- สิ่งที่สร้าง ‘กรงขัง’ ครอบใครหลายๆ คนนั้น หากมองลึกลงไป จะพบว่ามีระดับชั้นของการถูกทำให้รู้สึกบาดเจ็บอยู่ รอยแผลหรือกำลังใจใดที่ได้รับจากครอบครัวที่เป็นพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมแรกที่สร้างชีวิตคน จึงสามารถจะสลักไว้เป็นวิธีคิดของคนๆ นั้นด้วย
- ภัทรารัตน์ หยิบยกความรู้สึกนึกคิดที่เหมือนถูกขังและบาดเจ็บของตัวละคร ‘แนนซี่’ และ ‘ผีแม่ลูก’ จากซีรีส์เรื่อง Cabinet of Curiosities ตอน The Murmuring ที่ทำให้พวกเขาไม่อาจหาทางออกและปลดปล่อยตัวเองได้ มาเปรียบเทียบกับการสร้างกรงขังทางความรู้สึกของใครหลายๆ คน
- เรื่องเล่าของแต่ละคนเสริมสร้างและตอกย้ำความเชื่อนั้นๆ และในชีวิตจริงเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ล้วนแล้วแต่มีเรื่องเล่าของตนเอง จะเป็นเรื่องเล่าประโลมใจหรือชวนหดหู่ ก็อยู่ที่เราเลือกจะตอกย้ำอย่างไร
1.
แนนซี่ เป็นนักวิจัยพฤติกรรมนกผู้มุ่งมั่น แต่ไม่ถูกมองเห็น ในขณะที่แฟนของเธอซึ่งทำงานอย่างเดียวกันกลับได้รับคำชื่นชมและการยอมรับอย่างเต็มเปี่ยม หลังจากที่สูญเสียลูกไป เธอกลายเป็นคนที่ดูหมกหมุ่นอยู่กับงานแต่เพียงเท่านั้น ในสายตาของคนทั่วไปเธออาจดูเป็นผู้หญิงแปลกๆ ที่เอาแต่สนใจนกจนเหมือนไม่สนใจเรื่องอื่นเลย
อยู่มาวันหนึ่งเธอและแฟนได้ไปเช่าบ้านพักตากอากาศอยู่ริมทะเลสาบที่เหมาะกับการสังเกตพฤติกรรมนก โดยบ้านหลังนั้นเคยมีเหตุการณ์น่าเศร้าสลดเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเธอได้เรียนรู้เรื่องนี้หลังจากที่ได้อยู่บ้านพักดังกล่าวไประยะหนึ่งแล้ว ในบ้านหลังนั้นดูเหมือนมีคนกำลังอาศัยอยู่ รูปเจ้าของเก่าก็ยังติดตรึงอยู่บนฝาผนัง กลิ่นอายความโดดเดี่ยวฟุ้งลอยอยู่ในบรรยากาศหนาหนักของบ้าน
คืนหนึ่งในขณะที่แนนซี่กำลังจะหลับ เธอได้ยินเสียงร่ำไห้ของเด็กชายและเสียงนั้นก็ดังขึ้นทุกวันจนเธอรู้สึกหลอนแต่ขณะเดียวกันก็สนใจอย่างเต็มที่ เธอจึงเริ่มเล่าเรื่องให้แฟนและผู้จัดหาบ้านฟัง ซึ่งแทนที่จะได้รับการรับฟัง คนอื่นก็สะท้อนกลับมาคล้ายเธอกุเรื่องขึ้น ที่นั่นไม่มีผี มีแต่สิ่งเธอที่คิดไปเอง ราวกับทุกคนโทษว่าเธอผิดหรือเพี้ยนไปเอง จะทำอย่างไรได้เล่าเมื่อไม่มีใครเชื่อ อย่างมากแฟนก็เข้ามาปลอบโดยที่ไม่ได้เชื่ออะไรเธอเลย จนเธอตัดสินใจเผชิญหน้ากับผี จึงได้ทราบว่ามีผี 2 ตน คือผีเด็กและผีแม่ ผีเด็กที่ตัวเปียกเฝ้าถามตลอดเวลาว่า “ผมทำอะไรผิด” กับผีแม่ที่เอาแต่พูดว่า “แกทำอะไรลงไป” ภาพหลอนต่างๆ เกิดขึ้นต่อหน้าของเธอ เด็กถูกแม่กดน้ำจนตายและแม่ที่กระโดดหน้าต่างฆ่าตัวตาย
ในบ้านหลังนี้ ฝูงนกมักบินมาเกาะอยู่บนผนังผุพัง นกบางตัวที่ต้องการจะบินออกไปสู่อิสรภาพก็ทำได้เพียงวิ่งชนหน้าต่างและคอหักตายไปทั้งที่มีช่องทางให้ออกไปมากมาย นั่นเป็นดั่งใครก็ตามที่ถูกความรู้สึกนึกคิดของตัวเองขังไว้จนไม่อาจหาทางออกได้
วันหนึ่ง แนนซี่ขึ้นไปนั่งคนเดียวในห้องสีน้ำเงินสลัวด้วยใจเหม่อลอย แล้วเธอก็เห็นผีเด็กตนนั้นอีก เขาวิ่งหนีไปตามห้องต่างๆ พร้อมกับบอกว่า “คุณแม่โกรธผม” จนในที่สุดเขาหยุดยืนอยู่ตรงมุมมืดและพูดว่า “คุณแม่โกรธผม ผมไม่รู้ว่าผมทำอะไรผิด ที่นี่หนาว มันมืดมากๆ” เธอจึงสื่อสารกับเด็กน้อยว่า “คุณแม่ทำสิ่งเลวร้ายกับหนู หนูโดนทำร้าย มันไม่ใช่ความผิดของหนู หนูเป็นเด็กที่ไร้ที่ตินะครับ” เธอบอกให้เด็กน้อยมาอยู่ในบริเวณที่มีแสงสว่าง แล้วเด็กน้อยก็วิ่งเข้าหาแสง เขาไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป ในขณะที่ผีแม่กลับกรีดร้องดังขึ้นจากชั้นบน แนนซี่รีบวิ่งขึ้นไปพบผีสาวที่กำลังร้องไห้มองดูมือตัวเองและพูดซ้ำๆ ว่า “นี่แกทำอะไรลงไปๆๆ” จากนั้นก็กระโดดลงไปจากตรงนั้น ซึ่งเป็นฉากการฆ่าตัวตายซ้ำ แต่ครั้งนี้เธออยู่ในแสงสว่าง
ฝูงนกโบยบินส่งเสียงร้องก้องจรดผืนน้ำไกลสุดสายตา คล้ายบอกว่าแนนซี่ก็ได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากห้องขังโดดเดี่ยวแห่งความรู้สึกลบๆ แล้วเช่นกัน
2.
ถูกขัง
แนนซี่ แฟนของเธอ ผีเด็กและผีสาว ต่างก็เป็นตัวละครที่ถูกความรู้สึกนึกคิดของตัวเองขังไว้
แนนซี่ถูกขังจากความรู้สึกผิดเรื่องลูกตายจนไม่อยากคุยกับใครเพราะกลัวถูกโทษว่าเธอผิด จากพื้นเพที่เชื่อว่าตนไม่ค่อยถูกมองเห็นในด้านดีๆ อยู่แล้ว
แฟนของแนนซี่ถูกขังจากความเชื่อมั่นในหน้าที่และความเชื่อถือที่สังคมมอบให้ จนคิดว่าทางออกของตัวเองเหมาะกับแนนซี่ที่สุด โดยไม่ฟังเธอเลยและพยายามตัดบทเธอเสมอ
ผีเด็กถูกขังในความเดียวดายและมืดมิดในบ้านหลังนั้น เขายังคงคิดว่าตัวเองทำอะไร ‘ผิด’ เสมอมา
ผีสาวถูกขังอยู่ในความคิดว่าตัวเองเป็นเมียน้อยและการมีลูกทำให้คนรักไม่ยอมหลบเมียหลวงกลับมาหาตัวเอง ถูกทอดทิ้งไว้ที่บ้านซึ่งห่างไกลผู้คนและไม่มีสิทธิ์ไปเจอใครเพราะเป็นเมียน้อยเขา นอกจากนี้ยังโทษตัวเองที่ฆ่าลูกจึงได้ฆ่าตัวตายตาม
อะไรเล่าคือสิ่งที่สร้างกรงขังครอบคนเหล่านี้ ถ้ามองลึกลงไป มันมีระดับชั้นของการถูกทำให้รู้สึกบาดเจ็บอยู่ เช่น เริ่มจากครอบครัวและวิธีการถูกเลี้ยงดูมา ซึ่งก็มีผลกระทบกับชีวิตมาก ครอบครัวถือเป็นพื้นฐานที่สร้างชีวิตคน เป็นสิ่งแวดล้อมแรกที่เราปฏิสัมพันธ์ด้วยหลังจากเกิดมา รอยแผลหรือกำลังใจใดที่ได้รับก็สามารถจะสลักไว้เป็นวิธีคิดของคนๆ นั้นด้วย
หากการทำให้บาดเจ็บ มีสถานะทางสังคม
นอกจากนี้ มองในระดับที่กว้างกว่าครอบครัว กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมและ ‘ศีลธรรม’ บางอย่างก็มักเน้นย้ำการปกป้องคนที่มีลำดับขั้นสูงกว่า เช่น ผู้ใหญ่เหนือผู้น้อย พระเหนือฆราวาส พ่อแม่เหนือลูก เจ้านายเหนือลูกน้อง เป็นต้น ซึ่งก็พลิกไปมาได้ตามปัจจัยอื่นๆ อีกที
ไม่แปลก คนที่มีความสามารถและคุณสมบัติบางอย่างมากกว่า มีอำนาจ เข้าถึงทรัพยากรมากกว่าก็มักมีสิทธิ์ออกกฎและ/ หรือมักได้รับการสนับสนุนมากกว่าจากชุมชนที่ยังต้องพึ่งการอุปถัมภ์นั้นๆ หากพวกเขาทำผิดต่อคนที่มีผลรวมอภิสิทธิ์น้อยกว่า ฝ่ายหลังก็อาจระบายให้ใครฟังได้ยาก ดังนั้น หากเราเคยถูกทำร้าย(ซึ่งเป็นคนละอย่างกับการทำให้ตัวเองเป็นเหยื่อ) โดยคนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงกว่า อย่างหนึ่งที่เราทำได้ก็คือขอบคุณตัวเองที่ยังคงทำความเข้าใจเงามืดในตัวเองและมองหาแสงสว่างแม้ในโมงยามที่ดูเหมือนไม่มีใครเข้าข้าง ฯลฯ เราไม่จำเป็นต้องรีบให้อภัย แต่เราอาจให้อภัยได้ง่ายขึ้นเมื่อตระหนักว่าไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ เราก็เคยทำร้ายคนอื่นเหมือนกัน และจริงๆ การให้อภัยก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องเห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการทำร้ายสักหน่อย
3.
ไม่ยึดติดกับบทบาท
ในสถานการณ์ครอบครัว ในฐานะลูก สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ก็คือบอกพ่อแม่ซึ่งอาจเคยทำร้ายเรา (โดยพวกเขาก็มักไม่ได้ตั้งใจ และก็น่าเห็นใจเพราะพวกเขาก็มีบาดแผลหรือความเครียดของตน และก็มีประเด็นที่พวกเขายังขังตัวเองอยู่เช่นกัน) ว่าเราขอบคุณที่แม้เขาจะไม่มีตัวอย่างที่ดีกว่านี้ แต่พวกเขาก็ทำดีมากแล้ว
เราอาจเคยพบการละเมิดต้นแบบของสิ่งที่สามารถจัดอยู่ในลำดับขั้นทางสังคมที่สูงกว่า เช่น ละเมิดต้นแบบของการเป็นแม่ (Mother Archetype) และละเมิดแบบของผู้ที่แสวงหาสัจจะ หากแบบของพ่อแม่ทำให้เกิดบทบาทการหล่อเลี้ยงลูกให้เจริญงอกงามมีสุขภาวะ
บางคราพวกเขาอาจทำร้ายลูกหรือยับยั้งการเติบโตของลูกโดยไม่ตั้งใจ หรือนักสอนศาสนาผู้ถูกแห่แหนซึ่งเป็นแบบอย่างแห่งการแสวงหาสัจจะบางครั้งก็อาจจะไม่ได้รักษาความจริงเสมอไป แต่คนอื่นก็มีเส้นทางการเติบโตของพวกเขาเองและเปลี่ยนบทได้เสมอ
ในกรณีแนนซึ่งได้เป็นพยานรู้เห็นว่าแม่ทำร้ายลูก เธอได้กระโจนเข้าไปช่วยผีเด็กและนั่นทำให้เธอไม่กลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการทำร้ายอันมีสถานะ แต่ในอีกมุมหนึ่งฉันไม่อาจคาดหวังให้คนที่กำลังแสดงบทบาทใดๆ ที่ได้รับการสรรเสริญและปกป้องไม่เล่นนอกบท และถึงจุดหนึ่ง หลังเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านพ้นไป เราเองก็ต้องแยกแยะการที่เราถูกอีกฝ่ายปั่นหัวให้เราไม่กล้าเชื่อความรับรู้ของตัวเราเองจนเหมือนเราบ้าไปเอง ออกจากการที่เราเองฉายภาพ (projection) ร้ายกาจอย่างเกินสัดส่วนต่อข้อเท็จจริงไปที่คนอื่นซึ่งพวกเขาก็มีทั้งแง่บวกและลบหลากหลายเช่นเดียวกันกับเรา
อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่บรรดาคนที่ได้รับการยกย่องทางวัฒนธรรมกลับเกื้อกูลตัวเองและผู้อื่นได้มากขึ้นเมื่อพวกเขาไม่พยายามทำตามบทที่พวกเขาคิดว่าต้องเล่นอีกต่อไป เช่น เมื่อพ่อแม่ไม่พยายามทำตัวเป็นพ่อแม่ให้ลูกที่โตมากแล้ว พ่อแม่ก็กลับเกื้อกูลลูกได้อย่างเหลือล้นและมีพื้นที่ให้ทุกคนหายใจ หรือนักบวชที่ไม่ต้องพยายามทำตัวเป็นพระพุทธรูปก็สามารถยอมรับได้ว่าตนเองก็เคยผิดพลาดและไม่ต้องบิดข้อเท็จจริงเพื่อรักษาภาพลักษณ์อันแข็งตัวตามที่สาธุชนคาดหวัง แต่กลับมีความจริงแท้ในระดับสมมุติเป็นการตอบแทน ก่อนจะไปถึงระดับปรมัตถ์
เราเองก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในบทเดียวตลอด ซึ่งก็ทำให้เปิดรับความไหลลื่นของคนอื่นได้มากขึ้นด้วย
ลูกก็สามารถมีห้วงเวลา(แปลว่า ไม่ใช่ว่าทำได้ตลอด)ที่เป็นมารดาทางอารมณ์ให้พ่อแม่ได้ ห้วงขณะเช่นนั้น ความคาดหวังและบาดเจ็บจากการกระทำเชิงลบต่างๆ ของพ่อแม่หรือผู้ดูแลก็บรรเทาลง และเราอาจแม้แต่เข้าใจได้ว่า ในสิ่งที่ดูเหมือนว่าพ่อแม่ทำร้ายก็มีผลดีบางอย่าง เช่น ช่วยตัดสายสะดือทางจิตวิญญาณให้เราเติบโตแยกออกเป็นปัจเจกได้ง่ายขึ้น อย่างไรเสียพ่อแม่ที่มีกายเนื้อและความเป็นมนุษย์ ก็คือของขวัญในการแยกจากเพื่อมาเกิดบนโลกมนุษย์ของลูกเช่นเดียวกัน
อีกทั้ง เสี้ยววินาทีที่คนเล่นบทลูกสัมผัสได้ว่าตนเองก็เป็นมารดาของสิ่งต่างๆ ในระดับที่กว้างใหญ่กว่าและพ้นไปจากความรู้สึกว่าเป็น ‘ลูกของกู’ เราก็ไม่คาดหวังอะไรจากคนอื่น อย่างในกรณีที่ผู้คนเล่าเรื่องเปราะบางแห่งการถูกทำร้ายให้ฟัง เราพูดเข้าข้างเขาได้ เราเป็นพยานในความเจ็บปวดและความไม่ยุติธรรมที่เกิดกับเขาตามความรับรู้ของเขาได้ แต่พวกเขาต่างมีวิถีของตนและไม่ได้มีหน้าที่มาเข้าใจเรา แม้แต่ในสิ่งที่เราสื่อสารเมื่อเขาต้องการความเห็นใจจากเรา
เขาก็เป็นอิสระจากเรา เช่นเดียวกับที่เราจึงเป็นอิสระทางใจจากพวกเขาด้วย
กระนั้น สภาวะเช่นนั้นก็มิได้คงอยู่ตลอด เมื่อกลับสู่โลกปุถุชน ช่วงไหนที่ไม่ไหว จะเล่าเรื่องที่รู้สึกว่าอยุติธรรมในชีวิตให้คนไว้ใจสักคนฟังก็ได้นะ
ซึ่งก็มักจะพบว่ามีเพื่อนฝูงที่โดนเหมือนเราในกรณีต่างๆ และเข้าใจ ไม่ต้องมีเยอะแต่ก็เป็นอาหารใจที่เพียงพอแล้ว
ผู้คนต่างเห็นเฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากเห็น เรื่องเล่าของแต่ละคนเสริมสร้างและตอกย้ำความเชื่อนั้นๆ ในชีวิตจริงเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร ล้วนแล้วแต่มีเรื่องเล่าของตนเอง จะเป็นเรื่องเล่าประโลมใจหรือชวนหดหู่ มันก็อยู่ที่เราเลือกจะตอกย้ำอย่างไรนั่นเอง
อ้างอิง
ภาพยนตร์ Cabinet of Curiosities ตอน The Murmuring ฉายทาง Netflix