- หนังสือ ‘Mind-Body Medicine ปรับใจเยียวยากาย’ โดย นายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร นำเสนอทางเลือกใหม่ในการกลับมาดูแลกายและใจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง โยคะ ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด ละครบำบัด รวมถึงการเขียนด้วย แต่นอกเหนือกิจกรรมทั้งมวล ต้องการให้ทุกคนกลับมาตระหนักรู้ในตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่ยังกวนใจเราอยู่ทุกวัน เพื่อที่จะดูแลใจของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- สอดคล้องกับความเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า ศิลปะบำบัดจะเป็นการสร้างงานศิลป์ที่เน้นไปที่การเยียวยาจิตใจของคน โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องความสวยงาม หรือความเหมือนในตัวแบบ การวาดภาพก็คือภาพสะท้อนสภาวะของใจเรา
เรื่อง: วีระวัชร์ มงคลโชติ
ลจากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยจากกรมสุขภาพจิต ซึ่งสำรวจทุก 5 ปี ในปี พ.ศ. 2551 พบว่าคนส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่เกือบ 1 ใน 5 เสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิต และกว่าแสนรายต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2556 พบว่าคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 7 ล้านคน
สถิติข้างต้นชวนให้ผมนึกถึงวันรวมรุ่นคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมได้นั่งพูดคุยกับรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา เขาบอกว่าการนัดคิวปรึกษากับนักจิตวิทยาต้องรออย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือบางทีก็เป็นเดือน
“เดี๋ยวนี้เด็กปีหนึ่งหลายคน พอเข้ามหาวิทยาลัยได้ ก็มารับบริการเต็มไปหมด” พี่คนนี้ย้ำกับผมเช่นนั้น
บทสนทนาวันนั้นกับสถิติจากท้ายเล่มของหนังสือ ‘Mind-Body Medicine ปรับใจเยียวยากาย’ โดย นายแพทย์วิโรจน์ ตระการวิจิตร หรือ หมอคิม ตอกย้ำถึงความเร่งด่วนของปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องได้รับการแก้ไข
หากร่างกายของเราเสื่อมสภาพลงจนเกิดเป็นโรคต่างๆ ได้ จิตใจก็ย่อมไม่แตกต่างกัน และหากจิตใจของเราสามารถ ‘เจ็บป่วย’ ได้เช่นเดียวกับร่างกาย การรักษาให้หายก็ย่อมเป็นไปได้เช่นเดียวกัน หลังจากวันที่ได้คุยกับรุ่นพี่คนนั้น ผมยังมีคำถามที่ค้างคาอยู่ในใจว่า…
ในเมื่อผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาการปรึกษาที่มีอยู่นี้ไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือกลุ่มคนที่มีปัญหา เราพอจะมีทางจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตอย่างไรได้อีกบ้าง?
ผมใช้เวลาหลังเรียนจบออกตามหาเครื่องมืออื่นๆ โดยส่วนใหญ่หมดเวลากับการศึกษาและปฏิบัติธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหลัก สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองคือ ‘ความสมดุล’ เป็นสิ่งที่ศาสตร์ตะวันออกให้ความสำคัญอย่างมาก เส้นทางชีวิตจากการศึกษาตามหลักสูตรที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดความเชื่อทางตะวันตกก็สอดรับกับเส้นทางชีวิตของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คล้ายผมเดินทางมาพบกับ ‘ทางเลือก’ ในการดูแลกายและใจของตัวเองนอกเหนือไปจากวิธีทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
เนื้อหาภายในเล่มเรียบเรียงผ่านประสบการณ์ของนายแพทย์วิโรจน์ ที่ต้องเผชิญกับอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบที่เป็นตั้งแต่วัยเด็กและสืบเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี ความรู้ทางการแพทย์ที่เขามียังไม่เพียงพอจะทำให้รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่ต้องเผชิญ สุดท้ายคุณหมอพบว่าหนึ่งในสาเหตุที่เป็นตัวปัญหาที่สุดแท้จริงแล้วคือ ‘ความเครียด’ ของเขาเอง
การเดินทางค้นหาวิธีเยียวยารักษาตัวเองได้นำพาคุณหมอมาพบกับศาสตร์ ‘ศิลปะบำบัด (Art Therapy)’ หนึ่งในสาขาของการแพทย์สายจิต (Mind-Body Medicine) ซึ่งเน้นการดูแลสุขภาพโดยผ่านกลไกทางด้านจิตใจ ร่างกาย และสังคมสิ่งแวดล้อม คุณหมอนำเสนอ 5 วิธี โดยแบ่งเป็น 5 บทในหนังสือ ได้แก่
- วาดภาพ วาดใจ
- ดนตรีบำบัดสร้างสมดุลชีวิต
- ศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกาย
- เขียนเยียวยาชีวิต
- ละครบำบัดรักษาจิต ซึ่งได้คุณสุภัฏ สิกขชาติ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ ผู้เรียนรู้ชีวิตจริงผ่านกระบวนการละครบำบัด มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์
ก่อนเริ่มต้นพูดถึงวิธีการบำบัดในแต่ละข้อ คุณหมอได้พูดถึงกลุ่มบุคคล 6 กลุ่ม ที่เหมาะกับการใช้ศิลปะบำบัด ได้แก่ ผู้ป่วยเด็ก, ผู้ป่วยสูงอายุ, ผู้ป่วยโรคเอดส์, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และบุคลากรทางการแพทย์
นอกจากนี้ เนื้อหาในหนังสือยังมีการอ้างอิงตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการกล่าวถึงกระบวนการทำงานของสมองและฮอร์โมนในร่างกาย ทั้งยังมีการอ้างอิงถึงนักจิตวิทยาและจิตแพทย์หลายคนที่ทำงานวิจัยเพื่อสร้างกระบวนการในการบำบัดเยียวยาที่คุณหมอได้หยิบยกกระบวนการบำบัดที่ผ่านประสบการณ์มาด้วยตัวเองเพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาภายในหนังสือเล่มนี้ โดยมีการรับรองอย่างเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ สืบค้นเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจต่อยอดในการเรียนรู้หรือนำมาประยุกต์ใช้ช่วยเหลือเยียวยาต่อไป
ความแตกต่างของศิลปะบำบัดกับการสร้างงานศิลปะทั่วไปก็คือ ศิลปะบำบัดจะเป็นการสร้างงานศิลป์ที่เน้นไปที่การเยียวยาจิตใจของคนคนนั้น ซึ่งจะไม่เกี่ยวกับเรื่องความสวยงาม หรือความเหมือนในตัวแบบ การวาดภาพก็คือภาพสะท้อนสภาวะของใจเรา
คุณหมอบอกเล่าถึงประสบการณ์การเรียนวาดภาพในคอร์ส ‘สีน้ำวิปัสสนา’ ที่ โรงเรียนธรรมชาติ บ้านริมน้ำ จังหวัดนครปฐม โดยเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่แสง การมองเห็น ความเข้ม การลงสี การผสมสี เป็นต้น และนอกเหนือจากขั้นตอนการฝึกฝนดังกล่าว คุณหมอยังได้มีโอกาสสำรวจความคิดและความรู้สึกของตนเองผ่านการวาด และภาพที่ถูกวาดได้แสดงอุปนิสัยและความรู้สึกนึกคิดของผู้วาด ณ ขณะนั้นอีกด้วย
เช่นเดียวกับการวาดภาพที่เราไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินผู้ช่ำชอง ดนตรีบำบัด ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเยียวยาโดยปรับใช้ให้ผู้บำบัดได้ฝึกเล่นดนตรีอย่างง่ายเพื่อเป็นการผ่อนคลาย และปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองซึ่งส่งผลดีต่อทั้งร่างกาย และจิตใจ คุณหมอได้นำเสนอหนังสือ ‘มหัศจรรย์ one to five ไม่มีใครในโลก เล่นเปียโนไม่ได้’ ซึ่งเป็นวิธีการอย่างง่ายในการฝึกฝนการเล่นเปียโนที่คุณหมอเลือกเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการเยียวยาตัวเอง
ในส่วนของศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกาย ที่เน้นการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอและด้วยท่วงท่าที่ถูกต้องเหมาะสม จะสามารถพัฒนาสมรรถนะทางร่างกายอันจะส่งผลต่อการหลั่งสารเคมีที่ทำให้สมองตื่นตัว และสร้างเส้นใยประสาทเพิ่มขึ้น โดยคุณหมอได้เลือกนำเสนอการออกกำลังกายด้วยการ ‘วิ่ง’ ที่ทำได้ง่าย ได้ทั้งความทนทาน, ความแข็งแรง และการทรงตัวยืดหยุ่น ตามด้วย ‘ชี่กง’ ศาสตร์การแพทย์ของจีนในการบริหารพลังงานในร่างกายให้เกิดความสมดุล และ ‘โยคะ’ หนึ่งในศาสตร์การแพทย์จากอินเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน
อีกหนึ่งวิธีที่ต้นทุนต่ำ ใช้เวลาน้อย ยืดหยุ่น ทำเป็นส่วนตัวหรือแบ่งปันคนอื่น รวมถึงทำที่ไหนก็ได้คือ การเขียน ที่ใช้ในการเยียวยา เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในตัวเอง แก้ปัญหาชีวิต พัฒนาเติบโต และส่งเสริมสุขภาวะทางกาย และใจอีกด้วย คุณหมอได้ยกตัวอย่างวิธีการเขียนบางส่วน เช่น การเขียนระบายความทุกข์ ความเศร้า อารมณ์ด้านลบออกมา (expressive writing), การเขียนตามแนว Personality and Human Relations (PRH) และการเขียนตามแนวทางของเวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Satir Model)
สุดท้ายหนึ่งในเครื่องมือที่ผมชื่นชอบคือ ละครบำบัด ที่รวบรวมเอาองค์ความรู้หลายสาขาเข้าด้วยกัน และเน้นไปที่การให้ผู้บำบัดได้มีโอกาสแสดงออกด้วยตัวตนผ่านบทบาทที่หลากหลายโดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะการแสดงมาก่อน และสามารถจัดกระบวนการได้ทั้งในแบบเดี่ยวและกลุ่มอีกด้วย คุณสุภัฏได้ถ่ายทอดมุมมองที่น่าสนใจที่บอกเล่าถึงเหตุการณ์ในชีวิตของตัวเองที่แสดงถึง ‘การสวมบทบาทในชีวิตประจำวัน’ เหมือนกับการที่เราเป็นนักแสดงในโรงละครที่ชื่อว่าชีวิตมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก เพื่อเรียกร้องให้ตนได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยรูปแบบวิธีการที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ภูมิหลังประสบการณ์ของแต่ละคน ทั้งนี้คุณสุภัฏได้ยกตัวอย่างครูละครบำบัด 3 ท่าน ได้แก่ ครูกิล (Gil Alon), โจเอล กลัค (Joel Gluck) และ อมิต รอน (Amit Ron)
บทบาทของหนังสือเล่มนี้คือ การนำเสนอทางเลือกใหม่ในการกลับมาดูแลกาย และใจของตนเอง ซึ่งมีวิธีการหลากหลายให้ผู้อ่านได้เลือกหยิบนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การกลับมาตระหนักรู้ในตนเองว่าอะไรคือความไม่สมดุลที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตของเรา มีอะไรที่ยังกวนใจเราอยู่ทุกวัน อะไรบางอย่างที่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปในชีวิต เพื่อที่จะดูแลใจของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ
และอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การมีใครสักคนที่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง และคอยรับฟังเราในวันที่เราต้องการกำลังใจ และการสนับสนุน
เอิธ-วีระวัชร์ มงคลโชติ คนรุ่นใหม่ที่สนใจศาสตร์การค้นหาตัวเอง ศึกษาธรรมะทุกรูปแบบคู่ไปกับศาสตร์จิตวิทยาและวิทยาศาสตร์สมอง แม้เรียกตัวเองว่าเป็นนักศึกษาธรรมะ แต่ระหว่างการศึกษาทางธรรมเขาก็พาตัวเองไปเรียนรู้ทุกศาสตร์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัคร Teach for Thailand, เข้าร่วมโครงการด้านธุรกิจเพื่อสังคมและได้ไปดูงานเรื่อง Design Thinking ที่ซิลิคอนวัลเลย์ ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายให้คนรุ่นใหม่มีเครื่องมือในการเข้าใจตัวเอง ปัจจุบันเอิธเป็นฟรีแลนซ์ที่มักสร้างโปรเจ็คท์ให้คนรุ่นใหม่มารวมตัวกันทำประเด็นทางสังคม โดยใช้การตระหนักรู้ในตัวเองเป็นเครื่องมือทำงานทั้งภายในและส่งออกไปภายนอก |