- ตามแนวมนุษยปรัชญา (anthroposophy) แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามการเรียนรู้เป็น 3 ช่วง
- ระยะแรก 0-7 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งชีวิตที่เจตจำนง (willing) หมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจตามธรรมชาติ เช่น พัฒนาการของเด็กทารกตั้งแต่การตั้งไข่ พยายามเกาะ ยืน แล้วเดิน ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ ไม่ต้องใช้ความรู้สึกหรือการคิดวางแผน
- ระยะสอง 7-14 ปี เป็นช่วงเวลาแห่ง ‘ความรู้สึก’ (feeling) ดังนั้นการสอนควรเน้นให้เด็กรู้สึก – มีความสนุก เพลิดเพลินกับการเรียนรู้
- ระยะต่อมา 21 ปี ช่วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาที่ ‘ระบบคิด’ (thinking) ในวัยนี้มีการคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ และใช้วิจารณญาณในการคิด
ในทางวิทยาศาสตร์การพัฒนาสมองกล่าวว่า พัฒนาการในช่วงต้นของชีวิตสามารถสะท้อนการลงทุนทางสมองในช่วงวัยแรกเกิดหรืออันที่จริงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ‘การลงทุน’ ในที่นี้ไม่ได้เจาะจงที่เม็ดเงิน แต่หมายถึงการลงทุน ‘เวลา’ ของพ่อแม่ ผู้ปกครองเพื่อศึกษาหาความรู้และดูแลบุตรหลานอย่างถูกวิธีและเหมาะสมตามช่วงอายุ งานวิจัยด้านพฤติกรรมมนุษย์และประสาทวิทยาในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาได้นำเสนอข้อมูลที่ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเด็กตั้งแต่ในครรภ์จนถึงก่อนปฐมวัยว่าเป็นรากฐานสำคัญที่จะปูพื้นฐานสมองไปสู่อนาคต
แน่นอนว่าสมองของมนุษย์มีความยืดหยุ่น แถมเรายังได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้นว่า สมองมนุษย์สามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน คือ สมองมนุษย์พัฒนาได้อย่างต่อเนื่องก็จริง แต่สมองแต่ละส่วนทำหน้าที่ด้วยศักยภาพสูงสุดตามพัฒนาการของสมองตามช่วงเวลา สมองบางส่วนมีศักยภาพพัฒนาได้ดีในช่วงต้นของชีวิต แล้วค่อยๆ ลดบทบาทลงเมื่ออายุมากขึ้น แล้วเปลี่ยนมือให้สมองส่วนอื่นรับช่วงต่อ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Center on the Developing Child at Harvard University) ยกตัวอย่างวิทยาศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัยในช่วงปีแรกว่า สมองของเด็กที่ทำหน้าที่แยกความแตกต่างของเสียง เป็นสมองส่วนหลักที่ทำให้เด็กพัฒนาการเรียนรู้ด้านภาษาที่เป็นภาษาแม่ ขณะเดียวกันสมองจะค่อยๆ ลดบทบาทการเรียนรู้ภาษาที่สอง และภาษาอื่นๆ ลงไปตามลำดับ เป็นต้น
สอดคล้องกับทฤษฎีของ ฌอง เปียเจต์ (Jean Piaget) นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่กล่าวถึง กระบวนการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็ก ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงวัยรุ่นไว้ 4 ขั้นตอน
ขั้นแรก การใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (sensorimotor period) ในช่วงอายุ 0-2 ปี เด็กเรียนรู้การประมวลการคิดจาก ‘คำ’ และ ‘การสื่อสาร’ รอบตัว โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู สัมผัส รสชาติ และกลิ่น
สิ่งที่ผู้ปกครองสามารถสังเกตเห็น คือ เด็กเกิดพัฒนาการใช้อวัยวะทำงานเบื้องต้นได้ เช่น ฝึกใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ฝึกการได้ยินและการมอง ฝึกเดิน ยืน ฝึกพูดและโต้ตอบ
ขั้นที่สอง ขั้นก่อนการคิด (preoperational stage) ในช่วงอายุ 2-7 ปี เป็นช่วงที่พัฒนาการด้านภาษาพัฒนาได้ดี แต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจากความเข้าใจ
ขั้นที่สาม การคิดเป็นรูปธรรม (concrete operation stage) เริ่มจากอายุ 7-11 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้ เริ่มเข้าใจเหตุผลและมีสมาธิกับสิ่งที่ทำ และมีความจำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และ ขั้นที่สี่ การคิดแบบนามธรรม (formal operational stage) เริ่มจากอายุ 11-15 ปี เด็กในวัยนี้เริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ สามารถคิดหาเหตุผลนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มีอยู่ได้
แม้ทฤษฎีการพัฒนาสติปัญญาของเปียเจย์ได้ถูกท้าทายโดยนักวิจัยในยุคหลังที่แสดงให้เห็นพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดของแต่ละช่วงวัยที่มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างชัดเจนมากกว่าและเกิดขึ้นรวดเร็วกว่า แต่ทฤษฎีของเปียเจย์ก็ได้ทำให้เข้าใจภาพรวมของพัฒนาการในแต่ละขั้น ที่เริ่มต้นจากสัญชาตญาณแล้วพัฒนาขึ้นตามลำดับ
ย้อนกลับไปราว 100 ปี หากอธิบายตามแนวมนุษยปรัชญา (anthroposophy) ของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) นักปรัชญาผู้บุกเบิกด้านการศึกษาชาวออสเตรีย ปัจจุบันมีโรงเรียนประถมและมัธยมสไตล์วอลดอร์ฟตามแนวมนุษยปรัชญาราว 1,100 แห่ง และโรงเรียนอนุบาลราว 2,000 แห่งทั่วโลก
สไตเนอร์แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามการเรียนรู้เป็น 3 ช่วง ตั้งแต่แรกเกิดถึง 21 ปี (ช่วงละ 7 ปี) กล่าวถึงการเรียนรู้ในช่วงต้นว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยกาย หรือ การลงมือทำ (doing) ซึ่งเกิดจาก ‘เจตจำนง’ (willing) หรือความมุ่งมั่นที่มีตามธรรมชาติ
ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 7 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งชีวิตที่เจตจำนง (willing) ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเพื่อวางรากฐานการใช้ชีวิต คำว่าเจตจำนงในที่นี้ให้ความหมายถึงความมุ่งมั่นตั้งใจตามธรรมชาติ เช่น พัฒนาการของเด็กทารกตั้งแต่การตั้งไข่ พยายามเกาะ ยืน แล้วเดิน การพูดและการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ ไม่ต้องใช้ความรู้สึกหรือการคิดวางแผน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กในช่วงวัยนี้จะไม่รู้สึกหรือไม่คิดอะไรเลย เพียงแต่แรงกระตุ้นที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือการเลียนแบบ
ด้วยเหตุนี้ในช่วง 7 ปีแรก สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กจึงมีความสำคัญ เด็กวัยนี้ไม่ควรได้รับสื่อพร่ำเพรื่อ ไม่ว่าจะเป็นจากโทรทัศน์ มือถือ ภาพยนตร์ หรือแม้แต่การฝึกท่องหนังสือ ทั้งนี้ เพื่อเปิดพื้นที่จินตนาการของเด็กให้มีอิสระ หากเด็กเติบโตขึ้นท่ามกลางการดูแลที่มีตัวอย่างที่ดีจากผู้ใหญ่ อยู่ในสภาพแวดล้อมและสภาวะที่ไม่สร้างความกดดันและเครียด เด็กจะสามารถซึมซับพลังงานที่ดีจากสิ่งรอบตัวได้
ต่อมาช่วงอายุ 7-14 ปี เป็นช่วงที่ ‘ความรู้สึก’ (feeling) เข้ามามีอิทธิพล เด็กเรียนรู้จากความประทับใจ ดังนั้น การสอนควรเน้นให้เด็กรู้สึก – มีความสนุก เพลิดเพลินกับการเรียนรู้ ความรู้สึกในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียง ‘อารมณ์’ เท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างพื้นที่ที่ทำให้เกิดความเคารพและความไว้วางใจกัน ในช่วงนี้เด็กสามารถสื่อสารความรู้สึกที่เกิดขึ้นผ่านภาพวาด การระบายสี หรือการใช้จินตนาการลงมือทำสิ่งที่อยากทำได้ดี
แล้วเมื่อก้าวผ่านวัยแรกรุ่นจนถึงอายุราว 21 ปี ช่วงเวลานี้เป็นห้วงเวลาที่ ‘ระบบคิด’ (thinking) ทำงานอย่างเต็มที่ เด็กมีการคิดอย่างเป็นระบบ มีตรรกะ และใช้วิจารณญาณในการคิด สไตเนอร์กล่าวว่า รากฐานที่ดีของการพัฒนาเจตจำนงและความรู้สึกในช่วงต้น จะนำมาสู่การพัฒนาระบบคิดที่ดีเมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่น ดังนั้น การสอนควรเน้นให้เด็กคิดอย่างมีตรรกะและมีศีลธรรม จนเกิดปัญญาเและเห็นความจริงของโลก
การเติบโตของเจตจำนง/ความมุ่งมั่น ความรู้สึก และระบบคิด จึงจำเป็นต้องอาศัยเวลาสั่งสม และผ่านการกลั่นกรองตามแต่ละบุคคล อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา กล่าวถึงพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กที่สื่อสารผ่านกระบวนการทำงานศิลปะไว้ในหนังสือ ‘หนึ่งปีแสง’ ว่า
“การลงมือทำศิลปะสกุลนี้แบ่งเป็นสามหนทางใหญ่ หนทางอันมีจุดเริ่มต้นจาก ‘เจตจำนง’ นั่นคือการลงมือทำโดยไร้ความคิดล่วงหน้า เส้นทางการทำงานแบบนี้หากเป็นศิลปินใหญ่ก็อย่างเช่น แจ็คสัน พอลล็อค (Jackson Pollock) จิตรกรจากยุคโมเดิร์น ที่คล้ายสวมเสื้อคลุมแห่งกาลเวลา มองแบบมนุษยปรัชญา เขาวาดภาพด้วยจิตวิญญาณที่ไม่ต่างจากเด็กน้อยที่วาดแบบถั่งโถมกายในช่วง 7 ปีแรก
ประตูการวาดภาพที่เราจะเปิดต่อมาคือเส้นทางจาก ‘ความรู้สึก’ บนเฟรมผ้าใบที่เต็มไปด้วยสีสันในแบบฉบับศิลปินยุคอิมเพรสชันนิสม์ งานอย่างโคลด โมเนต์ (Claude Monet) เป็นคำตอบของโลกศิลปะจากหัวใจ เมื่อใจและจิตรกรได้ประสานกลมกลืนกัน เพ่งมองเข้าไปในภาพวาดเด็กช่วงวัย 7-14 ปี ภาพสาดจากสีสันผ่านไปที่ธรรมชาติที่มีดิน ฟ้า สายน้ำ ลำธาร จะมีความหมายมาจาก ‘ความประทับใจ’ กับโลกใบนี้ทั้งสิ้น
เส้นทางสุดท้ายที่อยู่ในยุคสมัยของเราคือการวาดภาพที่มาจาก ‘ระบบคิด’ ผู้วาดมักเริ่มการออกแบบวางแผนหาองค์ประกอบต่างๆ อย่างเคร่งครัด อาจเหมาะทีเดียวกับเด็กวัยรุ่นที่พร้อมนำความคิดตนเองแสดงออกสู่การรับรู้ของทุกคน ในผลงานศิลปะแบบนี้ เรามักพบได้ทันทีว่างานมักแฝงกลไก ‘ความคิด’ ทั้งในตัวชิ้นงานหรือวิธีการถ่ายทอดสู่ผู้ชม”
ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นศักยภาพด้านระบบคิดของนักศึกษาที่อยู่ในช่วงวัยซึ่งสมองกำลังพัฒนาความคิดได้เป็นอย่างดี นำเสนออยู่ในหนังสือ ‘What I Wish I Knew when I was 20’ หรือ ‘น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20’ หนังสือติดอันดับขายดี เขียนโดย ทีนา ซีลิก (Tina Seelig) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด คณะวิศวกรรมศาสตร์ และวิชานวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ
หนังสือเล่มนี้นำเสนอเนื้อหาและกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน โดยเฉพาะโปรเจ็คต์เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการที่สถาบันการศึกษาสนับสนุนให้นักศึกษาลงมือทำสิ่งที่ชอบตามความถนัดหรืออยากทำจริงๆ เป็นการเรียนที่ไม่ใช่แค่ให้คิดแล้วผ่านเลยไป ปล่อยให้ความคิดล่องลอยอยู่แค่บนกระดาษรายงาน
การให้โอกาสได้ปฏิบัติยิ่งทำให้นักศึกษามีความกล้า ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด แล้วเห็นผลลัพธ์ที่น่ามหัศจรรย์จากระบบคิดของพวกเขาเอง
ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษากลุ่มหนึ่งใช้เงิน 5 ดอลลาร์ทำธุรกิจที่หาเงินได้มากถึง 650 ดอลลาร์ ภายในเวลาแค่ 2 ชั่วโมง อีกกลุ่มหนึ่งคิดค้นอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นแก่ทารก เพื่อประชากรในประเทศยากจนได้ในราคาแค่ 20 ดอลลาร์ จากที่เคยต้องจ่ายถึง 20,000 ดอลลาร์ เป็นต้น
แม้คำอธิบายถึงพัฒนาการทางสมองของนักคิดหรือนักการศึกษาแต่ละคนจะมีความคาบเกี่ยวกันอยู่บ้างเรื่องช่วงอายุ แต่ใจความสำคัญร่วมกันซึ่งเป็นแก่นของการเรียนรู้ คือ การส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการ
ไม่ใช่แค่การยัด ‘ความรู้’ แต่สร้างให้เกิดพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณควบคู่กันไป โดยให้เกิดความสมดุลในการเรียนรู้ด้วยกาย (การลงมือทำ) หัวใจ (ความรู้สึกและความประทับใจ) และสมอง (ความคิด)
ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดูแล ให้ความรู้ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเด็กและเยาวชน จำเป็นต้องรู้ความต้องการของเด็กที่สอดคล้องกับพัฒนาการ เพราะหากผู้ใหญ่ไม่สามารถสื่อสารได้ตรงตามความต้องการของพวกเขา นั่นย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำให้เด็กคนหนึ่งมีความเคารพ เชื่อมั่น และเปิดใจยอมรับการเรียนรู้
‘การสื่อสารได้ตรงตามความต้องการ’ ไม่ใช่ ‘การตามใจให้ได้ทุกอย่างที่ต้องการ’ แต่เป็นการรับมือกับธรรมชาติและพฤติกรรมของเด็กในแต่ละช่วงการเติบโต หากผู้ใหญ่พูดภาษาเดียวกับเขา พวกเขาจะรับฟัง อย่างน้อยต่อให้ไม่เชื่อฟังหรือปฏิบัติตามร้อยเปอร์เซ็นต์ พวกเขาก็จะไม่คัดง้างจนอาจนำมาสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ ในระยะยาว