- สมรรถะการคิดขั้นสูง คือ ความสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ บนหลักเหตุผลอย่างรอบด้าน โดยใช้คุณธรรมกำกับการตัดสินใจ ประกอบด้วย การคิดอย่างมีวิจารณญาณ, การคิดเชิงระบบ, การคิดเชิงสร้างสรรค์ และการคิดแก้ปัญหา
- วิวัฒนาการของโลกยุคใหม่ต้องการวิธีคิดแบบใหม่ที่ช่วยให้เราเข้าใจและจัดการระบบนี้ได้ต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันแบบองค์รวม (holistic) ซึ่ง ‘การคิดเชิงระบบ’ คือคำตอบหนึ่ง
- พลังของการคิดเชิงระบบจะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีความมั่นใจ มีความเป็นตัวของตัวเอง และจัดการตนเองได้ (Self-Management)
นอกจากการจัดการตนเอง (Self-Management) การคิดขั้นสูง เป็น 1 ใน 6 สมรรถนะที่หลักสูตรฐานสมรรถนะให้ความสำคัญ สมรรถะการคิดขั้นสูง คือ ความสามารถคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณ บนหลักเหตุผลอย่างรอบด้าน โดยใช้คุณธรรมกำกับการตัดสินใจ เข้าใจความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งรอบตัวที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ใช้จินตนาการและความรู้สร้างทางเลือกใหม่ เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้อย่างมีเป้าหมาย
การคิดขึ้นสูง ประกอบด้วย ทักษะและคุณลักษณะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน ได้แก่ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking ) การคิดเชิงระบบ (System Thinking) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) และการคิดแก้ปัญหา (Problem Solving)
ต้องคิดแบบไหนถึงจะเป็นความคิดขั้นสูง
ไม่ว่าจะในโรงเรียนหรือที่บ้าน ทั้งผู้สอนและผู้ปกครองเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาความคิดขั้นสูงในเด็กและเยาวชน ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจการคิดแต่ละรูปแบบกันก่อน
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) หมายถึง การคิดพิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล เพื่อตัดสินใจว่าสิ่งใดควรเชื่อหรือควรกระทำ ใช้ทักษะและกลยุทธ์ต่างๆ มาประกอบเพื่อความเป็นไปได้ของผลลัพธ์จากการตัดสินใจที่ดี เช่น ทักษะการตีความ การประเมิน การวิเคราะห์ การอธิบายและการสรุปความ การคิดรูปแบบนี้อยู่พื้นฐานของหลักฐาน มีหลักการ วิธีการ กฎเกณฑ์เข้ามาเป็นส่วนประกอบ และนำการสังเกต ประสบการณ์ การสะท้อนคิด การสื่อสารและการโต้แย้งเข้ามามีส่วนร่วม
การคิดเชิงระบบ (System Thinking) หมายถึง การคิดที่แสดงให้เห็นโครงสร้างขององค์ประกอบทั้งหมดที่เชื่อมโยงหรือสัมพันธ์กันในเรื่องนั้นๆ ภายใต้บริบทหรือปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง การคิดรูปแบบนี้เป็นการมองปัญหาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นลงลึกไปทำความเข้าใจแบบแผนหรือรูปแบบพฤติกรรม เป็นกระบวนการคิดเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หมายถึง การคิดที่หลากหลาย มีความคิดริเริ่ม มีการประเมิน ปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดความคิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ เป็นรูปแบบความคิดที่อาศัยจินตนาการ อิสระในการคิดที่ต้องการความยืดหยุ่น ละเอียดลออ เพื่อสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ สร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม
การคิดแก้ปัญหา (Problem Solving) หมายถึง กระบวนการคิดที่พุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจำเป็นต้องอาศัยทักษะการคิด 3 รูปแบบก่อนหน้ามาผสมผสาน เพื่อออกแบบแนวทางแก้ปัญหา นำเสนอทางเลือกที่ดี มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด การคิดแก้ปัญหาที่ดีควรมีแบบแผนที่ชัดเจนและครอบคลุมทุกมิติ
กระบวนการคิดทั้ง 4 รูปแบบอาจเกิดขึ้นพร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้ในสถานการณ์หนึ่ง ทั้งนี้ กระบวนการคิดแต่ละรูปแบบมีความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า ด้วยเหตุนี้การพัฒนาสมรรถนะด้านการคิดขั้นสูงทั้ง 4 รูปแบบจึงสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กหรือผู้เรียน ให้พวกเขามีความพร้อมตั้งรับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต สำหรับบทความนี้จะโฟกัสไปที่การพัฒนาสมรรถนะด้านการคิดเชิงระบบ
การคิดเชิงระบบช่วยจัดการปัญหาที่มีความซับซ้อนในอนาคต
หลายต่อหลายครั้งที่เราพูดถึงโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้นจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันยังทำให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ง่ายขึ้น วิวัฒนาการของโลกยุคใหม่ต้องการวิธีคิดแบบใหม่ที่ช่วยให้เราเข้าใจและจัดการระบบนี้ได้ ดูเหมือนว่า “การคิดเชิงระบบ” คือคำตอบหนึ่ง เด็กเยาวชนในปัจจุบันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกนวัตกรรม การทำงานร่วมกันไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่เดียวกัน อาชีพมากมายที่ไม่เคยมีมาก่อนกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
ความรู้ในตำราหรือแม้แต่ทักษะบางอย่างจะกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าความสามารถในการเข้าใจและการคาดการณ์สาเหตุและผลกระทบของระบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกันแบบองค์รวม (holistic)
ในหนังสือ “The Triple Focus: A New Approach to Education” โดย แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) และ ปีเตอร์ เซงเก้ (Peter Senge) ได้นำเสนอมุมมองใหม่ด้านการจัดการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน เพื่อช่วยนำทางผู้เรียนให้ก้าวผ่านโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้า สิ่งที่หันเหความสนใจ และเข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างผู้คน ความคิด และโลกได้ดีขึ้น
โกลแมน เป็นนักเขียนชาวอเมริกันและนักข่าวสายวิทยาศาสตร์ หนังสือ “Emotional Intelligence” (ความฉลาดทางอารมณ์) ที่ตีพิมพ์ในปี 1995 ของเขา อยู่ในลิสต์หนังสือขายดีของเดอะนิวยอร์คไทม์เป็นเวลากว่าปีครึ่ง เป็นหนังสือที่ขายดีในหลายประเทศทั่วโลกและได้รับการตีพิมพ์ถึง 40 ภาษา ขณะที่เซงเก้ ศาสตราจารย์จากสถาบันเอ็มไอที (MIT) สหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของทฤษฎีการจัดการความรู้ 5 ข้อ หนึ่งในนั้น คือ การคิดเชิงระบบ แม้นักคิด นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญาหลายสาขาให้นิยามการคิดเชิงระบบแตกต่างกันไป ทั้งนี้ คุณสมบัติที่ทำให้การคิดเชิงระบบมีความสำคัญ ประกอบด้วย
- เป็นมุมมองแบบองค์รวม เชื่อว่าทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกัน แต่ละส่วนมีความสัมพันธ์กัน การทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวจึงไม่ควรแยกระบบเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบนิเวศ ระบบการเงินการลงทุน ระบบการเมืองการปกครอง เป็นต้น
- การมองภาพใหญ่ (big picture) คลี่คลายโครงสร้างความสัมพันธ์ทำให้มองเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เข้าใจความเกี่ยวข้องกันของสถานการณ์รอบด้าน หากเกิดปัญหาสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
- เป็นมุมมองความคิดที่อาศัยความสงสัยใคร่รู้ (Curiosity) ความชัดเจน (Clarity) ความเห็นอกเห็นใจ/ เข้าใจว่าผู้อื่นคิดอย่างไร (Compassion) การสร้างทางเลือก (Choice) และความกล้าหาญ (Courage)
- เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการปัญหาที่มนุษย์ต้องเผชิญในโลกแห่งความเป็นจริงในอนาคต
- สร้างนิสัยและวิธีการคิดที่ช่วยให้ผู้เรียนรู้ มองเห็นการทำงานที่แตกต่างกันของระบบต่างๆ
ฝึกคิดเชิงระบบสร้างความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น
ถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังคิดว่าการคิดเชิงระบบฟังดูคล้ายเป็นงานของหุ่นยนต์มากกว่ามนุษย์ ดูเหมือนเป็นงานยากที่ต้องใช้สมองคิดวิเคราะห์อย่างหนัก ในความเป็นจริงเราใช้การคิดเชิงระบบอยู่แล้วบ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน เพียงแต่หากได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง พลังของการคิดเชิงระบบจะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีความมั่นใจ มีความเป็นตัวของตัวเอง และจัดการตนเองได้ (Self-Management)
ทั้งนี้ การเขียนแผนที่ ตาราง ชาร์ต กราฟ หรือการวาดวงจรต่างๆ เป็นขั้นตอนสำคัญของการสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดเชิงระบบ
ตัวอย่างการสร้างการเรียนรู้ด้านการคิดเชิงระบบ หัวข้อ ‘การบูลลี่’ – การถูกแกล้ง รังแกด้วยคำพูดหรือการกระทำ เช่น การตบหัว การล้อพ่อแม่ การพูดจาเหยียดหยาม ถากถาง หรือการล้อปมด้อย เป็นต้น มีขั้นตอนการสร้างการเรียนรู้ ดังนี้
- สังเกตและระบุปัญหา
ผู้สอนตั้งคำถามชวนคิดว่า การบูลลี่คืออะไร? มีอะไรบ้าง? นักเรียนเคยถูกบูลลี่ด้วยวิธีการไหน
มาก่อนบ้าง? ให้ผู้เรียนเขียนคำตอบลงในกระดาษ
- สะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์
ผู้สอนตั้งคำถามชวนคิดต่อว่า นักเรียนรู้สึกอย่างไรเมื่อถูกบูลลี่? หรือหากไม่เคยถูกบูลลี่มาก่อน คิดว่าคนที่ถูกบูลลี่จะรู้สึกอย่างไร? หากตัวเองถูกบูลลี่บ้างจะรู้สึกอย่างไร? ขยายขอบเขตคำถามจากความคิดความรู้สึกส่วนบุคคลไปยังชุมชนและสังคม เช่น นักเรียนเคยได้ยินข่าวสารเกี่ยวกับการบูลลี่บ้างไหม? เป็นอย่างไร? เกิดอะไรขึ้นบ้าง? ให้ผู้เรียนเขียนคำตอบลงในกระดาษ
- คาดการณ์ ตั้งสมมุติฐานหาสาเหตุ และแนวทางการแก้ปัญหา
ผู้สอนตั้งคำถามต่อว่า นักเรียนคิดว่าสาเหตุของการบูลลี่คืออะไร? แล้วจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?
นอกจากแนวทางแก้ปัญหานี้แล้ว ยังมีทางอื่นอีกไหม? ให้ผู้เรียนเขียนคำตอบลงในกระดาษ นักเรียนแบ่งกลุ่ม แลกเปลี่ยนคำตอบที่เขียนในกระดาษระหว่างกัน แล้วนำข้อมูลแต่ละส่วนมารวบรวม จัดหมวดหมู่ เขียนเป็นแผนภาพลงในกระดาษ เพื่อให้เห็นภาพรวมและความเชื่อมโยงของข้อมูลแต่ละส่วน (ระบบ)
- แต่ละกลุ่มนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลหน้าชั้นเรียน
- ผู้เรียนสะท้อนคิดสิ่งที่ได้เรียนรู้ เช่น
สิ่งที่ได้เรียนรู้คืออะไร? ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น?
อยากปรับปรุงแก้ไขอะไรหรืออยากทำอะไรให้ดีขึ้น?
สิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ คือ การรู้จักและเข้าใจปัญหาการบูลลี่ ทั้งจากมุมมองของตัวเอง
และผู้อื่น มองเห็นผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ระหว่างกันในชั้นเรียน การคิดเชิงระบบพัฒนาผู้เรียนให้เข้าใจ เคารพความคิดเห็น เห็นคุณค่าของตัวเองและผู้อื่น และมองสิ่งต่างๆ จากแง่มุมที่ต่างออกไป
ตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนส่งเสริมการคิดเชิงระบบ https://thepotential.org/creative-learning/active-learning-bang-saray/
นิสัยของนักคิดเชิงระบบ
เมื่อผู้เรียนได้รับการส่งเสริมพัฒนาการด้านการคิดเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง กระบวนการเรียนรู้จะพัฒนากระบวนการคิดนั้นให้กลายเป็น ‘นิสัย’ ยกตัวอย่างเช่น
- พยายามเสาะหาเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมรอบตัว จากองค์ประกอบต่างๆ ที่เชื่อมโยงถึงกัน
- พิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระดับบุคคลและครอบครัว เช่น การบริหารจัดการการเงิน การลงทุน เพื่อวางแผนชีวิต หรือ ในระดับสังคม ประเทศ และโลก เช่น การจัดการภาวะโลกร้อน ความยากจน โรคอุบัติใหม่ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
- มีความยืดหยุ่น ยอมรับข้อผิดพลาด เปิดรับข้อมูลความรู้ใหม่ๆ พร้อมปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดและวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อหาทางออกที่มีประสิทธิภาพ
- ไม่หยุดเรียนรู้
‘เวชศาสตร์ฟื้นฟู’ ตัวอย่างการคิดเชิงระบบทางการแพทย์
การทำงานของร่างกายเป็นระบบทางชีววิทยาอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยระบบย่อยหลายส่วนทำงานร่วมกัน การรักษาทางการแพทย์ที่เรียกว่า ‘สมุทัยหเวชศาสตร์’ หรือ ‘เวชศาสตร์ฟื้นฟู’ Functional Medicine) เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการคิดเชิงระบบทางการแพทย์ได้อย่างชัดเจน
‘เวชศาสตร์ฟื้นฟู’ เป็นองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่เน้นการเสาะหาต้นเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค ไม่มองแค่การรักษาอาการเฉพาะส่วนหรือเฉพาะระบบ โดยพึ่งยาหรือสารเคมีในการรักษาเสมอไป ทั้งนี้เพราะการให้ยารักษาอาการโดยเฉพาะในโรคเรื้อรังไม่ใช่การรักษาต้นเหตุของโรค เมื่อหยุดยาแล้วอาการของโรคสามารถกลับมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยได้อีก ดังนั้น การรักษาแบบเวชศาสตร์ฟื้นฟูจำเป็นต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะบุคคลหลายด้าน เจาะจงไปยังคนไข้แต่ละคน ทั้งข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ ประวัติครอบครัว ประวัติสุขภาพวัยเด็ก พฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงข้อมูลจากห้องปฏิบัติการ การคิดเชิงระบบมองว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแต่ละบุคคลแตกต่างกันตามไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่การกิน การนอนหลับ การทำงาน ความเครียด และการออกกำลังกายมากหรือน้อยเกินไป เป็นต้น
ลักษณะเฉพาะของการแพทย์แขนงนี้ ประกอบด้วยการคิดเชิงระบบ 4 ส่วน คือ
หนึ่ง ความสามารถในการคาดการณ์สาเหตุของโรค (predictive)
สอง การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาทางป้องกันยับยั้งโรค (preventive)
สาม ความร่วมมือของผู้ป่วย ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่คาดการณ์ว่าเป็นสาเหตุของโรค (participate)
และ สี่ แนวทางการรักษา (proactive) ที่ไม่พึ่งพายาเคมีเท่านั้น แต่ใช้การปรับโภชนาการ รวมถึงการปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกร่วมด้วย
ธรรมชาติของการคิดเชิงระบบเป็นกระบวนการคิดที่สร้างความชัดเจน ใช้เหตุผลประกอบแต่ไม่จำกัดกรอบ สามารถทำงานด้วยกันได้ดีกับการคิดเชิงสร้างสรรค์ The Potential จะชวนมาทำความเข้าใจกันต่อในครั้งถัดไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
การคิดอย่างมีวิจารณญาณ Critical Thinking
การคิดแก้ปัญหา Problem Solving
อ้างอิง
https://teacher-blog.education.com/how-to-practice-systems-thinking-in-the-classroom-9cbfa3dcd2cf
https://thesystemsthinker.com/systems-thinking-what-why-when-where-and-how/
http://educators.brainpop.com/wp-content/uploads/2014/07/IOP_QDesignPack_SystemsThinking_1.0.pdf