- เมื่อประโยค ‘ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง’ กลายเป็นคำพูดหลอกเด็ก เพราะเราต่างยังคงสร้างตัวเองให้ต้องเป็นเวอร์ชันที่ ‘สมบูรณ์ไร้ที่ติ’ แม้จะทรมานแค่ไหน…
- มนุษย์สมบูรณ์แบบ (Perfectionist) มักมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่ลึกๆ ทำให้แม้จะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ยากที่จะโอบกอดตัวเองได้อย่างหมดหัวใจ
- การเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบอาจไม่ใช่เรื่องแย่มากนัก หากเราเรียนรู้ที่จะใช้อย่างถูกต้อง ตระหนักรู้ถึงผลเสีย พยายามสังเกตสาเหตุที่อยากทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดีว่าแรงขับคืออะไร เพื่อให้ไม่ทำร้ายตัวเองและคนอื่น
หากมีก้อนหินที่เรียงอย่างสวยนับ 100 แต่มีก้อนนึงที่บิดเบี้ยวไป สิ่งที่มนุษย์สมบูรณ์แบบสนใจมักจะเป็น 1% นั้นมากกว่า 99% ที่สวยงาม
เบรนเน่ บราวน์ นักวิจัย เจ้าของหนังสือ The Gift of Imperfection เคยบอกว่า ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่การพยายามเพราะอยากทำงานให้ดีที่สุด แต่คือการพยายามเพราะกลัวที่จะล้มเหลว ถูกตัดสิน และดูไม่ดี แม้จะเป็นการพยายามเหมือนกัน แต่มีแรงจูงใจที่ต่างกัน แน่นอนว่าแม้ผลลัพธ์จะออกมาดีเหมือนกัน แต่ความรู้สึกของคนที่พยายามเพราะอยากให้งานดี กับพยายามเพราะกลัวความล้มเหลว ย่อมมีความหนักอึ้งในการทำงานที่ต่างกันอย่างแน่นอน
มนุษย์สมบูรณ์แบบ : กลัวความล้มเหลว ผัดวันประกันพรุ่ง และรู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่ดีพอ’
มนุษย์สมบูรณ์แบบมักมีมาตรฐานการทำงานที่สูงเกินความเป็นจริง ลักษณะกลัวความล้มเหลว ไม่กล้าลงมือทำอะไรใหม่และและผัดวันประกันพรุ่งจนกว่าจะแน่ใจวิธีทำอย่างชัดเจน มักมองงานที่ผลลัพธ์มากกว่าความสุขระหว่างทาง และใช้เวลาจำนวนมากกับงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้
เรื่องน่าสนใจคือ การเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบกับมนุษย์ภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem) มีความสอดคล้องกัน เมื่อเขาไม่สามารถทำงานออกมาให้ได้ดีตามความคาดหวัง ก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง แล้วพยายามหนักขึ้นเพื่อให้ทำได้ ความรู้สึกระหว่างที่พยายาม คือ ความกดดันที่ท่วมท้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่ง ทำไม่สำเร็จ จนเป็นวงจรอุบาทว์ไปเรื่อยๆ
มนุษย์ประเภทนี้มักมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่ลึกๆ ทำให้แม้จะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ยากที่จะโอบกอดตัวเองได้อย่างหมดหัวใจ อาจมีดีใจบ้าง เวลาได้ผลลัพธ์ดังหวัง แต่ความหอมหวานนั้นก็มักหายไปอย่างรวดเร็ว แล้วความรู้สึกว่าฉันต้องไขว่คว้า ก็จะตามมาอีกครั้งเพื่อให้รู้สึกภูมิใจกับตัวเองได้อีก (ใช้งานเป็นสัญลักษณ์ของความภูมิใจ)
หากสังเกตรูปแบบการแก้ปัญหาจะพบว่า มนุษย์สมบูรณ์แบบจะแก้ปัญหาความรู้สึกแย่กับตัวเองด้วยการหางานหรือคุณค่าภายนอกมาชดเชย ซึ่งก็อาจแก้ปัญหาผิวเผินบางอย่างได้ แต่ก็อาจแลกมาด้วยการเสพติดความสมบูรณ์แบบเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอความรู้สึกว่า “ทำไมฉันถึงกลัวความล้มเหลวขนาดนี้”
หลายครั้งมนุษย์สมบูรณ์แบบมักปกปิดตัวตนที่แท้จริงจากคนอื่นและพยายามจะเป็นใครบางคนที่ไร้ที่ติ เพราะมีความกลัวลึกๆ ว่าถ้าเปิดเผยไปแล้วคนอื่นจะยอมรับตัวตนเขาไม่ได้ เมื่อไม่เปิดเผยตัวตนออกมาทำให้คนทั่วไปมักรู้สึกว่าเขาเข้าถึงยาก แล้วก็กลายเป็นการสร้างเงื่อนไขทางจิตใจว่า ฉันจะเป็นที่รักก็ต่อเมื่อฉันทำงานได้ดี หากทำงานได้ไม่ดีฉันก็จะไม่มีคุณค่า แล้วก็มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองแล้วเสนอแค่ด้านที่ดูดี ก็จะส่งผลให้ลึกๆ รู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยวว่าไม่มีใครยอมรับตัวตนที่แท้จริงเขา นั่นก็เพราะเขาเองก็ไม่ได้ยอมรับตัวเอง – ที่ไม่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน
จากลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้มนุษย์สมบูรณ์แบบมีแนมโน้วที่จะขาดความยืดหยุ่น และขาดความสร้างสรรค์ในการทำงานสูง
โดยหลัก มนุษย์สมบูรณ์แบบถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
อย่างแรก มนุษย์ฉันต้องทำได้ดี (Self-Oriented) มักมีภาพในอุดมคติที่ไร้ที่ติ โดยมักจะมีมาตรฐานของตนเองที่สูงและพยายามไปถึงจุดนั้นให้ได้
อย่างที่สอง มนุษย์ถูกสังคมกำหนด (Socially prescribed) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่อยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง อาจเป็นเด็กที่พยายามทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ พนักงานที่พยายามทำงานให้เจ้านายพอใจ
อย่างที่สาม มนุษย์เจ้าสั่งการ (Others-oriented) มักมีความคาดหวังที่สูงกับคนรอบข้าง จนบางครั้งไม่ได้ปล่อยให้คนรอบข้างมีอิสระ มักแอบควบคุมในเรื่องเล็กน้อยอยู่เสมอ
การเติบโตเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบเกิดหลายสาเหตุร่วมกัน ซึ่งมีบางองค์ประกอบดังนี้
- ความกลัวการไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น
- ความสำเร็จในอดีตทำให้ต้องคอยแบกใส่บ่าเพื่อรักษามาตรฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็นจากคนในครอบครัว หรือผลงานตนเอง
- ได้รับคำชมที่มุ่งเน้นผลลัพธ์มากกว่ากระทำ ต้องยอมรับว่าการชมที่ผลลัพธ์ก็เหมือนการให้ความสำคัญที่จุดนั้น คนรับคำชมจึงมีแนวโน้มจะเอาใจไปยึดติดผลลัพธ์
- ประสบการณ์จากพ่อแม่ที่เคร่งครัด และแสดงท่าทีไม่ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของเด็กซ้ำๆ
- การใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ที่อาจได้รับอิทธิความคิดจากสื่อ เพลง หนังที่แสดงถึงภาพชีวิตที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง
ต้องไม่ลืมเลยว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง มีแค่ดีที่สุดเท่าที่วันนี้จะเกิดขึ้น
- ปัญหาสุขภาพจิตเช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ มีงานวิจัยบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างโรคย้ำคิดย้ำทำกับพฤติกรรมเจ้าสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ และก็ไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์แบบทุกคนจะเป็นโรคเช่นกัน
- ความรู้สึกอยากเหนือกว่าคนอื่น
ลองหยุดตามหาความสมบูรณ์แบบ แต่ยอมรับตัวตนจริงๆ ของเรา
เพราะอยากเป็นมนุษย์ไร้ที่ติจึงเจ็บปวด แล้วจะพัฒนาตัวเองอย่างไร?
- พยายามสังเกตความคิดตัวเองระหว่างที่ทำงานหรือใช้ชีวิต ถ้าเมื่อไหร่ที่เจอความคิดว่าต้องสมบูรณ์แบบก็ให้รู้ตัว และสิ่งนั้นจะค่อยๆ ลดลง
- จริงใจกับตัวเอง กล่าวคือ การซื่อสัตย์และกล้ายอมรับความผิดพลาด ความอ่อนแอของตัวเองอย่างเปิดเผย ยอมรับในที่นี้ คือ การเผชิญหน้ากับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่หลีกหนีหรือปฏิเสธความจริงนั้นเมื่อเปิดเผยเราจะรักตัวเองได้มากขึ้น และความรักนั้นก็จะส่งผลให้คนอื่นรักเราได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเขาจะรู้สึกว่าเราเข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นมนุษย์ – ที่ดีและไม่ดีในตัว และสิ่งวิเศษของการเปิดเผยตัวตน คือ ได้รู้สึกเป็นตัวของตัวเองจริงๆ ในทุกที่ที่อยู่ สังเกตไหมว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงรู้สึกสบายใจเวลาอยู่ที่ห้องตัวเอง – คำตอบง่ายๆ เพราะเขาได้เป็นตัวเองอย่างแท้จริง
- มองว่าความล้มเหลว ผิดพลาด คือ บทเรียนชั้นดี พยายามมองหาข้อดีที่สมเหตุสมผลจากสิ่งนั้น แล้วยอมรับว่าล้มเหลวก็คือล้มเหลว ไม่ใช่ล้มเหลวคือคุณแย่ ไม่มีคุณค่า สังเกตการณ์ตีความเหตุการณ์ที่ผิดเพี้ยน
- ลดการตัดสินคนอื่นและตัวเองเวลาที่ผิดพลาด เมื่อเราตัดสินคนอื่นน้อยลง เราจะตัดสินตัวเองน้อยลง เช่นเดียวกันเมื่อตัดสินตัวเองน้อยลง คนอื่นก็จะได้รับสิ่งนั้นด้วย
- เอาใจวางไว้ที่ความสุขระหว่างทางมากกว่าเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้ดีไร้ที่ติ แล้วใจจะเบาขึ้น กดดันน้อยลงทันที
- ตั้งเป้าหมายที่เล็กและทำได้จริงเพื่อเป็นรางวัลระหว่างทางให้ได้รู้สึกถึงความรู้สึกสำเร็จ อย่างที่คุณขุนเขาบอก “เป้าหมายต้องใหญ่ วินัยต้องเล็ก”
- มนุษย์สมบูรณ์แบบมักลงรายละเอียดมากเกินไป ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญตั้งแต่แรกจึงสำคัญ เราจะรู้ทันทีว่าอะไรคือสิ่งที่ควรโฟกัสและอะไรไม่ใช่
- ปรับความคิดให้ตรงความเป็นจริง ปกติเวลาทำงานอาจมีเสียงในหัวว่า “ฉันต้องทำให้ดีเลิศ ไร้ที่ติ” อาจเปลี่ยนเป็นว่า “ฉันจะทำงานนี้ให้ดีที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นความผิดพลาดก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ฉันก็จะใจดีค่อยเป็นค่อยไปกับตัวเองและงาน”
- งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Australian Catholic บอกว่า ถ้ามนุษย์เชื่อมโยงกับตัวเองด้วยความรู้สึกเมตตา พูดง่ายๆ คือ หัดใจดีกับตัวเอง พูดดีๆ ไม่ต้องกระแทกแดกดัน เช่น “วันนี้ทำดีแล้ว วันพรุ่งนี้เอาใหม่นะ” ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบจะค่อยๆ ลดลง
- หาใครสักคนที่จะคอยสะท้อนสิ่งที่คุณทำเรื่อยๆ ว่ามันส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างไร
อย่างไรก็ตามการเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบไม่ใช่เรื่องแย่อะไร หากเราเรียนรู้ที่จะใช้จุดแข็งอย่างถูกต้อง และตระหนักรู้ถึงผลเสีย และพยายามสังเกตสาเหตุที่อยากทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดีว่าแรงขับนั้นคืออะไร เพื่อให้ไม่ทำร้ายตัวเองและคนอื่น
ท้ายสุด อยากเล่าเรื่องตัวเองให้ฟังครับ เมื่อเกือบสองปีที่แล้ว อาจารย์ทักผมเรื่อง Perfectionist จากที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเลย ก็มาได้เห็นรูปแบบความคิดที่ชัดขึ้น เข้าใจเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้
จากวันนั้นผมก็หมั่นสังเกต ทำความเข้าใจความคิดที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่แต่ก็ลดลงจากเมื่อก่อน
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากประสบการณ์ตรง คือ ความรู้สึกเบาสบาย ไว้ใจคนอื่นได้มากขึ้น ทำงานสนุก มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีขึ้น เพราะไม่มัวแต่พยายามทำตัวเองให้ดูดีสมบูรณ์แบบ และที่ดีที่สุดคือ สามารถยอมรับและเป็นตัวเองได้มากขึ้น
เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังฝึกยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ
ขอให้วันนี้เป็นวันที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้างครับ