Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Healing the trauma
12 October 2018

เราไม่ควรอดทนกับการ BULLY อีกต่อไป ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์

เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนากนกอร แซ่เบ๊ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • พฤติกรรมการแกล้งกันของเด็ก เชื่อว่าเกิดจากการไม่มี self หรือการมองเห็นศักยภาพตัวเอง เพราะ self ของเด็กมันถูกผูกกับการศึกษาและความเก่งในห้องเรียน
  • บ้านและโรงเรียน มีส่วนในการช่วยสร้าง self ให้กับเด็ก
  • ปัญหาการรังแกกันหรือเด็กฆ่าตัวตาย ควรถูกจัดให้เป็น first priority หรือควรถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก มากกว่าไปโฟกัสให้เด็กสอบได้ที่หนึ่ง

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข บอกว่าประเทศไทยติดอันดับ 2 ของโลก ในเรื่องการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน หรือการ bully และพบปัญหาเด็กถูกรังแกในสถานศึกษามากถึงปีละ 600,000 คน

The Potential จึงชวน ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ จาก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของผลงานวิจัยเกี่ยวกับ cyberbullying ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย มาพูดคุยและทำความเข้าใจกรณีเด็กที่ชอบรังแกคนอื่น รวมถึงมองทางออกในหลายๆ มิติ ที่ช่วยให้ปัญหาการ bully ในเด็กไทยเบาบางลงได้

ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์

ทำไมเด็กๆ ถึง Bully

พฤติกรรมการแกล้งกันของเด็กเชื่อว่าเกิดจาก เด็กไทยไม่มี self หรือการมองเห็นศักยภาพตัวเอง เพราะ self ของเด็กมันถูกผูกกับการศึกษาและความเก่งในห้องเรียน ที่พูดได้แบบนี้เพราะไปทำงานวิจัยเรื่อง cyberbullying ที่ญี่ปุ่น ดูการเปรียบเทียบการกลั่นแกล้งกันระหว่างสองประเทศ พบว่าสังคมญี่ปุ่นเขาจะแนะนำเด็กทุกคนในห้องได้อย่างเท่าเทียมและน่ารัก คนนี้ล้างจานได้สะอาด คนนี้พับนกกระดาษได้เก่ง มีไม่กี่คนเท่านั้นที่จะถูกแนะนำว่าเรียนเก่ง นอกนั้นจะเป็นเรื่องทั่วไปในบ้าน

การทำเช่นนี้ทำให้ทุกคนมีที่ยืน ถูกผลักออกมาข้างหน้าโดยเสมอกัน ทำให้เกิดการมองเห็นและเคารพกัน ว่าทุกคนมีดี มีความแตกต่างหลากหลาย เมื่อมันหลากหลายมันจึงไม่มีใครเหนือกว่าใคร หรือมีใครต่างจากใคร ไม่มีใครเป็นไอ้โง่ ไม่มีใครควรจะถูกแกล้ง เวลาที่เด็กจะแกล้งใคร เพราะเขารู้สึกว่ามันไม่เท่า มันไม่เหมือน มันต่าง จึงแกล้งเพื่อความสะใจบางอย่าง

แปลว่าเด็กชอบแกล้งคนที่ด้อยกว่า?

มีทั้งสองกรณี ทั้งคิดว่าตัวเองด้อยกว่าและเหนือกว่า คนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าจะ keep ความภูมิใจของตัวเองไว้ มองว่าฉันเหนือกว่าทุกคนแล้วจึงไปแกล้งคนอื่น ส่วนคนที่ด้อยกว่านั้น ในเมื่อตัวเองรู้สึกไม่มีที่ยืนเลยต้องไปหาที่ยืนใหม่โดยใช้วิธีไปแกล้งคนอื่น แม้จะได้ผลในทางลบแต่มันทำให้มีตัวตนขึ้นมาทันที

เพราะอะไรเด็กไทยถึงขาด self

เพราะพ่อแม่ ครู หรือทุกๆ อย่างที่พยายามบอกว่า เด็กดีจะต้องเป็นเด็กเรียนเก่ง จริงๆ คำว่า ‘ดี’ มันมีตั้งหลายอย่าง มันไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ ดีในเรื่องอื่นๆ ก็ได้ แต่เราได้ฝังความเชื่อเรื่องนี้มานาน ‘ดีกับเก่ง’ จะต้องอยู่ในคนเดียวกัน พอไม่เรียนก็จัดเป็นเด็กไม่ดี

จริงๆ มีเด็กหลายคนที่ไม่ได้ถนัดเรียน แต่ชอบที่จะทำในด้านอื่นๆ อยากจะออกไปทำงานตั้งแต่อายุน้อยๆ หรืออยากจะเรียนในสิ่งที่โรงเรียนไม่มีบ้าง อยากจะเรียนพับเครื่องบินก็ไม่มี เด็กถูกกดดันให้ทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่เป็นคนเลือก ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวตนของเขาจริงๆ

ครอบครัวมีผลให้เด็ก bully คนอื่น ได้อย่างไร?

ขอยกกรณีจากเคสของเกาหลีใต้ ซึ่งฟังดูแล้วอาจจะดูฮาร์ดคอร์ไปสักหน่อยสำหรับสังคมไทย

มีเด็กชายคนหนึ่ง เรียนเก่ง มาจากครอบครัวที่มีเงิน ต้องบอกก่อนว่าในประเทศเกาหลีใต้เด็กมักจะได้เรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเป็นหลัก ดังนั้นในแต่ละโรงเรียนก็จะมีเด็กคละๆ กันไป เด็กชายคนนี้มีนิสัยชอบแกล้งคนอื่น ดูถูกเหยียดหยาม คุณครูจึงคุยกับพ่อแม่ของเด็กคนนี้ว่าจะต้องมอบบทเรียนอันมีค่าให้กับเขา

เพื่อให้เขาโตขึ้นแล้วไม่ทำนิสัยแบบนี้กับใคร เมื่อพ่อแม่และทางโรงเรียนตกลงกันได้แล้ว จึงจัดสถานการณ์จำลองโดยให้เพื่อนเหยียดหยามเขาคืนติดต่อกัน 3 วัน เมื่อเขากลับไปร้องไห้ที่บ้าน ให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ในการสอนลูก ให้เขาระลึกว่าเคยไปทำแบบนี้กับใครหรือไม่ เมื่อต้องไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น ครูและเพื่อนเข้ามากอดปลอบ และบอกกับเด็กชายคนนี้ว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นใน 3 วันนี้ มันจะสอนให้เขารู้ว่า ถ้าเราไม่รักหรือไม่ชอบอะไร เราก็ไม่ควรทำสิ่งนั้นกับคนอื่น

เรียกวิธีสอนแบบนี้ว่า ‘ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน’ แต่วิธีนี้จะได้ผลต่อเมื่ออยู่บนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบ้านและโรงเรียน เราจึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าโรงเรียนในประเทศไทยจะทำวิธีนี้ได้ไหม?

แบบไหนถึงเรียกว่า Bully

การกลั่นแกล้งมีทั้งหมด 3 ระดับ

  • หนึ่ง คนแกล้งจะต้องมีเจตนา ไม่ล้อเล่น
  • สอง คนที่ถูกแกล้งจะต้องรู้สึกเจ็บปวด ไม่ว่าจะเป็น ทางกาย วาจา ใจ
  • สาม เกิดการกระทำต่อเนื่องเพราะเจตนาของคนแกล้งยังคงอยู่

เมื่อเด็กทำครั้งแรกแต่รู้ว่าเพื่อนไม่ชอบ ควรจะหยุด ไม่ควรเกิดครั้งที่สองและครั้งที่สาม ถ้ายังเกิดขึ้นอีกแสดงว่ามีเจตนาแอบแฝง ดังนั้นพฤติกรรมการ bully หรือการรังแกคนอื่น จะต้องเป็นไปตามสามข้อนี้

โรงเรียนขนาดเล็กช่วยแก้ปัญหา Bully ได้?

ในต่างประเทศโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ มักจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ การใช้ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้สิ่งที่ชุมชนมีช่วยดูแลเด็กจะทำให้เด็กมีคุณภาพ ข้อดีของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ จะแบ่งเด็กเป็นแต่ละประเภทได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มที่ถนัดเชิงตรรกะ กลุ่มศิลปินชอบศิลปะ กลุ่มชอบกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มความถนัดทางกาย กลุ่มนักดนตรี กลุ่มภาษาวรรณกรรม หรือด้านอื่นๆ เพราะเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาก็ไม่เหมือนกัน เราควรแบ่งเด็กทั้งเชิงความสามารถและเชิงนิสัยตัวตน

การแยกเด็กออกเป็นแต่ละประเภทจะทำให้ครูเข้าใจเด็กแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ ครูจะรู้ว่าเด็กคนนี้มีความสามารถทางกาย เรียนไม่เก่ง แต่ชอบแข่งกีฬาและมีอารมณ์อ่อนไหว ควรจะดูแลในเรื่องใดบ้าง แต่ถ้ายุบโรงเรียนขนาดเล็กแล้วปูทุกอย่างเข้าโรงเรียนใหญ่ ผลิตคนแบบสายพาน เหมาโหล-เหมาเข่ง มันจะผลักให้จินตนาการและตัวตนของเด็กค่อยๆ หายไป

โลกโซเชียลเป็นตัวเพิ่มช่องทางการกลั่นแกล้งในเด็กไหม?

บ้านเราหยิบยื่นโทรศัพท์มือถือให้อย่างอิสระ ความรุนแรงในเกมหรือภาพที่ว่องไว ส่งผลต่อการเป็นสมาธิสั้นต่อเด็กเล็ก และมีผลบ่มเพาะความรุนแรงจากเนื้อหาเกมที่ไม่เหมาะสม

ชีวิตเด็กอยู่แค่สองที่เท่านั้น ไม่โรงเรียนก็บ้าน อยากให้ปัญหาเด็กเล็กเล่นโทรศัพท์กลายเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อทุกคนยื่นโทรศัพท์ให้กับเด็ก เพราะจะได้เลี้ยงง่าย เด็กจะอยู่นิ่ง พ่อแม่จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น จริงๆ มันไม่ใช่ ของเล่นที่สำคัญที่สุดในชีวิตของลูกที่ลูกต้องการ คือ พ่อแม่ ช่วงวัย 1-12 ปี ตั้งแต่คลอดมาจนพ้นอก มันเป็นช่วงเวลาเข้มข้นที่ลูกจะได้อยู่กับพ่อแม่ จนค่อยๆ ห่างออกไป

ถ้าใน 12 ปีนี้ พ่อแม่จริงจังและเป็นทุกอย่างให้ลูก เมื่อเกิดอะไรก็ตามเขาจะกลับมาบอกพ่อแม่ จะคิดถึงพ่อแม่ก่อน แล้วในเวลาเดียวกันถ้าพ่อแม่ใส่ความรับผิดชอบ สอนเรื่องดีๆ เข้าไป เขาจะเปิดรับและฟังเรา เมื่อโตขึ้นเขาจะมีภูมิคุ้มกันในใจ เริ่มคิดได้ด้วยตัวเองว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ แต่ถ้าเราหยิบยื่นมือถือให้เขาตั้งแต่วันนี้ เวลาที่พ่อแม่จะให้กับลูกจะถูกดึงออกไป เวลาเขาโตเป็นวัยรุ่นพอลูกไม่ฟัง ก็ไปโทษลูก

บ้านและโรงเรียนผูกกับการสร้าง Self ของเด็ก?

“ทำไมถึงเรียนไม่ได้”

“ทำไมวิชานี้ได้คะแนนน้อย”

แน่นอนว่าเด็กหลายคนโดนครอบครัวผูกกับระบบการศึกษามานานด้วยคำพูดเหล่านี้ ถ้าไม่ไปโรงเรียนก็จะกลายเป็นเด็กเกเรทันที แต่ความจริงการไม่ไปโรงเรียนมันไม่ได้มีความหมายคับแคบอย่างนั้น อาจเป็นเพราะเด็กเริ่มรู้สึกว่าโรงเรียนไม่สนุก ไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาอยากเรียน โรงเรียนไม่ได้ท้าทายและทำให้รู้สึกอยากจะตื่นเช้าไปก็ได้

เมื่อเด็กขาด self จากทางบ้านและโรงเรียน จึงเป็นเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้เขาต้องแกล้งคนอื่น เขารู้สึก self ตัวเองไม่เต็ม อาจจะเป็นความรู้สึกแค่ชั่วเวลาหนึ่ง หรือรู้สึกยาวๆ ก็ได้เหมือนกัน

ตัวอย่างง่ายๆ เคยรู้สึกเสีย self ไหม เราจะรู้สึกเสีย self ตอนไหน ตอนอกหัก? ตอนตอบคำถามไม่ได้?

เมื่อเสีย self เราจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เราไม่ดี เราทำไม่ได้ ถ้าไม่เข้มแข็งพอก็อาจจะทำให้ฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองไปแล้ว ส่วนวิธีการดึง self กลับมา มันก็จะมีหลายวิธี รวมถึงการไปกลั่นแกล้งคนอื่น

ห้องเรียนช่วยสร้าง Self

คุณสมบัติทางใจเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำก่อน คนญี่ปุ่นบอกว่าการจะสร้างคนที่ดี ต้องสร้างใจให้แข็งแรงก่อน ฝึกให้ล้มคลุกคลาน ให้รับผิดชอบ สอนให้ทำงานหนัก เอาความผิดพลาดมาเป็นบทเรียน แชร์ความผิดพลาดออกไป ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย เด็กไทยเวลาทำโจทย์น้อยมากที่จะยกมือตอบ กลัวอาย กลัวตอบไม่ถูก กลัวเพื่อนล้อ ต่างจากญี่ปุ่นถ้ามีเด็กตอบผิด ครูก็จะขอบคุณเด็กคนนั้น เพราะทำให้รู้ว่ามีอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เกิดอีกหนึ่งคำตอบได้ และเพื่อนๆ ในห้องก็จะโค้งขอบคุณด้วยความจริงใจ วิธีเช่นนี้จะทำให้เด็กกล้าตอบ และไม่กลัวที่จะเสีย self

ที่สำคัญครูต้องเปลี่ยนการประเมินบ้าง ประเมินความสุขให้รอบ 360 องศา ครูประเมินนักเรียน นักเรียนประเมินครู เพื่อนประเมินเพื่อน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเกรดอย่างเดียว เราถึงจะผลักเรื่องปัญหา bully ออกไปได้

เราจะรักษาแผลจากการโดน Bully ได้อย่างไร

ถ้าเรามั่นใจว่าดูแลลูกดีพอ เราจะสังเกตอาการของเขาได้ง่าย เพราะการโดน bully มันจะเกิดสิ่งที่ไม่ปกติขึ้น ถ้าเครื่องรีเช็คของพ่อแม่ดีพอ ใส่ใจลูกทุกวัน พ่อแม่จะรู้เลยว่าลูกกำลังเศร้าหรือรู้สึกอย่างไรอยู่ เวลาเป็นสิ่งที่มีค่าสำหรับลูก แบ่งคุยกับเขาทุกวันให้เล่าว่าในแต่ละวัน เกิดอะไรขึ้นบ้าง พ่อแม่จะรู้โดยอัตโนมัติทันทีว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา จะได้จัดการปัญหาและรักษาแผลที่เกิดขึ้นได้

Bully ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทน

การกลั่นแกล้งเป็นหนึ่งใน zero tolerance หมายถึง เราไม่จำเป็นต้องอดทนกับเรื่องพวกนี้ ไม่ต้องกลัวว่าการลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองจากการตกเป็นเหยื่อ bully จะเป็นเรื่องที่ผิด หรือการที่ตัวพ่อแม่ลุกขึ้นมาปกป้องลูกจะกลายเป็นการโอ๋ หรือให้ท้ายลูกเกินไป เพราะถ้าเราปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นโดยที่ไม่ทำอะไร ยิ่งเป็นการซ้ำให้ปัญหามันยังอยู่

ปัญหาการรังแก การแกล้งกัน หรือเด็กฆ่าตัวตาย ควรถูกจัดให้เป็น first priority หรือควรถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก มากกว่าไปโฟกัสให้เด็กสอบได้ที่หนึ่ง ได้รางวัล หรือชิงแชมป์ระดับโลก

เพราะมันคือเรื่องปกติ หากการเรียนการสอนที่ผ่านการดูแลเป็นอย่างดี เรื่องเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ปัญหา bully ต่างหากที่เป็นสิ่งไม่ปกติ และควรจะได้รับการลงมือแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

Tags:

โรงเรียนปม(trauma)กลั่นแกล้ง(bully)ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์

Author:

illustrator

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

หลงใหลถุงผ้ากับกระบอกน้ำ เริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกปรือและอยู่กับผู้คนในประเด็นการศึกษา สนุกจะคุยกับเด็ก ชอบฟังเรื่องเล่าในห้องเรียน ที่สนใจการเรียนรู้ก็เพราะเชื่อว่านี่เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

illustrator

กนกอร แซ่เบ๊

อดีตนักศึกษามานุษยวิทยา เกิดในครอบครัวคนจีนจึงพูดจีนได้คล่องราวภาษาแม่ ปัจจุบันเป็นคุณน้าที่หลงหลานสุดๆ และขยันฝึกโยคะเกือบเท่างานประจำ

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Movie
    School 2017: เมื่อการสอบเป็นแรงขับเคลื่อนทางการศึกษา แล้วเกรดเป็นเครื่องตัดสินนักเรียน

    เรื่อง ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

  • Education trend
    เพราะผู้ใหญ่กลั่นแกล้งและไม่เคารพกัน เด็กๆ จึง BULLY ตาม

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • Education trend
    ครูก็คือครู อย่าเอาหน้าที่ของพ่อแม่มาแบกไว้บนไหล่

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

  • Healing the trauma
    คน BULLY ไม่ใช่ใคร พ่อแม่นั่นเอง

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • Education trend
    มหกรรมสอบในเด็ก: ความเครียดและความล้มเหลวก่อนวัยอันควร

    เรื่อง The Potential

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel