- การสอนเพื่อความยุติธรรม เป็นมุมมองการสอนที่เชื่อว่า ความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมควรเป็นหัวใจของการเรียนรู้ นักเรียนควรได้เรียนรู้ สำรวจ ตั้งคำถาม ตระหนัก และร่วมกันแสวงหาทางเพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรมขึ้น
- ในมิติชั้นเรียน สนับสนุนให้นักเรียนได้เปล่งเสียงถึงความรู้ในเชิงประสบการณ์ของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา เพื่อสร้างการสนทนา คิดไตร่ตรอง เผชิญหน้า และหาหนทางเปลี่ยนสภาพที่เป็นอยู่ จึงไม่ใช่ห้องเรียนของความเงียบ กดทับ และไร้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของนักเรียน
- บทบาทครูนอกจากการสร้างบทเรียนที่เชื่อมโยงกับความไม่ยุติธรรมแล้ว เพื่อเผยให้เห็นรากของปัญหาที่แท้จริง ครูจำเป็นต้องมีความเป็นมนุษย์และสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้แบ่งปันเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา
นักเรียนชั้นประถมกลุ่มหนึ่งใช้เวลาไปกับการระดมความเห็นเกี่ยวกับเรื่องในชุมชนที่พวกเขากังวล ยาเสพติด อาวุธปืน อุบัติเหตุบนท้องถนน เหล้าบุหรี่ ฯลฯ คือตัวอย่างที่เด็กๆ ได้ร่วมกันบอกเล่าในชั้นเรียนของครูแคทเธอรีน ครูที่เชื่อว่าไม่ควรมีเด็กคนไหนต้องใช้ชีวิตภายใต้ความกังวลเหล่านั้น นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แคทเธอรีนเกิดคำถามต่อตัวเองว่า “บทบาทครูควรเป็นอย่างไร” เธอเชื่อว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่ ‘เรื่องของผู้ใหญ่’ ตามที่ใครหลายคนบอก แต่เป็นสิ่งที่เด็กควรได้เรียนรู้ เพราะนี่คือเรื่องราวในโลกที่เป็นของเด็กๆ ด้วยเช่นกัน
ห้องเรียนจึงเป็นพื้นที่สำคัญที่ประสบการณ์ของเด็กจากทั้งในและนอกโรงเรียนได้หลอมรวม เพื่อพาพวกเขาเรียนรู้ผ่านความกังวลเหล่านั้น และท้าทายเพื่อเอาชนะมัน
ครูแคทเธอรีนเริ่มต้นด้วยการพาเด็กๆ เดินสำรวจเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่ ที่นี่เด็กๆ ได้ยินเสียงปืนในทุกค่ำคืน และหลายครอบครัวต้องสูญเสียคนในบ้านไปจากความรุนแรงและอาชญากรรมในชุมชน ประเด็นนี้ได้กลายเป็นคำถามหลักในบทเรียนของเด็กๆ ถึงอำนาจของความรุนแรง “อะไรคือความรุนแรง และทำไมมันถึงเกิดขึ้น” ไปจนถึงการที่พวกเขาลุกขึ้นมาเขียนจนหมายถึงคนขายปืนในเมืองเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหา
นี่เป็นตัวอย่างเรื่องราวของห้องเรียนที่อยู่บนจุดยืนบทเรียนเพื่อความยุติธรรมของครูแคทเธอรีน ครูที่เชื่อว่า เป้าหมายสำคัญของการสอนคือการนำพาให้นักเรียนได้เห็นว่า การเลือกปฏิบัติต่อผู้คน การถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากร สภาพชีวิตที่อยู่บนความอันตราย ภายใต้โครงสร้างสังคมที่เราเห็นผ่านในชีวิตประจำวันนั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและอำนาจอย่างไร เพื่อที่พวกเขาจะได้ทำความเข้าใจ และสร้างการเปลี่ยนแปลง
ทำไมเราต้องสอนเพื่อความยุติธรรม
การสอนเพื่อความยุติธรรมหรือ Teaching for Social Justice เป็นมุมมองการสอนที่เชื่อว่า ความอยุติธรรมที่ดำรงอยู่ในสังคมควรเป็นหัวใจของการเรียนรู้ นักเรียนควรได้เรียนรู้ สำรวจ ตั้งคำถาม ตระหนัก และร่วมกันแสวงหาทางเพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรมขึ้น การมองสังคมจากแนวคิดนี้ยังเป็นเลนส์ที่พาให้ทั้งครูและผู้เรียนกลับมาตั้งคำถามว่า เรามองเห็นและได้ยินเสียงใครบ้างในสังคมของเรา (รวมถึงตัวเรา) แล้วพวกเขา (ตัวเรา) กำลังเผชิญกับความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การแบ่งแยก การกีดกัน หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไรในแต่ละวันของชีวิต
มุมองการสอนนี้ จึงยืนอยู่ตรงข้ามหรือโต้กลับกับระบบที่ไม่เท่าเทียมหรือกดขี่ ระบบที่ส่งผลต่อการจัดสรรทรัพยากร โอกาสในชีวิต และการปฏิสัมพันธ์กันบนอัตลักษณ์ที่แตกต่างของผู้คน เช่น เพศ สีผิว ชนชั้น ร่างกาย เชื้อชาติ ฯลฯ ควบคู่ไปกับการท้าทายอำนาจและวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงสิ่งเหล่านี้เอาไว้ หรือเป็นสิ่งที่ Sonia Nieto นักการศึกษาที่ทำงานด้านนี้ มองว่า การสอนเป็นการทำงานการเมือง เพื่อยืนยันถึงสิทธิพลเมืองที่อยู่บนความเป็นธรรม ความเคารพศักดิ์ศรี และความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์
ในมิติชั้นเรียน การสอนเพื่อความยุติธรรมจึงสนับสนุนให้นักเรียนได้เปล่งเสียงถึงความรู้ในเชิงประสบการณ์ของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา เพื่อสร้างการสนทนา คิดไตร่ตรอง เผชิญหน้า และหาหนทางเปลี่ยนสภาพที่เป็นอยู่ นี่จึงไม่ใช่ห้องเรียนของความเงียบ กดทับ และไร้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของนักเรียน
ในมุมมองของ Gutstein การสอนเพื่อความยุติธรรม จึงเป็นการติดตั้งเลนส์ เพื่อให้นักเรียนมีวิธีการ ‘อ่านโลก’ ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจและความไม่เป็นธรรมที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ในชีวิตประจำวันจนถึงสังคมใหญ่ ในด้านหนึ่งคือ ‘การเขียนโลก’ ที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่ ผ่านการเผชิญหน้ากับระบอบที่ไม่ยุติธรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
บทบาทครูกับการสร้างบทเรียนเพื่อความยุติธรรม
ในหนังสืออย่าง Teaching for Diversity and Social Justice ระบุว่า สิ่งสำคัญสำหรับครู คือการเริ่มตั้งคำถาม “ใครคือผู้กดขี่” และ “ใครเป็นผู้ถูกกดขี่” ที่ถูกกระทำซ้ำผ่านพฤติกรรมและทัศนคติ ทั้งจากที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ตั้งแต่ระดับตั้งแต่ปัจเจกบุคคล สถาบันทางสังคม ระบบกฎหมาย รวมถึงสังคมวัฒนธรรม องค์กร The Canadian Council for Refugee ได้ชี้ชัดลงไปอีกว่า การพิจารณาถึงการกดขี่และความไม่ยุติธรรมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมองให้เห็นว่า ใครมีอภิสิทธิ์ (privilege) ผ่านหลากหลายมิติ เช่น เชื้อชาติ ภาษา อายุ สีผิว เพศ สถานะความเป็นพลเมือง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สำคัญเพราะจะช่วยให้ครูเห็นว่า ภายใต้ความไม่ยุติธรรม (1) ใครกำลังได้ประโยชน์จากสิ่งที่เป็นอยู่ (2) ทำไมการกดขี่ยังถึงดำรงอยู่ต่อไปได้ และ (3) สิ่งนี้กำลังสร้างหรือผลิตซ้ำคุณค่าของสังคมแบบไหนขึ้นมา
นอกจากนี้ เราอาจจำเป็นต้องตั้งคำถามว่า บทบาทของโรงเรียน ตำราเรียน ครู กำลังส่งต่อ ถ่ายทอด ผลิตซ้ำความรู้และวัฒนธรรมของความไม่ยุติธรรมเหล่านี้หรือไม่ ถ้าเช่นนั้น บทบาทครูควรจะสร้างห้องเรียน โรงเรียน และการศึกษา เพื่อท้าทายสิ่งเหล่านี้อย่างไร เพื่อไม่ให้ความไม่ยุติธรรม การกดขี่ และการเลือกปฏิบัติ ดำรงอยู่ต่อไปได้
ครูทิว ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่มครูขอสอน เห็นว่า แทนที่การสอนจะยึดติดกับสิ่งที่แบบเรียนกำหนด การสอนควรท้าทายต่อมายาคติ วัฒนธรรมความโรแมนติกที่บดบังปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่ยุติธรรมของสังคมเอาไว้ บทเรียนในความเห็นของครูทิว จึงให้ความสำคัญกับการตั้งคำถาม สร้างการวิพากษ์ สืบเสาะผ่านการเชื่อมโยงในชีวิตจริงของนักเรียน นอกจากนี้ Renée Watson and Linda Christensen นักการศึกษาหัวก้าวหน้า ได้ชี้ว่า บทบาทครูนอกจากการสร้างบทเรียนที่เชื่อมโยงกับความไม่ยุติธรรมแล้ว เพื่อเผยให้เห็นรากของปัญหาที่แท้จริง ครูจำเป็นต้องมีความเป็นมนุษย์และสร้างพื้นที่ปลอดภัย ที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้แบ่งปันเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา
วิธีสร้างสะพานบทเรียนเพื่อความยุติธรรม
ครูชัยวัฒน์ ครูในเครือข่าย Thai Civic Education ได้ใช้ GPS มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างบทเรียนเพื่อพานักเรียนเรียนรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมในเขตย่านพระโขนง โดยให้นักเรียนปักหมุดเส้นทางระหว่างเดินทางกลับบ้าน การปักหมุดจึงไม่ใช่แค่การคำนวณระยะทาง แต่นักเรียนจะได้สำรวจชีวิตผู้คน และความไม่ธรรมที่เกิดขึ้นระหว่างทาง บทเรียนของครูชัยวัฒน์ ได้กลายเป็นบทสนทนาในชั้นเรียนถึงความเหลื่อมล้ำในเขตพื้นที่เมืองในมิติของชนชั้น รายได้ ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ต่างกัน หรืออีกตัวอย่าง ห้องเรียนของครูไม้เอก จากโรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ที่สร้างกระบวนการให้นักเรียนได้ตั้งคำถามเพื่อถอดรื้อการกดทับ กีดกันในมิติเรื่องเพศ จากสื่อโฆษณา เพลง หนัง วรรณกรรม ที่อยู่รายล้อมตัวนักเรียน
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ช่วยสะท้อนให้เห็นรูปธรรมของการสอนเพื่อความยุติธรรม ในเว็บไซต์อย่าง Edutopia and learning for social justice ได้เสนอวิธีการไว้หลากหลาย ซึ่งอาจสรุปได้ 3 วิธีการ ดังต่อไปนี้
- สร้างการเชื่อมโยงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ด้วยมุมมองที่หลากหลาย เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการสนทนากับปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้น และค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ไม่ใช่แค่ในระดับผิวเผิน แต่ต้องพาให้พวกเขาได้ตั้งคำถามถึงใจกลางปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ในมิติสังคมการเมือง และประวัติศาสตร์ และยืนหยัดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
- สร้างการเรียนรู้ผ่านสื่อที่หลากหลายที่นักเรียนคุ้นเคย เช่น วรรณกรรม การ์ตูน ข่าว บทความ และสารคดี เป็นต้น เพื่อให้พานักเรียนสำรวจ ถอดรื้อ ถึงความไม่เป็นธรรม มายาคติ และอคติที่แอบแฝงอยู่ในสื่อ หรือเรียนรู้เรื่องราวของการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรม
- สร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ดังที่กล่าวไปในก่อนหน้า พื้นที่ห้องเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม ผ่านบทบาทของครูในการใช้คำถาม ตัวอย่าง เรื่องราว ประเด็น ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดสำคัญของการสอนเพื่อความยุติธรรม เช่น อภิสิทธิ์ (Privilege) การแบ่งแยก (Discrimination) อคติ (Prejudice) ความหลากหลาย (Diversity) เป็นต้น
การสอนเพื่อความยุติธรรม จึงไม่ใช่เรื่องของวิชาใดวิชาหนึ่ง หรือประเด็นหนึ่งในการสอน แต่เป็นจุดยืน แนวคิด และมุมมองการสอนที่เชื่อว่า การกดขี่ ความไม่เป็นธรรม และการเลือกปฏิบัติ ไม่ใช่สิ่งที่ปกติ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามเพื่อเผยให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นและส่งผลอย่างไรต่อชีวิตของพวกเรา และไม่ยอมจำนนกับสิ่งที่เป็นอยู่
อ้างอิง
ภาษาอังกฤษ
Teaching Young Children About Bias, Diversity, and Social Justice (https://www.edutopia.org/blog/teaching-young-children-social-justice-jinnie-spiegler)
Creating Classrooms for Social Justice https://www.edutopia.org/blog/creating-classrooms-for-social-justice-tabitha-dellangelo
Teaching Social Justice in Theory and Practice https://resilienteducator.com/classroom-resources/teaching-social-justice/
Digging Deep Into the Social Justice Standards: Justice https://www.learningforjustice.org/magazine/spring-2020/digging-deep-into-the-social-justice-standards-justice
The Power of Teaching Poetry A Conversation https://rethinkingschools.org/articles/the-power-of-teaching-poetry/?fbclid=IwAR0_yLtapG8XE9bs5F_WHPtGW7fKc7rxFM3bLB8Ws_YkAUKa_p4gDMS6XbM
Anti-oppression https://ccrweb.ca/en/anti-oppression
หนังสือ Teaching for Diversity and Social Justice
หนังสือ Confronting Racism, Poverty, and Power: Classroom Strategies to Change the World
ภาษาไทย
“สอนคณิตอย่างไร ให้ตั้งคำถามถึงความเป็นธรรม” https://www.facebook.com/eduzenthai/photos/a.798941106860833/3956220457799533/
Civic Classroom ตอนที่ 2 : ใช้GPS ปักหมุดสอนเรื่องความไม่เป็นธรรม https://www.facebook.com/media/set/?vanity=thaiciviceducationcenter&set=a.2948001311942867
ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล: สอนเด็กตั้งคำถาม ทลายโครงสร้างเหลื่อมล้ำ https://www.eef.or.th/tanawat-suwannapan-interview/
Happy Pride Classroom ความหลากหลายทางเพศสอนยังไง https://inskru.com/idea/-MbdjC1bVJG__xRLhkj-