- Sex Education ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่คือ ‘สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย’ ซึ่งใครจะมาละเมิดไม่ได้
แต่เท่าไรและลักษณะแบบไหนจึงเข้าข่าย ‘ทำร้าย ละเมิด คุกคาม ทารุณทางเพศ’ เส้นแบ่งที่ว่าคืออะไร และ เด็กอายุเท่าไรจึงควรรู้จักเส้นที่ว่านี้? - บทความนี้อธิบาย 2 ประเด็น คือ หนึ่ง-เป้าหมายของห้องเรียนเพศศึกษา สอง-คำศัพท์เรื่องเพศที่แต่ละช่วงวัยตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึง มัธยมปลาย ควรรู้
- เหมาะสำหรับพ่อแม่ และ ครูในสถานศึกษา เพราะแบ่งหมวดคำศัพท์และชุดความรู้เรื่องความรุนแรงทางเพศ ให้นำไปออกแบบห้องเรียนได้เหมาะสมแต่ละช่วงวัย
ช่วงปีที่ผ่านมา ข่าวในวงการศึกษาเรื่องหนึ่งคือการที่นักเรียนทั้งประถม มัธยม ออกมาแจ้งความเรื่องการถูกครูละเมิด ทำอนาจาร ข่มขู่ ข่มขืนนักเรียนกันหลายกรณี คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าเรื่อง ‘การละเมิดลวนลาม’ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องไม่ว่ากรณีใด และถึงเวลาที่เราต้องออกมาทำงานเพื่อทำให้โรงเรียน เป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชัดเจนว่า ‘เรา’ ครู ผู้ปกครอง สังคม นักเรียน ต้องทำความเข้าใจควบคู่กันไปคือเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายที่ใครจะมาละเมิดไม่ได้ อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ (literacy)
บทความนี้ชวนทำความเข้าใจ Sex Education ที่เหมาะสมจะเป็นข้อมูลตั้งต้น และป้องกันไม่ให้ปัญหาสังคมยิ่งขยายกว้าง อันมาจากรากปัญหาเดิมนั่นก็คือ ‘เพศศึกษาถูกปิดตายในสังคมไทย’ ข้อมูลที่เหมาะสมดังกล่าว ต้องมีหน้าตาอย่างไร?
และท่ามกลางเนื้อหามากมายที่ห้องเรียนเพศศึกษาจำเป็นต้องพูดถึง มี 2 ประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ คือ
- ห้องเรียนเพศศึกษา จำเป็นต้องพูด ต้องสร้างทัศนคติต่อผู้เรียนเรื่องใดบ้าง
- สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของบุคคล มีนิยาม และ รูปธรรมอย่างไร โดยเฉพาะเส้นแบ่งของ สัมผัสที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันธรรมดา กับ สัมผัสที่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ทารุณทางเพศ ทำร้ายทางเพศ
อ้างอิงจาก Guidelines for Comprehensive Sexuality Education: Kindergarten-12th Grade (คู่มืออธิบายภาพรวมการเรียนรู้เรื่องเพศ: ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย) โดย การศึกษาและข้อมูลข่าวสารด้านเพศวิถีแห่งสหรัฐอเมริกา (The Sexuality Information and Education Council of the United States-SIECUS) องค์กรไม่แสวงกำไรด้านสุขภาวะ
คู่มือดังกล่าวไม่ได้พูดถึง ‘หลักสูตร’ หรือ ‘แผนการสอน’ เพียงแต่แนะ ‘คีย์เวิร์ด’ จุดสตาร์ท หรือ จุดประสงค์หลัก ที่ครูควรเน้นหรือเริ่มทำความเข้าใจในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้คุณครูในแต่ละพื้นที่นำไปออกแบบวิธีการเรียนสอนให้เข้ากับบริบทสังคมของตัวเอง ใช้เป็นแนวทางร่วมกับกลุ่มครูผู้สอนในแต่ละระดับชั้น ให้ผู้ปกครองทำความเข้าใจว่าควรเริ่มพูดเรื่องไหนกับลูกเมื่ออายุเท่าใด
โดย ‘คีย์เวิร์ด’ สำหรับห้องเรียนเพศศึกษาจะแบ่งเป็นช่วงวัย หรือ ระดับชั้นดังนี้
- Level 1 : วัยเด็กตอนกลาง หรือชั้นอนุบาล อายุตั้งแต่ 5-8 ปี
- Level 2 : วัยก่อนวัยรุ่น หรือชั้นประถมศึกษา อายุตั้งแต่ 9-12 ปี
- Level 3 : วัยรุ่นตอนต้น หรือชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อายุตั้งแต่ 12-15 ปี
- Level 4: วัยรุ่น หรือ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุตั้งแต่ 15-18 ปี
เหนือสิ่งอื่นใด คู่มือฉบับนี้ได้ให้นิยาม* ความหมาย และขีดเส้นให้ชัดเรื่อง ‘เส้นแบ่ง’ ระหว่างการทารุณทางเพศ คุกคามทางเพศ และการละเมิดทางเพศ
สำคัญที่สุดคือการทำให้ตัวเด็กเข้าใจเส้นแบ่งนี้ด้วยตัวเอง รู้ว่าเขาจะขอความช่วยเหลือได้โดยไม่รู้สึกว่าเขาคือเหยื่อและไม่ใช่คนผิด การรู้เส้นแบ่งนี้จะช่วยหยุดการละเมิด ซึ่งหากปล่อย(เบลอ)ไว้อาจลุกลามจนกลายเป็นการคุกคามหรือทารุณที่ยิ่งใหญ่กว่า
ดังที่พรรคพลเมืองไทยแสดงความกังวลไว้
เป้าหมายห้องเรียนเพศศึกษา ตั้งแต่ปฐมวัย ถึง มัธยมศึกษา
เป้าหมายของ Sexuality Education หรือ การเรียนรู้เรื่องเพศ หรือ เพศศึกษา ในนักเรียนตั้งแต่ปฐมวัยถึงวัยรุ่น คือ การมีมุมมองในทางบวกต่อเรื่องเพศ (ไม่ใช่แค่ได้ยินคำนี้ก็ปิดหูเพราะคิดว่า ‘ยังไม่ถึงเวลา’ หรือ มองว่ามันเป็นเรื่องสกปรก) สร้างพื้นที่ส่งต่อข้อมูลจำเป็นที่ควรรู้เพื่อให้แต่ละคนดูแลสุขอนามัยของตัวเอง มีทักษะคิดวิเคราะห์ ทักษะการดูแลตัวเองและการเอาตัวรอด
เมื่อถึงเวลามีความรักความสัมพันธ์ ให้รู้ว่าพวกเขามีทางเลือกอะไรบ้างในประเด็นเหล่านี้ โดยเฉพาะการเลือกเพศวิถีของตัวเอง มีทัศนคติที่เข้าใจ และเคารพต่อความสัมพันธ์ที่หลากหลาย
สำคัญที่สุด คือ รู้ว่าเส้นแบ่งเรื่องเพศของเรื่องการละเมิด การคุกคามทางเพศ คืออะไร
จุดประสงค์ของห้องเรียนเรื่องเพศ ซึ่งต้องทำให้เด็กมีวิธีคิด หรือทัศนคติทางเพศ มี 4 ข้อ ดังนี้
1. ความรู้ :ห้องเรียนต้องมุ่งหมายให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องเพศ ตั้งแต่การเติบโต พัฒนาการร่างกาย การสืบพันธุ์ กายวิภาค(ร่างกายมนุษย์) การช่วยตัวเอง ชีวิตครอบครัว การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร บทบาทพ่อแม่ (ชายหญิง, หญิงหญิง, ชายชาย หรือ การดูแลเด็กในรูปแบบความสัมพันธ์อื่น) ความรับผิดชอบเรื่องเพศ รสนิยมทางเพศ, อัตลักษณ์ทางเพศ การคุมกำเนิด ความรุนแรงทางเพศ HIV/AIDS และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
2. ทัศนคติ, คุณค่า(ค่านิยม) และ ดุลยพินิจ: การเรียนรู้เรื่องเพศต้องเปิดพื้นที่ให้วัยรุ่นได้ตั้งคำถาม สำรวจ และเข้าถึงทัศนคติของชุมชนแต่ละกลุ่มที่มีต่อเพศสภาพ (Gender-เพศที่ถูกกำหนดและควบคุมโดยสังคม มีแค่ความเป็นหญิงและชาย) และเพศวิถี (Sexuality-เพศที่นิยามและไม่จำกัดตามกรอบสังคม มีเรื่องอัตลักษณ์ของปัจเจก และนัยที่ต้องการหลุดพ้นจากการครอบงำและการบังคับของสังคม) วิธีนี้จะช่วยให้วัยรุ่นเข้าใจสิ่งที่ครอบครัวให้คุณค่า แต่ก็ยังสร้างความเชื่อของตัวเองได้ พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ มีความมั่นใจ ทั้งยังพัฒนามุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของครอบครัว ความเป็นปัจเจกในเรื่องเพศ คู่รัก และ ความสัมพันธ์ของสังคมในภาพใหญ่ การเรียนรู้เรื่องเพศยังทำให้เข้าใจข้อห้าม (เช่น การละเมิด) และความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม
3. ความสัมพันธ์และทักษะระหว่างบุคคล : ทักษะระหว่างบุคคลในที่นี้หมายถึง การสื่อสาร การตัดสินใจ ความกล้าแสดงออก ทักษะในการปฏิเสธ รวมทั้งความสามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีและต่างตอบแทนซึ่งกันและกันด้วย ห้องเรียนเรื่องเพศต้องเตรียมพร้อมให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องเพศอย่างชัดเจนถึงบทบาทในการเป็นผู้ใหญ่ ในแง่นี้รวมถึงความสามารถของความใส่ใจ สนับสนุน ไม่บีบบังคับ และต้องเข้าใจความสัมพันธ์ทางเพศในมุมความเป็นส่วนตัวและต้องต่างสบายใจต่อกัน
4. ความรับผิดชอบ : ห้องเรียนเรื่องเพศเปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกบริหารทักษะความรับผิดชอบในเรื่องเพศ เช่น งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ การต้านทานต่อแรงกดดันในการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การคุมกำเนิด หรือเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศอื่นๆ
แนวทางการพูดคุยในห้องเรียนเรื่องเพศมีได้หลากหลาย แต่วิธีคิดสำคัญคือ มันจะมีประสิทธิภาพและจับต้องได้จริงที่สุดก็ต่อเมื่อผู้เรียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิด สำรวจทัศนคติ และอธิบายคุณค่าของเขาต่อเรื่องเพศ
เช่น การเปิดพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนความคิดอย่างจริงจัง, เล่นบทบาทสมมติ, สร้างสถานการณ์ หรือจะเป็นการบ้านพื้นฐาน เช่น ทำงานค้นคว้าในเชิงเดี่ยวและกลุ่มก็ยังได้
หมายเหตุ: ในแต่ละช่วงวัย อาจมีการกล่าวซ้ำบางประเด็น คล้ายกับการทบทวนเนื้อหาที่เคยสอนไปในช่วงชั้นก่อนๆ
Key Concept
แต่ละช่วงวัย ควรรู้จักเรื่องสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และ คำศัพท์เรื่องเพศ อะไรบ้าง?
คู่มืออธิบายภาพรวมการเรียนรู้เรื่องเพศ ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย เน้นอธิบายผ่าน Key Concept ให้ผู้ปกครองและครูแต่ละช่วงวัยนำไปเป็นหลักในการสอน แบ่งออกเป็น 4 ช่วงวัย คือ วัยเด็กตอนกลาง, วัยก่อนวัยรุ่น, วัยรุ่นตอนต้น และ วัยรุ่น
แต่ละช่วงวัย มีสิ่งที่ควรทำความเข้าใจ ดังต่อไปนี้
Level 1: วัยเด็กตอนกลาง หรือชั้นอนุบาล อายุตั้งแต่ 5-8 ปี
– ร่างกายของเรา เราเป็นเจ้าของ
– อวัยวะบางอย่างในร่างกายที่ถูกกันไว้เป็นเรื่องสงวน เป็นสิ่งส่วนตัว (private parts) คือ ปาก, หัวนม, หน้าอก, อวัยวะเพศชาย, ถุงอัณฑะ, อวัยวะเพศหญิง, ปากช่องคลอด และ สะโพก
– ไม่มีใครมีสิทธิมาจับ สัมผัส อวัยวะดังกล่าวได้ เว้นแต่เป็นเป็นการตรวจทางสาธารณสุข หรือ การทำความสะอาด
– แม้แต่ตัวเด็กเอง ก็ไม่มีสิทธิ์จับต้องอวัยวะส่วนตัวของเด็กคนอื่น
– การกระทำที่เข้าข่าย ‘การทารุณเด็กทางเพศ’ (Sexual Abuse) คือเมื่อใครก็ตามสัมผัส จับ แตะต้องอวัยวะส่วนตัวของเด็ก โดยที่ไม่ใช่เหตุผลทางสาธารณสุข หรือ เหตุผลทางอนามัย
– หรือการขอให้เด็กจับ สัมผัส แตะ อวัยวะส่วนตัวของเขาหรือเธอ (ในที่นี้หมายถึงทุกเพศ) นับเป็น ‘การทารุณทางเพศเช่นกัน’
– แม้รายงานที่ได้ยินส่วนใหญ่จะเป็นเด็กผู้หญิงและผู้หญิง แต่ทั้งเด็กผู้ชาย/ผู้ชาย เด็กผู้หญิง/ผู้หญิง หรือ คนทุกเพศทุกวัย ถูกทารุณทางเพศได้ทั้งหมด
– ในกรณีที่รู้สึกไม่สะดวกใจ ไม่ปลอดภัย ต่อสัมผัสนั้น เด็กหรือคนทุกคน มีสิทธิที่จะบอกหรือห้ามคนอื่น ไม่ให้ถูกเนื้อต้องตัวเราได้ทั้งนั้น
– แม้จะถูกบอกให้เก็บเป็นความลับ แต่ถ้าเด็กรู้สึกไม่ต้องการ รู้สึกไม่สะดวกใจ ไม่ปลอดภัยต่อสัมผัสนั้น เขาหรือเธอควรบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้
– เด็กถูกทารุณทางเพศได้จากทั้งคนแปลกหน้า และคนที่เด็กเองก็รู้จักดี
– จำไว้ว่าเด็กจะไม่มีทางเป็นคนผิด แม้ว่าคนที่มอบสัมผัสอันทำให้เด็กรู้สึกไม่ชอบมาพากล ไม่สะดวกใจ จะเป็นคนในครอบครัวก็ตามที
– ถ้ามีคนแปลกหน้า พยายามจะชักชวนเด็กให้ไปด้วยกัน ให้วิ่งหนีไปเลย แล้วบอกผู้ปกครอง ครู เพื่อนบ้าน หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ทันที
– สุดท้าย ย้ำให้เด็กรู้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่มีพฤติกรรมคุมคามทางเพศ หรือทารุณเด็ก
Level 2: วัยก่อนวัยรุ่น หรือชั้นประถมศึกษา อายุตั้งแต่ 9-12 ปี
– การทารุณทางเพศ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป แม้ว่าคนจะไม่พูดถึงมันก็ตาม
– การทารุณทางเพศเด็กส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากคนที่เด็กรู้จักดี ไม่ใช่คนแปลกหน้า
– ผู้กระทำอาจเป็นผู้ใหญ่ วัยรุ่น เด็ก เป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย
– ความรุนแรงทางเพศในเด็กส่วนใหญ่ มักมาในรูปของความลับ, การติดสินบน, การใช้กลอุบาย, การคุกคาม หรือ บีบบังคับ
– ถ้าเด็กพบกับสัมผัสที่ไม่สะดวกใจ ไม่ต้องการ ไม่ยินยอม ต้องบอกผู้ใหญ่ที่ไว้ใจ้ได้ ซึ่งถ้าผู้ใหญ่คนนั้นไม่เชื่อเรา ไม่ต้องรู้สึกผิดกับตัวเอง อย่าหยุดแค่ผู้ใหญ่คนนี้ แต่หาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจได้คนอื่นแล้วบอกเล่าให้ฟัง หาผู้ฟังที่ไว้ใจได้จนกว่าจะเจอเพื่อขอความช่วยเหลือ
– บางครั้งการทารุณทางเพศ ไม่จำเป็นมีสัมผัสเสมอไป การเปิดหนังโป๊ สื่ออนาจาร หรือให้ดูเซ็กส์สด นับเป็นการทารุณทางเพศเช่นกัน
– ผู้ที่พบประสบการณ์ทารุณทางเพศ อาจเผชิญหน้ากับก้อนอารมณ์ที่หลากหลาย เช่น สับสน โกรธแค้น หวาดกลัว รู้สึกผิด อับอาย โดดเดี่ยว ไร้ค่า ซึมเศร้า สิ้นหวัง หรืออาจเป็นความรู้สึกอยากได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น อยากเป็นที่ต้องการ อยากถูกรัก ถูกใส่ใจ
– ในกรณีดังกล่าว ผู้ที่เข้าช่วยเหลือได้คือ ครูแนะแนว ครู แพทย์ ตำรวจ และทีมทำงานด้านสิทธิอื่นๆ
– แม้ว่าการพูดคุยกับเพื่อนใหม่ในโลกออนไลน์จะสนุก แต่ควรย้ำกับตัวเองบ่อยครั้งว่าอาจมีอันตรายซ่อนอยู่ ต้องระวังตัว
– มีคนจำนวนไม่น้อยใช้โซเชียลมีเดียหลอกลวงเด็กเพื่อกระทำเรื่องทางเพศ
– การคุกคามทางเพศ (sexual harassment) คือพฤติกรรมการแสดงออกทั้งทางสัมผัส วาจา หรืออากัปกิริยา ที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้รับสารไม่ต้องการ ไม่สะดวกใจ เช่น การแหย่ สัมผัส หรือ คำพูดในเชิงส่อเสียดทางเพศ
– การคุกคามทางเพศ ในนิยามข้างต้น นับเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
– กฎหมายเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ และ อนาจารเด็ก ดูได้ที่นี่
Level 3: วัยรุ่นตอนต้น หรือชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อายุตั้งแต่ 12-15 ปี
– การทารุณทางเพศในแง่การสัมผัส รวมถึงการจูบ(ที่ไม่ต้องการ)ด้วย ทั้งยังหมายถึงการถูกขอให้สัมผัสอวัยวะสงวนโดยตรง หรือขอให้กระทำบางอย่างเกี่ยวกับอวัยวะเพศ หรือ ทางทวารหนัก
– การทารุณทางเพศที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัมผัส เช่น การเปิดหนังโป๊ สื่ออนาจาร หรือให้ดูเซ็กส์สด
– การคุกคามทางเพศ (sexual coercion) คือ การบังคับขู่เข็ญและใช้กำลังเพื่อบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับตัวเองโดยไม่เต็มใจ อันแปลว่า ไม่มีใครมีสิทธิ์คุกคามผู้อื่นเพื่อให้มีความสัมพันธ์ทางเพศกับตัวเอง
– การทำร้ายทางเพศ (Sexual assault) คือพฤติกรรมทำร้ายร่างกายและทางจิตวิทยา เพื่อให้มีความสัมพันธ์ด้วย
– เมื่อไรก็ตามที่การทำร้ายร่างกายนั้น มีการสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนัก นับเป็นการข่มขืนทันที
– แม้ผู้หญิงและเด็กหญิงจะเป็นเพศที่มีรายงานว่าถูกทำร้ายทางเพศบ่อยครั้ง แต่ข้อเท็จจริงคือ ‘ทุกเพศ’ มีรายงานว่าถูกทำร้ายร่างกายทั้งหมด
– ผู้ที่ถูกทำร้ายทางเพศ ไม่นับว่ามีความผิด (คุณไม่ได้ทำอะไรผิด คุณไม่ผิดอะไร)
– ผู้ที่ถูกทำร้ายทางเพศโดยคนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคู่เดท จะเรียกว่า การข่มขืนโดยคนรู้จัก หรือโดยคู่เดท (acquaintance rape / date rape)
– ไม่มีใครมีสิทธิ์ทำร้ายร่างกาย หรือใช้กลวิธีทางจิตวิทยาทำร้ายคนอื่นเพื่อหวังความสัมพันธ์ทางเพศ
– การทำร้ายทางเพศ ถือเป็นความผิดทางกฎหมายเช่นกัน
– เมื่อถูกทำร้ายทางเพศ ต้องแจ้งความเพื่อดำเนินคดีให้มีการสืบสวนต่อไป ซึ่งในกฎหมายไทยระบุว่า การสืบพยานในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการอยู่ร่วมด้วย (สำคัญที่สุด ไม่จำเป็นต้องเล่าให้นักข่าว ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาฟัง – ผู้เขียน)
– เครื่องมือป้องกัน หลีกเลี่ยง เพื่อไม่นำไปสู่สถานการณ์ดังกล่าว คือทักษะป้องกันตัวเองของเด็ก ทักษะการเอาตัวรอดที่จะพิจารณาได้ว่าสถานการณ์แบบไหนนำไปสู่อันตราย สถานการณ์ใดควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด
– แน่นอนว่าในบางกรณี ต่อให้ระวังที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถป้องกันเหตุการณ์ทำร้าย คุกคาม หรือทารุณทางเพศ ได้ทุกกรณี
– ความรุนแรงในบ้าน เป็นได้ทั้งความรุนแรงทางจิตใจ ร่างกาย บางครั้งมีการทารุณทางเพศ ในที่นี้หมายถึงผู้ที่อยู่ร่วมกัน มีสายเลือดเดียวกัน และอยู่ร่วมกันด้วยความสัมพันธ์ที่หลากหลาย (เช่น คู่เดทที่อยู่ร่วมบ้านกัน)
– แม้คนที่ยอมรับการทารุณ หรือความรุนแรง (เพราะเคยโดนประจำ) การโดนกระทำซ้ำก็ยังถือเป็นการ ‘abuse’ อยู่ดี (ความเคยชิน ไม่เท่ากับ ยอมรับได้ – ผู้เขียน)
– มีหลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์คุกคามทางเพศ ถูกทำร้ายทางเพศ หรือ ความรุนแรงทางเพศอื่นๆ เช่น ผู้ให้คำปรึกษาเฉพาะเรื่อง ครู แพทย์ ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ หน่วยงานที่ดูแลด้านครอบครัว ตำรวจ เป็นต้น
– การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นหลากหลายที่ ทั้งโรงเรียน ที่ทำงาน และอื่นๆ
– หากอยากขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร.1300 ตลอด 24 ชม. หรือ ดูหน่วยงานอื่นๆ ที่นี่
Level 4: วัยรุ่น หรือ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อายุตั้งแต่ 15-18 ปี
ข้อมูลที่ต้องทำความเข้าใจในชั้นเรียนนี้เน้นไปที่กระบวนการได้รับความช่วยเหลือ คำปรึกษา และการเข้ารับความช่วยเหลืของบริบทแต่ละประเภท
– ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศ เข้ารับความช่วยเหลือ คำปรึกษา จากหน่วยงานสาธารณสุข หรือทีมทำงานทางสังคมได้ ดูที่นี่
– แต่ไม่ว่าผู้ที่ผ่านประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศจะเลือกแบบไหน ถือเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้นั้น ผู้ที่อยู่รอบข้างขอให้พึงตระหนักว่า บางเหตุการณ์เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจ
– เพราะขั้นตอนการสอบสวน ขั้นตอนคดีความ หรือการหาหลักฐานในกรณีเช่นนี้ ถือเป็นการกระทำที่ยากลำบากของผู้ประสบเหตุการณ์บางราย
นอกจากข้อมูลพื้นฐานเรื่องสิทธิ และ คำศัพท์ที่แต่ละช่วงวัยควรรู้ Sex Education ยังกินพรมแดนความรู้เรื่อง ความหลากหลายทางเพศ ความสัมพันธ์ พัฒนาการร่างกายแต่ละช่วงวัย ความสัมพันธ์, ทักษะการเอาตัวรอด, พฤติกรรมธรรมชาติทางเพศ เช่น การช่วยตัวเอง การแบ่งปันข้อมูลเรื่องเพศของแต่ละกลุ่มชุมชน ความรับผิดชอบในเรื่องเพศสัมพันธ์ สุขภาวะ นอกจากนี้ยังเป็นมิติเรื่องการรับสื่อ ซึ่งมีทั้งผิดและถูกกฎหมาย ทั้งสื่อใกล้ตัวและสื่อออนไลน์ โดยทั้งหมดนี้กล่าวมานี้ ยังไม่ได้พูดถึงลงลึกในบทความนี้
ซึ่งจะว่าไปแล้ว อาจเป็นอย่างที่พรรคพลเมืองไทยพูด มันเป็นโอกาสอันดีที่เราจะต่อยอดการพูดถึงเนื้อหาใน Sex Education หรือ ห้องเรียนเพศศึกษาในบ้านเราที่ไม่เคยตอบคำถามเด็กๆ ได้สักที นอกจากมีไว้เป็นส่วนหนึ่งของคาบเรียน
Fun Fact *นิยามเหล่านี้อ้างอิงจากข้อมูลในคู่มือดังกล่าว แต่ให้นิยามคล้ายกับกฎหมายในประเทศไทย คือ กฎ ก.พ.ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 รวมถึงมาตรการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งหมายความว่า หากผู้ใดเข้าข่ายถูกกระทำในนิยามดังต่อไปนี้ ถือว่าเรียกร้องเอาความทางกฎหมายได้ – การทารุณทางเพศ จากคำว่า Sexual Abuse มีเส้นแบ่งที่ชัดคือ ต่อเมื่อมีการสัมผัสของสงวน หรืออวัยวะส่วนตัว (private parts) คือ ปาก, หัวนม, หน้าอก, อวัยวะเพศชาย, ถุงอัณฑะ, อวัยวะเพศหญิง, ปากช่องคลอด และ สะโพก – การคุกคามทางเพศ จากคำว่า sexual coercion มีนัยแห่งการบังคับขู่เข็ญและใช้กำลังเพื่อบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับตัวเองโดยไม่เต็มใจ – ส่วนการคุกคามทางเพศ จากคำว่า sexual harassment มีความหมายในแง่ พฤติกรรมการแสดงออกทั้งทางสัมผัส วาจา หรืออากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้รับสารไม่ต้องการ ไม่สะดวกใจ เช่น การแหย่ สัมผัส หรือ คำพูดในเชิงส่อเสียดทางเพศ – การล่วงละเมิดทางเพศ จากคำว่า Sexual Bullying การล่วงละเมิดทางเพศเป็นคำที่มีความ ‘เบลอ’ สูง เพราะไม่ปรากฏนิยามการกระทำที่เด่นชัด เป็นได้ทั้งการละเมิดทางกายกับของสงวนซึ่งหน้า เป็นเพียงสัมผัสที่ให้ความรู้สึกไม่สบายใจ อึดอัดใจ หรือบางครั้งเป็นการล่วงละเมิดทางวาจา ผู้เขียนตีความเอาเองว่าเป็นพฤติกรรมกึ่งๆ ระหว่างการคุกคามทางเพศ และ การทารุณทางเพศ – การทำร้ายทางเพศ จากคำว่า Sexual assault คือพฤติกรรมทำร้ายร่างกายและทางจิตวิทยา เพื่อให้มีความสัมพันธ์ด้วย – สรุปความที่ครบถ้วนในประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก จัดทำโดยมหาวิทยาลัยมหิดล อ่านที่นี่ – การเตรียมความพร้อมและคุ้มครองเด็กผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรม หรือ ดูข้อมูลสิทธิเด็ก อ่านที่นี่ |