- ภาพยนตร์สัญชาติญี่ปุ่น Haitatsu Saretai Watashitachi (จดหมายเจ็ดปี กับ บุรุษไปรษณีย์อยากตาย) จะมาให้กำลังใจอุ่นๆ กับเราในวันที่ซึมเศร้าหดหู่
- คนที่ส่งพลังใจให้เราคลายจากทุกข์ได้ดีที่สุด ไม่ใช่คนเก่งกล้าสามารถที่คอยตั้งหน้าตั้งตาสั่งสอนคนอื่นเหมือนมาจาก “ข้างบน” แต่กลับเป็นเพียงคนธรรมดาที่เคยประสบความทุกข์ในรูปแบบเดียวกับเรา เคยมีบาดแผลคล้ายๆ เรา อีกทั้งพร้อมแบ่งปันเรื่องราวของเขาและโอบอุ้มเรื่องราวของเรา อย่าง “เสมอกัน” กับเรา
- แถมด้วยวิธีการพาตัวเองออกจากความเศร้า ซึ่งภัทรารัตน์รวบรวมจากผู้ผ่านประสบการณ์จริง และจากนักจิตบำบัดชื่อดังหลายท่าน
“มีเพียงหมอที่มีบาดแผลเท่านั้น ที่อาจรักษาผู้คนให้หายได้”
– คาร์ล กุสตาฟ ยุง จิตแพทย์และผู้ก่อตั้งจิตวิทยาวิเคราะห์ (Analytical Psychology) ชาวสวิส
1.
ขออุทิศเรื่องราวนี้ให้กับผู้คนที่มีอาการซึมเศร้ากระทั่งไร้พลังจะมีชีวิตอยู่ อีกทั้งขอมอบเรื่องราวนี้แด่ทุกคนซึ่งอาจมีบางวันที่รู้สึกหดหู่และเดียวดาย เชื่อเหลือเกินว่าการแบ่งปันเรื่องราวหม่นเศร้าในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์จากตำแหน่งที่ “เสมอกัน” ซึ่งไม่มีใครเหนือกว่าใครก็มีส่วนทำให้พลังชีวิตฟื้นคืนกลับมา ดั่งเรื่องราวสัมผัสหัวใจในภาพยนตร์เรื่อง Haitatsu Saretai Watashitachi (配達されたい私たち) ที่จะเล่าต่อไปนี้
2.
ซีรีส์ภาพยนตร์เรื่อง Haitatsu Saretai Watashitachi ชื่อไทยว่า จดหมายเจ็ดปี กับ บุรุษไปรษณีย์อยากตาย มีผู้เขียนบทที่ผ่านการต่อสู้กับโรคซึมเศร้ามาเองจริงๆ เนื้อเรื่องดำเนินไปโดยตัวละครหลักชื่อ ซาวาโนะ ฮาจิเมะ อดีตนักข่าวซึ่งเป็นโรคซึมเศร้ามาประมาณสองปี เขารู้สึกมาตลอดว่าพ่อมองเขาด้วยสายตาเหยียดหยามดังที่เขาเห็นมาตั้งแต่เป็นเด็ก จนแม้ครั้งสุดท้ายที่เจอพ่อก่อนท่านจะสิ้นชีวิต เขาก็ยังเห็นสายตาแบบเดิม เขารู้สึกไร้ค่า แต่ก็บอกตัวเองให้ไม่สนใจและทำตัวไร้อารมณ์ความรู้สึก เขาเปรียบว่าตัวเองเป็นราวกับหัวนมของผู้ชายที่ ‘ไม่มีประโยชน์’ อะไร เป็นเพียงสิ่งที่ใช้แบ่งแยกระหว่างความเป็นด้านหน้ากับด้านหลัง
ถึงจุดหนึ่งเขาจึงตัดสินใจผูกคอตายในโรงหนังร้าง ทว่าทำไม่สำเร็จเพราะเชือกที่มัดกับขื่อขาดลง เขาตกจากจุดที่ผูกเชือกมาพบกับกระเป๋าที่มีจดหมายเต็มไปหมด ซึ่งจดหมายพวกนี้ควรจะส่งไปถึงมือของผู้รับตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว ในนั้นมีจดหมายที่มีสภาพดีเหลืออยู่เพียง 7 ฉบับ เขาจึงตัดสินใจจะนำจดหมายเหล่านี้ไปส่งให้ครบก่อนเพื่อเป็นการนับถอยหลัง แล้วจะฆ่าตัวตายอีกครั้งเมื่อภารกิจนี้เสร็จสิ้น และจากการไล่ส่งจดหมายนี้เอง ทำให้เขาได้เข้าไปรู้เห็นและพัวพันกับชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับจดหมาย แล้วความหมายและความปรารถนาในการมีชีวิตของเขาก็ค่อยๆ กลับคืนมา
จากนี้จะขอกล่าวถึงหนึ่งในจดหมายเหล่านั้น คือจดหมายถึง คุนิชิโร่ อดีตนักวิ่งมาราธอนชื่อดัง ผู้ซึ่งยืนหนึ่งเรื่องความพยายามอันไม่ลดละ กับคำกล่าวที่ว่า “คุณทำได้ถ้าพยายาม ผมจะพยายาม คุณก็ด้วยนะ” แต่ในที่สุดวันหนึ่ง คุนิชิโร ก็เหนื่อยล้าเกินกว่าจะวิ่งมาราธอนอีก
เขาผันตัวมาเป็นเจ้าของร้านโอโคโนมิยากิ(พิซซ่าญี่ปุ่น)โกโรโกโสที่วันๆ ไม่มีลูกค้าเข้าเลย จนถึงวันที่ ซาวาโนะ นำจดหมายจาก ฮาเซะเบะ มาให้ ฮาเซะเบะนั้นเป็นช่างภาพข่าวกีฬาซึ่งคอยแบกกล้องตามบันทึกภาพคุนิชิโรมาตั้งแต่ยังหนุ่ม กระทั่งทั้งคู่ย่างเข้าวัยกลางคนและต่างก็มีปัญหาสุขภาพ
ในจดหมาย ฮาเซะเบะถ่ายทอดความทรงจำของตัวเองไปสู่นักวิ่งในดวงใจว่า แม้วาระสุดท้ายของการวิ่งมาราธอนที่คุนิชิโร่ดูบาดเจ็บมาก คุนิชิโร่ก็ยังไม่ละความเพียร หนำซ้ำยังพยายามผลักดันให้นักวิ่งหน้าใหม่เร่งฝีเท้าจนกลายเป็นแชมป์ ในวันนั้น ทางสถานีโทรทัศน์ผู้ว่าจ้างฮาเซะเบะสั่งให้เขาจับภาพนักวิ่งหน้าใหม่ แต่เขาไม่อาจละกล้องจากคุนิชิโร่ เพราะในสายตาของเขา คุนิชิโร่คือฮีโร่ตลอดกาล ผู้ที่เขาต้องการให้จรัสแสงต่อไป
แค่เพียงคุนิชิโร่ได้รู้ว่าตัวเองเป็นแรงบันดาลใจให้ใครคนหนึ่งเสมอมา เขาก็มีพลังอีกครั้ง
ยิ่งรู้ว่าฮาเซะเบะจะมาทานโอโคโนมิยากิที่ร้าน คุนิชิโร่ก็ยิ่งกลับมามีแรงฮึด จากที่เคยใช้หมูค้างตู้เย็นทำอาหารไปวันๆ เขาตั้งใจทำโอโคโนมิยาเกะที่ดีที่สุดรอฮาเซะเบะ เมื่อฮาเซะเบะมาหา คุนิชิโร่ก็ได้ทราบเรื่องราวเพิ่มเติมว่าฮาเซะเบะถูกบีบให้ออกจากงานเพราะเป็นโรคซึ่งทำให้เขาจะค่อยๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด
นอกจากนี้ ฮาเซะเบะเคยติดเหล้าถึงขนาดต้องไปบำบัดโรคพิษสุรา ทว่าฮาเซะเบะสามารถหักดิบไม่ดื่มแอลกอฮอล์เลยแม้เพียงหยดเดียวมาได้ถึงสามปีเพราะนึกถึงตอนที่คุนิชิโร่วิ่ง มาวันนี้ฮาเซะเบะมีฝันว่าจะวิ่งมาราธอนคนตาบอดเพื่อที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น คุนิชิโร่จึงยืนยันให้ฮาเซะเบะรู้ว่าเขาทำได้ด้วยการบอกว่า “คุณก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเหมือนกันนะครับ เราเสมอกันแล้วนะ”
เมื่อคนเศร้าสัมผัสหัวใจกันอย่างเสมอภาค พวกเขาก็ได้เป็นประโยชน์ต่อกันและกัน* และมีพลังชีวิตขึ้นมาได้
ซาวาโนะอาการดีขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะได้เจอผู้คนที่ล้วนแล้วแต่มีบาดแผล ผู้คนเหล่านั้นอยากให้เขาอยู่ด้วยและตั้งใจเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองให้เขาฟังพร้อมน้ำตานองหน้า หลายคนแสดงความรู้สึกขอบคุณซาวาโนะออกมาอย่างชัดเจน สัมผัสจากมนุษย์อันลึกซึ้งซึ่งมีนัยยะว่า การดำรงอยู่ของซาวาโนะสำคัญและมีความหมาย เหล่านี้ต่างหากคือ อาหารใจ ที่ค่อยๆ พาให้คนซึมเศร้าหลุดพ้นจากหลุมดำ
ไม่ว่าเราจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือแค่รู้สึกหดหู่หม่นหมองเป็นบางคราว หากลองพิจารณาดูก็จะพบว่าคนที่ส่งพลังใจให้เราคลายจากทุกข์ได้ดีที่สุด ไม่ใช่คนเก่งกล้าสามารถตลอดเวลาที่คอยตั้งหน้าตั้งตาสั่งสอนคนอื่นเหมือนมาจาก “ข้างบน” แต่กลับเป็นเพียงคนธรรมดาที่เคยประสบความทุกข์ในรูปแบบเดียวกับเรา เคยมีบาดแผลคล้ายๆ เรา อีกทั้งพร้อมแบ่งปันเรื่องราวของเขาและโอบอุ้มเรื่องราวของเราอย่าง “เสมอกัน” กับเรา
รายงานทางการแพทย์มักบอกว่าคนซึมเศร้ามีสารสื่อประสาทต่างๆ ไม่สมดุล แต่ซาวาโนะซังไม่ได้อยากกลับมามีชีวิตเพราะไปเจอจิตแพทย์ที่ให้ยาต้านเศร้าปรับสมดุลสารสื่อประสาทมากินเป็นกำๆ อีกทั้งเขาไม่ได้มีพลังใจขึ้นมาจากถ้อยคำประเภท “เข้มแข็งหน่อยสิ” “อดทนหน่อยสิ” “ชีวิตทุกคนก็เป็นโศกนาฏกรรมทั้งนั้น คนอื่นยังผ่านมาได้เลย” ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าอาจมาจากเจตนาที่จะให้กำลังใจ แต่คนซึมเศร้าหลายคนที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเองอยู่แล้วอาจตีความถ้อยคำพวกนี้ระหว่างบรรทัด ส่งผลให้รู้สึกถูกตัดสินว่าอ่อนแอหรือไม่อดทนไปอีก ทั้งที่พวกเขาอาจจะอดทนกับทุกอย่างในชีวิตภายใต้เงื่อนไขที่เราไม่มีทางเข้าใจมาหลายสิบปีแล้วก็ได้
แม้ว่าเรื่องสารเคมีในสมองไม่สมดุลอาจไม่เกี่ยวกับปัญหาชีวิต (บางคนก็ชีวิตดีแต่มีปัญหาเกี่ยวกับสมองจริงๆ หรือหลายคนที่แพทย์เคยวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า มาเจอว่าตัวเองกินอาหารบางประเภทซ้ำๆ เป็นเวลานาน แล้วพอเปลี่ยนอาหารก็หายเลย เช่น หยุดอาหารธาตุเย็นอย่างเต้าหู้ไปสักพัก เลิกกินมังสวิรัติ แล้วกลับมากินเนื้อสัตว์และเนื้อวัวบ้างก็หายซึมเศร้าและมีพลังชีวิตขึ้นมาเฉยเลย) แต่ในกรณีผู้คนต่างๆ ที่เจอมา อาการซึมเศร้านั้นสัมพันธ์กับปัญหาชีวิตทั้งสิ้น กล่าวคือก่อนที่ใครต่อใครจะถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและได้ยาต้านเศร้ามาปรับสมดุลสารสื่อประสาทนั้น คนในครอบครัวของเขาอาจฆ่าตัวตาย หรือมีคนในครอบครัวป่วยเรื้อรังทำให้เขาต้องดูแลต่อเนื่องมาเนิ่นนาน และแม้แต่ตัวเขาเองก็อาจเป็นโรคประจำตัวมาตั้งแต่เกิดพร้อมกับถูกทารุณกรรมตอนเด็ก หรือเขากำลังเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาอยู่และกำลังรอวาระสุดท้ายของชีวิต ฯลฯ
เห็นได้ว่า พวกเขาไม่ได้ขาดความอดทนแต่อดทนมาจนท่วมท้นแล้ว หนำซ้ำถ้าหากพวกเขามีลักษณะที่ใส่ใจโลกภายในมากกว่าภายนอก ไม่ค่อยสุงสิงกับผู้คน ไม่ชอบขอความช่วยเหลือและไม่ค่อยบอกเล่าความทุกข์กับคนอื่นมากนัก ก็ยิ่งจะสามารถทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้เผชิญความทุกข์ที่ “เกิดกับฉันคนเดียว” อย่าง “โดดเดี่ยว” “ไร้คนเข้าใจ” หรือ “ไม่มีใครเห็น”
ดังนั้น แม้ในกรณีที่แพทย์บอกว่าพวกเขาซึมเศร้าเพราะสารเคมีในสมองไม่สมดุล ก็เห็นมามากว่าคนเรามักจะค่อยๆ มีพลังชีวิตขึ้นมาด้วยปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ(ท่ามกลางอีกหลากหลายปัจจัย) นั่นคือการได้เจอ “เพื่อนร่วมทุกข์” ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่สร้าง อาหารใจ ให้กัน
*ขอบคุณเพื่อนผู้มีอาการซึมเศร้าคนหนึ่งที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าคำว่า “มีประโยชน์” สำหรับบางคนก็ไปกระตุ้นบาดแผลที่เขาถูกบีบให้ “มีประโยชน์” ต่อสมาชิกครอบครัวมาตลอดชีวิต การมีคนบอกว่าเขามีความสามารถและมีประโยชน์ในบางกรณีจึงกลับไม่ใช่การให้อาหารใจเขา ดังนั้น คำว่า “มีประโยชน์” บางทีก็ต้องใช้อย่างระวังเหมือนกัน
บทบาทภายนอกอาจอยู่กับเราเพียงชั่วคราว แต่คุณค่าภายในอยู่กับเรานานกว่านั้น อย่างหลังต่างหากคือแก่นสารของเรา
เรื่องราวของคุนิชิโร่และฮาเซะเบะ เตือนเราว่าจะมีวันหนึ่งในชีวิตที่เราจะ สูญเสีย บทบาทภายนอกที่กำลังทำอยู่
วันหนึ่งเราอาจตกงาน วันหนึ่งเราอาจต้องทำสิ่งที่ไม่ถนัดและมีรายได้น้อยกว่าเดิม หรือวันหนึ่งเราอาจจะทำงานที่ชอบไม่ได้อีกแล้ว การสูญเสียบทบาทเดิมที่ให้อาหารใจกับเราในบางกรณีอาจทำให้เป็นทุกข์เรื้อรังกระทั่งถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า แต่สุดท้ายทุกคนก็ย่อมต้องหาทางมีชีวิตอยู่ต่อไป
แม้สาเหตุและวิธีรักษาโรคซึมเศร้ายังเป็นที่ถกเถียงกันไม่เป็นอันยุติ แต่คำอธิบายทางการแพทย์มักบอกว่าคนซึมเศร้ามีสารสื่อประสาทต่างๆ ไม่สมดุล ที่สนใจเป็นพิเศษคือเรื่องเล่าที่ว่าคนซึมเศร้าขาดสารสื่อประสาทชื่อเซโรโทนิน เพราะเรื่องเซโรโทนินพร่องนี้ไปพ้องกับภาวะของสัตว์ที่พ่ายแพ้การต่อสู้หรือสัตว์ที่ถูกกระชากออกมาจากตำแหน่งสูงในปีรามิดทางสังคมของมัน ว่ากันว่ากุ้งมังกรที่พ่ายแพ้การต่อสู้จะถอยหนีแต่กลับลุกขึ้นสู้อีกครั้งเมื่อได้รับเซโรโทนิน นอกจากนี้ ลิงที่ได้รับเซโรโทนินจะทะยานขึ้นสู่ตำแหน่งอันเหนือกว่าพวกลิงที่ถูกลดเซโรโทนิน ส่วนลิงที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งสูงส่งในปีรามิดทางสังคมก็จะมีโซโรโทนินลดลง (จาก Jordan Peterson และ Elaine N. Aron รายละเอียดตามที่อ้างอิง )
นี่ทำให้ไม่แปลกใจเมื่อเห็นคนที่อยู่ในจุดที่ตัวเองรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่ามานานแล้วมีอาการซึมเศร้า และเมื่อไปหาจิตแพทย์ เขาก็มักจะได้รับยาที่สามารถช่วยให้โซโรโทนินอยู่ในระบบได้มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยพยุงให้เขายังสามารถใช้ชีวิตประจำวันต่อได้ (เช่น นอนหลับได้และยังมีแรงตื่นไปทำงาน หรือทำให้มีความพร้อมพอควรในการทำจิตบำบัดควบคู่ไปด้วย) มากพอที่จะไปหาหนทางอื่นๆ ในการมีชีวิตอยู่ต่อไป (เช่น ไปหางานใหม่หลังตกงานหรือตั้งตัวเป็นเจ้าของกิจการเองเสียเลย)
กระนั้นในการหาทางมีชีวิตอยู่ต่อไปในแบบใหม่ๆ ทั้งการลองเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อให้มีอาหารใจและโดยเฉพาะการหาวิธีหาเลี้ยงชีพแบบใหม่นั้น
เส้นทางสู่จุดหมายใหม่อาจยาวนานกระทั่งเราไม่แน่ใจว่าจะถึงฝั่งนั้นได้หรือเปล่า และอาจยังคงรู้สึกเหมือนกุ้งมังกรที่พ่ายแพ้ หรือลิงที่ถูกกระชากออกจากตำแหน่งอันเลอค่า แต่ในระหว่างที่เดินทางไปสู่ปลายทางใหม่ กระบวนการเดินทางเองก็มีค่า อีกทั้งคุณค่าที่อยู่ภายในตัวเราก็ยังคงอยู่เสมอและมักจะเพิ่มมากขึ้นด้วย
เช่น ต่อให้เราจะสูญเสียตำแหน่งงานที่ทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าไป แต่เนื้อในของเราก็ยังเป็นคนที่คอยรับฟังและเห็นอกเห็นใจคนอื่น อีกทั้งยังหนักแน่นกับความพยายามที่ไม่ลดละและยังรู้จักรอคอย และยังคงตั้งใจภาวนาไปด้วย (แค่ยกตัวอย่าง เพราะแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีความเชื่อเหมือนกัน) ฯลฯ ดังนั้น แม้บทบาทภายนอกจะอยู่กับเราเพียงชั่วคราวและต้องผลัดเปลี่ยนไป แต่คุณลักษณะภายในต่างหากที่บอกว่าเราเป็นใครและเติบโตเป็นอะไรได้อีก
เมื่อใส่ใจคุณลักษณะภายในมากกว่าบทบาทภายนอก ความเสี่ยงในการตกอยู่ในภาวะหดหู่ซึมเศร้าดุจสัตว์ผู้พ่ายแพ้ที่ด้อยชั้นทางสังคมก็ย่อมน้อยลง เพราะคุณค่าของเราไม่ได้มาจากการต้องชนะ และ ไม่ เกี่ยวกับการได้ตำแหน่งแห่งที่จากข้างนอกซึ่งต้องไป เปรียบเทียบ กับคนอื่น
สุดท้าย แม้ในสายตาคนทั่วไป โรคซึมเศร้าหรือแม้แต่แค่ความรู้สึกหดหู่เฉยๆ ดูน่าจะแก้ไขง่าย แต่ก็เปล่าเลย ปลามองไม่เห็นน้ำที่อยู่รอบตัวฉันใด คนซึมเศร้าก็มองไม่เห็นความเชื่อมโยงกับคนอื่นที่เป็นเหมือนกันรอบตัวฉันนั้น จวบจนเมื่อมีอะไรมาเบิกเนตรว่าเรื่องแบบนี้ก็มีหลายคนเผชิญอยู่นั้นแหละ จึงจะเห็นว่าแท้จริงแล้วความทุกข์เหล่านี้อาจแก้ได้จากการมีคนมาเขี่ยเสี้ยนหนามในดวงตาให้นี่เอง หรือไม่ก็ดีขึ้นเพราะได้เชื่อมโยงกับบางอย่างที่ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกมีค่า และบ้างก็อาจเป็นสภาพแวดล้อมอันรื่นรยม์ หรือวิธีคิดที่ต่างออกไปความคุ้นชิน ฉะนั้น “เพื่อน” หรือ “กัลยาณมิตร” ได้จาก…
- นอกเหนือไปจากการไปหาจิตแพทย์ที่ทำจิตบำบัดได้และให้ความสำคัญกับการแสดงความเห็นอกเห็นใจ หรือการไปหานักจิตบำบัดที่ถูกจริตกับเรา ก็ยังมีคนมากมายที่ได้เผชิญความทุกข์คล้ายๆ เราและได้รับการบำบัดเยียวยาไปแล้ว การสื่อสารกับคนเหล่านั้นหรือขอความช่วยเหลือบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่หรอก เพราะในขณะที่เราขอให้เขาช่วย เราก็อาจจะกำลังช่วยให้เขารู้สึกดีใจที่ได้ช่วยเราอยู่ด้วยเหมือนกัน
- สิ่งที่ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและมีคุณค่า ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนก็ได้ (เพราะถ้าไปเจอคนที่ไม่เข้าใจแล้วโดนตัดสินจะรู้สึกแย่หนักไปอีก) เช่น การสัมผัสกับพลังชีวิตในธรรมชาติอย่างต้นไม้และแผ่ความรู้สึกดีให้มัน หรือเชื่อมโยงกับตัวละครในภาพยนตร์ หรือถ้าชอบอ่านคัมภีร์ศาสนา ก็อาจลองหาประวัติตัวละครในคัมภีร์ที่มีประเด็นคล้ายๆ กับเรามาอ่าน หรือการสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงอย่างแมว เหล่านี้ก็สามารถทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยวได้ เห็นมาหลายคนเลยที่เป็นโรคซึมเศร้าแล้วรู้สึกดีขึ้นมากเมื่อได้เลี้ยงแมว อาจเพราะไม่เพียงมันให้ความเป็นเพื่อนแต่มันยังทำให้เรารู้สึกมีค่า มีความหมาย ได้รับการยอมรับ ได้รับความรัก ฯลฯ ด้วย
- วิธีการเกี่ยวกับร่างกายและการรับรู้ทางประสาทสัมผัส เช่น ออกกำลังกาย จัดห้องแล้วคุมโทนให้มีสีสันและกลิ่นที่เราชอบ อาจหาน้ำมันหอมระเหยกลิ่นวานิลา กลิ่น มินท์ กลิ่นคาปูชิโน กลิ่นลาเวนเดอร์ กลิ่นสายฝน ฯลฯ อะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกดีมาวางไว้ในห้อง ซึ่งก็เห็นว่าหลายคนที่ซึมเศร้าเมื่อจัดสภาพแวดล้อมของห้องใหม่แล้วก็รู้สึกดีขึ้น
- ลองเปลี่ยนแนวข้อมูลที่เสพบ้าง เช่น จากชอบดูภาพยนตร์แค่แนวไซโคทริลเลอร์ ก็ลองเปลี่ยนมาดูแนวตลกโรแมนติกบ้าง หรือหนังฟีลกู้ดกระแสหลักบ้าง ก็อาจไปเจอวิธีคิดแบบอื่นๆ ทำให้ไม่รู้สึกว่าชีวิตเป็นทางตัน
เห็นไหมว่า กัลยาณมิตรที่ทำให้ช่วยปลดล็อคเราจากความทุกข์ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเท่านั้น คุณไม่ใช่ความผิดพลาดของจักรวาลและไม่ได้ดำรงอยู่แต่เพียงผู้เดียวนะ