- ศิลปินสตรีทอาร์ต ผู้ใช้จิตวิญญาณ ‘ขบถ’ เป็นแรงผลักดันในการเลือกเส้นทางตามความฝัน เขาไม่เพียงกล้าออกนอกกรอบของสังคม เพื่อเดินตามความหลงใหลในศิลปะ แต่ยังแหวกกฎการทำงานศิลปะในรูปแบบเดิมสร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนตัวตนในแต่ละช่วงชีวิต กระทั่งก้าวข้ามสู่บทบาทคุณพ่อของลูกสาว ก่อเกิดเป็นคาแรกเตอร์ ‘เด็กน้อยสามตา’ ที่ทำให้คนทั่วไปทั้งที่เป็นสายอาร์ตและไม่ใช่… รู้จักเขามากขึ้น
ภาพ ‘เด็กน้อยสามตา’ ในชุดกระต่าย ที่ปรากฏบนผนังกำแพงทั้งในสถานที่สาธารณะและแหล่งท่องเที่ยว กลายเป็นภาพจำที่หลายคนมักใช้อ้างอิงถึงศิลปิน Alex Face (อเล็ก เฟส) แต่สำหรับคนในแวดวงศิลปะ โดยเฉพาะ Street Art (สตรีท อาร์ต-ศิลปะในพื้นที่สาธารณะ) เขาคือมือวางอันดับต้นๆ ที่ทำให้สตรีทอาร์ตไทยเป็นที่รู้จัก ไม่เฉพาะในเมืองไทยแต่รวมถึงในต่างประเทศด้วย
ทว่า กว่าจะมาเป็น อเล็ก เฟส ที่ใช้คำว่า ‘อาร์ติส’ เป็น ‘อาชีพ’ ได้อย่างเต็มปาก แม้จะไม่ถึงขนาดต้องต่อสู้กับแรงทัดทานในครอบครัวแบบที่เด็กๆ หลายคนเจอ แต่ก็จำเป็นต้องผ่านการยืนยันตัวตนครั้งแล้วครั้งเล่า กับความชอบความหลงใหลในศิลปะ ทั้งกับคนรอบข้าง ครูที่โรงเรียน หรือแม้แต่ป้าข้างบ้าน
The Potential ชวนอเล็ก เฟส หรือในชื่อจริง พัชรพล แตงรื่น คุยถึงชีวิตและการเติบโตของเขาบนเส้นทางสายศิลปะ ความเป็นขบถที่คอยหนุนหลังให้เขากล้าที่จะแตกต่าง จนมาถึงวันนี้กับบทบาทคุณพ่อของลูกสาว บนรอยต่อแห่งยุคสมัย เจเนอเรชัน และเส้นแบ่งที่เปลี่ยนไปของคำว่า ‘ในกรอบ’ และ ‘นอกกรอบ’ สังคม โดยมีฉากหลังเป็นนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขา ‘20TH YEAR Alex Face’ by BANGKOK CITYCITY GALLERY
เด็กชายผู้หลงรักศิลปะ
ย้อนกลับไปตอนที่ ด.ช.พัชรพล ยังวิ่งเล่นอยู่แถวฉะเชิงเทรา เขาบอกว่าตัวเองเติบโตมาในครอบครัวธรรมดาๆ แวดล้อมด้วยสังคมที่ทัศนคติต่องานศิลปะยังเป็นได้แค่งานอดิเรก
“สมัยนั้นยังไม่มีการเรียนการสอนศิลปะเหมือนทุกวันนี้ แม้กระทั่งโรงเรียนประถมก็ไม่ได้มีครูสอนศิลปะที่เป็นเรื่องเป็นราว เราแค่ชอบวาดรูป ระบายสีเล่น ระบายสีแล้วมันไม่ออกนอกเส้นก็ภูมิใจ เลยทำต่อมาเรื่อยๆ รู้สึกว่าเป็นของเล่น ไปหาดินเหนียวในคลองมาผสมดิน มาปั้นเล่น ปีนต้นไม้ ไปหักกิ่งไม้ มาประดิษฐ์ หาปฏิทินมา Drawing วาดตาม ผมมองว่าเป็นเรื่องของการพัฒนาทักษะทางศิลปะโดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังทำงานที่เกี่ยวกับทักษะศิลปะอยู่”
อเล็ก เริ่มต้นเล่าถึงรักแรกของเขากับศิลปะที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งใครจะเรียกว่าเป็นแพสชันก็คงไม่ผิดนัก และเขาโชคดีที่ค้นพบความสนใจความหลงใหลของตัวเองตั้งแต่เด็ก
“กระทั่งได้มาเรียน ม.1 ถึงเริ่มมีห้องศิลปะ มีอาจารย์สอนศิลปะมาเทรนเราอย่างจริงจัง ผมก็รู้สึกว่าชอบ พร้อมไปฝึกกับครูทุกวันหลังเลิกเรียน ตอนช่วงพักเที่ยงไปวาดรูป แล้วก็ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไปประกวดวาดรูป ก็เลยรู้ตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นว่าอยากเรียนต่อศิลปะ”
“เรารู้ตัวเองว่าไม่สามารถไปเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ได้หรอก เพราะเรียนแล้วเบื่อ ไม่ได้มีความกระหายใคร่รู้ว่าเรียนคณิตศาสตร์แล้วเป็นยังไงต่อ ไปเรียนอย่างอื่นน่าจะไม่มีความสุข ก็เลยคิดว่าเรียนศิลปะนี่แหละ
เราอยากวาดรูปเก่งขึ้น อยากวาดรูปทุกอย่าง น่าจะมีความสุขกว่า โดยที่ไม่คิดถึงรายได้อะไรหรอก เพราะเขาก็บอกว่าเป็นศิลปินไส้แห้งอยู่แล้ว ก็เอาวะ ตอนนั้นคิดเลยว่าแห้งก็แห้งวะ ขอให้ได้วาดรูปแล้วกัน”
เมื่อตกลงปลงใจจะเป็นศิลปินไส้แห้งแล้ว ด่านต่อไปคือการขอความเห็น(ด้วย)จากคนในครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องเผชิญกับความกังวลว่าทางนี้อาจจะไม่มั่นคง แต่อเล็กก็ไม่ได้ถอดใจ ใช้ความมุ่งมั่นและการพูดคุยอย่างมีเหตุผล เพื่อยืนยันการตัดสินใจของตัวเอง
“พ่อก็ไม่อยากให้เรียนศิลปะ จริงๆ อยากให้เรียนอะไรที่รู้สึกว่ามีอาชีพมั่นคงหน่อย แต่ผมก็ไปคุยกับเขาว่าผมอยากเรียน ผมคุยกับเขาว่า พ่อ ผมอยากวาดรูป เรียนวาดรูปก็จบปริญญาได้เหมือนกัน เราก็ไปหาข้อมูลมาคุยกับเขา ให้เหตุผลว่าเรียน ปวช. เสร็จแล้วไปต่อมหาวิทยาลัยได้ จบแล้วก็ได้ปริญญาเหมือนกัน พอเขาเห็นว่าเราเอาข้อมูลมาคุยจริงจัง มีเอกสารมาหมดเลย เขาก็บอก…แล้วแต่แล้วกัน ก็เลยได้เรียนศิลปะ”
ประกาศตัวตนผ่านสตรีทอาร์ต
ชีวิตนักศึกษาศิลปะของอเล็กเป็นไปอย่างที่หวัง เขาเรียนสาขาวิจิตรศิลป์ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้น ราวปี ค.ศ. 2000 วัฒนธรรมดนตรีแนวฮิปฮอปกำลังเป็นที่นิยมในเมืองไทย ซึ่งวัฒนธรรมทางดนตรีนี้ได้หลอมรวมการพ่นสีหรือกราฟิตีเข้ามาด้วย เขาจึงเริ่มสนใจศึกษาและทดลองที่จะสร้างผลงานในแบบของตัวเอง แม้ว่าโดยหลักการและวิธีการทำงานจะหลุดกรอบจากที่เรียนมาก็ตาม
“เราชอบกราฟิตี เหมือนได้ไปศึกษาศิลปะอีกแขนงหนึ่ง ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าเป็นศิลปะด้วย คิดว่าเป็นเหมือนไลฟ์สไตล์มากกว่า เป็นแฟชั่น ความคูล เราก็ไปดูว่ากราฟิตีประเทศอื่นเขาพ่นกันยังไง ไปศึกษาในเว็บไซต์ Graffiti.org ตอนนั้นจะมีกราฟิตีที่มาจากประเทศต่างๆ ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ทำให้เห็นความแตกต่างของกราฟิตีแต่ละประเทศ แล้วก็เริ่มซื้อหนังสือสตรีทอาร์ตที่เป็นของศิลปินอเมริกันยุคแรกๆ เริ่มเห็นว่ามีงานศิลปะที่เขาทำอีกแบบหนึ่งที่มันหลุดจากการเรียนของเราไปเลย พอศึกษามาสักระยะหนึ่ง ก็เริ่มซื้อสีมาพ่นเอง ชิ้นแรกพ่นบนรถเก่าเป็นชื่อผมเอง คือ Alex ซึ่งเป็นฉายาตอนเรียนอยู่แล้ว”
จากความชอบ ความสนุกที่ได้รวมพลพ่นสีป่าวประกาศตัวตนท้าทายกฎหมายบนกำแพงในที่สาธารณะ โดยเฉพาะตามตรอกซอยซอยในพื้นที่ลาดกระบัง เขาค่อยๆ ผสมผสานความรู้ด้านวิจิตรศิลป์เข้ากับเทคนิคการพ่นสีสเปรย์เพื่อทำวิทยานิพนธ์ จนคลี่คลายมาเป็นผลงานสตรีทอาร์ตที่มีเอกลักษณ์ทั้งสีสันลายเส้นและ Message (สาร) ที่แฝงนัยทางสังคม
“ตอนทำธีซิสก็เริ่มเอามาผสมกัน ความชอบ อิทธิพลต่างๆ ที่เราได้มาจากงานกราฟิตีมาผสมกับการเรียนด้านวิจิตรศิลป์ของเรา โดยก็ต้องผ่านการพูดคุยกับอาจารย์ว่าเขายอมรับได้มั้ย เพราะอาจารย์บางคนก็ไม่ชอบ มองว่าเราไม่ได้ทำงานศิลปะ เป็นเรื่องที่เราต้องไปคุยกับอาจารย์ ต้องไปนำเสนออะไรใหม่ๆ ที่เรารู้สึกว่าเป็นยุคเราเข้าไปใส่ในการเรียน”
“ช่วงแรกก็สนุก ปีนตึกชั้น 3 ไปพ่นกัน อันตรายก็ไม่คิดอะไร แต่มันก็ค่อยๆ พัฒนาความคิดมาเรื่อยๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้มาเรื่อยๆ เราพ่นแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างในสิ่งที่เราทำไป ประกอบกับที่ผมเรียนศิลปะมา มีกระบวนการคิด กระบวนการสร้างสรรค์ที่เราใช้ในการเรียน ก็เริ่มเอามาใช้ด้วยกัน จากที่พ่นแล้วโดนด่ามาเยอะ มีปัญหาเยอะ ก็เลยเริ่มปรับวิธีการทำงาน เริ่มเอา Message อะไรต่างๆ เข้าไปใส่ในงาน นอกเหนือจากแค่ป่าวประกาศตัวเองอย่างเดียว เริ่มเอาความรู้ด้านวิจิตรศิลป์มาผสมกับเทคนิคสีสเปรย์
ผมก็เริ่มมองว่าผมทำสตรีทอาร์ต ทำศิลปะข้างถนนแล้วมีการส่ง Message ถึงคนที่เข้ามาดู เริ่มพัฒนาจากตรงนั้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ไปแอบพ่นสี ก็เริ่มหาพื้นที่ ใช้วิธีการเจรจา เป็นความสนุกในการที่เราได้เข้าไปในชุมชน ไปคุยกับเขาว่าตรงนี้ผมทำได้มั้ย เริ่มมีกระบวนการทำงานที่มีความประณีตขึ้น อยากให้ออกมาเป็นงานศิลปะมากกว่าที่จะเป็นแค่เขียนข้อความอย่างที่เราทำแบบเมื่อก่อน”
อเล็กบอกว่า Message ที่เขาส่งผ่านผลงานไปยังผู้ชม ส่วนใหญ่ก็จะมาจากปัญหาสังคมรอบตัวที่ทุกคนต้องเผชิญอยู่แล้ว หรือไม่ก็เฉพาะเจาะจงลงไปที่บริบทของพื้นที่นั้นๆ
“ผมมองว่างานสตรีทอาร์ตมันเป็นเครื่องมือให้เราสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยซ้ำ เพราะมันอยู่กับพื้นที่สาธารณะ
อันนี้ก็แล้วแต่ศิลปินแต่ละคนด้วยแหละ ว่าศิลปินที่พ่นหรือเพนท์ข้างถนนแต่ละคนมีวิธีการจะสื่อสารเรื่องอะไรบ้าง แต่ส่วนตัวผมก็เป็นประเด็นสังคมต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับเรา ที่เรารู้สึกว่ามันมากระทบความรู้สึกเรา และมันเกิดขึ้นโดยสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น เพราะเราทำงานกับพื้นที่ ที่ไม่ได้อยู่ในแกลเลอรีอย่างเดียว แต่มันอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นเลย บางครั้งก็เอาเรื่องที่มันเกิดในบริเวณนั้นแหละ สภาพแวดล้อมนั้นแหละมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน”
‘ลูก’ คือจุดเปลี่ยนและแรงบันดาลใจ
จากศิลปินกราฟิตี ที่แนะนำตัวในพื้นที่สาธารณะด้วยการพ่นชื่อ Alex สู่ผลงานสตรีทอาร์ตสะท้อนประเด็นสังคมต่างๆ พัฒนาการทางศิลปะของ อเล็ก เฟส เติบโตไปพร้อมกับชีวิตของเขา โดยในปี 2009 ลูกสาวคนแรกกับบทบาทคุณพ่อมือใหม่ได้ขยับมุมมองหลายๆ อย่างทั้งต่อศิลปะและชีวิต ที่น่าสนใจคือการเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างคาแรกเตอร์ ‘เด็กน้อยสามตา’ ที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็น ‘มาร์ดี’ ตามชื่อลูกสาว
“จริงๆ คาแรกเตอร์นี้ไม่ได้ชื่อมาร์ดีนะครับ มาร์ดีเป็นชื่อลูกสาวผม คนส่วนใหญ่เรียกว่าน้องมาร์ดี เพราะรู้ว่าผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากลูกสาว แต่ความจริงแล้วคาแรกเตอร์นี้ไม่ได้ตั้งชื่อไว้แต่แรก”
เมื่อชื่อมาร์ดีเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางผ่านความโด่งดังของคาแรกเตอร์เด็กน้อยสามตา เวลามีปัญหาเกิดขึ้น คุณพ่อจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับลูกสาวเพื่อป้องกันผลกระทบ
“ในช่วงหนึ่งที่มีประเด็นทางสังคม พ่นคาแรกเตอร์ที่ภูเก็ตแล้วมีปัญหา กลายเป็นว่าชื่อเขาถูกเอาไปเขียนเป็นข่าวเยอะแยะไปหมดเลย ก็เป็นห่วงว่าวันหนึ่งเมื่อเขาเป็นวัยรุ่น อาจจะไปกระทบความเป็นส่วนตัวเขาหรือเปล่า ซึ่งเราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับลูก ผมก็เคลียร์กับเขามาตลอด เขาก็ค่อนข้างเข้าใจ คิดว่าไม่ใช่ชื่อเขา ไม่ใช่บริบทที่เป็นตัวเขา พยายามให้เขาแยกกัน”
สำหรับคาแรกเตอร์เด็กน้อยสามตาที่หลายคนหลงรักด้วยหน้ามุ่ยๆ ช่างสงสัยนั้น อเล็กบอกว่าเขาสังเกตและถ่ายทอดจากการแสดงอารมณ์ของลูกตั้งแต่ยังเล็กๆ ส่วนตาที่สามสื่อถึง ‘ตาระวังภัย’ แฝงไว้ด้วยความห่วงใยต่อสังคมโลกในอนาคต
“เราอยากพูดประเด็นที่เกี่ยวกับอนาคตของลูก สังคมเราจะเป็นยังไง สังคมโลกจะเป็นยังไง มันเหมือนกับเป็น Turning Point แบบจุดใหญ่ในชีวิตด้วยซ้ำไป เพราะจากเมื่อก่อนที่เราทำงานด้วยการพ่นสี พ่นด้วยความสนุก ไม่ได้คิดอะไรมาก เหมือนกับแค่เราอยากจะทำเพราะความชอบ แต่พอเรามีลูก มันไม่ได้มองแค่ตัวเอง เหมือนผมกับแฟนเริ่มมองอะไรที่ไกลไปกว่านั้น
ผมคิดว่าเด็กหน้ามุ่ย น่าจะพูดถึงอะไรบางอย่างได้เยอะ คนเขามาเห็น น่าจะทำให้ฉุกคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคต ทำไมเด็กคนนี้ถึงทำหน้าแบบนี้ มีอะไรที่ต้องแก้ไขหรือเปล่า มีอะไรที่เราต้องคิดถึงบ้างหรือเปล่า ผมว่าคาแรกเตอร์เด็กพูดถึงประเด็นนี้ได้ เรื่องสภาพแวดล้อมต่างๆ
ส่วนตาที่สามเป็นตาระวังภัย ก็มาจากสังคมที่เจอในช่วงเวลานั้น ผมห่วงเรื่องความปลอดภัยในสังคม อย่างเช่น ข้ามถนนแล้วโดนรถชนตรงทางม้าลาย มันเป็นเรื่องของฟังก์ชันที่สังคมควรจะต้องมีความปลอดภัยให้ประชาชน ผมรู้สึกว่าทำไมต้องเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตเราแบบนี้ พอเรายิ่งโตยิ่งรู้สึกว่าความปลอดภัยในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ แล้วตอนนั้นผมก็เลยคิดว่าต้องมีตาที่สามไว้คอยระแวงเหรอ ตามองข้างนี้ยังไม่พอ ต้องมองอีกข้าง ต้องมีตาที่สามใช่มั้ยในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตเรา ก็เลยกลายเป็นว่าทำให้งานมันมี Element ความเคลื่อนไหวในตัวงานด้วย”
นอกจากลูกสาวจะเป็นจุดเปลี่ยนแล้ว การเดินทางก็ทำให้เขาเห็นความแตกต่างในวิธีคิดและวิธีปฏิบัติต่อเด็ก อเล็กยกตัวอย่างประเทศเดนมาร์กที่ให้ความสำคัญกับเด็กค่อนข้างมาก
“ผมรู้สึกว่าเขาให้ความสำคัญกับเด็กเยอะมาก เหมือนเขามองว่าเด็กเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เป็นผู้ใหญ่ตัวเล็ก ฟังเสียงเด็ก เด็กต้องการอะไร เขาฟัง แต่บ้านเราเขาไม่ได้มองว่าเด็กเป็นหน่วยหนึ่ง อย่างเช่น ผมไปร้านอาหาร เขาเอาแก้วมาวาง ไม่เอาแก้วเด็กมา เขาไม่นับคนนี้เหรอว่าเป็นหน่วยหนึ่งของโต๊ะนั้น เราต้องขอเพิ่ม ‘ขอของเด็กเพิ่มด้วยนะครับ’ ‘ขอจานแบ่งให้เด็กหน่อยครับ’ เขาไม่มองว่าเด็กเป็นส่วนหนึ่งโดยธรรมชาติ
หรือฟังก์ชันต่างๆ ที่มันออกแบบมา มันไม่ได้ออกแบบมาให้เด็ก Universal Design ต่างๆ มันก็ไม่ได้มีให้เด็ก หรือถ้านักศึกษาที่โน่นเขามีลูก เขาจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล เงินเลี้ยงดู เหมือนระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย นักศึกษาเขามีลูกไปด้วยได้ อยู่เป็นครอบครัวตั้งแต่เรียนเลย เพราะเขาต้องการทรัพยากรมนุษย์รุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ถ้าเป็นบ้านเรา ท้องตอนเรียนเป็นยังไง โดนด่า โดนประณาม ซึ่งค่านิยมต่างๆ ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่พูดยาก”
มุมมองเหล่านี้ไม่เพียงสะท้อนออกมาในผลงาน แต่ยังส่งผ่านไปถึงแนวทางการเลี้ยงลูก ซึ่งอเล็กมองว่าด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ตนเองก็ไม่ต่างจากพ่อแม่ยุคใหม่ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่หลากหลายเพื่อเลือกทางที่ใช่สำหรับตัวเอง
“ผมว่าพ่อแม่รุ่นผมทุกคนมีวิธีการเลี้ยงลูกที่คล้ายๆ กัน คือไม่ได้บังคับลูก แล้วด้วยสภาพสังคมที่มันเปลี่ยนไป อย่างตอนผมเป็นเด็ก เราถูกเลี้ยงมาว่าโตมาคุณต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เพราะว่าสังคมถูกเซ็ตให้เป็นแบบนั้น ค่านิยมโดยทั่วไปก็เป็นตำรวจ หมอ วิศวกร เราจะได้ยินอาชีพแค่ไม่กี่อย่าง แล้วผมก็รู้สึกว่าในขณะนั้นถ้าให้เราทำแบบนั้นเราก็คงไม่ชอบ พอมีลูกเองก็รู้สึกว่าเราจะไม่ทำแบบนั้นกับลูก เราจะใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบเสริมทักษะให้ลูก ให้เขาลองทำหลายๆ อย่าง ให้เขาได้รู้ว่าเขาอยากทำอะไร ก็ไม่ได้ขนาดว่าตามใจ แต่ดูว่าเขาสนใจอะไร ให้เขาลองทำ เขาจะได้รู้ว่าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ก็เหมือนให้ลูกได้ทดลองแบบนั้นมาตั้งแต่เด็กๆ”
“ที่สำคัญการเลี้ยงลูกเราพยายามคุยด้วยเหตุผลตั้งแต่เด็กแล้ว เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่พอดีลูกผมเป็นแบบนี้ เราพยายามคุยด้วยเหตุผลตั้งแต่แรกว่าทำแบบนี้จะได้แบบนี้ บางอย่างเราก็ช่วยเลือกให้ เช่น เรียนว่ายน้ำ เรียนภาษาอังกฤษ เพราะเรารู้ว่าสำคัญ เป็นทักษะการเอาชีวิตรอด ส่วนทักษะอื่นๆ ให้เขาเลือกเอง อย่างพอเขาเริ่มโตมา เขาบอกแม่ ‘หนูอยากตีกลอง’ เราก็ให้เขาไปตีกลอง หรือแม้แต่ศิลปะ ผมให้ไปเรียนศิลปะกับคนอื่นด้วยนะ ไม่ได้สอนเอง ผมไม่ได้คิดว่าเราทำงานศิลปะแล้วลูกต้องเรียนกับเรา ผมให้เขาไปเรียนกับคนอื่น ผมมองว่าเขาไปอยู่กับคลาส แล้วมีเพื่อนคนอื่นๆ มันไม่เหมือนกัน”
แน่นอนว่าถึงตรงนี้ คำถามที่หลายคนน่าจะอยากรู้ก็คือ เขาคาดหวังว่าลูกจะเอาจริงเอาจังทางด้านศิลปะเหมือนกับตัวเองหรือไม่
“เรื่องศิลปะถามว่าเขาชอบมั้ย ผมมองว่าเขาเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีแต่สี พู่กัน พ่อก็วาดรูปทั้งวัน ก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ เหมือนซึมซับการทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เขาก็วาดรูป เวลาเขาเบื่อๆ เขาก็นั่งดรอว์อิง แต่ผมไม่ได้ไปเคี่ยวเข็ญให้เขาต้องเป็นศิลปินแบบพ่อนะ ผมไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ผมมองว่าทุกอาชีพก็มีความยากหมด ไม่ได้สบาย เพราะฉะนั้นไม่ว่าทำอาชีพอะไรก็ต้องเจอความลำบาก ต้องเจอการฝ่าฟัน การแข่งขัน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว แต่ถ้าเกิดว่าเขาเบื่อ หรือว่าเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไร แล้วเขานั่งวาดรูป ผมก็มองว่าเป็นสิ่งที่โอเคแล้ว ผมว่าการวาดรูปคือการได้โฟกัสและได้อยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ผมว่าแค่นั้นก็โอเคแล้ว ในอนาคตเขาจะทำเป็นอาชีพมั้ย ก็แล้วแต่เขา”
ด้วยบริบทของโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงพลิกผัน พ่อแม่หลายคนต่างกังวลต่อการเติบโตของเด็กท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอนนี้ อเล็กก็เช่นกัน แต่เขามองว่าพ่อแม่ไม่สามารถปกป้องลูกไม่ให้เผชิญกับปัญหาและความผิดหวังได้ สิ่งสำคัญจึงเป็นการเตรียมพร้อมให้เขาสามารถรับมือกับความผิดพลาดล้มเหลวโดยไม่เสียศูนย์
“ผมเคยกังวลตอนเขาเด็กๆ แต่พอเราเลี้ยงลูกมา ตอนนี้เขาอายุ 13 ปีแล้ว ผมก็พยายามให้ความพร้อมกับเขาในทุกเรื่อง ตอนนี้เริ่มเรียนรู้แล้วว่า คนเราต้องมีความผิดพลาด คนเราต้องเจอเรื่องที่ไม่ดี คนเราต้องเจอเรื่องอกหัก ต้องเจอเรื่องที่ผิดหวัง ผมคิดว่าเขาต้องเจอ และต้องเรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำไป
ผมคุยกับภรรยาว่าเรามีหน้าที่ที่คอยเป็นเบาะให้เขาล้ม ไม่ว่าวันหนึ่งเขาจะเจอเรื่องไม่ดี เรื่องแย่ๆ อย่างไร แต่อย่างน้อยๆ ขอให้เขากลับมาหาครอบครัว แล้วมาคุยกัน อย่างน้อยเราเป็นที่ปรึกษาได้ คุยได้ บางเรื่องคุยกับแม่ได้ บางเรื่องคุยกับผมก็ได้ ผมคิดว่าเราเตรียมความพร้อมไว้แค่นั้นแหละ ที่จะคอยอยู่กับเขาเมื่อเขาผิดพลาด อย่างเช่นทุกคนจะมองว่ามีลูกผู้หญิงต้องไว้หนวดแล้ว ผมไม่รู้สึกว่าต้องบังคับให้เขาต้องไม่มีแฟน ผมมองว่าเขาต้องมีความสัมพันธ์”
“ผมมองว่าคนที่ไม่เคยมีความผิดพลาดเลย บางครั้งจัดการตัวเองไม่ถูก เวลาโตขึ้นแล้วเพิ่งมามีความสัมพันธ์ จัดการตัวเองไม่ได้ แล้วก็ก้าวออกจากความสัมพันธ์ไม่ได้ มีปัญหาไปกระโดดตึก หรือบางครั้งทำอะไรที่แบบไม่ได้คิด
ผมอยากให้เขามีชีวิตปกติ ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ให้เขาได้เรียนรู้ เรียนรู้ตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่วัยรุ่น ผิดพลาดอะไรก็ผิดพลาดไป โตมาเขาก็จะรู้สึกว่าได้เรียนรู้แล้ว”
และถ้าเป็นไปได้ สิ่งที่เขาคาดหวังไม่ว่าจะในมุมของพ่อ ศิลปิน หรือมนุษย์คนหนึ่ง คงไม่มีอะไรมากไปกว่า…
“สุดท้ายผมอยากให้เขามีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี โตขึ้นไปตามวัย เรียนรู้อะไรไปตามวัยของเขาในสิ่งที่ควรจะเป็นปกติธรรมดาทั่วไป ผมอยากเห็นเขาเป็นแบบนั้น และผมอยากเห็นสังคมที่ปลอดภัย”