- หลักสูตรการศึกษาที่ออกแบบโดยคนในพื้นที่ ต้นตั้งจากฐานทุนที่จังหวัดมี ‘เกษตรกรรม กีฬา ท่องเที่ยว นวัตกร วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ’ ออกมาเป็น ASTECS เครื่องมือสำหรับสร้างเมืองและคนศรีสะเกษในระยะ 10 ปี
- สิ่งหนึ่งที่เด็กๆ จำเป็นต้องมี คือ ทักษะที่จะไปต่อยอดเป็นอาชีพในอนาคต แต่การสร้างทักษะต้องทำอย่างไร? บทความนี้จะผ่านไปเจาะลึกหลักสูตร ASTECS และการติดตั้งทักษะผ่านการเรียนรู้แบบ active learning ให้นักเรียนเป็นคนออกแบบแผนการเรียนด้วยตัวเอง เป็นความรู้นอกตำราที่ได้จากการพูดคุยและลงมือปฎิบัติ
“ลองสังเกตพวกเมืองหลวง หรือเมืองท่องเที่ยว เขาใช้หลักการอะไรในการตั้ง พวกเขาจำเป็นต้องมีภูเขาใหญ่ๆ ไหม? หรือว่าต้องมีแม่น้ำสวยๆ ไหม? จริงๆ ไม่เลย ดูอย่างญี่ปุ่นเขาเป็นประเทศที่เก่งมาก ทำให้คนรู้จักทุกจังหวัดและอยากไปเที่ยว เพราะว่าเขาพยายามสร้างจากฐานทุนที่แต่ละที่มี ให้เกิดเป็นความเข้มแข็งของเขา
“ที่ตั้งไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดตัวตนของเรา ที่ตั้งเป็นเพียงแค่พื้นที่ที่เราอยู่ แต่คนที่อยู่ต่างหากที่จะกำหนดว่าเราเป็นคนแบบไหน”
ประโยคจากลลนา ศรีคราม เจ้าของไร่ทอง ออแกนิกส์ ฟาร์ม ขึ้นพูดบนเวทีภายในงาน TEP FORUM SISAKET: พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยพลังคนศรีสะเกษ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 25 – 26 กันยายน 2563 งานที่เปิดพื้นที่นำเสนอและแลกเปลี่ยนนวัตกรรมการศึกษาของคนศรีสะเกษ
ลลนาขึ้นพูดในฐานะที่เธอเป็นตัวแทน A ที่มาจาก ORGANIC AGRICULTURE เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายของกรอบหลักสูตรการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษ หรือ SISAKET ASTECS หัวใจสำคัญของงาน TEP FORUM SISAKET ครั้งนี้ SISAKET ASTECS คือเครื่องชิ้นใหม่สำหรับการผลิตคนและเมืองศรีสะเกษในอนาคต กรอบหลักสูตรที่ได้จากการร่วมกันออกแบบของคนในจังหวัด
SISAKET ASTECS การออกแบบการเรียนรู้ที่ได้จากฐานทุนและคนศรีสะเกษ
เสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี ผู้อำนวยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต 4 หนึ่งในผู้ที่จัดทำหลักสูตรดังกล่าว อธิบายว่า เมื่อก่อนเราผลิตคนไปตามวิธีที่คิดว่าดีที่สุด แต่พอสำรวจความคิดเห็นของคนอื่นๆ ในจังหวัด พวกเขากลับบอกว่าคนที่เราผลิตไม่ตรงตามความต้องการของเขา กลายเป็นโจทย์ว่าเราจะผลิตคนรุ่นใหม่ของศรีสะเกษอย่างไรดี โดยเก็บข้อมูลความคิดเห็นคนศรีสะเกษ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รวมถึงสำรวจต้นทุนที่จังหวัดศรีสะเกษมี ออกมาเป็น SISAKET ASTECS
- ORGANIC AGRICULTURE เกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า
- WORLD CLASS SPORT กีฬาก้าวไกล
- CREATIVE TOURISM ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
- INNOVATIVE ENTREPRENEUR นวัตกรประกอบการ
- CULTURE DIVERSITY ร่ำรวยวัฒนธรรม
- SISAKET SPIRIT จิตวิญญาณศรีสะเกษ
“ฐานทุนของศรีสะเกษ เรามีเรื่องเกษตกรรมเป็นหลัก ได้รับประกาศให้เป็น Sport city เพราะคนศรีสะเกษชอบกีฬามากโดยเฉพาะฟุตบอล มีฐานทุนทางวัฒนธรรมของคนจาก 4 เผ่า ส่วย ลาว เขมร และเยอ เรามีการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเกษตร มีคนศรีสะเกษที่มีความรู้ความสามารถเยอะ จากฐานทุนพวกนี้เราก็มากำหนดทิศทางคนและเมืองศรีสะเกษ เป็นอาชีพและสมรรถนะที่คนศรีสะเกษควรมี แต่จะทำอย่างไรให้ไปถึงตรงนั้น ก็คือการสร้างหลักสูตรในโรงเรียน” ผอ.เสนีย์ กล่าว
ซึ่งตัวหลักสูตร ASTECS สอดคล้องกับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่กระทรวงศึกษาธิการเตรียมใช้เป็นหลักสูตรแกนหลักของการศึกษาไทยในปี 2565 เปลี่ยนจากการเรียนที่โฟกัสการท่องจำตำรา เป็นให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการลงมือปฎิบัติ สร้างทักษะ สมรรถนะ โดยหลักสูตรนี้จะเริ่มจากจังหวัดนำร่องก่อน 6 จังหวัด ได้แก่จังหวัดระยอง ศรีสะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และปัตตานี
สมรรถนะคืออะไร? ผอ.เสนีย์ อธิบายว่า สมรรถนะคือความสามารถต่างๆ ของเด็กที่พัฒนาตามระดับชั้น โดยเราจะตั้งเป้าหมายไว้ว่าพวกเขาควรมีสมรรถนะด้านใด เช่น สมรรถนะด้านการสื่อสาร ถ้าเป็นเด็กเล็กระดับการสื่อสารเขาจะทำได้เท่านี้ เมื่อเด็กโตขึ้นสมรรถนะก็เพิ่มขึ้น
“หลักสูตรสมรรถนะแทนที่เราจะประเมินด้วยข้อสอบแบบเก่า เราก็ประเมินเขาโดยวัดจากเกณฑ์พฤติกรรมว่านักเรียนมีความรู้ มีทักษะสามารถทำเรื่องนั้นๆ ได้หรือไม่ได้ เกณฑ์สมรรถนะที่เราตั้งก็มาจากตัว ASTECS เอามาประยุกต์เข้ากับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งไว้ ซึ่งโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำให้เด็กมีครบทุกตัว เลือกเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ปรับให้เข้ากับพื้นฐานที่โรงเรียนมี”
ในการสร้างสมรรถนะ ผอ.เสนีย์กล่าวว่า ต้องใช้วิธีการเรียนรู้แบบ active learning ให้นักเรียนเป็นคนออกแบบแผนการเรียนด้วยตัวเอง ความรู้นอกตำราที่ได้จากการคุยกัน ลงมือปฎิบัติ เป็นความรู้ที่แท้จริงเกิดในตัวนักเรียน
“วิธีการเรียนรู้ที่ศรีสะเกษใช้อยู่ก็จะมี PBL (Problem-based Learning) BBL (Brain-based Learning) RBL (Research-based Learning) เป็นต้น พวกนี้เป็นเหมือนรถยนต์ที่โรงเรียนขับอยู่แล้ว แต่ว่าโรงเรียนจะขับพาเด็กไปไหนละ? ASTECS ก็คือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ให้เขา ประยุกต์ 6 ตัวนี้ไปกับหลักสูตรที่โรงเรียนใช้ เช่น ถ้าเด็กอยากเป็นเกษตรอินทรีย์ก้าวหน้า เขาต้องมีทักษะอย่างไรจึงจะถือว่าเขาสามารถทำเกษตรก้าวหน้าได้” ผอ. เสนีย์ กล่าว
ฟังดูเหมือนหลักสูตรนี้เป็นการตีกรอบอาชีพให้กับเด็ก ผอ.เสนีย์บอกว่า หัวใจของ ASTECS คือ การติดตั้งทักษะสมรรถนะให้คนรุ่นใหม่ อาชีพเป็นเพียงยอดภูเขา แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นฐานให้เด็ก
“ทักษะหนึ่งที่คิดว่าเด็กควรมี คือ นักจัดการ หรือที่เราใช้คำว่านวัตกรประกอบการ เขาจะต้องมีกระบวนการคิดโดยใช้ข้อมูลเป็นฐานในการออกแบบและพัฒนา รู้วิธีนำข้อมูลเข้ามา สังเคราะห์ คัดเลือกข้อมูลที่เป็นประโยชน์ วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของข้อมูล ต่อยอดเข้าสู่กระบวนการจัดการ เช่น คำนวณต้นทุน วัตถุดิบ ค่าแรง ไม่จำเป็นว่าทักษะนี้ใช้ได้เฉพาะการทำอาชีพธุรกิจเท่านั้น เขาสามารถนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ เช่น ทำงานมีรายได้ จะจัดสรรเงินตรงนี้ยังไงให้พอกับการดำรงชีวิต”
แผนนี้ถูกวางไว้เป็นระยะ 10 ปี ถือเป็นระยะทางที่ยาวไกล และในยุค Disruption เช่นนี้ ซึ่งผอ.เสนีย์บอกว่า ตัวเองไม่กลัวเลย เพราะเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ แผนที่ไว้วางไม่ใช่การวางแบบตายตัว สามารถทบทวนเปลี่ยนได้ตลอด
“ถ้าตายตัวเราก็ตายเด็กก็ตาย เหมือนฆ่าเขาโดยไม่ได้ใช้อาวุธอะไร ไม่ให้เขาได้เรียนในสิ่งที่เขาควรเรียน เป็นการทำร้ายเด็กอย่างหนึ่งนะ” ผอ.เสนีย์ กล่าว
วิเชียร ไชยโชติ ครูสอนวิชาเคมีจากโรงเรียนไพรบึงวิทยาคม หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับเลือกให้เป็นโรงเรียนนำร่องใช้หลักสูตรสมรรถนะ เขาเล่าว่า ปัจจุบันโรงเรียนมีวิชา ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ สามารถตอบโจทย์หลักสูตรสมรรถนะและ ASTECS
“โรงเรียนเรามีวิชาเพาะพันธุ์ปัญญา ใช้เรียนมา 8 ปีละ เป็นวิชาสอนทำโครงงาน เราจะใช้โครงงานฐานวิจัยเป็นตัวเดินเรื่องการเรียนการสอน ไม่เน้นเนื้อหา เน้นให้เด็กลงมือปฎิบัติ เพราะเนื้อหาของเด็กจะเกิดจากการรีวิว ลงพื้นที่ ศึกษาปัญหาในชุมชนในโรงเรียน เนื้อหาแต่ละเทอมไม่เหมือนกัน เช่น เทอมนี้เด็กอยากได้เนื้อหาเกี่ยวกับปาลม์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาคอีสาน แต่เด็กอยากเรียน ครูก็ต้องหาพื้นที่ที่มีปาลม์ ไปเรียนรู้กับเด็กๆ
“เนื้อหาส่วนใหญ่ที่เด็กเราเรียนจะเกี่ยวกับเกษตรเพราะว่าพื้นถิ่นของเด็กส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวของเขา เราพยายามไม่สอนเรื่องที่ไกลตัวเด็ก เน้นให้เขาสามารถเอาความรู้ไปใช้จริงได้ เราไม่รู้หรอกว่าเขาจะจบไปเป็นอะไร แต่ให้ความรู้เกษตรเป็นพื้นฐานเขา หากเขาต้องออกเรียนกลางคัน หรือเรียนจบปริญญาตรีแล้วหางานทำไม่ได้ ก็เอาความรู้เกษตรไปต่อยอดได้
“การเรียนแบบนี้ ความรู้หรือทักษะที่ได้มันเข้าไปอยู่ในตัวนักเรียนจริงๆ เห็นผลชัดเจน หนึ่ง – ได้ทักษะการพูด สอง – ความคิดกล้าแสดงออก สาม – รู้จักทำงานเป็นระบบมากขึ้น รู้ว่าต้องทำอะไรตามหลัง มันก็ส่งผลกับตัวเขานะ เช่น ถ้ามีการบ้านก็สามารถวางแผนว่าใช้เวลาทำกี่วันเสร็จ
“ตัว ASTECS เราว่ามันตรงเป้าดี มองเห็นว่าอีก 10 ปีหน้าเราจะสร้างให้เด็กเป็นคนแบบไหน ปกติเราสอนเขาจบก็ไม่รู้เขาจะไปเป็นอะไรต่อ ซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้ามันก็อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่มีบางอาชีพที่เราสามารถคาดคะเนได้ เช่น ตอนนี้ระบบขนส่งสำคัญมาก ที่โรงเรียนมีรถเคอร์รี่วิ่งเข้า-ออกวันละ 3 – 4 คัน อีก 3 – 4 ปีข้างหน้า อาชีพนี้ก็อาจจะยังโตอยู่ก็ได้ หรือว่าอาชีพที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีที่มันล้ำสมัย เด็กเราต้องได้เรียนรู้ทักษะพวกนี้ด้วย” วิเชียร กล่าว
พิรัล วีสมหมาย เจ้าของร้านบอร์ดเกม และตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าไปทำงานหลักสูตร ASTECS ในฐานะกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมและการรับรู้ พิรัลมองว่าหลักสูตรนี้จะช่วยสร้างเมืองและอาชีพรองรับคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้าน
“พิรัลสนใจเรื่องการกลับบ้านของคน คือพอเราไปสำรวจความคิดเห็นคนตอนทำหลักสูตร ASTECS เราพบว่าเพื่อนเราอยากกลับบ้านเยอะมาก แต่กลับไม่ได้ เพราะไม่มีอาชีพรองรับ มีเพื่อนพิรัลคนหนึ่งเรียนจบทางด้านภาษา ตอนนี้เป็นล่ามภาษาญี่ปุ่น ถ้ากลับมาศรีสะเกษจะมีอาชีพอะไรให้เขาละ? มันก็เลยยากที่จะให้เขากลับมา
“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การกลับบ้านไม่กลับมาทำงานรับราชการ ก็ทำงานในหน่วยงานต่างๆ หรือไม่ก็ช่วยงานที่บ้าน ทุกวันนี้ยังเป็นแบบนี้อยู่ ค่อนข้างลำบาก คนที่ตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านก็ต้องดิ้นรนเยอะ”
ปราณี ระงับภัย ในฐานะที่ทำงานเป็นโคชพัฒนาเยาวชน active citizen จังหวัดศรีสะเกษ และเป็นอนุกรรมการสร้างการมีส่วนร่วมของ ASTECS เธอมองว่า หลักสูตร ASTECS จะช่วยให้เด็กสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้เอง ได้เรียนสิ่งที่ตัวเองถนัด เกิดเป็นทักษะชีวิต ช่วยลดจำนวนเด็กที่จะถูกผลักออกจากระบบการศึกษา
ปราณีเสริมต่อว่า สิ่งที่หลักสูตรควรเพิ่ม คือ เน้นให้ครูเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เธอมองว่า หากครูไม่เปลี่ยนวิธีคิด แม้หลักสูตรจะดีแค่ไหนก็อาจทำไม่สำเร็จ ควรมีหลักสูตรสำหรับครูด้วยเฉพาะ หากเราบอกว่าอยากได้เด็กที่รู้ทักษะชีวิต สามารถนำไปแปลงเป็นอาชีพได้ สามารถคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง แล้วครูละ? คนที่จะมาสอนเด็กเรื่องพวกนี้เขาควรเป็นแบบไหน ครูแบบไหนที่ศรีสะเกษอยากได้?
“เด็กศรีสะเกษมีความหลากหลาย ถ้าเป็นเด็กเก่งก็เก่งไปเลย แต่ถ้าเป็นเด็กที่ไม่เก่งก็มีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษา ยังมีความเหลื่อมล้ำสำหรับพี่ที่มองเห็นชัดมาก ทั้งการเข้าถึงการศึกษา การเข้าถึงการเรียนรู้ จะทำอย่างไรให้เด็กๆ กลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้เหมือนคนอื่นๆ
“ตัว ASTECS เด็กสามารถออกแบบการเรียนรู้เองได้ในห้องเรียน ถ้าคนที่เอาหลักสูตรไปใช้แล้วเข้าใจจริงๆ พี่ว่าจะลดจำนวนเด็กที่ออกจากระบบ เพราะเขาสามารถเลือกได้เลยว่าเขาอยากเรียนด้วยวิธีไหน ใช้ระบบแบบไหนเรียน เด็กมีสิทธิที่จะออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับครู โดยที่ครูเปิดใจรับฟังเขา” ปราณี ทิ้งท้าย