- พ่อแม่ทุกคนมีปมบาดแผลที่ซ่อนอยู่ ปมนั้นเกิดประสบการณ์วัยเด็ก แต่การจะข้ามผ่านไปได้ ไม่ใช่การเก็บซ่อนหรือพยายามเบี่ยงเบนความรู้สึก แต่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจในตนเอง ทบทวนและยอมรับความรู้สึกที่แท้จริงให้ได้ จึงจะสามารถมองบาดแผลเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนโดยไม่นำปมปัญหามากำหนดเส้นทางชีวิต
- ปมบาดแผลคือความทรงจำที่หลงเหลือจากเหตุการณ์สะเทือนใจในอดีต ซึ่งส่งผลต่อความคิด สภาพจิตใจ การมองโลก โดยสมองมนุษย์ตอบสนองต่อประสบการณ์ด้วยกลไกการจัดเก็บความทรงจำ 2 แบบคือ ความทรงจำโดยปริยาย และ ความทรงจำชัดแจ้ง
- ถ้าปมนี้ไม่ถูกสะสางจะเกิดภาวะความย้อนแย้งของพ่อแม่ (parental ambivalence) ได้ แม้จะรักลูกแต่ก็กลับอดทนกับการเลี้ยงลูกไม่ได้ ทำให้รู้สึกฝืน แสดงออกมาเป็นการเฉยชา เกิดอาการปั้นปึ่งใส่ลูกโดยไม่ตั้งใจ ผลที่ตามมา ลูกอาจมีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นศัตรูของพ่อแม่ และเติบโตไปเป็นพ่อที่ไม่มีความอดทนต่อลูก
‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ หมายความว่าพ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้น คำกล่าวนี้สะท้อนว่า พ่อแม่เลี้ยงลูกจากบทเรียนที่ตนเองเคยประสบ มองเห็นหรือเข้าใจโลกอย่างไรก็ถ่ายทอดไปสู่ลูกอย่างนั้น
ดังนั้นการจะปลูกฝังเลี้ยงดูให้ลูกมองโลกอย่างเปิดกว้างและเข้าใจ มีพลังใจอันงดงามเต็มเปี่ยมที่จะรับมือกับชีวิต ตัวพ่อแม่เองต้องมีทัศนคติเชิงบวก ยอมรับและเข้าใจประสบการณ์เลวร้ายที่ตนเองเคยพบก่อนจึงจะสามารถถ่ายทอดความรักความอบอุ่นมั่นคงปลอดภัยและพลังใจให้กับลูกได้
พ่อแม่บางคนอาจแบกรับปมบาดแผลบางอย่างมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก การถูกทอดทิ้ง ขาดความอบอุ่น หรือถูกทารุณ บาดแผลทางกายใจที่ได้รับมาจากครอบครัวหรือการต้องทนเก็บกดความรู้สึกบางอย่างเช่น ความโกรธแค้น ความกลัว หรือความน้อยเนื้อต่ำใจ ถ้าไม่เคยเปิดหัวใจยอมรับเพื่อเยียวยาสะสาง เข้าใจ ให้อภัย ปมปัญหาที่ติดค้างจากอดีตมีแต่จะขมวดแน่นขึ้นและเหนี่ยวนำเด็กน้อยที่เต็มไปด้วยบาดแผลคนนั้นให้กลายเป็นพ่อแม่ที่พร้อมจะสร้างบาดแผลแบบเดียวกันกับลูกเหมือนกับที่ตนเองเคยได้รับ
ตัวอย่างเช่นเด็กที่ถูกพ่อแม่ผละไปข้างนอกโดยไม่บอกกล่าวเพราะกลัวร้องงอแง จะเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย หวาดระแวงฝังใจว่าจะถูกทิ้ง ยิ่งถ้าถูกผู้ใหญ่ในบ้านดุหรือห้ามไม่ให้ร้องไห้อีก นอกจากความกลัวถูกทิ้ง ยังถูกซ้ำเติมด้วยการผลักไสไม่เห็นใจ เด็กก็จะรับมือความเศร้าของตนเองโดยการเก็บกดความรู้สึกไว้แทน
พ่อแม่ที่ในวัยเด็กถูกทอดทิ้งในลักษณะนี้ เมื่อต้องแยกจากลูกจะเกิดอาการ panic เพราะจิตประหวัดไปถึงคราวที่ตนเองถูกทิ้งมาก่อน ความเครียดส่งผ่านไปสู่ลูก ลูกเองก็จะเครียดเมื่อต้องห่างแม่ด้วยเช่นกัน วนลูปไปเป็นลูกโซ่
การจะข้ามผ่านปมปัญหาได้นั้นไม่ใช่การเก็บซ่อนหรือพยายามเบี่ยงเบนความรู้สึกไปจากความจริงที่เกิดขึ้น พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจในตนเอง (self-understanding) ทบทวนและยอมรับความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง (reflecting) ให้ได้เสียก่อน จึงจะสามารถมองบาดแผลเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนโดยไม่นำปมปัญหาเหล่านั้นมาเป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิต
การลบล้างปมบาดแผลในใจของพ่อแม่คือหนึ่งในคำแนะนำการเลี้ยงลูกจากหนังสือ Parenting from the Inside Out อันเป็นผลงานการจับปากกาเขียนร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการเนิร์สเซอรีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านแม่และเด็กซึ่งคลุกคลีกับเด็กๆ มากว่า 40 ปี แมรี ฮาร์ทเซล (Mary Hartzell) กับ คุณหมอ แดเนียล เจ. ซีกัล (Daniel J. Siegel) จิตแพทย์เด็กประจำมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์แห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือ UCLA ที่ผสมผสานความรู้ด้านการเลี้ยงลูก ทั้งจากแง่มุมความผูกพันปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวเข้ากับศาสตร์ความรู้ทางประสาทวิทยาว่าด้วยกลไกการทำงานของสมอง และจิตซึ่งทั้งสองด้านส่งผลต่อพัฒนาการทางกายใจตลอดเส้นทางการเติบโตของเด็ก
บาดแผลที่ได้รับจากครอบครัว (Left over Issues)
ฮาร์ทเซล ผู้ซึ่งคลุกคลีกับเด็กๆ หลายสิบชีวิตในเนิร์สเซอรี และเข้าใจการเลี้ยงเด็กเป็นอย่างดี ก็พบว่าในบทบาทความเป็นคุณแม่ เธอเองก็มีบาดแผลในใจที่ได้รับจากแม่จอมเจ้ากี้เจ้าการและส่งต่อบาดแผลเดียวกันนั้นไปยังลูกโดยไม่รู้ตัว
ครอบครัวฮาร์ทเซลมีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ทุกครั้งที่แม่ลูกต้องยกโขยงกันไปซื้อรองเท้าใส่ไปโรงเรียน แม่จะเคร่งเครียดและเจ้ากี้เจ้าการกับการเลือกรองเท้าของลูกๆ ทุกคนให้คุ้มค่า คุ้มราคามากที่สุด ติดที่เท้าของเธอเป็นไซส์มาตรฐานจึงมักได้รองเท้า sale เสมอ ในขณะที่พี่ๆ บางคนใส่เบอร์ธรรมดาไม่พอดีจึงมักได้คู่ที่แพงและแตกต่าง เธอน้อยใจแต่ก็รับรู้ว่าแม่เครียดเพียงใดที่ต้องจ่ายเงินจำนวนมากทุกครั้งที่พาไปซื้อรองเท้า
เมื่อเธอกลายเป็นคุณแม่ลูกสอง คิดว่าการพาลูกๆ ไปช็อปปิ้งกันกะหนุงกะหนิงคงเป็นช่วงเวลาแสนสุข แต่กลับกลายเป็นว่า เธอถอดแบบแม่ที่เจ้ากี้เจ้าการของตัวเองในอดีตมาเป๊ะๆ ติมันไปซะทุกอย่างจนลูกหมดสนุกและลงเอยที่ “แม่ก็เลือกเองเลยแล้วกัน” ออกไปช็อปปิ้งด้วยกันครั้งใด ต้องเหนื่อยหน่ายใจด้วยกันทุกครั้ง
กระทั่งวันหนึ่งเมื่อลูกถามตรงๆ ว่า “ตอนเป็นเด็กแม่ไม่ชอบเวลาได้ออกไปซื้อรองเท้าคู่ใหม่เหรอครับ?” เพียงเท่านั้น ฮาร์ทเซลก็ถึงบางอ้อ ภาพความทรงจำอันอลหม่านที่แม่ของเธอหัวหมุนในวงล้อมของลูกๆ กับรองเท้ากองพะเนินก็ผุดขึ้นมาอีกครั้ง
ใช่แล้ว! ความเครียดขมึงทึงที่แม่ส่งผ่านมาถึงเธอว่าเธอไม่มีสิทธิเลือกรองเท้าตามอำเภอใจยังคงหลอกหลอนฝังแน่นอยู่ในใจ เธอเดินตามแพทเทิร์นของแม่มาทั้งดุ้น เคร่งเครียดและเจ้ากี้เจ้าการอย่างเดียวกันกับที่แม่เธอทำ
การค้นพบปมฝังใจนี้โดยบังเอิญ ทำให้ฮาร์ทเซลได้กลับไปทบทวนทำความเข้าใจตัวเอง สามารถแยกแยะสถานการณ์ที่เกิดในอดีตของตัวเองออกจากปัจจุบัน และเกิดการตระหนักรู้จนในที่สุดสามารถก้าวข้ามปมบาดแผลมาได้
ปมความรู้สึกเก็บกด (Unresolved Issues)
ปมความรู้สึกเก็บกดมักรุนแรงกว่าบาดแผลที่พ่อแม่ถ่ายทอด เพราะต้นตอปัญหาเกิดภายในจิตใจจากความสัมพันธ์หรือประสบเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนใจมากจนถึงขนาดรู้สึกสิ้นหวัง หมดอาลัยตายอยากในชีวิต หวาดกลัว พลังชีวิตถูกกัดกร่อน เช่น การที่ลูกถูกทอดทิ้งในลักษณะที่ซับซ้อนรุนแรงกว่าข้างต้น คือถูกทิ้งให้ใช้ชีวิตตามลำพังเพราะแม่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ถูกส่งต่อเวียนตามบ้านญาติไปเรื่อยๆ พร้อมกับสภาพจิตใจแห้งแล้ง ไม่มั่นคง ขาดความอบอุ่น
เด็กที่เติบโตด้วยปมความรู้สึกนี้ฝังใจมายาวนานโดยไม่เคยสะสางความรู้สึกตนเอง ก็จะเติบโตไปเป็นแม่ที่เข้าหาลูกยาก ไม่สามารถสร้างความผูกพันเพราะตัวเองไม่เคยได้รับเช่นกัน
คุณหมอซีกัลเองก็แชร์ว่าเขามีปมความรู้สึกเก็บกดแบบนี้เช่นกัน ความหวาดกลัวรุนแรงจะปะทุขึ้นทุกครั้งเมื่อเห็นลูกร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ คุณหมอเล่าว่าวันหนึ่งขณะพาลูกชายตัวน้อยไปปิกนิก จู่ๆ เมื่อลูกเริ่มร้องไห้ อาการหวาดผวารุนแรงอย่างประหลาดก็จู่โจม เหงื่อซึมสองมือ แม้รู้ว่าควรปลอบลูก แต่ยังไงๆ ก็ทำไม่ได้ เกิดความรู้สึกอยากเดินหนีไปซะดื้อๆ
คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกว่าในวัยเด็กเขาเคยประสบเหตุการณ์อะไรหนอจึงหวาดผวากับเสียงร้องไห้นี้ เดาว่าอาจเป็นเพราะพ่อแม่เคยปล่อยให้ร้องไห้อย่างนี้ละมังแต่ก็จำไม่ได้ เพราะสมองของเด็กเล็ก กลไกการทำงานของสมองส่วนความจำยังพัฒนาไม่เต็มที่ แต่แม้จะพยายามทำความเข้าใจตัวเองเพียงใดกลับไม่สามารถเยียวยาอาการหวาดผวามือสั่นเมื่อได้ยินเสียงลูกร้องให้บรรเทาลงไปได้เลย แถมยังหนักขึ้นทุกครั้งจนกลายเป็นความรู้สึกต่อต้านการอยู่กับลูก
แม้พยายามทำความเข้าใจตัวเองแต่อาการก็ไม่หายไป เพราะเขายังไม่ค้นเจอเหตุการณ์ที่เป็นต้นตอของปมอย่างแท้จริง จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อลูกร้อง เขาไม่เดินหนีอีกต่อไป พยายามหาคำตอบโดยการหลับตาเพ่งไปที่ความกลัวที่ผุดขึ้นในใจอย่างจดจ่อ ไม่เบนความสนใจไปจากเสียงร้องของลูก เสียงลูกน้อยร้องไห้จ้า คุณหมอหลับตามองไปที่ใจตัวเองว่าเขากำลังกลัวอะไรกันแน่
ภาพที่เห็นด้วยใจกระจ่างชัด เสียงกระจองอแงไม่ได้มาจากลูก แต่มาจากคนไข้เด็กที่ร้องสุดเสียงด้วยพิษไข้และเจ็บปวดที่เขากับเพื่อนกุมารแพทย์เมื่อครั้งยังเป็นแพทย์ฝึกหัดกำลังตรึงแขนเล็กๆ นั้นเพื่อเจาะเลือด ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่นั้นท่ามกลางเสียงเด็กร้อง สิ่งที่คุณหมอต้องทำระหว่างปฏิบัติหน้าที่รักษาเด็กๆ ที่เจ็บป่วยเหล่านั้นคือการเก็บกดความรู้สึกสงสารเห็นใจ ความรู้สึกผิดที่ตนเป็นต้นเหตุให้เด็กร้องไห้เพราะต้องทำงาน (รักษา) ให้เสร็จ ตลอดการฝึกหัด คุณหมอโฟกัสเฉพาะแค่ประสบการณ์ที่ดีโดยลืมไปว่ามีความเจ็บปวดที่ตัวเองเก็บซ่อนไว้ลึกสุดใจ
มาวันนี้เขาพบแล้วว่าต้นตอความหวาดกลัวในใจไม่ได้มาจากเสียงร้องของลูกน้อยตรงหน้า แต่เป็นเสียงสะท้อนที่ก้องมาจากส่วนลึกที่สุดของหัวใจในคราวนั้น
ทำไมปมนี้ถึงเพิ่งมาปรากฏเอาเมื่อตอนได้ยินลูกร้องไห้ ก็เพราะปัจจัยที่กระตุ้นการระลึกความทรงจำที่เป็นปมนี้ คือการได้ประสบกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำนั้น (อยู่กับเด็กที่กำลังร้องไห้) มีแก่นของประสบการณ์พ้องกับความทรงจำ (เด็กร้องไห้) จังหวะชีวิตที่ต้องทำบางอย่างดังที่เคยทำในความทรงจำหรือเจอบุคคลที่อยู่ในความทรงจำที่เป็นปมนั้นอีกครั้ง หรือสภาพจิตใจขณะระลึกความทรงจำพ้องกันกับเมื่อตอนเกิดปมปัญหา (รู้สึกทุกข์ใจเมื่อเด็กร้องไห้)
ด้วยความที่เป็นจิตแพทย์ คุณหมอซีกัลอธิบายกลไกการทำงานของสมองที่เกี่ยวพันกับความทรงจำที่เป็นปมบาดแผลว่า การที่เขาจำอะไรไม่ได้ในตอนแรกเป็นเพราะจิตของเขาค้นหาความทรงจำที่เกิดกับตนเองเชิงเหตุการณ์ในห้วงเวลาต่างๆ (เรียกว่า autobiographical memory-จะกล่าวถึงต่อไป) ในขณะที่ช่วงเวลาการเป็นแพทย์ฝึกหัดไม่ได้ถูกเข้ารหัสเป็นความทรงจำลักษณะนี้ เพราะในตอนนั้นกลไกเพื่อความอยู่รอดของเราจะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเรื่องที่เราหวาดกลัวโดยอัตโนมัติ ความเครียดจะไปหลั่งฮอร์โมนบางอย่างที่ขัดขวางการทำงานของสมองส่วนที่ผนึกความทรงจำด้าน autobiographical ผลคือสมองของเขาในขณะทำหน้าที่แพทย์ฝึกหัดจอมเย็นชาผนึกความทรงจำเลวร้ายนั้นมาในรูปแบบจิต (ศัพท์เทคนิคเรียกว่า mental modes) คือความรู้สึกผิด หวาดกลัว หดหู่ โดยไม่มีรายละเอียดของเหตุการณ์อยู่เลย
คุณหมอมองว่า ปมบาดแผลนี้น่าจะถูกสะสางไปตั้งแต่เขาฝึกงานจบ ถ้าหากเขาหยุดคิดทบทวนกับตัวเองสักหน่อยว่าเด็กเหล่านั้นเจ็บและกลัวขนาดไหน ภายใต้หน้ากากความเย็นชานิ่งเฉยของคุณหมอนั้นตัวเองกลัดกลุ้มและเป็นทุกข์มากเพียงใด ให้อภัยตัวเองว่าที่ทำไปเพราะจำเป็นต้องรักษาชีวิตหนูน้อยเหล่านั้น
มาบัดนี้เมื่อความรู้สึกที่ถูกกดไว้ปะทุขึ้นในต่างวาระต่างโอกาส เขาในฐานะพ่อต้องทำความเข้าใจพร้อมกับต่อสู้กับกลไกความอยู่รอดที่พยายามผลักให้หนีจากเสียงร้องและหลีกเลี่ยงการเข้าไปรับรู้ความเปราะบางของลูก ซึ่งโน้มนำให้แสดงพฤติกรรมที่สามารถทำร้ายจิตใจลูก
หนทางการสะสางปมนี้ คุณหมอใช้วิธีพยายามเล่าย้อนความทรงจำช่วงเป็นแพทย์ฝึกหัดให้เพื่อนฟังและจดบันทึกอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจอย่างตรงไปตรงมาเมื่อได้ยินเสียงลูกร้องไห้ อาการทางกายเช่น ปั่นป่วนในช่องท้อง คลื่นไส้ ครั่นเนื้อครั่นตัว และมือสั่น เกิดขึ้นทุกครั้งที่พยายามเข้าไปเยียวยาต้นตอความกลัวนั้น
เขาอธิบายว่าวิธีระบายความรู้สึกที่กดไว้ผ่านการพูดและเขียนช่วยให้เขาค่อยๆ ยอมรับตัวเองทีละนิด ตระหนักได้ว่าในห้วงขณะนี้เขาไม่ใช่คุณหมอที่กำลังปฏิบัติภารกิจ ลูกร้องไห้เพราะความเปราะบางและต้องการที่พึ่งเป็นธรรมชาติของเด็ก เขาเปิดรับบทบาทหน้าที่พ่อที่สามารถปลอบโยนลูกและเป็นอิสระจากความรู้สึกผิดบาปที่ตัวเองเก็บซ่อนไว้ในลิ้นชักความทรงจำได้เสียที
คุณหมอชี้ว่าถ้าปมนี้ไม่ถูกสะสางจะเกิดภาวะความย้อนแย้งของพ่อแม่ (parental ambivalence) ได้ คือ แม้จะรักลูกแต่ก็กลับอดทนกับการเลี้ยงลูกไม่ได้ ความรู้สึกฝืนทนจะส่งผ่านไปยังลูก โดยแสดงออกมาเป็นการเฉยชาต่อความรู้สึกของลูกหรือออกอาการปั้นปึ่งใส่ลูกโดยไม่ตั้งใจ
ผลที่ตามมาคือ ลูกอาจมีความรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นศัตรูของพ่อแม่ติดตัว และเติบโตไปเป็นพ่อที่ไม่มีความอดทนต่อลูกอย่างที่เขาเคยได้รับการปฏิบัติมาเช่นกัน
ถอดรหัสความทรงจำ สะสางปมปัญหา
กล่าวได้ว่าปมบาดแผลคือความทรงจำที่หลงเหลือจากเหตุการณ์สะเทือนใจในอดีตซึ่งส่งผลต่อความคิด สภาพจิตใจ การมองโลกความเป็นไปในปัจจุบัน การทำความเข้าใจกลไกการทำงานของสมองส่วนจัดเก็บความทรงจำอาจเป็นกุญแจไขไปสู่คำตอบว่าทำไมเราจึงสั่งสมปมบาดแผลเหล่านั้นไว้ในใจและทำอย่างไรจึงจะลบล้างเยียวยามันได้
ตั้งแต่แรกเกิด สมองก็สามารถตอบสนองสภาวการณ์รอบตัวได้แล้วโดยเซลล์ประสาทในสมองที่เรียกว่า neuron แลกเปลี่ยนคลื่นสัญญาณระหว่างกัน การเชื่อมต่อกันของเซลล์ก่อเกิดเป็นกลไกที่ทำหน้าที่จดจำและแตกแขนงเป็นโครงสร้างส่วนต่างๆ ที่เชื่อมโยงหน้าที่แตกต่างกันไว้ ทั้งหมดทั้งปวงของกลไกสมองที่ก่อร่างขึ้นนั้นคือจิตใจ (mind) นั่นเอง
และเพราะกลไกการเชื่อมต่อของเซลล์เกิดเป็นวงจรการทำงานในสมองและความทรงจำเกิดขึ้นด้วยการตอบสนองต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นพัฒนาการสมองและจิตใจของบุคคลนั้นๆ จึงได้รับอิทธิพลมาจากประสบการณ์ที่ได้รับนั่นเอง
สมองตอบสนองต่อประสบการณ์ด้วยกลไกการจับเก็บความทรงจำ 2 แบบคือ
- ความทรงจำโดยปริยาย (Implicit Memory)
- ความทรงจำชัดแจ้ง (Explicit Memory)
ความทรงจำโดยปริยาย เป็นความทรงจำที่เป็นข้อมูลซึ่งถูกจัดเก็บผ่านการทำงานทางจิต (mental models) ไม่ผ่านสมองส่วนคิดตริตรอง จิตบันทึกมาเฉพาะความรู้สึกล้วนๆ มาโดยไม่มีพื้นเรื่องราวเหตุการณ์มาด้วยและเป็นไปโดยไม่รู้ตัว เช่น เด็กที่แม่คอยอยู่ฟูมฟักดูแลจะ ‘จดจำ’ ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย เมื่อรู้สึกกลัว กลไกทางจิตที่จดจำความผูกพันนั้นก็จะสั่งการให้ร้องหาแม่โดยอัตโนมัติ กล่าวกันว่าความทรงจำประเภทนี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ยังเป็นทารกน้อยในครรภ์เลยก็ว่าได้
การจดจำด้วยจิตนี้เปรียบเสมือนเลนส์แว่นตาที่เหนี่ยวนำการมองเห็นและพฤติกรรมที่มีต่อโลกรอบตัวของบุคคล เราจะค่อยๆ พัฒนาวิธีการมองโลกและตัวตนแรกเริ่มขึ้นจากความทรงจำโดยปริยายนี้ บางครั้งปมบาดแผลที่เกิดจากเหตุการณ์สะเทือนใจบางอย่างอาจถูกจัดเก็บเป็นความทรงจำแบบนี้ได้ด้วยการหลั่งฮอร์โมนบางตัวด้วยความกลัวหรือเครียดถึงขีดสุด รวมทั้งกลไกเอาตัวรอดของร่างกายที่เบนความสนใจไปจากความกลัว (เช่นกรณีของคุณหมอ) ด้วยเหตุนี้จึงมีพ่อแม่หลายคนที่คิดและแสดงออกทางลบด้วยปมบาดแผลจากอดีตโดยไม่รู้ตัวหรือให้นึกสาเหตุเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก
ความทรงจำชัดแจ้ง เป็นความทรงจำที่เกิดขึ้นเมื่อสมองส่วนที่ชื่อว่า Hippocampus พัฒนาเมื่อเด็กอายุได้ 2 ขวบ สมองส่วนนี้ทำหน้าที่จัดเก็บความทรงจำเป็นความหมายหรือความรู้ด้านต่างๆ (Semantic Memory / Factual Memory) เช่น รู้จักคำว่าพ่อแม่ กิน หิว นับเลข หรือ จำ ก-ฮ ได้ กับทั้งสามารถจำรายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ ที่ตนเองประสบตามช่วงเวลา (Autobiographical Memory) เช่น เข้ามหาวิทยาลัย เรียนจบ บวช แต่งงาน ภรรยาตั้งครรภ์ เป็นต้น
ความทรงจำ Autobiographical Memory นี้เกี่ยวพันโดยตรงกับการทำงานของสมองส่วนหน้าสุดที่อยู่หลังกะโหลกหน้าผากเรียกว่า Prefrontal Cortex ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Hippocampus ซึ่งเริ่มพัฒนาเมื่อเข้าขวบปีที่ 2 นั่นเอง ดังนั้น สาเหตุที่เราจดจำเหตุการณ์ตอนแบเบาะหรือช่วงก่อนสองขวบไม่ได้เลย (ทางการแพทย์เรียกว่าช่วง childhood amnesia) มาเริ่มจำได้คลับคล้ายคลับคลาเอาก็เมื่อช่วงเข้าโรงเรียนแล้ว และความทรงจำในช่วงนั้นก็กระท่อนกระแท่น เช่น จำได้ว่าโดนหมากัดแต่ก็ลงรายละเอียดได้ไม่แน่ชัด นี่ก็เป็นเพราะสมองส่วนที่สามารถเก็บความทรงจำที่เป็นรายละเอียดช่วงเวลาได้เพิ่งเริ่มทำงานตอนสองขวบ
นอกจากสมองส่วน Prefrontal Cortex ทำหน้าที่จดจำเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเอง มันยังทำหน้าที่คิดตริตรองการเข้าใจความรู้สึกตนเอง (self-awareness) การเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (mindsight) การเลือกตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างเหมาะสม (response flexibility) และการยับยั้งชั่งใจ (regulation of emotions) ด้วย
ความรู้ตรงนี้สำคัญกับพ่อแม่มาก! เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่าลูกในวัยเบบี๋สามารถรับรู้ความรู้สึกผูกพัน มั่นคง อบอุ่น ปลอดภัยได้แม้สมองจะยังไม่สามารถจำเหตุการณ์เป็นเรื่องราวเลยด้วยซ้ำ (ด้วยความทรงจำโดยปริยาย)
ดังนั้น การให้ลูกได้รับความอบอุ่นและสร้างความผูกพันในช่วงเริ่มต้นของขวบปีจึงมีความสำคัญมากเท่าๆ กับการสร้างความทรงจำทางประสบการณ์ที่ดี อันเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งมั่นคงสำหรับพัฒนาการทางใจที่จะกอปรรูปร่างเป็นตัวตนของเขาต่อไปในอนาคต
ในขณะเดียวกัน การจะสะสางเยียวยาปมบาดแผลของพ่อแม่ได้ก็เกี่ยวพันกับความสามารถในการเข้าถึงความทรงจำที่เป็นต้นตอเหล่านั้นด้วย เช่น จากเคสของคุณหมอซีกัล ประสบการณ์ช่วงเป็นแพทย์ฝึกหัดส่งผลกระทบต่อการบันทึกความทรงจำแบบชัดแจ้ง ความเครียดสุดจิตสุดใจในขณะนั้นบล็อกสมองส่วน Hippocampus ไม่ให้ทำงานเต็มที่ กลไกเอาตัวรอดเบนสติสัมปชัญญะออกจากความทุกข์ ความทรงจำที่เป็นต้นเหตุของปมเฉพาะที่ทำให้ผู้ป่วยร้องไห้จึงถูกบันทึกผ่านจิตใจในรูปความทรงจำโดยปริยาย แทนที่จะเป็นความทรงจำแบบชัดแจ้ง คุณหมอจึงรู้สึกต่อต้านการแสดงความอ่อนโยนเมตตากับเด็กโดยนึกถึงสาเหตุไม่ออก เมื่อจับเศษเสี้ยวความทรงจำทางความรู้สึกนั้นมาทำความเข้าใจที่มาที่ไปและสถานการณ์แวดล้อมของมัน เกิดกระบวนการที่สมองส่วน Prefrontal Cortex เข้ามาประมวลความทรงจำโดยปริยายที่เก็บไว้ คุณหมอก็เกิดความเข้าใจในตนเอง จนสามารถสะสางคลี่คลายปมความรู้สึกที่ถูกกดทับไว้ผ่านการตระหนักรู้ในที่สุด
พ่อแม่ทุกคนมีปมบาดแผลติดตัวกันมาไม่มากก็น้อย ถ้าไม่สะสางคลี่คลายปม บาดแผลที่หลงเหลือติดค้างก็จะถูกถ่ายทอดเป็นวัฏจักรต่อไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า พ่อแม่ที่เข้าใจตัวเองยิ่งเลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ การตั้งสติชั่วขณะหนึ่งเพื่อทบทวนปฏิกิริยาที่เราจะตอบสนองกับลูกคือหนทางยับยั้งการสร้างปมบาดแผลต่อเนื่อง การถักทอสายใยพ่อแม่ลูก ความอบอุ่นผูกพันในครอบครัวเริ่มต้นได้จากการโอบกอดปมบาดแผลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง เรียนรู้แง่มุมที่สวยงามของมันด้วยความเข้าใจและยอมรับ
ที่มา:
Daniel J. Siegel, M. a. (2004). How We Remember: Experience Shapes Who We Are . In Parenting from the Inside Out (pp. 1-30). New York: tarcherperigee.