- การถูกหักหลังจาก ‘เพื่อน’ ที่ไว้ใจ ไม่เพียงรู้สึกเจ็บใจหรือเสียความรู้สึกเท่านั้น การสูญเสียความเชื่อใจไปแบบนี้ยังอาจทำให้เรารู้สึกข้องใจตัวเองหรือละอายใจและโทษตัวเองว่า ทำไมจึงมองไม่ออกว่าคนที่คบเป็นเพื่อนสนิทอาจจะทำแบบนี้ได้
- มีคำแนะนำเพื่อใช้รับมือและฟื้นฟูสภาพจิตใจ 7 ข้อด้วยกัน ได้แก่ รับรู้และยอมรับ, แสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา, บอกตัวเองเสมอว่า เราไม่ใช่คนผิด, ดึงเอาความเจ็บปวดมาใช้เป็นพลัง, ค่อยๆ ปรับกิจกรรม, ฝึกให้อภัย และสุดท้ายถามตัวเองว่า เพื่อนคนนั้นจะเลิกคบไปเลยหรือจะยังคบต่อ
- หากเราให้อภัยได้จริง การจะคบกันต่อไปกับคนที่เคยหักหลังเราก็อาจทำได้ แต่ควรต้องวางตัวให้มีขอบเขตชัดเจนและระมัดระวังตัวเอง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง บางคนอาจลดการติดต่อสัมพันธ์ด้วยหรือทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
เวลาเรามีเพื่อนสนิท เราก็วางใจ บ่อยครั้งที่เราเล่าเรื่องที่ส่วนตัวหรือความลับบางอย่างให้ฟัง ซึ่งภายหลังมารู้ว่าเรื่องส่วนตัวหรือความลับนั้นกลับแพร่กระจายไปไกล สำหรับหลายคนความอับอายหรือเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่เท่ากับความเสียใจหรือความเจ็บใจที่ต้องสูญเสียเพื่อนที่ไว้วางใจไป
ในประวัติศาสตร์โลก เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับเพื่อนฝูงเท่านั้น สหายต่างวัยและ ‘ลูกหม้อ’ อย่าง บรูตัสก็หักหลังซีซาร์ที่เคยช่วยเหลือกันมาก่อน สร้างความประหลาดใจให้กับซีซาร์จนถึงกับอุทานเป็นคำพูดสุดท้ายในชีวิตว่า “แกก็ด้วยเรอะ บรูตัส!” เมื่อถูกมีดในมือของบรูตัสปักลงบนตัว
อีกกรณีคลาสสิกที่เอ่ยถึงกันบ่อยก็คือ กรณีของยูดาสที่หักหลังพระเยซูหลังพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระองค์ เพื่อแลกกับเหรียญเงินเพียง 30 เหรียญ
ในทางจิตวิทยา การโดนหักหลังจากบุคคลใกล้ชิดทำนองนี้ มีหลายรูปแบบและผลกระทบก็อาจแบ่งได้เป็นหลายระดับ และในรายที่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงมาก ความเสียหายก็อาจต้องใช้เวลานานมากที่จะซ่อมแซมจิตใจให้กลับมาดีดังเดิม หรือบางครั้ง…อาจจะทำไม่ได้ไปตลอดชีวิตทีเดียว
หากเจาะจงไปที่การหักหลังกันระหว่างมิตรสหาย เราอาจสังเกตเห็นร่องรอยได้จากอะไรบ้าง?
นักจิตวิทยา เอล เมซ (Elle Mace) ได้ให้ข้อสังเกตว่า การหักหลังกันอาจมีได้หลายรูปแบบ แต่โดยรวมๆ มักเกี่ยวข้องกับความเชื่อใจกันในแบบใดแบบหนึ่ง [1]
โดยอาจดูร่องรอยได้จากการเอาข้อมูลความลับที่แบ่งกันไปโพนทะนาหรือส่งต่ออย่างไม่สมควร การสร้างข่าวปลอมหรือปล่อยข่าวลือที่ไม่จริง การไม่รักษาสัญญาบางอย่างที่ให้กันไว้ การโกหกกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโกหกกันในเรื่องที่บางคนถือว่าคอขาดบาดตายทีเดียว เช่น การตีท้ายครัว แอบกิ๊กกับแฟนที่คบหากันอยู่หรือสามีภรรยาของเพื่อน ในขณะที่อีกรูปแบบที่สุดขั้วเช่นกันคือ การแอบขโมยหรือทำลายข้าวของของเพื่อน และแม้แต่การนิ่งดูดายและไม่ให้ความช่วยเหลือกันที่เพื่อนตกอยู่ในความลำบาก ทั้งที่อยู่ในวิสัยทำได้
จะเห็นได้ว่าทั้งหมดที่ว่ามามีส่วนคล้ายกันคือ ถือเป็นการบั่นทอนความเชื่อใจและทำลายมิตรภาพที่มีต่อกันทั้งสิ้น
หลังจากโดนเพื่อนเล่นงานเข้าให้แบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้เป็น ‘เหยื่อ’ บ้าง?
เรื่องที่แน่นอนคือ ทุกคนต้องรู้สึก ‘เจ็บ’ มากหากโดนเข้าแบบนี้ แต่ไม่เพียงเท่านั้น การสูญเสียความเชื่อใจไปแบบนี้ยังอาจทำให้เรารู้สึกข้องใจตัวเองหรือลามไปไกลถึงขนาดทำให้รู้สึกละอายใจและโทษตัวเองว่า ทำไมจึงมองไม่ออกว่าคนที่คบเป็นเพื่อนสนิทอาจจะทำแบบนี้ได้
ความรู้สึกเจ็บปวดแบบนี้อาจยืดยาวนานหลายปีและทำให้เสียสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก แม้ความทรงจำเรื่องการถูกหักหลังอาจจะค่อยๆ ลดความรุนแรงหรือเลือนหายไปเรื่อยตามวันเวลาที่ผ่านไป แต่ในรายที่เกิดผลกระทบรุนแรงมากจนสูญเสียความเชื่อใจคนอื่นไป อาจเกิดอาการต่างๆ ทางกายและใจได้แตกต่างกันอย่างมากมายดังนี้
หลายคนจะรับรู้ได้ถึงผลกระทบทางใจ เช่น รู้สึกเครียด กระวนกระวายใจ ในรายที่หนักหนาสาหัสมากอาจรู้สึกโศกเศร้า ซึมเศร้า สิ้นหวัง และลดความภาคภูมิใจหรือความเคารพตัวเองลง
อีกรูปแบบหนึ่งของผลกระทบทางใจคือ กลายเป็นคนที่เชื่อใจคนยาก สร้างมิตรภาพใหม่ๆ กับเพื่อนใหม่ยาก หรือหนักกว่านั้นคือเกิดอาการหวาดระแวงคนอื่นไปทั่ว และในรายที่หนักขึ้นไปอีกอาจไปถึงขั้นป่วยเป็น PTSD (Post-traumatic stress disorder) เกิดภาพความทรงจำเลวร้ายกลับมาหลอกหลอนซ้ำๆ ไม่อาจสลัดออกจากหัวได้ และอาจลามไปจนเกิดอาการป่วยทางกายตามมา ไม่ว่าจะปวดหัว ปวดท้อง รู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนเสมอๆ ไปจนถึงอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง หรืออาการแบบอื่นๆ อีกมาก
คำถามสำคัญคือ เราจะ ‘ก้าวผ่าน’ ปัญหาและความเจ็บปวดเหล่านี้ไปได้อย่างไร?
นักจิตบำบัด แดเนียล บารอน (Danielle Baron) ชี้ว่าในตอนแรกสุด คนที่ประสบพบเหตุการณ์เช่นนั้นก็มักจะโกรธเกรี้ยวและช็อก จากนั้นก็ตามมาด้วยความกลัวและกังวลใจเกี่ยวกับอนาคต รวมไปถึงการรู้สึกผิดและตำหนิตัวเอง จากนั้นจึงตามมาด้วยความโศกเศร้าเสียใจ การยอมรับสภาพความจริง แล้วจึงเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวจากเหตุการณ์ในที่สุด [1]
ทั้งหมดนี้ก็คล้ายกับผลจากความสูญเสียทุกรูปแบบนั่นเอง
มีคำแนะนำเพื่อใช้รับมือและฟื้นฟูสภาพจิตใจบ้างหรือไม่?
มีรวม 7 ข้อด้วยกันครับ ข้อแรกได้แก่การรับรู้และยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องจริง ค่อยๆ ให้เวลาปลอบโยนความรู้สึกเจ็บปวดจนค่อยๆ เลือนหายไปเอง อาจใช้การเขียนบันทึกหรือแม้แต่พูดกับตัวเองหน้ากระจก การรับรู้และยอมรับทำให้ประสบการณ์นี้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ประการต่อมาคือ หากรับมือคนเดียวไม่ไหว ลองมองหาเพื่อนสนิทคนอื่นหรือคนในครอบครัวที่เชื่อใจได้ หรือแม้แต่ไปรับการรักษาจากแพทย์หรือนักบำบัด การแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาจะทำให้รู้สึกเปล่าเปลี่ยวหรือโดดเดี่ยวลดน้อยลง และยังช่วยให้เราได้มุมมองใหม่ๆ จากคำแนะนำต่างๆ ที่ได้รับฟัง
การเล่าให้คนที่ไม่อยู่ในเหตุการณ์หรือไม่เกี่ยวข้องด้วย ช่วยแบ่งเบาความทุกข์และปลดปล่อยเราจากความเจ็บปวดได้ในหลายกรณี
ในขณะเดียวกันก็ต้องบอกกับตัวเองเสมอว่า เราไม่ใช่คนผิด แต่เป็นคนรับเคราะห์จากการกระทำผิดของคนอื่นต่างหาก การตอบสนองทำได้ทั้งสองทาง การเข้าสังคมให้มากขึ้นก็อาจช่วยได้หรือแม้แต่หากต้องการเก็บตัวก็ทำได้เช่นกันแล้วแต่จริตของเรา แต่ขอให้เลือกใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น ไปนวดคลายเส้นหรือไปฝึกทำสมาธิ เล่นโยคะ ก็สามารถช่วยลดความเครียดและความฟุ้งซ่านของจิตใจได้
อีกวิธีหนึ่งคือ การดึงเอาความเจ็บปวดมาใช้เป็นพลัง บางคนอาจเลือกไปทำกิจกรรมใหม่ที่ต้องใช้พลังอย่างเช่น การหันไปออกกำลังกาย เล่นกีฬาต่างๆ ร้องเพลง ชกมวย กระโดดร่ม หรือหัดเล่นละคร ฝึกการแสดง เล่นดนตรี ตามแต่ความชอบและสนใจ ฯลฯ
คำแนะนำต่อไปคือ ค่อยๆ ปรับกิจกรรม อย่ารีบร้อน การรักษาจิตใจต้องใช้เวลาและเวลาที่ใช้สำหรับแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ให้ดูจังหวะชีวิตของตัวเองให้เหมาะสม ค่อยๆ ปรับความรู้สึกจนกล้าที่จะเชื่อใจคนอื่นอีกครั้ง
เรื่องที่จำเป็นต้องทำอีกเรื่องหนึ่งคือ การฝึกให้อภัย ต้องแยกแยะให้ออกว่า การให้อภัยไม่ได้หมายถึงการลืมเลือนว่าเกิดอะไรขึ้น อันที่จริงแล้วนี่เป็นหนึ่งในกระบวนการและขั้นตอนของการกำจัดความโกรธเกลียดในใจและความไม่พอใจทั้งหลาย ซึ่งเป็นประโยชน์กับตัวเราเอง และเป็นการทำเพื่อตัวเราเอง ไม่ใช่เพื่อคนที่เราอภัยให้
ข้อสุดท้าย เพื่อนที่ทำร้ายเรานั้น เราจะทำอย่างไรกับเขาหรือเธอดี? จะเลิกคบไปเลยหรือจะยังคบต่อ กรณีหลังนี้จะทำได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจจริงหรือ?
คำแนะนำอย่างกว้างๆ คือ นี่เป็นทางเลือกที่คุณต้องเลือกเอง หากเราให้อภัยเพื่อนคนนั้นได้จริง การจะคบกันต่อไปกับคนที่เคยหักหลังเราก็อาจทำได้ แต่ควรต้องวางตัวให้มีขอบเขตชัดเจนและระมัดระวังตัวเอง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง บางคนอาจลดการติดต่อสัมพันธ์ด้วยหรือทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
เรื่องสำคัญที่สุดน่าจะเป็นว่า เราสามารถกลับมารักษา ‘ความปกติสุข’ ของจิตใจและก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ไม่กักขังตัวเองไว้กับความเจ็บปวดในอดีตได้ดีเพียงใด
เอกสารอ้างอิง
[1] Faye Smith (2024) Friends ‘til The End? Psychology Now, vol. 8, pp. 30-33