- ในบางสถานการณ์ชีวิตคนเราก็ต้องการ 1.การขีดอาณาเขตที่ชัดเจนและแข็งกร้าวเพื่อป้องกันภัยคุกคาม และบ้างก็ต้องการ 2.การหลอมรวมเอาสิ่งที่ดูเหมือนเป็นภัยเข้ามาไว้ในความตระหนักรู้ มิใช่เพียงเพื่อเพิ่มความสมดุลหรือขยายขอบเขตทางใจของตน แต่บางกรณียังเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ตนเองปลอดภัยจากสิ่งที่รุกเขตแดนเข้ามาได้อีกด้วย – บทความจะถกถึงทั้งสองกระบวนการนี้ผ่านเรื่อง แดรกคิวล่า (Dracula)
- เชื้อโรค คนแปลกหน้า ผีสาง ปิศาจที่น่าหวาดกลัว ความป่วยไข้ต่างๆ สามารถสะท้อนลักษณะบางอย่างที่ปัจเจกและกลุ่มนั้นๆ ไม่ตระหนัก รู้จักน้อยหรือปฏิเสธได้
- อาการป่วยที่คนในครอบครัวและวงศ์ตระกูลมีร่วมกัน ในบางกรณีสามารถสะท้อนความไม่สมดุลในวิธีคิดบางอย่างที่ไหลเวียนสืบสาย อีกทั้งบาดแผลที่สัมพันธ์กับความป่วยไข้นั้น
1.
โจนาธาน ฮาร์เกอร์ ทนายหนุ่มเดินทางไกลไปเจอ เคานท์แดรกคิวล่า ลูกความผู้สืบตระกูลขุนน้ำขุนนางเก่าแก่ ณ ปราสาทแถบทรานซิลเวเนียอันเป็นมรดกตกทอดมาหลายร้อยปี โจนาธานรู้แต่เพียงว่าลูกความของเขาต้องการย้ายไปอยู่ที่มหานครลอนดอน แต่หารู้ไม่ว่าท่านเคานท์เป็นผีดิบที่ดูดเลือดคนอื่นเพื่อยังชีพ ทนายหนุ่มผู้ไหวตัวช้าจึงจำต้องผ่านเรื่องชวนขนหัวลุกต่างๆ ในที่พำนักเร้นลับของท่านเคานท์ และสุดท้ายก็ถูกทิ้งไว้ในปราสาทสยองขวัญดังกล่าวร่วมกับบรรดาผีดิบสาวผู้ก้าวร้าวเย้ายวนทางเพศ
ฝั่งท่านเคานท์นั้นก็ออกเดินทางไปยังท่าเรือวิทบีประเทศอังกฤษและเริ่มหาเหยื่อ ซึ่งเมื่อถูกเขาดูดเลือดก็จะต้องกลายเป็นผีดูดเลือดไปด้วย
ลูซี่ เวสเทนรา สาวยุคใหม่หัวใจอิสระที่มีความคิดอ่านไม่เข้ากับอุดมคติผู้หญิง ‘ดี’ ตามแบบฉบับวิกตอเรียนกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผีดิบ เธอเริ่มมีอาการคล้ายเป็นโรคโลหิตจางประกอบกับละเมอเดิน ทว่าก็หามีใครวินิจฉัยโรคของเธอได้ไม่ หลังจากเสียชีวิตลูซี่กลายเป็นผีดิบที่ออกหาเหยื่อเด็กไปทั่วกรุงลอนดอน อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์แวน เฮลซิ่ง พอจะเข้าใจเหตุการณ์ลี้ลับที่เกิดขึ้นกับลูซี่ เขาได้รวมพลกำจัดลูซี่อย่างหฤโหด ทั้งยังขับไล่ต้นเชื้อ ‘โรคระบาด’ กลับไปยังทรานซิลเวเนียและสังหารปิศาจดูดเลือดลงเสีย
2.
‘ปิศาจแปลกหน้า นำพาเชื้อโรค’ อาจเป็นสิ่งที่เราหรือสังคมเราต้องเห็นในตัวเอง?
Greg Buzwell ภัณฑารักษ์แห่งหอสมุดสหราชอาณาจักร กล่าวถึงนวนิยายเรื่อง แดรกคิวล่า (Dracula ตีพิมพ์ในปีค.ศ.1897) ซึ่งประพันธ์โดยนักเขียนไอริช แบรม สโตกเกอร์ (Bram Stoker) ว่ามีเนื้อหาสะท้อนความหวาดกลัวของผู้คนในปลายศตวรรษที่ 19 เช่น กลัวผู้อพยพเข้าเมือง อันสะท้อนชัดเจนในพระราชบัญญัติคนต่างด้าวค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) ซึ่งช่วยสกัดการอพยพส่วนใหญ่จากยุโรปตะวันออก นอกจากนี้ยังมีความกลัวความเสื่อมทรามทางศีลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสำส่อนทางเพศ ความกลัวที่แฝงอยู่ในนวนิยายยังสะท้อนอีกความเชื่อด้วยว่าหญิงยุคใหม่นอกขนบสามารถจะแพร่เชื้อโรคซึ่งอาจนำความตายมาให้ (เช่น ซิฟิลิส) พวกเธอจึงถูกลดทอนเป็นเหมือนสัตว์ร้ายมีเขี้ยวเล็บที่ต้องถูกทำลายเหมือนอย่างผีดิบสาวลูซี่
อย่างไรก็ตาม หากเรามองในระดับจิตใจ เชื้อโรค คนแปลกหน้า ผีสาง ปิศาจที่น่าหวาดกลัว ความป่วยไข้ต่างๆ ก็ล้วนสามารถสะท้อนลักษณะบางอย่างที่ปัจเจกและกลุ่มนั้นๆ ไม่ตระหนัก รู้จักน้อยหรือปฏิเสธได้ เช่น เราอาจมีความเอาแต่ใจ ความต้องการรวมศูนย์อำนาจ ความหิวกระหายอย่างมากล้น ความฟุ้งฝันอันเป็นเท็จ ฯลฯ และได้ปล่อยให้มันขับเคลื่อนเราไปอย่างไม่ค่อยรู้ตัวมาตลอด เราจึงพร้อมผลักไสและฉาย (project) ลักษณะเหล่านั้นไปยังสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราหรือพรรคพวกของเรา
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการฉายภาพชั่วร้ายบางอย่างไปยังศัตรูทางการเมือง เช่น ในยุคหนึ่งจีนคอมมิวนิสต์วาดรูปสำหรับเดินขบวนให้อเมริกาเป็นงูร้าย ซึ่งทั้งลำตัวเต็มไปด้วยเครื่องหมายสวัสดิกะของนาซีและถูกแทงด้วยน้ำมือของจีน ส่วนที่อเมริกานั้น ในเดือนมีนาคมค.ศ. 2020 อดีตประธานาธิปดีทรัมพ์เรียกเชื้อโควิดว่า ‘ไวรัสจีน’ ซึ่งมีส่วนเพิ่มจำนวนเนื้อหาต่อต้านเอเชียในทวิตเตอร์ อีกทั้งชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียก็ตกเป็นเป้าความเกลียดชังเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อมีการฉายภาพความชั่วร้ายไปที่สิ่งอื่น ก็มักเกิดความรู้สึกชอบธรรมที่จะทำร้ายและกำจัดอีกฝ่ายเหมือนที่แวน เฮลซิ่งได้ไล่ล่าแดรกคิวล่าและลูซี่
แต่เฉดสีที่อ่อนกว่าการเห็นสิ่งอื่นเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดทิ้งไม่ว่าต้องใช้วิธีที่โหดสักปานใด ก็คือศักยภาพในการเห็นลักษณะของ ‘ศัตรู’ ในตัวเอง ตลอดจนสามารถนำลักษณะเหล่านั้นมาปกป้องพื้นที่ของตัวเองอย่างพอเหมาะ คู่ขนานไปกับการขยายพื้นที่ทางจิตใจ
3.
บางครั้งเราก็ต้องการลักษณะของสิ่งที่เราไม่ชอบ เพื่อมาใช้สร้างอาณาเขตต่อสิ่งที่แสดงลักษณะเช่นนั้น
สิ่งที่ดูเหมือนย้อนแย้งก็คือ ในหลายกรณี เราก็ต้องการลักษณะของสิ่งที่เราไม่ชอบและปฏิเสธ เพื่อมาใช้สร้างอาณาเขตต่อสิ่งนั้น หากเรามิได้มองว่าคนกลุ่มอื่น เชื้อโรค อาการป่วยไข้ไม่สบายทั้งทางกายและใจของตน ฯลฯ เป็นสิ่งที่ต้องต่อต้านหรือทำให้มลายไปเดี๋ยวนั้น แต่เป็นเข็มทิศที่เราสามารถติดตามไปสู่ขุมทรัพย์ได้ เราอาจสัมผัสลักษณะที่ไม่ตระหนักรู้หรือไม่ค่อยได้ใช้อย่างชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถช่วยกู้สมดุลในใจและคลายความอึดอัดคับข้องให้หายไปได้
ยกตัวอย่างหญิงสาวคนหนึ่งเป็นคนไม่ค่อยกล้าปฏิเสธคนอื่น แต่ครั้นเธอทำตามความต้องการของผู้อื่นซึ่งขัดกับความต้องการของเธอเองมากเกินไป เธอก็มักรู้สึกอึดอัดราวกับมีก้อนหินสีดำขรุขระทิ่มแทงอยู่ที่หน้าอก เมื่อเธอติดตามก้อนหินสีดำนี้ไป เธอพบว่านี่คือรูปแบบพลังที่เธอขาด เธอต้องรู้จักใช้ความหนักแน่นของหินและความแข็งกร้าวดุจคมหินในการปฏิเสธคนอื่นเสียบ้าง และกรณีส่วนใหญ่เธอก็เพียงต้องนำพลังงานแบบแวน เฮลซิ่ง มาเจือจางเพื่อที่จะขับผู้บุกรุกออกไปจากเขตแดนด้วยความเด็ดขาดได้บ้าง
และเชื่อมโยงกับบาดแผลในครอบครัว?
อย่างไรก็ตาม เธอต้องต่อสู้กับความเชื่อบางอย่างที่ไหลเวียนอยู่ในครอบครัว นั่นคือ ในสถานการณ์ต่างๆ คนในครอบครัวมักบีบให้เธอสยบยอมแก่ความต้องการของพวกเขารวมไปถึงคนภายนอกที่เข้ามารุกล้ำพื้นที่และเอารัดเอาเปรียบ (อุปมาเหมือนการยอมให้แดรกคิวล่าเข้ามาดูดเลือดโดยไม่ขัดขืนต่อรอง) เมื่อเธอลุกขึ้นสู้คนนอก เธอจะถูกคนในครอบครัวโจมตีเพื่อสกัดการรบรา เพราะพวกเขารู้สึกว่าตนมีกำลังอำนาจน้อยเกินกว่าจะก่อศึกกับคนนอก ความหวาดกลัวอย่างมากทำให้พวกเขาต้องยัดเยียดวิธีศิโรราบแก่เธอเพราะเชื่อว่ามันจะอันตรายน้อยกว่า นอกจากนี้ คนในครอบครัวเธอมักไม่ปล่อยพื้นที่ให้กับความผิดพลาดและพยายามผลักดันเธอไปสู่ความไร้ที่ติซึ่งเป็นไปไม่ได้ ฯลฯ
เธอพูดคุยถึงเรื่องราววัยเด็กของคนในครอบครัวซึ่งมีบาดแผลชอกช้ำ และสำรวจต่อไปว่าในวงศ์วานนั้นมีคนเป็นโรคมะเร็งกันมาก เธอสังเกตเห็นลักษณะบางประการของผู้ป่วยมะเร็งกล่าวคือ ร่างกายผู้ป่วยเปิดโอกาสให้เซลล์ที่แปลกแยกไปจากแก่นสารอันมีสุขภาวะของตัวเขาเองงอกขึ้น และบุกรุกแผ่ขยายไปในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งในที่สุดก็เข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆ โดยที่ตัวผู้ป่วยไม่มีศักยภาพมากพอจะปกป้องตัวเองจากเซลล์เหล่านั้น – เธอเกิดความตระหนักรู้บางอย่างจากความสอดคล้องของรูปแบบการรับมือสถานการณ์คุกคามของสมาชิกครอบครัว และลักษณะผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งเชื่อมโยงได้อีกทอดกับคนไข้ติดดีที่ดร.มาเธ่ จิตแพทย์ฮังกาเรียนยิว เล่าว่ามักปล่อยให้คนอื่นรุกอาณาเขตในลักษณะที่บั่นทอนตัวเอง และสุดท้ายก็กลายเป็นเป็นมะเร็งหรือไม่ก็โรคภูมิต้านทานตนเอง (autoimmune disease)
อาการป่วยที่คนในครอบครัวและวงศ์ตระกูลมีร่วมกัน ในบางกรณีจึงสามารถสะท้อนความไม่สมดุลในวิธีคิดบางอย่างที่ไหลเวียนสืบสาย ยิ่งถ้าป่วยแบบเดียวกันหลายชั่วอายุคน ยิ่งน่าสำรวจว่ามีวิธีคิด ความเชื่อ และที่สำคัญมีบาดแผลใดที่สัมพันธ์กับความป่วยไข้ดังว่า โดยเราอาจสำรวจตัวเองต่อด้วยคำถามต่างๆ เช่น
- อาการป่วยนั้นคืออะไร และร่างกายส่วนใดบ้างที่รองรับความเจ็บป่วยนั้นๆ ใช้ความรู้สึกตัวสัมผัสมันอย่างเต็มที่ จากนั้นลองขยายความรู้สึกนี้ไปสู่สิ่งรอบตัว เช่น วัตถุบางอย่าง บุคคลในครอบครัว ฯลฯ
- มีรูปแบบความคิดและพฤติกรรมอะไรในครอบครัวและเทือกเขาเหล่ากอที่สอดคล้องกับอาการป่วยนั้นๆ หรือไม่? พวกเขาเผชิญเหตุการณ์ในอดีตที่อาจสร้างบาดแผลไว้หรือไม่? (แต่หากต้องถามก็ต้องมีวิธีการคุยที่เหมาะสมและดูจังหวะด้วย เพราะส่วนใหญ่เขาอาจไม่อยากเล่า) เกิดความตระหนักรู้อะไรจากความพ้องกันหรือขัดกันที่ได้เห็นบ้าง?
- ความตระหนักรู้ที่เกิดขึ้นสามารถนำมาใช้เยียวยาและป้องกันอาการป่วยดังกล่าวในคนรุ่นต่อๆ ไปได้หรือไม่?
ใน Man and His Symbols มารี หลุยส์ ฟาน ฟรันซ์ (M.L. Von Franz) ได้กล่าวถึงลักษณะที่เราไม่ตระหนักรู้หรือรู้จักน้อยในฐานะเงามืด (Shadow) ซึ่งเราจำเป็นต้องปรับเข้าไว้ในความตระหนักรู้เพื่อการเติบโตภายใน มิเช่นนั้นเราอาจทำได้เพียง “ติดเชื้อร่วมกัน” เหมือนอย่างกลุ่มคนที่ติดโรคในภาพ “การเต้นระบำของนักบุญไวรัส (St. Virus Dance)” โดยยากจะหาย
ดังนั้นครั้งต่อไปเมื่อเรารับรู้ถึงเชื้อโรค อาการป่วยไข้ไม่สบาย (dis-ease) อีกทั้งปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ดูดำมืดคลุ้งคาวและไม่ค่อยรู้จักนั้น ลองถามตัวเองอีกสักครั้งว่า มันสะท้อนความไม่สมดุลและบาดแผลบางอย่างที่ผู้คนในครอบครัวหรือชุมชนอาจมีร่วมกันหรือไม่?