- เมื่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาฝังรากลึกมาหลายปี ทำให้ช่วงเวลาเช่นนี้ เด็กและเยาวชนต้องเครียดกับอนาคตทางการศึกษาของตนเองมากขึ้นเป็นสองเท่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีต้นทุนในการศึกษาที่ดีมาก่อนหรือที่ไม่มีต้นทุนที่ดีมาก ต่างก็พยายามเพื่อสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้ได้ไม่ต่างกัน ยิ่งช่วงเวลานี้ยังไม่ทราบว่าอนาคตการเรียนจะเป็นเช่นไร เปิดเรียนเมื่อไหร่ ได้เข้ารับการศึกษาที่ไหน ยิ่งทำให้เด็กๆ เครียดเพื่อทำตามความฝันของตัวเองให้สำเร็จ
- นอกจากการตั้งใจติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้แล้ว เธอยังจำเป็นต้องตามข่าวสารและรออัปเดตเรื่องการสอบเข้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้นเป็น สองเท่า เพราะหากปีนี้เธอไม่ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยและคณะที่ตั้งเป้าหมายไว้ ย่อมหมายถึงมันจะส่งผลกระทบทั้งครอบครัวและอนาคตทางการศึกษาของเธอ
- การสอบเข้าไม่ใช่เพียงแค่การอ่านหนังสือและรอรับผลสอบ แต่การสอบมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยสำหรับเด็กคนหนึ่ง ยิ่งสอบวิชาที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการสอบเข้าให้กับตนเอง ก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน
จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดในปัจจุบัน แม้อัตราผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจะมีจำนวนที่น้อยลงในแต่ละวัน แต่ท่ามกลางสถานการณ์นี้ วันเปิดเทอมของเด็กๆ ถูกเลื่อนจากเดิมไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ฟังดูแล้วอาจเป็นเรื่องที่สนุกสนานเพราะได้เล่นอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงเรียน
… แต่พวกเราเองกลับไม่มีความรู้สึกเหล่านั้นเลย
ปัจจุบันวัยรุ่นกำลังพบเจอกับความเครียดจากสถานการณ์นี้ เมื่อการเลือกโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าศึกษาต่อเป็นสิ่งที่กำหนดทางเดินชีวิตในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ตอนนี้ทุกสิ่งถูกเลื่อนออกไป
การเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมเองยังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะถูกเลื่อนอีกหรือไม่ รวมทั้งกำหนดการสอบเข้ารับการศึกษาเองก็เปลี่ยนแปลงไป หากเป็นสถานการณ์ปกติ ตอนนี้เด็ก ม.3 จะเริ่มสอบเข้า ตรวจสอบโควตาโรงเรียน และเตรียมรับการศึกษาต่อ ส่วนวัยรุ่นชั้น ม.6 จะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยระบบ TCAS ถึงรอบ 3 และเตรียมพร้อมเพื่อก้าวไปสอบในรอบที่ 4 -5 แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่มีการชี้แจงรายละเอียดอย่างเป็นทางการในหลายโรงเรียน
รวมถึงการเข้ามหาวิทยาลัยที่มีค่าใช้จ่ายในการสอบหลากหลายวิชา เด็กคนหนึ่งอาจต้องใช้เงินเพื่อสอบวิชาต่างๆ รวมแล้วประมาณ 3,000 – 5,000 บาท และด้วยจำนวนเงินที่ใช้ในการสอบเข้านี้ทำให้เด็กๆ ต้องวางแผนในการใช้เงินและการสอบมากยิ่งขึ้น ตอนนี้เด็กๆ จึงไม่ทราบเส้นทางการเดินต่อไปในอนาคตที่ชัดเจน
เด็กเครียด เพราะการสอบเป็นสนามในการแย่งชิงพื้นที่ คือการมีที่ทางของเด็กๆ
สังคมไทยในปัจจุบันมีการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงไม่น้อย โรงเรียนชื่อดังของประเทศมีเด็กมัธยมร่วมหมื่นคนสอบเข้าไปเรียนโดยมีที่นั่งเพียงแค่หลักร้อย รวมทั้งการแข่งขันที่สูงมากยิ่งขึ้นเนื่องด้วยความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะเมื่อเราไม่มีการศึกษาที่ดีและเท่าเทียมให้กับเด็กทุกคน
กล่าวคือ หากพูดถึงโรงเรียน เราคงจะได้เห็นโรงเรียนหลายรูปแบบ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนหลักสูตร English Program (EP), Intensive English Program (IEP) โรงเรียนสังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดกรุงเทพมหานคร โรงเรียนประจำตำบล อำเภอ และจังหวัดต่างๆ ซึ่งหากเราได้นำหลักสูตรการเรียนมาเทียบกัน เราจะพบความแตกต่างที่แม้แต่มาตรฐานการศึกษาที่ควรมีเป็นเส้นตรงเหมือนกัน กลับยังไม่มี หากเปรียบเทียบเป็นกราฟ เราคงจะได้กราฟที่มีความแตกต่างสูงทีเดียว
เรามักเห็นข่าวเด็กที่อาศัยอยู่ในชนบท หรือเด็กที่อาศัยอยู่ในชุมชน ต้องพยายามดิ้นรนและเรียนให้หนักเพื่อให้ได้โอกาส และได้ศึกษาในโรงเรียน/มหาวิทยาลัยที่เท่าเทียมกันกับเด็กๆ คนอื่น
ผู้ใหญ่บางคนมักมองกว่าเด็กที่เกิดมาด้อยโอกาสกว่าต้องดิ้นรนมากกว่าย่อมเป็นเรื่องปกติ? แต่นั่นทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมเด็กที่อยู่ห่างไกลและเข้าไม่ถึงโอกาสต้องดิ้นรนมากกว่า ทั้งๆ ที่เราควรมีหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานที่ดีเพื่อรองรับเด็กและเยาวชนทุกคนที่เกิดมา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน มีฐานะเช่นใด ก็ควรได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน
เมื่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยได้ฝังรากลึกมาหลายปี ทำให้ช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้เด็กและเยาวชนต้องเครียดกับอนาคตทางการศึกษาของตนเองมากขึ้นเป็นสองเท่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีต้นทุนในการศึกษาที่ดีมาก่อน หรือเด็กที่อาจไม่มีต้นทุนที่ดีมาก ต่างก็พยายามเพื่อสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยให้ได้ไม่ต่างกัน ยิ่งในช่วงเวลานี้ เมื่อยังไม่ทราบว่าอนาคตการเรียนจะเป็นเช่นไร เปิดเรียนเมื่อไหร่ ได้เข้ารับการศึกษาที่ไหน ยิ่งทำให้เด็กๆ เครียดเพื่อทำตามความฝันของตัวเองให้สำเร็จ
จากการพูดคุยและให้คำปรึกษาเพื่อนๆ พี่ๆ มีวัยรุ่นหลายคนที่กังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
‘โบว ์’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า เธอมีความฝันในการเข้าศึกษาต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตั้งแต่เด็กเธอเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่สังคมมักเรียกว่า ‘โรงเรียนวัด’ แน่นอนว่าทุกครั้งที่เธอเล่าให้ใครฟังว่าอยากสอบเข้าคณะวิศวะฯ มักมีคนบอกว่าเธอคงจะทำไม่ได้ เพราะต้นทุนทางการศึกษาของเธอไม่เพียงพอ แม้หลักสูตรในโรงเรียนที่เธอศึกษาอยู่อาจไม่เข้มข้น แต่เธอเองก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่เพื่อทำตามความฝัน ทุกวินาทีสำหรับเธอมีค่ามากในการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอเตรียมตัวมาอย่างหนักหน่วงตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4 และคาดหวังไว้ว่าเมื่อผลออกมาว่าเธอสอบเข้าได้ มันจะเป็นวินาทีที่เธอสามารถยกภูเขาออกจากอก และความเครียดที่สะสมอยู่ในใจเธอมานานกว่า 3 ปีได้จบสิ้นลง
แต่ในขณะนี้กำหนดการเดิมที่วางแผนไว้ถูกเลื่อนออกไป นอกจากการตั้งใจติวเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้แล้ว เธอยังจำเป็นต้องตามข่าวสารและรออัปเดตเรื่องการสอบเข้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้นเป็น สองเท่า เพราะหากปีนี้เธอไม่ได้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยและคณะที่เธอตั้งเป้าหมายไว้ ย่อมหมายถึงมันจะส่งผลกระทบทั้งครอบครัวและอนาคตทางการศึกษาของเธอ
นอกจากนั้น การสอบเข้าไม่ใช่เพียงแค่การอ่านหนังสืออย่างเข้มข้นและรอรับผลสอบ แต่การสอบยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อยสำหรับเด็กคนหนึ่ง ยิ่งสอบวิชาที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสการสอบเข้าให้กับตนเอง ก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน
แนวทางที่ชัดเจน = สิ่งที่เด็กๆ รอคอยจากผู้ใหญ่
การเลื่อนเปิดเทอมจากเดิมเป็นเวลาราวๆ 2 เดือน ส่งผลกระทบอย่างยิ่งกับการเรียน เพราะเด็กๆ จะไม่ได้เรียนตามตารางเวลาปกติ หากเปรียบเทียบระยะเวลา 2 เดือนกับตารางเรียนของเด็กมัธยมตอนปลายนั้น ถือเป็นเนื้อหาการเรียนจำนวนไม่น้อย ดังนั้น เด็กๆ จึงต้องการความชัดเจนของแนวทางการเรียน
เรียนทุกวัน ไม่เว้นวันเสาร์อาทิตย์ เพิ่มจำนวนคาบและเวลาเรียนในแต่ละวัน?
การออกแบบหลักสูตรแบบเร่งรัดที่สามารถเรียนได้โดยใช้เวลาเท่าเดิม แต่เด็กได้ความรู้ที่เข้มข้นและชัดเจน?
การจัดทำโน้ตความรู้ให้เด็กได้ทบทวนเมื่ออยู่ที่บ้าน? การเรียนออนไลน์?
จากการสอบถามเยาวชนส่วนใหญ่มักมองว่า การเรียนทุกวันโดยไม่เว้นวันหยุด และการเพิ่มชั่วโมงเวลาเรียนนั้น จะทำให้เด็กๆ มีความเครียดและกดดันมากยิ่งขึ้น
รวมถึงการเรียนออนไลน์ก็ทำให้เด็กส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ดังนั้น ด้วยเวลาที่คงเหลืออยู่นี้ ผู้เขียนในฐานะเยาวชนคนหนึ่งก็อยากขอแชร์ไอเดียว่า ให้มีการออกแบบหลักสูตรที่รวบรัด ชัดเจน แม้มีเวลาที่ไม่มากแต่เด็กจะได้รับข้อมูลความรู้ที่ครบถ้วน ลดทอนบางส่วนที่เป็นเนื้อหาที่ไม่ได้ใช้งาน และเพิ่มรายละเอียด เทคนิค สรุปให้กับเนื้อหาที่สำคัญ
แน่นอนว่าหากพวกเราได้ทราบแนวทางที่ชัดเจนในการเรียนแล้ว ย่อมทำให้พวกเราสามารถเตรียมตัวรับการเปิดภาคเรียน จัดตารางเวลาอ่านหนังสือให้ถูกต้อง และที่สำคัญ คือ ช่วยลดความเครียดของเด็กและเยาวชนไปได้มาก รวมถึงแนวทางที่ออกมานั้น จะต้องเป็นแนวทางที่เท่าเทียมสำหรับเด็กและเยาวชนทุกคน ไม่สร้างความเหลี่อมลํ้า ไม่สร้างความแตกต่าง แต่ต้องมีจุดประสงค์เพื่อทำให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาอย่างครบถ้วนและเท่าเทียมกัน
นอกจากแนวทางที่ชัดเจนจากกระทรวงศึกษาธิการ แนวทางที่ชัดเจนจากครอบครัวก็สำคัญเช่นกัน
แน่นอนว่าทุกครอบครัวย่อมมีการวางแผนการเรียนและการศึกษาให้กับบุตรหลานเมื่อถึงเวลาที่สมควร พ่อแม่แต่ละคนย่อมมีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในใจที่อยากให้ลูกสอบเข้าได้ แต่แน่นอนว่าในช่วงนี้ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการศึกษา ทำให้เด็กและเยาวชนสับสน และกังวลว่าอาจไม่สามารถสอบเข้าได้ตามที่ตนและครอบครัวต้องการ
ดังนั้นแล้ว แต่ละครอบครัวควรร่วมกันหาแนวทางที่ชัดเจน เรื่องแผนการเรียนหลัก และแผนการเรียนสำรอง หากว่าวันหนึ่งเกิดปัญหาที่ไม่สามารถสอบเข้าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยที่เด็กๆ ต้องการได้ ครอบครัวจำเป็นต้องมีแผนการสำรองที่คอยรอบรับสภาพจิตใจ และอนาคตทางการศึกษาของเด็กๆ เช่นกัน
รวมถึงความชัดเจนของการพูดว่า ‘ไม่เป็นไร เราเริ่มต้นใหม่ได้’ เพราะในสถานการณ์ความเครียดที่ยังไม่ทราบว่าพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร ได้เข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยตามที่หวังหรือไม่ ทำให้วัยรุ่นกดดันตนเอง และกังวลเรื่องการคาดหวังจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากครอบครัวชัดเจนกับเด็กๆ ว่า เรามีแนวทางสำรองที่ช่วยกันเตรียมความพร้อมไว้แล้ว และไม่เป็นไรหากไม่สามารถเข้ารับการศึกษาต่อได้อย่างที่หวัง ก็จะทำให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมด้านการรับมือทั้งร่างกายและจิตใจ