- ทิโมธีคือเด็กที่แน่วแน่และมีแพชชั่นในการแสดงตั้งแต่อายุยังน้อย เขาไม่เคยเลิกวิเคราะห์วิจารณ์ตัวเองในด้านของการทำงาน
- เมื่อได้ลองศึกษาวิชาการแสดงที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน เขาสามารถหลุดเข้าไปในจักรวาลของตัวละคร มอบร่างให้ความจริงที่ควรจะเกิดขึ้นในภาพยนตร์ และแปลงกายเป็นอีกคนจนคนดูเชื่อหมดใจ
- เขาวืดหมดทั้งบทนำใน Spider-Man, Manchester by the Sea ออดิชั่นกว่า 3 ปีเพื่อจะเจอแต่คำว่าไม่ได้ๆๆ หรือไว้ว่ากัน แต่เขายังกล้าที่จะก้าวต่อไปอย่างไม่รู้อนาคต เพราะอะไร?
ในวัย 12 ปี เด็กหนุ่มคนหนึ่งเข้าไปดูภาพยนตร์เรื่อง ‘The Dark Night‘ เห็นการแสดงของฮีธ เลดเจอร์ แล้วจู่ๆ ก็รู้สึกว่าตาตัวเองไม่กะพริบ พ่ายแพ้จนรู้สึกว่าต้องเป็นนักแสดงเท่านั้น ทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว
10 ปีให้หลัง วงการฮอลลีวูดฝั่งอเมริกาและคนทั่วโลกที่ดูภาพยนตร์เรื่อง ‘Call Me by Your Name‘ หรือ ‘Lady Bird‘ ที่เขาเป็นนักแสดงสมทบ ต่างรู้สึกว่าน้องคนนี้ ทิโมธี ชาลาเมต์ ในวัย 22 ปีเป็นเด็กที่แสดงหนังเรื่องสองเรื่องแต่กลับดังข้ามคืน การันตีโดยนิตยสาร Time ออนไลน์พาดหัวข่าวว่าทิโมธีขโมยซีนในงาน Golden Globe ซะเรียบ ถึงแม้จะชวดรางวัล แต่แค่มางานก็เหมือนชนะไปแล้ว
เด็กหนุ่มผิวขาว ตาหวาน ร่างติดจะเก้งก้างอ้อนแอ้นที่นั่งตกเก้าอี้ในงานแถลงข่าว New York Film Festival เปิดวิกิพีเดียอ่านคำนิยามของน้ำมันปิโตรเลียมในงานประกาศรางวัลอินดี้ Independent Spirit Awards หรือทำตัวเด๋อมากมายในงานทางการต่างๆ คือผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม ที่มีอายุน้อยที่สุดในรอบ 80 ปี และเข้าออกประตูเครื่องบินมากกว่าประตูบ้านเพื่อไปเข้าชิงรางวัลในงานกว่า 40 งานในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา
ทิโมธีได้เข้าชิงในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ใหญ่ๆ อย่าง BAFTA, Golden Globe, Screen Actors Guild Award หรือ Critics’ Choice Movie Award
“ผมรู้สึกว่ามันเซอร์เรียลมากเลยเวลาอยู่ในงานประกาศรางวัลที่มีเมอร์รีล สตรีป หรือดาราดังคนอื่นๆ อยู่ แล้วปากผมก็กำลังขยับเพื่อพูดสปีชอยู่!”
แม้กระทั่งเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ก็เคยเอ่ยปากมาแล้วว่าน้องเด๋อคนนี้ฮอตจัดและเก่งมาก รอให้อายุถึง 30 ก่อนเถอะแล้วจะไปฉกชิงมา แต่ทิมมีก็มักจะให้สัมภาษณ์กับรายการต่างๆ ว่าต้องขอโทษผู้ชมด้วยที่ต้องมานั่งฟังเด็กนี่พูดทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าผมคือใคร แซวตัวเองในรายการสัมภาษณ์ไว้ว่าคอยดูเถอะคลิปนี้อาจจะมีคนดูแค่ 6 คน
หน้าที่ถ่อมตัวก็ปล่อยให้เป็นของเขาไป ทิโมธีคือเด็กที่แน่วแน่และมีแพชชั่นในการแสดงตั้งแต่อายุยังน้อย เขาไม่เคยเลิกวิเคราะห์วิจารณ์ตัวเองในด้านของการทำงาน เมื่อเขาได้ลองศึกษาวิชาการแสดงที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน น้องเด๋อที่ทำตัวตลกในงานประกาศรางวัลก็สามารถหลุดเข้าไปในจักรวาลของตัวละคร มอบร่างให้ความจริงที่ควรจะเกิดขึ้นในภาพยนตร์ และแปลงกายเป็นอีกคนได้จนคนดูเชื่อหมดใจ
และนี่คือเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่บอกว่าเขาทนไม่ได้เมื่อดูภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องแล้วคิดว่าตัวเองจะไม่ได้อยู่ในนั้น
“ผมไม่ทราบว่าผมไปหลอกใครให้จัดผมไว้อยู่ในหมวดเดียวกับศิลปินที่มากความสามารถอย่างแมรี เจ. บลายจ์ แต่ผมจะรับมันไว้ ขอบคุณอาจารย์ลูกา กัวดาญีโน ที่บังคับเรือของเราด้วยความรัก ความเอาใจใส่และความเก่งกาจ และขอบคุณที่มอบบทแห่งช่วงชีวิตนี้ให้กับผม สุดท้าย เนื่องจากผมเป็นเด็กนิวยอร์ค ผมจึงขอเวลาช่วงนี้ขอบคุณศิลปินชาวนิวยอร์คที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมบ้าพอที่จะลงไปทำอาชีพนี้ (รายชื่อศิลปิน) และแม่ของผมที่นั่งอยู่ตรงนั้นครับ Peace and Love ขอบคุณครับ”
สุนทรพจน์ส่วนหนึ่งของทิโมธีในงาน IFP Gotham Awards
ผลออดิชั่น คือไม่ได้ๆๆๆ และไว้ว่ากัน แต่ความฝันยังเดินต่อ
“ผมอาจจะยังเด็กอยู่ก็จริง แต่ตลอดเวลาที่ได้ไปลองออดิชั่นมา ผลมันมีแต่ ไม่ได้ๆๆๆๆๆ แล้วก็ไปคุยกับทีมงานหรือคนที่เกี่ยวข้องแล้วก็ไม่ได้ๆๆๆๆ หรือมีโปรเจ็คต์หลายชิ้นที่ต้องรอก่อน ไว้ว่ากัน (อย่าง Call Meฯ ก็ใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะรู้ผล) แต่ผมเป็นเด็กอายุ 11 ที่ชอบการแสดงมาก ชอบมากในแบบที่ไม่รู้ว่าเด็ก 11 ขวบจะชอบอะไรได้มากขนาดนี้ไหม”
ทิโมธีเข้าเรียนโรงเรียนการแสดงมีชื่อในนิวยอร์ค LaGuardia High School of Music & Art and Performing Arts เขาได้โอกาสแสดงศาสตร์ทางศิลปะที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือละครเวที เช่นเรื่อง ‘Prodigal Son’ ที่เขียนบทโดยนักเขียนบทละครเวทีชื่อดัง จอห์น แพทริค แชนลีย์ และได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยมสาขาละครเวทีจาก Lucille Lorten Award
ทิมมีมีเพื่อนร่วมชั้นเก๋ๆ คือ แอนเซล เอลกอร์ธ ที่แสดงนำในเรื่อง ‘The Fault In Our Stars’ (ซึ่งพอ MTV ไปถามว่าใครป๊อปกว่ากันในช่วงชีวิตไฮสคูล ทิมมีก็ตัดพ้อว่าตอนที่เขาไปออดิชั่นเรื่อง ‘Guys and Dolls’ หรือ ‘Hairspray’ นี่ไม่เคยได้เล่นเลย ตอนนั้นเลยต้องมานั่งออดิชั่นโชว์การแสดงเด๋อๆ มากมายที่ยังมีให้เห็น ให้อายจนทุกวันนี้)
หนุ่มน้อยในสูทขาวเนี้ยบจากแบรนด์ Berluti ในงานออสการ์ให้สัมภาษณ์ว่า เขาจะมาอยู่ตรงนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ครูแฮร์รี ชิฟแมนเป็นเมนเทอร์ให้ หรือมีงบสนับสนุนจาก Public Art Fund องค์กรอิสระไม่แสวงหากำไรที่สนับสนุนโปรเจ็คต์ด้านศิลปะในนิวยอร์ค พร้อมกับย้ำว่ามันสำคัญมากจริงๆ
“ตอนผมเข้าไปเรียนที่ LaGuardia ผมเข้าใจทันทีว่าผมสามารถจริงจังกับการแสดงได้เต็มที่ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจริงจังกับตัวตนของตัวเอง แสร้งเพื่อแสดงหรือกันผู้คนออกไป แต่ผมจริงจังเพื่อศิลปินหลายท่านที่ทำงานมาในสายงานนี้ด้วย ยิ่งผมพยายามมากขึ้นเท่าไหร่ ผมก็จะยิ่งเก่งขึ้นเท่านั้น
ในพิพิธภัณฑ์วาร์ฮอลที่พิตต์สเบิร์ก มีโควทหนึ่งโควทเขียนไปว่า การสร้างสรรค์กับการวิเคราะห์เป็นขั้นตอนที่ต้องแยกกัน ผมชอบข้อความนั้นมาก ตอนที่ผมแสดงต่อหน้าเด็กในรุ่นๆ เดียวกัน มันเป็นการแสดงสไตล์เล่นใหญ่และเยอะแบบเก้ๆ กังๆ อยู่มาก
แต่ถ้าคุณไม่ลองขึ้นเวทีไปแสดงแล้วผิดพลาดไปเรื่อยๆ ผมเล่นละครเวทีที่นิวยอร์คตอนอายุ 15 ปี มันเป็นช่วงเวลาที่ผมเฟลแล้วเฟลอีก คือถ้าคุณไม่เคยเล่นห่วยซ้ำๆ ห่วยหนักมากไปอีกจนคุณรู้สึกปลอดภัยกับความผิดพลาด คุณจะก้าวผ่านมันไปไม่ได้เลย เพราะเวลาคุณทำงานก็คือทำงาน คุณควรจะโฟกัสว่าคุณจะสร้างงานอย่างไรมากกว่าไปนั่งวิเคราะห์มัน
การออดิชั่นก็เหมือนกัน วินาทีที่คุณก้าวออกจากประตูบ้าน คุณควรจะใจดีกับตัวเอง ในรอบถัดไปๆ คุณจะเป็นอิสระมากขึ้น แต่ก็จะโบยตีตัวเองหนักขึ้นด้วยเช่นกัน”
ออดิชั่นไม่ผ่านไม่ใช่เรื่องแปลก ทิมมีบอกเรียบๆ ว่าโรงเรียนหรือเพื่อนร่วมรุ่นมีเคมีความพยายามเป็นศิลปินที่คอยบิวท์ซึ่งกันและกัน หรือการที่เขาเติบโตมาในครอบครัวศิลปินโดยแท้-อาจเป็นเหตุผลที่ช่วยดันหลังเขา
คุณแม่และคุณยายเคยเป็นนักเต้นละครบรอดเวย์ (และจบมาจาก LaGuardia เหมือนกัน) พี่สาวเป็นนักเต้นบัลเล่ต์และนักแสดงอยู่ที่ฝรั่งเศส คุณน้าเป็นนักเขียน คุณลุงเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ คุณตาเป็นคนเขียนบท ทิมมีจึงเป็นเด็กโรงละคร โตมากับละครเวทีเน้นๆ และภาพศิลปะติดตาจากการที่แม่หรือพี่สาวเป็นนักเต้น หรือการเลี้ยงดูของครอบครัวที่คอยสนับสนุนและแต่งเติมตัวตน
เขาเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ฝรั่งเศส เกิดที่ Hell’s kitchen เมืองแมนแฮตตัน แต่ก็ใช้ช่วงเวลาปิดเทอมฤดูร้อนในเมืองเล็กๆ ที่ฝรั่งเศส
“จริงๆ มันอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพจิตนะครับที่ผมไม่รู้ว่าตัวตนจริงๆ ของผมเป็นใครกันแน่ ในพาร์ทอเมริกันผมเป็นพวกร่าเริง กล้าแสดงออก มีแพชชั่นต่อการเป็นนักแสดงและต้องการที่จะเข้าไปอยู่ในสังคมการแสดง อยากพูดบทหรือต่อบทมาก แต่พาร์ทฝรั่งเศสในตัวก็ทำให้ผมมีบุคลิกนิ่งๆ โดยธรรมชาติ ซึ่งมันส่งผลดีต่อการแสดง เพราะผมไม่ได้แสดงด้วยพื้นฐานความคิดที่ว่าตัวตนของผมเป็นใคร ผมมักจะคิดว่าแพชชั่นในการอยากเป็นนักแสดงให้เป็นที่ยอมรับมาจากแม่ ส่วนนิสัยที่จะเลือก ‘ฟัง’ มาจากพ่อ”
ศิลปะช่วยผมไว้และเปลี่ยนให้ผมเป็นนักแสดงที่ดีขึ้น
“ผมคิดว่ามันเป็นความรู้สึกที่ดีที่ได้ยินเสียงตัวเองเรียกชื่อของฮีโร่ต่อหน้าเขา ผมคิดว่าเขานั่งอยู่ที่ไหนสักแห่งในงานนี้…คุณพอล โธมัส แอนเดอร์สัน ผมขอบคุณมากครับ คุณคือเหตุผลหลักๆ ที่ผมได้มีโอกาสขึ้นมาอยู่บนเวทีนี้ และผมขอทำตัวลีบๆ ในรายการใดๆ ก็ตามที่มีชื่อของคุณอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะคุณคืออัจฉริยะ”
สุนทรพจน์ส่วนหนึ่งของทิโมธีในงาน The National Board of Review Awards Gala
จังหวะการเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสอาจจะไม่เคยประจวบเหมาะเท่านี้มาก่อน เพราะในภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันเรื่อง ‘Call Me by Your Name’ ที่ส่งให้ทิมมีเข้าชิงออสการ์ (แต่ไม่ได้รางวัล) อาศัยความสามารถมากมายที่นักแสดงต้องเรียนรู้ เพราะเนื้อเรื่องเกิดขึ้นที่เมืองเครมาประเทศอิตาลี ยุค 1980 เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องรักอบอุ่นรวดร้าวในฤดูร้อนของอิตาลีที่มีตัวละครผู้ชาย 2 คนดึงทึ้ง หลงใหล และหลงทางในความรักที่มีต่อกันในกรอบเวลาสั้นๆ
น้องเด๋อเล่นเป็นเอลิโอ เพิร์ลแมน ลูกชายวัย 17 ปีของศาสตราจารย์เพิร์ลแมน พูดได้ 3 ภาษาคือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส และอิตาเลียน สลับไปมาในแต่ละซีน (ทิมมีพูดฝรั่งเศสได้อยู่แล้ว) ไม่รวมการไปเรียนเปียโนและกีตาร์เพิ่ม เพราะบทคือเอลิโอ ออกจะเป็นเด็กฉลาดเกินวัย แกะเพลงคลาสสิกเองในยามว่าง เล่นเปียโนโชว์ชาวบ้านเป็นเรื่องปกติ ชอบอ่านหนังสือและรู้ประวัติศาสตร์มากมาย รู้ทุกอย่างนอกจากการจัดการกับการอกหัก
แถมยังต้องเล่นเป็นเด็กแก่แดด สับสนสวยงาม น้องต้องอ่อยผู้ชาย (ที่อายุมากกว่า 7 ปีและเป็นลูกศิษย์ปริญญาเอกคนฉลาดของพ่อ) ด้วยวิธีผู้ดีซับซ้อน เช่น เล่นเปียโนอ่อย หรือถกเถียงเชิงปัญญาชน…แต่ก็คืออ่อย
ช่วงก่อนถ่ายทำจริง ทิมมีเดินทางไปที่เครมาก่อน 1 เดือนครึ่ง ในแต่ละวันเขามีตารางเรียนภาษาอิตาเลียน 1 ชั่วโมงครึ่ง กีตาร์ 1 ชั่วโมงครึ่ง และเปียโนอีก 1 ชั่วโมงครึ่ง
“Call Me by Your Name’ เป็นหนังที่ทำมาจากหนังสือ ซึ่งเปรียบเหมือนการดึงข้อมูลออกมาจากคัมภีร์ไบเบิลที่มีเนื้อหามหาศาลในนั้น ดังนั้นไอเดียในการแสดงของผมก็คือซื่อสัตย์กับบทที่ดัดแปลงมาให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เอลิโอในหนังสือเป็นเด็กที่เล่นเปียโนเก่งมาก หรือเปลี่ยนจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาได้ลื่นไหล ดังนั้นหน้าที่ในการเป็นนักแสดงของผมก็คือต้องรับผิดชอบกับมันอย่างซื่อสัตย์ที่สุดตามถ้อยคำของนักเขียน”
แล้วการได้เล่นบทที่ตัวละครเจอตัวตนของตัวเองตั้งแต่ยังเด็กเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่านะครับ การได้ตามหาว่าต้องแสดงกายภาพของเราอย่างไรให้มีนัยยะทางเพศ มีการแสดงออกของตัวละครบางอย่างที่ผมรู้สึกว่ามันใช่เหรอ ผิดหรือเปล่า ซึ่งมันเป็นความรู้สึกที่ร่วมสมัย เป็นการแสดงออกทางร่างกายที่คุณจะไม่มีวันเจอในยุคสมัยนั้น
ผมมักจะบอกตัวเองให้จำช่วงเวลาที่ได้บทแสดงนำไว้ให้ดี แสดงอย่างที่รู้สึกออกไปเสมอ บางครั้งมันอาจจะมากไป บางครั้งผมอาจจะอ่านและเล่นบทอย่างซื่อสัตย์มากๆ จนมันดูไม่คูลหรือดูเก้งก้างน่าอึดอัด แต่นั่นคือสิ่งที่ผมพยายามจะ ‘เป็น’
แต่ถ้ามันจริงถึงขั้นที่คุณสนใจความเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่ต้องแสดงก็อันตรายมากเหมือนกัน คุณต้องไม่บันเทิงตัวเองถึงแม้ว่างานจะบันเทิง งานควรจะเป็นงาน ถ้ามันส่งเสียงสะท้อนอะไรบางอย่าง มันจะเป็นไปในรูปแบบของมันเอง”
เหมือนตอนที่เล่นฉากเกี่ยวกับการจัดการความเศร้าใน ‘Call Me by Your Name’ กับไมเคิล สตอลเบิร์ก (รับบทพ่อของเอลิโอ) ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงในหมู่คนดูและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ เป็นวินาทีที่ทิมมีรู้สึกว่าเขาได้ยินในสิ่งที่อีกฝ่ายพูดจริงๆ ในฐานะมนุษย์
“ผมเคยดูไมเคิลแสดงละครเวทีเรื่อง ‘The Pillowman’ ตอนอายุ 12-13 ปี และตอนที่รู้ว่ามีโอกาสที่จะได้เล่นเรื่องเดียวกับเขา ผมเหมือนเด็กจิ๋วตาวาวอยากได้ลูกอมเลย พอเล่นฉากนั้นผมเลยคิดง่ายๆ ว่า ให้ท่านอาจารย์แสดงงานของท่านไป แล้วปล่อยตัวเองให้เป็นแมลงวันที่เกาะอยู่บนผนังแทน
ปกติเวลาที่ผมแสดง ผมจะจำบทของผมและอีกฝ่ายไปด้วยเพื่อดูจังหวะการเล่น บิวท์ตัวเองว่าต้องเป็นเอลิโอๆๆๆ แต่สิ่งที่ไมเคิลพูดในฉากนั้นมันดังในหัวมากจนผมตัดสินใจที่จะไม่จำบท แต่กลับคิดว่า “ทิมมี มึงต้องฟังเขาพูดนะ ฟังสิ่งที่เขาจะพูดจริงๆ ฟังคำเขา แล้วเอามันมาใช้ในชีวิตจริงๆ”
มันอาจจะฟังดูเลี่ยนนะครับ แต่ผมคิดว่าสำหรับนักแสดงรุ่นเยาว์ที่กำลังพยายามอย่างมากที่จะควบคุม ‘ความสำเร็จที่พุ่งทะยาน’ นี่คือสิ่งที่จำเป็นจริงๆ นี่คือช่วงเวลาที่ศิลปะช่วยผมไว้ได้และเปลี่ยนแปลงให้ผมเป็นนักแสดงที่ดีขึ้น
นอกจากนั้นคือการทำงานกับผู้กำกับที่คุณเชื่อถือ แล้วเมื่อคุณเข้าใจแก่นเดียวกัน มันจะเปิดช่องว่างให้คุณกล้าผิดพลาด ซึ่งในฐานะนักแสดงมันมีใบสั่งว่าคุณต้องทำอะไรอย่างชัดเจน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความแรนดอม เวลาที่ผมเป็นคนดู ผมชอบความแรนดอม ความซื่อสัตย์และอารมณ์ดิบที่มีอยู่ในหนัง”
เด็กหนุ่มถังแตกผู้พลาดหวังจาก Spider-Man
“ทุกวันในกองถ่ายที่อิตาลีทางตอนเหนือคือห้องเรียนฝึกการแสดง ผลกระทบที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีต่อผู้ชมที่มีโอกาสได้ชมไปในปีที่แล้ว รวมถึงการได้แสดงในบทบาทที่ อังเดร อสิเมน (ผู้เขียนหนังสือ) เขียนที่อิตาลีทางตอนเหนือ ก็ขยายอาณาเขตความฝันเพ้อคลั่งของผมมากมายแล้ว สำหรับคนที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมหวังว่าคุณจะสนุกไปกับสุนทรพจน์ที่ลึกซึ้งที่สุดในช่วงชีวิตหนึ่งของไมเคิล, อาร์มี แฮมเมอร์ (พระเอก) เต้นไปกับเพลงยุค 80 และประสบการณ์เซ็กส์ของผมกับลูกพีช ขอบคุณครับ ราตรีสวัสดิ์”
สุนทรพจน์ส่วนหนึ่งของทิโมธีในงาน Hollywood Film Awards
คู่เดทในงาน SAG awards ปีนี้ของทิโมธีคือคุณแม่นิโคล เฟนเดอร์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในอาชีพนักแสดงของลูกชาย และเป็นคู่เดทคนเดียวกับเมื่อ 5 ปีที่แล้วที่เขาได้มาร่วมงาน
ถึงแม้ทิมมีของคุณแม่และประชาชนจะดูเด๋ออย่างมากหากใครได้ดูวิดีโอแร็พตอนไฮสคูลที่หลุดออกมาเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต ดูเหมือนว่าเขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีความสุขดี มีครอบครัวและคนรอบข้างสนับสนุน แต่ทิมมีก็ตามหาตัวเองและที่ทางในอาชีพนักแสดงอย่างหนัก เจอมรสุมของความผิดหวังอยู่หลายปี ตอนปีสุดท้ายเขาได้รับบท ฟิน วอลเดน ลูกชายเจ้าปัญหาของรองประธานาธิบดีในซีรีส์เรื่องดัง ‘Homeland’ ระหว่างที่เรียนที่ LaGuardia ก็ได้ผ่านงานแสดงยิบย่อยหลากหลาย
“ผมแสดงซีรีส์เรื่อง ‘Homeland’ ตอนเรียนปีสุดท้ายที่ไฮสคูล ซึ่งมันเป็นประสบการณ์การแสดงที่แปลกนะครับ เพราะตอนแสดงคุณต้องทิ้งทุกอย่าง ศึกษาตัวละครแล้วคิดว่าจะแสดงยังไงให้ตัวละครเข้ากับเรื่องได้มากที่สุด แต่คุณก็ยังต้องกลับไปเรียนหนังสืออยู่ บางครั้งผู้กำกับก็ไม่ได้สนใจว่าซีนมันจะออกมาในรูปแบบไหนมากกว่าทำยังไงการแสดงมันถึงจะดูเรียล”
หลังจบมาจาก LaGuardia เวทีที่ใหญ่และหนักกว่าละครที่เคยเล่นมาทั้งหมดคือการตัดสินใจว่าจะเว้นเวลา 4 ปีไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียดีหรือไม่ แคลร์ เดนซ์ หรือซินเทีย นิกซอน นักแสดงร่วมใน ‘Homeland’ ต้นสังกัด หรือแม้กระทั่งแม่ของทิมมีต่างเชียร์ให้เขาลงเรียนก่อน ซึ่งน้องเด๋อก็เรียน แต่เป็นเด็กปีหนึ่งจบปุ๊บก็ลาออกจากมหาวิทยาลัยเพราะหาเหตุผลในการเรียนต่อไม่ได้แล้วแม้ว่าแม่จะยืนกรานว่าให้เรียนต่อ
เขาจินตนาการตัวเองทำอย่างอื่นไม่ออกนอกจากการเป็นนักแสดง
ทิมมีย้ายมาอยู่ที่ย่าน The Bronx เพราะสามารถเช่าห้องราคาถูกที่นั่นได้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่านั่นคือช่วงเวลาที่ถังแตกและยากลำบากทั้งทางการเงินและทางใจมากที่สุดแล้ว ระหว่างนั้นเขาออดิชั่นเรื่อง ‘Spider-Man: Homecoming’ แต่ก็วืด กลายเป็นว่า ทอม ฮอลแลนด์ ได้บทไป หรือเรื่อง ‘Manchester by the Sea’ ก็วืดอีก เพราะ ลูคัส เฮดจ์ส ได้บทไป (ซึ่งทิมมีเปิดเผยว่าเขามาย้อนดูคลิปและสัมภาษณ์ทั้งหมดและคิดว่าบทเหมาะสมกับทั้งสองคนมากๆ แล้ว)
“ผมพังมากเลย เพราะตอนที่ออดิชั่นไม่ได้บท Spider-Man ผมออกมาจากมหาวิทยาลัยแล้วและไม่ได้ทำงานอยู่ แล้วอายุ 19 ก็เป็นช่วงเวลาที่จะเด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง ผมมักจะทบทวนตัวเองเสมอว่ามึงจะเอายังไง จะเอาจริงกับการแสดงใช่ไหม งั้นมี 3 ทางให้เลือก หนึ่ง เต็มที่กับการแสดงไปเลย สอง ก็เต็มที่นะแต่ก็เรียนหนังสือไปด้วย หรือสาม เรียนหนังสืออย่างเดียว เลิกแสดงไปก่อน 4 ปี ซึ่งทางเลือกที่ 3 ผมไม่นับมันว่าเป็นทางเลือกด้วยซ้ำ ผมเลยตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยตอนที่ ‘Interstellar’ ฉาย”
ทิโมธีออดิชั่นได้บทเป็นลูกชายของ แมทธิว แมคคอนนาเฮย์ ในภาพยนตร์เรื่องดัง ‘Interstellar’ และหวังว่าบทนั้นจะทำให้เขาได้บทที่ดี บทที่ใหญ่ บทที่ไปต่อได้และเป็นที่ยอมรับ
แต่ก็ไม่…
จนถึงวันที่ ‘Call Me by Your Name’ กับ ‘Lady Bird’ ออกมาสู่สายตาประชาชนในเวลาไล่เลี่ยกัน แล้วกระแส Chalametians หรือกองทัพเอ็นดูน้องทิมมีเคลื่อนตัวอย่างบ้าคลั่ง ถึงขั้นมีแฟนคลับชาวจีนตั้งชื่อเล่นให้ว่า Sweet tea เพราะการออกเสียงในภาษาจีนใกล้เคียงกับทิโมธี เขาถึงหายใจได้ทั่วท้องเสียที
“สำหรับผมมันชัดเจนมากว่าไม่อยากเรียนต่อ แต่มันก็เป็นหนึ่งในความไม่มั่นคงทางจิตใจที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตผมเช่นเดียวกัน อีก 6 ปีข้างหน้า ผมไม่อยากมองกลับไปที่ตัวเองแล้วมานั่งเสียดายว่าทำไมตอนนั้นโง่ได้อีกหรือไม่ลองท้าทายตัวเองดู
มันน่ากลัวนะครับเพราะผมไม่อยากขโมยช่วงเวลาในการเติบโตในฐานะมนุษย์ แต่สุดท้ายแล้วการได้ทำงานแสดงมันตรงกันข้ามกับที่เคยคิดไว้เลยว่าจะไม่ได้เรียนรู้ด้านมนุษย์ในตัวเอง ผมไปออกกองฯ ได้ประสบการณ์การทำงานร่วมกับผู้กำกับที่ใช้สัญชาตญาณในการทำงาน เหมือนที่ได้เห็นคริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับ ‘Interstellar’ ทำงานด้วยสัญชาตญาณที่แม่นยำของเขา ได้ทำงานร่วมกับคนที่เปิดรับไอเดียและมีความคิดสร้างสรรค์ มีเมนเทอร์คอยสอนงาน ผมคิดว่านั่นก็คือการเรียนอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน”
การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ แต่สำคัญไปกว่านั้นคือนักเรียนเห็นว่าอะไรคือการศึกษาที่แท้จริงของเขา ทิโมธีเปรยว่าการประสบความสำเร็จในวัยเยาว์อาจจะไม่ใช่เส้นทางที่ดูแข็งแรงนัก รู้ดีว่าในอาชีพนักแสดงกราฟขึ้นสูงได้ก็ลงดิ่งได้มากแล้วแซวตัวเองว่าผมอาจจะได้เจอกับความหายนะเร็วๆ นี้
เขาชอบเล่นมุกว่าไม่อยากเดินตามถนนแล้วมีคนมาทักว่า เฮ้ย นายใช่คนที่มีเซ็กส์กับลูกพีชในหนังเรื่องนั้นปะ แต่ก็ดีใจมากที่พอมีคนทักว่า “เฮ้ย นายคือไอ้เวรคนนั้นที่เล่น Lady Bird นี่” เพราะนั่นหมายความว่าคนเห็นเขาในฐานะนักแสดงที่แท้จริง
ทิมมีศึกษาการแสดงจากภาพยนตร์, หนังสือ, เพลง, ละครเวที ภาพยนตร์อย่าง ‘Punch-Drunk Love’ ‘Fences’ ละครเวทีเรื่อง ‘Death of the Salesman’ ที่แสดงโดย ฟิลิปป์ ซีย์มัวร์ ฮอฟแมน หรือ ‘The Dark Night’ ที่จุดไฟนักแสดงที่ไม่มีวันมอดให้กับเขา ทิมมียังชอบเพลงฮิปฮอปและชอบอ่านวรรณกรรม เช่น ‘The Perks of Being a Wallflower’ เขียนโดยสตีเฟ่น ชบอสกี, ‘The Death of Ivan Ilyich’ เขียนโดย ลีโอ ตอลสตอย และ ‘1984’ ที่เขียนโดย จอร์จ ออร์เวล ที่เขาบอกว่าอ่านซ้ำไม่รู้กี่รอบแล้ว
แต่ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องตลกจริงๆ ที่รายการ Late Night Show ต่างๆ ต่างเชิญเขาไปเป็นแขกรับเชิญ งานแถลงข่าวและสื่อมากมายโยนคำถามเรื่องการจัดการกับชื่อเสียงฉับพลันหรือที่มาที่ไปของการได้แสดงนำในบทน้องเอลิโอ หรือไคล์จาก ‘Lady Bird’ ที่เข้าชิงพรวดเดียว 40 กว่างาน
อยู่ดีๆ ก็มีคนสงสัยเต็มไปหมดว่าชื่อ Timothée Chalamet อ่านออกเสียงอย่างไร ใครจะนั่งข้างๆ เขาในงานประกาศรางวัลออสการ์ วันเกิดที่โปรดปรานที่สุด หนังสือที่ชอบที่สุด หรือจูบแรกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร
“ที่งานประกาศรางวัล Sundance ผมจำได้มีคนคนหนึ่งยกมือขึ้นมาแล้วบอกว่าฉากที่ผมแลกเปลี่ยนกับไมเคิล (พ่อในเรื่อง) เป็นพ่อที่เขาไม่มีวันได้สัมผัส คือพ่อที่เขาอยากมี สำหรับผมคำพูดนั้นมันเซอร์เรียลมากเพราะผมออดิชั่นงานมาอย่างหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมกังวล ผมเศร้า แต่ตอนนี้เหมือนมาอยู่ในสมการที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเวลาที่มีคนมาพูดว่าเขาได้รับผลกระทบจากมันยังไงบ้าง คุณทำงานแสดงมาเพื่อสิ่งนี้แหละ มันต้องไปไกลกว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนัง ผมหวังว่าอีก 5 ปีข้างหน้าคนดูก็ยังคงจะได้รับอะไรบางอย่างไปจากหนังที่ผมเล่น
ในฐานะศิลปิน การให้อะไรกับผู้ชมคือสิ่งที่ผมฝันถึง การเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดอยู่ดีคือความฝันแรก ส่วนความฝันที่สองคือความรู้สึกเติมเต็มจากการที่คนดูได้รับจากสิ่งที่เราสร้าง และมันขึ้นอยู่ที่คนดูว่าเขาจะได้รับอะไรไป เพราะความเป็นศิลปะเกิดขึ้นในความคิดของคนดูไม่ใช่จากจอภาพยนตร์”
ยูนิคอร์นผู้คิดเยอะ
“ผมพยายามที่จะซึมซับช่วงเวลานี้ไว้เพราะไม่รู้ว่ามันจะมีโอกาสได้เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า ผมหวังว่ามันจะไม่ดูเลี่ยนเกินไปที่จะบอกว่าผมมีศรัทธาในวงการนี้และประเทศนี้ เพราะเกรตา เกอร์วิค, ลูกา กัวดาญีโน, จอร์แดน พีล, ดาเนียล คาลูยา และศิลปินผู้สร้างภาพยนตร์ที่ไม่ได้อยู่ในที่นี้ เรามีคลื่นลูกใหม่กำลังมาแล้วครับ เราจะทำให้ดี เราจะทำงานอย่างดีครับ”
สุนทรพจน์ของทิโมธีในงาน Independent Spirit Awards
เกรตา เกอร์วิค นักแสดงทรงเสน่ห์-ผู้กำกับ-เขียนบทเรื่อง ‘Lady Bird’ และนักแสดงมากความสามารถเคยกล่าวไว้ว่าหลายคนอาจจะประหลาดใจกับการมาของทิมมี แต่ฉันไม่ ฉันรู้มานานแล้วว่าเขาเป็นยูนิคอร์น
ซึ่งยูนิคอร์นคนนี้ก็สร้างความร้าวรานทางจิตใจแก่ผู้ชมอย่างร้ายกาจในภาพยนตร์เรื่อง ‘Call Me by Your Name’ เพราะทั้งสายตา ภาษากายและใจที่ส่งออกไปในแต่ละฉากราวกับว่าเขาดีไซน์มาอย่างงดงามแล้วแม้ว่าจะเป็นฉากเล็กน้อย เช่น ไอเดียที่เอลิโอกำลังเล่นน้ำอยู่แล้วโผล่ขึ้นมามีสร้อยค้างอยู่ตรงริมฝีปาก (พระเอกใส่สร้อยแบบเดียวกัน) ก็เป็นไอเดียของทิมมี
“ผมไม่เคยกังวลเลยว่าจะทำอะไรได้ไม่ดี เพราะผมรู้ว่าผมคงไม่สามารถทำทุกอย่างให้ดีได้ การทำได้ไม่ดีจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ผมกลัวว่าผมจะน่าเบื่อ ถ้าผมแสดงแล้วไม่มีใครดูเลย แม้กระทั่งการไปออกพอดแคสต์หรือโชว์ต่างๆ ก็ตาม แต่หลักๆ เลยคือการแสดงภาพยนตร์ สิ่งที่เลวร้ายกว่าการเล่นแย่คือเล่นแล้วน่าเบื่อ ผมทนไม่ไหวถ้าภาพยนตร์อิสระหรืองานอาร์ตให้ความรู้สึกแบบนั้น ผมไม่อยากเล่นให้ตัวเองดูคนเดียว
การเลือกโปรเจ็คต์ที่จะเล่นก็เลยมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก ซึ่งมันก็เครียดมากด้วยเช่นกันเพราะผมต้องการที่จะท้าทายตัวเองในฐานะนักแสดงที่ได้โอกาสแสดงในโปรเจ็คต์ทดลองหรืองานที่สนุก ไม่ใช่งานแสดงที่ดูเหมือนเอาโควทมาพูดเรียงต่อกันจนน่าเบื่อ คนดูเองก็จะได้รับสารที่นักแสดงดีไซน์มาอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วด้วย อย่างเช่นในเรื่อง ‘Call Me by Your Name’ ที่พวกเขาสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกภายใน ความลึกซึ้งที่หนังต้องการจะสื่อ”
ในวัย 22 ปี เขาได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง ‘A Rainy Day in New York’ ที่จะออกฉายในปี 2018 นี้ แต่ด้วยความที่ผู้กำกับวูดดี อัลเลน ที่พ่วงคดีการล่วงละเมิดทางเพศลูกสาวบุญธรรมติดตัว และฮอลลีวูดก็เพ่งเล็งประเด็นนี้มาก ทิโมธีจึงออกมาแสดงความคิดเห็นโดยการโพสต์ผ่านอินสตาแกรมว่า
“ผมเรียนรู้ว่าผมไม่ควรจะเลือกงานด้วยมาตรฐานที่ว่าบทดีอย่างเดียวเท่านั้น หลายเดือนที่ผ่านมาผมเห็นขบวนการขับเคลื่อนทรงพลังเพื่อที่จะหยุดความอยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกัน หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรก็ตามที่อยู่ใต้พรมมาโดยตลอด
ผมถูกถามคำถามมากมายเกี่ยวกับการทำงานกับวูดดี อัลเลนในฤดูร้อนที่ผ่านมา และผมไม่สามารถตอบคำถามเหล่านั้นได้เพราะมันจะละเมิดกฎในสัญญา แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกคือ ผมจะไม่ขอรับค่าตัวจากภาพยนตร์เรื่องนี้ และต้องการจะบริจาคเงินที่ได้ให้กับองค์กร 3 องค์กรคือ Time’s Up, LGBT เซ็นเตอร์ในนิวยอร์ค และ Rainn (the Rape, Abuse & Incest National Network: เครือข่ายช่วยเหลือเหยื่อการประทุษร้ายทางเพศแห่งชาติสหรัฐ)
ผมอยากปฏิบัติตัวอย่างมีคุณค่าเพื่อที่จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับศิลปินที่กล้าหาญทั้งหลายที่ต่อสู้เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีที่บุคคลเหล่านั้นสมควรจะได้รับ”
แม้จะยังมีประเด็นที่ประชาชนสงสัยในเรื่องนี้อยู่ แต่ทิโมธีก็ไม่ได้ให้ความเห็นมากนักนอกจากให้สัมภาษณ์กับ Times ว่าการได้รับบทอย่างเอลิโอหรือไคล์ในภาพยนตร์ coming of age ทั้งคู่ทำให้เขาได้รับโอกาส และโอกาสนั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่จะไม่มีวันหายไปจากตัวเขา
น้องเด๋อดูไม่เด๋ออีกต่อไปแล้วเมื่อฟังจากสิ่งที่เขาตอบคำถามในสื่อหรือนิตยสารต่างๆ เขามีสุนทรพจน์ที่ไม่ได้ใช้พูดในงานประกาศรางวัลหลายชิ้น และทุกคนก็ดูจะมีออร่าเอ็นดูเด็กใหม่ในวงการ
เสียงยืนยันอีกเสียงคือเสียงของลูกา ผู้กำกับ ‘Call Me by Your Name’ ที่บอกว่าเขาเห็นความสว่างสดใส และวาทศิลป์ทางการพูดจากเด็กคนนี้ ทิโมธีเป็นเด็กหนุ่มที่ทะเยอทะยานที่จะพัฒนาศิลปะในตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยหลงว่าตัวเองเก่งแล้ว ทิมมีแค่มั่นใจว่าสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อมันปรากฏอยู่ในหน้าจอ
“ใครบ้างจะไม่รักทิมมี” แม้แต่คู่จิ้น อาร์มี แฮมเมอร์ (รับบทโอลิเวอร์ใน ‘Call Me by Your Name’) ก็ยังเอ่ยปากต่อหน้าสื่อและชื่นชมน้องเด๋อเรื่องการแสดงและความเป็นธรรมชาติในชีวิตจริงของเขาหลายครั้ง
“ผมไม่ได้อยากพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่หนังอย่างเรื่อง ‘Beautiful Boy’ ที่เกี่ยวกับเรื่องเด็กติดยาเสพติดและความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ผมถ่ายกับ สตีฟ แคเรล หรือการที่ผมได้ยินเสียงตอบรับว่า ‘Call Me by Your Name’ เปิดพื้นที่เรื่องเควียร์ให้กว้างขึ้นเพราะหนังถ่ายทอดเรื่องราวของคนสองคนตกหลุมรักกัน นั่นคือการเฉลิมฉลองความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่ได้กดขี่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ได้อ้างอิงเรื่องโรคเอดส์ หรือมีตัวร้ายเป็นตัวละครสักตัวที่ใช้ความรุนแรง เพราะตัวร้ายคือความหายนะในความรัก
ผมรู้สึกว่านี่คือการเฉลิมฉลองในช่วงเวลาที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอยู่ เราอยู่ในยุคแห่งการเหยียดหรือการกดขี่ที่แทรกซึมทุกสิ่งโดยที่เราเองไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ผมเลยรู้สึกว่าที่ภาพยนตร์อย่าง’Call Me by Your Name’ หรือ ‘Lady Bird’ ได้รับกระแสตอบรับอย่างอบอุ่นเพราะมันคือการเฉลิมฉลองความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้”
Everybody, it’s Timothée Chalamet.
อ้างอิง:
indiewire.com
time.com
vanityfair.com
thestar.com
wikipedia.org
theguardian.com
hollywoodreporter.com
mtv.com
vman.com
vman.com
gq.com
งานแถลงข่าว Toronto Film Festival โดย The Guardian, EE rising star, Santa Barbara International Film Festival Virtuosos Awards, Actors on Actors โดย Variety
พอดแคสต์ Happy Sad Confused โดย MTV