- ความหึงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักๆ ที่ทำให้คู่รักทะเลาะกันมานักต่อนัก บางคนเป็นคนดูมีเหตุผล เยือกเย็น แต่พอหึงเมื่อไรกลายเป็นคนไม่ฟังเหตุผล ใช้แต่อารมณ์ ทำไมความหึงจึงเป็นอารมณ์ที่รุนแรงที่ส่งผลต่อคนเราได้ขนาดนี้
- หลายคนจะมองว่า “หึงก็เพราะรัก หวงก็เพราะเป็นห่วง” ไม่ได้มีเจตนาร้ายใดๆ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าอารมณ์นี้อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดให้อีกฝ่าย เพราะการหึงหวงจนเกินไปแสดงถึงความไม่เชื่อใจ และทำลายความสัมพันธ์ได้
- ในด้านของความหวง พ่อแม่เองแม้ว่าจะเป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูก แต่สุดท้ายแล้วหน้าที่หนึ่งคือการให้อิสระแก่ลูก ปล่อยให้เขาไปสนิท ไปใกล้ชิดคนอื่นๆ ไปสร้างสังคมใหม่ รวมถึงการสร้างครอบครัวใหม่ของของเอง
ชีวิตคู่เป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ความรักมันไม่ได้จบแค่ใจตรงกันและคบกัน การมีชีวิตคู่นั้นก็มีทั้งความสุขและบางครั้งมันก็นำความทุกข์ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ และหนึ่งในนั้นก็คืออารมณ์ ‘หึง’
ความหึงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักๆ ที่ทำให้คู่รักทะเลาะกันมานักต่อนัก หากเราดูละครไทย (มาตรฐาน) เราก็จะพบตัวอิจฉาที่แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดเพราะหึงพระเอกได้บ่อยๆ นอกจากนี้ในชีวิตจริงที่เราคงได้ข่าวเกี่ยวกับความหึงในแง่มุมที่ไม่ดีเช่นกัน บางคนหึงจนทำร้ายร่างกาย และบางคนถึงขั้นฆ่าฟันกันเลยก็มี ไม่มีใครชอบความหึงครับ ทั้งคนที่เป็นฝ่ายหึงที่ต้องมาโกรธ หงุดหงิด กระวนกระวาย และคนที่ถูกหึงก็อึดอัด รำคาญ เหนื่อยหน่าย แต่ปัญหานี้หากไม่เจอกับตัว ก็ยากจะเข้าใจว่าทำไมถึงมีความรู้สึกหึง บางคนเป็นคนดูมีเหตุผล เยือกเย็น ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี แต่พอหึงเมื่อไรแล้วกลายเป็นคนไม่ฟังเหตุผล ใช้แต่อารมณ์ ไม่สนหลักฐาน ระแวงเกินเหตุ ทำไมความหึงจึงเป็นอารมณ์ที่รุนแรงที่ส่งผลต่อคนเราได้ขนาดนี้ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักธรรมชาติของความหึงหวงกัน
‘หึง’ เป็นอาการไม่พอใจเมื่อคู่รักของตนไปแสดงว่ามีใจให้เพศตรงข้าม หรือมีเพศตรงข้ามมาแสดงว่ามีใจกับคู่รักของตน จะชายหรือหญิงก็หึงเป็นทั้งนั้น คนเรา ‘ขี้หึง’ ในระดับแตกต่างกัน (ในทางจิตวิทยาเรียกความแตกต่างของการตอบสนองสิ่งต่างๆ ที่คงทนว่า ‘บุคลิกภาพ’ ที่คนเราแตกต่างกันก็เพราะการเรียนรู้สิ่งใดๆ มา หรือด้วยพันธุกรรม หรือทั้งสองอย่างผสมกันก็ได้) บางคนก็แค่แสดงออกว่าไม่พอใจ แต่บางคนโกรธจนไปทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ หลายๆ คู่คงพบกับปัญหาว่า ตัวเองไม่ได้ทำอะไรที่จะไปนอกใจอีกฝ่าย บางทีแค่คุยกับหญิงหรือชายอื่นแค่สองสามคำแค่นั้น แต่แฟนตัวเองกลับหึงไปใหญ่โต เพราะความหึงนั้นเป็นการรับรู้และตีความของฝ่ายที่หึงเองว่าอีกฝ่ายกำลังปันใจให้คนอื่น เป็นการรับรู้ความเป็นไปได้ ดังนั้นไม่ต้องมีหลักฐานรองรับก็ได้ ฝ่ายที่ถูกหึงไม่ต้องทำจริงๆ ก็ได้ ดังนั้นอย่าแปลกใจที่บางคนหึงได้โดยเหมือนไม่มีเหตุผล ว่าแต่ทำไมความหึงหวงคู่รักถึงได้รุนแรงขนาดนี้
อารมณ์ต่างๆ ของมนุษย์เรานั้นมีเหตุผลทางวิวัฒนาการว่ามีไว้ทำไมครับ มนุษย์สืบทอดลักษณะที่ทำให้ตัวเองอยู่รอดและสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ และความหึงเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าหึงไปจะได้อะไร ทำไมต้องกลัวอีกฝ่ายนอกใจ หาใหม่ก็ได้ ไม่เห็นต้องง้อ แต่การจะศึกษาวิวัฒนาการนั้นเราต้องย้อนดูอดีตดึกดำบรรพ์อย่างน้อยๆ ก็หลายหมื่นปีก่อน (ซึ่งยีนหรือรหัสพันธุกรรมของเราต่างจากสมัยนั้นน้อยมาก) มนุษย์ไม่มีกฎหมายแต่งงาน ไม่มีทะเบียนสมรส ดังนั้นการเป็นคู่รักในสมัยนั้นก็คือการตัดสินใจว่าจะมีลูกกับคนนั้นแน่ๆ
แต่การมีลูกในอดีตนั้นคือเรื่องใหญ่มาก บรรพบุรุษของเราเกิดในสภาพแวดล้อมที่อันตรายจากผู้ล่าและอาหารไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนปัจจุบันเพราะยังไม่มีเกษตรกรรม ตอนท้องผู้หญิงก็ออกไปหาอาหารลำบาก และยังต้องเสี่ยงอันตรายจากนักล่า และตอนหลังคลอด เนื่องจากทารกนั้นทำอะไรแทบไม่ได้เลย ผู้หญิงจึงต้องตัวติดกับลูกตลอด ดังนั้นผู้ชายจึงต้องคอยปกป้องอันตรายและหาอาหารมาให้แม่และเด็ก ในสมัยนั้นหากผู้ชายทิ้งผู้หญิงไป โอกาสที่แม่และลูกจะไม่รอดทั้งคู่จึงสูงมาก วิวัฒนาการของมนุษย์จึงออกมาเป็นแบบ ‘ผัวเดียวเมียเดียว’ (monogamy) มีพ่อแม่ช่วยกันเลี้ยงลูกให้รอดสืบเผ่าพันธุ์ไป แม้ว่าเวลาผ่านไปหลายหมื่นปีจนเริ่มมีสังคมขนาดใหญ่ ในบางวัฒนธรรมอาจจะยอมรับการมีภรรยาหลายคนหรือแม้แต่สามีหลายคนแต่ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมส่วนน้อย หรืออาจจะไม่ได้นำไปใช้กับทุกชนชั้น (มีแค่คนสถานะสูงในสังคมที่มีสามีหรือภรรยามากกว่าคนเดียวได้โดยไม่ผิด) และมักจะมีเหตุผลทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เอื้อให้ทำแบบนั้น
คำถามที่ตามมาคือ แล้วผู้ชายจะทิ้งคนรักทำไม ในเมื่อผู้ชายก็อยากมีลูกสืบทอดเผ่าพันธุ์เหมือนกัน สิ่งที่ทำให้ความหึงเกิดขึ้น ก็คือพฤติกรรมอีกอย่างที่วิวัฒนาการมาเช่นกันคือ ‘ความเจ้าชู้’ ผู้ชายอาจจะทำผู้หญิงคนหนึ่งท้องแล้วไปมีลูกกับผู้หญิงอีกคน ผู้ชายหว่านเสน่ห์และไปมีลูกไปทั่วแล้วดูแลแค่คนเดียวก็ยังได้เพราะผู้ชายไม่ต้องตั้งท้อง การมีลูกกับผู้หญิงหลายคนอาจจะช่วยให้มีลูกของตัวเองรอดมากกว่าในภาพรวม คือเน้นปริมาณเข้าไว้ แต่กับผู้หญิงที่ถูกทิ้งให้เลี้ยงลูกของตัวเองคนเดียวนั้นจะมีโอกาสรอดน้อยลงมาก ดังนั้นผู้หญิงจึงวิวัฒนาการเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของไม่ให้ผู้ชายทำแบบนั้นได้
ผู้หญิงเองก็วิวัฒนาการความเจ้าชู้มาเช่นกัน คือการแอบไปมีความสัมพันธ์กับผู้ชายที่ดูแข็งแรงแล้วตั้งท้องเพื่อให้ได้ลูกร่างกายแข็งแรง แล้วไปให้ผู้ชายอีกคนที่ดูแล้วมีความสามารถในการเลี้ยงดูมากกว่าเป็นพ่อเด็กแทน เช่น คนที่เข้าถึงอาหารได้ดีกว่า ดังนั้นลูกของตัวเองจะได้ทั้งยีนที่ดีและการเลี้ยงดูที่ดี ผู้หญิงได้เปรียบตรงที่ไม่ว่าอย่างไรลูกในท้องก็เป็นลูกของตัวเองแน่ๆ แต่ผู้ชายในสมัยโบราณไม่อาจรู้เลยว่าเด็กในท้องของผู้หญิงที่ตัวเองเลี้ยงดูคือลูกใคร ผู้ชายจึงต้องคอยหึงไม่ให้ผู้หญิงไปแอบมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ความเจ้าชู้และความหึงช่วยเพิ่มอัตราการสืบเผ่าพันธุ์ของตัวเอง ดังนั้นความหึงและความเจ้าชู้เลยวิวัฒนาการต่อสู้ขับเขี้ยวกันมา
อารมณ์ของมนุษย์ที่มาจากวิวัฒนาการเพื่อความอยู่รอดเหล่านี้จะฝังอยู่ในยีนของเรา และติดตัวมาตั้งแต่เกิด ความหึงเองก็เหมือนความหิวและความโมโห คือไม่ต้องมีใครสอนก็หึงได้ และอารมณ์พื้นฐานเหล่านี้จะรุนแรงเป็นพิเศษด้วย เพราะเนื่องจากมันวิวัฒนาการมาเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ ทำให้ธรรมชาติของมนุษย์ไวและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยอัตโนมัติ สมองของเราที่รับผิดชอบในส่วนนี้บางทีจึงถูกอารมณ์หึงครอบงำได้ง่าย ดังนั้นอย่าแปลกใจที่พอหึงแล้วจะเหตุผลอะไรก็ฉุดไม่อยู่ ถ้าให้เปรียบก็เหมือนโมโหหิว ดังที่โบราณมีเรื่องเล่า ‘กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่’ อารมณ์มันนำหน้าสติไปแล้ว
ไหนๆ เราก็คุยเรื่องความหึงไปแล้ว เรามาดูอารมณ์ที่เหมือนจะคล้าย ๆ กันคือ ‘ความหวง’ กันดีกว่าครับ กับคนที่ไม่ใช่คนรัก หากเราไปแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ สังคมจะไม่ใช้คำว่า ‘หึง’ แต่ใช้คำว่า ‘หวง’ แทน พ่อแม่บางคนก็หวงลูกตัวเองมาก หรือพี่น้องบางคนก็หวงพี่หรือน้องตัวเอง เพื่อนก็อาจหวงเพื่อนสนิทคนตัวเองได้ บางคนถึงขั้นหวงมาก อยากให้คนที่หวงอยู่แต่กับตัวเอง ไม่อยากให้ไปสนิทกับใคร ไม่อยากให้เขามีคนรัก ปกติแล้วหวงจะไม่ทำให้หน้ามืด ลืมตัว คุมตัวเองไม่อยู่เหมือนหึง เพราะกลไกตามธรรมชาติแตกต่างกัน แล้วกลไกของความหวงนี้มันมาจากไหน
ในกรณีของพ่อแม่หวงลูกนั้น เราก็มีกลไกทางธรรมชาติที่คล้ายกับความรักที่เรียกว่า ‘ความผูกพัน’ ที่เป็นพันธะที่ดึงดูดกันไว้โดยธรรมชาติ เพราะโลกยุคโบราณการอยู่ห่างจากลูกเป็นสิ่งที่อันตรายกับลูกมากๆ เพราะอย่างที่บอกว่าเด็กทารกทำอะไรไม่ได้ จะทั้งกินทั้งป้องกันตัวจากผู้ล่าก็ต้องอาศัยพ่อแม่ทั้งนั้น ดังนั้นพ่อแม่จึงพัฒนาอารมณ์ที่ต้องการให้ตนเองอยู่ใกล้ๆ ลูกเข้าไว้ และรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากหากลูกต้องจากตัวเอง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ Attachment Theory: เหตุใดเราต้องการอยู่ใกล้คนรักตลอดเวลา) และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่พัฒนาเป็นความหวงได้ แต่เช่นเดียวกับความหึง ระดับความหวงที่มาจากธรรมชาตินี้แตกต่างกันไปตามบุคคล หากลูกโตแล้วส่วนใหญ่พ่อแม่ก็จะพ้นจากความรู้สึกที่จะผูกมัดลูกไว้กับตัวเองคนเดียว เพราะตามธรรมชาติพอลูกดูแลตัวเองได้ ความจำเป็นที่ต้องตัวติดกับพ่อแม่ก็หายไป แต่บางคนก็อาจยึดติดเรื่องนี้อยู่ ยังหวงเหมือนลูกยังเด็กๆ นอกจากนี้การหวงลูกจนเกินเหตุยังมาจากปัจจัยทางสังคมก็ได้ ในบางสังคมที่คาดหวังให้แม่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิดอย่างมากถึงขั้นห้ามคลาดสายตา หรือในบางกรณีพ่อแม่บางคนมีแผลใจจากการแยกจากลูก เช่น ตอนตัวเองละสายตาแล้วลูกไปเจออุบัติเหตุ ถูกทำร้าย หรือลักพาตัว ซึ่งทำให้ฝังใจว่าไม่ควรให้ลูกห่างตัวเด็ดขาด ทั้งสองประเด็นอาจกลายเป็นความเคยชินที่ฝังลึก พอลูกโตไปแม่ก็ยังปรับตัวให้ห่างจากลูกไม่ได้
ความผูกพันนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต้องการอยู่กับใครสักคนแล้วรู้สึกปลอดภัย สบายใจ ซึ่งคนที่อยู่ด้วยนั้นทางศัพท์วิชาการเรียกว่า ‘ฐานที่มั่นคง’ ซึ่งฐานนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปตามวัยได้
ตอนยังเด็ก เด็กมักจะผูกพันกับพ่อแม่ที่สุด แต่พออายุมากขึ้นก็อาจไปผูกพันกับคนที่อยู่วัยใกล้กันมากกว่าเช่น พี่น้องและเพื่อน และมักจะย้ายที่ไปหาคนรัก แต่ตามธรรมชาติแล้วความผูกพันในพี่น้องกับเพื่อนมีกลไกทางอารมณ์ที่ไม่รุนแรงเท่ากับระหว่างพ่อแม่และลูก หรือระหว่างคู่รัก ซึ่งสังเกตว่าทั้งสองอย่างเกี่ยวข้องกับการสืบเผ่าพันธุ์โดยตรง (เรื่องการมีลูก) ดังนั้นความหวงที่เกิดจากความผูกพันจึงรุนแรงน้อยกว่า นอกจากนี้ความหวงในพี่น้องอาจเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับพ่อแม่โดยเฉพาะในพี่น้องที่ขาดพ่อแม่ไป ไม่ว่าอาจจะเสียชีวิตหรือต้องอยู่ห่างกัน หรือบางครอบครัวที่ใหญ่พ่อแม่มีงานยุ่ง พี่คนโตต้องมีหน้าที่ประหนึ่งพ่อแม่ในการดูแลน้องเล็กๆ พี่ก็เลยต้องคอยดูแลน้องและเกิดความผูกพันเดียวกับในพ่อแม่ พี่ก็อาจสร้างความหวงจากความผูกพันได้แบบเดียวกับพ่อแม่
ส่วนความหวงของเพื่อนนอกจากความผูกพันแล้ว มักจะเกิดขึ้นในฐานะเครื่องมือรักษาความสัมพันธ์ของคนสนิท คนเรานั้นเป็นสัตว์สังคม การมีคนสนิทด้วยเป็นหนึ่งในสิ่งที่คนต้องการเป็นธรรมชาติ เช่นเคยครับ ความต้องการนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนจะรู้สึกต้องการบุคคลสนิทนี้มากเป็นพิเศษจนหวง ไม่อยากให้คนที่ตัวเองสนิทไปสนิทกับคนอื่นเลย เพราะเป็นธรรมชาติที่การไปสนิทกับคนอื่นก็คือการที่ต้องห่างจากตนเอง พี่น้องที่อายุใกล้ๆ กันและสนิทกันเหมือนเพื่อนก็อาจจะหวงในรูปแบบนี้ได้เช่นกัน
ลักษณะของการมองตัวเองและโลกภายนอกของแต่ละคนนั้นส่งผลต่อความหึงและความหวงอย่างมากครับ
คนเห็นคุณค่าของตัวเองน้อย หรือไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะมีค่าเพียงพอที่จะทำให้อีกฝ่ายสนิทชิดใกล้ได้นาน ทั้งความ ‘หึง’ และความ ‘หวง’ ก็จะยิ่งรุนแรง เพราะกลัวว่าอีกฝ่ายจะเปลี่ยนใจไปสนิทกับคนอื่นแทน
นอกจากนี้ความหวงอาจเกิดขึ้นได้มากในคนที่ไม่เชื่อใจคนอื่นๆ รอบตัว มองสังคมในแง่ร้าย ไม่คิดว่าใครจะมาเป็นคนสนิทกับคนที่หวงได้ดีเท่าตัวเอง จึงต้องการเก็บคนสนิทไว้กับตน แทนที่จะปล่อยเขาไปสนิทกับคนอื่นๆ ด้วย
ความหึงและความหวงนั้นเป็นกลไกธรรมชาติ แต่ก็อย่างที่รู้กันครับ มันไม่ใช่อารมณ์ที่ไม่ทำให้ฝ่ายใดรู้สึกดี ผู้ที่รู้สึกว่าตัวว่าหึงหวงมากเกินไปก็ควรมีสติ เมื่อรู้ว่าความหึงหวงเป็นอารมณ์ที่มาจากวิวัฒนาการมันจึงรุนแรงเกินกว่าเหตุไปในบางครั้ง อาจจะต้องพยายามควบคุมตัวเองให้หึงและหวงในระดับพอดีจะดีต่อความสัมพันธ์มากกว่า การปรับมุมมองของตัวเองอาจจะช่วยได้บ้าง
แม้หลายๆ คนจะมองว่า “หึงก็เพราะรัก หวงก็เพราะเป็นห่วง” ไม่ได้มีเจตนาร้ายใดๆ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าอารมณ์นี้อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดให้อีกฝ่าย เพราะการหึงหวงจนเกินไปแสดงถึงความไม่เชื่อใจ นอกจากนี้ การแสดงอารมณ์โกรธบ่อยๆ ย่อมบ่อนทำลายความสัมพันธ์ได้เป็นปกติ ใครถึงขั้นอยากอาละวาดไปจนถึงทำร้ายร่างกายนั่นก็อาจจะต้องหาทางแก้ไข อาจจะเริ่มต้นจากการปรึกษาคนรอบตัวก่อนก็ได้ เพราะตัวคนหึงเองมักจะมองเหตุการณ์ไม่ชัดเพราะอารมณ์ครอบงำ แต่หากกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่เริ่มรุนแรง แก้ไขไม่ได้เสียที หรือไม่รู้ว่าจะปรึกษาใครดี การไปปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก อารมณ์เหล่านี้เป็นหนึ่งในขอบเขตที่พวกเขาช่วยเหลือได้ และเรื่องหึงหวงนี่ก็อาจทำลายสุขภาพจิตของตัวเราเองและคนรอบตัว จึงไม่ควรปล่อยไว้
นอกจากนี้ฝ่ายที่ถูกหึงก็ควรเข้าใจธรรมชาติของความหึงหวงด้วย การมีคู่รักนั้นตามมาด้วยความรับผิดชอบครับ มีทั้งสิ่งที่ทำได้และที่ทำไม่ได้เหมือนตอนโสด การไปใกล้ชิดกับเพศตรงข้ามแม้ว่าจะบริสุทธิ์ใจเพียงใด ก็เลี่ยงที่จะทำให้อีกฝ่ายไม่หึงได้ยาก และยิ่งถ้าเรารู้ดีว่าคนรักของเราขี้หึงแล้วด้วย ต่อให้บริสุทธิ์ใจแค่ไหน อย่างที่เราคุยกันว่าจะเจตนาหรือเหตุผลมันต้านความหึงที่ฝังสมองของคนเราตามธรรมชาติได้ยาก
ในด้านของความหวงนั้น พ่อแม่เองแม้ว่าจะเป็นหรือเคยเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกมากเพียงใด แต่ไม่ว่าอย่างไร สุดท้ายแล้วหน้าที่หนึ่งของพ่อและแม่คือการต้องให้อิสระแก่ลูก และหนึ่งในนั้นคือการปล่อยให้เขาไปสนิท ไปใกล้ชิดคนอื่นๆ ไปสร้างสังคมใหม่ รวมถึงการสร้างครอบครัวใหม่ของของเอง ตามทฤษฎีแล้วความผูกพันที่แข็งแรง คือพ่อแม่ผูกพันเพื่อดูแลไม่ให้เด็กเจออันตราย และเมื่อเขาปลอดภัยและแข็งแกร่งเพียงพอแล้ว หน้าที่ต่อมาคือส่งเสริมให้เขาเรียนรู้โลกกว้าง และเป็นฐานให้เขากลับมายามเขารู้สึกไม่มั่นคง
ส่วนการหวงพี่หรือน้องหรือหวงเพื่อนสนิทนั้น ก็ต้องมีขีดจำกัดเช่นกัน ความสัมพันธ์แต่และแบบมีธรรมชาติของมัน และความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่คู่รักไม่ใช่สิ่งที่ยึดว่าต้องมีแค่สองคน คนที่เรารักอาจจะมีคนที่สนิทใกล้ชิดอีกมากมาย ซึ่งแม้จะทำให้เวลาอยู่กับเราลดลงอย่างช่วยไม่ได้ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติที่คนคนหนึ่งต้องการมีสังคมและมีคนสนิทมากกว่าหนึ่งคน และแน่นอนว่าเขาอาจจะต้องการมีคู่รัก อย่างไรก็ตาม การไปสนิทคนอื่นเพิ่ม ให้เวลากับเราน้อยลง ไม่จำเป็นต้องทำให้สนิทกับเราน้อยลงเสมอไป โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนเรานั้นแตกต่างกันไป เพราะคนเราเองก็ต่างกัน ไม่มีใครแทนที่ใครได้กันอย่างสมบูรณ์ แม้เขาอาจจะไปสนิทกับอีกคนหนึ่ง แต่ก็อาจจะไม่เหมือนที่เราสนิทกับเขา
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคนสองคน หากทั้งสอง ‘คลิก’ หรือเข้ากันได้ ความสนิทก็จะยืนนานไปเอง แต่ถ้ามันเป็นความพยายามจากฝ่ายเดียว ต่อให้หึงให้หวงไป ตบมือข้างเดียวมันไม่ดังหรอกครับ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบใด
บางทีหึงและหวงเองก็อาจเป็นสีสันให้ชีวิตรักและความสัมพันธ์ได้บ้าง บางทีคู่รักพอเห็นอีกฝ่ายหึงก็เป็นการยืนยันว่าเขารักเราจริงๆ พอเห็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือเพื่อนหวง ก็ทำให้รู้สึกว่าเขาเป็นห่วง เขาใส่ใจ แต่ก็เช่นเคยครับ ความพอดีคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่จุดที่ยากที่สุดคือแต่ละคู่ก็มีความพอดีที่แตกต่างกันไป ถ้าคิดจะคงความสัมพันธ์ไว้ ก็ต้องปรับตัวไม่ให้หึงหวงกันเกินไป ส่วนคนที่รู้ตัวว่าเจ้าชู้ ก็ลดให้ได้มากที่สุดเถอะครับ เพราะอารมณ์หึงนั้นถ้ามันล้นจนครองสติคนรักของท่านเมื่อไร ท่านอาจจะรักษาทั้งความสัมพันธ์ ความสงบสุข หรือแม้แต่สวัสดิภาพในชีวิตไม่ได้ด้วยซ้ำ มีตัวอย่างมีให้เห็นมามากมายแล้วจริงไหมครับ
เอกสารอ้างอิง
ดิแลน อีวานส์. (2559). จิตวิทยาวิวัฒนาการ (พงศ์มนัส บุศยประทีป, แปล). กรุงเทพฯ, มูลนิธิเด็ก.
Fraley, R. C., Brumbaugh, C. C., & Marks, J. J. (2005) The evolution and function of adult attachment: A comparative and phylogenetic analysis. Journal of Personality and Social Psychology, 89, 731-746.
Krems, J. A., Williams, K. E., Aktipis, A., & Kenrick, D. T. (2021). Friendship jealousy: One tool for maintaining friendships in the face of third-party threats?. Journal of Personality and Social Psychology, 120(4), 977.
Shumaker, D. M., Miller, C., Ortiz, C., & Deutsch, R. (2011). The forgotten bonds: The assessment and contemplation of sibling attachment in divorce and parental separation. Family Court Review, 49(1), 46-58.
Ungar, M. (2009). Overprotective parenting: Helping parents provide children the right amount of risk and responsibility. The American Journal of Family Therapy, 37(3), 258-271.
Voulgaridou, I., & Kokkinos, C. M. (2020). The mediating role of friendship jealousy and anxiety in the association between parental attachment and adolescents’ relational aggression: A short-term longitudinal cross-lagged analysis. Child Abuse & Neglect, 109, 104717.