Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Character building
15 July 2020

Self-Regulation: มีเป้าหมาย กำกับตัวเอง หักห้ามใจ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Self-Regulation – ความสามารถในการกำกับและยับยั้งชั่งใจตนเอง – คุณลักษณะสำคัญที่ไม่เพียงเป็นพลังผลักดันสู่เป้าหมายแต่ยังหมายถึง ‘เซนส์’ ที่ฉุดให้เราตั้งหลักใคร่ครวญเสียใหม่ก่อนเป๋ออกนอกลู่นอกทาง
  • Self-Regulation เป็นคนละเรื่องกับเด็กที่ว่านอนสอนง่ายและทำตามกฎที่วางไว้เป๊ะๆ จุดต่างสำคัญคือเขาต้องมีเป้าหมายในใจที่ชัดเจนว่าตัวเองกำลังทำอะไร และจะไปถึงเป้าหมายอย่างไรโดยไม่ต้องมีคนคอยจี้จ้ำไช …ซึ่งกว่าจะถึงขั้นนี้ได้ต้องใช้เวลา

ถ้าถามว่าอะไรอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการลดน้ำหนัก ทำให้เรายั้งใจจากข้าวขาหมู กินอาหารดีๆ และลุกขึ้นมาออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราวได้ อะไรที่ทำให้คุณข่มใจตัวเองไว้ไม่ตอบโต้ชวนตี เมื่อถูกใครสักคนกวนประสาทกลางวงสนทนา หรือคุมสติไว้ไม่เปิดกระจกด่ากราดเวลาถูกรถคันอื่นทะเล่อทะล่าขับปาดหน้าเข้ามาในเลนกะทันหัน และอะไรที่ทำให้เด็กคนหนึ่งอดทนต่อสิ่งยั่วยุใจ ไม่วอกแวกหยิบไอแพดมาเล่นเกมแล้วนั่งตั้งใจทำการบ้านจนเสร็จ 

สิ่งเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยทักษะ Self-Regulation – ความสามารถในการกำกับและยับยั้งชั่งใจตนเอง – คุณลักษณะสำคัญที่ไม่เพียงเป็นพลังผลักดันสู่เป้าหมายแต่ยังหมายถึง ‘เซนส์’ บางอย่างที่ฉุดให้เราตั้งหลักใคร่ครวญเสียใหม่ก่อนเป๋ออกนอกลู่นอกทาง

คนที่มี Self- Regulation จึงรู้คิดรู้รับผิดชอบว่านี่ฉันกำลังนึกคิดและทำอะไรที่จะส่งผลร้ายกับตัวเองและผู้อื่นอยู่รึเปล่า เมื่อมีอะไรมาทำให้ไขว้เขว ฉันยับยั้งชั่งใจได้และรู้ว่าควรจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร เลฟ วิกอตสกี (Lev Vygotsky) นักจิตวิทยาบอกว่าคนที่มี Self-Regulation ก็เปรียบเสมือนกับมี ‘เสียงฝ่ายธรรมะในหัว’ (Private Speech) คอยเตือนสติไม่ให้ตัวเองเผลอไผลทำอะไรวู่วามจนเสียการ

ถ้าไม่มี Self-Regulation การเรียนรู้ก็เป็นเรื่องยาก

งานศึกษามากมายขีดเส้นใต้ว่า ทักษะกำกับควบคุมตนเองส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ในห้องเรียน และจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กควรฝึกทักษะนี้เป็นฐานตั้งต้น ก่อนต่อยอดไปยังวิชาการด้านอื่น 

นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาสังเกตว่าหนูน้อยเตรียมอนุบาลซึ่งถูกประเมินว่ามีทักษะกำกับควบคุมตนเองได้ เมื่อขึ้นชั้นอนุบาลจะมีพัฒนาการทางคณิตศาสตร์และการอ่านเขียนดีกว่าเด็กที่ขาดทักษะนี้ โดยแบบสำรวจความคิดเห็นของครูระดับชั้นอนุบาลระบุว่า ลักษณะการกำกับควบคุมตนเองที่แสดงถึงความพร้อมในการเรียนรู้คือ เด็กสามารถ…

  • สื่อสารความต้องการและความคิดออกมาเป็นคำพูดได้
  • จดจ่อและกระตือรือร้น สนใจในกิจกรรมการเรียนรู้
  • หักห้ามใจเป็น เชื่อฟังกฎกติกาที่วางไว้
  • ผลัดสลับกันเล่นของเล่นหรือใช้สิ่งของ และจับความรู้สึกของผู้อื่นได้

หากขาดทักษะนี้ ก็ยากที่นักเรียนจะมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนตรงหน้าได้ตลอดรอดฝั่ง ชั้นเรียนจะเต็มไปด้วยเด็กที่อยู่ไม่สุข เหมือนรถที่ทำยังไงก็ไม่ถึงจุดหมายเพราะเอาแต่หยุดแวะข้างทางเมื่อเจอสิ่งล่อใจ หรือแย่ที่สุดคือขับเตลิดเปิดเปิงออกไปนอกเส้นทาง

ไม่นับว่าในวัยที่โตขึ้น พวกเขาจำเป็นต้องใช้ทักษะนี้ระหว่างการมีส่วนร่วมในชั้น รับฟังความเห็นผู้อื่น ตั้งเป้าและกำหนดแนวทางเรียนรู้ ไปจนปรับเปลี่ยนวิธีเรียนรู้ไปตามจุดแข็งจุดอ่อนของตน รวมทั้งต้องเอาชนะใจตนเองเพื่อทำตามเป้าหมายที่ตั้งใจให้ได้

ซึ่งนอกจากด้านการเรียน ทักษะนี้ยังมีส่วนช่วยให้เขาปรับตัวเข้ากับสังคมรอบตัว เพราะการที่เด็กคนหนึ่งกำกับควบคุมตนเองได้หรือไม่นั้น สะท้อนว่าเขาสื่อสารและสร้างสายสัมพันธ์กับเพื่อนและครูผู้สอนอย่างไร แม้แต่ เดเนียล โกลแมน( Daniel Goleman) ผู้เขียนหนังสือ Best Seller ระดับโลกอย่าง Emotional Intelligence ยังระบุว่า Self-Regulation คือหนึ่งในตัวชี้วัดความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งกับการมีคุณภาพชีวิตในระยะยาวมากกว่าการมี IQ สูงเสียอีก 

Self-Regulation = ไม่วู่วาม+หักห้ามใจได้ 

ถ้าคาดหวังให้เด็กคนหนึ่งมี Self-Regulation เรากำลังพูดถึงการฝึกให้เขารู้คิดพิจารณาไตร่ตรองได้ว่าทำตัวเช่นไรจึงเหมาะควร (Behavioral Self-Regulation) และจะระงับปรับจูนอารมณ์ความรู้สึกเมื่อถูกกระทบได้อย่างไร (Emotional Self-Regulation)

Key Concept ของทักษะนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับการมี EF (Executive Functions) สมองส่วนคิดไตร่ตรองและรู้จัก ‘แตะเบรค’ ยับยั้งตนเองได้โดยหลักปฏิบัติอยู่ที่  

1. รู้รับผิดชอบหน้าที่ วินัย จุดร่วม 3 ข้อที่เป็นแก่นในการพัฒนา Self-Regulation และ Executive Functions คือ

  • ความจำใช้งาน (Working Memory): ผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี สอนและทำให้เห็นเป็นรูปธรรม จำได้และนำมาใช้ใหม่ในสถานการณ์อื่นๆ
  • การหักห้ามตนเอง (Inhibitory Control): บ้านและโรงเรียนวางกฎระเบียบหน้าที่ มีขอบเขตให้ปฏิบัติตามเป็นกิจวัตร
  • ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน (Mental Flexibility): เปิดโอกาสให้คิดแก้ปัญหาเอง ไตร่ตรอง พิจารณาว่าขณะนั้นสิ่งใดสำคัญ ควรทำอย่างไร

ดร.แคลร์ คาเมรอน โพนิทซ์ (Claire Cameron Ponitz) นักจิตวิทยาการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนชี้ว่า แรกเริ่มเด็กจะพัฒนา Self-Regulation จากการจดจำทำตามพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจใกล้ชิด พร้อมกับซึมซับปรับตัวตามระเบียบปฏิบัติที่ใช้ในครอบครัวหรือโรงเรียน สภาพแวดล้อมจึงควรโน้มนำให้เขาพูดจาสุภาพ มีกิริยามารยาทสัมมาคารวะ สอนการแบ่งปันและเหตุผลว่าทำไมเขาจึงต้องแบ่งของเล่นกับน้อง ไปจนถึงกิจวัตรหน้าที่ที่ต้องทำทุกวันอย่างการเก็บที่นอน ดูแลความสะอาดห้องหับ จัดสรรเวลาเล่นเกมทำการบ้าน เข้านอนเป็นเวลา เหล่านี้คือการหล่อหลอมเบื้องต้นทั้งสิ้น

แต่บอกก่อนว่ากฎระเบียบที่เคร่งครัดจนเกินไปก็ไม่เวิร์คเช่นกัน ลิเลียน่า เจ เลงกัว (Liliana J Lengua) อาจารย์จิตวิทยามหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่าความสามารถในการกำกับควบคุมตนเองของเด็กมีส่วนเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนคอร์ติซอลซึ่งใช้รับมือกับความเครียด ปกติฮอร์โมนตัวนี้จะสูงในช่วงเช้าเพื่อตื่นตัวกับปัญหา และค่อยๆ ลดลงในตอนเย็น แต่เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเคร่งเครียดกดดันจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลน้อยกว่าปกติตลอดเวลา ส่งผลให้สมองส่วนวางแผนจัดการบกพร่อง ไม่สามารถโฟกัสจดจ่อและยับยั้งชั่งใจได้ 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Self – Regulation ก็เป็นคนละเรื่องกับเด็กที่ว่านอนสอนง่ายและทำตามกฎที่วางไว้เป๊ะๆ(Obedience) จุดต่างสำคัญคือเขาต้องมีเป้าหมายในใจที่ชัดเจนว่าตัวเองกำลังทำอะไร และจะไปถึงเป้าหมายอย่างไรโดยไม่ต้องมีคนคอยจี้จ้ำไช …ซึ่งกว่าจะถึงขั้นนี้ได้ต้องใช้เวลา

2. รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง

ในหลายกรณี Self-Regulation ถูกนิยามถึงการจัดการอารมณ์ลบ เช่น ความเครียด เบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจ ไขว้เขวจากชั้นเรียน ไปจนถึงอาการหัวร้อนเมื่อถูกกระตุ้นโทสะ ก่อนจะทวงคืนสมดุลให้อารมณ์ การตระหนักรู้สภาวะจิตใจตนเองได้ (Mindfulness) ต้องมาก่อน 

เทคนิคง่ายๆ ลงไว้ใน The New York Times Mindfulness บอกขั้นตอนให้เด็กๆ หยุดสังเกตและจับไปที่ความรู้สึก ณ ปัจจุบันขณะ มีชื่อย่อเท่ๆ ตรงกับหลักการว่า S.T.O.P !

อยากชวนให้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูลองนำไปใช้ฝึกเด็กๆ กัน

  • STOP – หยุดพักจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ 
  • TAKE A BREATH –ดึงใจจดจ่อที่ลมหายใจเข้าออก สูดลมหายใจเข้าออกช้าๆ
  • OBSERVE – สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในความคิด และทบทวนสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
  • PROCEED – เมื่อจับสถานการณ์ทั้งหมดได้แล้ว ค่อยดำเนินสิ่งที่ทำอยู่ต่อไป

อีกเทคนิคที่มาด้วยกันคือ R.A.I.N ใช้จัดการอารมณ์ขั้วลบของพ่อแม่ เป็นต้นแบบการควบคุมอารมณ์ที่ผู้ใหญ่ควรปฏิบัติให้เด็กๆ เห็นเป็นตัวอย่าง

  • RECOGNIZE – มองสถานการณ์ด้วยความสงบ
  • ACCEPT-ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งว้าวุ่นใจและพยายามแก้ไขเดี๋ยวนั้นทันที
  • INVESTIGATE-สำรวจความรู้สึกที่ปะทุขึ้นให้ละเอียด ซึมซับความเจ็บปวดเสียใจ หรือชื่นใจมีความสุข จนกระทั่งบรรเทาเบาบางลง
  • NON-IDENTIFICATION- วางเฉยกับความรู้สึก มองอารมณ์ลบเป็นขณะชั่วแล่น ไม่เอามาขยายต่อในใจและจำกัดนิยามตนเอง

4 ข้อสำคัญปลุกปั้นทักษะ Self-Regulation

เพื่อเป็นแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ขอยกข้อแนะนำว่าด้วยการปลูกฝัง Self-Regulation จากศูนย์วิจัยเพื่อแผนพัฒนาเด็กและครอบครัวของมหาวิทยาลัยดุ๊ก (The Duke Center for Child and Family Policy) ซึ่งทำงานค้นคว้าด้านพัฒนาการทักษะนี้ในเด็กวัยแรกเกิดถึง 5 ปีมาดังนี้

1. สายสัมพันธ์ที่อบอุ่นปลอดภัยคือหัวใจ แสดงความรักความเอาใจใส่เป็นคำพูดและการกระทำ

2. ไม่เลี้ยงลูกแบบเสรีฟรีสไตล์จนเกินไป ควรวางขอบเขต มีกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติจนเป็นกิจวัตร และฝึกให้รู้รับผิดชอบหน้าที่ 

3. เปิดโอกาสให้ฝึกทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองและเหมาะสมกับวัย โดยคอยให้คำแนะนำ ปรับปรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไป

4. เป็นแบบอย่างที่ดี ตั้งเป้า และติดตามพัฒนาการสม่ำเสมอ โดยเด็กเล็กวัยก่อนเข้าเรียนควรเริ่มฝึกให้รอคอย แก้ปัญหาเล็กน้อยด้วยตนเอง แสดงออกและระงับอารมณ์ได้

เป็นธรรมดาที่ระหว่างฝึกฝน เสียงงอแงจะเกิดขึ้นและบางครั้งอาจเป็นการฟาดงวงฟาดงาเอาชนะ แม้วิธีการของครูและผู้ปกครองแต่ละบ้านไม่หมือนกัน สำคัญและห้ามลืมคือความรักความเข้าใจ ผู้ใหญ่ต้องใจเย็นและไม่น็อตหลุดให้เขาเห็นเสียเอง อย่าถอดใจและปล่อยให้อารมณ์เป็นเครื่องมือในเกมการต่อรอง และการฝึกให้เขาแก้ปัญหาด้วยตนเองกับแนะวิธีจัดการอารมณ์นั้นๆ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าการแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง 

และเช่นเดียวกับ Soft Skills อื่นๆ ทักษะนี้ต้องอาศัยการปฏิบัติให้ซึมซับเป็นนิสัย การฝึกฝนจึงไม่ใช่การรู้รับผิดชอบ หรือวินัยหน้าที่แค่ช่วงเปิดเทอมหรือตอนไปออกค่าย แต่ต้องดำเนินอย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไปและใช้เวลา ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ใช่อัจฉริยะภาพด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นอุปนิสัยที่จะติดตัวเขาไปในวันข้างหน้าและการได้ใช้ประโยชน์จากความรู้จักยับยั้งชั่งใจเมื่อช่วงเวลาท้าทายนั้นมาถึงก็นับเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งแล้ว

Tags:

คาแรกเตอร์(character building)การกำกับตัวเอง(self-regulation)

Author:

illustrator

บุญชนก ธรรมวงศา

จบภาษาและการสื่อสาร เคยผ่านงานบริษัทออแกไนซ์ เปิดคลินิก ไปจนเป็นเลขาซีอีโอ หลังค้นพบและติดใจโลกนอกระบบตอกบัตร จึงแปลงร่างเป็นนักเขียน นักแปลและนักพยากรณ์ไพ่ ขี้โวยวายเป็นนิสัยที่อยากแก้ไขแต่ทำยังไงก็ไม่หาย ปัจจุบันกำลังเข้าใกล้ Midlife Crisis และหวังจะข้ามผ่านได้ด้วยวิถี “ช่างแม่ง”

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • 21st Century skills
    INITIATIVE: ริเริ่มสร้างสรรค์โดยไม่มีใครร้องขอ แก้ปัญหาไม่ต้องรอคนจ้ำจี้จ้ำไช

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • 21st Century skills
    อย่าให้ใครว่ามั่ว เช็คให้ชัวร์ก่อนแชร์ FAKE NEWS

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • 21st Century skillsEducation trend
    MEDIA LITERACY: หยุดแชร์ข่าวปลอม ด้วยวิชา ‘เท่าทันสื่อ’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Character building
    ที่ปรึกษาให้ตัวละครในนิยาย : วิธีระบายความเจ็บปวดโดยไม่ต้องเล่าแต่เข้าใจ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ antizeptic

  • Character building
    CHARACTER CAPABILITIES: 3 นิสัยดี คีย์สำคัญสู่ความสำเร็จและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel