- ทักษะนวัตกรสำคัญอย่างไร? ในยุค Disruption ที่เทคโนโลยีหมุนรอบตัวเรา หาคำตอบได้ที่งานเสวนา SIIT ธรรมศาสตร์ให้ 80 ทุน ‘ผลิตคนนวัตกรรม ตอบโจทย์อนาคต’ วันที่ 23 กันยายน 2563 โดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)
- ผ่านการแชร์ประสบการณ์จาก 3 นักธุรกิจ Start Up ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ CEO บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด, คณิน อนันรยา ผู้บริหารบริษัท เดอะ ซัมเมอร์ เฮ้าส์ จำกัด และสุรนาม พานิชการ กรรมการผู้จัดการบริษัท โทฟุซัง จำกัด
- “จริงๆ เราถูก disrupted กันไปหลายทีแล้วนะฮะ (ยิ้ม) เพียงแต่โควิดมันเร่งเร้าให้เปลี่ยนอย่างเร็วขึ้น กิจกรรมทุกอย่างของเราต้องใช้เทคโนโลยีทั้งหมด แต่ถ้าถามว่าทักษะของคนยุคนี้คืออะไร ผมคิดว่าคือ digital literacy คือความรู้ความเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยี” ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ
นั่งรถไปทำงานเปิดเพลง/พอดแคสต์ฟังจากแอพฯ Spotify, นั่งง่วงๆ ที่ออฟฟิศไม่มีอะไรทำขออัดคลิปเต้นลง TikTok เสียหน่อย, อยู่ดีๆ งานก็ยุ่ง(ผี)ขึ้นมาจนไม่อยากเสียเวลาไปกินข้าวข้างนอก ขอใช้บริการพี่ Grab, FoodPanda ไม่ก็ Line Man สั่งอาหารเข้ามากินกับแก๊งที่ออฟฟิศ, กำลังทำงานมันส์ๆ อยู่ดีๆ แอพฯ ซื้อของออนไลน์จากต่างประเทศก็เด้งเตือนว่าสินค้าส่งถึงหน้าบ้านเรียบร้อย สุดท้าย ตัดภาพฉับกลับไปที่บ้าน(สมมติว่าเราฝ่าวิกฤตรถติดและการเดินทางในเมืองหลวงกว่า 2-3 ชั่วโมงไปได้แล้วน่ะนะ) ขอเปิดซีรีส์ไม่ก็หนังดีๆ ดูสักเรื่องย้อมใจเป็นจุดฟูลสต็อบของวันจาก Netflix, Viu ไม่ก็ HBO เสียหน่อย
ทั้งหมดนี้เป็นแค่ ‘ส่วนหนึ่ง’ ว่านวัตกรรมหมุนรอบตัวเรามาก/น้อย แค่ไหน และหากย้อนเวลากลับไปเสียสามสี่ปี อย่างน้อย… เราคงไม่คิดว่าวันหนึ่งจะนั่งอัดคลิปเต้นสั้นๆ ให้สาธารณะดูอย่างเป็นเรื่องปกติ (และเพลินมาก)
พูดให้จริงจังขึ้นอีกนิด ทุกคนทราบกันดีว่าเรากำลังอยู่ในยุค disruption ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแรง เร็ว และขนาดใหญ่ ทุกอย่างหมุนเร็วไปหมดไม่เว้นแต่ ‘ความรู้’ ก็มีอายุสั้นลงทุกวัน หรืออย่างเห็นภาพที่สุด อยู่ดีๆ เราก็ชินกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ไปอย่างไม่รู้เนื้อตัว (การทำงานผ่านออนไลน์, สังคมไร้เงินสดที่เข้มข้นขึ้นทุกที, การสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นสิ่งปกติ และอื่นๆ)
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ เสวนา SIIT ธรรมศาสตร์ให้ 80 ทุน ‘ผลิตคนนวัตกรรม ตอบโจทย์อนาคต’ วันที่ 23 กันยายน 2563 อยากหยิบยกมาคุยกันว่า ทักษะนวัตกรสำคัญอย่างไร สร้างได้อย่างไร และการสนับสนุนจากรัฐและหน่วยงานศึกษาอย่าง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) นั้น มีช่องทางไหนบ้าง
ดูรายชื่อวิทยากรซึ่งเป็นศิษย์เก่าของ SIIT ที่ขึ้นเวทีมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก็น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ
- ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มธ. และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ปี 2563
- ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ CEO บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด และนายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่
- คณิน อนันรยา ผู้บริหารบริษัท เดอะ ซัมเมอร์ เฮ้าส์ จำกัด ศิษย์เก่าและกรรมการสอบสัมภาษณ์เด็กเอเชีย เพื่อเข้าศึกษาต่อในสาขานวัตกรรมที่ Brown University
- สุรนาม พานิชการ กรรมการผู้จัดการบริษัท โทฟุซัง จำกัด
- ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
- ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT)
ประสบการณ์จาก 3 นักธุรกิจ Start Up: นวัตกรรมคืออะไร เริ่มต้นธุรกิจด้วยนวัตกรรมอย่างไร
ภัทรพร CEO บริษัท อีเว้นท์ ป็อป จำกัด และนายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ กล่าวก่อนว่า นวัตกรรมสำหรับเขาคือ การทำสิ่งเดิมให้มีประสิทธิภาพ, น่าสนใจ, โดดเด่นแตกต่างจากที่มีอยู่ในตลาด และด้วยราคาที่ถูกลง
ภัทรพร ยกตัวอย่างการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพของเขาว่า เริ่มจากมองเห็นว่าอีเว้นท์สมัยนั้นต้องลงทะเบียนด้วย ‘กระดาษ’ ซึ่งหากมองเป็นต้นทุนก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่ไม่น้อย เพื่อลดต้นทุนดังกล่าว เขาจะพัฒนาเทคโนโลยีตัวไหนมาลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงได้มั้ย จากนั้นก็ไปดูว่าตลาดที่เขาสนใจนั้นเป็นอย่างไร เป็นไปได้มั้ย และอื่นๆ
ขณะที่คณิน ผู้บริหารบริษัท เดอะ ซัมเมอร์ เฮ้าส์ จำกัด ร่วมแชร์ว่า เขาให้ความสำคัญกับข้อมูล (data) ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนานวัตกรรม กล่าวคือ ในฐานะที่เขามีพื้นฐานมาจากสายวิศวกรรมและต่อยอดไปทำธุรกิจกาแฟ นอกจากเรื่องสุนทรียะซึ่งต้องให้ความสำคัญแล้ว เขาเชื่อในการ ‘ทำซ้ำ’ ของการเก็บข้อมูล ตั้งแต่ข้อมูลการคั่ว บ่ม เมล็ดกาแฟ อย่างแม้กระทั่งการชิมรสชาติ เพราะเชื่อว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการทำงาน
“อย่างธุรกิจกาแฟที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เป็นธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มซึ่งมีคนทำอยู่มาก แต่เราเชื่อเรื่องการเก็บข้อมูลและการประมวลผล เราปรับใช้เรื่องนี้ในธุรกิจตั้งแต่การออกแบบ การคั่วกาแฟ การควบคุมอุณหภูมิ จนกาแฟมีความอร่อยและคงที่ในทุกๆ แก้ว แปลว่าทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานเพียงใด นวัตกรรมก็มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น” คณินกล่าว
สุรนาม กรรมการผู้จัดการบริษัท โทฟุซัง จำกัด เสริมว่า แน่นอนว่านวัตกรรมคือการสร้างสิ่งใหม่ แต่จะสร้างได้อย่างไรหากไม่เห็นปัญหาและมีระบบคิดจะแก้ปัญหานั้นอย่างเป็นรูปธรรม (concrete) เช่น ธุรกิจน้ำเต้าหู้ออแกนิคของเขาเริ่มจากปัญหาที่ว่า ทำไมร้านเต้าหู้ถึงเปิดอย่างคึกคักเฉพาะช่วงเช้า จะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะได้กินน้ำเต้าหู้ที่ทั้งออแกนิคและสดได้ตลอดเวลา (ปัญหา) และทำอย่างไรที่จะทำน้ำเต้าหู้ที่ไม่ใส่น้ำมันอย่างผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลืองเดิมในท้องตลาด (ปัญหา)
สุรนามบอกว่า การจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การแช่ถั่วเหลืองจะให้เอนไซน์อะไรออกมา ต้องแช่ด้วยเวลาเท่าไร (แก้ปัญหานั้นอย่างเป็นรูปธรรม) ทั้งหมดนี้เขามองว่ามันคือวิธีคิดและทำของนวัตกรทั้งสิ้น
และสิ่งที่ผู้ประกอบการทั้งสามเห็นตรงกันในมุมนวัตกรรมคือ สุดท้ายแล้วนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จต้องแตกต่าง สร้างสรรค์ และนำไปสู่การแข่งขันในเชิงธุรกิจได้
ขณะที่ ศ.ดร.พฤทธา ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) เสริมนิยามคำว่า นวัตกรรม ในมุมของนักการศึกษาว่า นวัตกรรมมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ความรู้ ความสามารถในการแก้ปัญหา (ที่เกิดจากประสบการณ์และการปฏิบัติ) และ ความคิดสร้างสรรค์ และนี่คือโจทย์ของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องจัดการศึกษาแบบนี้ให้
“ในการจัดการศึกษาเราเชื่อว่า ความรู้ คือ เครื่องมือ แต่ก่อนเราบอกว่า ปริญญาตรี คือการสอนให้นักศึกษารู้จักกับเครื่องมือ ปริญญาโท สอนให้เลือกใช้เครื่องมือ ส่วนปริญญาเอก คือการสอนให้ผลิตเครื่องมือใหม่ แต่ในยุคสมัยนี้ที่ความรู้ก็มีอายุสั้นลง เราบอกว่าคนรุ่นใหม่ต้องมีทั้งรู้จัก เลือกใช้ และผลิตเครื่องมือใหม่ เรียกว่าต้องทำเป็นทุกอย่างเลย” ศ.ดร.พฤทธา ทิ้งท้ายถึงความท้าทายของการจัดการศึกษาในยุคสมัยนี้
ในยุคสมัยแห่งนวัตกรรม เราต้องการคนทำงานที่มีทักษะแบบไหน?
ก่อนลาจากกันไป มีคำถามจากทางบ้านที่น่าสนใจ นั่นคือ ในยุคแห่งการ disruption ไปทุกวงการ ‘ความรู้’ หรือ ‘ทักษะ’ อะไรที่สำคัญที่สุด ในมุมมองของผู้ประกอบการหน้าใหม่
“จริงๆ เราถูก disrupted กันไปหลายทีแล้วนะฮะ (ยิ้ม) เพียงแต่โควิดมันเร่งเร้าให้เปลี่ยนอย่างเร็วขึ้น กิจกรรมทุกอย่างของเราต้องใช้เทคโนโลยีทั้งหมด แต่ถ้าถามว่าทักษะของคนยุคนี้คืออะไร ผมคิดว่าคือ digital literacy คือความรู้ความเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยี”
ภัทรพร แชร์ก่อนคนแรก และย้ำว่า โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานที่หลายคนมองข้ามอย่างการใช้โปรแกรม excel ที่ไม่ใช่แค่กรอกข้อมูลเป็น แต่ต้องเข้าใจการประมวลผลโดยใช้โปรแกรมนี้แล้ววิเคราะห์ออกมาได้ด้วย มันคือโปรแกรมพื้นฐานในการเก็บและวิเคราะห์ data อย่างหนึ่งเลย
นอกจากนี้ยังต้องการทักษะการใช้ Social Media ทั่วไป ซึ่งคนรุ่นใหม่ใช้อย่างเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เช่น การทำการตลอดบนโซเชียล เรื่องเล่าผ่านแคปชั่นแต่ละโพสต์ โดยเฉพาะการทำการตลาดบน Tiktok
“เด็กรุ่นนี้เข้าใจการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ดีอยู่แล้ว เพราะเขาใช้งานอยู่ทุกวัน ที่ขาดก็คือประสบการณ์เท่านั้นเอง” ภัทรพรกล่าว
ขณะที่คณินเสริมว่า ด้วยความที่เขาเป็นคนให้ความสำคัญกับข้อมูล จึงให้ความสำคัญกับทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะการอ่านข้อมูลต่างประเทศเพื่อทำรีเสริช และความสามารถที่เรียกว่า “รู้ว่าต้องการรู้อะไร” เมื่อรู้แล้วก็มีความสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นด้วย สุรนาม เห็นด้วยกับทักษะด้านภาษาแต่เสริมว่า เขายังให้ความสำคัญกับ ‘การสื่อสารความคิดของตัวเอง’ ออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้อย่างมีประสิทธิภาพและโดยง่ายด้วย
อาจตีความได้ว่า นี่คือโจทย์ใหญ่ของคนในภาคการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนการเรียนรู้ในห้องเรียนที่ช่วยพัฒนาศักยภาพเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมรับการทำงานในโลกอนาคต …ที่มีความรู้มีอายุสั้นลงเรื่อยๆ