- ไม่มีใครอยากรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่หลายครั้งเราก็ยังปล่อยให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีมาทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- การเยียวยาความรู้สึกด้วยประสบการณ์ใหม่ (emotional corrective experience) คือ ประสบการณ์ที่ทำให้คนเราเข้าใจเหตุการณ์หรือความสัมพันธ์ในมุมมองที่ต่างออกไป หรือไม่คาดคิด ซึ่งนำไปสู่การยอมรับและทำความเข้าใจประสบการณ์ใหม่ในเชิงความรู้สึก
- สำหรับบางคนที่มีประสบการณ์เลวร้าย การเอาตัวเองไปเผชิญสถานการณ์ใหม่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบาดแผลทางจิตใจทำให้เขาต้องสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวตนจากความเจ็บปวด การรู้เท่าทันกำแพงที่ตัวเองสร้างขึ้นจึงสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์ใหม่
“เมื่อความเจ็บปวดฝังรากลึกเกินกว่าคำปลอบโยนจะเยียวยา”
คุณอาจเคยเจอเหตุการณ์ที่แม้จะใช้ความคิดหรือเหตุผลเพื่อจัดการกับความรู้สึกแย่มากเท่าไหร่ก็ดูเหมือนว่าความรู้สึกที่ท่วมท้นเหล่านั้นจะไม่หายไป แม้คุณจะตระหนักดีว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นมีความสมเหตุสมผลมากเพียงใดก็ตาม ราวกับว่าเหตุผลกับความรู้สึกไม่ได้ไปด้วยกัน สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นเพราะว่าบางบาดแผลทางใจอาจลึกเกินกว่าจะเยียวยาด้วยความคิด แต่บาดแผลทางใจนั้นกำลังต้องการการเยียวยาที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ การเยียวยาความรู้สึกด้วยประสบการณ์ใหม่
สมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศอเมริกา ให้ความหมาย การเยียวยาความรู้สึกด้วยประสบการณ์ใหม่ (emotional corrective experience) ว่า “ประสบการณ์ที่ทำให้คนเราเข้าใจเหตุการณ์หรือความสัมพันธ์ในมุมมองที่ต่างออกไป หรือไม่คาดคิด ซึ่งนำไปสู่การยอมรับและทำความเข้าใจประสบการณ์ใหม่ในเชิงความรู้สึก”
เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงระดับความรู้สึกอาจทำให้หลายคนรู้สึกกลัว เพราะการใช้ความคิดเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวด เพียงแค่คิดถึงที่มาที่ไปก็เพียงพอแล้ว แต่ต้องบอกว่าตามหลักการทำงานของสมอง หลายต่อหลายปัญหาไม่ได้อยู่ในระดับของความคิด แต่เกิดขึ้นในระดับลึกของความรู้สึก การทำงานกับสิ่งนี้โดยตรงจึงอาจจะเจ็บปวด แต่ก็มักจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งและมั่นคงมากยิ่งขึ้น
ก่อนจะพูดถึงการเยียวยาที่ทำงานกับความรู้สึกต้องเห็นภาพก่อนว่าเวลาที่มนุษย์จะเข้าใจว่า “ฉันเป็นคนที่มีคุณค่า” “ฉันเป็นที่รัก” “ฉันดีพอ” สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์เพียงวันเดียว หากแต่เกิดจากการสร้างความหมายจากการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างซ้ำไปซ้ำมา นักจิตบำบัดที่ผมทำงานภายในด้วยเคยสอนผมว่า คนที่จะมีอิทธิพลกับตัวตนมนุษย์มากที่สุดคือพ่อแม่และคู่รักที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้ง ส่วนคนที่จะมีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าตัวเองในแต่ละมุม (self-esteem) คือสังคม (การเห็นคุณค่าในตัวเองจะแบ่งเป็นด้านต่างๆ เช่น เห็นคุณค่าด้านงาน แต่อาจจะไม่ได้มองว่าตัวเองมีคุณค่าด้านความสัมพันธ์)
ช่วงแรกที่เราเกิดมา เรายังไม่รู้จักว่าโลกคืออะไร คนเป็นแบบไหน ถ้าพ่อแม่ตอบสนองเราอย่างเหมาะสม เราจะค่อยๆ พัฒนาความรู้สึกว่าเราก็เป็นคนที่มีคุณค่ามากพอที่จะถูกรักถูกใส่ใจ ในทางกลับกัน หากคนนั้นไม่ได้ถูกตอบสนองความรู้สึก เวลาเสียใจก็ถูกปล่อยไว้คนเดียวไม่ได้มีใครมาปลอบประโลม เขาก็อาจจะพัฒนาความรู้สึกที่มีต่อตัวเองว่า ความรู้สึกของเขาไม่สำคัญมากพอ
เมื่อโตขึ้น มุมมองเกี่ยวกับตัวเองก็จะยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น เวลามีประสบการณ์ใหม่ที่ต่างจากประสบการณ์เดิมเข้ามา เช่น คุณมองว่าตัวเองเป็นคนไม่เก่ง แต่เพื่อนมาชมว่าคุณเก่ง คุณก็อาจจะไม่ได้สนใจคำพูดของเพื่อนเพราะสิ่งนั้นไม่ได้ตรงกับมุมมองที่คุณมีกับตัวเอง สิ่งนี้น่าสนใจตรงที่ ไม่มีใครอยากรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่หลายครั้งเราก็ยังปล่อยให้ประสบการณ์ที่ไม่ดีมาทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งที่มองตามเหตุผลเราก็ควรจะรับสิ่งที่เพื่อนพูดเพราะสิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อตัวเรา อาจเป็นเพราะมนุษย์มีกลไกทางจิตใจที่ซับซ้อน ด้วยมุมมองเกี่ยวกับตัวเองที่ฝังแน่นเขาอาจจะรู้ไม่ทันตัวเองเลยด้วยซ้ำว่าเขามีมุมมองแบบนี้ แล้วมุมมองแบบนั้นพัฒนามาจากประสบการณ์หรือความคิดอะไรบ้าง ตอนนั้นเขาอาจคิดเพียงว่า “เพื่อนแค่พูดไปงั้นแหละ”
การจะเปลี่ยนแปลงประสบการณ์เหล่านั้นจึงต้องใช้เวลาอย่างมาก ซึ่งต้องเกิดจากการทำงานภายในกับตัวเองซ้ำไปซ้ำมาจนมีมุมมองใหม่ การจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกด้วยประสบการณ์ใหม่ สามารถทำได้ ดังนี้
1) อะไรคือสิ่งที่ตัวเองรู้สึกแย่ แล้วสิ่งนั้นเกิดจากประสบการณ์อะไร
ขั้นตอนนี้สำคัญเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา การยอมรับอาจเป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่เป็นสิ่งสำคัญของการเริ่มเยียวยาแม้อาจไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย การยอมรับไม่ใช่การยอมแพ้ต่อปัญหา แต่คือความกล้าในการเผชิญหน้าต่อปัญหา
2) เอาตัวเองไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ
ตัวอย่างที่ผมมักจะเจอในการทำงานกับคนที่มีปัญหาความสัมพันธ์คือ การที่คนหนึ่งอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ แต่ก็ยังปล่อยให้ตัวเองโดนเพิกเฉย ทำร้ายความรู้สึกจนเริ่มชินชากับความเจ็บปวด จนค่อยๆ มองว่าตัวเองสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีเพราะเขาไม่ได้มีคุณค่ามากพอ แต่พอเขาไปเจอความสัมพันธ์ใหม่ที่ดีพอ เขาจะไม่ได้เชื่อว่าความรักที่ดีมีอยู่จริง เขาสงสัยด้วยซ้ำว่าการที่อีกฝ่ายทำดีนั้นเป็นเพราะรักเขา หรือเป็นเพราะเขามีประโยชน์อะไรหรือเปล่า
การที่เขารู้ทันว่าตัวเองมีปัญหาความเชื่อใจในความสัมพันธ์ซึ่งพัฒนามาจากประสบการณ์เลวร้ายในความสัมพันธ์เก่า แล้วค่อยๆ เปิดใจเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ในความสัมพันธ์ใหม่จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในความสัมพันธ์ ซึ่งประกอบด้วย 1) การยอมรับอย่างไร้เงื่อนไข การยอมรับในแบบที่เขาเป็น ไม่ตัดสินหรือตำหนิในสิ่งที่เขาเป็น 2) ความจริงใจ จริงใจในสิ่งที่รู้สึกและแสดงออก 3) ความเข้าอกเข้าใจ พยายามเข้าใจความรู้สึกอีกฝ่ายแล้วสื่อสารเขารู้ว่าเราเข้าใจเขาอย่างไร
สำหรับบางคนที่มีประสบการณ์เลวร้าย การเอาตัวเองไปเผชิญสถานการณ์ใหม่อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบาดแผลทางจิตใจทำให้เขาต้องสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อปกป้องตัวตนจากความเจ็บปวด การรู้เท่าทันกำแพงที่ตัวเองสร้างขึ้นจึงสำคัญต่อการสร้างประสบการณ์ใหม่
ถึงแม้แนวคิดเรื่องการเยียวยาความรู้สึกด้วยประสบการณ์ใหม่จะเป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในวงการการทำจิตบำบัด โดยเฉพาะการทำจิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ (psychodynamic) แต่แนวคิดนี้ก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของคนทั่วไปได้ด้วย โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเยียวยาความรู้สึก รวมถึงการใช้ 2 วิธีการที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการเข้าใจบาดแผลทางใจ เพราะปัญหาเหล่านั้นมักฝังรากลึกในความรู้สึก
การเยียวยาบาดแผลทางจิตใจไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจใช้เวลานาน หากรู้สึกว่าปัญหานั้นซับซ้อน การอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ที่ฝึกฝนด้านการบำบัดบาดแผลทางจิตใจ (trauma-informed therapist) จะช่วยให้คุณเข้าใจความรู้สึกและสนับสนุนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ราบรื่นขึ้น เพราะหากมองตามตรง การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกด้วยประสบการณ์ใหม่ด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะคนที่มีบาดแผลทางจิตใจที่ซับซ้อน แต่แนวคิดนี้อาจมีประโยชน์กับคนที่เข้าใจตัวเองประมาณหนึ่ง หรือบาดแผลทางจิตใจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเขามากเกินไป
สิ่งสำคัญคือการเปิดใจยอมรับความรู้สึกของตัวเอง และให้เวลากับตัวเองในการเยียวยา อย่าพยายามฝืนหรือกดดันตัวเองมากเกินไป จงจำไว้ว่าการเยียวยาบาดแผลทางใจเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความอดทน แต่ด้วยความพยายามและการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม คุณจะเข้าใจบาดแผลและสามารถอยู่ร่วมกับความเจ็บปวดนั้นได้