Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Teacher makes a positive difference
Transformative learning
30 September 2024

ครูในฐานะผู้สร้างความแตกต่างในชีวิตของเด็ก

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล

  • ครูแต่ละคนต่างมีชุดคุณค่าที่ยึดถือในการเป็นครูที่แตกต่างกัน ทางเลือกที่จะกระทำการหรือไม่กระทำบางอย่าง รวมถึงการตัดสินใจที่จะปกป้องหรือโอบกอดนักเรียนในบางเรื่องแตกต่างกัน บทความนี้สะท้อนคุณค่าและความหมายของการเป็นครูผ่านเรื่องราวของคุณแม่ผู้เขียน ที่ทำหน้าที่ครูมากว่า 37 ปี

“อีกไม่ถึงเดือน แม่ก็จะเกษียณแล้ว” แม่เอ่ยกับผม เมื่อเราเจอกันครั้งล่าสุดในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา เอาจริงๆ สำหรับผม รู้สึกราวกับว่ามันเพิ่งผ่านมาไม่นาน แต่เมื่อนับปีปฏิทินเข้าจริงๆ แม่ทำงานมากว่า 30 ปีแล้ว และเส้นทางในอาชีพครูของแม่นั้นกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนนี้ ผมจึงอยากใช้พื้นที่เล็กๆ ตรงนี้ เขียนส่งท้ายถึงบางเรื่องราวการเป็นครูของแม่จากความทรงจำ

การเขียนถึงเรื่องราวการเป็นครูของแม่ครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องส่วนตัวที่อยากจะบอกเล่า แต่เป็นความตั้งใจของผมที่จะสนทนากับผู้อ่านถึงคุณค่าและความหมายของการเป็นครู ทั้งนี้เพราะเราแต่ละคนต่างมีชุดคุณค่าที่ยึดถือในการเป็นครูที่แตกต่างกัน ทางเลือกที่จะกระทำการหรือไม่กระทำบางอย่างของเราจึงแตกต่างกัน การตัดสินใจที่จะปกป้องหรือโอบกอดนักเรียนของเราในบางเรื่อง รวมถึงสายตาที่เรามองเห็นนักเรียนของเราจึงมาจากแง่มุมที่แตกต่างกันด้วย แม่ของผมก็เช่นกัน เธอเป็นครูคนหนึ่งที่โอบกอดคุณค่าและความหมาย และเลือกที่จะกระทำบางอย่างต่อนักเรียนของเธอ ครูจึงเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กผ่านการใช้อำนาจและการตัดสินใจที่มีอยู่ ดังนั้นสำหรับผมแล้ว การเรียนรู้จากเรื่องราวของครูด้วยกันจึงเป็นทั้งโอกาสให้ได้กลับมาทบทวนถึงคุณค่าที่เรามีต่องานครูและนักเรียนของเรา และในขณะเดียวกันก็เปิดให้เห็นความเป็นได้ที่ครูจะสามารถสร้างความแตกต่างในชีวิตของคนคนหนึ่งได้อีกด้วย

ชีวิตการเป็นครูของแม่ เริ่มต้นในราวปี 2530 หลังจบการศึกษาจากราชภัฏครูจอมบึง ราชบุรี ซึ่งเป็นบ้านเกิด แม่สอบบรรจุเข้ารับราชการครูตามที่มุ่งหวัง และมาลงเอยที่โรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็กแห่งหนึ่งในโคราช ก่อนที่จะแต่งงาน มีครอบครัว และลงหลักปักฐานที่นี้ ตลอด 30 กว่าปีแม่ไม่ได้ย้ายไปโรงเรียนไหนเลย ยังอยู่ที่โรงเรียนเดิมตลอดมา แม้จะต้องห่างจากถิ่นฐานบ้านเกิดก็ตาม

จะว่าไปแล้ว ผมแทบไม่ได้มีโอกาสได้เรียนกับแม่สักครั้ง และก็จินตนาการไม่ออกด้วยว่าหากได้เรียนกับแม่ในชั้นเรียนจะเป็นอย่างไร จะรู้สึกเกร็งๆ ระหว่างกันไหม นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผล ที่แม้ผมจะมีแม่เป็นครูในโรงเรียนเดียวกัน แต่หลังผมจบชั้น ป.2 แม่ก็ส่งผมไปเรียนโรงเรียนในตัวอำเภอจนจบชั้น ม.6

แม่เป็นครูอย่างไร แม่เป็นครูแบบไหน?

แม้จะไม่ได้เรียนกับแม่ แต่ความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ ‘เรื่องราวการเป็นครูของแม่’ ที่ผมมักจะได้ฟังคำบอกเล่าจากตัวแม่เองอยู่เสมอ แทบทุกวันหลังแม่กลับจากโรงเรียน (ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กจนถึงตอนนี้) แม่มักจะเล่าเรื่องงานของแม่ให้ผมฟัง มีทั้งการบ่นระบาย ความอึดอัด ความท้าทาย ความสำเร็จ ปะปนกันไปตามชีวิตครูคนหนึ่งในรั้วโรงเรียน สำหรับผมการได้ยินเรื่องราวการเป็นครูของแม่ จึงไม่ใช่แค่การรับรู้และจดจำว่าเกิดอะไรขึ้นในชีวิตการเป็นครูของแม่เท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นถึงความหมายและคุณค่าที่แม่มีต่อการเป็นครูด้วยเช่นกัน

ครั้งหนึ่ง แม่เล่าถึงเด็กหญิงกอไก่ (นามสมมติ) เด็กชั้นประถมฯ ที่มาโรงเรียนด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ สภาพมอซอ เธอถูกทิ้งไว้กับย่า หลังจากพ่อกับแม่แยกทางกัน แต่เมื่อใช้ชีวิตในโรงเรียนกอไก่มักจะแสดงอำนาจ ข่มขู่ให้เพื่อนๆ ของเธอเอาเงินมาให้ กอไก่จึงมักจะถูกมองจากคนอื่นด้วยสายตาที่เป็นลบ แต่สำหรับแม่ แทนที่จะลงโทษด้วยความรุนแรงเพื่อหวังให้เด็กหญิงคนนี้หยุดการกระทำ แม่กลับใช้วิธีการที่ง่ายที่สุดนั่นคือการพูดคุยกับกอไก่อย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดีอย่างไร และส่งผลต่อเพื่อนๆ อย่างไร เป็นการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และขอให้กอไก่สัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมกับขอให้เพื่อนๆ ให้อภัยในสิ่งที่กอไก่เคยทำผิดพลาด หลังจากนั้นไม่นานกอไก่ก็เริ่มเปลี่ยนไป เธอหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีเหล่านั้น เริ่มตั้งใจเรียน กระตือรือร้น จนแม่รู้สึกภาคภูมิใจในตัวเธอและกล่าวชื่นชมกอไก่เสมอ 

 แม่บอกว่า สิ่งสำคัญในการเป็นครู จริงแล้วๆ เราไม่ได้เพียงสอนหนังสือเท่านั้น แต่คือการสอนให้พวกเขาได้พัฒนาตนเองควบคู่ไปด้วย

อีกเรื่องที่แม่จำได้ดี คือเรื่องของเด็กหญิง ม.ต้น คนหนึ่งที่พ่อแม่แยกทางกัน เด็กกลายเป็นคนที่เก็บตัว โดยมีย่ากับญาติคนหนึ่งเป็นคนเลี้ยงดู แต่ต่อมาเด็กคนนี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป ไม่มาโรงเรียน  แม่จึงค่อยๆ สืบหา ไปคุยตำรวจ จนติดต่อกับเด็กได้ เด็กขอความช่วยเหลือ จนภายหลังมารู้ว่าเด็กถูกล่อลวงจากแฟนญาติให้ไปทำงานเด็กเสริฟในร้านอาหาร ในที่สุดเด็กก็ถูกส่งกลับมาบ้าน และได้เรียนต่อจนจบ ม.3 ในสุด ย่าของเด็กหญิงคนนี้บอกกับแม่ว่า “ถ้าไม่ได้ครู ก็คงไม่ได้หลานคืนกลับมา”  

จากทั้งสองเรื่องราว คงพูดได้ว่าแม่คือ ‘ครูที่สร้างความแตกต่างให้กับชีวิตของเด็กได้จริงๆ’  ผมเคยถามแม่ว่าทำไมแม่ถึงอยากมาเป็นครู แม่เล่าย้อนไป บอกว่าจริงๆ ตัวแม่เองซึมซับมาจากตาตั้งแต่เด็กๆ ด้วยความที่ตาก็เป็นครู และเติบโตมาในครอบครัวที่ทวดมักจะชอบช่วยคนและช่วยสอน ทำให้ตาเองก็ได้สิ่งนี้ติดตัวจากทวดมาด้วยเช่นกัน ตามักจะสอนแม่จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว ทุกอย่างถูกจับมาเป็นบทเรียนได้ เอาขนมที่ขายมาสอนเลข ทำแกง ก็จะไม่บอกว่าต้องใส่สัดส่วนเท่าไหร่ แต่จะให้ลองทำและใช้เป็นลูกมือมากกว่าจะเป็นการบังคับให้จำ  ตามักจะฝึกให้แม่คิดเสมอ เช่น หุงข้าว ทำไมมันแฉะ มันไหม้ เกิดจากอะไร ส่วนที่ได้รับมาจากตา สะท้อนผ่านการเป็น ‘ครูวิทยาศาสตร์’ ของแม่ที่มักจะให้เด็กๆ ได้ทดลองเพื่อทำความเข้าใจ มีคำถามให้เด็กได้คิด แม่มักจะบอกเสมอว่าเด็กต้องได้ลงมือทำ ลงมือคิด ถ้าจะให้มานั่งพูดหรือให้จดตามบนกระดาน เด็กก็คงจะไม่ได้ทักษะ 

อันที่จริงไม่ใช่เพียงแค่ความเป็นครูของตาที่หล่อหลอมวิธีคิดการเป็นครูของแม่เท่านั้น แต่ยังมาจากครูครั้งที่แม่ยังเป็นเด็กประถมฯ แม่ในฐานะนักเรียนสัมผัสได้ถึงการเอาใจใส่จากครู  ความใจดีที่ครูมีให้ และมักจะยืนเป็นนั่งร้านให้เด็กเรียนรู้จากความเข้าใจ ในบางครั้งครูท่านนี้มักจะมีสิ่งของหรือขนมมาแจกเป็นรางวัลพิเศษ นั่นทำให้แม่เริ่มรู้สึกได้ว่าชั้นเรียนที่มีความสุขและอยากเรียนมีหน้าตาอย่างไร แม่เชื่อว่า บางครั้งคนเราก็ไม่สามารถทำอะไรแบบที่คนอื่นคาดหวังได้ทุกครั้งไป เพราะเรามีความแตกต่าง ในฐานะครูการฟูมฟักเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาก็ไม่ควรตึงหรือหย่อนมากไปเช่นกัน เหล่านี้จึงกลายเป็นคติประจำใจที่แม่ยึดถือไว้นั่นคือ 

“อย่าคาดหวัง ว่าเราจะเปลี่ยนเขาได้ทั้งหมด เพราะไม่มีทางเป็นไปได้ แต่จงตั้งความหวังว่าเราจะเปลี่ยนเขาได้เพียงบางอย่างหรือเพียงน้อยนิดก็ถือว่าเราได้เปลี่ยนเขาแล้ว”

ภาพการเป็นครูของแม่จึงค่อนข้างไม่ต่างจากตาที่ทั้ง ‘ดุ เข้มงวด และใจดี’  ในเวลาเดียวกัน คุณลักษณะที่ดูเหมือนจะเข้ากันไม่ได้ในคนเดียว แต่กลับกลายเป็นส่วยผสมที่ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ จนกลายเป็นครูมีพื้นที่ในใจเด็กเสมอมา เด็กหลายรุ่นมักจะเอ่ยเหมือนกันเสมอๆ ว่าถึงแม้แม่จะเป็นครูที่ดุแต่ก็อยากเรียนกับแม่ตลอด พวกเขาไม่โกรธเวลาแม่ดุพวกเขา และยังชอบให้แม่ทำแบบนี้ด้วย เพราะเขารู้ว่า แม่ยังมองเห็นเขาอยู่ เขายังมีตัวตน มีคุณค่าในสายตาของครู แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เด็กมัธยมฯ กลุ่มหนึ่งโดดเรียน พวกเขาคิดว่าจะถูกแม่ด่าตำหนิอย่างที่เคยเป็น แต่ผิดคาด แม่เลือกที่จะไม่คุยกับพวกเขา พวกเขาบอกแม่ว่า “หากครูจะโกรธไม่คุยแบบนี้ ให้ครูตีเสียดีกว่า” ดูเหมือนว่าการไม่ถูกมองเห็นจากครูนั้นแย่กว่าการถูกตีเสียอีก พวกเขารู้สึกผิดและเข้ามาขอโทษที่โดดเรียน พร้อมกับร้องไห้ แม่จึงโอบกอดแล้วถามถึงเหตุผลที่พวกเขาทำเช่นนั้น เด็กกลุ่มนี้บอกว่า พวกเขากลัวจะถูกตัดผม (ตามกฎระเบียบในเวลานั้น) เหตุการณ์นี้เป็นครั้งหนึ่งที่แม่ได้เรียนรู้ถึงความกลัวของเด็ก ที่ครูสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาบอกเล่าถึงมันได้

แม่บอกกับผมว่า ลึกๆ ลงไปมันคือความเชื่อที่ว่า “ทุกคนมีพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน แต่คนเป็นครูสามารถทำให้เท่าเทียมกันได้ เด็กทุกคนมีคุณค่า ทุกคนต้องการความรัก เราต้องเห็นคุณค่าเขา ให้ใจเขา เอาใจใส่ เห็นใจ แล้วในที่สุดเขาก็จะให้ใจเรากลับมา” ดังนั้น การดุเข้มงวดของแม่ มักจะมาพร้อมกับเหตุผล คำถาม และโอกาสให้เด็กได้อธิบายทุกครั้ง และไม่ว่าอย่างไร จะได้รับการโอบกอดเสมอๆ ในท้ายที่สุดเสมอ นั่นทำให้เวลาเด็กเกิดปัญหาอะไร พวกเขาจะกล้าเดินเข้ามาหา เข้ามาเล่า เพราะเขารู้สึกถึงการรับฟัง เอาใจใส่ และเป็นที่พึ่งพิงให้กับพวกเขาได้    

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่แม่จดจำได้ไม่เคยลืม และยืนยันว่าสิ่งที่แม่ทำตลอดมานั้นมีคุณค่า คือการที่โรงเรียนต้องการเปิดการสอนแบบขยายโอกาสครั้งแรก แม่จึงถูกขอให้ไปสอนเด็กมัธยมต้นในเวลานั้นแทนที่การสอนเด็ก ป.6 ที่คุ้นเคย แม่ไม่อยากไป แม้ ผอ.จะขอร้องแล้วก็ตาม จนสุดท้ายเด็กๆ ที่อยากจะเรียนขยายโอกาสในโรงเรียนเดินมายืนประท้วงและร้องไห้หน้าห้องพักครู พวกเขาอยากให้แม่สอนพวกเขาในชั้นมัธยมต้นฯ ไม่เช่นนั้นจะไม่เรียนต่อที่โรงเรียนแห่งนี้ สุดท้าย แม่ยอมเลื่อนชั้นไปสอนพวกเขาด้วยความยินดี และรับรู้ได้ว่า ชีวิตการเป็นครูของแม่นั้นมีความหมายกับนักเรียน การทุ่มเทในบทบาทครูของแม่ยังมักจะได้รับการยืนยันเป็นคำขอบคุณจากเด็กๆ ที่จบไปรุ่นแล้วรุ่นเล่า ที่แวะเวียนมาหาในวันไหว้ครูทุกปี  

“37  ปี 4 เดือน” คือเวลาที่แม่ทุ่มเททำงานในฐานะ “ครูมืออาชีพ” ตามที่แม่นิยาม หลายคนเตรียมแสดงความยินดีที่แม่จะได้พักผ่อนหลังจากนี้ แต่แม่กลับรู้สึกต่างออกไป แม่ทิ้งทายไว้ว่า

“ตั้งแต่วันแรกที่เราเป็นครูจนถึงวันนี้ ยังรู้สึกอยากเป็นครูเหมือนเดิม ไม่เคยรู้สึกอยากเกษียณ ยังรู้สึกว่าตัวเองยังทำหน้าที่ได้ดี เหมือนเราเกิดมาเพื่อบทบาทนี้ อยากเป็นคนที่ช่วยเหลือคน พัฒนาความรู้ พัฒนาคุณภาพชีวิต รู้สึกว่าหากไม่ทำต่อแล้ว คงเสียดายมากกว่า อยากทำหน้าที่นี้ของตนเองต่อไป”

Tags:

โอกาสทางการศึกษาเด็กคุณค่าครูผู้ก่อการความเท่าเทียม (equality)ครู

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Related Posts

  • All for ED
    Social Issues
    โรงเรียนต้อง ‘กล้าเปลี่ยน’ เพื่อพัฒนานักเรียนทันการเปลี่ยนแปลง

    เรื่อง The Potential

  • ‘โรงเรียน = รุนแรง’ สมการนี้สังคมต้องร่วมแก้ …เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกรังแก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 10. โยงสู่บริบทการศึกษาไทย

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learningEducation trend
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 3. ความเป็นครูผู้ก่อการ กับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel