- สถานการณ์ที่บางคนกำลังเผชิญ ณ ขณะนี้ มันอาจหนักจนถึงขั้นต้องถามตัวเองว่า ‘ฉันจะผ่านเรื่องพวกนี้ไปได้อย่างไร’ หรือ ‘ชีวิตนี้เราจะมีโอกาสกลับมายิ้มได้อีกไหม?’
- ยิ่งเราติดอยู่ในดินแดนไร้ซึ่งความหวังนี้นานเท่าไร คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ตัวเรากลับมาเชื่อว่าเราจะสามารถมีความสุขได้อีกครั้ง บางทีเราอาจจัดการความทุกข์นี้ด้วยการบอกว่ามันเกิดเพราะตัวเราไม่มีความสามารถมากพอ ยิ่งเจอความทุกข์มากเท่าไร ยิ่งทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับความสุขมากขึ้น
- บทความชิ้นนี้จะชวนให้เราเข้าใจปัจจัยที่อาจทำให้เราเกิดความทุกข์ จนเลิกหวังว่าจะมีความสุขเกิดขึ้น และวิธีเยียวยาดึงความสุขกลับมาหาเราอีกครั้ง
สถานการณ์ 1 – 2 ปีที่ผ่านมา (หรือย้อนไปไกลกว่านั้น) สำหรับใครหลายคน คงไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับเริ่มสตาร์ทสร้างชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว วัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต ความสดใส พร้อมเปิดรับเข้าไปลองสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ และตั้งต้นวางแผนเขียนพิมพ์เขียวที่ทางของเราบนโลกใบนี้
บางคนอาจเริ่มต้นด้วยการทำตามความฝัน ด้วยความกระตือรือร้นแห่งความเยาว์วัย แม้จะถูกทดสอบด้วยอุปสรรค์และความยากลำบาก ที่ทำให้ความมุ่งมั่นของเราสั่นคลอน แต่ความเยาว์วัยทำให้เราเลือกเดินต่อ อดทนทำตามความฝัน
ขณะที่กำลังเดินบนถนนเส้นนี้ ก็อาจมีความผิดหวังอาจเข้ามากระทบตัวเรา ไม่ว่าจะผิดหวังในงาน ชีวิตรัก หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ขณะที่เผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้เราค่อยๆ รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว ไร้ซึ่งการสนับสนุนใดๆ และทำให้เราเริ่มเฝ้าถามตัวเองว่า ‘ทำไมต้องเกิดสิ่งนี้ขึ้นกับเรา?’ ‘เราก็ไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ดี จนควรเจอกับเรื่องแบบนี้’
อุปสรรค์ที่เจออาจเริ่มใหญ่ขึ้น จากความผิดหวัง กลายเป็นปัญหาสุขภาพ อาการทรมาณกับโรคต่างๆ สูญเสียรักในชีวิต หรือความยากลำบากทางการเงิน ความเครียดก่อขึ้นในตัวคุณเรื่อยๆ และค่อยๆ ทำลายแผนของคุณ
และตัวคุณเองก็ค่อยๆ สูญเสียความหวังเช่นกัน
สูญเสียความมั่นใจว่า ‘เราจะกลับมามีความสุขอีกครั้ง’
ขณะที่กำลังดิ้นรนต่อสู้กับสิ่งต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดาที่เรารู้สึกอยากถอดใจ จบเรื่องนี้ไปซะ เราอาจมองไปที่คนรอบตัวแล้วรู้สึกว่า ทำไมชีวิตพวกเขาถึงง่ายกว่าของเรา ความทุกข์ค่อยๆ ทำให้เราหลงลืมว่า ไม่มีใครที่ไม่เคยเผชิญกับความทุกข์ บุคคลที่มีชื่อเสียงบางคนเองก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ยิ่งเราติดอยู่ในดินแดนไร้ซึ่งความหวังนี้นานเท่าไร คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ตัวเรากลับมาเชื่อว่าเราจะสามารถมีความสุขได้อีกครั้ง บางทีเราอาจจัดการความทุกข์นี้ด้วยการบอกว่ามันเกิดเพราะตัวเราไม่มีความสามารถมากพอ ยิ่งเจอความทุกข์มากเท่าไร ยิ่งทำให้เราเริ่มตั้งคำถามกับความสุขมากขึ้น
“ความสุขเป็นภาพลวงตาที่สื่อสร้างขึ้นเพื่อหาเงิน” อาจเกิดความคิดเช่นนี้ในหัวเรา “ความสัมพันธ์ที่แฮปปี้? ครอบครัวที่สุขสันต์? มิตรภาพที่อบอุ่น? เฮ้อ! นั่นไม่ใช่ชีวิตจริงซะหน่อย”
ต้นเหตุที่ทำให้เราเลิกหวังถึงความสุขอาจมีหลากหลาย บทความชิ้นนี้ขอหยิบ 5 สถานการณ์ที่อาจทำให้เราไม่เชื่อหรือเลิกหวังว่าจะมีความสุขเกิดขึ้นในชีวิต
อาการอกหัก (Heartbreak)
บาดแผลที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณเราอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ‘อาการอกหัก’ ความปวดร้าวที่เกิดจากความสูญเสียโดยไม่ทันตั้งตัว อาการอกหักนี้อาจทำให้หัวใจคุณแตกสลาย หรือทำให้ร่างกายและหัวใจของคุณรู้สึกเฉื่อยชา โลกทั้งโลกไร้สีสันไปชั่วขณะหนึ่ง และทุกๆ วันกลายเป็นสนามรบที่คุณต้องต่อสู้
สภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social isolation)
คุณเลือกที่จะเฟดตัวออกจากสังคม หยุดไปพบปะครอบครัวหรือเพื่อนฝูง เพื่อเลือกอยู่ท่ามกลางความโดดเดี่ยว ยิ่งคุณแยกอยู่ตัวคนเดียวมากเท่าไร ความคิดและความรู้สึกก็ยิ่งตามหลอกหลอนคุณมากเท่านั้น คุณอาจเริ่มทำตัวแปลกขึ้น ความหวาดระแวงค่อยๆ เติบโตในตัวคุณ และเริ่มสงสัยสิ่งต่างๆ มากขึ้น ไม่มีใครเป็นเหมือนอย่างที่เราเห็นภายนอก
การมองโลกในแง่ร้ายและความขมขื่น (Pessimism and bitterness)
พฤติกรรมบ่นกลายเป็นเรื่องสามัญทั่วไปสำหรับคุณ คุณจะมองเห็นแต่ข้อผิดพลาดในสิ่งต่างๆ คุณเริ่มมองคนอื่นโดยตัดสินพวกเขา ไม่มีใครที่ไม่ถูกคุณวิจารณ์ “ทุกคนหลอกลวง” ความคิดนี้อาจเกิดกับคุณ “ฉันควรอยู่ตัวคนเดียวดีกว่า” คุณเลือกปลอบตัวเองว่าโลกใบนี้ได้เปลี่ยนเป็นนรกแล้ว แม้แต่ความตายก็ฟังดูเป็นเครื่องเยียวยาความเจ็บปวดที่ดี
ภาวะความคิดสร้างสรรค์หยุดนิ่ง (Creative stagnation)
คุณไม่มีความอยากรู้สิ่งใดๆ หยุดที่จะลองไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ และเริ่มมีกิจวัตรประจำวันแย่ๆ ไม่มีความบาลานซ์ในชีวิต คุณอาจกินมากขึ้นหรือน้อยลง หลับยาวนานหรือแปปเดียว เวลาสำหรับคุณบางครั้งอาจเคลื่อนที่เร็ว แต่บางครั้งก็ช้าเสียจนเหมือนหยุดนิ่ง ตารางชีวิตคุณดูไม่สอดคล้องกัน ตัวคุณเองก็รับรู้ถึงความผิดปกตินี้ คุณไม่อยากออกจากบ้าน ไม่อยากไปที่ไหน เช่น เข้าชั้นเรียน หรือเข้าร่วมเวิร์คช้อปต่างๆ คุณหยุดที่จะทำกิจกรรมต่างๆ ความคิดสร้างสรรค์ค่อยๆ หลุดลอยจากชีวิตคุณ และในที่สุดคุณเริ่มไม่สนใจใครหรือสิ่งใด
ติดอยู่กับอดีต (Living in the past)
เมื่อไรที่คุณสูญเสียความหวัง ชีวิตคุณจะกลับไปยึดติดกับอดีต คุณเริ่มค้นความทรงจำและโอบกอดความคิดถึง มั่นใจว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตคุณได้จากไปแล้ว คุณเลิกอยู่กับช่วงเวลาปัจจุบันและสูญเสียความประหลาดใจ ไม่มีอะไรทำให้คุณตั้งตารอคอย ช่วงเวลาสุดสัปดาห์หรือวันหยุดเทศกาลอาจไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับคุณอีกต่อไป เพราะคุณบอกตัวเองว่าเรื่องพวกนี้ไม่สำคัญอีกแล้ว มันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
คำแนะนำที่ (อาจ) ทำให้คุณกลับมามีความสุขอีกครั้ง
“เมื่อไรชีวิตเราจะดีขึ้น”
“เมื่อคุณคิดว่ามันจะดี มันก็จะดีขึ้น…”
ฟังแบบนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ เพราะบางทีเราอาจหวังว่าจะมีใครสักคนมาช่วยเรา ดึงเราออกจากวังวนแห่งความทุกข์ และทำให้เราได้พบเจอความสุขอีกครั้ง
แต่ในความเป็นจริง ไม่มีใครมีหน้าที่รับผิดชอบทำให้เรามีความสุข นอกจากตัวเราเอง ยิ่งหวังว่าจะมีคนมาช่วยเท่าไร ยิ่งทำให้เราใช้ชีวิตด้วยการตัดสินใจประมาท หรือทำให้เราตกอยู่ใน 5 สถานการณ์ข้างต้น
วิธีทำลายวังวนแห่งความทุกข์ อาจเริ่มที่ตัวเราพิจารณาว่าสิ่งที่ตัดสินใจทำ เป็นสาเหตุที่ทำให้เราไม่มีความสุขหรือเปล่า จนกว่าต้นเหตุจะถูกแก้ไข ความสุขยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับเรา การก้าวเดินไปข้างหน้าจำเป็นต้องมีที่หมายที่แน่นอน เกิดจากตัวเลือกใหม่ๆ
นี่อาจเป็นหนึ่งข้อแนะนำที่ช่วยทำให้เราก้าวผ่านความทุกข์ได้
ซื่อตรงกับตัวเองว่าเรามีบาดแผล (Honor Your Pain)
หลีกเลี่ยงความเจ็บปวด อาจไม่ใช่วิธีที่จะทำให้บาดแผลคุณหายไป แต่เป็นการก้าวเข้าไปในประตูแห่งความโศกเศร้า ร่องรอยความเจ็บปวดไม่ได้อยู่ในความเศร้า แต่มันฝังอยู่ในตัวเรา ซื่อตรงกับตัวเองว่าเรามีบาดแผล อย่าพยายามหลบหนี อนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้และแสดงความรู้สึกออกมา
อาจมีบางคนหวังดีอยากช่วยด้วยการบอกให้เราอย่าไปคิดถึงมัน (get over it) แต่นั่นคงไม่ใช่วิธีรักษาที่ดีเท่าไร เวลาและความอดทนต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญ พยายามอยู่กับเพื่อนหรือคนที่เข้าใจเหมือนกัน
ออกไปใช้เวลากับคนอื่นๆ (Reach out)
การใช้เวลาอยู่กับตัวเองเป็นขั้นตอนหนึ่งในการเยียวยา แต่ถ้านานไปก็ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพเรา เพราะความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจะพยายามดันปีศาจร้ายในตัวเราออกมา เช่น การโทษตัวเอง เล่นบทบาทเหยื่อ หรือความข่มขื่น ยิ่งกักขังเราไว้ในความทุกข์ ออกไปหาเพื่อน หรือเข้ากลุ่มบำบัด หรือแม้แต่การไปสวดมนต์ ทำสมาธิ ทำความเข้าใจปรัชญา ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกถึงความสงบในจิตใจ แทนที่จะคาดหวังว่าเดี๋ยวก็มีปฏิหาริย์เกิดขึ้น
ขอเวลานอก (Take a Break)
เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรมีเวลานอกออกมาพัก ออกจากปัญหาบ้าง เป็นการบาลานซ์ชีวิตที่ดี ซึ่งแต่ละคนมีวิธีทำให้ตัวเองสบายใจไม่เหมือนกัน บางคนด้วยการทำกิจกรรม เช่น เขียนอะไรสักอย่าง อ่านหนังสือ ฟังเพลง ทำงานศิลปะ หรือดูหนัง บางคนด้วยการออกไปทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เต้น ปีนเขา เดินทางไกล เป็นต้น
เลือกกิจกรรมที่ทำให้เราได้หลบหนีจากสถานการณ์ตรงหน้าไปสู่โลกอีกใบหนึ่ง แม้จะเป็นเพียงเวลาช่วงสั้นๆ ก็ตาม ไม่ต้องห่วงหรือกังวลกับปัญหา เพราะมันไม่ได้หนีไปไหน มันยังคงรอเรากลับไป แต่ตัวเราที่จะกลับมาจะเป็นเราในเวอร์ชันที่แข็งแรงขึ้น ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ และพร้อมเผชิญหน้า
เรียนรู้จากมัน (Learn from it)
มีคนกล่าวไว้ว่า ทางแห่งปัญญามักปูพื้นด้วยความทุกข์ ลองพิจารณา สำรวจ และไตร่ตรองปัญหาที่เกิดขึ้น โดยไม่พยายามตำหนิหรือโจมตีตัวเอง จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดมากขึ้น รวมถึงมีเมตาต่อตัวเองและคนอื่น การเรียนรู้จะช่วยให้คุณค้นพบคุณค่าจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น
คุณอาจค้นพบสิ่งใหม่ๆ เช่น การฟื้นตัวจากความบอบช้ำหรืออาการอกหักอาจทำให้คุณเข้มแข็งขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น ฟื้นคืนสภาพมากกว่าเดิม
ก้าวต่อไป (Move on)
บางคนอาจยอมให้ความทุกข์ ความเจ็บปวดมาเปลี่ยน กำหนด และหล่อหลอมตัวตนพวกเขา สุดท้ายมันก็ขโมยชีวิตเขาไป
หลังจากเราอนุญาตให้ตัวเองได้เผชิญช่วงเวลาแห่งความทุกข์ เริ่มขั้นตอนเยียวยา อาจขอความช่วยเหลือคนอื่นๆ สเตปต่อไปที่เราจะเจอ คือ จะให้ความเจ็บปวดนี้รั้นเราไว้ที่เดิม หรือเปลี่ยนมันให้เป็นแรงผลักดันให้เราได้ก้าวไปข้างหน้า
สุดท้ายแล้วตัวเราเป็นคนเลือกเองว่า เราจะจัดการความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่มีการตีตราว่าผิด หรือถูก หรือมี 100 คะแนนเป็นสิ่งตอบแทน แต่มันคือชีวิตของเราว่า เราอยากใช้ชีวิตตอนนี้และที่เหลืออยู่แบบไหน