- หากคุณมีคำถามลอยเข้ามาในหัวว่า “ฉันเกิดมาเพื่ออะไร” “ชีวิตมีความหมายอะไร” “ถ้าฉันตายไปแล้วจะมีอะไรต่างไปหรือ” และเกิดความทุกข์หนักเพราะตอบคำถามนี้ไม่ได้ นั่นคือกำลังตกอยู่ใน ‘วิกฤตของการมีตัวตน (Existential Crisis)’ หากเรื้อรังเข้าก็อาจจบด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีเหตุผลหรือคุณค่าใดๆ ที่ควรจะให้ตนทนใช้ชีวิตต่อไป
- ไม่ว่าจะงานหรือความสัมพันธ์อาจเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ถือเป็นคุณค่าหลักๆ ของชีวิต แต่ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องคิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือคุณค่าของชีวิต ประเด็นสำคัญคือการหาเป้าหมายและสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ชีวิตของตนให้ได้
- บางคนที่รู้สึกว่าชีวิตไร้ซึ่งความหมายและคุณค่า หมดศรัทธากับสิ่งที่เคยเชื่อว่ามันคือความหมายของชีวิต แนวทางของปรัชญา Existentialism ที่บอกว่าทุกคนต้องตามหาความหมายด้วยตนเอง ไม่มีความหมายใดที่ถูกหรือไม่ผิด ไม่มีคุณค่าใดที่ตายตัว อาจจะเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือได้ดีกว่า
ใครๆ ก็คงมีคำถามที่ติดค้างคาใจตอบตัวเองไม่ได้เสียทีกันอยู่บ้าง หรือที่เรียกกันว่า ‘ปัญหาโลกแตก’ ที่คงไม่มีใครตอบได้ วันนี้ผมจะมาชวนพูดถึงปัญหาโลกแตกอีกคำถามหนึ่งที่ อาลแบร์ กามูว์ นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่า
“มีคำถามทางปรัชญาหนึ่งเดียวเท่านั้นที่เป็นคำถามที่จริงจังมาก และนั่นคือเรื่องการฆ่าตัวตาย การตัดสินว่าชีวิตควรค่าแก่การอยู่ต่อหรือไม่นั้นมีค่าเท่ากับการตอบคำถามปรัชญารากฐาน”
กามูว์พยายามเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของคำถามว่า “ฉันจะอยู่เพื่ออะไร” หรือ “จะมีชีวิตต่อไปทำไม” เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดแล้วของปรัชญา เพราะถ้ามนุษย์เราตอบคำถามนี้ไม่ได้ มนุษย์ก็อาจจะไม่มีเหตุผลที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปในโลก และอาจจะตัดสินใจจบชีวิตไปก่อนที่จะได้ตั้งคำถามอื่นๆ ด้วยซ้ำ
คำถามนี้บางคนก็คิดว่าเป็นแค่คำถามที่ไม่รู้จะคิดไปทำไมให้เสียเวลา บางคนก็คิดหาคำตอบจริงจัง บางคนถึงขั้นที่หมกมุ่นกับการที่ตอบคำถามนี้ไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ชีวิตนี้มีค่าอะไรกัน และตามมาด้วยความเศร้า สิ้นหวัง หรือวิตกกังวลจนชีวิตถึงขั้นวิกฤต และวิกฤตนี้มีชื่อว่า ‘Existential Crisis’ ชื่อนี้อาจจะพอคุ้นๆ หูหากท่านเคยอ่านนิยาย ดูภาพยนตร์หรือซีรีส์ของตะวันตก หรืออ่านบทความเกี่ยวกับสังคมและสุขภาพจิตเป็นภาษาอังกฤษ ในสังคมไทยไม่ค่อยมีคนแปลชื่อวิกฤตนี้นัก แต่อาจจะพอเรียกได้ว่า ‘วิกฤตของการมีตัวตน’ วิกฤตนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและพบได้บ่อยมากๆ ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมไหน และเกิดกับคนทุกวัยที่จะมีคำถามลอยเข้ามาในหัวว่า “ฉันเกิดมาเพื่ออะไร” “ชีวิตมีความหมายอะไร” “ถ้าฉันตายไปแล้วจะมีอะไรต่างไปหรือ” และเมื่อใดที่เกิดความทุกข์อย่างสาหัสเพราะตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ นั่นคือกำลังตกอยู่ในวิกฤตดังกล่าว ที่วันนี้ผมมาชวนคุยเรื่อง Existential Crisis ไม่ใช่เพราะว่าคำนี้มันดูน่าสนใจเท่านั้นนะครับ แต่เพราะปัญหาการฆ่าตัวตายนั้นเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงในสังคมขึ้นทุกวัน ผมเลยขอชวนท่านผู้อ่านมาคุยกันว่าแล้วชีวิตนี้อยู่ไปเพื่ออะไรกัน
Existential Crisis เป็นคำที่เกิดมาหลังจากความแพร่หลายของปรัชญา “Existentialism (อัตถิภาวนิยม)” ในสังคมตะวันตก ปรัชญาดังกล่าวศึกษาเกี่ยวกับความหมายของการมีตัวตนของมนุษย์ว่ามีวัตถุประสงค์ใด มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร การมีชีวิตนั้นมีค่าอะไร นักปรัชญา Existentialism ให้ความสำคัญกับหัวข้อการฆ่าตัวตายเป็นพิเศษ เพราะการฆ่าตัวตายเป็นการกระทำที่ย้อนแย้งอย่างยิ่ง เพราะหากความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตมนุษย์ และสิ่งที่มนุษย์กลัวทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมที่ทำให้ตนต้องตายทั้งสิ้น แล้วทำไมมนุษย์บางคนถึงตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อหนีความทุกข์ที่น่ากลัวน้อยกว่า และคำตอบก็คือเพราะการมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีเป้าหมาย ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าชีวิตมีค่าอะไรเป็นเรื่องที่ทุกข์ทรมานแสนสาหัส
มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์ที่มีความคิด และเรามักจะหาเหตุผลว่าเราทำสิ่งต่างๆ ไปเพราะอะไร การมีชีวิตอยู่ต่อไปก็เช่นกัน ทำไมเราถึงต้องมีชีวิตอยู่ต่อ แม้อาจจะฟังดูแปลกสำหรับหลายๆ คนว่าการจะมีชีวิตต่อไปต้องมีเหตุผลด้วยหรือ แต่การจะอยู่ต่อไปอีกหนึ่งวันนั้นกับบางคนแล้วเป็นเรื่องที่หนักหนาพอสมควร บางคนต้องปากกัดตีนถีบเพื่อเอาตัวรอด หรือต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ็บป่วยทางกายหรือใจ และนั่นก็มักจะนำไปสู่การถามถึงความหมายของการมีชีวิต ว่าตัวเองจะอยู่ไปทำไม จะทนไปทำไม ชีวิตมีค่าพอกับการให้ทนทุกข์มีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่ และถ้าหากคิดแล้วยังหาความหมายให้ชีวิตไม่ได้ ก็จะตามมาด้วยความรู้สึก ‘โหวง’ ว่างเปล่า ไร้ค่า ไม่มีทิศทางที่จะเดินต่อไป และหากวิกฤตดังกล่าวเรื้อรังเข้า ก็อาจจะจบด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีเหตุผลหรือคุณค่าใดๆ ที่ควรจะให้ตนทนใช้ชีวิตต่อไป
Existential Crisis เกิดได้กับคนหลากหลายวัย แตกต่างจาก ‘Midlife Crisis’ ที่เป็นวิกฤตอีกประเภทที่เราได้ยินบ่อยๆ ซึ่งมักจะเกิดกับวัยกลางคนเป็นหลัก สองอย่างนี้อาจจะฟังดูเป็นวิกฤตเกี่ยวกับคุณค่าในชีวิตคล้ายๆ กัน แต่ก็มีความแตกต่างกันตรง Midlife Crisis จะเน้นเกี่ยวกับภาวะที่ไม่พอใจหรือรู้สึกไม่เพียงพอกับสิ่งที่เป็นอยู่ เช่น ไม่พอใจกับงานที่ทำ ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ หรือความรักก็ดูแห้งแล้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะเห็นชัดเจนตอนวัยกลางคนพอดี (อ่านเพิ่มเติมในบทความ Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต) ส่วน Existential Crisis นั้นจะเน้นเกี่ยวกับการตอบตนเองไม่ได้ถึงคุณค่าของชีวิต และการมีชีวิตต่อ ซึ่งวิกฤตนี้เกิดได้กับคนหลากหลายวัย และรูปแบบของคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิตจะแตกต่างกันไป
ในวัยรุ่นซึ่งเป็นเพิ่งมีอิสระครั้งแรกในชีวิต วัยนี้อาจจะคิดถึงคุณค่าของสิ่งที่ตนเองจะทำในอนาคต หาเป้าหมายและทิศทางให้แก่ชีวิตของตนไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการเรียนต่อ หรือสายอาชีพที่จะทำ หากตอบตัวเองไม่ได้ว่าจะเรียนหรือจะทำอะไรที่ดูแล้วมีค่าในสายตาตนเอง ก็อาจจะไม่มีเป้าหมายชีวิตและเกิดวิกฤตได้ หรือบางคนที่ต้องสูญเสียคนรอบตัวไปอย่างกะทันหัน โดยเฉพาะบุคคลที่จากไปก่อนวัยอันควร อาจทำให้เห็นว่าชีวิตของมนุษย์นั้นเปราะบางและสูญเสียไปง่ายเพียงใด และทำให้ต้องคิดถึงความหมายของชีวิตที่อาจจะสั้นอย่างคาดไม่ถึง
ในวัยผู้ใหญ่จะเริ่มคิดถึงว่างานหรือสิ่งต่างๆ ที่ตนทำในปัจจุบันมีค่าหรือไม่ รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่ อย่างเช่นความสัมพันธ์นั้นมีความหมายใดๆ กับชีวิต ครอบครัวหรืองานคือคำตอบให้ตนเองมีชีวิตอยู่ต่อไปจริงหรือ บางคนอาจจะต้องตัดสินใจเผชิญหน้ากับเพศวิถีของตนเองว่าตนควรจะต้องมีชีวิตในแบบเพศใด หรือมีคู่รักเป็นเพศใดที่จะทำให้ตนรู้สึกว่าตัวเองและความรักมีค่า หรือหากต้องอยู่เป็นโสดและไม่มีครอบครัวแล้วจะมีสิ่งใดที่ถือเป็นความหมายของชีวิต
ในบั้นปลายชีวิต วัยที่ต้องเริ่มเผชิญหน้ากับความตายที่ใกล้เข้ามา คนมักจะนึกถึงคุณค่าของอดีตที่ตนใช้ชีวิตผ่านมา สิ่งที่ตนเองเคยทำในชีวิตนี้มีค่าเพียงใด ได้ทำอะไรที่มีความหมายเหลือไว้ให้โลกหรือคนรุ่นหลังหรือไม่ การที่ใช้ชีวิตมาจนแก่ชรามีความหมายใดๆ แม้แต่ละวัยคำถามอาจจะมาในรูปแบบต่างกัน แต่โดยหลักๆ แล้ว Existential Crisis จะเกิดขึ้นหากตอบคำถามที่ทำให้ตัวเองมีคุณค่าไม่ได้ หรือหาเป้าหมายของชีวิตไม่ได้
จริงๆ แล้วเรื่องการหาคุณค่าของชีวิตนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมมนุษย์ครับ ปรัชญาเก่าแก่ที่ตอบคำถามเรื่องนี้ที่เราคุ้นเคยกันดีคือศาสนา ซึ่งแต่ละศาสนาก็มักจะมีคำตอบมาว่ามนุษย์นั้นเกิดมาเพื่ออะไร เช่น เกิดมาเพื่อใช้กรรม เพื่อไถ่บาป เพราะพระเจ้ากำหนดให้เกิดมา หรือชีวิตจะมีค่าได้อย่างไร เช่น ต้องทำดี ทำบุญ ทำพิธีกรรม หรือทำสิ่งหนึ่งๆ ที่กำหนดไว้ แต่ในปรัชญาเชิงวิชาการในหัวข้อดังกล่าวเริ่มมามีบทบาทสำคัญในสังคมตะวันตกจนเกิดเป็นชื่อ ‘Existentialism’ ก็คือในช่วงราวๆ กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มมีวรรณกรรมและปรัชญาที่ใคร่ครวญถึงความหมายชีวิต และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความสนใจในแวดวงปรัชญา
จนขึ้นศตวรรษที่ 20 ก็เกิดหนึ่งในเหตุการณ์ที่ใหญ่ที่ส่งผลให้ Existentialism ได้รับความสำคัญก็คือ การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ความตายนั้นใกล้ตัวบุคคลมากเหลือเกิน สงครามสร้างความสูญเสีย โศกเศร้า และความหวาดกลัว นักปรัชญาจำนวนมากในยุโรปได้รับผลกระทบจากการกวาดล้างชาวยิวของนาซี ซึ่งการได้ใกล้ชิดกับความตายของคนรอบตัวหรือการที่ตนเองอาจจะต้องตายในเร็ววัน ทำให้นักปรัชญาหลายๆ คนเริ่มใคร่ครวญถึงความหมายของชีวิต และนั่นเป็นจุดกำเนิดของนักปรัชญาและแนวคิดทาง Existentialism ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก
ตัวอย่างของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง เช่น วิกเตอร์ แฟรงเคิล (1905-1997) จิตแพทย์ชาวยิว-ออสเตรีย ผู้เคยอยู่ในค่ายกักกันของนาซี เขาได้สังเกตสิ่งที่น่าสนใจคือที่ค่ายมีการฆ่าตัวตายสูงมาก ทั้งๆ ที่สักวันผู้ถูกกักกันก็จะถูกฆ่าอยู่ดี ดังนั้นจะชิงลงมือฆ่าตัวตายก่อนทำไม แฟรงเคิลจึงพบว่ามนุษย์เราอยู่ไม่ได้หากอยู่ในภาวะที่ตอบตนเองไม่ได้ว่าชีวิตมีความหมายอะไร ชีวิตในค่ายกักกันนั้นไม่มีจุดหมาย ไม่มีคุณค่าใดๆ เพียงแต่มีลมหายใจอย่างทรมานไปวันๆ ซึ่งนั่นเป็นภาวะที่ตายเสียยังจะดีกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งหนึ่งอย่างของมนุษย์คือ การหาความหมายของชีวิตให้พบ
ฌ็อง-ปอล ซาทร์ (1905-1980) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส เสนอว่ามนุษย์นั้นมีข้อได้เปรียบตรงมีอิสระในการกำหนดชีวิตตนเองก็จริง แต่อิสระดังกล่าวก็คือภาระอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ที่ต้องเลือกทุกสิ่งเอง และอิสระนี้สร้างความกลัว ความวิตกกังวล และความทุกข์ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร ต้องใช้ชีวิตแบบไหน ไม่มีใครกำหนดหรือบอกไว้เลยว่าการทำสิ่งใดถึงจะมีคุณค่าและความหมาย และนั่นทำให้มนุษย์ต้องหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจในรูปแบบต่างๆ เช่น ศาสนา หรือข้อกำหนดของสังคมมาจำกัดเส้นทางของตนไว้
อาลแบร์ กามูว์ (1913-1960) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ผมยกคำพูดไว้ในต้น เสนอว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อการเดินทางตามหาความหมายของชีวิตในโลกที่จริงๆ แล้วไม่มีการกำหนดความหมายใดๆ ไว้เลย มนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในการเดินทางนี้ต้องยอมรับให้ได้ว่าถึงชีวิตและโลกที่ไร้ความหมาย และมนุษย์ต้องตามหาความหมายที่ไม่มีกำหนดไว้ด้วยตนเองให้พบ
แล้วจริงๆ แล้วชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมายอย่างไรกัน แม้ปรัชญา Existentialism จะมีแนวคิดอีกจำนวนมากจากนักปรัชญาหลากหลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็มีแนวคิดที่แตกต่างกันไปในเชิงรายละเอียด แต่ปรัชญา Existentialism กระแสหลักมักจะเห็นตรงกันว่าชีวิตไม่ได้มีค่าหรือความหมายที่เที่ยงแท้กำหนดไว้จากภายนอก ไม่ว่าจะถูกกำหนดไว้ตายตัวจากสังคมหรือแม้แต่จากศาสนาก็ตาม ชีวิตของคนเรานั้น แต่ละคนต้องให้ความหมายด้วยตนเอง ซึ่งแนวคิดนี้อาจจะไม่ถูกใจทุกคน หรืออาจเป็นแนวคิดที่ยอมรับได้ยาก เพราะการที่ไม่มีความหมายถูกกำหนดไว้แต่แรก ก็เหมือนกับชีวิตไม่มีความหมายเลย
ปรัชญา Existentialism มีอิทธิพลอย่างมากต่อแวดวงจิตวิทยาโดยเฉพาะจิตวิทยาการปรึกษาและจิตวิทยาคลินิก แนวคิดที่ว่าการแต่ละคนล้วนต้องคิดเองว่าสิ่งใดที่ทำให้ชีวิตของตนมีความหมาย ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด ได้รับการพัฒนาต่อมาเป็นแนวทางบำบัดทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหาความทุกข์ของคนหรือความรู้สึกต้องการฆ่าตัวตายด้วยการให้บุคคลนั้นหาคุณค่าในชีวิตให้เจอ ตัวอย่างของงานวิจัยสมัยใหม่ๆ เช่น งานของ แมรี แอนดรูวส์ (2016) ได้เสนอถึงแนวทางช่วยเหลือบุคคลที่พบกับ Existential crisis ด้วยการหาความหมายของชีวิตใน 3 ทาง ในทางแรกคือการหาความสัมพันธ์ที่มีความหมาย หรือก็คือการให้ชีวิตรักสร้างคุณค่าแก่คนนั้น คนเรานั้นแม้จะมีคนรักก็ไม่ได้แปลว่าจะรู้สึกว่าชีวิตรักมีความหมาย บางคนอาจจะรู้สึกว่าความสัมพันธ์ที่มีอยู่มันช่างว่างเปล่า งานวิจัยเสนอว่าการเลือกคู่รักควรจะเลือกบุคคลที่มีความสนใจตรงกัน เพื่อให้เกิดกิจกรรมที่ทั้งคู่ให้ความสนใจและทำให้ความสัมพันธ์มีความหมายขึ้นมา ทางที่สองคือการหางานที่มีความหมาย แม้ว่าการหาเงินเลี้ยงชีพจะเป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน แต่คนเราอาจต้องสำรวจด้วยว่างานทำอยู่มีสิ่งใดที่ตนให้คุณค่าหรือไม่ บางคนอยากสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ บางคนอยากทำงานเพื่อสังคม บางคนอาจจะต้องการชื่อเสียง ชีวิตจะมีค่าขึ้นหากได้ทำงานที่สนองคุณค่าเหล่านั้น อย่างไรก็ตามทั้งสองทางแรกนั้นอาจจะไม่ใช่หนทางที่ปรับได้ง่ายนักและมีข้อจำกัดมากมาย จึงมีหนทางที่สามคือการยอมรับในชีวิต คือให้ค้นหาว่าตนเองในตอนนี้ทำอะไรที่มีความหมายได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเล็กใดๆ ก็ตาม
งานวิจัยด้านบนนั้นเป็นเพียงตัวอย่างที่พยายามหาหนทางที่เป็นรูปธรรม แต่อย่างที่ผมเล่าไปแล้วว่าปรัชญา Existentialism ไม่ได้กำหนดคำตอบที่ตายตัว
ไม่ว่าจะงานหรือความสัมพันธ์อาจเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ถือเป็นคุณค่าหลักๆ ของชีวิต แต่ไม่จำเป็นที่ทุกคนต้องคิดว่าสิ่งเหล่านั้นคือคุณค่าของชีวิต ประเด็นสำคัญคือการหาเป้าหมายและสิ่งที่มีคุณค่าให้แก่ชีวิตของตนให้ได้
แม้คำถามว่า “ฉันจะอยู่เพื่ออะไร” “ชีวิตมีค่าอะไร” อาจจะลอยเข้ามาในหัวได้ในวันหนึ่ง แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเจอวิกฤตตอนนึกถึงคำถามนี้นะครับ บางคนอาจจะมีแนวคิดที่ยึดมั่นและคิดว่านั่นคือคำตอบของตนแล้ว อย่างเช่นการยึดมั่นในความหมายของชีวิตทางศาสนาก็อาจจะเป็นคำตอบสำหรับหลายๆ คน แม้ว่าปรัชญา Existentialism กระแสหลักไม่ได้มองว่าศาสนาคือคำตอบที่เที่ยงแท้ตายตัวของความหมายในชีวิต แต่ก็ไม่ได้ห้ามหากคนมีที่ใช้แนวคิดทางศาสนาเป็นตัวกำหนดคุณค่าของชีวิต หากนั่นทำให้ตนรู้สึกมีความหมายและทำให้สบายใจ นั่นก็ถือว่าเป็นทางออกหนึ่งในการหากคุณค่าให้ชีวิตของบุคคลนั้น
บางคนที่ไม่เคยคิดถึงคุณค่าของชีวิตเลย หรือต่อให้คิดถึงคำถามนี้ ก็ปล่อยให้มันลอยผ่านไป ไม่ได้มองว่านั่นเป็นปัญหาใหญ่ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลก การที่ชีวิตมีสิ่งที่สนใจเรื่องอื่นๆ แทนจะหมกมุ่นกับคำถามที่ตอบได้ยากอย่างความหมายชีวิตนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ปกติและดีกับสุขภาพจิตมากกว่าการหมกมุ่นที่ให้คำตอบตัวเองไม่ได้จนเกิดภาวะวิกฤต ในแง่ของการปฏิบัติแล้ว ขอแค่เรายังยินดีที่จะมีชีวิตต่อไปได้ การทำแบบนั้นก็ถือว่าไม่มีข้อเสียอะไร
คำถามต่อมาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเรากำลังเกิด Existential Crisis แม้ว่าเราอาจจะคิดไม่ตกเรื่องความหมายของชีวิต แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นปัญหาหรือมันจะเป็นวิกฤตถ้าเรายังใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ถ้าวันหนึ่งเราเริ่มเป็นทุกข์อย่างมากจากการที่เราตอบตัวเองไม่ได้ว่าชีวิตเรามีความหมายอะไร จะอยู่ต่อไปทำไม และความทุกข์นี้เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การงาน ความสัมพันธ์รอบตัวให้แย่ลง หากคำถามที่ตอบไม่ได้ดังกล่าวยังคงทำให้เราหมกมุ่น ทุกข์ใจจนเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน หรือเกิดความรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าจนอยากฆ่าตัวตาย ผมแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ก่อนที่วิกฤตจะทำให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายของเราแย่ลงไปกว่านี้ การนั่งขบคิดเรื่องนี้คนเดียวแล้วเครียด ทุกข์ หรือสิ้นหวังไปนานๆ จะเกิดผลเสียมากกว่า ผู้เชี่ยวชาญอาจจะมีแนวคิดที่ช่วยให้เราคิดตก หรือมีหนทางบรรเทาความทุกข์ที่เกิดจากปัญหาดังกล่าวได้
ปรัชญา Existentialism อาจจะแย้งกับความเชื่อและความรู้สึกของหลายๆ คน มนุษย์เรามักจะได้รับการสอนหรือได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆ เพื่อให้เชื่อว่าชีวิตนั้นมี ‘ความหมายที่ยิ่งใหญ่’ ‘เราเกิดมาเพื่อเป้าหมายที่สำคัญอย่างยิ่ง’ แต่ปรัชญา Existentialism ปฏิเสธว่าไม่มีความหมายเหล่านั้นกำหนดไว้แต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่หลายๆ คนยอมรับไม่ได้
อย่างไรก็ตามกับบางคนที่รู้สึกว่าชีวิตไร้ซึ่งความหมายและคุณค่า และหมดศรัทธากับสิ่งที่เขาเคยเชื่อว่ามันคือความหมายของชีวิตเขา แนวทางของปรัชญา Existentialism ที่บอกว่าทุกคนต้องตามหาความหมายด้วยตนเอง ไม่มีความหมายใดที่ถูกหรือไม่ผิด ไม่มีคุณค่าใดที่ตายตัว อาจจะเป็นแนวทางที่ช่วยเหลือเขาได้ดีกว่า
ผมเคยเห็นคนที่อยู่ในช่วงทุกข์ใจอย่างหนักแต่ก็ได้สัตว์เลี้ยงช่วยไว้ เพราะเขารู้ความหมายของตนว่าหากตนไม่อยู่แล้วใครจะให้อาหารหมาแมวที่ตนเลี้ยงไว้ แต่นั่นก็คือความหมายอย่างหนึ่งของการมีชีวิตต่อ แม้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความหมายที่อาจจะดูเล็กน้อยในสายตาของบางคน แต่ก็เพียงพอกับการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปของคนหนึ่ง หากท่านกำลังรู้สึกว่าไม่รู้จะมีชีวิตต่อไปทำไม อยู่ต่อไปเพื่ออะไร ผมอยากให้ลองคิดว่านั่นไม่ใช่จุดจบ แต่คือเป็นการเริ่มต้นของการตามหาความหมายด้วยตัวเอง ให้เวลาให้โอกาสกับชีวิตของเราอีกสักหน่อย แล้วสักวันหนึ่งเราอาจจะพบกับความหมายที่เรานั้นพอใจก็ได้ และความหมายที่พบนั้นสำคัญที่สุดในชีวิตหรือไม่นั้น มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นคนตัดสินใจได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
Andrews, M. (2016). The existential crisis. Behavioral Development Bulletin, 21(1), 104–109.
Appignanesi, R., & Zarate. O. (2012). Introducing Existentialism: A Graphic Guide. London, Icon Books.
Gullette, M. M. (2014). What Do the Suicides of Fifty-Year-Old Men Reveal? The Public Health Emergency Exposes an Economic and Existential Crisis. Tikkun, 29(2), 21-26.
Yang, W., Staps, T., & Hijmans, E. (2010). Existential crisis and the awareness of dying: The role of meaning and spirituality. OMEGA-Journal of death and dying, 61(1), 53-69.
https://en.wikipedia.org/wiki/Albert_Camus
https://en.wikipedia.org/wiki/Existential_crisis