- การเผชิญเหตุการณ์ที่ทำให้เรามีอารมณ์โกรธ กลัว หดหู่ เศร้าใจ ขวัญเสีย เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวเรา อารมณ์และความรู้สึกลบนี้เป็นพลังงานที่ส่งออกถึงกันสู่คนอื่นๆ
- การตั้งแกน หรือ Centering เป็นวิธีหนึ่งในการทำให้เราตั้งหลักกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นได้แบบไม่จมดิ่ง
- The Potential ขอเสนอ 8 คำถามที่พาทุกคนให้ตั้งแกนได้ ตั้งแต่ คำพูด เหตุการณ์ สถานการณ์นั้นมีผลกับเราอย่างไร จนถึงของขวัญที่เราได้รับจากสถานการณ์นี้คืออะไร
ภาพ Photo by Matteo Di Iorio on Unsplash
ภายหลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราช สังคมเกิดการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์นี้มากมาย ทั้งผู้ที่ต้องออกมารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ การวิพากษ์ถึงโครงสร้างสังคมที่เป็นสาเหตุ รวมไปถึงการเลี้ยงดูในระดับครอบครัว การเสพข้อมูลหลากหลายทั้งจากผู้สื่อข่าว และผู้ประสบเหตุ หลายคนรู้สึกโกรธ กลัว หดหู่ เศร้าใจ ขวัญเสียเต็มไปด้วยพลังงานลบที่ส่งออกถึงกัน
ทว่าเราจะหลอมรวมกับพลังงานลบด้วยความเข้าใจ แปรเปลี่ยนพลังงานลบให้เป็นพลังงานบวกด้วยการเรียนรู้ และเติบโต เพื่อให้เราสามารถรับมือกับปัญหา เป็นพลังในการสร้างความมั่นคง และค้นพบทางเลือกที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้นได้อย่างไร
The Potential ขอเสนอทางเลือกในการรับมือกับปัญหาที่ถาโถมด้วยการ “ตั้งแกน” ซึ่งเป็นการอยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม การตั้งแกนจะสามารถช่วยให้เราถ่ายเทพลังงานลบออกไปจากสมองและจิตใจของเราได้ เพราะหัวใจของการตั้งแกนคือการกลับมาอยู่กับความสงบ สัมผัสกับคุณค่าภายในแก่นกลางของตัวเอง
การตั้งแกนที่ดีจะทำให้เราพร้อมกับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นการหลอมรวมเอาปัญหาเข้ามาแปรเปลี่ยนเป็นความสร้างสรรค์ ในที่นี้ขอชวนผู้อ่าน นิ่ง สงบ และทบทวนตัวเอง ด้วยคำถาม 8 ข้อที่จะช่วยให้ตั้งแกนได้ ดังนี้
- คำพูด เหตุการณ์ สถานการณ์นั้นมีผลกับเราอย่างไร
- เรากำลังต่อต้านอะไร
- จุดยืนของเราอยู่ตรงไหน
- ความมั่นคง ความสงบของเราอยู่ตรงไหนในสถานการณ์นี้
- ตัวเราต้องการอะไร
- เรากำลังเรียนรู้อะไร
- เรามีทางเลือกอะไรบ้าง
- ของขวัญที่เราได้รับจากสถานการณ์นี้คืออะไร
นอกจากนี้เรายังได้ รวบรวม Mindfulness Practice ที่จะช่วยให้ผู้อ่านได้มีวิธีการในการจัดการกับอารมณ์หรือพลังงานลบที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังที่ แพตตี ไวกิงตัน (Patti Wigington) หนึ่งในกลุ่มเผยแพร่ศรัทธาความเชื่อและสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจทางธรรมชาติที่เรียกว่า Wicca ในสหรัฐอเมริกาแนะนำไว้ในบทความ ‘Magical Grounding, Centering, and Shielding Techniques’ ถึงวิธีการควบคุมจัดการพลังงานทั้งด้านบวกและลบที่ขาดความสมดุล สะสมทับถมอยู่ในตัวเรามากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปบ้าง
เทคนิคที่ 1 : ตั้งแกน (Centering)
เทคนิคนี้คือการเติมพลังงานที่แห้งเหือด ยุ่งเหยิง กระจัดกระจาย หรือถูกดูดกลืนด้วยความเครียดจากปัญหาที่เข้ามากระทบจนเกิดความเหนื่อยล้า ความโมโห ให้กลับมาเต็มเปี่ยมทรงพลัง
อันดับแรก หาที่เงียบสงบ อาจเป็นม้านั่งร่มรื่นในสวน หรือห้องที่อากาศโปร่งเย็นสบาย ปิดประตูลงกลอน ปิดสัญญาณโทรศัพท์ หรือตัดความวุ่นวายจากเสียงรบกวนต่างๆ นั่งผ่อนคลายบนเก้าอี้มีพนัก ปิดเปลือกตาลงเบาๆ สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ 5-10 ลมหายใจ หรือจนลมหายใจสม่ำเสมอ กล้ามเนื้อทุกส่วนบนร่างกายผ่อนคลาย หากยังฟุ้งซ่านลองนับเลขหรือท่อง ‘พุทโธ’ ในใจร่วมกับการหายใจไปด้วยก็ได้
เมื่อร่างกายสงบผ่อนคลายเต็มที่และลมหายใจเข้าออกสม่ำเสมอให้จินตนาการว่ามีพลังงานดีๆ อยู่รอบตัวเรา ถ้าเพิ่งเริ่มฝึกใหม่สามารถฝึกให้รู้สึกถึงพลังงานโดยการถูฝ่ามือทั้งสองถี่ๆ จนเกิดความอุ่น แยกฝ่ามือออกจากกันเล็กน้อยแล้วโฟกัสไปที่ความรู้สึกถึงกระแสพลังงานซ่าๆ เล็กน้อยที่วิ่งอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ามือทั้งสอง
ช่วงฝึกแรกๆ อาจไม่รู้สึกถึงพลังงานระหว่างฝ่ามือนี้ก็ได้ หรือบางคนอาจรู้สึกได้เพียงแค่แรงต้านตุบๆ เมื่อเอาฝ่ามือเลื่อนเข้าออกหากัน
เมื่อฝึกให้ร่างกายผ่อนคลายและจดจ่อไปยังพลังงาน(จากการถูฝ่ามือหรือที่อยู่รอบตัว) จนคุ้นเคยกับมันสักพักแล้ว ให้จินตนาการต่อไปว่าพลังงานเหล่านั้นเป็นพลังงานความสุข เบา เย็นสบายพลังงานนั้นกำลังค่อยๆ ห่อหุ้มตัวเราไว้พร้อมกับพองและหดตัวเหมือนบอลลูนประสานกับลมหายใจเข้าออก บอลลูนนั้นขยายใหญ่ขึ้นๆ ทุกที จนคลุมร่างกายได้ทั้งตัว เมื่อบอลลูนแห่งความสุขคลุมทั่วร่างให้วักฝ่ามือนำพลังงานนั้นเข้าสู่ร่างกาย พลังงานที่ว่าก็คือออร่าที่เราเคยได้ยินกันนั่นเอง
ขั้นตอนนี้ไม่ใช่ว่าเรากำลังพยายามสร้างอิทธิฤทธิ์พลังวิเศษเหมือนในละครจักรๆ วงศ์ๆ แต่เป็นการที่เรากำลังนำพลังธรรมชาติที่มีอยู่รอบตัวอยู่แล้ว มาเติมพละกำลังภายในที่ร่อยหรอเหือดแห้งไปให้กลับคืนมา
จุดสำคัญของขั้นตอนนี้อยู่ที่การเก็บพลังความสุขที่รับเข้าสู่ร่างกายไว้ในจุดที่เรารู้สึกสบายและปลอดโปร่งที่สุด ส่วนมากมักกำหนดพลังงานไว้ที่กระบังลม (จุดที่เรียกว่า polar plexus) ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของร่างกายเป็นหลัก หรือบางคนหากรู้สึกว่าการเก็บพลังไว้ที่กึ่งกลางหน้าอก (heart chakra) เป็นจุดที่รู้สึกสบายกว่าก็ทำได้
เมื่อฝึกบ่อยๆ จนคุ้นกับการผ่อนคลาย จดจ่อลมหายใจ พร้อมกับเปิดรับพลังงานได้เก่งขึ้น สามารถทำเทคนิคนี้ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ในกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าขณะนั่งรถไฟฟ้า ไปทำงาน หรือรอคิวในธนาคาร การฝึกดึงพลังงานดีๆ เข้าสู่ร่างกายนี้จะช่วยพัฒนาความสงบนิ่งมั่นคงของจิตใจและกระตุ้นพลังชีวิตให้สดชื่นแจ่มใสขึ้น
เทคนิคที่ 2 : ปล่อยพลังลบลงพื้นดิน (Grounding)
เทคนิคนี้ใช้บรรเทาพลังงานลบที่ท่วมท้นจนเกินพอดี พลังงานลบคือพลังที่กระตุ้นให้รู้สึกตาสว่าง กระสับกระส่าย แม้เวลาจะล่วงเข้าสองยามแล้ว หรือขณะที่ร่างกายต้องการการพักผ่อนเต็มทีแต่กลับนอนไม่หลับ ภายในเต็มไปด้วยความขุ่นมัวที่ตกค้างมาจากความวุ่นวายทั้งวัน
ไวกิงตันอธิบายว่าบางครั้งการที่พลังงานลบภายในร่างกายเราอยู่ในระดับที่มากเกินพอดีจนรู้สึกท่วมท้น ก็เพราะในทุกวันเรารับเอาพลังลบจากภายนอกเข้ามาไว้ในร่างกายมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นต้องมีวิธีจัดการให้ระดับพลังงานส่วนเกินเหล่านั้นกลับไปอยู่ในจุดสมดุลอีกครั้ง
ขั้นตอนของเทคนิคนี้คือทำตรงกันข้ามกับการดึงพลังเข้าร่างกาย คือแทนที่จะวักพลังงานภายนอกเข้าสู่ร่างกายคราวนี้ให้เราจินตนาการว่ากำลังผลักพลังงานลบ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า และความตึงเครียดออกจากร่างกายแทน
ขั้นตอนแรกทำเหมือนเดิมคือ ปิดเปลือกตาให้สนิทและจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ โฟกัสไปที่พลังงานลบความรู้สึกกระสับกระส่ายอึดอัดนั้นให้เต็มที่ แล้วใช้ฝ่ามือผลักพลังงานส่วนเกินเหล่านั้นผ่านลงไปตามขาจนถึงเท้าและปล่อยให้พลังงานนั้นซึมลงสู่พื้นดิน (หากนั่งในห้องจินตนาการให้พลังซึมลงไปที่พื้นห้อง) จินตนาการอย่างแจ่มชัดให้เห็นว่าพลังงานเหล่านั้นไหลผ่านขาและฝ่าเท้าของเราลงไปสู่พื้นดินที่เป็นฟองน้ำดูดซับพลังงานส่วนเกินของเราอย่างสม่ำเสมอ
หรืออีกวิธีเก๋ๆ ที่สามารถเสริมควบคู่ไปกับการฝึกนี้คือการใช้หินสีหรือคริสตัลเข้ามาช่วยดูดซับพลังงาน หรือลองหากระถางขนาดพอเหมาะใส่ดินไว้เป็น ‘กระถางรองรับอารมณ์’ ตั้งในมุมสงบและสะดวกใช้
เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ามีพลังงานลบเอ่อท้นจนเก็บไม่ไหว การงานก็รุมเร้า ลูกก็ดื้อมากเหลือเกินให้หาเวลาอยู่ตาลำพังสักครู่ เอาปลายนิ้วจิ้มลงไปบนดินในกระถางแล้วปล่อยพลังงานลบให้ไหลผ่านนิ้วลงสู่ดิน
เมื่อทำขั้นตอนนี้เสร็จให้กล่าวคำปิดท้ายที่แสดงถึงการปลดปล่อยพลังทุกครั้งอาจเป็นประโยคง่ายๆ เช่น “และแล้วมันก็หายไปเสียที!” หรืออาจแค่ร้อง ‘เฮ้ออออออออ’ ออกมาดังๆ
เทคนิคที่ 3 : สร้างเกราะคุ้มกัน (Shielding)
เทคนิคนี้เหมือนกับ ‘การกั้นเขตแดน’ ในโลกเวทมนตร์ การสร้างเกราะคุ้มกันในที่นี้หมายถึงการป้องกันตนเองจากพลังงานลบที่ส่งมาจากผู้อื่นไม่ให้ผ่านเข้ามาถึงเรา
แตกต่างจากสองเทคนิคแรกที่โฟกัสไปยังการจัดสมดุลพลังงานในร่างกายด้วยการดึงพลังงานดีๆ เข้ามาและถ่ายเทพลังงานแย่ๆ ออกไป เทคนิคนี้คือ สร้างเป็นเกราะป้องกันขึ้นจากพลังงานที่อยู่รอบตัวเราโดยจดจ่อไปที่ลมหายใจ และจินตนาการให้พลังงานนั้นแผ่ขยายคลุมร่างกายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเหมือนมีเกราะวิเศษห่อหุ้มตัวเราไว้
พื้นผิวของเกราะที่ห่อหุ้มเราอยู่นั้นเปรียบเสมือนเพชรที่แข็งแรง ทนทาน สามารถป้องกันพลังงานแย่ๆ ที่เข้ามาตกกระทบให้สะท้อนออกไป สิ่งกวนใจใดๆ หรือใครก็ตามที่มีแนวโน้มจะส่งพลังงานลบหรืออารมณ์บูดบึ้งให้แก่เรา พลังงานลบเหล่านั้นจะผ่านเข้ามาทำให้เราขุ่นมัวไม่ได้
เมื่อเราฝึกสร้างเกราะคุ้มกันจนเคยชิน คำวิจารณ์ร้ายๆ หรือข้อความเป็นห่วงเป็นใยที่นำพาแต่ความวิตกมาให้ ก็จะไม่ระคายอารมณ์เราได้สักนิด
สามเทคนิคการจัดการพลังงานนี้ถ้าทุกคนลองฝึกฝนบ่อยๆ จนชำนาญ จะพบว่าสามารถรู้ทันตนเองได้ว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะอารมณ์ใด และสามารถควบคุมอารมณ์หรือพลังงานที่ไม่สมดุลนั้นให้กลับมาสงบนิ่งได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ลองนำไปฝึกร่วมกับหากิจกรรมนันทนาการที่ชอบ หรือช่วยกระตุ้นความสดชื่นและพลังงานบวกอื่นๆ เช่น ออกกำลังกายเบาๆ ปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ แช่น้ำอุ่น หรือพบปะเพื่อนที่มีทัศนคติเชิงบวก ก็จะช่วยเติมพลังงานและความชื่นบานได้อีกครั้ง