Skip to content
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Education trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skills
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
Relationship
3 April 2025

Love Bombing: เมื่อการทุ่มเทความรักมากมายเป็นเพียงเหยื่อล่อไปสู่ความสัมพันธ์ท็อกซิก

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Love Bombing คือพฤติกรรมที่อีกฝ่ายแสดงความรักอย่างท่วมท้นในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ เพื่อทำให้อีกฝ่ายหลงรักและผูกพันอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเริ่มควบคุมและบงการในภายหลัง
  • ผลของ Love Bombing อาจนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ทำให้ผู้ถูกกระทำสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ถูกควบคุม หรือแม้แต่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในบางกรณี
  • เราควรรักและเห็นคุณค่าของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเรารักตัวเองแล้วเราจะดึงดูดคนที่รักตัวเองเหมือนกันเข้ามาหาเอง นำไปสู่ความรักที่แท้ที่ไม่ใช่การเสแสร้งดังเช่นความสัมพันธ์แบบ Love Bombing

ในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์ ความรู้สึกตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง และความหลงใหลมักเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น เราอาจรู้สึกโชคดีที่ได้เจอคนที่ใส่ใจ ให้ความสำคัญ และมองว่าเราน่ารักในทุกด้าน บางครั้งอีกฝ่ายก็แสดงความรักแบบจัดเต็มจนเรารู้สึกเหมือนเป็นคนพิเศษเกินกว่าที่จะหาที่ไหนได้

พฤติกรรมเหล่านี้ฟังดูโรแมนติกและเป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ดี อย่างไรก็ตาม การแสดงความรักอย่างท่วมท้นทั้งที่รู้จักกันไม่นานอาจไม่ใช่เรื่องดีอย่างที่คิด เพราะมันอาจเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Love Bombing’ พฤติกรรมโปรยความรักให้มากมายเพื่อหวังควบคุมบงการเราในอนาคต

Love Bombing คืออะไร?

Love Bombing หมายถึง การทุ่มเทความรักให้อย่างมากมายในช่วงเริ่มต้นของความสัมพันธ์เพื่อทำให้อีกฝ่ายประทับใจและตกหลุมรัก เมื่อฝ่ายที่ได้รับความเอาใจใส่รู้สึกผูกพันจนถอนตัวไม่ได้ ฝ่ายที่ทำ Love Bombing จะเริ่มควบคุมบงการชีวิตของอีกฝ่ายให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ

พฤติกรรม Love Bombing อาจดูคล้ายกับช่วงระยะหนึ่งของความสัมพันธ์ที่เรียกว่า ‘ช่วงโปรโมชัน’ (Honeymoon Phase) กล่าวคือ มีการแสดงความรักออกมามากมาย ทุกอย่างดูดี เข้ากันได้ไปหมด ตัวติดกันตลอด แต่สิ่งที่ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันคือ ‘เจตนาที่อยู่เบื้องหลัง’ และ ‘ความสมดุลของความรัก’

‘ช่วงโปรโมชัน’ เป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความตื่นเต้น ความหลงใหลเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อเกิดเป็นสายสัมพันธ์บางอย่างที่เชื่อมต่อกัน แต่ ‘Love Bombing’ เป็นเพียงการมอบความรักที่ดูมากมายเกินเหตุจากฝ่ายเดียว โดยมีจุดประสงค์ให้อีกฝ่ายหลงจนถอนตัวไม่ขึ้น เพื่อนำไปสู่การควบคุมบงการชีวิตของอีกฝ่ายในอนาคต

พูดง่ายๆ ก็คือ Love Bombing เป็นการใช้ความรักเป็นเครื่องมือเพื่อหวังควบคุมอีกฝ่ายไม่ให้ทิ้งตนไปนอกจากนี้ AARP องค์กรสนับสนุนคนเกษียณในสหรัฐ ยังเตือนว่า ในบางกรณีพฤติกรรม Love Bombing ก็เป็นหนึ่งในเทคนิคที่มิจฉาชีพใช้หลอกล่อให้เหยื่อหลงรักหรือที่เรียกว่า Romance Scam เพื่อหวังผลประโยชน์อื่นๆ เช่น เงินหรือของมีค่า ได้เช่นกัน

สัญญาณเตือนของ Love Bombing

  • พยายามเร่งรัดความสัมพันธ์ – ผู้ที่ทำ Love Bombing มักจะเร่งพัฒนาความสัมพันธ์ไปอย่างรวดเร็วจนอีกฝ่ายตั้งตัวไม่ทัน พยายามสร้างความใกล้ชิดและการผูกมัดอย่างรวดเร็ว เช่น ขอเป็นแฟนทั้งที่เจอกันไม่กี่ครั้ง หรือกล่าวว่าอยากสร้างอนาคตร่วมกันทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จักกันดี
  • กล่าวเยินยอเกินจริงและพร่ำเพื่อ – การใช้คำพูดบอกรักเป็นเรื่องปกติของคนรักกัน แต่ถ้าเป็นคนที่เพิ่งเจอกันไม่กี่ครั้งแต่กลับบอกว่า ‘เราเป็นคู่ชีวิต’ ‘เราเป็นที่ตามหามานาน’ ก็ดูจะเกินจริงไปหน่อย อีกทั้งคำเยินยอเกินจริงเหล่านี้มักถูกกล่าวอยู่บ่อยๆ จนทำให้เราเคลิ้มและติดกับได้
  • ขยันให้ของขวัญมากเกินไป – คนประเภทนี้มักซื้อของขวัญมาเอาใจทั้งๆ ที่ดูไม่จำเป็นในบริบทนั้นๆ โดยของขวัญบางอย่างอาจมีมูลค่าสูง ทำให้คนที่ได้รับรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ เกรงใจ และยอมทำตาม
  • ไม่เคารพพื้นที่ส่วนตัว – ผู้ที่มีพฤติกรรม Love Bombing มักคอยเช็กอีกฝ่ายตลอดเวลาว่าทำอะไรอยู่ที่ไหน แสดงความหึงหวงมากเกินเหตุ เรียกร้องให้อีกฝ่ายใช้เวลาอยู่กับตน พยายามแยกเราออกจากกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว

ทำไมคนถึงทำ Love Bombing?

จากที่กล่าวไปในตอนต้นว่า Love Bombing อาจเป็นเทคนิคหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้หลอกล่อเหยื่อ พฤติกรรมนี้ก็มีปัจจัยทางจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ (Low Self-esteem), มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเอง (Narcissism) หรือมีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง (Insecure Attachment Style) มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม Love Bombing

รูปแบบความผูกพัน หมายถึง ลักษณะการตอบสนองเวลาเรามีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด เช่น เรารู้สึกเชื่อใจไว้ใจคนใกล้ชิดของเรา อยู่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ แบบนี้จะเรียกว่า ‘รูปแบบความผูกพันแบบมั่นคง’ แต่หากเรารู้สึกไม่เชื่อใจหรือไว้ใจคนใกล้ชิด แบบนี้จะเรียกรวมๆ ว่า ‘รูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคง’

ผู้ที่มีรูปแบบความผูกพันแบบไม่มั่นคงมักจะเกิดความคลางแคลงใจว่าบุคคลใกล้ชิดของเราไว้ใจได้หรือไม่ บ้างก็หลีกหนีการมีความสัมพันธ์ บ้างก็ต้องการคำยืนยันจากอีกฝ่ายตลอดว่ารักเราหรือไม่ หรือบ้างก็หาวิธีที่ทำให้อีกฝ่ายไม่ทิ้งเราไป ซึ่ง Love Bombing ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะควบคุมไม่ให้คนที่เรารักทิ้งเราไป

ส่วนคนที่มีบุคลิกภาพแบบหลงตนเองมักมีภาพของ ‘ตัวตนในอุดมคติ’ ไม่สอดคล้องกับ ‘ตัวตนในความเป็นจริง’ เช่น คิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งที่ก็ไม่ได้เก่งอะไร เมื่อตัวตนทั้งสองนี้ไม่สอดคล้องกัน จึงทำให้คนประเภทนี้ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เรียกว่า ‘การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ’

ดังนั้นคนหลงตนเองจึงพยายามหาวิธีเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อรักษาภาพลวงตาที่ตนได้สร้างเอาไว้ เช่น ใช้สิ่งของมูลค่าสูงเพื่อเสริมภาพลักษณ์ โอ้อวดเพื่อกลบเกลื่อนจุดด้อย หรือพยายามควบคุมคนอื่นเพื่อให้รู้สึกว่าตนมีอำนาจและสำคัญ

วิธีรับมือกับ Love Bombing

อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าพฤติกรรม ‘Love Bombing’ อาจดูคล้ายกับ ‘ช่วงโปรโมชัน’ ในความสัมพันธ์ ดังนั้นในขั้นแรกอาจเริ่มต้นด้วยการสังเกตสัญญาณต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงพฤติกรรม เช่น การมอบความรักที่มากมายอยู่ฝ่ายเดียว เรารู้สึกถูกกดจากความรักที่มากมายจนไม่เป็นตัวของตัวเอง

เมื่อเราทราบว่ากำลังเจอกับ Love Bombing นักจิตวิทยา Mark Travers แนะนำให้เริ่มด้วยการกำหนดขอบเขตไม่ให้อีกฝ่ายรุกล้ำ ความรักที่ดีควรจะต้องเคารพขอบเขตซึ่งกันและกัน ทำให้เราเป็นตัวของตัวเองและไม่รู้สึกอึดอัด ขอบเขตในที่นี้อาจจะเป็นเวลาส่วนตัวเอง หรือความชอบ-ไม่ชอบในพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรสื่อสารกับอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา

หลายคนมักคิดว่าเมื่อมีความรักก็ควรจะต้องละทิ้งขอบเขตเหล่านี้ออกไป เพื่อให้เราเป็นของกันและกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟังดูโรแมนติกแต่อาจใช้ไม่ได้กับความสัมพันธ์ในระยะยาว

Osho นักปรัชญาร่วมสมัยชาวอินเดีย กล่าวว่า ความรักที่แท้ต้องมีอิสรภาพ ทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง เพราะความรักเกิดจากคนที่อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวสองคนมาเจอกัน คนที่อยู่ได้ด้วยตัวคนเดียวจะเป็นอิสระอย่างเต็มที่ เกิดการให้ที่จริงใจและการแบ่งปันที่แท้จริง

เมื่อกล่าวเช่นนี้ หลายคนอาจรู้สึกว่าเมื่อคนรักของเราสามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เราก็คงจะหมดความหมาย จึงพยายามเข้าไปจัดการชีวิตของอีกฝ่ายให้ต้องพึ่งพาตน สิ่งนี้ไม่ใช่ ‘ความรัก’ แต่เป็น ‘การต่อรอง’ เพื่อควบคุมอื่นฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้งที่ไม่มีวันจบสิ้น

บางคนอาจคิดว่าความรักคือการพบกันระหว่างคนเหงาสองคน แต่ความเหงาหรือความเดียวดายไม่อาจเติมเต็มให้กันได้ มีแต่จะฉวยโอกาสอีกฝ่ายเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในหัวใจ สิ่งนี้ไม่ใช่ ‘ความรัก’ แต่เป็น ‘ราคะ’ การใช้คนอื่นเพื่อเติมเต็มความปรารถนาของตัวเอง แต่ความรักคือการให้ความนับถืออีกฝ่ายในความเป็นตัวเขา

คนที่เข้าหาคนอื่นด้วยราคะ มิอาจเสแสร้งได้นานว่ามันคือความรัก เมื่อช่วงเวลาแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ (ช่วงโปรโมชัน) จบลง ธาตุแท้ของเขาจะปรากฏ นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่บางคนมักคิดว่าเมื่อช่วงเวลาแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์จบลง ความรักก็จบลงด้วย คนที่คิดเช่นนี้คือคนที่ไม่รู้จักความรักที่แท้จริง

ต่อมา Travers แนะนำให้เริ่มปฏิเสธของขวัญอย่างสุภาพ ในขั้นนี้จะสามารถช่วยกรองได้ระดับหนึ่งว่าอีกฝ่ายกำลัง Love Bombing หรือเป็นเพียงอาการตื่นเต้นที่เกิดจากช่วงโปรโมชัน วิธีการปฏิเสธแบบสุภาพ เช่น ‘ขอบคุณนะ แต่ฉันคิดว่ามันยังเร็วเกินไป’

เมื่อปฏิเสธแล้วให้ดูปฏิกิริยาของอีกฝ่าย หากอีกฝ่ายตอบสนองความต้องการของเราด้วยการไม่เร่งรัดความสัมพันธ์และไม่ให้ของขวัญที่ไม่จำเป็น ก็เป็นสัญญาณที่ดี แต่หากอีกฝ่ายยังคงดื้อรั้นที่จะให้ของขวัญเราต่อไปและพยายามเร่งรัดความสัมพันธ์ ก็ควรดำเนินการขั้นถัดไป

ขั้นสุดท้ายคือการยุติความสัมพันธ์นี้แล้วก้าวต่อไป เราอาจรู้สึกผิดที่ทิ้งเขาไปแม้เขาจะทำดีกับเรามากมาย แต่เราต้องไม่ลืมว่าพฤติกรรม Love Bombing เป็นเพียงเหยื่อล่อไปสู่ความสัมพันธ์ท็อกซิกในอนาคต 

เราควรรักและเห็นคุณค่าของตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เมื่อเรารักตัวเองแล้วเราจะดึงดูดคนที่รักตัวเองเหมือนกันเข้ามาหาเอง นำไปสู่ความรักที่แท้ที่ไม่ใช่การเสแสร้งดังเช่นความสัมพันธ์แบบ Love Bombing

อ้างอิง

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2016). Self-esteem – การเห็นคุณค่าในตนเอง.

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2019). Attachment style – รูปแบบความผูกพัน.

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2022). บุคลิกภาพแบบหลงตนเอง – Narcissism.

ลัญฉน์ศักดิ์ อรรฆยากร. (2023). Love Bombing การทุ่มเทความรักอย่างหนักหน่วงในช่วงต้นของความสัมพันธ์.

AARP. (n.d.). For Scammers, It’s Not About Love, It’s About Your Money.

Cleveland Clinic. (2023). What Is Love Bombing?

Gina Cherelus. (2022). What Is ‘Love Bombing’?

Mark Travers. (2022). A Psychologist Suggests Three Ways To Disarm A Love Bomber.

OSHO. (2564). Being in Love [ดีไซน์รัก]. ฟรีมายด์ พับลิชชิ่ง จำกัด.

Strutzenberg, C. C., Wiersma-Mosley, J. D., Jozkowski, K. N., & Becnel, J. N. (2017). Love-bombing: A Narcissistic Approach to Relationship Formation. Discovery, The Student Journal of Dale Bumpers College of Agricultural, Food and Life Sciences, 18(1), 81-89.

Tags:

ความสัมพันธ์ความรักToxic relationshipLove Bombing

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Relationship
    Breadcrumbing: เลิกกั๊กแล้วรักได้มั้ย? ความสัมพันธ์ที่มีแต่ความหวังลมๆ แล้งๆ ไม่พัฒนาไปไหน

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Relationship
    ทำความเข้าใจความรักกับการเมืองด้วย Balance theory

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear ParentsMovie
    Orange is the new black: แม้ในเรือนจำความเป็นมนุษย์ไม่ควรถูกกักขัง

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Relationship
    Silent Treatment : ‘เงียบใส่’ เพื่อรักษาความสัมพันธ์หรือลงโทษทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel