Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
How to enjoy life
26 July 2023

อิจิโกะ อิจิเอะ: การพบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ปรัชญาที่ชวนเราตกหลุมรักชีวิตในทุกเช้าวันใหม่

เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • อิจิโกะ อิจิเอะ 【一期一会】 เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น เกี่ยวกับแนวคิดความรู้สึก ‘ครั้งแรก’ และ ‘ครั้งสุดท้าย’
  • ‘การพบกันเพียงครั้งเดียว’ เป็นเพียงครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชั่วชีวิต  ช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญในทุกเรื่อง ให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างถึงที่สุด และสอดคล้องกับการทำวันนี้วินาทีนี้ให้ดีที่สุด
  • อิจิโกะ อิจิเอะ พึงเตือนสติให้เรารักษามาตรฐานและเติมพลังใจให้แก่ทุกความสัมพันธ์ เราสามารถดูแลคนรอบตัวอย่างถึงที่สุดดีเยี่ยมที่สุดเสมือนเป็นครั้งสุดท้ายที่เจอกัน

รู้สึกยังไงบ้างครับถ้าคุณได้เข้ามาอ่านบทความนี้ของ The Potential เป็นครั้งแรก? ขออนุญาตถามต่อ แล้วคุณจะรู้สึกยังไง ถ้าสมมติว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะได้อ่านบทความนี้…และจะไม่มีโอกาสได้อ่านอีกต่อไปเลยตลอดช่วงชีวิตนี้? 

ความรู้สึก ‘ครั้งแรก’ และ ‘ครั้งสุดท้าย’ มันช่างทรงพลังจริงๆ ใช่ไหม?

วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมาคุยเรื่องปรัชญาแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่ชื่อว่า อิจิโกะ อิจิเอะ 【一期一会】 เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตที่อาจจะอยู่นอกกระแสหลักไปบ้าง ไม่เหมือนอย่าง คินสึงิ ที่เคยกล่าวไปในบทความก่อน, ไคเซ็น หรือ อิคิไก ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว 

อิจิโกะ อิจิเอะ การพบกันเพียงครั้งเดียว

ถ้าแปลตามตัวอักษรเลย อิจิโกะ อิจิเอะ แปลได้ว่า ‘การพบกันเพียงครั้งเดียว’ (Once in a lifetime) เราอาจพบเจอกันครั้งนี้จะเป็นเพียงครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชั่วชีวิต จบแล้วจบเลย

ทำไมประโยคสั้นๆ นี้ถึงสำคัญขนาดนั้น? พบเจอกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย…แล้วมันทำไมเหรอ? ดังที่เราจะได้ลงลึกกัน เพราะแนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะนี้เอง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตคนเรา ช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญในทุกเรื่อง ให้เราตกหลุมรักอีกครั้งกับการมีชีวิตอยู่ในเช้าวันใหม่ ช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างถึงที่สุด และสอดคล้องกับการทำวันนี้วินาทีนี้ให้ดีที่สุด

จากพิธีชงชา สู่อิจิโกะ อิจิเอะ

แนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มาจาก ‘พิธีชงชา’ ของนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น อย่างที่เราพอจะทราบกัน ปรัชญาแนวคิดการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นมากมายก่อกำเนิดขึ้นมาจากพิธีชงชา หนึ่งในนั้นก็คือ ‘อิจิโกะ อิจิเอะ’ 

โดยพิธีชงชาที่แขกทุกคนต้องมานั่งลงอย่างสำรวม สงบนิ่ง ประณีต ได้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แต่สมัยก่อนเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว การเดินทางไม่ได้สะดวกสบาย โอกาสที่สมาชิกทุกคนที่อยู่ในพิธีชงชาจะมาเจอกันนั้นมีน้อยมากๆ และน้อยยิ่งกว่าถ้าจะโคจรกลับมาพบกันอีก 

ในทางปฏิบัติ การพบเจอกันในพิธีชงชาครั้งหนึ่งจะเกิดขึ้นเพียง ‘ครั้งเดียว’ ในชีวิตเท่านั้น แขกทุกคนเจอกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย และเมื่อนั้นอิจิโกะ อิจิเอะก็เริ่มเบ่งบานขึ้นในใจจากพิธีชงชานี้ มันหล่อหลอมให้เราปฏิบัติต่อกันอย่างดีที่สุด เคารพให้เกียรติอีกฝ่ายอย่างถึงที่สุด เพราะห้วงเวลาอันมีค่าที่ได้อยู่ด้วยกันนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

นอกจากนี้ ยังโยงไปถึงความเชื่อของคนญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณด้วยเช่นกัน 

ท่ามกลางมนุษย์ที่มีอยู่มากมายและความกว้างใหญ่ไพศาลของโลกใบนี้ การที่คนสองคนมาโคจรพบกัน ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งในชีวิต เราจึงควรซาบซึ้งและทำมันให้ดีที่สุดนั่นเอง

ในเวลาต่อมา แนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะได้ถูกตีความแผ่ขยายออกมาจากพิธีชงชา และถูกหลอมรวมเป็นปรัชญาแนวคิดเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นมาถึงปัจจุบัน 

มาถึงตรงนี้ เราจะสังเกตได้ว่า อิจิโกะ อิจิเอะ จะมีคีย์เวิร์ด 2 คำที่โผล่มาพร้อมกันเสมอ นั่นคือ ‘ครั้งแรก’ และ ‘ครั้งสุดท้าย’ ก็น่าสนใจไม่น้อยว่าทำไม 2 คำนี้ถึงมีอิทธิพลกับใจเรามากขนาดนี้

ทำไม ‘ครั้งแรก’ ถึงมีความหมายขนาดนี้?

เมื่อสมองมนุษย์เราได้รับข้อมูลอะไรใหม่ๆ เป็นครั้งแรก มันจะไปกระตุ้นความรู้สึกตื่นเต้น จึงไม่แปลกเลยที่คนส่วนใหญ่รู้สึกถึงความเสน่หาเย้ายวนใจเวลาได้กินเมนูอาหารใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ ไปเยือนสถานที่ใหม่ๆ พบเจอผู้คนใหม่ๆ เป็นครั้งแรก

จากพิธีชงชา…เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป อิจิโกะ อิจิเอะได้หลอมรวมอยู่ในวัฒนธรรมคนญี่ปุ่น ตัวอย่างที่แสดงออกมาได้ชัดเจน คือ วัฒนธรรมต้อนรับและการจากลาแขกผู้มาเยือน คนญี่ปุ่นจะพิถีพิถันเวลาทำความรู้จักกันครั้งแรกและจะพิธีรีตองกับการร่ำลาเป็นพิเศษ 

คนญี่ปุ่นถือว่าการพบกันครั้งแรกอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว วิธีสังเกตง่ายๆ คือคำพูดทักทายคนเวลาพบกันครั้งแรกอย่าง “ฮาจิเมะมาชิเตะ” (ยินดีที่ได้รู้จัก) คำนี้จะถูกนำมาพูดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของคนสองคน ครั้งหน้าที่เจอกันจะไม่ได้พูดคำนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อครั้งแรกพูดออกไปแล้ว จะไม่มีการเอาคืน ไม่มีการยกเลิกกลางคัน ไม่มีการรีเซ็ตเริ่มใหม่

เราอาจตั้งข้อสงสัยว่า แล้วกิจวัตรประจำวันหลายต่อหลายอย่างของคนเราล่ะ จะถือว่าเป็นอิจิโกะ อิจิเอะไหม? แม้จะเป็นเรื่องที่พบเห็นจนเคยชินแล้วก็ตาม แต่ถ้าว่ากันให้ลึกซึ้งตามแนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะนี้ ก็คงต้องตอบว่า…เป็น

เพราะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อหาอาจเหมือนกันเป๊ะ แต่อย่างน้อยที่สุด ตัวแปรอื่นๆ เช่น แค่เวลาและความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นก็ต่างกันแล้ว ทุกช่วงเวลานั้นจึงสำคัญ เรื่องนี้เราอาจนำ ‘วันเวลา’ มาเป็นหมุดหมายก็ได้ว่ามันได้ผ่านไปแล้ว เช่น ทุกปีครอบครัวจะมีธรรมเนียมมาพบกันเพื่อรับประทานอาหารและแจกของขวัญกันทุกๆ วันคริสต์มาส แต่แม้จะเป็น 25 ธันวาคมของทุกปี เวลาเดิม คนเดิม อาหารเดิม ของขวัญเดิม แต่แค่ ‘ปี’ ก็ต่างกันแล้ว นอกจากนี้ พวกเราทุกคนยังเติบโตไปข้างหน้าและแก่ร่วงโรยไปตามกาลเวลาแม้จะผ่านไปแค่ 1 ปี

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม First impression ถึงเป็นอะไรที่ตราตรึงในใจเราตราบนานเท่านาน บางคนจดจำมันได้ไปตลอดชีวิต เพราะมันมีแค่ ‘หนึ่งเดียว’ (เราจะใช้ตรรกะเชิงเศรษฐศาสตร์มาร่วมมองด้วยก็ได้ว่า อะไรยิ่งมีน้อย…ยิ่งมีค่า)

ทำไม ‘ครั้งสุดท้าย’ ถึงทรงพลังขนาดนั้น?

  • ยังจำความรู้สึกวันสอบไฟนอลตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้รึเปล่า?
  • วันสุดท้ายก่อนย้ายงานจากบริษัทแรกเป็นยังไงบ้าง?
  • วันสุดท้ายที่ได้อยู่ด้วยกันกับแฟนเก่า?
  • แล้วถ้ารู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายในชีวิต…คุณจะทำอะไร? 

ในทางจิตวิทยา ถ้าเรารับรู้ได้ว่าอะไรที่เป็น ‘ครั้งสุดท้าย’ ย่อมทรงพลังเสมอและปล่อยหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก เรารู้แล้วว่าเราไม่มีโอกาสแก้ตัวจึงต้องทำครั้งนี้ให้ดีที่สุด หรือเราอาจหวาดกลัวว่าจะทำมันได้ไม่ดีพอจนนึกเสียใจถ้ามองย้อนกลับมา

  • ถ้าเป็นประสบการณ์ที่ดี เรารู้ว่าจะไม่มีโอกาสได้เพลิดเพลินมันอีก 
  • ถ้าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี เรารู้ว่าจะหลุดพ้นจากมันในเร็ววัน

ถ้าเราไปเยือนบ้านคนญี่ปุ่นและถึงเวลาร่ำลา เจ้าบ้านจะเดินออกมาส่งแขกที่หน้าบ้าน เมื่อกอดพูดจาร่ำลากันเสร็จสรรพ เจ้าบ้านจะยังไม่เดินหันหลังกลับเข้าบ้านในทันที แต่จะ ‘ยืนรอส่งแขกจนลับสายตา’ ถ้าระหว่างนั้น แขกหันหลังกลับมาเห็น เจ้าบ้านก็จะโค้งขอบคุณหรือโบกมืออำลาอีกครั้งหนึ่ง ช่างเป็นภาพที่สวยงามชวนประทับในหัวใจ

ซึ่งการยืนส่งจนลับสายตาก็ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเช่นกัน นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นเจ้าหน้าที่โรงแรมยืนส่งแขกขึ้นรถบัสจนลับสายตา หรือพนักงานท่าสนามบินยืนเรียงกันอย่างพร้อมเพรียงและโบกมืออำลาแก่ผู้โดยสารบนเครื่องที่กำลังบินออกจากญี่ปุ่น

ทั้งหมดนี้มีอิจิโกะ อิจิเอะอยู่เบื้องหลังในหัวใจทั้งสิ้น

โอบกอดอิจิโกะ อิจิเอะสู่ชีวิต

เราสามารถนำอิจิโกะ อิจิเอะมาลับคมทัศนคติว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสดใหม่ในชีวิต เพราะเหตุการณ์ในชีวิตแต่ละเรื่องเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไม่มีวันย้อนกลับมาอีก ไม่มีวันได้สัมผัสมันอีก แต่นั่นเอง…ก็เป็นการเริ่มต้นใหม่ของอีกสิ่งหนึ่งเสมอไม่ใช่หรือ?

อิจิโกะ อิจิเอะพึงเตือนสติให้เรารักษามาตรฐานและเติมพลังใจให้แก่ทุกความสัมพันธ์ เราสามารถดูแลคนรอบตัวอย่างถึงที่สุดดีเยี่ยมที่สุดเสมือนเป็นครั้งสุดท้ายที่เจอกัน แม้ว่าเราจะเจอเขาเป็นครั้งที่ 100 แล้ว และจะต้องเจออีกไปถึงครั้งที่ 1,000 ก็ตาม

อิจิโกะ อิจิเอะ ปลุกโสดประสาทในตัวเราให้ซาบซึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เรื่องตรงหน้า ของตรงหน้า ผู้คนตรงหน้า ตื่นตัวทางสติ รับรู้ความเป็นไปได้ เอาใจใส่อย่างรอบคอบ ช่วยให้เราดื่มด่ำกับสายธารของชีวิตที่ดำเนินไป เห็นความสำคัญของทุกช่วงเวลา กับสรรพสิ่ง กับผู้คนทุกคนที่ได้พบเจอกัน เพราะมันคือ ‘โอกาสครั้งเดียวในชีวิต’ ถ้าปล่อยผ่านไป เราจะสูญเสียมันไปตลอดกาล ซึ่งก็น่าตั้งคำถามต่อว่า ถ้าผ่านไปแล้วและมองย้อนกลับมา…เราจะเสียใจที่ได้ทำหรือไม่ได้ทำมันหรือไม่?

ในเชิงปรัชญา อาจพูดได้ว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวในจักรวาล’ อย่าไว้ใจอนาคต อย่ายึดติดอดีต แต่ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ

เมื่อพิจารณาอิจิโกะ อิจิเอะลึกซึ้งมากพอ เราอาจตกผลึกกับการใช้ชีวิต โดยใช้ชีวิตเสมือนว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย) พอเป็นแบบนี้ เราจะกลายเป็นคนที่ประณีตและพิถีพิถันในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องโปรดักทีฟทำอะไรได้หลายอย่างหรือต้องบรรลุความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่เป็นการอยู่กับปัจจุบันขณะ รับรู้ถึงคุณค่าของเวลาตรงหน้า 

เพราะที่นี่ ตรงนี้ ณ เดี๋ยวนี้ต่างหาก คือสิ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน แปลกแต่จริง เหมือนคิดได้แบบนี้ ‘ความสุข’ ก็เบ่งบานขึ้นในใจเองโดยปริยาย…

อ้างอิง

https://www.you.co.uk/ichigo-ichie-japanese-philosophy/

https://www.mindbodygreen.com/articles/what-is-ichigo-ichie-10-rules-of-the-japanese-way-to-happiness

https://forge.medium.com/how-the-japanese-concept-of-ichigo-ichie-can-tune-you-in-to-your-life-b919dece8c1b

https://senbirdtea.com/the-meaning-of-ichigo-ichie-making-the-most-of-every-moment/

Tags:

ปรัชญาชีวิตการดำเนินชีวิตอิจิโกะ อิจิเอะ一期一会ประสบการณ์ชีวิต

Author:

illustrator

ปริพนธ์ นำพบสันติ

ชอบขบคิดในหัวและหาคำอธิบายให้กับสิ่งรอบตัว

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • How to enjoy life
    เดอสแตดนิง (Döstädning): มากกว่าจัดบ้านคือจัดการชีวิต ศิลปะการละทิ้ง(ก่อนตาย) สไตล์ชาวสวีเดน

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Movie
    Gran Turismo: ล้มกี่ครั้งไม่สำคัญเท่าลุกอย่างไรให้ไปต่อได้

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • How to enjoy life
    ลู่วิ่งแห่งความสุข (Hedonic Treadmill): เมื่อการไขว่คว้าพาเรากลับมาที่จุดเดิมเสมอ

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    A man called Otto : ความหวังในการอยากอยู่ในชีวิตใครสักคน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • How to enjoy life
    Law of Jante: เอนจอยกับชีวิตด้วยแนวคิด ‘I ไม่ได้ดีเลิศไปกว่า You หรอก’

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel