Skip to content
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Education trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skills
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
Relationship
28 February 2022

Friends Can Break Your Heart Too: บทเรียนหัวใจสลาย บางครั้งคนใจร้ายก็คือ ‘มิตร’

เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย

  • เมื่อพูดถึงอาการ ‘อกหัก’ เชื่อว่าหลายคนคงนึกคิดไปในทางเดียวกันว่าอาการดังกล่าวเกิดจากความผิดหรือพลาดหวังจากความสัมพันธ์หนึ่งอย่างรุนแรง ซึ่งโดยมากก็มักจะเป็นความสัมพันธ์ฉันท์คู่รัก 
  • แต่เราต่างรู้ดีว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สามารถหักอกเราได้อย่างเจ็บปวด แม้จะไม่ได้เป็นอะไรกันในทำนองนั้น คนที่เราไว้ใจเล่าเรื่องต่างๆ ทั้งดีและร้ายให้ฟัง ซึ่งระดับความไว้ใจนั้นอาจมากพอๆ กัน(หรือมากกว่า!) กับแฟน คนที่ถ้าหากว่าเราเลิกรากับแฟนแล้วเราก็ยังมีพวกเขาอยู่ คนที่เราเรียกว่า “เพื่อน”
  • แน่นอนว่าในความสัมพันธ์ การกระทบกระทั่งกันถือเป็นเรื่องสามัญธรรมดาที่เกิดขึ้นได้เสมอ และอาจไม่ใช่ความผิดของใครเลย นอกจากมุมมองหรือความคิดที่แตกต่างกันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งที่รุนแรงก็สามารถนำไปสู่จุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ได้ 

สำหรับชาวฮอร์โมนพุ่งพล่านที่นอกจากจะรับบทเป็นวัยรุ่นวุ่นรักแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่โดดเด่นไม่แพ้เรื่องรักใคร่คือเรื่องพฤติกรรมไหลตามกันของกลุ่มเพื่อน ดังที่เขาว่ากันว่า “ช่วงวัยรุ่น เพื่อนจะมีอิทธิพลต่อเรามาก” ซึ่งแม้จะไม่รู้ว่า ‘เขา’ ที่ว่านี้เป็นใคร แต่ดูเหมือนว่าคำพูดของเขาจะไม่ผิดไปจากความจริงเท่าไรนัก เพราะจากประสบการณ์ของทุกคน เชื่อว่าหลายคนต้องเคยทำอะไรตามเพื่อนไม่มากก็น้อย 

การไหลตามกันนี้สะท้อนให้เห็นว่าจิตใจของเหล่าวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะผูกติดกับผองเพื่อน พฤติกรรมนี้มีที่มาจากการที่ครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันแรกที่หล่อหลอมเด็กในการเติบโต มีช่องว่างระหว่างอายุมาก ทำให้หลายต่อหลายครั้งมุมมองที่มีต่อปัญหาเดียวกันแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่เข้าใจกัน วัยรุ่นจึงเลือกที่จะหันไปพูดคุยกับเพื่อนในช่วงวัยใกล้เคียงกันและให้เพื่อนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจต่างๆ ในชีวิตแทน

อย่างไรก็ตาม การรักษาความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนก็ไม่ง่ายนัก เมื่อเราบอกคนอื่นๆ ว่าเราเลิกกับแฟน เป็นเรื่องง่ายที่พวกเขาจะเข้าอกเข้าใจเหตุผล “อ๋อ เขานอกใจ” “เบื่อล่ะสิ หมดรักหมดโปรแล้ว” “เราเข้ากันไม่ได้” เหตุผลเหล่านี้ช่างง่ายดายเหลือเกินในการอธิบายจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ฉันท์คนรัก แต่ถ้าหากต้องอธิบายว่าทำไมถึงเลิกคบกับเพื่อน เหตุผลต่างๆ ก็ดูจะไม่เข้าท่าไปเสียหมด แม้ว่าเพื่อนคนนั้นจะทำให้เสียความรู้สึก แต่ก็ยังเป็นเรื่องประหลาดที่จะเลิกคบกัน

เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ที่โรแมนติก มันง่ายเมื่อหัวใจของเราเข้ามาแทนที่ เราใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในความสัมพันธ์ แต่ในมิตรภาพนั้น เราและเพื่อนต้องเลือกกันเอง ต้องตัดสินใจว่าคนๆ นี้เข้ากันได้ดีกับเรา และเราชอบพวกเขามากพอที่จะเปิดใจ บอกความลับทั้งหมดให้และสามารถพึ่งพา ขอคำแนะนำในการตัดสินใจในชีวิตได้ เรารักเขา และหากสนิทกันมากพอ ครอบครัวของเราก็จะรักเขาด้วยเช่นกัน เขาจึงไม่ใช่เพียงคนรู้จัก ในบางครั้งเขาก็เป็นยิ่งกว่าครอบครัว

‘เพื่อนไม่ใช่แค่คนอีกคน แต่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคุณ’

ผู้คนมักจะมีความคิดว่าการเจ็บปวดเพราะเลิกกับแฟนนั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล ในทางกลับกันการเลิกกับเพื่อนไม่ควรจะเจ็บปวดเท่า เพราะโดยปกติทั่วไปแล้ว เราไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งการไม่ได้มีความสัมพันธ์ในแง่นั้นเท่ากับการไม่ผูกพันลึกซึ้ง แต่ในความจริง แม้การสิ้นสุดทางเพื่อนจะไม่เกี่ยวข้องกับเซ็กซ์ แต่ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างก็รู้สึกไปในทางเดียวกันเมื่อถูกเลิกคบจากเพื่อนว่า “เขาไม่ต้องการฉันอีกต่อไปแล้ว” ซึ่งขัดกับคตินิยมที่มักปรากฏในสื่อทั้งหนังสือและภาพยนตร์ว่ามิตรภาพจะคงอยู่ตลอดไป

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบไหน การที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกว่า ‘ไม่มีใครต้องการ’ จึงเป็นเรื่องยากและเจ็บปวดสำหรับทุกคน โดยเฉพาะคนที่มีแนวโน้มจะยึดติดกับความสัมพันธ์ เราอาจไม่เคยถูกปลูกฝังให้มองเพื่อนด้วยมุมมองว่า “ฉันหวังว่าเราจะไปด้วยกันได้ดี” เพราะความคิดแบบนั้นใกล้เคียงกับคู่รักมากกว่า แต่มิตรภาพยังคงถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของความสัมพันธ์ – เรายังคงมีปากเสียง มีการผิดใจ ไม่เข้าใจกันในลักษณะเดียวกับความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ 

สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้การเลิกราเป็นเรื่องปกติ เตรียมใจรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ทันตั้งตัว เพราะในจังหวะหนึ่งของชีวิตนั้น เราอาจสิ้นสุดทางเพื่อนได้เสมอ

1. ให้พื้นที่ตัวเองได้เสียใจกับการสูญเสีย

ปล่อยใจให้ตัวเองรู้สึกถึงความเจ็บปวดและความเสียใจ ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด การพยายามที่จะเข้มแข็งไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะแทนที่จะเผชิญหน้ากับความเศร้า เราแค่เก็บฝังมันไว้ในส่วนที่ลึกที่สุดของหัวใจ หากมีอะไรไปกระทบก็อาจระเบิดออกมาได้อีก 

ไม่ใช่เรื่องแย่ที่จะปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเป็นเด็กน้อย อาจจะดูอ่อนแอนิดหน่อย แต่การพูดว่า “ฉันเจ็บปวดและเสียใจที่ต้องสูญเสียเพื่อน” จะให้ผลดีกว่าต่อสุขภาพจิตใจในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า เพราะเมื่อเราต่อสู้ดิ้นรนผ่านจนช่วงเวลานั้นมาได้ เราจะเริ่มถามตัวเองว่าความสัมพันธ์นี้ดีต่อตัวเองแล้วจริงๆ หรือเปล่า เราผูกพันกับคนคนนี้ แล้วเอาการเลิกราไปเปรียบเทียบกับความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์อื่นๆ หรือเปล่า

เราอาจคาดหวังว่าเพื่อนคนหนึ่งจะอยู่กับเราไปนานเหมือนในอุดมคติที่สังคมหล่อหลอม เราจึงเจ็บปวดมากเมื่อต้องสูญเสียใครไป แต่ในเส้นทางชีวิต เรามักทำใครบางคนหล่นหายไประหว่างการเติบโตเป็นธรรมดา

2. ตัดใจ (ถ้าคุณทำได้)

ลองคิดทบทวนว่าอะไรที่ทำให้เราและเพื่อนมาถึงจุดนี้ ลองตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และท้ายสุดแล้วการจบความสัมพันธ์ครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อเราอย่างไรหรือมากขนาดไหน จากนั้นเราอาจลองคุยกับเพื่อน ไม่ใช่เพื่อพยายามเปลี่ยนความคิดหรือเปลี่ยนใจอีกฝ่าย แต่เพื่อให้สามารถตัดใจและมีกำลังใจที่จะเผชิญกับความสูญเสียได้

แต่ถ้ามิตรภาพนั้นจบลงได้ไม่ดี เราอาจจะไม่ได้มีโอกาสปรับความเข้าใจกับเขาแล้ว ก็ให้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ขอโทษ” หากเป็นเราที่ทำผิด ต้องขอโทษไม่ว่าพวกเขาจะตอบกลับหรือไม่ก็ตาม ในขณะเดียวกัน หากเรามองว่าไม่ใช่ความผิดของเราก็ให้ปล่อยใจ ก้าวผ่านความเจ็บปวดด้วยการยอมรับว่ามุมมองของเรากับเขาอาจไปด้วยกันไม่ได้

3. move on! (แบบไม่เป็นวงกลม)

เมื่อเราได้ทบทวนความสัมพันธ์แล้วเราก็จะรักษาเยียวยาหัวใจของเราได้อย่างเหมาะสม ซึ่งในขั้นตอนนี้ เราอาจได้ผ่านการสร้างพื้นที่ให้ตัวเองเสียใจ พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ หรือลบสิ่งต่างๆ ที่ทำให้นึกถึงเพื่อนคนนั้นออกไปแล้ว

เราอาจปรับใจด้วยการขอบคุณเพื่อนคนที่จากไปที่ได้ให้บทเรียน เพราะในทุกการสูญเสีย เราจะเติบโตขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และแน่นอนว่าก่อนการเลิกรา เรากับเพื่อนจะต้องมีประสบการณ์และความทรงจำร่วมกันทั้งดีและไม่ดี การขอบคุณจึงเหมือนเป็นการให้อภัยเพื่อนและให้อภัยตัวเอง ซึ่งอาจบรรเทาความขมขื่นลงได้บ้าง

นอกจากนี้ การออกไปพบกับเพื่อนๆ ที่ยังอยู่เคียงข้างเราก็เป็นทางเลือกที่ดี หรือพาตัวเองไปเจอผู้คนใหม่ๆ ไม่ต้องคาดหวังว่าเราจะเจอเพื่อนแท้เพื่อนตายได้ในชั่วข้ามคืน ค่อยๆ ทำความรู้จักกันไปแล้วให้เวลาช่วยคัดสรร และอย่าลืมเอาใจใส่เพื่อนให้เป็นนิสัย คอยถามไถ่ถึงความเป็นไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ

5. จำไว้ว่าเรายังคู่ควรกับมิตรภาพ

การพบปะผู้คนใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณอายุเกิน 20 ปีแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือต้องไม่ปล่อยให้การสูญเสียเพื่อนคนหนึ่งทำให้คุณรู้สึกไม่คู่ควร

ในช่วงชีวิตทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ผู้คนเปลี่ยนไป พวกเราเติบโตขึ้น พวกเขาอาจกลายเป็นคนที่เราไม่รู้จักหรือเป็นคนที่พวกเขาสาบานว่าจะไม่มีวันเป็น และเราก็เปลี่ยนด้วยในแบบของเราเอง เราอาจจะพร่ำเถียงว่าถ้าเราไม่ทำแบบนั้น ถ้าเพื่อนไม่ทำแบบนี้ ทุกอย่างคงจะเป็นเหมือนเดิม แต่จริงๆ แล้วเรารักษาความสัมพันธ์ให้คงเดิมตลอดไปไม่ได้ เราไม่ได้อายุเท่าเดิมเหมือนครั้งแรกที่เจอเพื่อน ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนตอนนั้น ปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องเรียน เรื่องงาน สังคมจะทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี

การเลิกรากับเพื่อนอาจกลายเป็นอุปสรรคในการหาเพื่อนใหม่สำหรับหลายคน เพราะการยอมรับการสูญเสียและต้องเผชิญกับความรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการนั้นนั้นเป็นเรื่องยาก แต่เราต้องคอยย้ำกับตัวเองว่าเราเองก็ยังคู่ควรกับการมีเพื่อนดีๆ 

สิ่งสำคัญคือ ต้องให้อิสระกับตัวเองและซื่อสัตย์กับความรู้สึก ทำในสิ่งที่เชื่อ เมื่อถึงเวลาก็จะมีแรงดึงดูดคนที่มีความคิดและแนวทางการใช้ชีวิตที่พอดีกับเราเข้ามา สิ่งที่เราทำได้เมื่อต้องเผชิญกับความผิดหวังคือโอบกอดและหวงแหนความทรงจำที่มีค่าเหล่านั้นและเดินหน้าต่อไป 

แม้ว่ามันอาจจะรู้สึกว่าเราจะไม่มีวันเดินหน้าต่อไปได้จากการเลิกรากับเพื่อนสนิท แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจ็บปวดจะบรรเทาลง ขึ้นอยู่กับว่ามิตรภาพจบลงอย่างไร เราอาจจะมองย้อนกลับไปและยิ้มโดยนึกถึงความทรงจำดีๆ ที่เคยมีกับเพื่อนคนนี้ มากกว่าความทรงจำที่รู้สึกขมขื่น

อ้างอิง

Breaking up with a Friend: A Unique Type of Pain

How to get over a friendship breakup 

Tags:

วัยรุ่นความสัมพันธ์เพื่อน

Author:

illustrator

จณิสตา ธนาธรชัย

นัก (ทดลอง) เขียนธรรมดาและนักอ่านวรรณกรรม(ฝึกหัด) ชื่นชอบหนังแอคชั่น เรื่องลี้ลับ และการ์ตูนslam dunk

Related Posts

  • Book
    เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Weaponized-Incompetence-1
    Relationship
    Weaponized Incompetence: ทำไมการ ‘แกล้งทำไม่เป็น’ เพื่อโยนงานให้คนอื่น ถึงเป็นเรื่องท็อกซิกในความสัมพันธ์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Movie
    Skip and loafer: วิธีมองโลกแบบ ‘มิทสึมิจัง’ ใจดีกับตัวเองและคนอื่น

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Juno: การรับมือกับท้องไม่พร้อม และการบอกสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจ(ด้วยตัวเอง)กับครอบครัว

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel