- เวลาที่เรามีความสุขกับความสัมพันธ์ เราก็อยากทำอะไรให้อีกฝ่ายพอใจ เพื่อให้ชีวิตรักดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก แต่ถ้าสิ่งที่เราอยากจะทำให้ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้ การ ‘สัญญา’ ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เพื่อให้เขามั่นใจว่าเราจะทำให้แน่นอน
- แม้การสัญญาจะเกิดเพราะอยากให้ชีวิตรักมั่นคง แต่ถ้าเราผิดสัญญาก็อาจกลายเป็นตัวทำลายความสัมพันธ์ได้เช่นกัน ซึ่งหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เราผิดสัญญา เพราะคนเรามักจะให้สัญญากับคู่รักไปง่ายๆ โดยไม่ได้คิดอะไรมาก
- แล้วการที่คนๆ หนึ่งจะรักษาสัญญาหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพลังรักเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ‘conscientiousness’ หรือ การมีจิตสำนึกในหน้าที่ ถ้าใครมีบุคลิกภาพในด้านนี้สูงก็จะเป็นคนมีระเบียบวินัย ควบคุมตนเองได้ดี ถ้ามีต่ำก็จะเป็นคนไม่มีระเบียบ ไม่ทำตามแผน ควบคุมตนเองได้แย่
ไม่ว่าใครก็อยากจะให้สิ่งดีๆ แก่คู่รักจริงไหมครับ ทั้งของขวัญที่เป็นรูปธรรมอย่างดอกไม้สักดอก หรือการกระทำอย่างการพูดชมข้อดีของอีกฝ่าย การแสดงความใกล้ชิดอบอุ่น เรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่แล้วถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ทำไปเถอะครับ คนรักนั้นบางครั้งก็ต้องเติมความหวานให้กันบ้าง
อย่างไรก็ตามของที่อยากให้ บางครั้งก็ไม่ได้แปลว่าจะให้ได้ในตอนนี้ เพราะมันยังไม่มี มันยังไม่พร้อม หลายคนก็เลยใช้วิธีให้สิ่งดีๆ ในอนาคตด้วยการ ‘สัญญา’ ว่าจะให้แทน หากคนรักอยากได้ของแพงๆ ใจเราก็อยากให้แต่เงินมันยังไม่มี เราก็สัญญาว่าเดี๋ยวโบนัสออกจะซื้อให้ หรืออาจจะสัญญาเป็นการกระทำให้คนรักรู้สึกดี เช่น ถ้าเรามีลูกด้วยกันเมื่อไร ฉันจะเลิกบุหรี่ สัญญาเลยเหมือนของขวัญที่รอรับอีกทีในอนาคต แต่ถึงจะยังไม่ได้รับ แต่มันก็สร้างความชื่นใจว่าคนรักก็คิดจะให้อะไรดีๆ กับเรา และมนุษย์เราชอบฝันหวานถึงอนาคตอยู่แล้ว
ฟังดูแล้วสัญญาก็เป็นของขวัญที่ดีใช่ไหมครับ แต่บทความนี้ผมอยากให้ท่านมาลองพิจารณากันก่อนทุกครั้งที่ให้สัญญากับคนรัก เพราะการวิจัยกลับพบว่าการสัญญามักจะส่งผลเสียกับความสัมพันธ์ เพราะธรรมชาติของคนเราเมื่อสัญญาว่าจะทำสิ่งดีๆ กับคู่รักแล้ว มักจะมีโอกาสผิดสัญญาสูงกว่าทำตามสัญญา เอ้า… ทำไมถึงกลายเป็นแบบนั้นไปล่ะ ทุกคนอาจจะเคยได้ยินว่า “อย่ากลับคืนคำ เมื่อเธอย้ำสัญญา” (ถ้าอ่านแล้วเป็นเพลงแสดงว่าเราวัยเดียวกัน) ทุกคนรู้ดีว่าการผิดสัญญาเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรม แต่ในความเป็นจริงการผิดสัญญาในคู่รักนั้นกลับเป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นเป็นปกติ แล้วเป็นเพราะอะไรกัน…
ต้นเหตุของการที่สัญญาแล้วทำไม่ได้นั้นมาจากหลายอย่าง แต่แรกสุดที่ทำให้เกิดปัญหาคือ คนเรามักจะให้สัญญากับคู่รักไปง่ายๆ โดยไม่ได้คิดอะไรมาก จากงานวิจัยพบว่า พอคนเรามีความสุขและพอใจกับความสัมพันธ์ในปัจจุบัน ก็มักจะพยายามทำอะไรให้อีกฝ่ายพอใจ เพื่อให้รู้ว่าตนมีส่วนร่วมในการทำให้ชีวิตรักนั้นดีขึ้น และแน่นอนว่าถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากให้อยู่แล้ว หรือเราสามารถทำสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการได้ ณ ตอนนั้น เราคงให้หรือทำไปแล้ว
หลายๆ ท่านคงเคยเจอกับตัวเองว่าช่วงที่ยังรักกันดีๆ นั้น เราอยากจะทำหรืออยากจะให้อะไรกับคู่รักอยู่เรื่อย กลายเป็นพ่อ/แม่บุญทุ่ม จะแพงแค่ไหนหรือจะยากอย่างไร หากทำให้ยาหยียิ้มได้ พี่/น้องก็จะหามาให้ แต่ในหลายๆ ครั้งเรายังไม่มีสิ่งที่จะให้ แต่เราอยากทำอะไรดีๆ ให้นี่นา เราเลยให้คำสัญญาเอาไว้แทนของขวัญก่อน
แต่ปัญหามันเกิดขึ้นหลังจากนั้น ลองคิดดูนะครับว่า หากเราไม่มีในตอนนี้ แล้วเราจะมีสิ่งนั้นในอนาคตแน่นอนหรือ? หรือเรื่องที่เราทำไม่ได้ตอนนี้ เราจะทำมันได้ในอนาคตจริงๆ หรือ? ตอนเราให้สัญญานั้นด้วยแรงผลักดันของความรักเลยให้ไปง่ายๆ แต่คนเรามักจะไม่ได้คิดถึงว่าคราวที่ต้องทำตามสัญญา เราจะทำได้จริงๆ หรือไม่ แถมงานวิจัยพบว่าคนเราตอนที่ให้สัญญา เรามักจะมองถึงความสามารถของตนเองสูงกว่าความเป็นจริง ตอนที่พูดตัวเองคิดว่าทำได้ แต่พอเอาเข้าใจจริงแล้วกลับทำไม่ได้ เลยต้องจนใจผิดสัญญาไปทั้งแบบนั้น
นอกจากนี้ การจะทำตามสัญญากับคู่รักหรือไม่นั้น เจตนารวมถึงแรงจูงใจที่อยากจะทำสิ่งดีๆ ให้กับอีกฝ่ายมีอิทธิพลน้อยกว่า หากเทียบกับผลของ “บุคลิกภาพ” ของแต่ละคนที่มีอิทธิพลต่อการทำตามสัญญา บุคลิกภาพที่ว่านั้นหมายถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในการมีพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ และเปลี่ยนแปลงได้ยาก บุคลิกภาพมีหลายด้าน เช่น ท่านอาจจะเคยได้ยินคำว่า ‘เป็นคน introvert (อินโทรเวิร์ท)’ ที่ไม่ชอบเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ชอบทำกิจกรรมเงียบๆ ในการเติมพลังให้ตนเอง ไม่ชอบเสียงดัง ไม่ชอบคนเยอะ การเป็นอินโทรเวิร์ทหรือไม่ก็คือบุคลิกภาพด้านหนึ่งครับ
ส่วนบุคลิกภาพที่มีผลกับเรื่องการทำตามสัญญาหรือไม่นั้น มีชื่อว่า ‘conscientiousness’ ชื่อไทยก็ยาวไม่แพ้ชื่ออังกฤษคือ ‘การมีจิตสำนึกในหน้าที่’ ถ้ามีบุคลิกภาพในด้านนี้สูงก็จะเป็นคนมีระเบียบวินัย ควบคุมตนเองได้ดี ถ้ามีต่ำก็จะเป็นคนไม่มีระเบียบ ไม่ทำตามแผน ควบคุมตนเองได้แย่ สิ่งนี้ส่งผลต่อการจะทำตามสัญญามากกว่า ‘พลังใจ’ เรียกได้ว่าต่อให้สัญญานั้นมาจากแรงใจ หรือด้วยความปรารถนาหรือเจตนาดีขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเป็นคนที่ควบคุมตนเองให้ทำตามแผนเพื่อทำหรือหาสิ่งที่ไม่มีตอนนี้ให้มีในอนาคตไม่ได้ ก็ผิดสัญญาอยู่ดี พูดง่ายๆ คือ ‘พลังจากรักแท้ แพ้นิสัยตนเอง’
ทฤษฎีของบุคลิกภาพในปัจจุบันมองว่าได้รับผลจากทั้งพันธุกรรม (ปัจจัยภายใน) และ การเลี้ยงดูกับการเรียนรู้ (ปัจจัยภายนอก) และปฏิสัมพันธ์หรือผลที่เกิดร่วมกันจากทั้งสองอย่าง (ภายใน x ภายนอก) ปัจจัยด้านพันธุกรรมนั้นเราเปลี่ยนไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนปัจจัยภายนอก เราก็ค่อยๆ สั่งสมมาทั้งชีวิตและใช้เวลาหล่อหลอมบุคลิกภาพของเราขึ้นมา ดังนั้นการเปลี่ยนบุคลิกภาพจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การที่จะเป็นคนมีบุคลิกภาพด้าน conscientiousness ต่ำอยู่ๆ จะให้เปลี่ยนไปสูงในทันทีทันใดคงไม่ได้ ดังนั้นคนที่มีบุคลิกแบบนี้พอสัญญาอะไรไปโดยตั้งใจ แต่สุดท้ายความตั้งใจแพ้บุคลิก ทำไม่ได้แม้จะอยากทำ ตัวอย่างที่ท่านอาจจะเคยเห็นจากคนรอบๆ ตัว เช่น สัญญากับคนรักว่าจะเลิกบุหรี่ สัญญาว่าจะไม่มาสาย สัญญาว่าจะช่วยงานบ้าน สัญญาว่าจะประหยัดอดออม ตอนสัญญาก็คิดว่าทำได้ แต่พอเอาเข้าจริงๆ แล้วมันต้องใช้การควบคุมตนเองอย่างมากถึงจะทำให้สำเร็จ แต่เพราะบุคลิกไม่เอื้อ สุดท้ายก็เลยผิดสัญญา
บุคลิกภาพยังไม่ได้มีผลแค่เรื่อง ‘วินัย’ ที่ทำตามสัญญาไม่ได้ แต่หลายๆ คนสัญญาว่าจะ ‘เปลี่ยนแปลงตนเอง’ ซึ่งหลายครั้ง การเปลี่ยนแปลงตนเองในบางเรื่องมันไม่ได้เกิดง่ายๆ เช่น สัญญาว่าต่อไปจะไม่เจ้าชู้ ต่อไปจะไม่ขี้หึง ต่อไปจะเอาใจใส่ให้มากขึ้น พวกนี้ต่างเป็นหนึ่งในผลของบุคลิกภาพที่หล่อหลอมมาแต่เด็กเป็นเวลาสิบๆ ปี และการจะเปลี่ยนบุคลิกภาพเลยเปลี่ยนได้ยาก สัญญาที่ให้ว่าจะเปลี่ยนตัวเอง หลายครั้งเลยเป็นสัญญาเกินตัว บอกจะให้ในสิ่งที่ยากแสนยากโดยที่เจ้าตัวก็มักจะไม่รู้หรอกว่ามันยาก
แล้วการผิดสัญญามันจะส่งผลเสียต่อชีวิตรักเสียเท่าไรกันเชียว? การผิดสัญญานั้นก็เหมือนกับการโกหก ด้วยบรรทัดฐานของสังคม คนรักมักจะคาดหวังอยู่แล้วว่าคู่รักไม่ควรโกหกกัน และยิ่งหากเราใช้คำว่า ‘สัญญา’ เมื่อไร ยิ่งเป็นการแสดงความหนักแน่นว่าจะไม่โกหก การผิดสัญญาเลยยิ่งทำให้คู่รักรู้สึกแย่ ไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึกแย่ที่ถูกโกหก แต่เรื่องความเชื่อใจก็เป็นประเด็นสำคัญ
เมื่อคนรักให้สัญญากันไว้ อีกฝ่ายมักจะเทียบอัตราส่วนระหว่างการทำตามสัญญากับการทำผิดสัญญาในใจ เพื่อประเมินความเชื่อใจ ยิ่งอัตราส่วนของการผิดสัญญาหากเทียบแล้วมันน้อยกว่าการทำตามสัญญาจนน่าใจหาย ก็ยากที่เขาจะเชื่อใจ และความเชื่อใจกับความรักนั้นมันเป็นของคู่กันครับ คู่รักที่ไม่เชื่อใจกัน ก็ยากที่จะมีความสุข ระแวงกันไปทุกเรื่อง
มนุษย์เรานั้นวิวัฒนาการมาให้ระแวดระวังการถูกหลอกเป็นพิเศษ เพราะเราเป็นสัตว์สังคม การอยู่รอดในสมัยก่อนนั้นจำเป็นมากที่จะรู้ว่าใครคือคนที่ชอบโกหก ไม่ทำตามสัญญา ลองจินตนาการว่าคนที่มาขอแบ่งอาหารกับเราและสัญญาว่าถึงคราวเราหาอาหารไม่ได้จะแบ่งให้ แต่พอเราหาอาหารไม่ได้จริงๆ เขากลับไม่แบ่งให้เราตามสัญญา แบบนี้เราก็เสียเปรียบและอาจจะอดตายได้
สัญญาของคู่รักนั้นยิ่งสำคัญ เพราะสำหรับผู้หญิงการไม่ทำตามสัญญาคือเรื่องใหญ่ เพราะการผิดสัญญาที่เลวร้ายสุดคือ สัญญาว่าจะช่วยกันเลี้ยงลูก แต่พอมีลูกแล้วกลับชิ่งหนีไป การเลี้ยงลูกคนเดียวนั้นสาหัสมากครับในสมัยโบราณที่แค่หาอาหารก็หมดวันแล้ว ส่วนผู้ชายย่อมกลัวผู้หญิงที่ไม่รักษาสัญญาว่าจะมีความสัมพันธ์กับคนอื่น เพราะถ้าผิดสัญญา ฝ่ายชายอาจจะต้องเลี้ยงลูกของคนอื่นโดยไม่รู้ตัว การระวังไม่ให้ผิดสัญญา หรือโดนหลอกเลยเป็นเรื่องของความเป็นความตายที่ฝังมาในยีน ดังนั้นอย่าแปลกใจที่คู่รักของท่านมองท่านไม่ดีเพียงเพราะท่านผิดสัญญาไม่กี่ครั้ง เพราะมนุษย์เราวิวัฒนาการมาให้จำเรื่องที่อีกฝ่ายผิดสัญญาแม่นมาก และแม่นยิ่งกว่าเรื่องที่ท่านทำตามสัญญาด้วยซ้ำ
ถ้าไม่สัญญาก็ไม่ต้องกลัวผิดสัญญา แต่จะไม่ให้สัญญาเลยในชีวิตรักมันก็คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือระมัดระวังการจะให้สัญญากับคนรักไว้ให้มากๆ จะดีกว่า ยิ่งหากมันไม่ใช่เรื่องที่อีกฝ่ายเอ่ยปากขอ ถึงเราจะเจตนาดีที่จะสัญญาทำสิ่งดีๆ หรือให้สิ่งดีๆ ด้วยความรัก แต่ถ้าไม่มั่นใจมากพอว่าจะทำได้ อย่าสัญญาจะดีกว่า หรือถ้าอยากสัญญาจริงๆ ยังไงก็อยากจะให้ ก็ขอให้ยั้งไว้ก่อน อย่าให้อารมณ์พาไป กลับมาคิดให้ดีๆ ว่าทำได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ชัวร์ อย่าใช้คำว่าสัญญาครับ เพราะมันทำให้อีกฝ่ายคาดหวัง และพอมันเกิดขึ้นไม่ตรงกับความคาดหวัง มันก็สร้างความเสียใจแทน สัญญาไปห้าหกเรื่อง แต่ทำได้แค่เรื่องสองเรื่อง สู้สัญญาเรื่องที่ทำได้แน่ๆ เรื่องหรือสองเรื่องแล้วทำได้ตามสัญญาได้ครบแบบนี้กลับดูน่าเชื่อใจมากกว่า
หลายๆ คนนั้นชอบทำผิดสัญญากับคู่รักบ่อยๆ และมองข้ามว่านั่นคือความผิด ทำให้เกิดปัญหาเรื้อรังในความสัมพันธ์โดยที่ผู้สัญญาไม่รู้ตัวว่าตนทำผิด มีงานวิจัยที่พบว่าคู่รักนั้น เมื่อทำผิดต่ออีกฝ่าย ก็มักจะหาเหตุผลมาเข้าข้างให้ตนเองถูกต้อง ให้ตนเองมีความชอบธรรมกว่าความเป็นจริง มีเหตุผลสารพัดมาเข้าข้างตนเองว่าทำไมถึงทำผิดไป หากคู่รักทวงถามว่า ไหนสัญญาว่าจะเลิกกินเหล้า ก็อาจจะมีเหตุผลเข้าข้างตนเองว่า ก็ช่วงนี้งานมันเครียด กินให้ทนทำงานต่อไปไหว และจริงๆ ก็กินน้อยลงแล้ว ยังจะมาบ่นอะไรอีก หรือบางคนยอมสัญญาเพื่อให้เรื่องมันจบๆ ไป เช่น พอทะเลาะกับคนรักเรื่องประหยัดเงิน ก็ยอมสัญญาไปว่าจะทำตามโดยไม่รู้หรอกว่าทำได้ไหม แต่คิดว่าทำแบบนี้มันมีผลดีกว่าทะเลาะกันไม่หยุด ซึ่งเหตุผลเข้าข้างตนเองนั้นไม่ได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้นหรอกครับ ตอนเราผิดสัญญา แต่มันทำให้ผู้สัญญารู้สึกผิดน้อยลงหากผิดสัญญา
แล้วถ้าเรามารู้ทีหลังว่าจะทำตามสัญญาไม่ได้ เราควรแก้สถานการณ์อย่างไรดี คนรักกันนั้นไม่พอใจกันได้ โกรธกันได้ แต่ก็ให้อภัยกันได้เช่นกัน หากท่านสัญญาด้วยเจตนาดี ไม่ได้ตั้งใจจะโกหก ตอนนั้นอยากให้อะไรกับอีกฝ่ายจริงๆ แต่ต่อมาอาจจะทำไม่ได้เพราะมีสิ่งอื่นมาขัดขวาง หรือแม้แต่ท่านเองก็เพิ่งรู้ตัวว่าตัวท่านไม่มีความสามารถพอจะทำได้ทั้งๆ ที่ท่านพยายามทำตามสัญญาแล้ว หากคู่รักเขารับรู้ถึงเจตนาและความพยายามเหล่านี้ เห็นถึงความสำนึกผิดของผู้ผิดสัญญา เขาก็มีแนวโน้มที่จะให้อภัยมากกว่า ดังนั้นหากรู้ตัวว่าทำไม่ได้ อย่างน้อยควรจะลงมือให้เห็นว่าไม่ได้คิดจะพูดไปส่งๆ แต่ตั้งใจจะทำจริงๆ ให้อีกฝ่ายได้เห็น
สรุปแล้ว ระมัดระวังก่อนจะให้สัญญาแก่คนรักให้มาก และท่านจะปวดหัวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังของคนรักในคำมั่นสัญญาน้อยกว่า คำสัญญาที่เป็นเหมือนรางวัลอันแสนชื่นใจตอนให้ จะกลายเป็นระเบิดทำลายชีวิตรักตอนผิดสัญญา เหมือนคำที่คนเขามักบอกว่า คำพูดคน ตอนพูดเราเป็นนายมัน แต่หลังพูดมันเป็นนายเรา แค่นั้นไม่พอนะครับ แทนที่คนรักจะเข้าข้างท่าน เขากลับไปเข้าข้างคำพูดในอดีตของท่านแทนว่า แล้วทำไมเธอถึงไม่ทำตามที่พูด… แค่คิดก็เหนื่อยแล้วครับ