Skip to content
ความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงาน
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Family PsychologyDear ParentsEarly childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่น
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงาน
Relationship
14 July 2025

แม้แผลใจจะยังไม่หายดี แต่เธอก็มีความสัมพันธ์ที่ดีได้นะ

เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • บาดแผลจากประสบการณ์ในวัยเด็ก ไม่เพียงทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำ แต่ยังฝังลึกลงไปในระดับจิตไร้สำนึก ค่อยๆ ก่อร่างเป็นแบบแผนบางอย่างที่เรามักไม่รู้ตัวว่าแบกมันติดตัวไปในทุกความสัมพันธ์
  • การฟื้นฟูความสามารถในการมีความสัมพันธ์อาจจะไม่ได้เริ่มจากการพยายามเลิกกลัว หรือเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาได้ทันที แต่ต้องเริ่มจากการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ปลอดภัยมากพอ ให้สมองได้ค่อยๆ เรียนรู้ใหม่ว่า ความสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องทำร้ายเขาเสมอไป
  • ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นการเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เขาไม่จำเป็นต้องดีหมดทุกอย่าง เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติความเทาๆ ของมนุษย์ เราจะโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น

“เมื่อเติบโตมาโดยไม่มีความรักที่ปลอดภัย เราจะยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้หรือไม่”


ผมมักจะได้ยินคำถามนี้จากหลายคนที่มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ โดยเฉพาะคนที่มีบาดแผลทางใจจากประสบการณ์ในวัยเด็ก บาดแผลที่ไม่ได้เพียงทิ้งร่องรอยไว้ในความทรงจำ แต่ยังฝังลึกลงไปในระดับจิตไร้สำนึก ค่อยๆ ก่อร่างเป็นแบบแผนบางอย่างที่เรามักไม่รู้ตัวว่าแบกมันติดตัวไปในทุกความสัมพันธ์ 

ทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ได้อธิบายไว้อย่างลึกซึ้งว่า ประสบการณ์ที่เรามีกับผู้เลี้ยงดูหลักในช่วงต้นของชีวิตจะหล่อหลอมเป็นสิ่งที่เรียกว่า มุมมองภายในใจเกี่ยวกับตัวเราเอง ผู้อื่น และโลกใบนี้ (Internal working model) 

แบบจำลองนี้จะกลายเป็นรากฐานที่เรานำไปใช้ในการรับรู้ ตีความ และตอบสนองต่อความสัมพันธ์ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่กระทบใจ แม้เราจะลืมเหตุการณ์เหล่านั้นไปแล้วในระดับความจำแบบรู้ตัว แต่ความรู้สึกลึกๆ เหล่านั้นยังคงอยู่ในระบบความจำแบบไม่รู้ตัว (Implicit memory) และส่งอิทธิพลอย่างเงียบงันต่อการใช้ชีวิตในปัจจุบัน

ความทรงจำแบบไม่รู้ตัวไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของคำพูด คำอธิบาย หรือเหตุผลที่ชัดเจน แต่จะแสดงตัวผ่านปฏิกิริยาทางอารมณ์หรือร่างกายที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติของเราที่มักเป็นส่วนที่จะเข้าถึงยาก เช่น เมื่อใครบางคนพูดเสียงดังใส่ เรารู้สึกตัวแข็ง หายใจไม่ทั่วท้อง ทั้งที่เขาไม่ได้ทำอะไรที่อันตรายจริงๆ หรือเวลาคนที่เรารักขอเวลาส่วนตัว เรากลับรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ทั้งที่เราก็เข้าใจเหตุที่เขาทำเช่นนั้น 

ปฏิกิริยาเหล่านี้อาจดูเหมือนเกินจริง หรือไม่มีเหตุผลในสายตาคนอื่น หรือหากมองด้วยหลักเหตุผล แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติการทำงานของสมอง เราจะรู้ว่าสมองของเราไม่ได้เรียนรู้หรือตีความสิ่งต่างๆ จากเหตุผลเป็นหลัก แต่เราตีความหรือคาดเดาสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น หากมองปัญหาความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองของหลักเหตุผลอาจทำความเข้าใจไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าหากมองผ่านเบื้องหลังของประสบการณ์ฝังแน่นที่คนหนึ่งเจอมา เหตุการณ์ต่างๆ จะสมเหตุสมผลขึ้น

หากมองปัญหาต่างๆ ในแง่ความสัมพันธ์จะพบความย้อนแย้งของมนุษย์ ธรรมชาติออกแบบมาให้มนุษย์มีความต้องการที่จะมีความผูกพันกับผู้อื่นเสมอ เราต้องการการยอมรับ การรัก และการเป็นส่วนหนึ่ง แต่หลายๆ ครั้งมนุษย์กลับเลือก (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ที่จะหลีกเลี่ยงหรือถอยห่างจากความสัมพันธ์เหล่านั้นเสียเอง 

หากมองลึกลงไปเรา เราจะพบว่าเบื้องหลังความย้อนแย้งนั้นมักเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในอดีต โดยเฉพาะประสบการณ์ที่เจ็บปวดในความสัมพันธ์ เช่น เมื่อไหร่ที่เขาอยู่ใกล้คนในครอบครัว ก็มักจะถูกตะโกนหรือลงไม้ลงมือ และเมื่อเติบโตเข้าสู่วัยเรียน ก็ยังถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า สมองค่อยๆ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์เหล่านั้นว่า ‘การมีความสัมพันธ์คือความเสี่ยง’ หรือแม้กระทั่ง ‘ความอันตราย’ บทเรียนนี้ไม่ได้เรียนรู้ด้วยเหตุผล แต่ฝังแน่นผ่านอารมณ์ ความรู้สึก และการตอบสนองอัตโนมัติ จนกลายเป็นแบบแผนในระดับจิตไร้สำนึก คนนั้นจึงอาจมีกำแพงขึ้นมาตามธรรมชาติ หรือที่ในทางจิตวิทยาเรียกว่า กลไกการป้องกันตนเอง (Defense mechanism) 

พัฒนาความสัมพันธ์อย่างไร ? 

แม้แบบจำลองภายในใจเหล่านั้นจะก่อตัวขึ้นมาจากอดีต และดูเหมือนจะหยั่งรากลึกในระดับจิตไร้สำนึก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย การฟื้นฟูความสามารถในการมีความสัมพันธ์อาจจะไม่ได้เริ่มจากการพยายามเลิกกลัว หรือเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาได้ทันที แต่ต้องเริ่มจากการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่ปลอดภัยมากพอ ให้สมองได้ค่อยๆ เรียนรู้ใหม่ว่า ความสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องทำร้ายเขาเสมอไป

ผมต้องชี้แจงก่อนว่าการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ซับซ้อน ไม่ได้มีสูตรสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่อยากชวนเชิญผู้อ่านลองอ่านแต่ละแนวคิดแล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับตนเอง 

การทำจิตบำบัดแบบเน้นประสบการณ์ (Experiential therapy) เชื่อว่า ความทรงจำที่ฝังลึกโดยเฉพาะในระดับจิตไร้สำนึก ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเหตุผลหรือตรรกะเพียงอย่างเดียว แต่จะเปลี่ยนได้จริงเมื่อคนคนนั้น เผชิญกับประสบการณ์ใหม่ที่ขัดแย้งกับสิ่งที่สมองเคยเชื่อ ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยพอ 

ยกตัวอย่าง หากใครคนหนึ่งเติบโตมากับความเชื่อว่า ‘ถ้าเปิดใจ พูดความในใจ จะถูกเพิกเฉยหรือโดนตัดรำคาญ’ เขาอาจใช้ชีวิตโดยหลีกเลี่ยงการเปิดใจ ไม่แสดงความรู้สึก และรู้สึกโดดเดี่ยวโดยไม่เข้าใจว่าทำไม

การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาเริ่มรับรู้ว่า เขากลัวอะไร และความเชื่อนั้นมาจากไหน จากนั้นในพื้นที่ที่ปลอดภัย เช่น การทำจิตบำบัด หรือการมีความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจ เขาได้ค่อยๆ เริ่มทดลองเปิดใจ เช่น การเริ่มพูดว่า “ผมรู้สึกไม่มั่นใจเลย” แทนที่จะปิดบังความรู้สึกที่แท้จริงไว้ เขาอาจจะลองเล่าเรื่องในอดีตที่เจ็บปวดให้ใครบางคนฟัง หรือแม้แต่ แค่ยอมรับต่อหน้าคนอื่นว่า “ผมกำลังกลัวว่าจะถูกทิ้ง” แล้วเมื่อเขาได้พบว่า อีกฝ่ายไม่เพิกเฉย ไม่ตัดบท ไม่หายไป กลับอยู่กับเขา ฟังเขาอย่างตั้งใจ และตอบสนองอย่างอบอุ่น

ประสบการณ์เหล่านี้ขัดแย้งกับสิ่งที่เคยเชื่ออย่างลึกซึ้ง และเมื่อมันเกิดซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องและปลอดภัยพอ สมองจะค่อยๆ เขียนความทรงจำเดิมใหม่ จากถ้าเปิดใจจะถูกทิ้ง กลายเป็นบางคนก็อยู่กับฉันได้นะ แม้ในวันที่ฉันเปราะบาง นี่คือหัวใจของการเปลี่ยนแปลงในเชิงลึก การที่เรา ‘รู้สึกใหม่’ ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่เข้าใจใหม่ด้วยเหตุผล และการรู้สึกใหม่นี้ มักต้องเกิดในความสัมพันธ์กับใครบางคนที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’ ซึ่งอาจเป็นนักบำบัด คู่รัก เพื่อนสนิท หรือใครบางคนที่เราไว้ใจได้จริงๆ

อีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีคือ การเข้าใจว่าบางคนที่มีบาดแผลทางใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์อาจจะใช้กลไกป้องกันตนเองแบบแบ่งแยก (Splitting) ซึ่งหมายถึงการมองโลกและคนรอบตัวแบบสุดโต่ง ถ้าดีก็ดี ถ้าแย่ก็แย่ทั้งหมด ซึ่งกลไกเหล่านี้มีประโยชน์สำหรับคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง หรือความสับสน แต่เมื่อเติบโตขึ้น การมองแบบนี้จะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ เพราะไม่มีใครดีได้ทุกวันหรือแย่ได้ทุกวัน หากเรายังใช้กลไกนี้อยู่ เราจะผิดหวัง เสียใจ หรือโกรธได้ง่าย

การลดการใช้กลไกป้องกันตนเองแบบแบ่งแยก คือ การฝึกมองคนๆ หนึ่งแบบเทาๆ โดยไม่สุดโต่งไปทางด้านดำสุด หรือขาวสุด คือการที่เราค่อยๆ ยอมรับว่า คนที่เรารักอาจทำให้เราผิดหวังได้ โดยที่เขาก็ยังรักเราอยู่ และตัวเราเองก็อาจเผลอทำร้ายใครบางคนไป ทั้งที่เรามีเจตนาที่ดี

ความสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นการเข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ เขาไม่จำเป็นต้องดีหมดทุกอย่าง เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติความเทาๆ ของมนุษย์ เราจะโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองและคนรอบข้างได้ดีขึ้น 

การฝึกมองคนแบบเทาๆ คือการเข้าใจความเป็นจริงของโลกใบนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เจ็บปวดนะครับ โดยเฉพาะการที่เราต้องยอมรับว่าคนที่สำคัญในชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ แฟน เพื่อน หรือคนรัก ก็เป็นคนเทาๆ เหมือนกัน มันเจ็บปวดเพราะเรามักคาดหวังว่าคนเหล่านี้ควรจะสมบูรณ์แบบ และเมื่อเขามีข้อบกพร่องหรือทำให้เราผิดหวัง ก็เหมือนกับโลกที่เราเคยยึดถือสั่นคลอน แต่ในขณะเดียวกัน นี่คือก้าวสำคัญของการเติบโต การที่เราสามารถเห็นทั้งความรักและข้อบกพร่องในตัวคนเหล่านั้นได้พร้อมกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงและลึกซึ้งกับผู้คนรอบตัว

ชีวิตที่ดี 

ผมคิดว่าการเดินทางเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนที่เคยมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดและสูญเสียความเชื่อมั่นในความสัมพันธ์ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ถ้าหากเรายังเชื่อในความดีของผู้คน และเชื่อว่าตัวเองคู่ควรแก่การมีความสัมพันธ์ที่ดี ความเข้าใจในตนเองและความอดทนในการก้าวข้ามผ่านประสบการณ์ในอดีตคือกุญแจสำคัญในการพาเราออกจากความทรงจำเดิมๆ ที่เคยจำกัดเรา 

เพราะชีวิตที่ดีคือการมีความสัมพันธ์ที่ดี 

และความสัมพันธ์ที่ดีคือกระจกสะท้อนว่าเราก็เป็นคนที่ดีพอเหมือนกัน

Tags:

ทฤษฎีความผูกพัน(Attachment Theory)บาดแผลทางจิตใจความสัมพันธ์ที่ดี (Healthy relationship)ประสบการณ์ในวัยเด็กจิตบำบัดแบบเน้นประสบการณ์ (Experiential therapy)

Author:

illustrator

ชัค ชัชพงศ์

นักจิตวิทยาที่เขียนบทความเพื่อช่วยให้คนเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง FB: Chuck Chatpong

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Dear Parents
    แทนที่พ่อจะสอนผมเรื่องความกตัญญู ช่วยทำให้ดูก่อนดีไหม?

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Precious: แม้พ่อแม่จะสร้างแผลใจที่ไม่อาจลบเลือน แต่เราเติบโตและงดงามได้ในแบบของตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Family PsychologyEarly childhood
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.7 ความทรงจำเลวร้ายในวัยเยาว์ที่ตามมาหลอกหลอน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    พันธุกรรมไม่สำคัญเท่าการเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ของพ่อแม่กำหนดบุคลิกของลูกได้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel