายล่ะ เขารู้สึกยังไงกับเสือเวลาอยู่ใกล้ๆ กันแบบนี้? การตั้งคำถามและใช้ภาพตัวแทนทำให้คนไข้ได้แชร์ความคิดระหว่างตัวละคร 2 ตัว เหมือนเรากำลังดูหนังกันอยู่ ดังนั้นหลักในการบำบัดจึงเป็นการ ‘เอาภูเขาน้ำแข็งในใจออกมาวางในทราย’
หน้าที่ของหมอคือการค่อยๆ เก็บข้อมูล และค่อยๆ ถอดรหัสเรื่องราวออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้คนไข้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ เชื่อมโยงความคิด ความรู้สึก ความคาดหวัง และความต้องการภายในจิตใจเพื่อให้กระจ่างและชัดเจนมากขึ้น
เหตุผลที่เราไม่เข้าใจกันเพราะต่างคนต่างมีภูเขาน้ำแข็งเป็นของตัวเอง
บางทีถ้าเราไม่เคยมองเลยว่าภูเขาน้ำแข็งของฉันเป็นแบบไหน ฉันเป็นคนอย่างไร ต้องการอะไร มองตัวเอง มองคนอื่น หรือมองโลกนี้อย่างไรบ้าง เราก็จะไม่มีทางเข้าใจตัวเองและไม่ตระหนักถึงการมีอยู่ภูเขาน้ำแข็งของคนอื่นด้วยเช่นกัน และมองไม่เห็นว่าพฤติกรรมที่คนอื่นแสดงออกมาเกิดขึ้นจากอะไร
เช่น การที่เจ้านายพูดไม่ดีกับเรา อาจจะเกิดจากเพราะเขาไปเจอเหตุการณ์บางอย่างที่สร้างความเข้าใจผิดมา จึงเอาความโกรธนั้นมาลงที่เราทั้งๆ ที่เราไม่ได้ผิด แต่โดยปกติแล้วเขาไม่ได้คิดไม่ดีกับเรา ถ้าเรามองเห็นภูเขาน้ำแข็งของเขา เราก็อาจจะไม่โกรธเขาในทันที หรือในบางกรณีคนไข้ก็อาจจะเข้าใจผิดกับตัวเอง มีมุมมองที่ไม่ดีต่อตัวเอง ต่อคนรอบข้าง ทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือปัญหาอื่นๆ ตามมา หมอก็สามารถใช้กระบวนการบำบัดในถาดทรายเพื่อทำให้ผู้ถูกบำบัดมองมุมใหม่และยอมรับใหม่ได้มากขึ้น
เมื่อตุ๊กตาคือตัวแทนของเรื่องเล่าและนำไปสู่การเข้าใจตัวเอง
โดยปกติแล้วการทำงานของสมองคนไข้ที่มีปัญหาภายในจิตใจมักจะไม่สามารถพูดหรือบอกอารมณ์ของตัวเองออกมาได้ ในขณะที่เกิดปัญหา สมองซีกซ้ายกับสมองซีกขวาจะทำงานไม่สัมพันธ์กัน จึงทำให้การพูดและการสื่อสารเสียหายไปด้วยเช่นกัน จิตแพทย์จึงต้องหาวิธีที่ช่วยให้สมองทั้งสองซีกกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง ซึ่งการบำบัดด้วยในถาดทรายจะใช้ ‘ตุ๊กตา’ เป็นสื่อกลางในการดึงเอาภาพที่อยู่ในหัวของคนไข้ออกมาอธิบายเหตุการณ์และแสดงตรรกะของเขาอย่างเป็นรูปธรรม
โดยส่วนตัวหมอชอบวิธีการนี้ เพราะช่วยให้คนไข้สามารถอธิบายอารมณ์และความรู้สึกได้ชัดเจนขึ้น โดยปกติแล้วเวลาจิตแพทย์ซักประวัติถึงเรื่องอารมณ์ความรู้สึก
บางทีคนไข้อธิบายไม่ได้ว่ามันคือความรู้สึกแบบไหน แต่การมีตุ๊กตาทำให้เขาเลือกตัวที่มีคาแรคเตอร์ตรงกับอารมณ์ ความรู้สึก และภาพในใจของเขาได้ และกระบวนการพูดคุยของหมอที่ช่วยให้เขาได้คิดและสำรวจจิตใจตัวเองไปพร้อมๆ กัน
ในกระบวนการบำบัด ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ภายในห้องจะมีแค่หมอและคนไข้เท่านั้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้คนไข้สบายใจที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเอง
ใครเป็นคนนิยาม-ตีความความหมายของตัวละครบนถาดทราย
ตุ๊กตาทั้งหมดที่อยู่บนถาดทรายเกิดจากความคิดและความรู้สึกของคนไข้เอง บางทีตุ๊กตาตัวเดียวกัน แต่คนไข้คนละคนหยิบ อาจจะสื่อความรู้สึกไม่เหมือนกัน อย่างตุ๊กตาเต่าตัวหนึ่งในตู้ที่มักจะถูกคนไข้หยิบอยู่บ่อยๆ โดยปกติถ้าเป็นคนที่มีความสุขหยิบแล้วจะรู้สึกว่าตุ๊กตาตัวนี้มันดูร่าเริง สดใส แต่พอเป็นคนไข้ที่มีอารมณ์ซึมเศร้าหยิบ เขาก็จะรู้สึกว่าเต่าตัวนี้มันดูเศร้าและหดหู่ ซึ่งเป็นภาพตัวแทนของเขาในขณะนี้ได้
ถ้าให้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เห็นภาพได้ชัดขึ้นก็คือ เมื่อหมอถามว่าเด็กมองเห็นแม่เป็นแบบไหน? ตุ๊กตาตัวไหนคือตัวแทนแม่ของเขา? เด็กคนหนึ่งเลือกหยิบตุ๊กตามังกรที่ดูดุมาก กางปีกสยายพร้อมจะสู้รบตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ในตู้เก็บตุ๊กตาเรามีมังกรให้เลือกอยู่หลายแบบ ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าในชีวิตจริง เด็กคนนี้มองเห็นแม่ตัวเองเป็นคนที่ดุมากและเขากลัวแม่มาโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันการบำบัดจะช่วยให้เขามองเห็นความจริงได้มากกว่า 1 มุม
เช่น หมอจะถามเขาว่า ‘อะไรที่จะทำให้มังกรตัวนี้มันลุกขึ้นมาโกรธขนาดนี้?’ หรือ ‘ปกติแล้วมังกรตัวนี้เวลาสงบเป็นอย่างไร?’ คำถามแบบนี้จะทำให้เด็กนึกย้อนกลับไปว่าก่อนที่แม่จะโกรธหรือดุแบบนี้ แม่เป็นคนแบบไหนนะ? มีเวลาไหนที่แม่ไม่ดุเขาบ้างไหม? และ ตอนไม่ดุแม่เป็นอย่างไรบ้าง? วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มมุมมองให้เด็กเห็นว่า จริงๆ แล้วมังกรตัวนี้ไม่ได้ดุร้ายตลอดเวลาอย่างที่เขาคิด ที่มังกรดุอาจจะเป็นเพราะตอนนั้นมังกรกำลังปกป้องอะไรบางอย่างอยู่ ที่เด็กมองเห็นก็อาจเป็นแค่ด้านเดียวของแม่เท่านั้น เขามองเห็นแค่ด้านที่ดุ แต่ไม่ได้มองว่าแม่ดุเพราะอะไร พอเขามองเห็นด้านอื่นๆ ของแม่ เขาก็จะเข้าใจว่าที่แม่แสดงออกแบบนั้นก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้เช่นกัน
การสำรวจจิตใจผ่านการบำบัดในถาดทรายจะช่วยคนไข้อย่างไรบ้าง
เนื่องจากการบำบัดในถาดทรายเหมือนการย่อส่วนอารมณ์ที่เป็นจริงในใจผู้ถูกบำบัดออกมาวาง จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่อยากจะเข้าใจลูกได้มองเห็นสิ่งที่อยู่ในใจลูกได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่บางคนพอได้เห็นตุ๊กตาที่ลูกเลือกเพื่อเป็นตัวแทนของเขาเอง ก็ทำให้เขาย้อนกลับมามองตัวเองว่าเขาเป็นแบบนั้นจริงไหม? หรือภาพครอบครัวที่ลูกจัดวางออกมาคือภาพที่เกิดขึ้นจริงหรือเปล่า? เพราะเด็กบางคนก็เลือกหยิบตุ๊กตาออกมาให้ตีความได้ตรงๆ เลย เช่น พ่อเป็นเสือ แม่เป็นหมู ลูกสาวคนโตเป็นจระเข้ และตัวเขาเองซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กเป็นเต่า พ่อที่ถูกลูกมองว่าเป็นเสือ ก็ต้องย้อนกลับไปดูภูเขาน้ำแข็งของตัวเองเหมือนกันว่าฉันเป็นคนแบบไหนกันแน่ ฉันร้ายกับลูกจริงไหม? ฉันดุลูกหรือกดดันลูกมากเกินไปหรือเปล่า? หรือมันเกิดอะไรขึ้นในครอบครัวของเราจึงทำให้ลูกสาวคนเล็กขี้กลัวและหงอแบบนี้
พอเขาเห็นมุมมองของลูกที่เป็นรูปธรรมบนถาดทรายเขาก็จะเข้าใจลูกได้มากขึ้นเช่นกัน กระบวนการบำบัดในถาดทรายจึงเป็นการปรับจูนภูเขาน้ำแข็งสองก้อนให้ลงล็อคกันได้ และในระหว่างการบำบัด หมอช่วยเปลี่ยนเรื่องที่เคยกระทบกระเทือนจิตใจหรือเปราะบางมากสำหรับคนไข้ไปในทางที่ดีขึ้นได้เช่นกัน
ถ้าเราเข้าใจภูเขาน้ำแข็งของตัวเองตั้งแต่เด็ก จะช่วยให้การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ง่ายขึ้นหรือเปล่า
ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ เรื่องราวที่ทุกคนมีหรือเป็นอยู่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่มีรากเหง้ามาจากอดีตทั้งนั้น หมอคิดว่าเวลาที่คนเรามีปัญหา เรามักจะมองแต่สิ่งที่เราเชื่อและเชื่อจากสิ่งที่เราเห็นเท่านั้น แต่เราอาจไม่มีโอกาสได้มองในส่วนอื่นๆ ที่เราไม่เคยเห็นเลย การบำบัดนี้จะช่วยให้เราได้มองเห็นเรื่องราวทั้งในอดีตและปัจจุบันกว้างขึ้นกว่าที่เราเคยเข้าใจ
ถ้าเด็กที่มีเรื่องรบกวนจิตใจได้ทำการบำบัด เขาก็จะเห็นมุมมองอื่นของปัญหา ได้คลี่คลายปมหรือบาดแผลในใจของเขาตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในเด็กที่ยังไม่เจอปัญหา จะเข้ามาทำการบำบัดเพื่อเป็นการสำรวจจิตใจตัวเองก็ได้ แต่อย่างน้อยมันต้องมีประเด็นตั้งต้นขึ้นมาก่อนเพื่อให้หมอมองหาปัญหาให้เจอ
ในบางเคส ผู้ปกครองพาลูกมาพบจิตแพทย์เพราะอยากตรวจสุขภาพจิตเท่านั้น ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองมีปัญหาอะไร แต่พอคุยกันไปเรื่อยๆ หมอพบว่าเด็กคนนี้ตั้งใจเรียนมากเพราะความรู้สึกผิด ในมุมมองของคนอื่นอาจจะมองว่าเด็กตั้งใจเรียนก็ดีแล้ว แต่พอค้นลงไปในใจเด็กเรากลับพบว่าการตั้งใจเรียนของเขามาจากความกลัวที่จะผิดพลาด กลัวไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเหมือนพ่อแม่ กลัวถูกตำหนิจากคนรอบข้าง และเขาใช้ความกลัวเป็นแรงผลักดันตัวเองมาโดยตลอด ซึ่งความคิดแบบนี้อาจจะเป็นอันตรายกับสุขภาพจิตของเด็กได้ในอนาคต แต่พอเขาได้สำรวจความกลัวของตัวเองในถาดทราย และพบว่าจริงๆ แล้วชีวิตเขาเก่งได้โดยที่ไม่ต้องกลัวและกดดันตัวเองมากขนาดนี้ ก็ทำให้เขามองเห็นเป้าหมาย และเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายเป็นที่ตั้งโดยไม่ต้องใช้ความกลัวเป็นแรงผลักดันในชีวิตก็ได้ เขาจะมองเห็นความกลัวที่เป็นรูปธรรมและเรียนรู้ว่าเขาสามารถรับมือกับมันได้ และเติบโตต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกใครตำหนิ
สุดท้ายแล้วการเติบโตเป็นผู้ใหญ่มันไม่ได้ง่ายหรอก แต่ต่อให้เมื่อโตขึ้นเขาพบกับความผิดพลาด ผิดหวัง เขาก็จะมาสามารถมองหาเลือกทางใหม่ให้ชีวิตได้เสมอ4,7771.1kFacebookTwitter