Skip to content
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
How to enjoy life
31 May 2023

ฮุกกะ (Hygge): สุขแบบไม่หิวแสง จริตชีวิตในแบบฉบับคนเดนมาร์ก

เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • ฮุกกะ (Hygge) เป็นคำอธิบายทัศนคติต่อความสุขของคนเดนมาร์ก มันคือการ ‘เอนจอยกับสิ่งเล็กๆ รอบตัว’ เป็นความสุขใจที่เรียบง่าย (แต่ไม่มักง่าย)
  • ฮุกกะ หล่อหลอมให้เรามีจิตใจที่ละเอียดอ่อน ใส่ใจกับสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัว มันไม่ใช่การเพิกเฉยต่อปัญหา หรือปฏิเสธการพัฒนา แต่เพียงสำรองพื้นที่เล็กๆ ให้ใจเราได้ชิลบ้าง
  • เรามักคิดว่าเราต้องมี ‘เป้าหมาย’ ที่ยิ่งใหญ่และห่างไกลจากปัจจุบันเพื่อจะมีความสุข แต่ Hygge กระตุ้นให้เราโฟกัสที่ปัจจุบันขณะ เป็นความสุขแบบทันทีทันใด ณ เดี๋ยวนี้

ถ้าวันนี้เราอยากมีความสุข โหยหาโมเมนต์อันแสนพิเศษ หลายคนอาจเริ่มวางแผนทำอะไรที่ต้อง ‘พิเศษ’ กว่าปกติชนิดที่เก็บเป็นความทรงจำได้จนแก่ หลายคนจะเริ่มมองหา ‘สิ่งนอกตัว’ ที่เป็นของในฝันที่น้อยคนจะครอบครองได้ ก่อนจินตนาการไปยังสถานที่สวยงามอันห่างไกล หลายคนอาจเริ่มตั้ง ‘เป้าหมาย’ อันยิ่งใหญ่ ยิ่งใช้เวลาหลายปี แบ่งเป็นหลายเฟสในการไปถึงได้เท่าไรยิ่งดี 

แต่สำหรับคนเดนมาร์ก…พวกเขาจะปิดสวิตซ์ความทะเยอทะยานเหล่านั้น และกลับมามองยังสิ่งรอบตัวด้วยสายตาแห่งความช่างสังเกตและจริตแห่งความซาบซึ้งใจ พวกเขามีสิ่งหนึ่งที่ยึดมั่นตรงกันจนเป็นชุดความคิดในระดับสังคม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ทุกฐานะ เป็นเหมือนที่พักทางใจในโลกที่แสนเร่งรีบแบบปัจจุบัน

สิ่งนั้นมีชื่อเรียกที่เป็นหมัดฮุคเรียกความสนใจในตัวเองว่า ฮุกกะ (Hygge) 

ฮุกกะ มีที่มาที่ไปยังไง?

ในแง่ของรากศัพท์ Hygge มีที่มาที่ไปจากภาษานอร์เวย์ เพราะในประวัติศาสตร์ เดนมาร์กและนอร์เวย์เคยเป็นอาณาจักรเดียวกันเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว ก่อนเดนมาร์กจะแยกตัวออกมาในปี 1814 

ประเทศแยกขาดเป็นเอกราชและประชาชนแตกเป็นสองสัญชาติก็จริง แต่ความทรงพลังของคำนี้ยังคงตามมามีอิทธิพลต่อความคิดและทัศนคติต่อความสุขของคนเดนมาร์กอยู่

เฉกเช่นคำศัพท์อื่นๆ ที่มีความเป็นนามธรรมสูงลิบ (เช่น ‘ซิสู’ จากนอร์เวย์ หรือ ‘วาบิซาบิ’ จากญี่ปุ่น) คำว่า ‘ฮุกกะ’ ก็เข้าข่ายอีกคำศัพท์ขึ้นหิ้งที่แปลความหมายตรงตัวได้ยาก หากแต่ต้องใช้การอธิบายจนสัมผัสรู้สึกได้เอง เพราะดังที่เราจะได้รู้กันว่า ‘ฮุกกะไม่ใช่ตรรกะ’ แต่แฝงอารมณ์ความรู้สึก เป็นความสุนทรีย์ในตัวมันเอง

เราสามารถย่อยความเข้าใจของ ฮุกกะ ได้ว่ามันคือการ ‘เอนจอยกับสิ่งเล็กๆ รอบตัว’ ฮุกกะเชื่อว่าความสุขสามารถเกิดจากสิ่งเล็กๆ รอบตัว เป็นสิ่งที่ไม่พิเศษยิ่งใหญ่ เป็นความสุขที่ไม่โอ้อวด เป็นความสุขใจที่เรียบง่าย (แต่ไม่มักง่าย)

  • ชงกาแฟหอมๆ ยามบ่าย พร้อมหนังสือดีๆ สักเล่มที่เปิดโลกทัศน์
  • พิถีพิถันกับการทำอาหารทานเองที่บ้านเพื่อคนรักในครอบครัว
  • ดูดฝุ่น-ถูพื้น-ตากผ้า เพื่อคุณภาพชีวิตในบ้านที่ดี

ฮุกกะ หล่อหลอมให้เรามีจิตใจที่ละเอียดอ่อน ใส่ใจกับสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัว มันไม่ใช่การเพิกเฉยต่อปัญหา ปฏิเสธการพัฒนาหรือฉุดรั้งให้เราจมปลักกับความไม่ก้าวหน้า ฮุกกะรับรู้ความทุกข์ยากเหล่านี้ แต่ขณะเดียวกัน ก็สำรองพื้นที่เล็กๆ ให้ใจเราได้ชิล ได้เพลิดเพลิน ได้ซาบซึ้งกับเรื่องง่ายๆ จะว่าไปแล้วก็เป็นศิลปะการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งเลยทีเดียว

ทำไม ฮุกกะ ถึงน่าสนใจกว่าที่คิด?

เราจะสังเกตว่า ฮุกกะค่อยๆ เจียระไนให้เราละเอียดลออกับความปกติธรรมดา มากกว่า ความพิเศษเลิศเลอ (หรืออยู่กับความ ordinary มากกว่า extraordinary) เพราะจะว่าไปแล้ว ชีวิตประจำวันของคนเราส่วนใหญ่ก็อยู่กับความปกติธรรมดาที่อาจไม่ได้พิเศษหวือหวา? ถ้าเราสามารถมีความสุขได้บ่อยๆ แม้แต่กับความธรรมดา แค่นี้ชีวิตก็น่าจะมีความสุขแล้ว?

นัยหนึ่ง ฮุกกะสอนเราให้โอบกอดข้อจำกัด มองหาสิ่งที่มีอยู่เดิม แทนที่การแสวงหาสิ่งใหม่อย่างไม่สิ้นสุด 

สอดคล้องกับแนวคิดของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือขายดีที่มีอทธิพลต่อมุมมองการใช้ชีวิตอย่าง 4,000 Weeks: Time Management for Mortals เขาบอกว่าในแทบทุกเรื่องของชีวิต มนุษย์เราต้องพบเจอกับขอบเขตที่จำกัด (Finite) เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ เลือกทุกอย่างได้ หรือมีทุกอย่างได้

  • เราทำงานได้จำกัด แต่เราอัด To-Do List เหมือนว่าเรามีเวลาไม่จำกัด จนนำมาสู่ความเครียดกดดันในการงาน โดยเฉพาะเมื่อทำไม่ได้ตามเป้า
  • เรามีเวลาจำกัด แต่เราเผลอทุ่มเทกับงานมากเกินไปจนสุขภาพเสื่อมโทรมและความสัมพันธ์กับผู้อื่นสั่นคลอน

ในแง่มุมหนึ่ง ความ ‘น้อย’ ของสิ่งของที่มี ก็เป็นความสบายใจอย่างหนึ่งตรงที่เราไม่ต้องไปดูแลรักษามันมาก ค่าใช้จ่ายทำนุบำรุงต่ำ และทางด้านจิตใจเราไม่ต้องกลัวว่าเราจะสูญเสียมันไปหรือกลัวมันเสื่อมตามกาลเวลา 

  • เมื่อมีน้อย…จึง ‘ยึดติด’ น้อย 
  • เมื่อมีน้อย…จึง ‘ปล่อยวาง’ ได้ง่ายกว่า

ความสุขในแบบ ฮุกกะ รอบตัวเรา 

ฮุกกะสอดคล้องกับจิตวิทยาความสุขของมนุษย์เราไม่น้อย ปกติแล้ว เรามักคิดว่าเราต้องมี ‘เป้าหมาย’ ที่ยิ่งใหญ่และห่างไกลจากปัจจุบันเพื่อจะมีความสุข แต่ Hygge กระตุ้นให้เราโฟกัสที่ปัจจุบันขณะ เป็นความสุขแบบทันทีทันใด ณ เดี๋ยวนี้  

ไม่ต้องรอแล้ว…ขอแฮปปี้เลยได้ไหม?!!

เมื่อความคาดหวังไม่ได้สูงลิบ ความฝันไม่ได้แฟนซี ความสุขเลยเกิดขึ้นง่าย 

อีกหัวใจสำคัญของฮุกกะคือการให้ความสำคัญกับ ศิลปะแห่งความใกล้ชิด โดยเริ่มจากองค์ประกอบเล็กๆ ในบ้าน จากสิ่งเดิมที่มีอยู่ เช่น บ้านเราอาจไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านหลังใหม่ แต่ตกแต่งเล็กๆ น้อยๆ ด้วยเทียนหอมและไฟสลัวยามราตรี หรือจัดวางสิ่งของในบ้านในระยะเดินถึงได้ เมื่อทุกอย่างอยู่รวมกันอย่างมีชั้นเชิง จึงดูมีเสน่ห์ สวยงาม แถมสะดวกสบาย

เมื่อองค์ประกอบเล็กสำเร็จแล้ว เราอาจขยายไปสเกลที่ใหญ่ขึ้นอย่างเรื่องของการออกแบบพัฒนาเมือง (Urban design) ดูเหมือนฮุกกะน่าจะมีอิทธิพลต่อคุณญาน เกห์ล (Jan Gehl) สถาปนิกและนักวางผังเมืองชาวเดนมาร์กอยู่ไม่น้อย 

เขาคือเบื้องหลังผู้บุกเบิกยุคสมัยใหม่ต่อการพลิกโฉมให้เมืองเดนมาร์ก (และอีกหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก เช่น ย่าน Times Square ของ New York) มีความเป็น Human scale สูงมากๆ กล่าวคือ ผู้คนสามารถ ‘เดิน’ ไปไหนมาไหนได้ทั่วเมืองโดยไม่ต้องขับรถเลย และอาจอาศัยการปั่นจักรยาน ขึ้นรถเมล์ ขึ้นรถราง หรือขึ้นรถไฟเป็นตัวเสริม เพราะเมืองถูกออกแบบให้อาคารสิ่งปลูกสร้างหรือสถานที่จุดหมายทั้งหลายอยู่ใกล้ชิดกันในระยะเดินถึงได้ มีความ Mixed-use ของสถานที่ทั้งออฟฟิศ ที่อยู่อาศัย ย่านการค้า โรงเรียน หรือสวนสาธารณะในอาณาบริเวณเดียวกัน 

ตัวอย่างเช่น ใครที่เคยไปโคเปนเฮเกนเมืองหลวงของเดนมาร์ก แค่เดินเล่นไปตามบ้านเมืองก็น่าจะแฮปปี้ได้ง่ายๆ แล้ว บ้านเมืองและผู้คนมีความใกล้ชิดกัน มีการกระจุกตัว มีกิจกรรม มี ‘ชีวิต’ ตลอดสองข้างทาง

โอบกอดฮุกกะสู่ชีวิต

ในเมื่อฮุกกะคือการเอนจอยกับสิ่งเล็กๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันก่อนเปลี่ยนมันเป็นความสุขในใจ พวกเราจึงสามารถประยุกต์ฮุกกะมาใช้ได้โดยตรง ณ ตอนนี้เลย

อันดับแรก ให้เรารู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งรอบตัว ขอบคุณสิ่งที่มี ดื่มด่ำกับบรรยากาศตรงหน้า ให้คิดซะว่าเราควรซาบซึ้งมันในขณะที่เรายังทำได้อยู่ (หรือมันยังอยู่ให้เราซาบซึ้ง) 

  • ที่อยู่อาศัยของเรา – มันอาจเป็นบ้านเก่าโทรมนิดผุหน่อยหรือห้องคอนโดไซส์เล็ก นี่คือพื้นที่ส่วนตัวที่ให้คุณพักผ่อนทุกคืน ชาร์จพลังก่อนมีแรงบันดาลใจในวันถัดไป
  • อาชีพการงานของเรา – ที่อาจเป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในระบบอุตสาหกรรม แต่ก็สร้างคุณประโยชน์หรือแก้ปัญหาให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของคุณได้
  • หรือมิตรภาพเพื่อนเก่าสมัยเรียน – ที่เหลืออยู่ไม่กี่คน แต่ยังคงซี้กันปึ้ก และความไว้วางใจที่มีให้กันช่างอบอุ่นหัวใจ

หลังจากนี้ ในเมื่อฮุกกะเป็นสิ่งรอบตัวเรา เทคนิคที่คนเดนมาร์กใช้ ‘สร้าง’ ฮุกกะคือ ตกแต่งห้องในบ้านให้มีบรรยากาศ ‘ไฟสลัวๆ’ ยามราตรี อาจจะมาในรูปแบบการตกแต่งเล่นไฟในห้อง หรือใช้แสงเทียนสลัวก็ได้ทั้งนั้น 

เราอาจประยุกต์แปลงโฉมบ้านเราให้รู้สึกเสมือนได้เดินเข้าห้องสปาอันแสนผ่อนคลาย ไฟสลัว แต่งเติมด้วยกลิ่นหอม ใครล่ะจะไม่รู้สึกดี? เหนื่อยๆ มาก็หายล้า โกรธๆ มาก็เย็นลง ทุกข์มาก็สบายใจขึ้น

อีกเทคนิคคือให้นำ ‘ของโปรดส่วนตัว’ มาวางอยู่ในจุดที่เห็นสัมผัสได้บ่อยที่สุด ทุกคนย่อมมีของโปรดส่วนตัวที่ทำให้เรารู้สึกดีได้ทุกครั้ง ก็ทำให้เรารู้สึกดีบ่อยๆ ไปเลย

  • เปิดตู้เสื้อผ้า…วางเสื้อโปรดให้เห็นเด่นชัดสุดตัวแรก
  • เปิดตู้เย็น…วางของกินที่ชื่นชอบแถวหน้าสุดให้เห็นก่อนใครเพื่อน

สุดท้ายแล้วน่าจะอยู่ที่ทัศนคติของเราเอง ลองฝึกความเป็นคนช่างสังเกต พิถีพิถันในการเลือกสรร ละเอียดรอบคอบขึ้นอีกนิด มองโลกในแง่บวกขึ้นอีกหน่อย คุณอาจค้นพบความเร้นลับของฮุกกะที่มันอยู่ของมันตรงนี้มานานแล้วแต่คุณแค่มองข้ามมาตลอดเอง

สุขแบบไม่ส่งเสียง สุขแบบไม่ตะโกน สุขแบบไม่หิวแสง แต่ขอแค่อยู่ในพื้นที่ตัวเอง ในสไตล์เอกลักษณ์แบบตัวเอง…แค่นั้นก็พอแล้ว

ไม่ต้องโคเปนเฮเกน แต่อยู่โคราชก็ฮุกกะได้…จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าอยู่ที่ไหนๆ ชีวิตก็มีความสุขสงบผ่อนคลายได้ถ้ามีฮุกกะในหัวใจ

อ้างอิง

https://www.newyorker.com/culture/culture-desk/the-year-of-hygge-the-danish-obsession-with-getting-cozy

https://www.everydayhealth.com/wellness/what-is-hygge-and-why-is-it-good-for-your-wellbeing/

https://www.countryliving.com/life/a41187/what-is-hygge-things-to-know-about-the-danish-lifestyle-trend/

https://www.redefinerswl.org/post/hygge-the-danish-secret-to-happiness

Tags:

การตั้งเป้าหมายความสุขฮุกกะ (Hygge)ความเอาใจใส่ศิลปะแห่งความใกล้ชิดจิตวิทยา

Author:

illustrator

ปริพนธ์ นำพบสันติ

ชอบขบคิดในหัวและหาคำอธิบายให้กับสิ่งรอบตัว

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Vicharjai
    Everyone can be an Educator
    ‘วิชาใจ’ คอนเทนต์อิงธรรม โดย พระจิตร์ จิตตสวโร ที่ชวนสำรวจความคิดโดยไม่หลีกหนีความรู้สึก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Book
    ชวนอ่าน 7 เล่ม รับปี 2024: ปรับ Mindset เพื่อเข้าใกล้ความสำเร็จในแบบของตัวเอง

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • How to enjoy lifeBook
    7 หลักจิตวิทยาเชิงบวก เปิดประตูความสำเร็จด้วย ‘ความสุข’

    เรื่อง พิรญาณ์ บุลสถาพร

  • How to enjoy life
    ‘สุขสำเร็จ’ เมื่อสมดุลของความสำเร็จคือความทะเยอทะยานและความสุข

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • How to enjoy life
    Perfectionist : เมื่อเรายังคงไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบด้วยการเฆี่ยนตีตัวเอง

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel