- ผลการวิจัยยังพบ เด็กและเยาวชนที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิตจากการเผชิญกับความผิดพลาดล้มเหลวเลย จะไม่รู้ศักยภาพของตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ซึมเศร้า ไม่มีชีวิตชีวาและไม่พอใจกับชีวิต
- ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเชื้อเพลิงเสริมสร้าง Growth Mindset ให้เด็กและเยาวชนมีความพยายามมากขึ้นและกล้าทำสิ่งที่แตกต่างจนพัฒนาตัวเองได้
- ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเชื้อเพลิงเสริมสร้าง Growth Mindset ให้เด็กและเยาวชนมีความพยายามมากขึ้นและกล้าทำสิ่งที่แตกต่างจนพัฒนาตัวเองได้
คุณกลัวความล้มเหลวไหม?
ถ้าคำตอบ คือ “ใช่” บอกได้ไหมว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้คุณ…กลัวความล้มเหลว?
เหตุผลแห่งความกลัวอาจมีอยู่หลายอย่าง
คุณจะดูแย่ในสายตาคนอื่น คุณจะรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง รู้สึกผิดหวังและอึดอัดใจ คุณไม่อยากเริ่มต้นใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก!!
ความล้มเหลว และ ความผิดพลาด จึงเหมือนเป็นคำสาป
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากทำผิด ทำพลาด หรือไม่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทำ ดังนั้นเมื่อไม่อยากเผชิญหน้า ไม่อยากรู้จักทักทายกับความรู้สึกแย่ๆ ที่จะเกิดขึ้น เราจึงพยายามสกัดกั้นไม่ให้ความล้มเหลวเดินเข้ามาหา ลามไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปกป้องลูกไม่ให้เผชิญหน้ากับความผิดพลาดล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะกลัวลูกสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง และไม่ภูมิใจในตัวเอง
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัยในประเทศออสเตรเลีย พบผลลัพธ์ตรงข้ามกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด
แมนดี ชีน (Mandie Shean) อาจารย์ประจำโรงเรียนการศึกษา (School of Education) มหาวิทยาลัยอีดิทโควาน (Edith Cowan University) ประเทศออสเตรเลีย เขียนไว้ในบทความเรื่อง ‘To make your child more resilient, you need to let her fail.’ เผยแพร่ในเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม (World Economic Forum ) ว่า
ความพยายามป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดล้มเหลวเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เป็นการตัดโอกาสที่ดีในการเรียนรู้การใช้ชีวิตไปจากพวกเขา เพราะความผิดพลาดล้มเหลวจะหยิบยื่นของขวัญที่หาไม่ได้จากที่ไหน ประสบการณ์จากการเผชิญหน้ากับมันจะนำพาไปสู่ความสำเร็จ
ของขวัญจากการเผชิญหน้า
เมื่อทำผิด-ทำพลาด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ ความรู้สึกผิดหวังหรืออึดอัดใจ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำไม่ใช่การป้องกันไม่ให้ลูกทำผิดพลาด แต่คือ การให้ลูกได้เรียนรู้วิธีจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดพลาดเล็กๆ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรร้ายแรงต่อการใช้ชีวิต
แมนดี เรียกความท้าทายเล็กๆ ในชีวิตนี้ว่า “steeling events”
การไม่ปล่อยให้ลูกทำสิ่งท้าทายบ้าง จะสร้างให้พวกเขากลายเป็นคนที่มีความเปราะบางทั้งทางร่ายกายและจิตใจ แทนที่จะเสริมศักยภาพให้เขาปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้ ผู้ปกครองต้องเชื่อมั่นว่าเด็กและเยาวชนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำ และการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
สมการการเรียนรู้ที่พวกเขาจะได้พบ เป็นเหตุเป็นผลที่เข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อทำหรือไม่ทำสิ่งนี้ สิ่งนี้เลยเกิดขึ้น เช่นถ้าไม่ตั้งใจเรียนหนังสือก็จะสอบตก หรือถ้าไม่ฝึกฝนอย่างหนักก็อาจจะไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในทีม เป็นต้น
ผลการวิจัยยังพบอีกว่า เด็กและเยาวชนที่ไม่มีประสบการณ์ชีวิตจากการเผชิญกับความผิดพลาดล้มเหลวเลยจะไม่รู้ศักยภาพของตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองมีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ซึมเศร้า ไม่มีชีวิตชีวาและไม่พอใจกับชีวิต
ของขวัญจากการเรียนรู้
ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้ การสร้างค่านิยมให้มองความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเรื่องไม่น่าพึงประสงค์ หรือเป็นสัญลักษณ์ของคนที่ไม่มีความสามารถ โดนตีตราว่าไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนหลีกเลี่ยงทำสิ่งที่ท้าทายและแปลกใหม่ ทั้งที่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ในระยะยาว
คำชื่นชมในความพยายาม
หากเราปรับวิธีคิด (mindset) ใหม่ ให้มองความผิดพลาดล้มเหลวเป็นโอกาส สิ่งนี้จะกลายเป็นของขวัญล้ำค่าแทนภัยคุกคามชีวิต
เด็กที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) เชื่อว่าความสามารถของสมองในการเรียนรู้และแก้ปัญหาสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากพยายามฝึกฝน ในทางกลับกันเด็กที่มีกรอบความคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) จากการถูกปลูกฝังหรือถูกตีกรอบการใช้ชีวิต เชื่อว่าความสามารถของสมองเป็นสิ่งที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด เราเกิดมาทำได้แค่นี้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้
ข่าวดี คือ ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเชื้อเพลิงเสริมสร้าง Growth Mindset ให้เด็กและเยาวชนมีความพยายามมากขึ้นและกล้าทำสิ่งที่แตกต่างจนพัฒนาตัวเองได้
นอกจากปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เรียนรู้จากการตัดสินใจ และแก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาเองแล้ว พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมลูกอย่างไรได้บ้าง?
สิ่งที่พ่อแม่ทำได้ไม่ยาก คือ การชื่นชม เพื่อช่วยหนุนกำลังใจให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า พร้อมเผชิญหน้ากับความล้มเหลวทุกรูปแบบ
ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ความรู้สึกของนักวิ่งเมื่อได้รับรางวัลเป็นของที่ระลึกจากการเข้าร่วมแข่งขันวิ่งแม้เข้ามาถึงเส้นชัยเป็นที่สุดท้าย ของรางวัลเป็นตัวแทนกำลังใจที่บอกว่าการไม่ได้เข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งก็ไม่เห็นเป็นไร
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบ่งชี้ว่า การชมเชยเกินจริงให้ผลลัพธ์ตรงข้าม และการกล่าวชื่นชมแบบโฟกัสไปที่ตัวบุคคล เช่น เธอสวยหรือฉลาดมาก กลับทำให้เด็กหลีกเลี่ยงทำสิ่งที่เสี่ยงหรือท้าทาย เพราะไม่อยากทำผิดพลาดหรือล้มเหลว กลัวไม่ได้รับการยอมรับและกลัวคนอื่นมองไม่เห็นคุณค่าเหมือนที่เคยได้รับ วิธีคิดแบบนี้ยิ่งทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเองน้อยลง ดังนั้นผู้ปกครองควรเรียนรู้วิธีการกล่าวชื่นชม โดยพุ่งเป้าไปที่แอคชั่น เช่น ความพยายาม ความกระตือรือร้น หรือการทุ่มเทแรงกายแรงใจของเด็ก แทนการชมว่า
“ดี สวย เก่ง เยี่ยม เลิศ…ที่สุดเลยลูก!!”
4 วิธีสอนลูก ให้มองความผิดพลาดแค่เรื่องเล็กๆ!
- หนึ่ง อย่าปกป้องลูกจากผลกระทบเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้จากความผิดพลาดของเขา
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อลูกไม่สนใจเรียนเท่าที่ควร ทำงานส่งไม่ทันเวลา หรือสอบไม่ผ่าน อย่าเข้าปกป้องหรือแก้สถานการณ์ให้ลูก ปล่อยให้เขาเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองก่อน
- สอง สวมบทเป็นเพื่อนช่วยคิด
ให้ความล้มเหลวหรือข้อผิดพลาดเป็นบทเรียน เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้และเติบโต พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นกองหนุนให้คำปรึกษาและแสดงความคิดเห็นร่วมกันกับลูกว่า…ทำอย่างไรไม่ให้พลาดอีกในครั้งต่อไป
- สาม บอกให้ลูกเข้าใจว่า…เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกแย่เวลาทำพลาดหรือทำอะไรไม่สำเร็จ
แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะรู้สึกแย่ ยังมีอีกหลายอย่างรอให้ลูกได้เรียนรู้และลงมือทำ ก้าวต่อทำสิ่งอื่นที่ต่างออกไปในอนาคต
- สี่ เมื่อลูกทำได้ดีกล่าวคำชื่นชมในความพยายามของลูก แต่ไม่อวยจนเกินพอดี เช่น “แม่เห็นความพยายามของลูก” หรือ “พ่อรู้ว่าลูกทุ่มเทขนาดไหน” เป็นต้น
ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่พ่อแม่จะปกป้องลูกจากการทำผิดพลาดหรือความล้มเหลวในชีวิต ปล่อยให้พวกเขาได้สัมผัสและใช้ชีวิตอยู่กับมัน แล้วพวกเขาจะได้รับของขวัญตอบแทนกลับไปอย่างคุ้มค่า บทเรียนจากความล้มเหลวจะทำให้พวกเขาปรับตัวกับการใช้ชีวิตได้ดีและมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น