- ‘หลักสูตร’ หนึ่งในผู้ร้ายที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาระบบการศึกษาไทย
- งานเสวนาออนไลน์ ห้องเรียนของผู้ถูกกดขี่ : ศาสตร์การสอนเพื่อปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ ครั้งที่ 2 ในประเด็น “มองหลักสูตรฐานสมรรถนะผ่านเลนส์ทฤษฎีการศึกษาเชิงวิพากษ์” จะชวนเราไปตั้งหลักกันใหม่ มอง ‘หลักสูตร’ ด้วยเลนส์ ‘การตีความ’ ที่จะทำให้เราเข้าใจระบบการศึกษาไทยมากขึ้น
- “ถ้าเรามองว่าแบบเรียน คือ text หรือตัวบท ผู้เรียนจะสามารถถูกครอบงำโดยแบบเรียนได้จริงหรือ ถ้าเรามองเรื่องนี้ด้วยทฤษฎี critical (ทฤษฏีแนววิพากษ์) จะมองเห็นว่าการครอบงำเกิดโดยผู้มีอำนาจเชิงวิธีการ”
“หลักสูตรไทยล้าสมัย ไม่สอนเรื่องเพศเด็ก”
“เด็กมีความเชื่อแบบผิดๆ ก็เพราะหลักสูตร”
ปัญหาระบบการศึกษาไทยเป็นหัวข้อที่พูดเมื่อไรก็มีประเด็นให้ถกมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะการไม่อัปเดตเนื้อหาให้เข้ากับโลกยุคนี้ เนื้อหาที่แคบไม่ครอบคลุมความหลากหลายของคนในประเทศ หรือเนื้อหาที่อาจส่งสารชวนเข้าใจผิดหรือปลูกฝังทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง และอื่นๆ อีกมากมาย
แน่นอนว่าเมื่อมีปัญหาก็ต้องมีคนที่ต้องรับผิด หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ผู้ร้าย’ ผู้ร้ายที่เราเห็นรับบทบ่อยๆ ในปัญหาการศึกษาไทยก็คือ ‘หลักสูตร’ เป็นสิ่งที่ถูกมองว่าถ่ายทอดเนื้อหาผิดๆ ไม่มีความยืดหยุ่น สร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้งาน ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ถ้าให้หลักสูตรเป็นใครสักคน เขาคงเป็นคนที่หัวแข็งไม่ยอมปรับตัวกับอะไรทั้งนั้น ยึดมั่นในความเชื่อตัวเอง ทำให้วิธีหนึ่งที่เลือกใช้เพื่อการแก้ปัญหาระบบการศึกษา คือ การทำหลักสูตรใหม่ โดยล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการมีแพลนจะนำหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency – based education) มาเป็นหลักสูตรแกนกลางตัวใหม่ ที่จะเน้น Active Learning การเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ ติดตั้งทักษะสมรรถนะที่จำเป็นต่อผู้เรียนโดยสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง
แต่คำถาม คือ เราคิดว่าหลักสูตรสามารถครอบงำหรือชี้นำผู้เรียนได้จริงหรือ?
เป็นคำถามจาก ดร.ออมสิน จตุพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ชวนให้คิดทบทวนใหม่ว่า การมองว่าหลักสูตรเป็นตัวร้ายอาจทำให้เรามองไม่เห็นหรือมองข้ามผู้ร้ายตัวจริงไป
เครือข่ายการเรียนรู้ Thai Civic Education ภาคเหนือตอนล่าง และกลุ่ม LeftED จัดงานเสวนาออนไลน์ ห้องเรียนของผู้ถูกกดขี่ : ศาสตร์การสอนเพื่อปลดปล่อยความเป็นมนุษย์ ครั้งที่ 2 ในประเด็น “มองหลักสูตรฐานสมรรถนะผ่านเลนส์ทฤษฎีการศึกษาเชิงวิพากษ์” ที่จะชวนเราไปตั้งหลักกันใหม่ มอง ‘หลักสูตร’ ด้วยเลนส์ ‘การตีความ’ ที่จะทำให้เราเข้าใจระบบการศึกษาไทยมากขึ้น
ระบบการศึกษาในไทย
ดร.ออมสิน ในฐานะผู้นำเสวนาครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมแชร์ว่าคิดเห็นอย่างไรกับคำว่า ‘หลักสูตร’ คำตอบจากวงเสวนามีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแบบแผนที่ใช้ในการสอน เป็นไกด์ไลน์คู่มือ เป็นกรอบการทำงานที่ไม่มีความยืดหยุ่น เป็นต้น
จากนั้นดร.ออมสินก็พาทุกคนนั่งไทม์แมนชีนย้อนกลับไปดูรากฐานการศึกษาไทย ซึ่งระบบการศึกษาของไทยจะได้รับอิทธิพลจากสองชาติใหญ่ในโลกตะวันตก คือ อเมริกา (Teacher Education) และอังกฤษ (Teacher Training) ชนชั้นนำที่มีบทบาทในการสร้างระบบการศึกษาถูกส่งไปเรียนต่อต่างประเทศก็รับเอาแนวคิดการจัดการศึกษาต่างๆ เข้ามา เกิดเป็นกระบวนการ Recontextualization Policy คือ การเลือกสรรบางอย่าง คงบางอย่าง และทิ้งบางอย่างไป หมายความว่าบ้านเราไม่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกแบบ 100% เพราะชนชั้นนำจะมีแนวคิดว่าต้องทำให้ประเทศก้าวทันโลกตะวันตก แต่ยังคง ‘ความเป็นไทย’ ไว้
“ความทันสมัยในระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงศตวรรษครึ่งที่ผ่านมา เป็นความทันสมัยที่วางอยู่บนตรรกะของอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) แบบไทยๆ ที่ไม่เพียงปิดกั้นองค์ความรู้และวิธีวิทยาเชิงวิพากษ์ทางการศึกษา แต่สร้างระบอบราชการขนาดใหญ่ในวงการการศึกษา คือแทนที่จะปรับปรุงให้ระบบการศึกษาไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลับทำให้การปฏิรูปการศึกษากลายเป็นสิ่งที่สร้างความอ่อนเปลี้ยให้กับสังคมไทย” ดร.ออมสิน กล่าว
ครูทิว – ว่าที่เรือตรี ธนวรรธน์ สุวรรณปาล แสดงความเห็นว่าหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 มีความพยายามที่จะกระจายอำนาจ รัฐพยายามผลักภาระของตัวเองไปให้เอกชน เกิดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น กระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ในระบบการศึกษามีการคิดเกณฑ์ประเมินต่างๆ ขึ้น เพื่อตอบโจทย์การศึกษา รวมถึงการโอนย้ายโรงเรียนไปให้ท้องถิ่น เกิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติปี 2542 ที่พูดเรื่องประกันคุณภาพการศึกษาและหลักสูตรใหม่
นอกจากนี้ เกิดวิธีคิดใหม่ต่อสถานศึกษา คือ จากที่เป็น ‘สมบัติสาธารณะ’ กลายเป็น ‘สินค้า’ เปิดตลาดเสรีให้เอกชนเข้ามาทำ เช่น เกิดโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนนานาชาติ เน้นขายหลักสูตร และชุดความคิดนี้ส่งผลต่อสังคมด้านอื่นๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม
หลักสูตรไม่ใช่ประตูที่ปิดตาย แต่เป็นประตูแห่งโอกาสที่เปิดกว้างให้คนที่เข้าใจ
กลับมาที่ตัวเอกสำคัญอย่างหลักสูตร ดร.ออมสินเล่าว่า หลักสูตรแต่เริ่มแรกของไทยเป็นแบบ Content base เน้นเนื้อหาสาระเป็นหลัก จนปี 2540 เกิดการปฏิรูปการศึกษาในโลกตะวันตกที่อเมริกา เกิดหลักสูตรอิงมาตรฐาน (standard – based education) และนโยบายสำคัญที่ส่งผลต่อการสร้างพระราชบัญญัติการศึกษาในอเมริกา ‘no one left behind’ เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่มีใครถูกทิ้ง ชนชั้นนำไทยก็รับเอาแนวคิดนี้มาใช้ในระบบการศึกษา
แต่หลักสูตรแบบอิงมาตรฐานถูกคนบางกลุ่มมองว่าจำกัดความคิดสร้างสรรค์หรือเชิงวิพากษ์ออกไป เพราะปลายทางนำไปสู่การทดสอบระดับชาติ
ดร.ออมสินหยิบปัญหาที่คนมีต่อหลักสูตรของไทย เช่น วาทกรรมสังคมที่มักบอกว่าหลักสูตรไทยไม่สอนเรื่องเพศศึกษา ดร.ออมสินให้ความเห็นว่า หลักสูตรเป็นคนสอนไม่ได้อยู่แล้ว แต่เป็นเพียงเครื่องมือให้คนสอนตัวจริง ถ้าลองอ่านเอกสารหลักสูตรจะพบคีย์เวิร์ดสำคัญ เช่น ตัวชี้วัดสาระการเรียนรู้สุขศึกษาของมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย มีข้อหนึ่งที่บอกว่า วิเคราะห์ค่านิยมเพศตามวัฒนธรรมไทยและอื่นๆ หมายความว่าหลักสูตรไม่ได้ปิดกั้นไม่ให้ครูหรือผู้สอนใช้วัฒนธรรมของชาติอื่นมาสอน
ครูแนน – ปาริชาต ชัยวงษ์ ในฐานะครูวิชาพระพุทธศาสนาร่วมแลกเปลี่ยนในมุมนี้ว่า ในหลักสูตรแกนกลางมีกำหนดสาระวิชานี้ว่าหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ หรือศาสนาอื่นที่เปิดพื้นที่ให้นับถือ หมายความว่าครูผู้สอนสามารถหยิบยกศาสนาได้มาสอนได้
ดร.ออมสินกล่าวต่อว่า หลักสูตรเปรียบเสมือนตัวบทการเมือง (curriculum as political text) เมื่อไรที่พูดถึงคำว่าการเมือง มันก็คือพื้นที่แห่งการต่อรอง ปะทะ ประสาน พื้นที่แห่งความเป็นไปได้ในการสร้างความหวังจินตนาการใหม่ ทำให้เห็นว่าหลักสูตรในแง่ที่เปิดให้คนตีความได้จึงไม่ใช่ตัวปิดกั้นทางวิธีคิดในการออกแบบการสอน ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีจุดยืนอย่างไร
ปฏิบัติการทางวัฒนธรรม (Discursive Practices) ต่างหากที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อมุมมองและการแสดงออกของคน ฉะนั้น การวิพากษ์หลักสูตร อาจต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังวิพากษ์ตัวบทหลักสูตรหรือปฏิบัติการทางวัฒนธรรม
ดร.ออมสินยกเคสดรามาในตำนานอย่าง ข้อสอบ O – Net วิชาสุขศึกษา ที่มีข้อหนึ่งถามว่าหากเกิดอารมณ์ทางเพศต้องทำยังไง กระแสสังคมโจมตีว่าการศึกษาไทยสอนเด็กแบบนี้ ถ้าเราลองมองลึกลงไปอาจจะไม่ใช่หลักสูตรที่พยายามติดตั้งมายเซ็ตนี้ให้เด็ก แต่เพราะปฎิบัติการทางวัฒนธรรมที่ผู้สร้างข้อสอบอาจมีโลกทัศน์หรือมายเซ็ตบางอย่างที่เกิดจากสังคมไทยและไม่สามารถสลัดหลุดได้
“ถ้าเรามองว่าแบบเรียน คือ text หรือตัวบท ผู้เรียนจะสามารถถูกครอบงำโดยแบบเรียนได้จริงหรือ ถ้าเรามองเรื่องนี้ด้วยทฤษฎี critical (ทฤษฏีแนววิพากษ์) จะมองเห็นว่าการครอบงำเกิดโดยผู้มีอำนาจเชิงวิธีการ”
เมื่อหลักสูตรเป็นพื้นที่ที่ขึ้นอยู่กับความตีความ ก็ต้องทำให้คนทำงานมีพื้นที่ด้วยเช่นกัน สามารถมีจุดยืนที่แตกต่างกัน เช่น มีแนวคิดชาตินิยม เสรีนิยม เฟมินิสต์ (feminism) เป็นต้น ซึ่งดร.ออมสินมองว่า เราสามารถมีจุดยืนได้ในการทำงานการศึกษาหรือการพัฒนาหลักสูตร
ที่สำคัญเขาเห็นว่า การมาของหลักสูตรฐานสมรรถนะ (competency – based education) อาจสร้างพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ พื้นที่ที่คนทำงานสามารถต่อรอง ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ หรือหลักปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทที่ทำงานอยู่ ไม่ใช่เป็นพื้นที่ที่ครอบงำคนทำงานซะทีเดียว เช่นเดียวกับการเกิดของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่เป็นพื้นที่ทำให้เราสามารถเข้าไปต่อรองได้ ถ้าเรามีความเข้าใจหลักสูตร
อยากให้ครูคิดก็ต้องมีพื้นที่ให้ครู
การเข้าฟังงานเสวนาตั้งแต่นาทีแรกจนถึงตอนนี้ทำให้มุมมองที่มีต่อหลักสูตรต่างจากเดิม หลักสูตรไม่ใช่กล่องเหล็กแคบๆ แต่เป็นดินน้ำมันที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างตามที่คนปั้นต้องการ บนฐานความเชื่อ จุดยืนที่คนคนนั้นมี
แต่การจะให้ผู้ปฏิบัติงานไม่ว่าจะเป็นครู อาจารย์ ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือคนที่ทำงานด้านการศึกษามีมายเซ็ตเช่นนี้คงต้องอาศัยการปลุกปั้นมาตั้งแต่ต้น ดร.ออนสินกล่าวถึงสถาบันฝึกสอนครูต่างๆ ที่คงถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนการเทรนครู โดยที่คนสอนเองก็ต้องทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรซะก่อน เพราะเราต่างสอนเน้นเชิงเทคนิคให้นักศึกษาฝึกครู สอนวิธีออกแบบแผนการสอน แต่ไม่ได้สอนให้นักศึกษาครูตีความหลักสูตร รวมถึงสภาพแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะสถานที่ทำงานจริงอย่างโรงเรียน สถาบันศึกษาต่างๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ และสภาพแวดล้อมภายนอกอย่างสังคม เศรษฐกิจที่ต้องเอื้ออำนวยให้ผู้ปฏิบัติสามารถเห็นความเป็นไปได้
“สมมติครูคนหนึ่งสอนอยู่ในโรงเรียนย่านคลองเตย จะลุกขึ้นมาสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะโดยมีชุมชนเป็นฐาน ในเชิงนโยบายหรือเชิงตัวบทเปิดให้เขาทำได้แน่นอน แต่มันก็ต้องอาศัยต้นทุนชีวิตที่สูงมาก”
ครูแนน เห็นด้วยว่านิเวศการศึกษา (หรือนิเวศการเรียนรู้ Learning Ecosystem) เป็นปัจจัยสำคัญ มีการถกเถียงในกลุ่มคนทำงานว่านิเวศทางการศึกษาในปัจจุบันเอื้ออำนวยพอหรือยังกับการมาของหลักสูตรฐานสมรรถนะ หรือจะกลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลักสูตรใหม่ตกร่องเหมือนเดิม
ครูทิว แชร์ในประเด็นเดียวกันในมุมวัฒนธรรมโรงเรียน เช่น ระบบราชการ และโครงสร้างงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนักเรียนในห้อง หรือวิธีประเมินครู ปัจจัยเหล่านี้ต่างถ่ายทอดความคิดบางอย่างให้กับครูส่งผลต่อการจัดการศึกษาหรือตีความหลักสูตร
“ขอเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมจับผิด ไม่ได้สร้างมาเพื่อเอื้อให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอาไว้จำผิดคนกลุ่มเล็กๆ จนกลายเป็นวัฒนธรรมแบบนั้นไป” ครูแนน กล่าว
เมื่อครูกลายเป็นหัวใจหลักที่จะตีความหลักสูตรและออกแบบการศึกษา นอกจากการติดตั้งเครื่องมือให้ครูสามารถเข้าใจหลักสูตรได้อย่างแท้จริง จุดยืนมุมมองของคนสอนจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เห็นว่าทิศทางการสอนไปทางไหน ครูพล – อรรถพล ประภาสโนบล ให้ความเห็นว่า การสอนด้วยหลักสูตรสมรรถนะ ถ้าเป็นครูที่มีทัศนคติแนวอนุรักษ์นิยม แล้วได้โจทย์สอนเรื่องวัฒนธรรม เขาอาจจะคิดหัวข้อสอนเป็นการไหว้แบบสมรรถนะ ดูว่าเด็กสามารถไหว้ได้กี่แบบ หรือจัดโต๊ะหมู่บูชาแบบสมรรถนะ ในขณะที่ถ้าเป็นครูทัศนคติก้าวหน้า ก็อาจจะคิดคอนเซปต์การสอนในเรื่องวัฒนธรรมอีกแบบ
นอกจากนี้ ครูพลเน้นว่าแม้หลักสูตรจะเปิดพื้นที่การทำงานให้กว้าง แต่การทำงานขับเคลื่อนพัฒนาหลักสูตรก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไป พร้อมกับปิดท้ายว่า เป้าหมายการจัดการศึกษาในเวลานี้มีออกมาหลากหลายวาทกรรม อย่างในปัจจุบันวาทกรรมการศึกษาที่กำลังได้รับความนิยม คือ การศึกษาเพื่อมีงานทำ
“หลังปี 40 ที่โรงเรียนกลายเป็นตลาดเสรี เกิดโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนนานาชาติต่างๆ ที่พยายามเอาหลักสูตรมาขาย เกิดวาทกรรมการศึกษาเพื่อมีงานทำ ผมไปดูที่คนถกเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะที่บอกว่า เด็กเรียนแล้วไม่ได้เอาไปใช้จริง เรารู้สึกคำนี้อยู่ในสังคมไทยมานานมากนะ ‘เรียนแล้วไม่ได้ใช้จริง’ ‘เรียนแต่ทฤษฎีแต่ไม่ได้ปฏิบัติ’ ‘เรียนแล้วไม่ได้เอาไปใช้ทำงาน’ สุดท้ายวาทกรรมเหล่านี้มันอาจจะไปสอดรับกับทุนนิยม หรืออุตสาหกรรมไหม “จริงๆ การศึกษาที่ดีควรเป็นอย่างไร” ครูพล กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามงานเสวนาตอนอื่นๆ ได้ที่ Thai Civic Education : ภาคเหนือตอนล่าง |