- แม้โรคซึมเศร้าจะถูกพูดถึงมากในปัจจุบัน แต่ส่วนใหญ่พูดในเชิงการแพทย์ การรักษา ซึ่งอีกมุมหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท – นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล แห่ง Eyedropper fill อยากจะสื่อสารก็คือ การพาคนไปฟังเสียงในใจของคนที่เผชิญกับภาวะนั้นจริงๆ และสืบหาไปพร้อมๆ กันว่าอะไรคือรากที่ทำให้พวกเขากลายเป็นเขาอย่างทุกวันนี้
- ภายใต้คำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องปัจเจก แต่เป็นร่องรอยของการเติบโต ภูมิหลังของครอบครัว สังคม ความสัมพันธ์หรือเศรษฐกิจ ทุกอย่างล้วนผลักไสให้คนที่กำลังป่วยใจมายืนอยู่ตรงนี้ ในจุดที่เป็นโรคซึมเศร้า
- สิ่งที่ Eyedropper fill อยากจะสื่อสารให้ลึกที่สุดนั่นคือ empathy ไม่ใช่ empathy คนอื่นอย่างเดียว แต่ self-empathy ด้วยว่าตัวเรานั้นเป็นอย่างไร ต้องการอะไร ฟังเสียงของตัวเองบ้าง ไม่เช่นนั้นเราเองนี่แหละที่จะป่วยใจไปอีกคน
เมื่อพูดถึงความเจ็บป่วยทางใจหรือปัญหาสุขภาพจิต หนึ่งในกลุ่มอาการที่คนมักตกหลุมพรางกันคงหนีไม่พ้น ‘โรคซึมเศร้า (Depression)’ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคจิตเวชที่ถูกระบุว่าเกิดจากสารเคมีในสมอง และวิธีการรักษาพื้นฐานก็คือการใช้ยา
แต่หากลองตั้งคำถามกลับไปว่า ทำไมกันนะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าถึงกลายเป็นพวกเขาในเวอร์ชันนั้น? แล้วพวกเขาเป็นแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไรกัน? เบสท์ – วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ นัท – นันทวัฒน์ จรัสเรืองนิล สอง CEO แห่ง Eyedropper fill ชวนสืบหาต้นสายปลายเหตุที่ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกอีกต่อไป รวมถึงเป็นกระจกสะท้อนให้เราหันกลับมามองจิตใจตัวเอง ผ่านโปรเจกต์ Conne(x)t ‘โลก’ ซึมเศร้า ด้วยความตั้งใจอยากเชื่อมโลกของเรากับคนข้างๆ ที่ซึมเศร้า ให้ทั้งเราและเขามี self-awareness ในตัวเอง โดยใช้รูปแบบภาพยนตร์สารคดีแบบจัดวาง (Immersive Documentary) เล่าเรื่องจากภาพถ่ายของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าในมุมมองของ 3 คน 3 ช่วงวัย กับ ‘Mental-Verse จักรวาลใจ’ ภายใต้งาน Bangkok Design Week 2022 ที่ผ่านมา
เพราะ Mental Health หรือ สุขภาพจิต สุขภาพใจ เป็นเรื่องที่เร่งด่วนที่ต้องใส่ใจพอๆ กับปากท้อง
แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องราวของ Mental Health ขอแนะนำ Eyedropper Fill พอสังเขป ซึ่งหลายคนอาจคุ้นชื่อกันมาบ้างกับผลงาน School Town King หนังสารคดีที่สะท้อนปัญหาเรื่องโอกาสในการศึกษา และคุณภาพชีวิตของเด็กคลองเตย
“เรานิยามตัวเองว่าเป็นนักออกแบบสหศาสตร์ หรือว่า multidisciplinary design studio ที่อยากจะสร้างโซลูชั่น เหมือนเป็นสะพานที่จะเชื่อมต่อให้คนหมู่มากเข้าใจคนหมู่น้อย รวมไปถึงเรื่อง social issues ต่างๆ ที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ โดยใช้การออกแบบสื่อ ภาพเคลื่อนไหว นิทรรศการต่างๆ ในการนำเสนอผลงาน” นัท หนึ่งใน CEO เอ่ยถึง Eyedropper fill
วัฒนธรรมครอบครัวประตูบานแรกของ ‘โรคซึมเศร้า’
เราต่างเติบโตมาในครอบครัวที่แตกต่างกัน รวมถึงช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านตามยุคสมัย ความผันผวนของเศรษฐกิจ และสังคมที่นิยามความสำเร็จว่าคือ เงินทอง หรือ การศึกษาระดับสูง
‘It’s okay not to be perfect’
มัน ‘โอเค’ ที่จะบอกว่า ‘ไม่โอเค’
สังคมไทย ‘ชายเป็นใหญ่’
นี่คือสิ่งที่ 3 คน 3 วัย (Gen Z, Gen Y และเบบี้บูมเมอร์) สะท้อนปัญหาของตัวเองออกมา ซึ่งภายใต้คำว่า ‘โรคซึมเศร้า’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องปัจเจก แต่เป็นร่องรอยของการเติบโต ภูมิหลังของครอบครัว สังคม ความสัมพันธ์หรือเศรษฐกิจ ทุกอย่างล้วนผลักไสให้คนที่กำลังป่วยใจมายืนอยู่ตรงนี้ ในจุดที่เป็นโรคซึมเศร้า
“โรคซึมเศร้ามันควรจะเชื่อมไปสู่ประเด็นสังคมด้วย แต่เราไม่ได้ล็อกว่าสังคมแบบไหนที่ทำให้คนเหล่านี้เป็นซึมเศร้า เราใช้โปรเจกต์จักรวาลใจเป็นยานอวกาศในการเดินไปสู่จักรวาลนี้ไปพร้อมกัน ซึ่งสิ่งที่ทั้ง 3 คนสะท้อนมาคือ ‘วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่’ มีปัญหากับพวกเขา อย่างมินนี่เกิดปี 40 คุณพ่อเขาโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างลำบาก เป็นลูกคนจีนแล้วก็ต้องดิ้นรนในยุคนั้น ต้องดูแลทั้งครอบครัว แล้วก็คาดหวังให้ลูกต้องสมบูรณ์แบบ ต้องไม่แพ้ และไม่ได้ซัพพอร์ท แต่เป็นการออกคำสั่ง ถ้าไม่ได้ตามนั้นจะโดนลงโทษทางวาจา ซึ่งทุกคนมีปมเรื่องพ่อหมดเลย” เบสท์ เล่า
ตลอดเวลาการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง ในครอบครัวลักษณะนี้หรือในสังคมเช่นนี้ ตอกย้ำว่าเขาต้องอยู่รอดอย่างเดียว ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอสักที คำชมไม่ใช่สิ่งที่จะผลักดันให้ก้าวต่อไป แต่คำก่นด่าต่างหากที่จะทำให้คนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จได้
หรือจะเป็น ‘ฝัน’ ที่มีคุณพ่อเป็นครู และใช้วิธีการออกคำสั่งในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงแม่นี แม่ของเบสท์เอง ที่ใช้ชีวิตคู่ในครอบครัวชายเป็นใหญ่และค่อนข้างเผด็จการ ถูกสอนด้วยค่านิยมในสังคมว่า ผู้หญิงต้องเป็นกุลสตรี เชื่อฟังสามี หรือกระทั่งต้องกราบเท้าก่อนนอน สะท้อนถึงสถาบันครอบครัวที่ล้มเหลว วัฒนธรรมเช่นนี้แฝงอยู่ในทุกๆ มิติของสังคม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนหรือสังคมที่เราอยู่ในปัจจุบัน
“แม่นีเองก็เพิ่งจะเข้าใจจริงๆ ว่า สิทธิของตัวเองอยู่ตรงไหน ถ้าไม่รักกันแล้ว ไม่โอเคกันแล้วเราก็แบ่งสเปซกันได้ หรือการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีแล้วไม่กล้าหย่า อยากจะให้ลูกได้อะไรครบ แต่สุดท้ายแล้ว toxic relation ที่เกิดขึ้นมันมีสิ่งอื่นๆ ด้วย ทั้งการไฟต์กัน มันก็กระทบลูกอีก ตรงนี้ก็จะเห็นมิติชัดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องปิตาธิปไตยหรือว่าชายเป็นใหญ่อย่างเดียว” นัทเสริม
เพราะสังคมป่วยๆ ทำให้เราป่วยใจ
ในมุมมองของเบสท์นั้น ปัญหาสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้า นอกจากสะท้อนสถาบันครอบครัวแล้ว เราต้องมองถึงสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ด้วย
“เราว่ามันเป็นสังคมที่กดทับผู้คน เป็นสังคมที่ powerless ทำให้เรารู้สึกว่าไร้ซึ่งอำนาจในตัวเอง อยู่ในบริษัทที่เจ้านายไม่ฟังลูกน้อง อยู่ในความสัมพันธ์ที่อีกคนนึงกดอีกคนนึง อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่บอกให้ลูกต้องเป็นแบบนี้ๆ โรงเรียนให้ท่องค่านิยมให้เราต้องเป็นตามนั้น อยู่ในสังคมที่มันไม่ empower เรื่องวอยซ์เลย
นั่นแหละมันเลยทำให้มนุษย์เกิดสภาวะของการไร้ซึ่งอำนาจในตัวเอง ไม่มีความสามารถที่จะรู้สึกว่าตัวเองดีพอ”
“รวมไปถึงเศรษฐกิจปัจจุบันด้วย ถ้าพูดว่าความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่นมันไม่จริง เพราะต่อให้เราพยายามขนาดไหนในประเทศนี้ที่มันมีเพดานชัดเจน ซึ่งเราคิดว่านั่นแหละมันไปเชื่อมประเด็นสังคมในแบบที่มันไม่ empower แม้กระทั่งอำนาจหรือพลังที่จะรักตัวเองยังไม่มีเลย เพราะเราไม่ได้ถูกปลูกฝัง ทำให้เราเหมือนกับถูกกดขี่แบบนึง”
“ซึ่งคนไทยจริงๆ ถูกกดขี่หลายรูปแบบ ครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง ที่แบบมันกระทำเราในทุกๆ มิติ แล้วสุดท้ายสิ่งที่เราเห็นบนยอดภูเขาน้ำแข็งคือความป่วยไข้ที่เป็นโรค จริงๆ แล้วภายใต้โรคถ้าค่อยๆ สืบลึกลงไป 3 สเต็ป หนึ่ง Biology อะไรที่ทำให้เกิดโรคบ้าง เช่น นอนไม่พอ แล้วเรานอนไม่พอเกิดจากอะไร เกิดจากเศรษฐกิจที่กำลังแย่ โควิด-19 การไม่มี wellbeing ไม่มี work life balance เพราะต้องใช้งานร่างกายอย่างหนัก แลกกับการอยู่รอดในสังคมนี้ ลึกลงไปอีกสเต็ปหนึ่งคือ mental มันทำอะไร เริ่มรู้สึกแย่ หดหู่ ลึกลงไปอีกเป็นเรื่องของสังคมหรือปัจจัยครอบครัวที่ผลักให้เขาเป็นอย่างนี้”
Self-awareness คือทางออกสำหรับปัญหาสุขภาพจิตของคนในสังคม
“เรามองว่าสังคมในประเทศที่เราโตมา มันไม่มี empathy มันเหมือนคนไทยมีน้ำใจ แต่ empathy ไม่ใช่การมีน้ำใจอย่างเดียว มันเป็นเรื่องของระบบที่มันไม่ได้ empathy เรา มันสั่งเราอย่างเดียว ไม่เคยถามเราด้วยซ้ำว่าเราต้องการอะไร ระบบการศึกษาก็ไม่เคยถามเรา ก็เลยคิดว่าลึกที่สุดเราอยากจะสร้าง empathic society สังคมที่เห็นใจกัน เราก็ไม่ได้หวังว่าจะไปกระทำกับผู้นำอย่างเดียว เรามองว่าคนที่มาดูงานซึ่งทำโพลออกมาแล้วเป็นเด็กประมาณ 18-30 ต้นๆ คนพวกนี้อนาคตเขากำลังจะโตไปเป็นคนที่สร้างสังคมให้กับเราอยู่ ถ้าเราหยอด เราเรียกว่ามันเป็นยาเข้าไปเยอะๆ มันก็อาจจะทำให้ในวันหนึ่งเราได้อยู่ในสังคมที่มีคนที่มีมายเซ็ตนี้อยู่ เขาไม่ลืมคลองเตย ไม่ลืมคนที่เป็นโรคซึมเศร้า” เบสท์พูดถึงโซลูชั่นแรกที่ค้นพบจากการทำโปรเจกต์จักรวาลใจครั้งนี้
“จะเห็นได้ว่าโซลูชั่นมีแต่ฝั่งเยียวยา ไม่มีฝั่งรักษา เพราะว่าถ้ารักษาได้มันต้องคนที่สามารถทำได้จริงๆ คนที่เปลี่ยน แล้วพลังของคนที่เราทำให้เข้าใจนี่แหละน่าจะเป็นจุดนึงที่ทำให้เปลี่ยนได้ แต่เราก็อาจจะไม่ได้มองเป็นโซลูชั่นในการรักษาทุกอย่าง ให้โลกทุกคนมันสดใสกว่านี้ มันก็อาจจะทำไม่ได้ แต่เป็นการให้เข้าใจ โซลูชั่นคือการเข้าใจกัน และก็เยียวยาตัวเอง นั่นแปลว่าปัญหามันไม่หายไปหรอก” นัท แสดงความเห็น
อย่างไรก็ตาม แม้การจัดแสดงภาพยนตร์ mental-verse จักรวาลใจ จะจบลงไปแล้ว แต่ข่าวดีคือในเดือนเมษายนนี้ Eyedropper fill จะมีการนำมาจัดแสดงใหม่อีกครั้ง ในพื้นที่ออนกราวด์
“ซึ่งก็จะมีกิจกรรมอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ดูหนังเสร็จแล้วจบ เราอาจจะมีปาร์ตี้ อาจจะมีไลฟ์มิวสิก หรืออาจจะมีงาน collaborate เพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ เพราะจากที่สังเกตเวลาดูจบเห็นคนเดินออกมา บางคนก็ดูเครียด บางคนก็โอเคนิ่งๆ เดินออกไป เราก็แอบจะอยากมี intermission ที่จะจบจากงานแล้วออกไปข้างนอก อาจจะมีสันทนาการเข้ามาอีกหน่อยนึง” นัท เล่า
“อีกส่วนที่เราอยากทำต่อคือ mental-verse 2 หลังจากที่เราค้นพบสามคนนี้แล้วเราจะทำอีกสี่คน เป็นผู้ชายล้วนเลย เป็น mental-verse ที่เป็น men ผู้ชาย เพราะเราก็ค้นพบว่า จากสถิติการเป็นโรคซึมเศร้าที่บอกว่าผู้ชายเป็นน้อยกว่าผู้หญิง แต่จริงๆ เราว่าไม่ อัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิงเยอะเลย แสดงว่าช่องว่างตรงนี้คืออะไร เราอยากให้โปรเจกต์นี้พาทีมงานเข้าไปเข้าใจ เราว่าสุดท้ายมันเป็นเรื่องวัฒนธรรมแหละที่เป็นเหมือนกับผู้ชายห้ามร้องไห้ ผู้ชายห้ามอ่อนแอ ต้องเป็นผู้นำ ซึ่งสุดท้ายมันก็ทำร้ายผู้ชาย แล้วก็ไปแสดงออกด้วยการกินเหล้า ทำร้ายร่างกาย domestic violence หรือความรุนแรงในครอบครัว หรือว่าแสดงความโกรธเกรี้ยวต่อลูก เราว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่เราได้เรียนรู้” เบสท์ เสริม
ไม่ว่าจะ Conne(x)t Klongtoey หรือ Conne(x)t ‘โลก’ ซึมเศร้า สิ่งที่ Eyedropper fill อยากจะสื่อสารให้ลึกที่สุดนั่นคือ empathy ไม่ใช่ empathy คนอื่นอย่างเดียว แต่ self-empathy ด้วยว่าตัวเรานั้นเป็นอย่างไร ต้องการอะไร ฟังเสียงของตัวเองบ้าง ไม่เช่นนั้นเราเองนี่แหละที่จะป่วยใจไปอีกคน