- “ช่วงวิกฤตวัยกลางคน” เป็นเหมือนแรงพายุที่ปะทะตรงกับตัวเรา เช่น การพลัดพรากจากสิ่งสำคัญ การเกิด การตายจาก ความทุพพลภาพ อุบัติเหตุ การเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือการปะทุของบาดแผลในวัยเด็กที่ฝังลึก
- เป็นบทเรียนภาคต่อจากบทเรียนรู้ครึ่งแรกของชีวิต ที่กำลังดำเนินสู่การเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเราสมบูรณ์ขึ้นคือการอนุญาตให้เราเป็นตัวของเราเอง ใช้ศักยภาพที่เคยมีมา “เปิดเผยในแบบของเรา”
- ถึงแม้ช่วงวัยกลางคนจะเป็นการเริ่มต้นของวิกฤต หากมองลึกลงไปเราจะรับรู้ได้ว่ามันคือ การท้าทายตัวตนต่างๆ ที่เรายึดไว้ว่าเป็นเรา
ในหลายๆ คนที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิตแต่ละช่วงวัย และยังสนุกกับการแสวงหาศักยภาพต่างๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการภายใน แต่สำหรับคนที่เริ่มมีอายุมากขึ้นอย่างช่วงวัยกลางคน อาจจะพบว่า กำลังมีวิกฤตทางสภาวะอารมณ์ที่ก่อตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังชีวิตที่ดูเฉื่อยและช้าลง หรือเริ่มมีสิ่งรบกวนจิตใจที่จัดการได้ยาก หรือแม้แต่อาจเกิดเหตุการณ์ที่พลิกผันจนตั้งตัวไม่ติด เช่น ความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง อุบัติเหตุเล็กๆ จนถึงร้ายแรง หรือโรคภัยไข้เจ็บ
เป็นความรู้สึกถึงการเจอความพังทลาย ส่งผลให้หมดกำลังใจไปเรื่อยๆ เหมือนเรากำลังเจอสิ่งกีดขวาง มองเห็นแต่ความตีบตัน บางคนเลือกจะไปต่อ แต่กลับเจอแต่ความสับสนว่าจะไปทิศทางไหนดี เพราะความทุกข์ของเราที่พบเจอ มันไม่แสดงตัวชัดเจนว่าต้องการอะไรจากเรา มีแต่คำถามว่า ทำไมต้องเกิดขึ้นกับฉันด้วย..? เป็นความเคลือบแคลงสงสัยที่ปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกสีเทาดำ
“วิกฤตวัยกลางคน” อีกหนึ่งฤดูกาลของชีวิต
ช่วงชีวิตครึ่งแรกของวัยผู้ใหญ่มาจนวัยกลางคนนั้น อาจจะมีเหตุการณ์นำพาให้เราพบเจอโอกาสและอุปสรรคที่ไม่ได้คาดคิดไว้ และในช่วงเริ่มต้นครึ่งแรกของวัยผู้ใหญ่เรามักจะมีสิ่งเหนี่ยวนำ หรือจะเรียกว่า คำโฆษณาเชิญชวนจากระบบความเชื่อในสังคมทั้งระบบครอบครัว และวัฒนธรรมที่เราเรียนรู้มา ชักชวนให้เราตามหาคุณค่าทางกายภาพและคุณค่าทางจิตใจมาครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการงานที่มีรายได้งามๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ รถคันสวย หน้าที่ตำแหน่งที่ถูกยอมรับว่าดูเหมาะสมกับการศึกษา การได้รับการยอมรับถึงความสามารถต่างๆ ของเรา “ชื่อเสียงบารมี” และอีกมากมายเท่าที่คุณค่าเหล่านั้นจะเรียกร้องให้คุณมีมัน แต่ในอีกทิศทางหนึ่งของคำเชิญชวนเหล่านี้ อาจจะกำลังแยกคุณให้ห่างจาก “ความต้องการที่จะใช้ชีวิตอย่างแท้จริง” เราจะเรียกมันว่า หนทางแห่งการค้นพบการดำรงอยู่ที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นที่ทางของตัวคุณเองในส่วนลึกที่คอยส่งเสียงเพรียกและส่งสัญญาณถึงจิตใจคุณ และหนทางนี้อาจจะกำลังเผยตัวผ่านวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่คุณเรียกว่ามันว่า “วิกฤตวัยกลางคน”
ลองย้อนกลับไปทบทวนชีวิตในช่วงเริ่มต้นว่าหลายๆ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับคุณ สิ่งที่เป็นต้นทุนของชีวิต ได้มอบประสบการณ์ต่างๆ ก่อเกิดเป็นรากฐานทางจิตใจ สั่งสมให้คุณเดินทางชีวิตต่อไปได้ ทั้งเอื้อให้คุณทำอะไรต่อมิอะไรได้ง่ายขึ้นหรือยากมากขึ้น ซึ่งบทบาทชีวิตเป็นไปเพื่อให้เราได้ทดลอง เป็นทั้งบททดสอบให้เดินผ่านเข้าไปในอุโมงค์ประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ เช่น บางคนมีต้นทุนจากพ่อแม่ช่วยให้เราเรียนในระบบการศึกษาที่สูงที่สุดเท่าที่เราต้องการเพื่อหางานทำได้อย่างที่ตั้งใจ แต่ในหลายคนต้นทุนมาจากความบากบั่นของตนเองกว่าจะเจอหนทางที่ใช่
แต่เราอยากจะพูดถึงการเข้าถึง วิกฤตวัยกลางคน ในแง่ของการค้นพบการมีชีวิตที่สลับซับซ้อนขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น เราจึงขอเชิญชวนให้คุณเริ่มทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน อย่างค่อยเป็นค่อยไป ช้าลง เพื่อจะยอมแพ้ต่อมุมมองในช่วงครึ่งแรกของชีวิต ที่เคยกำหนดคุณไว้อย่างชัดเจนว่าคุณควรมี ควรได้อะไร
จาก “วิกฤตของชีวิต” มาสู่การทำความเข้าใจความเว้าแหว่งภายใต้เปลือกภายนอกที่ดูเหมือนจะดูดีเพียบพร้อม
หากเราได้มีโอกาสทำความเข้าใจกระบวนการทางจิตใจที่กำลังส่งข้อความถึงเราให้กลับเข้ามาย้อนมองส่วนลึกของชีวิตตน “วิกฤตวัยกลางคน” นี้ก็จะดูมีความหวังมากกว่าเป็นเพียง “ภาพแห่งการพังทลาย” มันคือบทเรียนภาคต่อจากบทเรียนรู้ครึ่งแรกของชีวิต ที่กำลังดำเนินสู่การเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตเราสมบูรณ์ขึ้นด้วยมุมมองขยาย
วิกฤตวัยกลางคนจะกล่าวถึงวาระการจบลงของตัวตนต่างๆ ในเรา หรือบุคลิกภาพต่างๆ ที่เราเคยเป็นมา หากเรามองเห็นว่าวัยกลางคนคือการเกิดใหม่ของตัวตนต่างๆ ที่รอการเผยปรากฏตัว เสมือนเป็นการค้นพบพรแห่งชีวิตที่รอเราอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง
การเกิดใหม่คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายดาย บางทีเราแทบจะไม่มีอำนาจต่อกรใดๆ เมื่อวิกฤตชีวิตเกิดขึ้น เมื่อเราศิโรราบกับปริศนาที่กำลังท้าทายเราต่อการเปลี่ยนแปลง เมื่อเรายอมจำนนต่อความไม่แน่นอน ซึ่งบางคนอาจจะมองว่าเป็นหายนะของการทำร้ายใจด้วยซ้ำไป เพราะความไม่แน่นอนคือความน่ากลัวของคนยุคนี้ที่พยายามจะหลีกหนีอยู่ให้ห่างเอาไว้ หลายคนโศกเศร้าเมื่อต้องพบเจอความไม่แน่นอนในชีวิต ควบคุมไม่ได้ และโดยส่วนใหญ่การเปลี่ยนแปลงนี้มักจะมาโดยที่เราไม่ได้เต็มใจนัก คอยผลักไสเราให้ออกจากขอบเขตความปลอดภัย และความสะดวกสบายที่คุ้นชิน แถมผู้คนที่อยู่รอบข้างเราคอยจะหวาดหวั่น กลัวหายนะของวิกฤตชีวิตแทนเราด้วยช้ำไป
ด้วยความสับสนที่เกิดจากการถูกผลักออกนอกเส้นทางแห่งความคุ้นชินเดิม ถ้าเรายอมรับมันอย่างชื่อๆ ตรงๆ เราอาจจะพบว่า เหมือนเรากำลังหลงทางอยู่ในป่ามืด ดันเต เคยกล่าวไว้ว่า “หากเรามีความตั้งใจจะเขย่ารากลึกของเราเอง มันควรจะรู้สึกถึงความยาก เราควรสงสัยว่าทำไมเราถึงมาที่นี่ และไม่ว่าเราจะมาถูกทางไหม เรากำลังได้รับประสบการณ์ที่น่าเบื่อและปนไปด้วยความไม่พอใจ ความกลัว แม้แต่ความสิ้นหวังในชีวิต และอาจรวมถึงความสับสนในสิ่งที่เราต้องทำเกี่ยวกับวิกฤตนี้”
ช่วงครึ่งแรกของชีวิตอาจจะมีแรงขับดันมาจากรอบทิศ โดยที่เราเองอาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามให้มากมาย เหมือนรถยนต์คันใหม่ที่มีน้ำมัน พร้อมออกเดินทาง แต่แล้วการเดินทางของรถยนต์คันนี้ได้มาถึงครึ่งทาง ไม่ว่าเราจะพิชิตความสำเร็จในเส้นทางการมีชีวิตมามากน้อยเพียงใด เราแทบไม่เคยจินตนาการไว้ว่าชีวิตจะไปถึงตรงจุดใดได้ จนเราเริ่มรู้สึกได้ว่า สภาพของล้อรถเริ่มสึก และเริ่มตระหนักว่า การเดินทางครึ่งแรกกำลังจะจบลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ อารมณ์ จิตใจ และชีวิตใหม่รอเราอยู่อีกด้านหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ชีวิตใหม่นั้นมักจะไม่ได้วางแผนภาพอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมันอาจแตกต่างจากที่เราเคยใช้ชีวิตมา
“วิกฤตวัยกลางคน” การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง
หากสาส์นที่กำลังเชื้อเชิญเราให้เดินทางต่อ จากนี้ไป คือการบอกให้เราเปลี่ยนจุดศูนย์ถ่วง จากเป้าหมายภายนอกไปสู่เป้าหมายที่แก่นกลางจิตใจ ดึงเราให้เข้าหาแกนกลางที่แท้จริงและไถ่ถามตัวเองว่า “เราคือใคร?”, “เราปรารถนาสิ่งใดกันแน่?” และในที่สุดเราแต่ละคนจำเป็นต้องหาทางของตัวเองเพื่อเดินทางผ่านช่วงกึ่งกลางชีวิตนี้ต่อไปด้วยความสร้างสรรค์ ค้นหา “พรที่ซุกซ่อนภายใน” ฉะนั้น การใช้ชีวิตจากฐานครึ่งแรกนั้น คือ บทเรียนก้าวแรกที่ลงสู่สนามชีวิต เพื่อตอบสนองให้แก่กฎกติกาทางสังคมที่เห็นพ้องร่วมกัน เช่น เราเรียนรู้ความโกรธในตนเอง ฝึกควบคุมอารมณ์ เพื่อที่เราจะไม่ไปทำร้ายคนอื่นๆ เราเรียนรู้วิธีรับมือกับการเผชิญหน้าในรูปแบบต่างๆ เพราะเราจะสามารถรับใช้สังคม และพร้อมเอื้อประโยชน์ต่อคนอื่นได้นอกเหนือจากคนในครอบครัวเรา
ในจุดกึ่งกลางของชีวิตนั้นจะต่างออกไป ไม่จำเป็นต้องปรับตัว เพราะจุดนี้มักจะพ้นไปจากการเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้อื่นหรือสังคม
แต่ความเป็นผู้ใหญ่ในวัยกลางคนนั้นเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อค้นพบตนเองและกลายเป็นคนที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ซึ่งไม่ผูกพันกับกฎกติกาที่เป็น “พันธะทางสังคม” ณ ช่วงวัยกลางคนนี้เรามักจะมีบุคลิกภาพที่เอื้อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความลี้ลับของจิตใจ ทั้งทัศนคติที่เรามองโลก ภาระผูกพัน ซึ่งมันจะทำให้เรามีโอกาสปรับตัว และตั้งคำถามต่อชีวิตของเราอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น
และช่วงวัยกลางคนไม่ได้หมายถึงการละเลยผู้คนหรือสังคมไป ตรงกันข้าม ยิ่งเราก้าวข้ามผ่านความขัดแย้งทางจิตใจในช่วงวัยกลางคนไปได้ เรากลับจะมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นคุณภาพที่สูงขึ้นไปด้วยซ้ำ และเป็นช่วงเวลาแห่งการเติมเต็มการมีชีวิตที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็นมา เอื้อตนเองสู่ประโยชน์ของผู้อื่นมากกว่าการปฏิบัติไปตามภาระผูกพัน เมื่อเราก้าวข้ามวิกฤตได้ เราจะไม่พยายามหลีกเลี่ยงผลที่ตามมาจากการกระทำของเรา หรือพยายามหาความปลอดภัยเพื่อกันตัวเองออกจากการเผชิญความเสี่ยง ซึ่งจะแตกต่างจากที่เราเคยทำมาในครึ่งแรกของชีวิต ซึ่งความปลอดภัยนั้นก็ถือเป็นมิติทางธรรมชาติของวัยเยาว์ที่จำเป็น
ในการเติบโตช่วงครึ่งแรกของชีวิต ตัวตนของเรามักมีแนวโน้มที่ไม่ตระหนักถึงความโหดร้ายของชีวิตนัก เพราะเราต้องการพิชิตเป้าหมายต่างๆ ให้บรรลุตามความคาดหมาย แต่ในช่วงวัยกลางคน เป็นช่วงเวลาของการแยกอารมณ์ความรู้สึกออกจากแรงขับต่างๆ ที่อยู่ภายในเรา และในช่วงแรกของกระบวนการเปลี่ยนแปลงในวัยกลางคนคือ การค่อยๆ ปลดตัวเองออกจากภาระผูกพันที่เคยรัดเราไว้อย่างเหนี่ยวแน่น เป็นการแยกแยะทางความนึกคิด เพื่อทบทวนปัจจัยต่างๆ ต่อความต้องการต่างๆ เช่น เราทำความเข้าใจว่าการที่เราเคยอยู่ในครอบครัวที่ยากจนมามันคือความลำเค็ญ พอเราเริ่มทำงานก็พยายามสร้างฐานะเพื่อจะไม่ลำบากอย่างเช่นในอดีต
แม้จุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจสาระและการต้อนรับวิกฤตวัยกลางคนนั้น ที่ผ่านมาแม้วิกฤตจะดูซับซ้อนและลี้ลับ แต่มีข่าวดี คือ เมื่อตัวตนที่เรายึดว่าเป็นเรากำลังพังทลายลงในช่วงนี้อย่างกระทันหัน แต่สภาวะพังทลายนี่เองจะช่วยเราให้ตระหนักถึงความสำคัญในชีวิต และธรรมชาติที่แท้จริงของเราได้ ซึ่งหมายถึงโอกาสที่เราจะเดินเข้าไปพบพื้นที่ส่วนลึกของจิตใจนั่นเอง
ซึ่งในความเข้าใจของคนโดยส่วนใหญ่ที่มีต่อ “วิกฤตวัยกลางคน” นั้นกลับเป็นเรื่องยากต่อความเข้าใจ เป็นเรื่องร้ายมากกว่าจะเป็นมุมมองอย่างสร้างสรรค์ เราสามารถเลือกการใช้วิกฤตนี้ เพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจเส้นทางการพัฒนาภายในได้ แต่การมีมุมมองไปเชิงลบนั้น กลับสร้างการเพิกเฉยละเลยที่จะใช้ชีวิตครึ่งหลังอย่างมีความหมาย และเลือกไปพึ่งสิ่งเสพติดต่างๆ เพื่อหวังบรรเทาทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดในรูปแบบต่างๆ เสพติดงาน การเที่ยว ช้อบปิ้ง ติดเซ็กส์ ติดเกม สารเสพติด รวมถึงสิ่งบันเทิงใจต่างๆ หลอกล่อเราให้หวังพึ่งการลดความถาโถมปั่นป่วนในจิตใจ ร่วมถึงระยะเวลาที่วิกฤตวัยกลางคนจะเผยตัวออกมานั้น ยังทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด คิดว่าเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วในคนทั่วไปนั้น วิกฤตวัยกลางคนอาจมีระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่ 12 ปี จนลากยาวถึงช่วงท้ายชีวิต และไม่ว่าระยะเวลาจะสั้นหรือยาว มันทำให้เรามีช่องทางแห่งการทบทวนเพื่อระบุรูปแบบชีวิตที่เหลืออยู่ของเรานั่นเอง
“ช่วงวิกฤตวัยกลางคน” สำหรับหลายคนคือ แรงพายุที่ปะทะตรงกับตัวเรา เช่น การพลัดพรากจากสิ่งสำคัญ การเกิด การตายจาก ความทุพพลภาพ อุบัติเหตุ การเจ็บป่วยที่รุนแรง หรือการปะทุของบาดแผลในวัยเด็กที่ฝังลึก ถือเป็นการบังเกิดขึ้นของสภาวะแกนกลางจิตใจ ซึ่งไม่ว่าเป็นเหตุการณ์รุนแรงขนาดไหนก็ตาม เหล่านี้ล้วนเป็นประตูด่านสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านอยู่ดี และภาวะวิกฤตนี้ช่วยผลักเราให้ออกห่างจากตัวตนที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเราที่เกิดจากการบ่มเพาะในช่วงครึ่งแรกของชีวิต เช่น ฉันเป็นคนขยัน ฉันเป็นคนจริงจัง ฉันเป็นคนพูดน้อย ฯลฯ
เคน วิลเบอร์ (Kenneth Earl Wilber Jr.) นักคิดแนวทฤษฎีบูรณาการ ซึ่งศึกษาเงื่อนไขแห่งการเปลี่ยนแปลง เขาอธิบายประเภทการเปลี่ยนแปลงไว้สองแบบ คือ “การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง” เป็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในระดับจิตสำนึก หากคุณลองนึกภาพอาคาร 10 ชั้น และการเปลี่ยนแปลงคือการโยกย้ายข้าวของจากชั้น 1 ไปยังชั้นที่สูงกว่า ซึ่งในทางตรงกันข้าม “การเปลี่ยนแปลงในแนวนอน” ซึ่งหมายถึงการเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ในชั้นเดียวกัน
เคน วิลเบอร์ กล่าวว่า น้อยคนนักที่อยากกระโจนสู่การเปลี่ยนแปลงในแนวดิ่ง จริงอยู่ว่าในช่วงชีวิตครึ่งแรกนั้น เรามีโอกาสได้เผชิญกับปัญหาหรือวิกฤตต่างๆ บ้างแล้ว แต่เราส่วนใหญ่มักจะเลือกตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในแบบแนวนอน ตัวตนของเราเลือกที่จะเปลี่ยนงาน เปลี่ยนอาชีพ หรือเลือกจบความสัมพันธ์กับใครสักคนแล้วหาคู่ครองคนใหม่ เลือกการย้ายถิ่นฐาน ฯลฯ ถึงแม้ว่าการเลือกเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ดูมีความสำคัญก็ตาม แต่มองลึกซึ้งไปกว่านั้น เราสามารถมีประสบการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตในทุกช่วงอายุที่ผลักดันเราให้เข้าสู่กระบวนการของการเกิดใหม่อยู่เสมอ
การเปลี่ยนมุมมองต่อโลกหรือต่อตัวเราเองนั้น มีคุณค่าต่อการสร้างสำนึกใหม่ที่กว้างขวางขึ้น มันอาจเกิดขึ้นได้เลยหลังเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้เข้ามาปะทะเราจนถึงช่วงวัยกลางคน เพื่อจะก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยตัวตนของเราที่ยังไม่บุบสลาย
แต่ในช่วงวัยกลางคนนั้น ตัวตนของเราไม่สามารถยึดเหนี่ยวความมั่นคงด้วยกำลังที่เคยมีได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะมันคือกระบวนการบังคับให้เราจำต้องเข้าสู่การเกิดใหม่ในแนวดิ่งอย่างแท้จริงนั่นเอง แต่โดยทั่วไปแล้ว เราไม่สามารถเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อจะเกิดใหม่ได้โดยยังไม่มีประสบการณ์ตรงที่สร้างขึ้นจากตัวตนของเราก่อนในชีวิตครึ่งแรก และนี่คือความย้อนแย้งที่มีอยู่ในระบบธรรมชาติ เราจำเป็นต้องมีตัวตนที่แข็งแกร่งก่อนในชีวิตครึ่งแรก เพื่อจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การสลายตัวตนที่เรายึดถือไว้
จอร์จ เอเลียต (George Eliot) กล่าวว่า “หลายคนอาจจะใช้ชีวิตเหมือนผีตายซาก พออายุย่างเข้า 50 ปี ชีวิตเริ่มไร้สีสัน เริ่มปล่อยให้เวลาดำเนินไปอย่างช้าๆ จนล่วงเลยเข้า 70 ปี 80 ปี อย่างไร้ความหมาย ถึงแม้ร่างกายของพวกเขายังคง กิน เดิน นั่ง นอน ได้อย่างเป็นปกติ แต่พวกเขาไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในช่วงวัยกลางคน ขาดโอกาสที่ได้ค้นพบศักยภาพและการตระหนักรู้ในตนเอง รวมถึงผู้คนเหล่านี้พยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการแตกสลายของตัวตนในช่วงวิกฤตวัยกลางคน หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ พวกเขาไม่สามารถก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปได้ ซึ่งในสองแบบนี้มักพบเจอชีวิตช่วงวัยชราที่มีความทุกข์ยาก ขมขื่นใจ ไม่สามารถปกปิดความเคียดแค้นต่างๆ ในอดีตได้ ทำให้พวกเขากลายเป็นคนชราที่เรียกร้อง ไม่ค่อยเห็นอกเห็นใจคนรอบข้าง บ่นไม่รู้จบ ทักษะความสามารถที่เคยมีลดลงไปพร้อมกับชีวิตที่แห้งเหี่ยวลงทุกปี…. แต่ถึงที่สุดแล้วไม่เคยมีคำว่าสายไปหรอกนะ”
บนเส้นทางแห่งก้าวย่างนี้ เราพบว่าเมื่อพยายามจะหลบเลี่ยงจุดวิกฤต เรากำลังย่างเท้าลงไปด้วยความหวาดหวั่นใจ รู้สึกไม่มั่นคง เพราะภาวะความกลัวแทรกนี้เองที่อาจขัดขวางเราไม่ให้มีความปรารถนาจะเป็นสุขในชีวิต เราเลยยึดมั่นกับชีวิตเดิมของเรา แต่ในขณะเดียวกันเรามองหาหลักรับประกันว่าบนเส้นทางชีวิตใหม่นี้จะไปได้ดีขึ้น
ถ้าเราลองให้เวลามองย้อนกลับเข้าสังเกตและเฝ้ามองความไม่มั่นคงที่ฝังรากอยู่ในคำสอนของสถาบันต่างๆ ที่พร่ำบอกให้เราจำต้องมีคุณค่าต่างๆ เราจึงจะถูกมองเห็นและได้รับการยอมรับ ถ้าเราทำหรือเป็นแบบนั้นแบบนี้ ฯลฯ เช่น ผู้หญิงหลายคนพยายามรักษาหุ่นและความเยาว์วัยเพื่อเอาชนะธรรมชาติแห่งการร่วงโรย ด้วยการหาวิตามิน การเสริมฮอร์โมน เพราะสังคมยุคปัจจุบันให้คุณค่ากับคนหนุ่มสาวมากกว่าคนแก่ หรือ ผู้ชายที่ต้องการยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศที่มากเกินไป ก็มาจากความเชื่อว่า ชายที่สมความเป็นชายชาตรีควรมีพลังที่แข็งแกร่ง หรือเราอาจจะกลายเป็นนักรบสายพลังพร้อมการปลุกปล้ำกับเครื่องเล่นเพาะกล้ามเนื้อให้งามโต หรือพยายามสร้างรายได้สะสมตัวเลขในบัญชีธนาคาร ซึ่งอาจนำพาเราให้ต้องเผชิญกับภาวะความเครียด การกดดันตัวเองในความพยายามต่างๆ ที่มากเกินไป และความพยายามท้าทายในช่วงวิกฤตวัยกลางคนนี้ เราจึงต้องเผชิญกับความรู้สึกที่ไม่สบายใจและรู้สึกขาดความปลอดภัยที่แท้จริง บางคนเลือกการเสพติดเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ดูดี ติดการกิน ติดงาน ติดเซ็กส์ แอลกอฮอล์ การพนัน สื่อลามก หรือแม้แต่การออกกำลังกายที่มากเกินไป การอ่านที่มากเกินไป หรือการมีเวลาให้กับสังคมที่มากเกินไป
ประเด็นความสำคัญของช่วง “วิกฤตวัยกลางคน” นั้นคือการอนุญาตให้เราเป็นตัวของเราเอง ใช้ศักยภาพที่เคยมีมา “เปิดเผยในแบบของเรา” และปล่อยให้ความเป็นตัวเราซึ่งก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้ด้วย แม้เราจะพยายามหาวิธีรับมือกับสภาพอารมณ์หรือจัดการกับความต้องการในแบบเดิมก็ตามที มันอาจจะไม่ได้ผลอย่างที่เคยเป็นมา และนี่คือโอกาสที่เราจะได้ใช้ชีวิตที่แท้จริงเสียที
เรามีตัวอย่างมากมายให้เห็น เช่น ผู้หญิงหลายคนลงทุนมอบร่างกายและเงินทองกับการถวายแด่มีดหมอศัลยกรรมเพื่อแลกกับความอ่อนวัย แต่ในเวลาเดียวกันเธอเหล่านั้นก็ต้องการใครสักคนที่จะมองเห็นตัวเธออย่างแท้จริงภายใต้เปลือกอันงดงาม หรือกับชายคนหนึ่งที่ต้องการจะเป็นสามีที่ดีให้ภรรยา และต้องการเป็นพ่อที่เพียบพร้อมให้ลูกน้อย แต่แล้วเขาก็ต้องการมีพื้นที่เงียบๆ อยู่คนเดียวสักชั่วครู่หนึ่งเพื่อหายใจหายคอจากความพยายามต่างๆ
เรารู้ดีว่าความพยายามที่อยากตอบสนองทั้งสองด้านดังตัวอย่างด้านบนมันดูจะไม่ค่อยมีความมั่นคงนักแต่มันก็เกิดขึ้นได้เสมอกับพวกเราทุกคน เพราะเราต้องการตอบรับคุณค่าในบทบาทต่างๆ ที่เราหามาแต่งเติมในชีวิต และเพราะเราก็มีความเป็นตัวเราที่แทบไม่เข้าเกณฑ์บทบาทต่างๆ เหล่านั้นเลย “ด้านหนึ่งเป็นตัวตนเรา” ส่วนอีก “ด้านหนึ่งคือสิ่งที่เราอยากจะเป็น” ซึ่งมักจะชัดเจนขึ้นในช่วงวัยกลางคนที่เราพบว่าเรากำลังถูกแรงดึงจากสองขั้ว นั่นคือ ด้านที่เรารู้จักดี กับ ด้านที่เราไม่รู้อะไรเลย และมันก็หลีกเลี่ยงได้ยากจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับสิ่งที่อาจจะเป็นไปได้ ในจุดนี้เองสิ่งที่เราทำได้ในเชิงอุดมคติคือ พยายามสร้างสมดุลให้กับเท้าข้างเดียวที่เหยียบลงบนผืนโลก
เมื่อเราเดินทางมาถึงวัยกลางคน และกำลังเจอความสับสน ความรู้สึกเหมือนถูกฉีกแยกให้ออกจากสิ่งที่เคยโยงใย เราจึงรู้สึกโดดเดี่ยว หมดพลังชีวิต รู้สึกได้เพียงว่าไร้สัมผัสการดูแลเอาใจใส่ และเราเริ่มหวาดกลัวต่อสิ่งที่เราไม่เข้าใจ รู้สึกไม่หลงเหลือพลังชีวิต ตัวตนที่เราเคยเป็นมา นิสัยด้านต่างๆ ที่เคยโดดเด่นดูเหมือนจะไม่มีอีกต่อไป เพราะว่าเราได้ใช้มันไปหมดแล้วในครึ่งแรกของชีวิต และจุดนี้เอง คือ “จุดเริ่มต้นใหม่” ที่ต้องการทิศทางใหม่ จุดกึ่งกลางชีวิตนี้เราจะได้รับสาส์นจากการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงพอ ซึ่งเราจะไม่สามารถใช้มุมมองเดิมที่เราเคยแก้ไขมาปรับแต่งสิ่งต่างๆ ในวิกฤตนี้ได้ เราต้องเริ่มต้นใหม่จากซากปรักหักพังที่กองเราอยู่ตรงพื้นดิน เพื่อลุกขึ้นยืนอีกครั้ง นี่ไม่ใช่โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ แต่คือ “การเปลี่ยนผ่านที่ไร้เงื่อนไข”
คาร์ล จุง (Carl Gustav Jung) นักจิตบำบัดและจิตแพทย์ กล่าวไว้ว่า “เราก้าวเดินด้วยรองเท้าที่เล็กไปสำหรับเรา” ถ้าหากเราต่อต้านการเปลี่ยนผ่านนี้ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่อง เงินทอง หรือใช้ยาบรรเทาความกังวลต่างๆ ที่มีทั้งหมดในโลกนี้ ก็จะไม่ทำให้เราเศร้าโศกได้ แต่มันกลับจะฝังกลบความเป็นไปได้ที่จะใช้ชีวิตอย่างแท้จริง และมีแก่นกลางจิตใจที่ช่วยเอื้อให้เราค้นพบ เจอเอกลักษณ์ของเราเอง
หากเราไม่เพิกเฉยต่อความจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่มักมีชีวิตที่โดดเด่นก่อนวัยกลางคน แต่ในอีกมุมมองหนึ่ง ช่วงชีวิตวัยกลางคนนั้นเรามีโอกาสมากขึ้นที่จะ “ใช้ชีวิตที่มีเงื่อนไขน้อยลง” เมื่อเราเข้าถึงกระบวนการวิกฤตวัยกลางคนเสร็จสมบูรณ์ เราจะสามารถเผยด้านความคิดสร้างสรรค์ที่เคยถูกซุกซ่อนไว้ด้วยเปลือกของตัวตนเดิมๆ นี่คือพรจากธรรมชาติที่เอื้อเราสู่การเปลี่ยนแปลงและเป็นการเติมเต็มโชคชะตาครั้งแรกของชีวิต
ส่วนผู้ที่ประสบความสำเร็จจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ และในช่วงวัยกลางคนก็ยังตระหนักได้ถึงการพัฒนาบุคลิกลักษณะต่างๆ ให้ดำเนินไปตลอดชีวิต สิ่งนี้ทำให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตบนความเป็นจริงได้ และสอดคล้องกับจิตใจส่วนลึกได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราสำรวจช่วงวัยกลางคนได้สำเร็จเราจะมีสติ มีชีวิตชีวา รักเป็น และปราศจากความตึงเครียดเมื่อเราปรับเปรียบทิศทางไปเป็นใครคนหนึ่งที่ต่างไปจากเดิม
ช็อค!! เมื่อเราไม่สามารถคว้าจับอะไรไว้ได้
การเริ่มต้นของเส้นทางวัยกลางคนนั้นเปรียบเหมือนเรายืนอยู่ที่ขอบของแม่น้ำสายใหญ่ และเริ่มเห็นว่า ยานพาหนะที่พาเรามาถึงจุดนี้ไม่สามารถนำเราข้ามผืนน้ำนี้ไปได้ ตัวตนเดิมที่เราเป็น มาถึงจุดที่ไม่สามารถพาเราเดินทางชีวิตต่อไปได้ เราได้มาถึงจุดสิ้นสุดของการเป็นผู้ใหญ่คนแรก
เพราะตัวตนต่างๆ ที่เราเคยสร้างขึ้นมาจนเป็นตัวเรา “นี่แหละฉัน/ผม” “ฉันเป็นคนที่ใช้เหตุผล…” ฯลฯ ในช่วงชีวิตครึ่งแรกนั้นจะเน้นที่การตอบสนองความต้องการให้กับตัวเราเองและเพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสังคมรอบข้าง นานเท่าไรแล้วที่เรายึดว่า นี่แหละคือเรา นี่แหละคือตัวฉัน ฉันเป็นคนแบบนี้ แบบนั้น ถึงแม้เราจะได้รับคุณประโยชน์มากมายทั้งประสบการณ์ความรู้ต่างๆ ของนิสัยต่างๆ ในเราที่ได้เผยแสดงศักยภาพออกมา ทำให้เราเดินทางมาถึงวันนี้ได้ ทำให้เราถูกมองเห็น ได้รับการยอมรับ และเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกับกฎเกณฑ์ทางสังคม ซึ่งหลายคนสัมผัสผลลัพธ์ที่สั่งสมมาผ่านความรู้สึกที่ว่านี่แหละเป็น “ชีวิตที่ดี”
ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ “วิกฤตวัยกลางคนด้วยความไม่รู้” แต่อีกส่วนหนึ่งของเรานั้นพร้อมออกเดินทางท่องไปในมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ พาเราเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของการเป็นผู้ใหญ่อีกแบบหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่เราเคยสั่งสมมาไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินเงินทอง การงานที่มั่นคง ชื่อเสียงและอื่นๆ นั้นล้วนแล้วเป็นสิ่งที่น่าพอใจ ซึ่งจะไม่ถูกทำลายจนแหลกสลายในคราวเดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราจะค่อยๆ มองเห็นจุดวิกฤตของแต่ละด้านได้เอง
คนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยได้เจอหายนะครั้งเดียว มันอาจจะมาในรูปแบบเป็นเเพ็กเกจ ในเรื่องเล็กเรื่องน้อย และวัตถุประสงค์ของวิกฤตเหล่านี้ เขามาเพื่อช่วยขยายมุมมองและการรับรู้ของเราให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น แต่ในช่วงแรกที่เราเจอวิกฤตเหล่านี้ มักทำให้เราถอยหลังเพื่อตั้งหลักเสมอ เพราะไม่มีใครสนุกนักหรอกกับการต้องเผชิญกับความเจ็บปวด ความสับสน ความทุกข์ที่แสนจะทนทาน ที่เหมือนมาล้วงพลังชีวิตของเราไป และมันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองที่เราพอจะเห็นโจทย์ในอนาคตได้ชัดเจนระดับหนึ่ง และมองเห็นว่าโจทย์คราวนี้ครอบคลุมชีวิตตัวเราและคนรอบข้างเรา
คำถามที่ชวนถามตัวเอง
- คุณกำลังประสบปัญหาอะไรในชีวิตที่เป็นเสมือนวิกฤตบ้าง มันเป็นยังไง และมันท้าทายคุณอย่างไร ?
- วิกฤตชีวิตหรือการดิ้นรนแต่ละครั้งสามารถนำคุณสู่การขยายการรับรู้ได้มากขึ้นไหม หรือเป็นอุปสรรค์ต่อชีวิตมากกว่า ?
คุณสามารถจินตนาการถึงการเพิ่มศักยภาพ และมีความเข้าใจซึ่งเป็นมุมมองเปิดกว้างต่อประสบการณ์ที่ท้าทายข้างต้น แต่คุณไม่ต้องเป็นกังวลนะ หากคุณยังไม่สามารถรับรู้ถึงความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่นี้อย่างชัดแจ้ง เพียงแค่อยากชวนคุณลองขยายกรอบการมองเข้าไปที่ตัววิกฤตซึ่งคุณอาจจะค้นพบเบาะแสที่อยู่นอกเหนือขอบเขตที่คุณกำลังใส่ใจอยู่
เมื่อเรายังเป็นเด็กทารกที่ยังไม่สามารถดูแลตนเองได้ ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ด้วยตนเอง ความต้องการการพึ่งพิง ต้องการความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็น เรายังอลหม่านกับความสับสนในภาวะอารมณ์ต่างๆ รวมถึงความกลัวที่อยู่ภายในเด็กเล็กที่เราเคยเป็น นับวันยิ่งเราโตขึ้นอารมณ์ความรู้สึกก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวัง ความอิจฉา หรือความรู้สึกละอายใจ
และหน้าที่ของการสร้างตัวตนหรือบุคลิกภาพต่างๆ ในช่วงวัยพัฒนาการนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยให้เราอยู่รอด อยู่ร่วม มาจนถึงวัยผู้ใหญ่ เราจึงมีแนวโน้มที่จะยึดถือว่า ที่ผ่านมานั้นคือเราเป็นแบบนั้น แบบนี้ ซึ่งหากเรามองย้อนกลับไป ในช่วงวัยเด็กเรามีกระบวนการ “เล่น” หรือการสวมบทบาท (Role) ต่างๆ เป็นการซักซ้อมอย่างไม่รู้ตัวนัก เช่น เป็นบทลูกสาวที่น่ารักให้กับพ่อ หรือไม่ก็เป็นลูกชายที่สวมบทฮีโร่ให้แม่ชื่นชม เป็นบทตัวตลกสร้างเสียงหัวเราะให้กับเพื่อนฝูง หรือพอเริ่มเป็นหนุ่มเราสวมบทคนห่วงใยแก่คนรักคนแรกของเรา และถึงแม้เราจะเคยเป็นเด็กที่มีความดื้อดึง เป็นบทบาทของกบฎตัวน้อย นั่นเพราะเราถูกกระตุ้นให้มีปฎิกิริยาต่อระบบครอบครัวแรกของเรา หาใช่เป็นแรงขับของตัวตนที่แท้จริงภายใน แต่บท (Role) ต่างๆ ที่เราเคยเล่นมาในช่วงเป็นเด็ก ซึ่งบทบาทเหล่านั้นอาจย้อนกลับมาให้เราทำซ้ำๆ ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมันจำเป็นต่อการระบุว่าเราเคยเป็นใครมาก่อน เพราะในที่สุดเราจะไม่เห็นว่าเราเป็นใครถ้าไม่มีบทบาทเหล่านั้น
เราน้อมรับบทบาท (Role) ต่างๆ เพราะเราต้องการได้รับการตอบสนองจากคนรอบข้าง และเราเชื่อว่าจำเป็นต้องมีบทบาทเหล่านั้นเพื่อทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ ในฐานะเด็ก เขาต่างต้องการได้รับการมองเห็นและหลีกเลี่ยงการถูกเพิกเฉย ทุกสิ่งที่เด็กต้องการคือ “ความรัก” แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น เราพยายามล้มเลิกการเรียกร้องความรัก และเริ่มหา “ตัวแทนแห่งความรัก” แทน เช่น การถูกยอมรับ เป็นคนที่ถูกรัก การมีชื่อเสียง ต้องการความเคารพ ดูเป็นคนที่มีพลัง ต้องการคำชื่นชม ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ได้รับการมองเห็น และถูกเห็นว่าเป็นคนที่มีคุณค่า หากความสามารถในการเล่นบทบาทหนึ่งใดลดประสิทธิภาพลง เมื่อนั้นอัตตาของเราก็เริ่มพังทลายลงนั้นเอง
เราได้อาศัยตัวตนของเราเพื่อจัดการสิ่งต่างๆ ให้ราบรื่น แต่เมื่อกลไกการทำงานเหล่านั้นพังลง หรือลดประสิทธิภาพลง เมื่อมีใครทำให้เราผิดหวัง ในประสบการณ์หนแรกนั้นเราจึงตกตะลึง!! ยิ่งอัตลักษณ์ตัวตนของเรามีความยึดติดสูง เรายิ่งเกิดความรู้สึกตกใจมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ช่วงวัยกลางคนจะเป็นการเริ่มต้นของวิกฤต หากมองลึกลงไปเราจะรับรู้ได้ว่ามันคือ การท้าทายตัวตนต่างๆ ที่เรายึดไว้ว่าเป็นเรา
เช่น การที่เรามีความมั่นคงทางสังคม มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัวที่เราสร้างขึ้นหรือกับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนฝูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย แต่เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน วิกฤตชีวิตอาจจะมาในรูปแบบของการหย่าร้าง ทำให้ครอบครัวแตกแยกออกจากกัน มันคือการท้าทายตัวตนที่เธอคิดว่าเธอเป็น จะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ เธอจะคือใคร? ถ้าเธอไม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ได้อย่างเดิมเมื่อเธอจำต้องแยกออกจากลูก หรือเธอไม่ได้ทำบทบาทพ่อที่สมบูรณ์ดังที่เคยเป็น หรือเมื่อเธอไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนฝูงแล้ว เธอจะกลายเป็นใครต่อล่ะ? หรืออีกตัวอย่าง จากหญิงสาวพราวเสน่ห์ดูโดดเด่นต่อหน้าชายที่พบเจอ แต่กลับต้องมาเผชิญวิกฤตด้วยโรคมะเร็งเต้านม
หลายคนเมื่อเจอวิกฤตจะมีปฎิกิริยาตอบโต้ด้วยการหาคำตอบ และยังคงพยายามหาทางออกจากปัญหาด้วยวิธีการเดิม เติมความรู้ในสิ่งที่เราพร่อง ไปหาที่ปรึกษาเพื่อให้ได้คำตอบต่อความสงสัย เพื่อที่เราจะกลับคืนสู่ความปลอดภัยอีกครั้ง เรามักอึดอัดเมื่อต้องอยู่ในความไม่รู้นานๆ แต่แล้วมันอาจไม่ได้ช่วยให้เกิดการกู้คืนอะไรเลย เพราะสาระสำคัญของการพังทลายนั้นมาเพื่อจะให้เราตระหนักถึงการเปิดทางใหม่ หาใช่แก้ไขหรือซ่อมแซม สิ่งที่เราจะได้พบเจอคือ แต่ละจุดของความสูญเสีย ความยากต่ออุปสรรค แต่เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อเราย้อนกลับมามอง เราจะพบคำตอบถึงคุณประโยชน์ของวิกฤตว่ามาเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่มีคุณค่ากว่าเดิม เสมือนเป็นพลังงานของการทำให้เราหยุดชะงัก หรือไม่ก็เข้ามาช่วยชะลอให้เราช้าลง เพราะเรามีโอกาสที่จะเพลิดเพลินไปกับเสียงของสังคมที่คอยป้อนเป้าหมายที่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการภายในด้านลึกของเรา
แต่เมื่อเราสามารถข้ามผ่านจุดที่มืดหม่นไปได้ จุดนั้นจะนำพาเราไปสู่การเป็นแรงบันดาลใจให้ตนเอง ซึ่งช่วยเราให้เกิดความมั่นคงในการดำเนินชีวิตช่วงที่เหลือ เพียงแค่เราให้คุณค่ากับจุดวิกฤตนี้ว่าเป็นดั่งเข็มทิศนำทางเราให้ผ่านช่วงเวลาที่ทุกข์ยาก และหลอมรวมกับการเติมเต็มชีวิต ให้ชีวิตที่เหลือเป็นความอุดมสมบรูณ์ของวัยผู้ใหญ่เต็มตัว เป็น “กระบวนการรอการเกิดใหม่นั่นเอง”
“หนทางที่ค่อยๆ เผยตัวออกมา”
หลายคนอาจไม่เจอกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ทำให้รู้สึกถึงการล้มครืนอย่างกะทันหัน แต่เป็นรูปแบบของการคืบคลานเข้าสู่ช่วงนี้อย่างช้าๆ ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นปัญหาที่วนเข้ามาอย่างซ้ำซาก แบบค่อยเป็นค่อยไป และพัฒนาสู่ความรู้สึก “อยู่สุดปลายขอบ” กลายเป็นข้อจำกัดที่เราไม่สามารถจะก้าวข้ามได้ง่ายนัก และสัมผัสถึงความเบื่อหน่าย ผู้คนมักจะบ่นออกมาในความรู้สึกที่เหมือนถูกขังอยู่ในกล่องแคบๆ ถึงแม้พวกเขาต้องการกระโดดออก แต่กลับทำได้ยาก รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้กับเหตุการณ์หรือปัจจัยภายนอก และรู้สึกไม่พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ คุณลองคิดถึงสัตว์ป่าที่นำมากักอยู่ในคอกแคบๆ กลางใจเมืองใหญ่สิ พลังงานภายในที่เหมือนกำลังจะระเบิดออกมา มันถูกจำกัดและยับยั้ง หลายคนที่รู้สึกแบบนี้เหมือนคนที่อึดอัดหายใจไม่ออก ติดอยู๋ในข้อจำกัดต่างๆ ยกตัวอย่าง เช่น การวางแผนมีลูกทั้งๆ ที่ต้องทำงานเต็มเวลา แผนการตระเตรียมในหลายปีก่อนเพื่อจะเป็นนักกีฬาทีมชาติ
ในจุดนี้เองที่สาระสำคัญกำลังเผยตัวต่อเราอย่างช้าๆ ซึ่งอาจมาช่วยเราถึงการตระหนักรู้กับ “ทางเลือกใหม่ของชีวิต” และสิ่งที่เคยมีมาก่อนด้วย ไม่ว่าจะเป็นความฝันเดิม สิ่งที่เราเคยสนใจ ทักษะต่างๆ ที่เราเคยทำได้ดี ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพียงพอที่จะกระตุ้นความกลัว มันทำให้เราสัมผัสถึงการสูญเปล่า โดยลึกๆ เราได้กล่าวโทษตัวเองที่ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น โอกาสเดิมที่หายไปได้กระตุ้นความกลัวภายใน เมื่อเราคาดเดาว่าทางเลือกของเราสำหรับอนาคตอาจจะแคบลงเรื่อยๆ และเราเริ่มไม่แน่ใจว่าทางเลือกใหม่นั้นจะเป็นไปอย่างที่เราคาดหวังไว้ไหม หลายคนก่อนแต่งงานจึงเริ่มหวาดหวั่นที่จะสูญเสียอิสรภาพ เมื่อต้องเดินเข้าไปอยู่ร่วมในครอบครัวใหญ่ของคู่ครอง หรือหญิงสาวที่ทำงานเก่งมีอนาคตในบริษัทใหญ่ที่กำลังคิดวางแผนเรื่องการมีลูก
ไมเคิล อายุ 44 ปี (ตัวอย่างจากในหนังสือ) ได้เล่าถึงความรู้สึกของการเจอข้อจำกัด “ผมคิดว่าผมก็ใช้ชีวิตในแบบของผมไปได้เรื่อยๆ จนแก่ตายนะ มันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่ก็มีบางสิ่งที่ขาดหายไป คล้ายเวลาเราดื่มรสชาติความเปรี้ยวของผลไม้แล้วรู้สึกซาบซ่านไปทั่วร่างกาย ผมเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกถึงความมีชีวิตชีวา ผมแสดงออกถึงความรู้สึกต่างๆ ได้ง่ายดาย หรือเวลาที่ผมกำลังตีกลองจะรู้สึกได้ถึงความเข้มแข็งและดื่มด่ำกับเสียงกลอง ผมสัมผัสถึงความรักในขณะที่ขี่จักรยานเสือภูเขาไปตามทาง แต่ในภาพรวมของชีวิต ผมยังรู้สึกถึงความขาดแคลนเหมือนผมทำมันหล่นหายไป และส่วนใหญ่ผมมักจะถอยห่างจากความมีชีวิตชีวา ผมปล่อยให้เวลาไหลผ่านไปอย่างเฉื่อยชา รู้สึกถึงความเบื่อหน่าย ผมรู้สึกติดพันกับชีวิตเปลือกๆ ภายนอก และความมีชีวิตชีวาภายในเหมือนมันถูกปิดลง”
ไมเคิลกับนิสัยเดิมๆ ของเขากำลังแห้งเหี่ยวลงช้าๆ เขาเจอภาวะเงินฝืดเคืองซึ่งมันทำให้เขาคิดเกี่ยวกับชีวิตของเขาที่จะต้องดำเนินต่อไปอย่างเดิมๆ แบบนี้ พลังชีวิตส่วนใหญ่ก็หมดไปจากการจมอยู่ในข้อจำกัดของอดีต มันทำให้เขาขาดแรงบันดาลใจและขาดความสุข ในชีวิตถัดไปจากนี้ก็ยังไม่เปิดทางให้เขาเห็นอะไรใหม่ๆ เสียด้วย ไมเคิลยึดติดกับวิถีชีวิตแบบเดิมของเขา ถึงแม้ว่าเขาจะรู้สึกหายใจไม่ออกเหมือนคนพิกลพิการก็ตาม
ในสังคมยุคปัจจุบัน เราได้รับการบ่มเพาะให้ก้าวไปข้างหน้า สู่การพัฒนาและประสบความสำเร็จ ฉะนั้น เราจำเป็นต้อง “ทำและทำมันไปเรื่อยๆ ห้ามหยุด” และหลายคนเมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤตวัยกลางคนจึงมีแนวโน้มที่จะชะลอตัว ชะงักงัน และเลือกไม่ทำอะไรต่อ ซึ่งแน่นอนว่าการบ่มเพาะของยุคนี้ไม่สนับสนุนให้เราหันกลับไปมองภาพชีวิตเบื้องหลัง เราเข้าใจว่าหากเราหยุดทำเงิน หยุดสร้างชื่อเสียง หยุดผลิตผลงานทางอาชีพ มันอาจแปลว่าเรากำลังซบเซาหรือกำลังถอยหลังลงคลอง แต่เมื่อเรากลับมาสังเกตที่ร่างกาย กลับบอกเราได้ชัดเจนว่าเรากำลังหมดพลังชีวิต ความปลอดภัยเดิมๆ เริ่มปิดฉากลงทีละนิด มันเป็นสภาพทางจิตใจที่กำลังแย่ลงไปตามสภาพร่างกาย จากที่เคยใช้กำลังเดินหน้าอย่างมากมาย หากเรายังคงคิดว่าจุดความเสียหายที่กำลังเกิดขึ้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือรื้อสร้างต่อไปได้ พวกเราส่วนใหญ่ที่เพิ่งเจอวิกฤตในครั้งแรกๆ มักจะเริ่มต้นที่ “การปล่อยวางความหนักใจ” นี้ก่อน ซึ่งการปล่อยวางก็เป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่สิ่งใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ เพียงแต่จุดนี้ปราศจากการรับรองภาวะการก่อกำเนิดสิ่งใหม่
สรุปคือ การเริ่มต้นของวิกฤตวัยกลางคนนั้น มีได้หลายรูปแบบ บ้างเป็นแบบช้า แบบเร็ว หรือเป็นระลอกรัวๆ ถี่ๆ หรือนานๆ ที แต่เป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการ ซึ่งเราก็อาจรับรู้ความรู้สึกได้แตกต่างกันไป เช่น ตระหนก ตกใจ เบื่อเซ็ง เศร้าโศก แต่ทุกประเภทที่กล่าวมานั้น เรารู้สึกคล้ายๆ กันคือ ความรู้สึกหมดหนทางที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา แม้ว่าหลายคนยังคงพยายามจัดการแก้ไขให้สิ่งต่างๆ กลับมาเข้าที่เข้าทางดังเดิมก็ตามที แต่ถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่เป็นไปในแบบเดิม
การตอบสนองของเราบางคนต่อวิฤกตการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้เลือกการเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว เพราะตัดสินว่าชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องโกหก และอาจตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่พลิกชะตากรรม เช่น เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยเขาเลือกเทขายกิจการไปเลย บางคนกลายเป็นศิลปินไปเลย บางคนเลือกย้ายไปอยู่ต่างประเทศ หย่าร้างและแต่งงานใหม่กับคนที่มีอายุน้อยๆ หรือบางคนใช้กีฬาผาดโผน โดดร่ม แข่งรถ เป็นความสุดขั้วเพื่อหวังบรรเทาความตระหนกต่อวิกฤต ซึ่งการเลือกทำแบบนี้ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุขให้กระจายไปทั่วร่างกายได้ชั่วคราวเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะใช้วิธีการกระโดดออกไปจากชีวิตเดิมได้อย่างเฉียบพลันและง่ายดายนัก ในบางจุดเราจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความไร้ระเบียบ และมันอาจไร้ประโยชน์ด้วยถ้าเรามัวแต่ปฏิเสธความเป็นจริงของวิกฤตนี้เพื่อหวังเพียงให้มันผ่านเลยไปจากเราเร็วๆ
เราส่วนใหญ่ที่จำเลือกวิธีการงัดข้อต่อสู้กับกระบวนการของวิฤกตวัยกลางคน เพราะเข้าใจว่าวิกฤตเหล่านี้ต้องการมาขัดขวางเรา หรือวิกฤตนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมที่จะช่วยเราปลดปล่อยบางส่วนของด้านลึกที่เราไม่ต้องการออกไป ซึ่งเรามักไม่รับรู้ว่ามันเป็นกระบวนการที่คอยชี้ทางให้เราเห็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่เราเคยมีชีวิตอยู่ มันจะง่ายกว่ามากถ้าเราได้มีเวลาเสียใจกับการเสียขวัญที่เกิดจากวิกฤตการณ์ที่กระชากเราให้หวั่นไหวไม่มั่นคง แต่สิ่งที่เรามักจะทำต่อความสูญเสียคือการที่เราใช้ตัวตนที่เราเป็นเพื่อต่อสู้ทุกหนทาง
เป็นเรื่องน่าเศร้ากับการรับรู้ของสังคมวงกว้างที่ประสบการณ์ของวิกฤตวัยกลางคนมักถูกตีความในเชิงอุบัติการณ์ ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านของการเติบโตทางศักยภาพที่ซ่อนเร้น โครงสร้างทางสังคมจึงจัดการด้วยวิธีการสั่งจ่ายฮอร์โมนเสริม ยาชูกำลัง ยาต้านความซึมเศร้า และการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อปรับระดับอาการที่เกิดขึ้น หรือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเรา และแถมคนรอบตัวเราทั้งเพื่อนฝูงและครอบครัวพยายามดึงเราให้กลับไปเป็นคนที่พวกเขารู้จัก พวกเขาจะพยายามทำให้เรารู้สึกดีขึ้นแทนที่จะกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงสิ่งที่เรารู้สึก และในความเป็นจริงการรู้สึกถึงสิ่งที่เรากำลังรู้สึก (แทนที่จะ “เอาชนะ” และเดินหน้าต่อไป) จะส่งเสริมประสบการณ์ที่ลึกล้ำของเรา ซึ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงของเรา
คงเพราะยุคสมัยของการหลีกหนีความจริงของชีวิต แม้กระทั่งหลีกหนีการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ เราเชื่อสิ่งที่ตาเห็น เงินทอง ความสำเร็จ ความเยาว์วัย บ้าน รถ บริวาร ฯลฯ แต่ความล่มสลายเสื่อมถอยเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ เช่น ความตาย ความป่วยไข้ เพราะเราอยู่ในระบบความเชื่อที่ว่า ความเป็นหนุ่มสาวคือความมีประสิทธิภาพ เราถูกตัวตนต่างๆ ที่เราหล่อหลอมขึ้นมาบิดเบือนภาพความเป็นจริงของชีวิต เราถูกป้อนความเชื่อว่า “ความสุขต้องเกิดจากการกระทำแห่งการสร้างและพยายามตามหาสิ่งที่จับต้องได้แต่กลับไม่ใช่ความสุขจากการที่เราได้เป็น” แต่แล้วภาพลวงตาจะถูกเปิดเผยในช่วงวิกฤตวัยกลางคนนั่นเอง เป็นความจริงของชีวิตที่ไม่สามารถปกปิดได้อีกต่อไป
“ฉากหลังของความชรา”
ในแง่ของการแสวงหาวัตถุทางโลก ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ตามที่เราพยายามทำให้เกิด เราจำเป็นต้องจำกัดขีดความสามารถของตนเอง แต่ในฉากหลังของชีวิตวัยกลางคนจนถึงจุดสุดท้ายของชีวิต เรามีเวลาจำกัดมากขึ้น รวมถึงข้อจำกัดทางกายภาพ เราจะมาทุ่มเทกับการแก้ไขหรือพยายามทำให้มากขึ้นอย่างในช่วงอายุ 20 ไม่ได้เพราะเราไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว แต่เราเพิ่งเริ่มต้นชีวิตอีกช่วงด้วยความเป็นไปได้ที่ไร้ขีดจำกัด
จุดเริ่มต้นของชีวิตวัยกลางคนที่เกิดขึ้นทุกจุดนั้นจะมีเบื้องหลังของความชราที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ อารมณ์ และร่างกาย ความจริงที่ว่าเรากำลังแก่ลงนั้นเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และอาจจะทบทวีความรุนแรงมากขึ้น หรืออาจทำให้ปัญหาแย่ลง ยกตัวอย่างเช่น หากจะต้องหย่าร้างในวัย 50 ปี การสูญเสียความสัมพันธ์อาจทำให้รู้สึกถึงการถูกทำลายลง ภายใต้ภาพในจินตนาการถึงความโดดเดี่ยว สิ่งนี้อาจจะรบกวนจิตใจผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความคาดหวังทางวัฒนธรรมของชายสูงอายุที่กำลังมองหาผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า หรือแม้การถูกเลิกจ้างงานเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ก็อาจก่อความสับสนและความวิตกกังวลจากการสูญเสียสิ่งที่เคยเป็นตัวตนในหน้าที่การงานไป “ใครล่ะจะจ้างฉันเมื่ออายุ 55 ปีแล้ว และถ้าหากฉันพบงานใหม่ฉันจะตามคนรุ่นใหม่ทันไหม”
ช่วงวัยกลางคนนั้นเราจำเป็นต้องเปลี่ยนความสนใจของเราให้เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกกว่าที่เคย ในที่สุดเราจะพบความจริงและความน่าพึงพอใจมากกว่าความหลงใหลอย่างตอนที่เราเป็นหนุ่มสาว และความทะเยอทะยานที่คอยบังคับเราในอดีต
พื้นฐานของการมีศรัทธา
“ฝูงปลาที่ถูกอวนขนาดใหญ่ลากเป็นระยะทางหลายไมล์ อวนจากเรือต้องการจับปลาทูน่า บางครั้งปลาโลมาก็ถูกพันอยู่ในอวนและถูกลากไปพร้อมปลาทูน่า แม่ปลาโลมาสามารถกระโดดออกจากตาข่ายได้อย่างง่ายดาย แต่พวกลูกโลมาไม่สามารถกระโดดออกได้ ลูกโลมาที่ยังอ่อนด้อยจะเริ่มรู้สึกสับสนและหมดหนทางที่จะหลบหนี แต่เมื่อแม่ปลาโลมาเห็นว่าลูกของพวกมันไม่สามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตัวเอง แม่ปลาโลมาจึงกระโดดกลับเข้าไปในตาข่ายเพื่อเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมไปพร้อมกับลูกโลมาของมัน”
ความตกใจที่เราพบเมื่อเราถูกดึงออกไปจากชีวิตเดิมของเรา เราติดอยู่ในตาข่ายโดยไร้ทางหลีกหนี เราควบคุมมันไม่ได้ ไม่มีทางออกที่เป็นไปได้เลย เหมือนเราถูกขังไว้ในที่แคบๆ เราเริ่มสับสนและถูกลากเข้าไปในสิ่งที่เราไม่ได้เลือก เมื่อเผชิญกับแรงกระแทกขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ในช่วงเริ่มต้นทางเข้าของวัยกลางคนเราก็เหมือนลูกปลาโลมา ความสับสนทำให้เรารู้สึกแย่เพราะสิ่งที่เราเคยทำได้ กลับสูญกำลังไป เราได้ออกไปจากพื้นที่ที่เคยเป็นความปลอดภัย
ส่วนโลมาตัวแม่เลือกกระโดดกลับไปพร้อมยอมที่จะพ่ายแพ้ต่อตาข่าย เพื่ออนาคตที่ไม่แน่นอนซึ่งอาจหมายรวมถึงการเสียชีวิต ทั้งตัวมันและลูกของมันด้วย พวกมันอนุญาตให้ตัวเองเคลื่อนเข้าไปในสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดตามมา
ถึงแม้ตัวตนของเรารู้สึกติดขัดกับวิฤกตที่เกิดขึ้นก็ตาม แต่เสียงภายในอีกส่วนหนึ่งของเราก็กำลังส่งสัญญาณเรียกร้องให้เราเปลี่ยนแปลงตัวตนด้วยสติปัญญาและความรัก คล้ายกับการแสดงออกของแม่โลมา และส่วนนี้คือสัญลักษณ์ที่สื่อให้เราลองวางชีวิตของเราลงแทนที่จะพยายามเข้าไปจัดการในแบบเดิมที่เราเคยทำๆ มา นั่นคือการยึดติดในตัวตนเดิม และการตระหนักอย่างลึกซึ้งขึ้นได้ถึงเสียงของชีวิตในอนาคตซึ่งกำลังเรียกร้องให้เราออกจากสิ่งที่คุ้นชินเดิม ถึงแม้ในความเป็นจริงเราจะตระหนักได้อย่างสุดใจ แต่เราก็ต้องการบทเรียนแห่งความทุกข์หรือความกลัวที่มากเพียงพอให้ส่งแรงผลักมาสู่เรา คล้ายเป็นเครื่องมือตัวทำละลายและทำการสลายวิธีการต่างๆ ที่เราเคยใช้มาก่อน เพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไปพร้อมกับขีดการพัฒนาศักยภาพที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะมีพลังงานเพียงพอจะแหวกว่ายเข้าไปในตาข่าย เราจะตระหนักรู้ทันถึงการมาของประสบการณ์ใหม่ๆ โดยที่เราไม่รีบหลบหนี หลีกเลี่ยงอย่างลนลาน แต่ให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปและดำรงอยู่มากกว่าการพยายามที่จะอยู่ให้รอด
ในการเลือกเคลื่อนตัวเองเข้าไปในตาข่าย เราจำต้องเผชิญกับภาวะที่ตกตะลึง เราจำเป็นต้องพัฒนาศรัทธาพื้นฐานที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดก็จะเป็นประโยชน์ต่อเราเสมอ ศรัทธาแบบนี้มาจากความเชื่อมั่นลึกซึ้งว่าชีวิตเป็นสิ่งที่ดีงาม วางใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าเราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตามมันไม่สำคัญเลย ขอให้เรามีศรัทธาพื้นฐานของสรรพสิ่งที่พร้อมจะมอบความอบอุ่นและมีเมตตาต่อมนุษย์ และในส่วนลึกของเราก็รู้ดีว่าภารกิจของการเติมเต็มชีวิตนั้น คือประสบการณ์ที่ปนเปไปด้วยการผสมผสานที่หลากหลาย
หากการเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้จะถูกประคับประคองด้วยความเชื่อที่ไม่มีความสงสัยในความดีงาม มันจะกลายเป็นปัญญาและความเมตตากรุณาของชีวิตทุกคน และในทิศทางตรงกันข้าม วิกฤตวัยกลางคนก็ได้มาเปิดเผยให้เราเห็นว่าเราขาดพร่องศรัทธาและกรอบของข้อจำกัดต่างๆ ที่เรามี ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นภาพชีวิตที่ใหญ่กว่าได้ ตัวตนที่เรายึดถึอไว้คือเปลือกนอกที่ปิดบังแกนกลางของชีวิต และความเป็นไปของแรงขับตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นแรงขับที่ไม่สามารถควบคุมได้ มันเพียงนำเราไปสู่ความเป็นทั้งหมด พร้อมเผยตัวผ่านวิฤกตการณ์และผลักดันให้เราไตร่ตรอง แทนที่จะตอบสนองต่อสถานการณ์
ตลอดเส้นทางการทำงานของวิกฤตวัยกลางคนรวมทั้งภายหลังการจบวิกฤตนั้นแล้ว เราจะได้เรียนรู้การเปลี่ยนผ่าน จากการลอกคราบเปลือกนอกไปสู่ใจกลางของเราที่บริสุทธิ์ขึ้น และหากเรามีความจริงใจและกล้าหาญ “ในความตั้งใจที่จะยอมแพ้พ่าย ศิโรราบต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา” เราจะกลับคืนสู่การมีชีวิตตามที่แสงพระทิตย์จะดับแสงลงในยามค่ำคืนและมีรุ่งเช้าของวันใหม่รอเราเสมอ
ล้อมกรอบ จับความโดย ญาดา สันติสุขสกุล (ผู้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาตัวตน) ถอดความจากหนังสือ Hidden Blessings (Midlife Crisis as a spiritual awakening) โดย Jett Psaris, PhD |